ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
กฎกระทรวง
เริ่มใช้บังคับ : 16 ก.ย. 2524

กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522

Ministerial Regulation Issue No.2 (B.E. 2524) (Prevention of Ships Collision Regulations)


กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๔)

ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน

พ.ศ. ๒๕๒๒[๑]

                 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

หมวด ก

บททั่วไป

                 

 

ข้อ ๑

การใช้บังคับ

                 

 

(ก) กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือไทยและเรือต่างประเทศที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง

(ข) กฎกระทรวงนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงข้อบังคับที่ออกตามกฎหมายอื่น

(ค) เรือที่ได้สร้างขึ้นเป็นพิเศษหรือมีวัตถุประสงค์เป็นพิเศษจนไม่สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎกระทรวงนี้ได้ครบถ้วนในข้อหนึ่งข้อใด เกี่ยวกับจำนวน ที่ติดตั้งระยะหรือวงขอบทัศนวิสัยของแสงไฟหรือทุ่นเครื่องหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนที่ติดตั้งและคุณสมบัติของเครื่องทำสัญญาณเสียง ก็ให้เรือนั้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับอื่นที่มีผลบังคับต่อเรือนั้นได้ใกล้เคียงกับกฎกระทรวงนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวน ที่ติดตั้ง ระยะหรือวงขอบทัศนวิสัยของแสงไฟหรือทุ่นเครื่องหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนที่ติดตั้งและคุณสมบัติของเครื่องทำสัญญาณเสียง  ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงลักษณะการปฏิบัติงานพิเศษของเรือนั้น

 

ข้อ ๒

ความรับผิด

                 

 

(ก) เรือ หรือเจ้าของเรือ นายเรือ หรือลูกเรือจะต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการละเลยในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ หรือการละเลยในการระมัดระวังอันจะพึงมีตามปกติวิสัยของชาวเรือหรือตามเหตุการณ์พิเศษเฉพาะกรณี

(ข) การตีความในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ให้คำนึงถึงอันตรายทั้งหลายในการเดินเรือและเรือโดนกัน กับเหตุการณ์พิเศษใด ๆ ตลอดจนข้อจำกัดต่าง ๆ ของเรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจปฏิบัติผิดแผกไปจากกฎกระทรวงนี้ก็ได้ตามความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นโดยกระทันหัน

 

ข้อ ๓

บทนิยามทั่วไป

                 

 

ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีบทบังคับไว้เป็นอย่างอื่น

(ก) “แม่น้ำลำคลอง” หมายความรวมถึง สระ บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทางเข้าทะเลสาบ ร่องน้ำในสันดอนปากแม่น้ำ รวมทั้งบริเวณสันดอน

(ข) “เรือ” หมายความรวมถึง ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด รวมทั้งยานพาหนะทางน้ำชนิดไม่มีระวางขับน้ำ เครื่องบินทะเลซึ่งอยู่บนพื้นน้ำและแพ

(ค) “เรือกล” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกล

(ง) “เรือใบ” หมายความว่า เรือที่เดินโดยใช้ใบ แม้เรือนั้นจะติดตั้งเครื่องจักรกลไว้ด้วย แต่มิได้เดินด้วยเครื่องจักรกลนั้น

(จ) “เรือขณะทำการประมง” หมายความว่า เรือที่ทำการประมงด้วย อวน สายเบ็ด อวนลาก หรือเครื่องทำการประมงอื่นซึ่งเรือนั้นเดินได้ไม่คล่องตัว แต่ไม่รวมถึงเรือที่ทำการประมงด้วยการลากสายเบ็ดหรือเครื่องทำการประมงอื่นซึ่งไม่ทำให้เรือนั้นเดินได้ไม่คล่องตัว

(ฉ) “เครื่องบินทะเล” หมายความรวมถึง อากาศยานอื่นใดที่สร้างให้บังคับการเดินเรือบนพื้นน้ำได้

(ช) “แพ” หมายความรวมถึง โป๊ะ อู่ลอย และสิ่งลอยน้ำอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

(ซ) “เรือไม่อยู่ในบังคับ” หมายความว่า เรือซึ่งมีเหตุยกเว้นในบางกรณีไม่สามารถบังคับการเดินเรือตามกฎกระทรวงนี้ได้ และไม่สามารถหลีกทางให้แก่เรืออื่นได้

(ฌ) “กำลังเดิน” หมายความว่า เรือที่ไม่ได้ทอดสมอ เรือที่ไม่ได้ผูกติดกับฝั่ง เรือที่ไม่ได้ผูกติดกับทุ่น เรือที่ไม่ได้ผูกติดกับหลักจอดเรือ เรือไม่ได้ผูกติดกับท่าเทียบเรือ หรือเรือที่ไม่ได้เกยตื้น และให้หมายความรวมถึงเรือลากสมอด้วย

(ญ) “ความยาวของเรือ” หมายความว่า ความยาวตลอดลำของเรือ

(ฎ) “ความกว้างของเรือ” หมายความว่า ส่วนที่กว้างที่สุดของเรือ

(ฏ) “ความสูงเหนือตัวเรือ” หมายความว่า ความสูงเหนือดาดฟ้าชั้นบนสุดที่ยาวต่อเนื่องกัน

