ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
กฎกระทรวง
เริ่มใช้บังคับ : 21 ก.ค. 2522

กฎกระทรวง (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522

Ministerial Regulations Issue No.1 (B.E. 2522) (Prevention of Ships Collision Regulations)


กฎกระทรวง

(พ.ศ. ๒๕๒๒)

ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน

พ.ศ. ๒๕๒๒[๑]

                 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

หมวด ก

บททั่วไป

                 

ข้อ ๑

การใช้บังคับ

                 

 

(ก) กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือไทยและเรือต่างประเทศที่อยู่ในน่านน้ำไทยที่เรือเดินทะเลเดินได้ และเรือไทยที่อยู่ในทะเลหลวง

(ข) กฎกระทรวงนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงข้อบังคับที่ออกตามกฎหมายอื่น

(ค) เรือที่ได้สร้างขึ้นหรือมีวัตถุประสงค์เป็นพิเศษจนไม่สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎกระทรวงนี้ ได้ครบถ้วนในข้อหนึ่งข้อใดเกี่ยวกับ จำนวน ที่ติดตั้ง ระยะ หรือวงขอบทัศนวิสัยของแสงไฟหรือทุ่นเครื่องหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนที่ติดตั้งและคุณสมบัติของเครื่องทำสัญญาณเสียง เมื่อรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่าจะไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงงานพิเศษที่เรือนั้นปฏิบัติอยู่ เรือนั้นจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นซึ่งรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีผลบังคับต่อเรือนั้นได้ใกล้เคียงกับกฎกระทรวงนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนที่ติดตั้ง ระยะ หรือขอบทัศนวิสัยของแสงไฟ หรือทุ่นเครื่องหมาย รวมทั้ง การเปลี่ยนที่ติดตั้งและคุณสมบัติของเครื่องทำสัญญาณเสียง

 

ข้อ ๒

ความรับผิด

                 

 

(ก) เรือ หรือเจ้าของเรือ นายเรือ หรือลูกเรือจะต้องรับผิดจากผลที่เกิดขึ้นจากการละเลยในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ หรือการละเลยในการระมัดระวังอันจะพึงมีตามปกติวิสัยของชาวเรือ หรือตามเหตุการณ์พิเศษเฉพาะกรณี

(ข) การตีความและการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ให้คำนึงถึงอันตรายทั้งหลายในการเดินเรือและเรือโดนกัน กับเหตุการณ์พิเศษใด ๆ ตลอดจนข้อจำกัดต่าง ๆ ของเรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจปฏิบัติผิดแผกไปจากกฎกระทรวงนี้ก็ได้ตามความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นโดยกระทันหัน

 

ข้อ ๓

บทนิยามทั่วไป

                 

 

ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีบทบังคับไว้เป็นอย่างอื่น

(ก) “เรือ” หมายความรวมถึง ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดรวมทั้งยานพาหนะทางน้ำชนิดที่ไม่มีระวางขับน้ำ และเครื่องบินทะเลซึ่งใช้หรือสามารถใช้ในการขนส่งทางน้ำได้

(ข) “เรือกล” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกล

(ค) “เรือใบ” หมายความว่า เรือที่เดินโดยใช้ใบ แม้เรือนั้นจะติดตั้งเครื่องจักรกลไว้ด้วย แต่มิได้เดินด้วยเครื่องจักรกลนั้น

(ง) “เรือขณะทำการประมง” หมายความว่า เรือที่ทำการประมงด้วยอวน สายเบ็ด อวนลาก หรือเครื่องทำการประมงอื่น ซึ่งเรือนั้นเดินได้ไม่คล่องตัว แต่ไม่รวมถึงเรือที่ทำการประมงด้วยการลากสายเบ็ด หรือด้วยเครื่องทำการประมงอื่นซึ่งไม่ทำให้เรือนั้นเดินได้ไม่คล่องตัว

(จ) “เครื่องบินทะเล” หมายความรวมถึง อากาศยานอื่นใดที่สร้างให้บังคับการเดินเรือบนพื้นน้ำได้

(ฉ) “เรือไม่อยู่ในบังคับ” หมายความว่า เรือซึ่งมีเหตุยกเว้นในบางกรณี ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้ตามกฎกระทรวงนี้ และไม่สามารถหลีกทางให้แก่เรืออื่นได้

(ช) “เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว” หมายความว่า เรือซึ่งจากสภาพของการใช้งานของเรือทำให้เรือนั้นไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัวตามกฎกระทรวงนี้ และไม่สามารถหลีกทางให้แก่เรืออื่นได้

เรือดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว

(๑) เรือขณะทำการวาง ให้บริการหรือเก็บเครื่องหมายการเดินเรือ สายใต้น้ำหรือท่อใต้น้ำ

(๒) เรือขณะทำการขุด สำรวจ หรือปฏิบัติงานใต้น้ำ

(๓) เรือขณะทำการรับส่ง หรือขนถ่าย คน อาหาร หรือสินค้าในขณะที่กำลังเดิน

(๔) เรือขณะทำการปล่อย หรือรับอากาศยาน

(๕) เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิด

(๖) เรือขณะทำการจูง เช่น เรือจูงและการจูงมีขีดความสามารถจำกัดเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนเข็มเดินเรือ

(ซ) “เรือที่บังคับยากเพราะอัตรากินน้ำลึกของเรือ” หมายความว่า เรือกลที่ความสัมพันธ์ระหว่างอัตรากินน้ำลึกของเรือกับความลึกของน้ำที่เรือนั้นกำลังเดินอยู่ ทำให้มีขีดความสามารถจำกัดเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนเข็มเดินเรือ

(ฌ) “กำลังเดิน” หมายความว่า เรือที่ไม่ได้ทอดสมอ หรือผูกติดกับฝั่ง หรือเกยตื้น

(ญ) “ความยาว” และ “ความกว้าง” ของเรือ หมายความว่า ความยาวตลอดลำ และส่วนที่กว้างที่สุดของเรือ

(ฎ) “เรือขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน” หมายความว่า เรือขณะมองเห็นกันด้วยสายตาเท่านั้น

(ฏ) “ทัศนวิสัยจำกัด” หมายความว่า สภาพทัศนวิสัยอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งถูกจำกัดด้วย หมอก อากาศมัว หิมะตก พายุฝนหนัก พายุทราย หรือเหตุอื่นทำนองเดียวกัน

 

หมวด ข

การถือท้าย และการเดินเรือ

                 

 

บทที่ ๑

วิธีปฏิบัติของเรือในทุกสภาพทัศนวิสัย

                 

 

ข้อ ๔

การใช้บังคับ

                 

 

ความในบทนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือในทุกสภาพทัศนวิสัย

 

ข้อ ๕

ยามระวังเหตุ

                 

 

เรือทุกลำต้องจัดยามระวังเหตุ โดยใช้สายตาและหูฟังตลอดเวลา รวมทั้งจัดวิธีการทุกอย่างที่มีอยู่ให้พร้อมที่จะใช้ได้ทันต่อเหตุการณ์และสภาพการณ์เพื่อให้สามารถคาดคะเนได้โดยสมบูรณ์ต่อสถานการณ์และการเสี่ยงภัยจากการโดนกัน

 

ข้อ ๖

อัตราความเร็วปลอดภัย

                 

 

เรือทุกลำต้องเดินด้วยอัตราความเร็วปลอดภัยตลอดเวลา เพื่อที่เรือจะได้ปฏิบัติโดยเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการหลีกเลี่ยงการโดนกัน และให้เรือหยุดได้ภายในระยะที่เหมาะสมกับเหตุการณ์และสภาพการณ์

ในการพิจารณาว่า อัตราความเร็วเท่าใดเป็นอัตราความเร็วปลอดภัย ให้ใช้ปัจจัยดังต่อไปนี้มาพิจารณา

 

(ก) สำหรับเรือทุกลำ

(๑) สภาพแห่งทัศนวิสัย

(๒) ความหนาแน่นของการจราจร รวมทั้งแหล่งชุมนุม เรือประมงและเรืออื่น

(๓) ความสามารถในการบังคับการเดินเรือในลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวกับระยะหยุดเรือ และความสามารถในการหันเรือได้ทันต่อสถานการณ์

(๔) ในเวลากลางคืน เมื่อปรากฏว่ามีแสงไฟมารบกวนทัศนวิสัย เช่น แสงไฟจากฝั่ง หรือแสงไฟสาดส่องจากท้ายเรือตนเอง

(๕) สภาพลม ทะเลและกระแสน้ำ และอันตรายต่าง ๆ ในการเดินเรือที่บริเวณนั้น

(๖) อัตรากินน้ำลึกของเรือสัมพันธ์กับความลึกของน้ำ

(ข) สำหรับเรือที่ใช้เครื่องเรดาร์ต้องพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้นด้วย

(๑) คุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และข้อจำกัดของเครื่องอุปกรณ์เรดาร์

(๒) ขอบเขตจำกัดใด ๆ ที่เกิดจากการใช้มาตราส่วนวัดระยะของเครื่องเรดาร์

(๓) สิ่งรบกวนในการตรวจค้นของเครื่องเรดาร์ เนื่องจากสภาพท้องทะเล อากาศ และเหตุอื่นที่แทรกซ้อน

(๔) เรือเล็ก ก้อนน้ำแข็ง และวัตถุลอยน้ำอื่นใดที่เครื่องเรดาร์อาจไม่สามารถตรวจพบได้ภายในระยะที่สมควร

(๕) จำนวน ตำแหน่ง และการเคลื่อนไหวของเรือที่เครื่องเรดาร์ตรวจพบ

(๖) การประเมินค่าทัศนวิสัยที่แน่นอนยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้เมื่อใช้เครื่องเรดาร์วัดระยะของเรือ หรือวัตถุต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้น

 

ข้อ ๗

การเสี่ยงภัยจากการโดนกัน

                 

 

(ก) เรือทุกลำต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมทั้งปวงที่มีอยู่ให้ทันต่อเหตุการณ์และสภาพการณ์ ในกรณีที่การเสี่ยงภัยจากการโดนกันได้เกิดขึ้น หากมีกรณีใด ๆ เป็นที่สงสัย ให้ถือว่าการเสี่ยงภัยนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

(ข) เรือที่ได้ติดตั้งและใช้เครื่องอุปกรณ์เรดาร์ ต้องใช้ให้ถูกวิธีรวมทั้งการค้นหาเป้าระยะไกล เพื่อรับทราบเป็นการเตือนล่วงหน้าในการเสี่ยงภัยจากการโดนกัน และการหมายตำแหน่งเป้าที่ตรวจพบโดยเครื่องเรดาร์หรือเครื่องมือที่มีระบบค้นหาเป้าทัดเทียมกัน

(ค) ต้องไม่สันนิษฐานโดยอาศัยข้อมูลที่บกพร่อง โดยเฉพาะข้อมูลที่บกพร่องจากเครื่องเรดาร์

(ง) ถ้ามีเหตุเสี่ยงภัยจากการโดนกันเกิดขึ้น ให้นำหัวข้อดังต่อไปนี้มาพิจารณา

(๑) การเสียงภัยเช่นนั้นให้ถือว่าเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรือที่แล่นเข้าหามีมุมเล็งของเข็มทิศมิได้เปลี่ยนแปลงจนสังเกตได้

(๒) การเสี่ยงภัยนั้น บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่ามุมเล็งของเข็มทิศเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปใกล้เรือขนาดใหญ่มาก หรือพวงเรือจูง หรือเมื่อแล่นเข้าไปใกล้มากกับเรืออื่น


 

ข้อ ๘

การปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน

                 

 

(ก) ถ้าสถานการณ์อำนวย การปฏิบัติใด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน ต้องกระทำด้วยความแน่นอนทันต่อเวลา และด้วยความสามารถในการเดินเรือที่ดี

(ข) ถ้าสถานการณ์อำนวย การเปลี่ยนเข็มเดินเรือและ/หรืออัตราความเร็วของเรือเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน ต้องเปลี่ยนให้มากพอจนทำให้เรืออื่นเห็นได้ทันทีด้วยสายตาหรือเครื่องเรดาร์ ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนเข็มเดินเรือ และ/หรืออัตราความเร็วของเรือแต่เพียงเล็กน้อยติดต่อกัน