(ฐ) “เรือขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน” หมายความว่า เรือขณะมองเห็นกันด้วยสายตาเท่านั้น

(ฑ) “ทัศนวิสัยจำกัด” หมายความว่า สภาพทัศนวิสัยอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งถูกจำกัดด้วยหมอก อากาศมัว พายุฝนหนัก หรือเหตุอื่นทำนองเดียวกัน

(ฒ) “เรือจูง” หมายความว่า เรือที่จูงเรืออื่นหรือสิ่งอื่นทางท้ายเรือ หรือเทียบข้างเรือ

(ณ) “เรือดัน” หมายความว่า เรือที่ดันเรืออื่นหรือสิ่งอื่นไปทางหัวเรือ

(ด) “เรือพ่วง” หมายความว่า เรือหรือสิ่งอื่นที่เคลื่อนที่โดยเรือจูง

(ต) “เรือที่กำลังแจวพาย” หมายความว่า เรือที่กำลังเคลื่อนที่โดยมิได้เดินด้วยเครื่องจักรกลหรือใบ

(ถ) “เรือลากสมอ” หมายความว่า เรือที่ทอดสมอ แต่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือถอยหลังโดยเดินด้วยเครื่องจักรกล

 

หมวด ข

การถือท้ายและการเดินเรือ

                 

 

บทที่ ๑

วิธีปฏิบัติของเรือในทุกสภาพทัศนวิสัย

                 

 

ข้อ ๔

การใช้บังคับ

                 

 

ความในบทนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือในทุกสภาพทัศนวิสัย

 

ข้อ ๕

อัตราความเร็วปลอดภัย

                 

 

เรือทุกลำต้องเดินด้วยอัตราความเร็วปลอดภัยตลอดเวลา เพื่อที่เรือจะได้ปฏิบัติโดยเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการหลีกเลี่ยงการโดนกัน และให้เรือหยุดได้ภายในระยะที่เหมาะสมกับเหตุการณ์และสภาพการณ์

ในการพิจารณาว่าอัตราความเร็วเท่าใดเป็นอัตราความเร็วปลอดภัย ให้ใช้ปัจจัยดังต่อไปนี้มาพิจารณา

(ก) สภาพแห่งทัศนวิสัย

(ข) ความหนาแน่นของการจราจร รวมทั้งแหล่งชุมนุมเรือ

(ค) ความสามารถในการบังคับการเดินเรือในลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวกับระยะหยุดเรือและความสามารถในการหันเรือได้ทันต่อสภาพการณ์

(ง) ในเวลากลางคืนเมื่อปรากฏว่ามีแสงไฟมารบกวนทัศนวิสัย เช่น แสงไฟจากฝั่ง หรือแสงไฟสอดส่องจากท้ายเรือตนเอง

(จ) สภาพลม กระแสน้ำ และอันตรายต่าง ๆ ในการเดินเรือที่บริเวณนั้น

(ฉ) อัตรากินน้ำลึกของเรือสัมพันธ์กับความลึกของน้ำ

 

ข้อ ๖

การเสี่ยงภัยจากการโดนกัน

                 

 

(ก) เรือทุกลำต้องใช้วิธีที่เหมาะสมทั้งปวงที่มีอยู่ให้ทันต่อเหตุการณ์ และสภาพการณ์ในกรณีที่การเสี่ยงภัยจากการโดนกันได้เกิดขึ้น หากมีกรณีใด ๆ เป็นที่สงสัยให้ถือว่าการเสี่ยงภัยนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

(ข) ถ้าทิศทางของเรือที่แล่นเข้าใกล้กันไม่ทำให้มุมเล็งของเข็มทิศเปลี่ยนแปลงจนสังเกตได้ ให้ถือว่าการเสี่ยงภัยจากการโดนกันได้เกิดขึ้นแล้ว

(ค) เมื่อเข้าไปใกล้เรือที่มีขนาดใหญ่มากหรือใกล้พวงเรือจูง หรือเมื่อแล่นเข้าใกล้เรืออื่นแม้ว่ามุมเล็งของเข็มทิศจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ให้ถือว่าการเสี่ยงภัยจากการโดนกันได้เกิดขึ้นแล้ว

 

ข้อ ๗

การปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน

                 

 

(ก) การปฏิบัติใด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน ต้องกระทำด้วยความแน่นอน และทันต่อเวลา

(ข) การถือท้ายหลบหลีกและ/หรือการเปลี่ยนอัตราความเร็วของเรือ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน ต้องกระทำให้มากพอจนทำให้เรืออื่นเห็นได้ด้วยสายตาทันที เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในการปฏิบัติ

(ค) การปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน ต้องเป็นการปฏิบัติที่เป็นผลให้ผ่านพ้นกันในระยะที่ปลอดภัย การปฏิบัติที่ได้ผลนั้นจะต้องได้รับการควบคุมอย่างระมัดระวัง จนกว่าเรืออื่นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

(ง) ถ้าจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัน ต้องลดอัตราความเร็วของเรือลง หรือหยุดเรือโดยการหยุดเครื่อง หรือใช้เครื่องจักรถอยหลัง

 

ข้อ ๘

เรือในร่องน้ำแคบ

                 

 