(ค) ถ้าทะเลกว้างพอสำหรับหันเหเรือ การเปลี่ยนเข็มเดินเรือเพียงอย่างเดียวอาจจะเป็นการปฏิบัติที่ได้ผลดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการที่เรือจะเข้าใกล้ในลักษณะที่น่าจะโดนกัน แต่ทั้งนี้ต้องกระทำให้ทันเวลาและมากพอ และไม่เป็นผลให้เกิดการเข้าใกล้ในลักษณะที่น่าจะโดนกันอีก

(ง) การปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน ต้องเป็นการปฏิบัติที่เป็นผลให้ผ่านพ้นกันในระยะที่ปลอดภัย การปฏิบัติที่ได้ผลนั้นจะต้องได้รับการควบคุมอย่างระมัดระวัง จนกว่าเรืออื่นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

(จ) ถ้าจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน หรือเพื่อให้มีเวลามากพอที่จะประเมินสถานการณ์ต้องลดอัตราความเร็วของเรือลง หรือหยุดเรือ โดยการหยุดเครื่องหรือใช้เครื่องจักรถอยหลัง

 

ข้อ ๙

ร่องน้ำแคบ

                 

 

(ก) เรือขณะเดินไปตามแนวร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดินต้องเดินให้ใกล้ขอบนอกของร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดินซึ่งอยู่ทางกราบขวา เท่าที่จะปลอดภัยและสามารถปฏิบัติได้

(ข) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร หรือเรือใบต้องไม่กีดขวางทางเดินของเรือ ซึ่งสามารถเดินได้โดยปลอดภัยเฉพาะภายในร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดินเท่านั้น

(ค) เรือขณะทำการประมงต้องไม่กีดขวางทางเดินของเรืออื่น ซึ่งกำลังเดินอยู่ภายในร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดิน

(ง) เรือต้องไม่แล่นตัดข้ามร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดิน ถ้าการแล่นตัดข้ามเช่นนั้นกีดขวางทางเดินของเรืออื่นซึ่งสามารถเดินได้โดยปลอดภัยเฉพาะภายในร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดินเท่านั้น เรือที่ถูกกีดขวางทางเดินเมื่อสงสัยในเจตนาของเรือที่แล่นตัดข้าม อาจแสดงสัญญาณเสียงตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๔ (ง)

(จ) (๑) ในร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดิน การแซงขึ้นหน้าเรือลำอื่น ให้กระทำได้ต่อเมื่อเรือลำที่ถูกแซงแสดงการยินยอมให้แซงผ่านขึ้นหน้าได้โดยปลอดภัย เรือลำที่ประสงค์จะแซงขึ้นหน้าต้องแสดงเจตนาด้วยสัญญาณเสียงตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๔ (ค) (๑) ถ้าเรือลำที่จะถูกแซงขึ้นหน้ายินยอมให้แซง ต้องแสดงสัญญาณเสียงตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๔ (ค) (๒) และต้องดำเนินการให้แซงผ่านขึ้นหน้าได้โดยปลอดภัย เมื่อสงสัยอาจแสดงสัญญาณเสียงตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๔ (ง)

(๒) ความในข้อนี้ไม่ทำให้เรือที่จะแซงขึ้นหน้าพ้นจากหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓

(ฉ) เรือขณะเข้าใกล้ทางโค้งหรือบริเวณร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดิน ซึ่งไม่อาจมองเห็นเรืออื่นเพราะมีสิ่งกีดขวางบังสายตาอยู่ระหว่างเรือ ต้องใช้ความฉับพลันและระมัดระวังในการเดินเรือเป็นพิเศษและต้องแสดงสัญญาณเสียงตามควรแก่กรณี ดังที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๔ (จ)

(ช) ถ้าสถานการณ์อำนวย เรือต้องหลีกเลี่ยงการจอดทอดสมอในร่องน้ำแคบ

 

ข้อ ๑๐

แผนแบ่งแนวจราจร

                 

 

(ก) ความในข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่แผนแบ่งแนวจราจรที่รัฐมนตรีกำหนด และแผนแบ่งแนวจราจรที่องค์การที่ปรึกษาทางทะเลระหว่างรัฐบาล (IMCO) กำหนด

(ข) เรือที่เดินในแผนแบ่งแนวจราจรต้องปฏิบัติ ดังนี้

(๑) เดินในช่องทางจราจรไปตามทิศทางของเส้นทางจราจรที่กำหนดให้ใช้ในช่องทางนั้น

(๒) เดินให้ห่างจากเส้นหรือเขตแบ่งแนวจราจรเท่าที่จะทำได้

(๓) ตามปกติการเข้าหรือออกช่องทางจราจร ให้กระทำที่จุดต้นทาง ปลายทางของช่องทางจราจรนั้น แต่เมื่อจะเข้าหรือออกทางด้านข้างของช่องทางจราจรต้องให้ทิศทางของเรือทำมุมกับทิศทางของเส้นทางจราจรที่กำหนดให้ใช้เป็นมุมเล็กเท่าที่จะทำได้

(ค) เรือต้องหลีกเลี่ยงการเดินตัดข้ามช่องทางจราจร แต่ถ้าจำเป็นก็ให้เดินตัดข้ามในทางที่ใกล้จะเป็นมุมฉากกับทิศทางของเส้นทางจราจรที่กำหนดให้ใช้เท่าที่จะทำได้

(ง) โดยปกติเขตจราจรชายฝั่งทะเลต้องไม่ใช้เป็นเขตจราจรผ่านหากสามารถใช้ช่องทางจราจรที่กำหนดไว้ตามแผนแบ่งแนวจราจรที่อยู่ใกล้กันนั้นได้อย่างปลอดภัยแล้ว

(จ) โดยปกติออกจากเรือที่กำลังเดินตัดข้าม ห้ามเรือเดินเข้าไปในเขตแบ่งแนวหรือเดินตัดข้ามเส้นแบ่งแนว เว้นแต่

(๑) ในกรณีฉุกเฉินเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายเฉพาะหน้า

(๒) ขณะทำการประมงภายในเขตแบ่งแนว

(ฉ) เรือขณะเดินอยู่ในบริเวณใกล้จุดต้นทาง ปลายทางของแผนแบ่งแนวจราจร ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

(ช) เรือต้องหลีกเลี่ยงการจอดทอดสมอในบริเวณแผนแบ่งแนวจราจร หรือใกล้กับจุดต้นทางปลายทางเท่าที่จะทำได้

(ซ) เรือที่ไม่ได้เดินในแผนแบ่งแนวจราจร ต้องหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ขอบเขตแผนแบ่งแนวจราจรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

(ฌ) เรือขณะทำการประมง ต้องไม่กีดขวางทางเดินของเรืออื่นที่เดินอยู่ในช่องทางจราจร

(ญ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร หรือเรือใบ ต้องไม่กีดขวางทางเดินอันปลอดภัยของเรือกลที่เดินอยู่ในช่องทางจราจร

 

บทที่ ๒

วิธีปฏิบัติของเรือขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน

                 

 

ข้อ ๑๑

การใช้บังคับ

                 

 

ความในบทนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน

 

ข้อ ๑๒

เรือใบ

                 

 

(ก) เมื่อเรือใบสองลำเดินเข้าใกล้กันในลักษณะที่เสี่ยงภัยจากการโดนกัน ให้เรือลำหนึ่งหลีกทางให้แก่เรืออีกลำหนึ่ง โดยปฏิบัติดังนี้

(๑) เมื่อเรือแต่ละลำได้รับลมต่างกราบกัน เรือที่ได้รับลมทางกราบซ้ายต้องหลีกทางให้เรืออีกลำหนึ่ง

(๒) เมื่อเรือทั้งสองลำได้รับลมกราบเดียวกัน เรือลำที่อยู่ต้นลมต้องหลีกทางให้เรือลำที่อยู่ปลายลม

(๓) ถ้าเรือที่รับลมทางกราบซ้ายเห็นเรืออีกลำหนึ่งที่อยู่ต้นลมและไม่สามารถตัดสินได้แน่ว่าเรือนั้นได้รับลมทางกราบซ้ายหรือกราบขวา เรือลำแรกต้องหลีกทางให้แก่เรืออีกลำหนึ่ง

(ข) เพื่อประโยชน์แห่งข้อนี้ ด้านที่อยู่ต้นลมให้ถือว่าเป็นด้านตรงข้ามกับด้านซึ่งใบใหญ่ถูกลมพัดไป หรือในกรณีเรือประเภทขึงใบขวางลำ ด้านที่อยู่ต้นลมให้ถือว่าเป็นด้านตรงข้ามกับด้านซึ่งใบใหญ่ที่สุดที่ขึงตามลำถูกลมพัดไป

 

ข้อ ๑๓

การแซงขึ้นหน้า

                 

 

(ก) แม้จะมีข้อใดในบทนี้กำหนดไว้  อย่างไรก็ตาม เรือที่จะแซงขึ้นหน้าเรืออื่น ต้องหลีกให้พ้นทางของเรือที่ถูกแซง

(ข) เรือที่จะถูกถือว่ากำลังแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่ง เมื่อเรือนั้นเดินเข้ามาจากทิศทางที่เลยมุม ๒๒.๕ องศา ไปทางท้ายของเส้นฉากข้างเรือของเรือลำที่ถูกแซง ซึ่งในลักษณะนี้ ถ้าเป็นเวลากลางคืนเรือที่กำลังแซงขึ้นหน้าจะสามารถมองเห็นเพียงโคมไฟท้ายเรือของเรือที่ถูกแซงเท่านั้น โคมไฟข้างเรือนั้นไม่สามารถมองเห็นได้

(ค) ถ้าเพียงสงสัยว่าเรือกำลังแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่งหรือไม่ ให้ถือว่าเรือนั้นกำลังแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่ง และต้องปฏิบัติตามที่บังคับไว้ในข้อนี้

(ง) การเปลี่ยนมุมเล็งระหว่างเรือสองลำในลำดับต่อมานั้น จะต้องไม่ทำให้เรือที่กำลังแซงขึ้นหน้าเป็นเรือเดินตัดทางตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ หรือไม่ทำให้พ้นจากหน้าที่ที่จะต้องหลีกเรือที่ถูกแซงจนกว่าจะผ่านพ้นไปแล้ว

 

ข้อ ๑๔

สถานการณ์เมื่อหัวเรือตรงกัน

                 

 

(ก) เมื่อเรือกลสองลำเดินเข้าหากันในลักษณะหัวเรือตรงกัน หรือเกือบจะตรงกันซึ่งจะเสี่ยงภัยจากการโดนกันขึ้น ให้เรือแต่ละลำเปลี่ยนเข็มเดินเรือไปทางขวาเพื่อให้เรือสวนกันทางกราบซ้ายของกันและกัน

(ข) สถานการณ์ดังกล่าวให้ถือว่าเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเรือลำหนึ่งมองเห็นเรือลำอื่นตรงหน้าหรือเกือบตรงหน้า และในเวลากลางคืนเรือลำหนึ่งมองเห็นโคมไฟเสากระโดงทั้งสองของเรืออีกลำหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกันหรือเกือบเป็นแนวเดียวกัน และ/หรือมองเห็นโคมไฟข้างเรือทั้งสองข้าง และในเวลากลางวันเรือลำหนึ่งสังเกตเห็นเรืออีกลำหนึ่งในลักษณะดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกัน

(ค) เมื่อเรือลำหนึ่งสงสัยว่ามีสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นหรือไม่ ให้ถือว่าสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว และต้องปฏิบัติตามที่บังคับไว้ในข้อนี้

 

ข้อ ๑๕

สถานการณ์เมื่อเรือเดินตัดทางกัน

                 

 

เมื่อเรือกลสองลำเดินตัดทางกันในลักษณะที่เสี่ยงภัยจากการโดนกัน เรือลำที่มีเรือลำอื่นอยู่ทางกราบขวาของตนต้องหลีกทางให้ และถ้าสถานการณ์อำนวยต้องหลีกเลี่ยงการเดินตัดหน้าเรืออีกลำหนึ่งนั้น

 

ข้อ ๑๖

วิธีปฏิบัติของเรือที่ต้องหลีกทาง

                 

 

เรือที่มีหน้าที่ต้องหลีกทางให้แก่เรืออีกลำหนึ่ง ต้องกระทำแต่เนิ่น ๆ และให้มากพอที่จะผ่านพ้นกันโดยปลอดภัยเท่าที่จะทำได้