(ก) เรือขณะเดินตามแนวร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดิน ต้องเดินชิดขอบร่องทางด้านขวาเท่าที่จะปลอดภัยและสามารถปฏิบัติได้

(ข) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร เรือจูง เรือดัน หรือเรือใบต้องไม่กีดขวางทางเดินของเรือซึ่งสามารถเดินได้โดยปลอดภัยเฉพาะภายในร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดินเท่านั้น

(ค) ห้ามเรือทำการประมงในร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดิน

(ง) เรือต้องไม่แล่นตัดข้ามร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดิน ถ้าการแล่นตัดข้ามเช่นนั้นกีดขวางทางเดินของเรืออื่น ซึ่งสามารถเดินได้โดยปลอดภัยเฉพาะภายในร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดินเท่านั้น เรือที่ถูกกีดขวางทางเดินเมื่อสงสัยในเจตนาของเรือที่แล่นตัดข้ามอาจแสดงสัญญาณหวูดตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ (ง)

(จ) ในร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดิน การแซงขึ้นหน้าเรือลำอื่นให้กระทำได้ต่อเมื่อเรือลำที่ถูกแซงแสดงการยินยอมให้แซงผ่านขึ้นหน้าได้โดยปลอดภัย เรือลำที่ประสงค์จะแซงขึ้นหน้าต้องแสดงเจตนาด้วยสัญญาณหวูดตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ (ค) (๑) ถ้าเรือลำที่จะถูกแซงขึ้นหน้ายินยอมให้แซงต้องแสดงสัญญาณหวูดตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ (ค) (๒) ในกรณีที่ไม่สามารถแสดงสัญญาณหวูดได้ ให้แสดงการยินยอมโดยการเปิดทางให้เรือลำที่ประสงค์จะแซงขึ้นหน้าเห็นได้ชัด และต้องดำเนินการให้แซงผ่านขึ้นหน้าได้โดยปลอดภัย เมื่อสงสัยอาจแสดงสัญญาณหวูดตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ (ง)

(ฉ) เรือขณะเข้าใกล้ทางโค้ง ทางแยกของบริเวณร่องน้ำแคบหรือร่องน้ำทางเรือเดิน ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือเป็นพิเศษและต้องแสดงสัญญาณหวูด ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ (จ)

(ช) ห้ามจอดทอดสมอในร่องน้ำแคบ

 

บทที่ ๒

วิธีการปฏิบัติของเรือขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน

                 

 

ข้อ ๙

การใช้บังคับ

                 

 

ความในบทนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน

 

ข้อ ๑๐

เรือใบ

                 

 

(ก) เมื่อเรือใบสองลำเดินเข้าใกล้กันในลักษณะที่เสี่ยงภัยจากการโดนกันให้เรือลำหนึ่งหลีกทางให้แก่เรืออีกลำหนึ่ง โดยปฏิบัติดังนี้

(๑) เมื่อเรือแต่ละลำได้รับลมต่างกราบกัน เรือที่ได้รับลมทางกราบซ้ายต้องหลีกทางให้เรืออีกลำหนึ่ง

(๒) เมื่อเรือทั้งสองลำได้รับลมกราบเดียวกัน เรือลำที่อยู่ต้นลมต้องหลีกทางให้เรือลำที่อยู่ปลายลม

(๓) ถ้าเรือที่รับลมทางกราบซ้ายเห็นเรืออีกลำหนึ่งอยู่ต้นลมและไม่สามารถตัดสินได้แน่ว่า เรือนั้นได้รับลมทางกราบซ้ายหรือกราบขวา เรือลำแรกต้องหลีกทางให้แก่เรืออีกลำหนึ่ง

(ข) เพื่อประโยชน์แห่งข้อนี้ ด้านที่อยู่ต้นลมให้ถือว่าเป็นด้านตรงข้ามกับด้านซึ่งใบใหญ่ถูกลมพัดไป หรือในกรณีเรือประเภทขึงใบขวางลำด้านที่อยู่ต้นลมให้ถือว่าเป็นด้านตรงข้ามกับด้านซึ่งใบใหญ่ที่สุดที่ขึงตามลำถูกลมพัดไป

 

ข้อ ๑๑

การแซงขึ้นหน้า

                 

 

(ก) เรือที่จะแซงขึ้นหน้าเรืออื่นต้องหลีกให้พ้นทางของเรือที่ถูกแซงและแสดงสัญญาณ ดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่มีความประสงค์จะแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามข้อ ๘ (จ)โดยใช้สัญญาณหวูดประจำเรือตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ (ค) (๑)

(๒) เรือลำที่กำลังจะถูกแซงขึ้นหน้า เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ ๘ (จ) แล้ว ต้องแสดงการยินยอมโดยใช้สัญญาณหวูดประจำเรือตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ (ค) (๒)

(ข) เรือที่จะถือว่ากำลังแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่ง คือเรือที่เดินเข้ามาจากทิศทางที่เลยมุม ๒๒.๕ องศา ไปทางท้ายของเส้นฉากข้างเรือของเรือลำที่ถูกแซง การแซงขึ้นหน้าในลักษณะดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น คือเรือที่สามารถมองเห็นเพียงโคมไฟท้ายเรือของเรือที่ถูกแซงเท่านั้น โดยไม่สามารถมองเห็นโคมไฟข้างเรือนั้นได้