ข้อ ๑๗

วิธีปฏิบัติของเรือที่ไม่ต้องหลีกทาง

                 

 

(ก) (๑) ถ้าเรือลำหนึ่งต้องหลีกทาง ก็ให้เรืออีกลำหนึ่งรักษาทิศทางและอัตราความเร็วเดิม

(๒) ถ้าปรากฏว่า เรือที่ต้องหลีกทางไม่ปฏิบัติการหลบหลีกได้อย่างเหมาะสมก็ให้เรือที่ไม่ต้องหลีกทางปฏิบัติการหลบหลีกจากการโดนกันโดยการบังคับเรือของตนด้วย

(ข) ถ้าโดยเหตุหนึ่งเหตุใด เรือที่ต้องรักษาทิศทางและอัตราความเร็วเดิมเห็นว่าได้แล่นเข้าไปใกล้กันมากจนไม่อาจหลีกเลี่ยงการโดนกันได้ด้วยการปฏิบัติของเรือที่ต้องหลีกทางแต่เพียงฝ่ายเดียว ก็ให้เรือที่ไม่ต้องหลีกทางปฏิบัติการอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยหลีกเลี่ยงการโดนกันด้วย

(ค) เรือกลซึ่งปฏิบัติการในสถานการณ์เมื่อเรือเดินตัดทางกันตาม (ก) (๒) ของข้อนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกันกับเรือกลอีกลำหนึ่ง ถ้าสถานการณ์อำนวยต้องไม่เปลี่ยนเข็มเดินเรือหลบไปทางซ้ายเมื่อมีเรืออีกลำหนึ่งอยู่ทางกราบซ้ายของตน

(ง) ความในข้อนี้ไม่เป็นเหตุให้เรือที่ต้องหลีกทางพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องหลีกทางให้เรืออื่น

 

ข้อ ๑๘

ความรับผิดชอบระหว่างเรือต่อเรือ

                 

 

เว้นแต่ความในข้อ ๙ ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๓ จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

(ก) เรือกลกำลังเดินต้องหลีกทางให้แก่

(๑) เรือไม่อยู่ในบังคับ

(๒) เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว

(๓) เรือขณะทำการประมง

(๔) เรือใบ

(ข) เรือใบกำลังเดินต้องหลีกทางให้แก่

(๑) เรือไม่อยู่ในบังคับ

(๒) เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว

(๓) เรือขณะทำการประมง

(ค) เรือขณะทำการประมงกำลังเดินต้องหลีกทางให้แก่เรือ ดังต่อไปนี้ เท่าที่จะทำได้

(๑) เรือไม่อยู่ในบังคับ

(๒) เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว

(ง) (๑) เรือทุกลำเว้นแต่เรือไม่อยู่ในบังคับ หรือเรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว ถ้าสถานการณ์อำนวยให้หลีกเลี่ยงการกีดขวางทางเดินอันปลอดภัยของเรือที่บังคับยากเพราะอัตรากินน้ำลึกของเรือ ซึ่งแสดงสัญญาณตามข้อ ๒๘

(๒) เรือที่บังคับยากเพราะอัตรากินน้ำลึกของเรือต้องเดินด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าเรือนั้นมีสภาพแตกต่างจากปกติ

(จ) เครื่องบินทะเลขณะอยู่บนพื้นน้ำ โดยปกติต้องหลีกทางให้พ้นเรืออื่น และต้องหลีกเลี่ยงการกีดขวางการเดินเรือ  อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดการเสี่ยงภัยจากการโดนกันต้องปฏิบัติตามความในหมวดนี้

 

บทที่ ๓

การปฏิบัติของเรือในทัศนวิสัยจำกัด

                 

 

ข้อ ๑๙

การปฏิบัติของเรือในทัศนวิสัยจำกัด

                 

 

(ก) ความในข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือขณะมองไม่เห็นซึ่งกันและกัน เมื่อเดินเข้าไปในเหรือใกล้บริเวณทัศนวิสัยจำกัด

(ข) ในทัศนวิสัยจำกัด เรือต้องเดินด้วยอัตราความเร็วปลอดภัยที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์และสภาพการณ์ เรือกลต้องเตรียมเครื่องจักรกลประจำเรือให้พร้อมที่จะใช้บังคับการเดินเรือได้ทันที

(ค) เรือเมื่อปฏิบัติตามความในบทที่ ๑ แห่งหมวดนี้ ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติให้ทันต่อสถานการณ์และสภาพการณ์ของทัศนวิสัยจำกัด

(ง) เรือลำใดที่ตรวจพบเรืออื่นด้วยเครื่องเรดาร์เพียงอย่างเดียว ถ้าเห็นว่ามีสถานการณ์เข้าใกล้กันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และ/หรือมีการเสี่ยงภัยจากการโดนกันเกิดขึ้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้เรือลำนั้นต้องปฏิบัติการหลบหลีกให้ทันเวลา หากการปฏิบัติการดังกล่าวต้องเปลี่ยนเข็มเดินเรือแล้ว ให้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติดังต่อไปนี้เท่าที่จะกระทำได้

(๑) เปลี่ยนเข็มเดินเรือไปทางซ้าย เมื่อเรือที่ถูกตรวจพบอยู่เลยเส้นฉากข้างเรือไปทางหัวเรือ นอกจากเรือนั้นกำลังถูกแซงขึ้นหน้า

(๒) เปลี่ยนเข็มเดินเรือเข้าหาเรือที่อยู่ตรงเส้นฉากข้างเรือหรือเลยเส้นฉากข้างเรือไปทางท้ายเรือ

(จ) เรือทุกลำเมื่อได้ยินสัญญาณหมอกของเรืออื่นทางด้านหน้าเส้นฉากข้างเรือ หรือเรือนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อสถานการณ์เข้าใกล้กันกับเรืออีกลำหนึ่งในลักษณะที่น่าจะโดนกัน ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าเส้นฉากข้างเรือของตนได้ เรือนั้นต้องลดอัตราความเร็วลงให้ต่ำสุดเท่าที่จะเดินรักษาเส้นทางเรือเดินของตนไว้ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่าการเสี่ยงภัยจากการโดนกันไม่เกิดขึ้น ถ้าจำเป็นต้องหยุดเรือ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ต้องเดินเรือด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด จนกว่าอันตรายจากการโดนกันได้ผ่านพ้นไปแล้ว


หมวด ค

โคมไฟและทุ่นเครื่องหมาย

                 

 

ข้อ ๒๐

การใช้บังคับ

                 

 

(ก) ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับในทุกลักษณะอากาศ

(ข) บทบัญญัติว่าด้วยโคมไฟ ให้ใช้บังคับตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และระหว่างเวลาดังกล่าวห้ามมิให้เปิดใช้โคมไฟอื่นใด เว้นแต่โคมไฟเช่นนั้นไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดในเรื่องโคมไฟที่บังคับไว้ในกฎกระทรวงนี้ หรือไม่ทำให้ทัศนวิสัย หรือลักษณะชัดเจนของโคมไฟผิดเพี้ยนไป หรือรบกวนต่อยามระวังเหตุ

(ค) โคมไฟที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ถ้าได้ติดตั้งแล้วต้องเปิดใช้ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงเวลาพระอาทิตย์ตกในทัศนวิสัยจำกัดด้วย และอาจเปิดใช้โคมไฟในกรณีอื่น ๆ ที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้

(ง) บทบัญญัติว่าด้วยทุ่นเครื่องหมาย ให้ใช้บังคับในเวลากลางวัน

(จ) โคมไฟและทุ่นเครื่องหมายที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ต้องเป็นไปตามภาคผนวก ๑

 

ข้อ ๒๑

บทนิยาม

                 

 

(ก) “โคมไฟเสากระโดง” หมายความว่า โคมไฟสีขาวหนึ่งดวงที่ติดตั้งอยู่เหนือเส้นกึ่งกลางลำตามแนวหัวเรือ - ท้ายเรือ โดยโคมไฟดวงนี้ต้องส่องแสงอยู่เสมอภายในวงขอบ ๒๒๕ องศาในทางระดับ และการติดตั้งโคมไฟต้องให้เห็นแสงไฟนับจากแนวเส้นหัวเรือจนเลยเส้นฉากข้างเรือแต่ละกราบไปทางท้าย ๒๒.๕ องศา

(ข) “โคมไฟข้างเรือ” หมายความว่า โคมไฟสีเขียวหนึ่งดวงที่ติดตั้งไว้ทางกราบขวาและโคมไฟสีแดงอีกหนึ่งดวงที่ติดตั้งไว้ทางกราบซ้าย โคมไฟแต่ละดวงต้องส่องแสงอยู่เสมอภายในวงขอบ ๑๑๒.๕ องศาในทางระดับ และการติดตั้งโคมไฟต้องให้เห็นแสงไฟนับจากแนวเส้นหัวเรือจนเลยเส้นฉากข้างเรือแต่ละกราบไปทางท้าย ๒๒.๕ องศา สำหรับเรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร โคมไฟข้างเรืออาจรวมเป็นดวงเดียวกันโดยให้ติดตั้งไว้เหนือเส้นกึ่งกลางลำตามแนวหัวเรือ - ท้ายเรือก็ได้

(ค) “โคมไฟท้ายเรือ” หมายความว่า โคมไฟสีขาวหนึ่งดวงที่ติดตั้งไว้ใกล้ท้ายเรือมาก

ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้ส่องแสงอยู่เสมอ ภายในวงขอบ ๑๓๕ องศา ในทางระดับ และการติดตั้งโคมไฟต้องให้เห็นแสงไฟนับจากเส้นฉากท้ายเรือออกไปแต่ละกราบ กราบละ ๖๗.๕ องศา

(ง) “โคมไฟพ่วงจูง” หมายความว่า โคมไฟสีเหลืองหนึ่งดวงที่มีลักษณะเดียวกันกับโคมไฟท้ายเรือ ตามที่นิยามไว้ใน (ค)

(จ) “โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศ” หมายความว่า โคมไฟหนึ่งดวงที่ส่องแสงอยู่เสมอภายในวงขอบ ๓๖๐ องศา ในทางระดับ

(ฉ) “โคมไฟวับ” หมายความว่า โคมไฟหนึ่งดวงที่ส่องแสงวับสม่ำเสมอ มีความถี่ ๑๒๐ วับ หรือมากกว่านั้นต่อหนึ่งนาที

 

ข้อ ๒๒

ทัศนวิสัยของโคมไฟ

                 

 

โคมไฟที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ต้องมีกำลังส่องสว่างตามที่กำหนดไว้ใน ๘. ของภาคผนวก ๑ โดยต้องให้มองเห็นได้ในระยะอย่างน้อยที่สุด ดังต่อไปนี้

(ก) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๕๐ เมตรขึ้นไป

-โคมไฟเสากระโดง                                 ๖ ไมล์

-โคมไฟข้างเรือ                                     ๓ ไมล์

-โคมไฟท้ายเรือ                                    ๓ ไมล์

-โคมไฟพ่วงจูง                                      ๓ ไมล์

-โคมไฟสีขาว แดง เขียว

หรือเหลือง มองเห็นได้รอบทิศ                   ๓ ไมล์

(ข) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๒ เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๕๐ เมตร

-โคมไฟเสากระโดง                                 ๕ ไมล์

เว้นแต่เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร          ๓ ไมล์

-โคมไฟข้างเรือ                                     ๒ ไมล์

-โคมไฟท้ายเรือ                                    ๒ ไมล์

-โคมไฟพ่วงจูง                                      ๒ ไมล์

-โคมไฟสีขาว แดง เขียว

หรือเหลือง มองเห็นได้รอบทิศ                   ๒ ไมล์

(ค) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร

-โคมไฟเสากระโดง                                 ๒ ไมล์

-โคมไฟข้างเรือ                                     ๑ ไมล์

-โคมไฟท้ายเรือ                                    ๒ ไมล์

-โคมไฟพ่วงจูง                                      ๒ ไมล์

-โคมไฟสีขาว แดง เขียว หรือเหลือง    

มองเห็นได้รอบทิศ                                ๒ ไมล์


 

ข้อ ๒๓

เรือกลกำลังเดิน

                 

 

(ก) เรือกลกำลังเดิน ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือหนึ่งดวง

(๒) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงที่สองถัดไปทางท้ายเรือหนึ่งดวง ให้อยู่สูงกว่าโคมไฟเสากระโดงหัวเรือ เว้นแต่เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๕๐ เมตร ไม่จำต้องเปิดใช้โคมไฟดวงนี้ แต่จะเปิดใช้ก็ได้

(๓) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๔) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(ข) เรือที่มีเบาะอากาศรองรับ (air-cushion vessel) ขณะขับเคลื่อนด้วยวิธีระวางไม่ขับน้ำ ให้เปิดใช้โคมไฟวับสีเหลือง มองเห็นได้รอบทิศเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวง จากที่บังคับไว้ใน (ก)

(ค) เรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร ซึ่งอัตราความเร็วสูงสุดไม่เกิน ๗ นอต ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาว มองเห็นได้รอบทิศหนึ่งดวงแทนการเปิดใช้โคมไฟตาม (ก) และถ้าสามารถทำได้ ให้เปิดใช้โคมไฟข้างเรือด้วย

 

ข้อ ๒๔

การจูงและดัน

                 

 

(ก) เรือกลเมื่อทำการจูง ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือซ้อนกันสองดวงในทางดิ่ง เมื่อความยาวของพวงจูงวัดจากท้ายเรือจูงถึงท้ายสุดของเรือพ่วงเกิน ๒๐๐ เมตร ให้เปิดใช้โคมไฟดังกล่าวสามดวง แทนการเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓ (ก) (๑)

(๒) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๓) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(๔) เปิดใช้โคมไฟพ่วงจูง เหนือโคมไฟท้ายเรือซ้อนกันในทางดิ่งอีกหนึ่งดวง

(๕) แสดงเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดหนึ่งทุ่น เมื่อความยาวของพ่วงจูงเกิน ๒๐๐ เมตร

(ข) เมื่อเรือดันและเรือที่ถูกดันไปข้างหน้าต่อสนิทติดกัน ให้ถือว่าเรือทั้งสองลำเป็นเรือกลลำเดียวกัน และต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓

(ค) เรือกลเมื่อดันเรือไปข้างหน้า หรือจูงเทียบข้าง เว้นแต่ในกรณีที่ต่อสนิทติดเป็นลำเดียวกัน ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง แทนการเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓ (ก) (๑)

(๒) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๓) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(ง) เรือกลที่ปฏิบัติตาม (ก) และ (ค) ต้องปฏิบัติตามข้อ ๒๓ (ก) (๒) อีกด้วย

(จ) เรือหรือวัตถุใดขณะถูกจูง ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๒) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(๓) เมื่อความยาวของพวงจูงเกิน ๒๐๐ เมตร ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดหนึ่งทุ่น

(ฉ) เมื่อเรือที่ถูกจูงเทียบข้างหรือถูกดันเป็นกลุ่ม ไม่ว่ามีจำนวนเท่าใดก็ตาม ต้องเปิดใช้โคมไฟเสมือนเป็นเรือลำเดียวกัน ดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่ถูกดันไปข้างหน้า ซึ่งมิได้ต่อสนิทติดเป็นลำเดียวกับเรือดัน ให้เปิดใช้โคมไฟข้างเรือที่ตอนหัวเรือ

(๒) เรือที่ถูกจูงเทียบข้าง ต้องเปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ และโคมไฟข้างเรือที่ตอนหัวเรือ

(ช) ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้เรือหรือวัตถุที่ถูกจูงไม่สามารถเปิดใช้โคมไฟตาม (จ) ได้ ต้องใช้มาตรการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ด้วยการจัดให้มีแสงสว่างที่เรือหรือวัตถุที่ถูกจูง หรืออย่างน้อยที่สุดต้องแสดงให้รู้ว่ามีเรือหรือวัตถุนั้นอยู่

 

ข้อ ๒๕

เรือใบที่กำลังเดิน และเรือที่กำลังแจวพาย

                 

 

(ก) เรือใบที่กำลังเดิน ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๒) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(ข) เรือใบที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร โคมไฟที่บังคับไว้ตาม (ก) จะอยู่รวมกันเป็นดวงโคมดวงเดียวกันก็ได้ โดยต้องติดตั้งไว้ให้มองเห็นได้ชัดที่สุด ณ ที่หรือใกล้ยอดเสากระโดง

(ค) เรือใบที่กำลังเดิน นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตาม (ก) แล้ว ต้องเปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่งให้มองเห็นได้ชัดที่สุดเพิ่มขึ้นอีก ณ ที่ หรือใกล้กับยอดเสากระโดง โดยโคมไฟดวงบนต้องเป็นสีแดงและดวงล่างต้องเป็นสีเขียว แต่โคมไฟทั้งสองดวงต้องไม่ติดตั้งให้อยู่ใกล้เคียงกันกับโคมไฟตาม (ข)

(ง) (๑) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร ถ้าสามารถกระทำได้ให้เปิดใช้โคมไฟตาม (ก) หรือ (ข) แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ต้องมีไฟฉายหรือโคมไฟให้แสงสีขาว พร้อมที่จะเปิดใช้ได้ในระยะเวลาเพียงพอที่จะป้องกันการโดนกัน

(๒) เรือที่กำลังแจวพายอาจเปิดใช้โคมไฟที่ใช้บังคับแก่เรือใบตามข้อนี้ก็ได้ แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ต้องมีไฟฉายหรือโคมไฟให้แสงสีขาวพร้อมที่จะเปิดใช้ได้ในระยะเวลาเพียงพอที่จะป้องกันการโดนกัน

(จ) เรือที่กำลังเดินด้วยใบ เมื่อใช้เครื่องจักรกลในการเดินเรือด้วย ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปกรวยปลายแหลมชี้ลงหนึ่งทุ่นไว้ตอนหน้าเรือ ณ ที่เห็นได้ชัดที่สุด


 

ข้อ ๒๖

เรือประมง

                 

 

(ก) เรือขณะทำการประมง ไม่ว่ากำลังเดินหรือทอดสมอ ให้เปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้

(ข) เรือขณะลากอวนหน้าดิน หรือเครื่องทำการประมงอื่น ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง โคมไฟดวงบนเป็นสีเขียวและโคมไฟดวงล่างเป็นสีขาว หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปกรวยสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ให้ปลายแหลมชี้เข้าหากัน เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปตะกร้าแทน

(๒) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหนึ่งดวงให้อยู่ถัดไปทางท้ายและสูงกว่าโคมไฟสีเขียวมองเห็นได้รอบทิศ เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๕๐ เมตร ไม่บังคับให้ต้องเปิดใช้โคมไฟดังกล่าว แต่จะเปิดใช้ก็ได้

(๓) ขณะเคลื่อนที่ นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้แล้ว ต้องเปิดใช้โคมไฟข้างเรือ และโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

(ค) เรือขณะทำการประมงแต่มิได้ลากอวน ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง โคมไฟดวงบนเป็นสีแดง ดวงล่างเป็นสีขาว หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปกรวยสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ให้ปลายแหลมชี้เข้าหากัน เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปตะกร้าแทนเครื่องหมายดังกล่าว

(๒) เมื่อมีเครื่องมือยื่นออกไปจากตัวเรือทางระดับเกิน ๑๕๐ เมตร ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศหนึ่งดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปกรวยปลายแหลมชี้ขึ้นหนึ่งทุ่นทางด้านที่มีเครื่องมือยื่นออกไปนั้น

(๓) ขณะเคลื่อนที่ นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้แล้ว ต้องเปิดใช้โคมไฟข้างเรือและโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

(ง) เรือขณะทำการประมงใกล้กัน อาจเปิดใช้สัญญาณเพิ่มเติมตามภาคผนวก ๒ ก็ได้

(จ) เรือที่ไม่ได้ทำการประมง ห้ามเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อนี้ แต่ต้องปฏิบัติดังที่บังคับไว้ตามความยาวของเรือ

 

ข้อ ๒๗

เรือไม่อยู่ในบังคับ หรือเรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว

                 

 

(ก) เรือไม่อยู่ในบังคับ ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟสีแดงมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด

(๒) แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลม หรือที่มีลักษณะคล้ายรูปทรงกลมสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด

(๓) ขณะเคลื่อนที่ นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้แล้ว ต้องเปิดใช้โคมไฟข้างเรือและโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

(ข) เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว เว้นแต่เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิด ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสามดวงซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด โคมไฟดวงบนสุดและดวงล่างสุดเป็นสีแดง และดวงกลางเป็นสีขาว

(๒) แสดงทุ่นเครื่องหมายสามทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด ทุ่นลูกบนสุดและล่างสุดเป็นรูปทรงกลม และลูกกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

(๓) ขณะเคลื่อนที่ ต้องเปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหัวเรือข้างเรือและท้ายเรือเพิ่มขึ้นจากที่ต้องเปิดใช้ตาม (๑)

(๔) เมื่อทอดสมออยู่ ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๓๐ เพิ่มขึ้นจาก (๑) และ (๒)

(ค) เรือขณะทำการจูง อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเข็มเดินเรือของตนเองได้ ต้องเปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม ข้อ ๒๔ (ก) เพิ่มขึ้นจากที่ต้องเปิดใช้โคมไฟตาม (ข) (๑) และแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ข) (๒)

(ง) เรือขณะทำการขุดลอก หรือปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำซึ่งทำให้ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัวต้องเปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ข) แต่เมื่อเกิดการกีดขวางต้องเปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายเพิ่มขึ้น ดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีแดงสองดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ทางด้านที่มีการกีดขวาง

(๒) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีเขียวสองดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่งทางด้านที่เรืออื่นอาจผ่านได้

(๓) ขณะเคลื่อนที่ ต้องเปิดใช้โคมไฟเสากระโดง โคมไฟข้างเรือ และโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นจากที่ต้องเปิดใช้โคมไฟตาม (ง)

(๔) เรือซึ่งต้องบังคับให้ปฏิบัติตาม (ง) เมื่อทอดสมออยู่ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (๑) และ (๒) แทนการเปิดใช้โคมไฟ หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๓๐

(จ) เรือขนาดใดก็ตาม ขณะปฏิบัติงานประดาน้ำ ถ้าไม่อาจแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ง) ได้ ต้องแสดงแผ่นแข็งจำลองธงอักษร “A” ตามประมวลสัญญาณธงระหว่างประเทศ สูงไม่น้อยกว่า ๑ เมตร และให้แน่ใจว่าต้องมองเห็นได้รอบทิศด้วย

(ฉ) เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิดต้องเปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีเขียวสามดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสามทุ่นเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้สำหรับการเปิดใช้โคมไฟของเรือกลตามข้อ ๒๓ โคมไฟหนึ่งดวงหรือทุ่นเครื่องหมายหนึ่งทุ่นดังกล่าวแล้ว ต้องเปิดใช้หรือแสดง ณ ที่หรือใกล้กับยอดเสากระโดงตอนหัวเรือ และที่ปลายพรวนเสากระโดงตอนหัวเรือข้างละหนึ่งดวงหรือหนึ่งทุ่น โคมไฟหรือทุ่นเครื่องหมายดังกล่าวแสดงให้เรืออื่นทราบว่ามีอันตราย หากเข้ามาใกล้ทางท้ายเรือในระยะ ๑,๐๐๐ เมตร หรือใกล้ข้างเรือแต่ละข้างในระยะ ๕๐๐ เมตร ของเรือกวาดทุ่นระเบิดนั้น

(ช) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร ไม่จำเป็นต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้

(ซ) สัญญาณในข้อนี้ ไม่ใช่เป็นสัญญาณอับจนของเรือ และต้องการความช่วยเหลือสัญญาดังกล่าวแล้วได้กำหนดไว้ในภาคผนวก ๔

 

ข้อ ๒๘

เรือที่บังคับยากเพราะอัตรากินน้ำลึกของเรือ

                 

 

เรือที่บังคับยากเพราะอัตรากินน้ำลึกของเรืออาจเปิดใช้โคมไฟสีแดง มองเห็นได้รอบทิศซ้อนกันในทางดิ่งสามดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกระบอกหนึ่งทุ่น ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ สำหรับเรือกลตามข้อ ๒๓

 

ข้อ ๒๙

เรือนำร่อง

                 

 

(ก) เรือขณะทำหน้าที่นำร่อง ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟสองดวงซ้อนกันในทางดิ่งมองเห็นได้รอบทิศ ณ ที่หรือใกล้เสากระโดง โคมไฟดวงบนสีขาวและดวงล่างสีแดง