(ค) ถ้าสงสัยว่าเรือกำลังแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่งหรือไม่ ให้ถือว่าเรือนั้นกำลังแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่ง และต้องปฏิบัติตามที่บังคับไว้ในข้อนี้

(ง) การเปลี่ยนมุมเล็งระหว่างเรือสองลำในลำดับต่อมานั้นจะต้องไม่ทำให้เรือที่กำลังแซงขึ้นหน้าเป็นเรือเดินตัดทางตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ หรือไม่ทำให้พ้นจากหน้าที่ที่จะต้องหลีกเรือที่ถูกแซงจนกว่าจะผ่านพ้นไปแล้ว

 

ข้อ ๑๒

สถานการณ์เมื่อหัวเรือตรงกันหรือเกือบจะตรงกัน

                 

 

(ก) เมื่อเรือกลสองลำเดินเข้าหากันในลักษณะหัวเรือตรงกันหรือเกือบจะตรงกันซึ่งจะเสี่ยงภัยจากการโดนกันขึ้น ให้เรือแต่ละลำเปลี่ยนทางเดินหลีกไปทางขวามือของตน เพื่อให้เรือสวนกันทางกราบซ้ายของกันและกัน

(ข) สถานการณ์เมื่อหัวเรือตรงกันหรือเกือบจะตรงกันให้ถือว่าเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเรือลำหนึ่งมองเห็นเรือลำอื่นตรงหน้าหรือเกือบตรงหน้าและในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้นเมื่อเรือลำหนึ่งมองเห็นโคมไฟเสากระโดงทั้งสองของเรืออีกลำหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกัน หรือเกือบเป็นแนวเดียวกัน และ/หรือมองเห็นโคมไฟข้างเรือทั้งสองข้าง และในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เมื่อเรือลำหนึ่งสังเกตเห็นเรืออีกลำหนึ่งในลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน

(ค) เมื่อเรือลำหนึ่งสงสัยว่ามีสถานการณ์เมื่อหัวเรือตรงกันหรือเกือบจะตรงกันเกิดขึ้นหรือไม่ ให้ถือว่าสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว จะต้องปฏิบัติตามที่บังคับไว้ในข้อนี้

ความในข้อนี้ไม่ให้ใช้บังคับแก่เรือกลสองลำ ซึ่งถ้ายังคงแล่นตามทางเดิมของตนแล้วจะผ่านห่างกันโดยไม่มีอันตราย

 

ข้อ ๑๓

สถานการณ์เมื่อเรือเดินตัดทางกัน

                 

 

เมื่อเรือกลสองลำเดินตัดทางกันในลักษณะที่เสี่ยงภัยจากการโดนกัน เรือลำที่มีเรือลำอื่นอยู่ทางกราบขวาของตนต้องหลีกทางให้ และถ้าสถานการณ์อำนวย ต้องหลีกเลี่ยงการเดินตัดหน้าเรืออีกลำหนึ่ง

เรือที่เดินตัดข้ามแม่น้ำลำคลองหรือร่องน้ำแคบไม่ถือว่าเป็นเรือเดินตัดทางกัน

 

ข้อ ๑๔

เรือที่เดินตัดข้ามแม่น้ำลำคลองหรือร่องน้ำแคบ

                 

 

เรือที่เดินตัดข้ามแม่น้ำลำคลอง หรือร่องน้ำแคบ ต้องหลีกทางให้เรือกลที่กำลังเดินขึ้นล่อง

 

ข้อ ๑๕

วิธีปฏิบัติของเรือที่ต้องหลีกทาง

                 

 

เรือที่มีหน้าที่ต้องหลีกทางให้แก่เรืออีกลำหนึ่งต้องกระทำแต่เนิ่น ๆ และให้มากพอที่จะผ่านพ้นกันโดยปลอดภัยเท่าที่จะทำได้

 

ข้อ ๑๖

วิธีปฏิบัติของเรือที่ไม่ต้องหลีกทาง

                 

 

(ก) (๑) เรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องหลีกทางให้รักษาทิศทางและอัตราความเร็วเดิม

(๒) ถ้าปรากฏว่า เรือที่มีหน้าที่ต้องหลีกทางไม่ปฏิบัติการหลบหลีกได้อย่างเหมาะสม ก็ให้เรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องหลีกทางปฏิบัติการอย่างดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกันด้วย

(ข) ถ้าโดยเหตุหนึ่งเหตุใด เรือที่ต้องรักษาทิศทางและอัตราความเร็วเดิม เห็นว่าได้แล่นเข้าไปใกล้กันมากจนไม่อาจหลีกเลี่ยงการโดนกันได้ด้วยการปฏิบัติของเรือ ที่ต้องหลีกทางแต่เพียงฝ่ายเดียว ก็ให้เรือที่ไม่ต้องหลีกทางปฏิบัติการอย่างดีที่สุด เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงการโดนกันด้วย