(๒) เมื่อกำลังเดินให้เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ และโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้น

(๓) เมื่อทอดสมออยู่ให้เปิดใช้โคมไฟเรือทอดสมอ หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายเพิ่มจากที่ได้บังคับไว้ให้เปิดใช้โคมไฟตาม (๑)

(ข) เรือขณะไม่ได้ทำหน้าที่นำร่อง ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามที่กำหนดไว้ตามขนาดความยาวของเรือ

 

ข้อ ๓๐

เรือที่ทอดสมอและเรือที่ติดตื้น

                 

 

(ก) เรือที่ทอดสมอ ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมาย ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด ดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาวหนึ่งดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมหนึ่งทุ่นไว้ตอนหน้าเรือ

(๒) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาวหนึ่งดวง ณ ที่หรือใกล้ท้ายเรือ โดยให้อยู่ต่ำกว่าดวงที่ให้กำหนดไว้ใน (๑)

(ข) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๕๐ เมตร อาจเปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาวหนึ่งดวง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดแทนโคมไฟตาม (ก)

(ค) เรือที่ทอดสมอและเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป ต้องเปิดใช้โคมไฟที่ใช้ขณะทำงาน หรือโคมไฟอื่นใดที่มีลักษณะทัดเทียมกันให้ส่องสว่างทั่วดาดฟ้าของเรือนั้นด้วย

(ง) เรือที่ติดตื้นให้เปิดใช้โคมไฟตาม (ก) หรือ (ข) และให้เปิดใช้โคมไฟ ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดเพิ่มขึ้น ดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีแดงสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง

(๒) แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสามทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง

(จ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร เมื่อทอดสมอหรือติดตื้นซึ่งไม่ใช่อยู่ในหรือใกล้ร่องน้ำแคบ ร่องน้ำทางเรือเดิน ที่ทอดจอดเรือ หรือที่ซึ่งโดยปกติใช้เป็นทางเดินเรือของเรืออื่น ไม่บังคับให้เปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ก) (ข) หรือ (ง)

 

ข้อ ๓๑

เครื่องบินทะเล

                 

 

เครื่องบินทะเลที่ไม่อาจเปิดใช้โคมไฟ หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามรูปลักษณะที่กำหนดไว้ในบทนี้ ให้เปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายที่มีลักษณะ และที่ติดตั้งใกล้เคียงกับที่กำหนดไว้ในบทนี้เท่าที่จะทำได้

 

หมวด ง

สัญญาณเสียงและสัญญาณแสง

                 

 

ข้อ ๓๒

บทนิยาม

                 

 

(ก) “หวูด” หมายความว่า เครื่องทำสัญญาณเสียงใด ๆ ที่สามารถทำเสียงหวูดได้ตามที่บังคับไว้ และต้องเป็นไปตามภาคผนวก ๓

(ข) “หวูดสั้น” หมายความว่า เสียงหวูดที่มีระยะเสียงนานประมาณ ๑ วินาที

(ค) “หวูดยาว” หมายความว่า เสียงหวูดที่มีระยะเสียงนานตั้งแต่ ๔ ถึง ๖ วินาที

 

ข้อ ๓๓

อุปกรณ์สำหรับสัญญาณเสียง

                 

 

(ก) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๒ เมตรขึ้นไป ต้องมีหวูดหนึ่งเครื่องและระฆังหนึ่งใบ และเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป ต้องมีฆ้องเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งใบ ระดับเสียง และความดังของฆ้องต้องไม่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเสียงระฆัง หวูด ระฆังและฆ้องต้องเป็นไปตามภาคผนวก ๓ ระฆังหรือฆ้อง หรือทั้งสองอย่างอาจใช้อุปกรณ์อย่างอื่นที่มีลักษณะของเสียงอย่างเดียวกันแทนก็ได้

ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวนั้นต้องสามารถทำสัญญาณเสียงด้วยมือได้

(ข) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร ไม่บังคับให้ต้องมีเครื่องมือทำสัญญาณเสียงตาม (ก) แต่ถ้าไม่มี เรือนั้นต้องมีวิธีอื่นที่ทำสัญญาณเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อ ๓๔

สัญญาณแสดงการบังคับการเดินเรือและสัญญาณเตือน

                 

 

(ก) เมื่อเรือต่าง ๆ ขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน เรือกลกำลังเดินเมื่อทำการบังคับการเดินเรือตามที่ให้อำนาจ หรือตามที่บังคับไว้ในกฎกระทรวงนี้ ต้องแสดงสัญญาณการบังคับการเดินเรือด้วยหวูด ดังนี้

หวูดสั้นหนึ่งครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังเปลี่ยนเข็มเดินเรือไปทางขวา”

หวูดสั้นสองครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังเปลี่ยนเข็มเดินเรือไปทางซ้าย”

หวูดสั้นสามครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังใช้เครื่องจักรกลถอยหลัง”

(ข) ขณะทำการบังคับการเดินเรืออาจใช้สัญญาณแสงเพิ่มเติมสัญญาณหวูดที่กำหนดไว้ใน (ก) ตามที่เห็นสมควรอีกก็ได้ ดังนี้

(๑) สัญญาณแสงมีความหมายดังนี้

แสงหนึ่งวับ หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังเปลี่ยนเข็มเดินเรือไปทางขวา”

แสงสองวับ หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังเปลี่ยนเข็มเดินเรือไปทางซ้าย”

แสงสามวับ หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังใช้เครื่องจักรกลถอยหลัง”

(๒) ระยะนานของแสงไฟแต่ละวับ ต้องประมาณหนึ่งวินาที ช่วงระยะเวลาระหว่างวับต้องประมาณหนึ่งวินาที และช่วงระยะเวลาระหว่างการส่งสัญญาณแต่ละชุดต้องไม่น้อยกว่าสิบวินาที

(๓) ถ้าได้ติดตั้งโคมไฟสำหรับใช้แสดงสัญญาณ ต้องเป็นโคมไฟสีขาวที่มองเห็นได้รอบทิศ เห็นได้ในระยะอย่างน้อยที่สุด ๕ ไมล์ และต้องเป็นไปตามภาคผนวก ๑

(ค) เมื่อเรือเข้ามาอยู่ในขณะมองเห็นซึ่งกันและกันในร่องน้ำแคบ หรือในร่องน้ำทางเรือเดิน

(๑) เรือที่มีความประสงค์จะแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่งต้องปฏิบัติตามข้อ ๙ (จ) (๑) โดยใช้สัญญาณหวูดประจำเรือดังนี้ หวูดยาวสองครั้ง ติดตามด้วยหวูดสั้นหนึ่งครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแซงขึ้นหน้าทางกราบขวาของท่าน”

หวูดยาวสองครั้ง ติดตามด้วยหวูดสั้นสองครั้งหมายความว่า “ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแซงขึ้นหน้าทางกราบซ้ายของท่าน”

(๒) เรือลำที่กำลังจะถูกแซงขึ้นหน้า เมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของข้อ ๙ (จ)(๑) แล้ว ต้องแสดงการยินยอมโดยใช้สัญญาณหวูดประจำเรือเป็นชุด ดังนี้ หวูดยาวหนึ่งครั้ง หวูดสั้นหนึ่งครั้ง หวูดยาวหนึ่งครั้งและหวูดสั้นหนึ่งครั้ง

(ง) เมื่อเรือเข้ามาอยู่ในขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน กำลังเข้ามาใกล้กัน และจะเนื่องด้วยเหตุใดก็ตาม เรือลำที่ไม่แน่ใจในความประสงค์หรือการกระทำของเรือลำอื่น หรือเรือลำหนึ่งสงสัยการกระทำของเรือลำอื่นว่าได้กระทำการเพียงพอหรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงการโดนกัน ให้เรือลำที่สงสัยนั้นแสดงความสงสัยของตนทันทีด้วยการใช้สัญญาณหวูดสั้นถี่ ๆ อย่างน้อยห้าครั้ง สัญญาณดังกล่าวอาจใช้สัญญาณแสงวับถี่ ๆ อย่างน้อยห้าครั้งเพิ่มขึ้นก็ได้

(จ) เรือที่เดินเข้าไปใกล้ทางโค้งหรือบริเวณร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดินซึ่งมองไม่เห็นเรือลำอื่นเพราะมีสิ่งกีดขวางบังอยู่ ต้องแสดงสัญญาณหวูดยาวหนึ่งครั้ง หรือเรือลำอื่นที่เดินเรืออยู่ในบริเวณใกล้ทางโค้งหรือเบื้องหลังสิ่งกีดขวางนั้นเมื่อได้ยินสัญญาณหวูดดังกล่าว ต้องตอบด้วยสัญญาณหวูดยาวหนึ่งครั้งเช่นกัน

(ฉ) ถ้าเรือที่ติดตั้งหวูดไว้หลายเครื่อง โดยมีระยะห่างกันเกิน ๑๐๐ เมตร ให้ใช้หวูดเครื่องเดียวเท่านั้น สำหรับเป็นสัญญาณแสดงการบังคับการเดินเรือและสัญญาณเตือน

 

ข้อ ๓๕

สัญญาณเสียงในทัศนวิสัยจำกัด

                 

 

ในบริเวณหรือที่ใกล้กับบริเวณทัศนวิสัยจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือเวลากลางคืนก็ตาม ต้องใช้สัญญาณเสียง ดังนี้

(ก) เรือกลขณะเคลื่อนที่ต้องแสดงสัญญาณเสียงหวูดยาวหนึ่งครั้ง เว้นระยะเวลาเสียงหวูดแต่ละครั้งไม่เกิน ๒ นาที

(ข) เรือกลที่กำลังเดินแต่หยุดอยู่ และไม่เคลื่อนที่ ต้องแสดงสัญญาณเสียงหวูดยาวสองครั้งติดต่อกัน ระยะเวลาระหว่างหวูดประมาณ ๒ วินาที การแสดงสัญญาณเสียงหวูดแต่ละชุดให้มีระยะเวลาห่างกันไม่เกิน ๒ นาที

(ค) เรือไม่อยู่ในบังคับ เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว เรือที่บังคับยากเพราะอัตรากินน้ำลึกของเรือ เรือใบ เรือขณะทำการประมง และเรือขณะจูง หรือดันเรืออื่น แทนที่จะแสดงสัญญาณเสียงตาม (ก) หรือ (ข) ต้องแสดงสัญญาณเสียงหวูดสามครั้งติดต่อกันเป็นชุด ๆ เว้นระยะเวลาแต่ละชุดไม่เกิน ๒ นาที สัญญาณเสียงแต่ละชุดต้องเป็นดังนี้ หวูดยาวหนึ่งครั้ง ติดตามด้วยหวูดสั้นสองครั้ง

(ง) เรือที่พ่วงไปกับเรือจูงหนึ่งลำหรือเกินกว่าหนึ่งลำ และถ้าเรือพ่วงลำสุดท้ายมีคนประจำเรือต้องแสดงสัญญาณเสียงหวูดสี่ครั้งติดต่อกันเป็นชุด เว้นระยะเวลาแต่ละชุดไม่เกิน ๒ นาที สัญญาณเสียงแต่ละชุดต้องเป็นดังนี้ หวูดยาวหนึ่งครั้ง ติดตามด้วยหวูดสั้นสามครั้ง เมื่อสามารถกระทำได้ให้แสดงสัญญาณเสียงนี้ในทันทีภายหลังเมื่อมีสัญญาณเสียงของเรือจูง

(จ) เมื่อเรือดันและเรือที่ถูกดันไปข้างหน้าต่อสนิทติดกัน ให้ถือว่าเรือทั้งสองลำเป็นเรือกลลำเดียวกัน และต้องแสดงสัญญาเสียงตาม (ก) หรือ (ข)

(ฉ) เรือที่ทอดสมอต้องรัวระฆังเป็นชุด ชุดละประมาณ ๕ วินาที เว้นระยะเวลาระหว่างชุดไม่เกิน ๑ นาที เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป ต้องรัวระฆังตอนหัวเรือและทันทีหลังจากการรัวระฆัง ต้องรัวฆ้องเป็นชุด ชุดละประมาณ ๕ วินาทีที่ตอนท้ายเรือ เรือที่ทอดสมออาจแสดงสัญญาณเสียงหวูดเพิ่มขึ้นอีกสามครั้งติดต่อกัน คือ หวูดสั้นหนึ่งครั้ง หวูดยาวหนึ่งครั้ง และหวูดสั้นหนึ่งครั้ง ก็ได้ เพื่อเตือนเรือที่แล่นใกล้เข้ามาให้ทราบตำแหน่งที่ที่เรือนั้นทอดสมอ และอาจโดนกันได้