(ค) เรือกลซึ่งปฏิบัติการในสถานการณ์เมื่อเรือเดินตัดทางกันตาม (ก) (๒) ของข้อนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกันกับเรือกลอีกลำหนึ่ง ถ้าสถานการณ์อำนวยต้องไม่เปลี่ยนเข็มเดินเรือหลบไปทางซ้ายเมื่อมีเรืออีกลำหนึ่งอยู่ทางกราบซ้ายของตน

(ง) ความในข้อนี้ไม่เป็นเหตุให้เรือที่มีหน้าที่ต้องหลีกทางพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องหลีกทางให้เรืออื่น

 

ข้อ ๑๗

ความรับผิดระหว่างเรือต่อเรือ

                 

 

ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่ความในข้อ ๘ และข้อ ๑๑ จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

(ก) เรือกลกำลังเดินต้องหลีกทางให้แก่

(๑) เรือไม่อยู่ในบังคับ

(๒) เรือขณะทำการประมงอยู่กับที่

(๓) เรือใบ

(๔) เรือขณะทำการวาง ให้บริการ หรือเก็บเครื่องหมายการเดินเรือ สายใต้น้ำหรือท่อใต้น้ำ

(๕) เรือขณะทำการขุด สำรวจ หรือปฏิบัติงานใต้น้ำที่อยู่กับที่

(๖) เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิด

(ข) เรือใบกำลังเดินต้องหลีกทางให้แก่

(๑) เรือไม่อยู่ในบังคับ

(๒) เรือขณะทำการประมงอยู่กับที่

(๓) เรือขณะทำการวาง ให้บริการ หรือเก็บเครื่องหมายการเดินเรือ สายใต้น้ำหรือท่อใต้น้ำ

(๔) เรือขณะทำการขุด สำรวจ หรือปฏิบัติงานใต้น้ำที่อยู่กับที่

(๕) เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิด

(ค) เครื่องบินทะเลขณะอยู่บนพื้นน้ำ โดยปกติต้องหลีกทางให้พ้นเรืออื่น และต้องหลีกเลี่ยงการกีดขวางการเดินเรือ อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดการเสี่ยงภัยจากการโดนกันต้องปฏิบัติตามความในหมวดนี้

 

บทที่ ๓

การปฏิบัติของเรือในทัศนวิสัยจำกัด

                 

 

ข้อ ๑๘

การปฏิบัติของเรือในทัศนวิสัยจำกัด

                 

 

(ก) ความในข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือขณะมองไม่เห็นซึ่งกันและกันเมื่อเดินเข้าไปใน หรือใกล้บริเวณทัศนวิสัยจำกัด

(ข) เรือต้องเดินด้วยอัตราความเร็วปลอดภัยที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ และสภาพการณ์แห่งทัศนวิสัยจำกัด สำหรับเรือกลต้องเตรียมเครื่องจักรกลประจำเรือให้พร้อมที่จะใช้บังคับการเดินเรือได้ทันที

(ค) เรือเมื่อปฏิบัติตามความในบทที่ ๑ แห่งหมวดนี้ ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติให้ทันต่อสถานการณ์ และสภาพการณ์ของทัศนวิสัยจำกัด

(ง) เรือทุกลำเมื่อได้ยินสัญญาณเสียงของเรืออื่นทางด้านหน้าเส้นฉากข้างเรือ หรือเรือนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อสถานการณ์เข้าใกล้กันกับเรืออีกลำหนึ่งในลักษณะที่น่าจะโดนกัน ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าเส้นฉากข้างเรือของตนได้ เรือนั้นต้องลดอัตราความเร็วลงให้ต่ำสุดเท่าที่จะเดินรักษาเส้นทางเรือเดินของตนไว้ได้ และต้องเดินเรือด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุดถ้าจำเป็นก็ต้องหยุดเรือจนกว่าอันตรายจากการโดนกันได้ผ่านพ้นไปแล้ว

 

หมวด ค

โคมไฟและทุ่นเครื่องหมาย

                 

 

ข้อ ๑๙

การใช้บังคับ

                 

 

(ก) ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับในทุกลักษณะอากาศ

(ข) บทบัญญัติว่าด้วยโคมไฟให้ใช้บังคับตั้งแต่เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น และระหว่างเวลาดังกล่าวห้ามมิให้เปิดใช้โคมไฟอื่นใด เว้นแต่โคมไฟเช่นนั้นไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดในเรื่องโคมไฟที่บังคับไว้ในกฎกระทรวงนี้ หรือไม่ทำให้ทัศนวิสัย หรือลักษณะชัดเจนของโคมไฟผิดเพี้ยนไป

(ค) โคมไฟที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ต้องเปิดใช้ตั้งแต่เวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกในทัศนวิสัยจำกัด และอาจเปิดใช้โคมไฟในกรณีอื่น ๆ ที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้

(ง) บทบัญญัติว่าด้วยทุ่นเครื่องหมายให้ใช้บังคับตั้งแต่เวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก

 

ข้อ ๒๐

บทนิยาม

                 

 

(ก) “โคมไฟเสากระโดง” หมายความว่า โคมไฟสีขาวที่ติดตั้งอยู่ เหนือเส้นกึ่งกลางลำตามแนวหัวเรือ - ท้ายเรือ โดยโคมไฟดวงนี้ต้องส่องแสงอยู่เสมอภายในวงขอบ ๒๒๕ องศา ในทางระดับ และการติดตั้งโคมไฟต้องให้เห็นแสงไฟนับจากแนวเส้นหัวเรือ จนเลยเส้นฉากข้างเรือแต่ละกราบไปทางท้าย ๒๒.๕ องศา

(ข) “โคมไฟข้างเรือ” หมายความว่า โคมไฟสีเขียวหนึ่งดวงที่ติดตั้งไว้ทางกราบขวา และโคมไฟสีแดงอีกหนึ่งดวงที่ติดตั้งไว้ทางกราบซ้าย โคมไฟแต่ละดวงต้องส่องแสงอยู่เสมอภายในวงขอบ ๑๑๒.๕ องศา ในทางระดับ และการติดตั้งโคมไฟต้องให้เห็นแสงไฟนับจากแนวเส้นหัวเรือจนเลยเส้นฉากข้างเรือแต่ละกราบไปทางท้าย ๒๒.๕ องศา สำหรับเรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร โคมไฟข้างเรืออาจรวมเป็นดวงเดียวกันโดยให้ติดตั้งไว้เหนือเส้นกึ่งกลางลำตามแนวหัวเรือ - ท้ายเรือ ก็ได้

(ค) “โคมไฟท้ายเรือ” หมายความว่า โคมไฟสีขาวหนึ่งดวงที่ติดตั้งไว้ใกล้ท้ายเรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้ส่องแสงอยู่เสมอภายในวงขอบ ๑๓๕ องศา ในทางระดับ และการติดตั้งโคมไฟต้องให้เห็นแสงไฟนับจากเส้นฉากท้ายเรือออกไปแต่ละกราบ กราบละ ๖๗.๕ องศา

(ง) “โคมไฟพ่วงจูง” หมายความว่า โคมไฟสีเหลืองหนึ่งดวงที่มีลักษณะเดียวกันกับโคมไฟท้ายเรือที่นิยามไว้ใน (ค)

(จ) “โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศ” หมายความว่า โคมไฟที่ส่องแสงอยู่เสมอภายในวงขอบ ๓๖๐ องศา ในทางระดับ

(ฉ) “โคมไฟวับ” หมายความว่า โคมไฟหนึ่งดวงที่ส่องแสงวับสม่ำเสมอมีความถี่ ๑๒๐ วับ หรือมากกว่านั้นต่อหนึ่งนาที

 

ข้อ ๒๑

ทัศนวิสัยของโคมไฟ

                 

 

โคมไฟที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ต้องให้มองเห็นได้ในระยะทางไกลอย่างน้อยที่สุด ดังต่อไปนี้

(ก) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๕๐ เมตรขึ้นไป

- โคมไฟเสากระโดง                                   ๖ ไมล์

- โคมไฟข้างเรือ                                       ๓ ไมล์

- โคมไฟท้ายเรือ                                      ๓ ไมล์

- โคมไฟพ่วงจูง                                       ๓ ไมล์

- โคมไฟสีขาว แดง เขียว หรือเหลือง

มองเห็นได้รอบทิศ                                  ๓ ไมล์

(ข) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๒ เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๕๐ เมตร

- โคมไฟเสากระโดง                                   ๕ ไมล์

เว้นแต่เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร            ๓ ไมล์

- โคมไฟข้างเรือ                                       ๒ ไมล์

- โคมไฟท้ายเรือ                                      ๒ ไมล์

- โคมไฟพ่วงจูง                                       ๒ ไมล์

- โคมไฟสีขาว แดง เขียว หรือเหลือง

มองเห็นได้รอบทิศ                                  ๒ ไมล์

(ค) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร

- โคมไฟเสากระโดง                                   ๒ ไมล์

- โคมไฟข้างเรือ                                       ๑ ไมล์

- โคมไฟท้ายเรือ                                      ๒ ไมล์

- โคมไฟพ่วงจูง                                       ๒ ไมล์

- โคมไฟสีขาว แดง เขียว หรือเหลือง

มองเห็นได้รอบทิศ                                  ๒ ไมล์

 

ข้อ ๒๒

ที่ติดตั้งและรายละเอียดของโคมไฟและทุ่นเครื่องหมาย

                 

 

(ก) ที่ติดตั้งโคมไฟและระยะต่อระหว่างโคมไฟทางดิ่ง

(๑) เรือกลที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป โคมไฟเสากระโดงต้องติดตั้งดังนี้

ก. โคมไฟเสากระโดงหัวเรือ ถ้าใช้เพียงดวงเดียวเท่านั้น ต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๖ เมตร ถ้าตัวเรือกว้างกว่า ๖ เมตร โคมไฟต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่าความกว้างของตัวเรือ อย่างไรก็ตาม โคมไฟดังกล่าวต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่เกิน ๑๒ เมตร

ข. เรือกลที่ติดตั้งโคมไฟเสากระโดงหัวเรือและโคมไฟเสากระโดงท้ายเรือ โคมไฟเสากระโดงท้ายเรือต้องอยู่สูงกว่าโคมไฟเสากระโดงหัวเรือในทางดิ่งไม่น้อยกว่า ๔.๕ เมตร