(ช) เรือที่ติดตื้น ต้องแสดงสัญญาณเสียงระฆัง และถ้าต้องแสดงสัญญาณเสียงฆ้องตาม (ฉ) ด้วย ต้องตีระฆังแยกให้ชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกสามครั้งทันที ทั้งก่อนและหลังการรัวระฆัง เรือที่ติดตื้นอาจแสดงสัญญาณเสียงหวูดตามที่เห็นสมควรเพิ่มขึ้นอีกด้วยก็ได้

(ซ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร ไม่บังคับให้ต้องแสดงสัญญาณเสียงดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าไม่แสดงสัญญาณเสียงตามที่กำหนดไว้ข้างต้นต้องแสดงสัญญาณเสียงอย่างอื่นที่ใช้ได้ดี เว้นระยะเวลาห่างกันไม่เกิน ๒ นาที

(ฌ) เรือนำร่องขณะทำการนำร่องอาจแสดงสัญญาณเสียงหวูดสั้นที่เหมือนกันอีกสี่ครั้ง เพิ่มขึ้นจาก (ก) (ข) หรือ (ฉ)

 

ข้อ ๓๖

สัญญาณให้ระวังอันตราย

                 

 

เรือที่จำเป็นเพื่อให้เรืออื่นระวังอันตราย อาจแสดงสัญญาณแสงหรือสัญญาณเสียงที่ไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ หรืออาจใช้ลำแสงไฟฉายของเรือส่องไปยังทิศทางที่มีอันตรายก็ได้ ในการกระทำดังกล่าวต้องไม่เป็นการรบกวนเรืออื่น

 

ข้อ ๓๗

สัญญาณอับจน

                 

 

เมื่อเรืออยู่ในฐานะอับจน และต้องการความช่วยเหลือ เรือนั้นต้องใช้หรือแสดงสัญญาณตามภาคผนวก ๔

 

หมวด จ

ข้อยกเว้น

                 

 

ข้อ ๓๘

ข้อยกเว้น

                 

 

เรือที่ได้มีการวางกระดูกงูของเรือนั้น หรืออยู่ในระหว่างการต่อเรือก่อนที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ อาจได้รับการยกเว้นจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ดังนี้

(ก) การติดตั้งโคมไฟให้มีทัศนวิสัยตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๒ ให้ได้รับการยกเว้นจนกว่าพ้นกำหนดสี่ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

(ข) การติดตั้งโคมไฟว่าด้วยสีของโคมไฟ ตามรายการละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ ของภาคผนวก ๑ ให้ได้รับการยกเว้นจนกว่าพ้นกำหนดสี่ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

(ค) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟ เนื่องจากผลการเปลี่ยนมาตราวัดระยะจากหน่วยอิมพีเรียลเป็นหน่วยเมตริก ให้เป็นตัวเลขที่ลงตัว ให้ได้รับการยกเว้นตลอดไป

(ง) (๑) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟเสากระโดงในเรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๕๐ เมตร อันเนื่องจากผลบังคับของข้อ ๓ (ก) แห่งภาคผนวก ๑ ให้ได้รับการยกเว้นตลอดไป

(๒) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟเสากระโดงในเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๕๐ เมตรขึ้นไป อันเนื่องจากผลบังคับของข้อ ๓ (ก) แห่งภาคผนวก ๑ ให้ได้รับการยกเว้นจนกว่าพ้นกำหนดเก้าปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

(จ) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟเสากระโดง อันเนื่องจากผลบังคับของข้อ ๒ (ข) แห่งภาคผนวก ๑ ให้ได้รับการยกเว้นจนกว่าพ้นกำหนดเก้าปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

(ฉ) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟข้างเรือ อันเนื่องจากผลบังคับของข้อ ๒ (ช) และ ๓ (ข) แห่งภาคผนวก ๑ ให้ได้รับการยกเว้นจนกว่าพ้นกำหนดเก้าปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

(ช) บทบังคับเกี่ยวกับเครื่องทำสัญญาณเสียงตามภาคผนวก ๓ ให้ได้รับการยกเว้นจนกว่าพ้นกำหนดเก้าปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

 

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

ส.  บุณยคุปต์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


ภาคผนวก ๑

ที่ติดตั้งและรายละเอียดทางเทคนิคของโคมไฟ

และทุ่นเครื่องหมาย

                 

 

๑. คำนิยาม

“ความสูงเหนือตัวเรือ” หมายความว่า ความสูงเหนือดาดฟ้าที่ยาวต่อเนื่องกันชั้นบนสุด

๒. ที่ติดตั้งโคมไฟและระยะต่อระหว่างโคมไฟทางดิ่ง

(ก) เรือกลที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป โคมไฟเสากระโดง ต้องติดตั้ง ดังนี้

(๑) โคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือ หรือถ้าใช้เพียงดวงเดียวเท่านั้น ต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๖ เมตร ถ้าตัวเรือกว้างกว่า ๖ เมตร โคมไฟต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่าความกว้างของตัวเรือ  อย่างไรก็ตาม โคมไฟดังกล่าวต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่เกิน ๑๒ เมตร

(๒) เมื่อมีโคมไฟเสากระโดงสองดวง โคมไฟเสากระโดงตอนท้ายเรือต้องอยู่สูงกว่าโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือในทางดิ่ง ไม่น้อยกว่า ๔.๕ เมตร

(ข) ระยะต่อทางดิ่งระหว่างโคมไฟเสากระโดงของเรือกลในทุกสภาพปกติของการบรรทุกของเรือ เมื่อมองจากหัวเรือในระยะ ๑,๐๐๐ เมตร ที่ระดับน้ำทะเล ต้องเห็นโคมไฟเสากระโดงตอนท้ายเรืออยู่สูงกว่า และแยกจากโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือ

(ค) โคมไฟเสากระโดงเรือกลที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๒ เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๒๐ เมตร ต้องติดตั้งให้สูงเหนือกราบเรือไม่น้อยกว่า ๒.๕ เมตร

(ง) เรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร อาจติดตั้งโคมไฟดวงสูงสุดให้สูงเหนือกราบเรือน้อยกว่า ๒.๕ เมตร ก็ได้ หากติดตั้งโคมไฟเสากระโดงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวง จากโคมไฟข้างเรือและท้ายเรือแล้ว โคมไฟเสากระโดงนั้นต้องให้อยู่สูงเหนือโคมไฟข้างเรือไม่น้อยกว่า ๑ เมตร

(จ) โคมไฟเสากระโดงหนึ่งดวงในจำนวนสองหรือสามดวงที่กำหนดให้ติดตั้งในเรือกลขณะจูงหรือดันเรืออื่น ต้องติดตั้งในเสาเดียวกันกับโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือตามที่กำหนดไว้สำหรับเรือกล

(ฉ) โคมไฟเสากระโดงดวงเดียวหรือหลายดวง ต้องติดตั้งไว้เหนือและอยู่ห่างจากโคมไฟดวงอื่น และต้องไม่มีสิ่งใดบังแสงของโคมไฟนั้นในทุกกรณี

(ช) โคมไฟข้างเรือที่กำหนดให้ติดตั้งในเรือกล ต้องติดตั้งให้อยู่สูงเหนือตัวเรือไม่เกินกว่าสามในสี่ของความสูงของโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือ และต้องไม่ให้อยู่ต่ำปะปนกับโคมไฟส่องสว่างดาดฟ้าเรือด้วย

(ซ) โคมไฟข้างเรือ ถ้ารวมอยู่ในดวงโคมเดียวกัน เมื่อติดตั้งในเรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้อยู่ต่ำกว่าโคมไฟเสากระโดงไม่น้อยกว่า ๑ เมตร

(ฌ) เมื่อกฎกระทรวงบังคับให้ต้องติดตั้งโคมไฟ สองหรือสามดวงซ้อนกันในทางดิ่ง ต้องติดตั้งให้มีระยะต่อ ดังนี้

(๑) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตร ขึ้นไป ให้มีระยะต่อทางดิ่งไม่น้อยกว่า ๒ เมตร และโคมไฟดวงต่ำสุดต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๔ เมตร เว้นแต่ที่นั้นได้กำหนดให้เป็นที่ติดตั้งโคมไฟเรือจูง

(๒) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้มีระยะต่อทางดิ่งระหว่างกันไม่น้อยกว่า ๑ เมตร และโคมไฟดวงต่ำสุดต้องอยู่สูงเหนือกราบเรือไม่น้อยกว่า ๒ เมตร เว้นแต่ที่นั้นได้กำหนดให้เป็นที่ติดตั้งโคมไฟเรือจูง

(๓) เมื่อต้องติดตั้งโคมไฟสามดวง ระยะต่อทางดิ่งต้องเท่ากัน

(ญ) โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศ ดวงล่างในจำนวนสองดวงที่กำหนดให้ติดตั้งซ้อนกันทางดิ่งในเรือประมง ขณะทำการประมง ต้องติดตั้งให้อยู่สูงเหนือโคมไฟข้างเรือ มีระยะไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะต่อระหว่างโคมไฟสองดวงที่ติดตั้งซ้อนกันในทางดิ่งนั้น

(ฎ) เมื่อต้องติดตั้งโคมไฟเรือทอดสมอสองดวง ดวงหน้าต้องอยู่สูงกว่าดวงหลังไม่น้อยกว่า ๔.๕ เมตร เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๕๐ เมตร ขึ้นไป โคมไฟเรือทอดสมอดวงหน้าต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๖ เมตร

๓. ที่ติดตั้งโคมไฟ และระยะห่างระหว่างโคมไฟทางระดับ

(ก) เรือกลที่กำหนดให้ต้องติดตั้งโคมไฟเสากระโดงสองดวง ระยะห่างทางระดับระหว่างโคมไฟทั้งสองดวงต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวของเรือ แต่ต้องไม่เกิน ๑๐๐ เมตร โคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือต้องติดตั้งที่ระยะไม่เกินหนึ่งในสี่ของความยาวของเรือวัดจากหัวเรือสุด

(ข) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตร ขึ้นไป โคมไฟข้างเรือต้องไม่ติดตั้งให้อยู่ด้านหน้าของโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือ แต่ต้องติดตั้งให้อยู่ที่ หรือใกล้กับข้างเรือ

๔. รายละเอียดเกี่ยวกับที่ติดตั้งโคมไฟชี้ทิศทางสำหรับเรือประมง เรือขุด และเรือขณะปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำ

(ก) โคมไฟชี้ทิศทางของเครื่องมือประมงที่ยื่นออกไปจากตัวเรือขณะทำการประมงตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๖ (ค) (๒) ต้องติดตั้งให้มีระยะห่างทางระดับไม่น้อยกว่า ๒ เมตร และไม่มากกว่า ๖ เมตร จากโคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวง ดวงหนึ่งสีแดง อีกดวงหนึ่งสีขาว โคมไฟชี้ทิศทางนี้ต้องติดตั้งไม่ให้อยู่เหนือโคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาวตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๖ (ค) (๑) และต้องไม่อยู่ต่ำกว่าโคมไฟข้างเรือด้วย

(ข) โคมไฟและทุ่นเครื่องหมายชี้ทิศทางของเรือขณะทำการขุดหรือปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำ ต้องชี้ไปทางด้านที่เรือนั้นมีสิ่งกีดขวางอยู่ และ/หรือ ทางด้านที่ให้เรืออื่นผ่านได้โดยปลอดภัย ตามข้อ ๒๗ (ง) (๑) และ (๒) โดยให้มีระยะห่างทางระดับจากโคมไฟ หรือทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๒๗ (ข) (๑) และ (๒) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในทุกกรณีต้องไม่น้อยกว่า ๒ เมตร และโคมไฟดวงบนหรือทุ่นเครื่องหมายทุ่นบนต้องไม่สูงกว่าโคมไฟหรือทุ่นเครื่องหมายที่อยู่ต่ำลงมานับจากโคมไฟดวงบนหรือทุ่นเครื่องหมายทุ่นบน ในจำนวนสามดวงหรือสามทุ่นตามข้อ ๒๗ (ข) (๑) และ (๒)