(๒) ระยะต่อทางดิ่งระหว่างโคมไฟเสากระโดงของเรือกลในทุกสภาพปกติของการบรรทุกของเรือ เมื่อมองจากระดับน้ำในระยะ ๑,๐๐๐ เมตร ถึงหัวเรือ ต้องเห็นโคมไฟเสากระโดงท้ายเรืออยู่สูงกว่าและแยกจากโคมไฟเสากระโดงหัวเรือ

(๓) เรือกลที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๒ เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๒๐ เมตร โคมไฟเสากระโดงต้องติดตั้งให้สูงเหนือกราบเรือไม่น้อยกว่า ๒.๕ เมตร

(๔) เรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร อาจติดตั้งโคมไฟเสากระโดงดวงสูงสุดให้สูงเหนือกราบเรือน้อยกว่า ๒.๕ เมตร ก็ได้ หากติดตั้งโคมไฟเสากระโดงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวงจากโคมไฟข้างเรือและโคมไฟท้ายเรือแล้วโคมไฟเสากระโดงนั้นต้องอยู่สูงเหนือโคมไฟข้างเรือไม่น้อยกว่า ๑ เมตร

(๕) โคมไฟเสากระโดงที่กำหนดให้ติดตั้งในเรือกลขณะจูงหรือดันเรืออื่น ต้องติดตั้งในเสาเดียวกันกับโคมไฟเสากระโดงหัวเรือตามที่กำหนดไว้สำหรับเรือกล

(๖) โคมไฟเสากระโดงดวงเดียวหรือหลายดวง ต้องติดตั้งไว้เหนือและอยู่ห่างจากโคมไฟอื่น และต้องไม่มีสิ่งใดบังแสงของโคมไฟนั้นในทุกกรณี

(๗) โคมไฟข้างเรือที่กำหนดให้ติดตั้งในเรือกล ต้องติดตั้งให้อยู่สูงเหนือตัวเรือไม่เกินกว่าสามในสี่ของความสูงของโคมไฟเสากระโดงหัวเรือ และต้องไม่ให้อยู่ต่ำปะปนกับโคมไฟส่องสว่างดาดฟ้าเรือด้วย

(๘) โคมไฟข้างเรือถ้ารวมอยู่ในดวงโคมเดียวกัน เมื่อติดตั้งในเรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ต้องอยู่ต่ำกว่าโคมไฟเสากระโดงไม่น้อยกว่า ๑ เมตร

(๙) การติดตั้งโคมไฟสองหรือสามดวงซ้อนกันในทางดิ่งตามกฎกระทรวงนี้ต้องติดตั้งให้มีระยะต่อ ดังนี้

ก. เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป ต้องมีระยะต่อทางดิ่งระหว่างกันไม่น้อยกว่า ๒ เมตร และโคมไฟดวงต่ำสุดต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๔ เมตร เว้นแต่โคมไฟของเรือจูงดวงต่ำสุดจะอยู่สูงเหนือตัวเรือน้อยกว่า ๔ เมตรก็ได้

ข. เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ต้องมีระยะต่อทางดิ่งระหว่างกันไม่น้อยกว่า๑ เมตร และโคมไฟดวงต่ำสุดต้องอยู่สูงเหนือกราบเรือไม่น้อยกว่า ๒ เมตร เว้นแต่โคมไฟของเรือจูงดวงต่ำสุดจะอยู่สูงเหนือกราบเรือน้อยกว่า ๒ เมตรก็ได้

ค. เมื่อต้องติดตั้งโคมไฟสามดวง ระยะต่อทางดิ่งระหว่างกันต้องเท่ากัน

(๑๐) โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศ ดวงล่างในจำนวนสองดวงที่กำหนดให้ติดตั้งซ้อนกันในทางดิ่งในเรือประมงขณะทำการประมง ต้องติดตั้งให้สูงเหนือโคมไฟข้างเรือ มีระยะไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะต่อระหว่างโคมไฟสองดวงที่ติดตั้งซ้อนกันในทางดิ่งนั้น

(๑๑) เมื่อต้องติดตั้งโคมไฟเรือทอดสมอสองดวง ดวงหน้าต้องอยู่สูงกว่าดวงหลังไม่น้อยกว่า ๔.๕ เมตร เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๕๐ เมตรขึ้นไป โคมไฟเรือทอดสมอดวงหน้าต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๖ เมตร

(ข) ที่ติดตั้งโคมไฟและระยะห่างระหว่างโคมไฟทางระดับ

(๑) เรือกลที่กำหนดให้ต้องติดตั้งโคมไฟเสากระโดงหัวเรือและโคมไฟเสากระโดงท้ายเรือ ระยะห่างทางระดับระหว่างโคมไฟทั้งสองดวงต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวของเรือ แต่ต้องไม่เกิน ๑๐๐ เมตร โคมไฟเสากระโดงหัวเรือต้องติดตั้งที่ระยะไม่เกินหนึ่งในสี่ของความยาวของเรือวัดจากหัวเรือสุด

(๒) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป โคมไฟข้างเรือต้องไม่ติดตั้งให้อยู่ด้านหน้าของโคมไฟเสากระโดงหัวเรือ แต่ต้องติดตั้งให้อยู่ที่หรือใกล้กับข้างเรือ