๕. บังเพลิงสำหรับโคมไฟข้างเรือ

โคมไฟข้างเรือจะต้องติดตั้งบังเพลิง ซึ่งด้านในที่ติดตัวเรือทาสีดำชนิดด้าน และต้องให้เป็นไปตามข้อ ๙ แห่งภาคผนวกนี้ สำหรับโคมไฟแบบรวมอยู่ในดวงโคมเดียวกันที่ใช้ใส้หลอดเส้นเดียวทางดิ่งและการกั้นแบ่งระหว่างส่วนของโคมไฟที่เป็นสีเขียวและสีแดงแคบมาก ไม่จำเป็นต้องติดตั้งบังเพลิงด้านนอกของโคมไฟ

๖. ทุ่นเครื่องหมาย

(ก) ทุ่นเครื่องหมายต้องเป็นสีดำ และมีขนาดดังนี้

(๑) ทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลม ต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๐.๖ เมตร

(๒) ทุ่นเครื่องหมายรูปกรวย ต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฐานไม่น้อยกว่า ๐.๖ เมตร และความสูงต้องเท่ากับความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของฐาน

(๓) ทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกระบอก ต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๐.๖ เมตร และความสูงต้องเป็นสองเท่าของความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลาง

(๔) ทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ต้องประกอบด้วยทุ่นเครื่องหมายรูปกรวยตาม (๒) สองทุ่น มีฐานติดกัน

(ข) ระยะต่อทางดิ่งระหว่างทุ่นเครื่องหมาย ต้องไม่น้อยกว่า ๑.๕ เมตร

(ค) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร อาจใช้ทุ่นเครื่องหมายที่มีขนาดเล็กกว่าได้ แต่ต้องได้สัดส่วนกับขนาดของเรือ และระยะต่อระหว่างกันอาจลดลงได้ตามส่วน

๗. รายละเอียดเกี่ยวกับสีของไฟ

สีของไฟเรือเดินทุกชนิดต้องเป็นไปตามมาตรฐานดังต่อไปนี้ คือ ต้องอยู่ภายในขอบเขตของพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในไดอะแกรมของแต่ละสี ซึ่งกำหนดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยแสงสว่าง (International Commission on Illumination)

ขอบเขตของพื้นที่แต่ละสี ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นมุมโคออดิเนท ดังนี้

(๑) สีขาว

ทางนอน                ๐.๕๒๕           ๐.๕๒๕           ๐.๔๕๒

                         ๐.๓๑๐           ๐.๓๑๐           ๐.๔๔๓

ทางตั้ง                  ๐.๓๘๒           ๐.๔๔๐           ๐.๔๔๐

                         ๐.๓๔๘           ๐.๒๘๓           ๐.๓๘๒

(๒) สีเขียว

ทางนอน                ๐.๐๒๘           ๐.๐๐๙           ๐.๓๐๐

                         ๐.๒๐๓

ทางตั้ง                  ๐.๓๘๕           ๐.๗๒๓           ๐.๕๑๑

                         ๐.๓๕๖

(๓) สีแดง

ทางนอน           ๐.๖๘๐        ๐.๖๖๐      ๐.๗๓๕      ๐.๗๒๑

ทางตั้ง             ๐.๓๒๐        ๐.๓๒๐      ๐.๒๖๕      ๐.๒๕๙

(๔) สีเหลือง

ทางนอน           ๐.๖๑๒        ๐.๖๑๘      ๐.๕๗๕      ๐.๕๗๕

ทางตั้ง             ๐.๓๘๒        ๐.๓๘๒      ๐.๔๒๕      ๐.๔๐๖

๘. กำลังส่องสว่างของแสงไฟ

(ก) กำลังส่องสว่างของแสงไฟอย่างน้อยที่สุดให้คำนวณ โดยใช้สูตรดังนี้

           I = 3.43 x 106 x T x D2 x K-D

ให้ I  เป็นกำลังส่องสว่างของแสงไฟเป็นจำนวนแรงเทียนในสภาพใช้งาน

    T เป็นค่าที่ใกล้เคียงของแฟคเตอร์ 2 x 10-7 ต่อหน่วยส่องสว่าง

    D เป็นระยะทัศนวิสัย (ระยะส่องสว่าง) ของแสงไฟเป็นไมล์ทะเล

    K เป็นสัมประสิทธิ์การส่งต่อของบรรยากาศ ขณะที่มีการส่องสว่างของแสงไฟ สำหรับแสงไฟดังกล่าวข้างต้น ค่าของ K ต้องเป็น ๐.๘ เมื่อระยะทัศนวิสัยทางอุตุนิยมวิทยาประมาณ ๑๓ ไมล์ทะเล

(ข) ตัวเลขที่กำหนดให้ตามตารางดังต่อไปนี้ ได้มาจากสูตรข้างต้น

 

ระยะทัศนวิสัย (ระยะส่องสว่าง)

ของแสงไฟ เป็นไมล์ทะเล

D

กำลังส่องสว่างของแสงไฟ

เป็นแรงเทียน เมื่อ K = 0.8

I

๐.๙

๔.๓

๑๒

๒๗

๕๒

๙๔

 

หมายเหตุ กำลังส่องสว่างมากที่สุดของแสงไฟเรือเดิน ต้องถูกจำกัดเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้สว่างมากจนสายตาพร่า

 

๙. เซคเตอร์ทางระดับ

(ก) (๑) โคมไฟข้างเรือที่ติดตั้งไว้ในเรือต้องให้แสงไฟมีกำลังส่องสว่างอย่างน้อยที่สุดทางด้านหน้าเรือตามที่กำหนดไว้ กำลังส่องสว่างของแสงไฟดังกล่าวต้องให้ลดน้อยลงจนไม่เห็นแสงไฟเมื่อพ้นเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้ออกไปอีกเป็นมุม ๑๐ - ๓๐

(๒) สำหรับโคมไฟท้ายเรือ โคมไฟเสากระโดง และโคมไฟข้างเรือ ณ ที่มุม ๒๒.๕๐ เลยเส้นฉากข้างเรือไปทางท้ายเรือ แสงไฟภายในวงขอบทางระดับจะต้องมีกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้จนถึงมุม ๕๐ ก่อนถึงเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๑ และตั้งแต่มุม ๕๐ ก่อนถึงเขตเซคเตอร์ไปจนถึงสุดเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้ กำลังส่องสว่างของแสงไฟอาจลดลงร้อยละ ๕๐ ต่อจากนั้นกำลังส่องสว่างของแสงไฟจะลดน้อยลงตามลำดับ จนมองไม่เห็นแสงไฟเมื่อพ้นเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้ออกไปอีกจนถึงมุมไม่เกิน ๕๐

(ข) โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศต้องไม่ติดตั้ง ณ ที่ซึ่งเสากระโดง ยอดเสากระโดง หรือโครงสร้างใด ๆ บังแสงไฟเป็นมุมเซคเตอร์เกิน ๖๐ เว้นแต่โคมไฟเรือทอดสมอไม่จำเป็นต้องติดตั้งให้สูงเหนือตัวเรือเกินสมควร

๑๐. เซคเตอร์ทางดิ่ง

(ก) เซคเตอร์ของแสงไฟทางดิ่งของดวงโคมไฟฟ้า เว้นแต่โคมไฟของเรือใบต้องเป็นดังนี้

(๑) อย่างน้อยที่สุด ในมุมทุกมุม ระหว่างมุม ๕๐ ทางด้านบนและล่างของแนวระดับโคมไฟให้คงกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้

(๒) อย่างน้อยที่สุด ระหว่างมุม ๗.๕๐ ทางด้านบนและล่างของแนวระดับโคมไฟ ให้คงกำลังส่องสว่างไว้ร้อยละ ๖๐ ของกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้

(ข) ในกรณีที่เป็นเรือใบ เซคเตอร์ของแสงไฟทางดิ่งของดวงโคมไฟฟ้าต้องเป็นดังนี้

(๑) อย่างน้อยที่สุดในมุมทุกมุมระหว่างมุม ๕๐ ทางด้านบนและล่างของแนวระดับโคมไฟ ให้คงกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้

(๒) อย่างน้อยที่สุดระหว่างมุม ๒๕๐ ทางด้านบนและล่างของแนวระดับโคมไฟให้คงกำลังส่องสว่างไว้ร้อยละ ๕๐ ของกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้

(ค) ในกรณีที่เป็นดวงโคมไฟอื่นนอกจากดวงโคมไฟฟ้าต้องให้ใกล้เคียงที่สุดกับรายการละเอียดดังกล่าวแล้วเท่าที่จะทำได้

๑๑. กำลังส่องสว่างของแสงไฟที่มิใช่แสงไฟฟ้า

แสงไฟที่มิใช่แสงไฟฟ้า ถ้าทำได้ ต้องให้มีกำลังส่องสว่างต่ำสุดใกล้เคียงกับตารางที่กำหนดไว้ใน ๘. แห่งภาคผนวกนี้

๑๒. โคมไฟแสดงการบังคับการเดินเรือ

แม้ว่าความใน ๒. (ฉ) แห่งภาคผนวกนี้จะบังคับไว้ประการใดก็ตาม โคมไฟแสดงการบังคับการเดินเรือตามข้อ ๓๔ (ข) ต้องติดตั้งตามแนวหัวเรือ-ท้ายเรือ ในพื้นทางดิ่งเดียวกันกับโคมไฟเสากระโดง จะเป็นดวงเดียวหรือหลายดวงก็ตาม ถ้าทำได้ต้องให้อยู่สูงทางดิ่งเหนือโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรืออย่างน้อยที่สุด ๒ เมตร แต่ต้องให้อยู่สูงหรือต่ำกว่าโคมไฟเสากระโดงตอนท้ายเรือทางดิ่งไม่ต่ำกว่า ๒ เมตร เรือที่มีโคมไฟเสากระโดงเพียงดวงเดียว ถ้าต้องติดตั้งโคมไฟแสดงการบังคับการเดินเรือด้วย ต้องติดตั้ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด มีระยะห่างทางดิ่งจากโคมไฟเสากระโดงไม่น้อยกว่า ๒ เมตร

๑๓. การอนุมัติ

การจัดทำโคมไฟ ทุ่นเครื่องหมาย และการติดตั้งโคมไฟในเรือต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่า

 

ภาคผนวก ๒

สัญญาณที่ต้องมีเพิ่มขึ้นสำหรับเรือประมงขณะทำการประมงใกล้กัน

                 

 

๑. บททั่วไป

โคมไฟที่จะกล่าวต่อไป ถ้าเปิดใช้ตามข้อ ๒๖ (ง) ต้องติดตั้ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด โคมไฟเหล่านั้นต้องติดตั้งให้อยู่ห่างกันอย่างน้อยที่สุด ๐.๙ เมตร แต่ต้องให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าโคมไฟตามข้อ ๒๖ (ข) (๑) และ (ค) (๑) โคมไฟดังกล่าวนี้จะต้องมองเห็นได้รอบทิศในทางระดับเป็นระยะทางอย่างน้อยที่สุด ๑ ไมล์ทะเล แต่ต้องมีระยะมองเห็นได้ใกล้กว่าโคมไฟที่บังคับไว้ในกฎกระทรวงนี้สำหรับเรือประมง

๒. สัญญาณสำหรับเรือลากอวน

(ก) เรือขณะลากอวน ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออวนลากหน้าดินหรือผิวน้ำก็ตาม
อาจเปิดใช้โคมไฟดังนี้

(๑) โคมไฟสีขาวสองดวงซ้อนกันทางดิ่ง เมื่อลงอวน

(๒) โคมไฟสีขาวหนึ่งดวงซ้อนอยู่บนโคมไฟสีแดงหนึ่งดวงทางดิ่ง เมื่อกู้อวน

(๓) โคมไฟสีแดงสองดวงซ้อนกันทางดิ่ง เมื่ออวนติดแน่นอยู่กับสิ่งกีดขวาง

(ข) เรือแต่ละลำขณะลากอวนเป็นคู่ อาจเปิดใช้สัญญาณแสง

(๑) ไฟฉายหนึ่งดวงส่องไปในทิศทางข้างหน้า และในทิศทางของเรือที่ลากอวนอยู่คู่กับเรือของตน ในเวลากลางคืน

(๒) เมื่อลงอวน หรือกู้อวน หรืออวนติดแน่นอยู่กับสิ่งกีดขวาง อาจเปิดใช้โคมไฟตาม ๒. (ก) ข้างต้นก็ได้

๓. สัญญาณสำหรับเรือลากอวนล้อมจับ

เรือขณะทำการประมงด้วยอวนล้อมจับ อาจเปิดใช้โคมไฟสีเหลืองสองดวงซ้อนกันทางดิ่ง โคมไฟดังกล่าวต้องมีแสงวับทุกวินาที และมีช่วงดับช่วงสว่างเท่ากัน โคมไฟนี้จะเปิดใช้เฉพาะเมื่อเครื่องมือประมงกีดขวางเกะกะอยู่เท่านั้น

 

ภาคผนวก ๓

รายละเอียดทางเทคนิคของเครื่องทำสัญญาณเสียง

                 

 

๑. หวูด

(ก) ความถี่และระยะได้ยินของเสียง

ความถี่ขั้นมูลฐานของสัญญาณเสียงต้องอยู่ระหว่างช่วง ๗๐-๗๐๐ เฮิตซ์ ระยะได้ยินสัญญาณเสียงจากหวูดให้เป็นไปตามความถี่ที่กำหนดซึ่งอาจรวมถึงความถี่ขั้นมูลฐาน และ/หรือความถี่หนึ่งความถี่ใด หรือความถี่ที่สูงกว่าซึ่งอยู่ในระหว่างช่วง ๑๘๐-๗๐๐ เฮิตซ์ (± ๑%) และสามารถทำระดับกำลังดันเสียงได้ตาม (ค) วรรคหนึ่ง

(ข) ขอบเขตความถี่ขั้นมูลฐาน

เพื่อให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าคุณสมบัติต่าง ๆ ของเสียง-หวูด มีครบตามที่กำหนดความถี่ของคลื่นเสียงขั้นมูลฐานของหวูดต้องอยู่ในระหว่างขอบเขต ดังต่อไปนี้

(๑) ๗๐-๒๐๐ เฮิตซ์ สำหรับเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐๐ เมตรขึ้นไป

(๒) ๑๓๐-๓๕๐ เฮิตซ์ สำหรับเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๗๕ เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร

(๓) ๒๕๐-๗๐๐ เฮิตซ์ สำหรับเรือที่มีความยาวไม่ถึง ๗๕ เมตร

(ค) ความดังและระยะได้ยินของเสียง

หวูดที่ติดตั้งในเรือต้องให้มีความดังของเสียงหวูดสูงสุดในทางตรงห่างจากหวูดนั้น ๑ เมตร และต้องมีระดับกำลังดันของเสียงอย่างน้อยที่สุด ๑/๓ ของแถบเสียงคู่แปดคู่เดียว ในช่วงความถี่ ๑๘๐-๗๐๐ เฮิตซ์ (± ๑%) และต้องไม่น้อยกว่าตัวเลขที่กำหนดไว้ในตาราง ดังต่อไปนี้

 

ความยาวเรือ

เป็นเมตร

ระดับกำลังดันของเสียง

๑/๓ ของแถบเสียงคู่แปด

ที่ระยะ ๑ เมตร เป็น

โดยให้ ๒ x ๑๐-๕ N/m2

ระยะได้ยินเป็น

ไมล์ทะเล

๒๐๐ ขึ้นไป

๑๔๓

๗๕ แต่ไม่ถึง ๒๐๐

๑๓๘

๑.๕

๒๐ แต่ไม่ถึง ๗๕

๑๓๐

ไม่ถึง ๒๐

๑๒๐

๐.๕

 

ระยะได้ยินตามตารางข้างบนเป็นข้อสนเทศและเป็นระยะโดยประมาณ ซึ่งอาจมีโอกาสได้ยินเสียงหวูดร้อยละ ๙๐ ตามเส้นแกนเสียงข้างหน้า ในสภาพลมสงัดบนเรือ มีระดับเสียงรบกวนโดยเฉลี่ย ณ ตำบลที่ได้ยินเสียง (ที่ ๒๕๐ เฮิตซ์ ในแถบเสียงคู่แปดมี ๖๘ dB เป็นศูนย์กลาง และที่ ๕๐๐ เฮิตซ์ ในแถบเสียงคู่แปดมี ๖๓ dB เป็นศูนย์กลาง)

ในทางปฏิบัติ ระยะซึ่งอาจได้ยินเสียงหวูดจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก และขึ้นอยู่กับสภาพของลมฟ้าอากาศเป็นอย่างยิ่ง ค่าที่กำหนดไว้ข้างต้นเป็นค่าที่กำหนดไว้ในสภาพอากาศธรรมดา แต่ถ้าภายใต้สภาพลมแรงหรือระดับเสียงโดยรอบมีเสียงสูง ณ ตำบลที่ได้ยินเสียง ระยะได้ยินเสียงอาจลดลงเป็นอย่างมาก

(ง) คุณลักษณะของเสียงในทิศทางต่าง ๆ

ทิศทางระดับกำลังดันของเสียงหวูดในทิศทางใด ๆ ภายในมุม ± ๔๕๐ จากพื้นระดับของเส้นแกน ต้องไม่ต่ำกว่า ๔ dB ของระดับกำลังดันของเสียงที่เส้นแกน ในทิศทางอื่น ๆ ในพื้นทางระดับ ระดับกำลังดันของเสียงต้องไม่ต่ำกว่า ๑๐ dB ของระดับกำลังดันที่เส้นแกนนั้น ระยะได้ยินในทิศทางอื่นอย่างน้อยที่สุดต้องเป็นครึ่งหนึ่งของเสียงทางเส้นแกนด้านหน้าของหวูด ระดับกำลังดันของเสียงต้องวัดได้ที่แถบที่ ๑/๓ ของแถบเสียงคู่แปดคู่นั้นซึ่งกำหนดให้เป็นระยะได้ยินเสียง

(จ) ที่ติดตั้งหวูด

เรือที่ใช้หวูดเพียงหวูดเดียว ต้องติดตั้งให้ความดังของเสียงที่ดังที่สุดส่งตรงไปทางด้านหน้าของเรือ

หวูดต้องติดตั้งบนเรือให้อยู่สูงเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้มีสิ่งกีดขวางการแพร่เสียง และเพื่อเป็นการลดอันตรายต่อระบบการได้ยินของบุคคลด้วย ระดับความดันของสัญญาณเสียงบนเรือ ณ ตำบลที่ได้ยินเสียงต้องไม่เกินกว่า ๑๑๐ dB (A) และเมื่อสามารถทำได้ไม่ควรเกิน ๑๐๐ dB (A)

(ฉ) การติดตั้งหวูดเกินกว่าหนึ่งหวูด

ถ้าบนเรือติดตั้งหวูดห่างกันมากกว่า ๑๐๐ เมตร หวูดเหล่านั้นต้องจัดทำมิให้เกิดเสียงดังพร้อมกัน

(ช) ระบบหวูดที่ทำงานร่วมกัน

ถ้ามีสิ่งกีดขวางการแพร่เสียงของหวูดอันเดียว หรือของหวูดอันหนึ่งในจำนวนหลายอัน ตาม (ฉ) อันน่าจะทำให้ขอบเขตระดับของเสียงลดลงเป็นอย่างมาก ควรติดตั้งระบบหวูดที่ทำงานร่วมกันเพื่อชดเชยการลดลงของเสียงนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎกระทรวง ให้ถือว่าระบบหวูดที่ทำงานร่วมกันเป็นหวูดอันเดียว หวูดเหล่านี้จะต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน ๑๐๐ เมตร และต้องปรับแต่งให้เสียงดังได้พร้อมกัน ความถี่ของเสียงหวูดอันหนึ่งอันใดต้องให้ต่างกับความถี่ของเสียงหวูดอันอื่น ๆ อย่างน้อยที่สุด ๑๐ เฮิตซ์

๒. ระฆัง หรือฆ้อง

(ก) ความดังของสัญญาณเสียง

ระฆังหรือฆ้อง หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถทำเสียงได้เหมือนระฆัง หรือฆ้อง ต้องทำระดับความดันของเสียงได้ไม่ต่ำกว่า ๑๑๐ dB ในระยะ ๑ เมตร

(ข) การจัดทำ

ระฆังและฆ้องต้องทำด้วยวัตถุไม่เป็นสนิม และต้องออกแบบให้มีเสียงดังชัดเจน ระฆังสำหรับเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป เส้นผ่านศูนย์กลางของปากระฆังต้องไม่น้อยกว่า ๓๐๐ มม. และต้องไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ มม. สำหรับเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๒ เมตรขึ้นไปแต่ไม่ถึง ๒๐ เมตร ถ้าทำได้ควรตีระฆังด้วยเครื่องกลเพื่อให้มีกำลังแรงตีสม่ำเสมอแต่จะตีด้วยมือก็ได้ มวลสารที่ใช้ในการทำเครื่องตีระฆังต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓ ของมวลสารที่ใช้ในการทำระฆัง

๓. การอนุมัติ

การจัดทำเครื่องสัญญาณเสียง การทำงานของเครื่องทำสัญญาณเสียง และการติดตั้งบนเรือ ต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่า

 

ภาคผนวก ๔

สัญญาณอับจน

                 

 

๑. สัญญาณต่อไปนี้ จะใช้หรือแสดงร่วมกันหรือแยกกันก็ตาม แสดงว่าอยู่ในฐานะอับจนและต้องการความช่วยเหลือ

(ก) ยิงปืน หรือทำให้เกิดระเบิด เป็นสัญญาณห่างกันประมาณครั้งละ ๑ นาที

(ข) แสดงเสียงติดต่อกันด้วยเครื่องทำสัญญาณชนิดหนึ่งชนิดใดซึ่งใช้ในเวลามีหมอก

(ค) ยิงจรวดหรือลูกแตกเป็นประกายสีแดงทีละลูกถี่ ๆ กัน

(ง) ส่งสัญญาณทางวิทยุโทรเลข หรือส่งสัญญาณโดยวิธีอื่นใด ประกอบด้วยหมู่รหัสสัญญาณมอร์ส ...-... (SOS)

(จ) ส่งสัญญาณทางวิทยุโทรศัพท์ ประกอบด้วยคำพูดว่า “Mayday”

(ฉ) แสดงธงสัญญาณตามรหัสสัญญาณสากลว่าอยู่ในฐานะอับจน ด้วยอักษร “NC”

(ช) แสดงสัญญาณประกอบด้วยธงสี่เหลี่ยมหนึ่งผืน โดยมีทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลม หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่คล้ายทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมอยู่เหนือหรือใต้ธงนั้น

(ซ) ทำให้มีเปลวไฟบนเรือ (เป็นต้นว่า เผาถังน้ำมันดิบ ถังน้ำมัน ฯลฯ)

(ฌ) ยิงจรวดร่ม หรือจุดดอกไม้ไฟสีแดง

(ญ) แสดงสัญญาณควันสีส้ม

(ฎ) กางแขนออกทั้งสองข้าง แล้วยกขึ้นลงช้า ๆ ซ้ำกันหลายครั้ง

(ฎ) สัญญาณอันตรายทางวิทยุโทรเลข

(ฐ) สัญญาณอันตรายทางวิทยุโทรศัพท์

(ฑ) สัญญาณส่งจากกระโจมวิทยุฉุกเฉินแสดงตำแหน่งที่อยู่ของเรือ

๒. ห้ามใช้หรือแสดงสัญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้ว เว้นแต่เมื่อต้องการจะแสดงว่าอยู่ในฐานะอับจนและต้องการความช่วยเหลือ และห้ามใช้สัญญาณอื่นใดที่จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาณข้างต้น

๓. ให้คำนึงถึงข้อปฏิบัติตามรหัสสัญญาณสากล หนังสือคู่มือการค้นหาและช่วยเหลือเรือพาณิชย์ในเรื่องที่ตรงกัน และให้ใช้สัญญาณ ดังต่อไปนี้

(ก) ผ้าใบสีส้มมีเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมและวงกลมสีดำ หรือเครื่องหมายอื่นที่เหมาะสมบนผืนผ้าใบนั้น (เพื่อให้เห็นได้ชัดจากทางอากาศ)

(ข) สีแสดงตำแหน่งที่อยู่


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ มีบทบัญญัติให้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการป้องกันเรือโดนกัน เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับการป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๒ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้ว  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้