(ค) ที่ติดตั้งโคมไฟชี้ทิศทางสำหรับเรือประมง เรือขุด และเรือขณะปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำ

(๑) โคมไฟชี้ทิศทางของเครื่องมือประมงที่ยื่นออกไปจากตัวเรือ ขณะทำการประมงตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๖ (ค) (๒) ต้องติดตั้งให้มีระยะห่างทางระดับไม่น้อยกว่า ๒ เมตรและไม่มากกว่า ๖ เมตร จากโคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวง ดวงหนึ่งสีแดง อีกดวงหนึ่งสีขาวโคมไฟชี้ทิศทางนี้ต้องติดตั้งไม่ให้อยู่เหนือโคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาว ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๖ (ค) (๑) และต้องไม่อยู่ต่ำกว่าโคมไฟข้างเรือด้วย

(๒) โคมไฟและทุ่นเครื่องหมายชี้ทิศทางของเรือขณะทำการขุดหรือปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำต้องชี้ไปทางด้านที่เรือนั้นมีสิ่งกีดขวางอยู่ และ/หรือทางด้านที่ให้เรืออื่นผ่านได้โดยปลอดภัยตามข้อ ๒๗ (ค) (๑) และ (๒) โดยให้มีระยะห่างทางระดับจากโคมไฟหรือทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๒๗ (ข) (๑) และ (๒) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในทุกกรณีต้องไม่น้อยกว่า ๒ เมตร และโคมไฟดวงบนหรือทุ่นเครื่องหมายทุ่นบนต้องไม่สูงกว่าโคมไฟหรือทุ่นเครื่องหมายที่อยู่ต่ำลงมานับจากโคมไฟดวงบนหรือทุ่นเครื่องหมายทุ่นบนในจำนวนสามดวงหรือสามทุ่นตามข้อ ๒๗ (ข) (๑) และ (๒)

(ง) แผงบังแสงโคมไฟข้างเรือ

โคมไฟข้างเรือจะต้องติดตั้งที่แผงบังแสงซึ่งติดกับเรือและทาสีดำชนิดด้าน สำหรับโคมไฟแบบรวมอยู่ในดวงโคมเดียวกันที่ใช้ไส้หลอดเส้นเดียวทางดิ่ง และการกั้นแบ่งระหว่างส่วนของโคมไฟที่เป็นสีเขียวและสีแดงแคบมาก ไม่จำเป็นต้องติดตั้งแผงบังแสงภายนอกโคมไฟข้างเรือ

(จ) ทุ่นเครื่องหมาย

(๑) ทุ่นเครื่องหมายต้องเป็นสีดำ และมีขนาดดังนี้

ก. ทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลม ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๐.๖ เมตร

ข. ทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกรวย ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของฐานไม่น้อยกว่า ๐.๖ เมตร และความสูงต้องเท่ากับความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางของฐาน

ค. ทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกระบอก ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๐.๖ เมตร และความสูงต้องเป็นสองเท่าของความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง

ง. ทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ต้องประกอบด้วยทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกรวยตาม ข. สองทุ่น มีฐานติดกัน

(๒) ระยะต่อทางดิ่งระหว่างทุ่นเครื่องหมาย ต้องไม่น้อยกว่า ๑.๕ เมตร

(๓) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร อาจใช้ทุ่นเครื่องหมายที่มีขนาดเล็กกว่าได้แต่ต้องได้สัดส่วนกับขนาดของเรือ และระยะต่อระหว่างกันอาจลดลงได้ตามส่วน

(ฉ) โคมไฟแสดงการบังคับการเดินเรือ

แม้ว่าความในข้อ ๒๒ (ก) (๖) จะบังคับไว้ประการใดก็ตาม โคมไฟแสดงการบังคับการเดินเรือตามข้อ ๓๓ (ข) ต้องติดตั้งตามแนวหัวเรือ - ท้ายเรือ ในพื้นทางดิ่งเดียวกันกับโคมไฟเสากระโดง จะเป็นดวงเดียวหรือหลายดวงก็ตาม ถ้าทำได้ต้องให้อยู่สูงทางดิ่งเหนือ โคมไฟเสากระโดงหัวเรืออย่างน้อยที่สุด ๒ เมตร แต่ต้องให้อยู่สูงหรือต่ำกว่าโคมไฟเสากระโดงท้ายเรือทางดิ่งไม่ต่ำกว่า ๒ เมตร เรือที่มีโคมไฟเสากระโดงเพียงดวงเดียวถ้าต้องติดตั้งโคมไฟแสดงการบังคับการเดินเรือด้วย ต้องติดตั้ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดมีระยะห่างทางดิ่งจากโคมไฟเสากระโดงไม่น้อยกว่า ๒ เมตร

 

ข้อ ๒๓

เรือกลกำลังเดิน

                 

 

(ก) เรือกลกำลังเดิน ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหัวเรือหนึ่งดวง

(๒) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงที่สองถัดไปทางท้ายเรือหนึ่งดวง โดยต้องติดตั้งให้อยู่สูงกว่าโคมไฟเสากระโดงหัวเรือ เว้นแต่ เรือที่มีความยาวไม่ถึง 50 เมตร ไม่จำเป็นต้องเปิดใช้โคมไฟดวงนี้แต่จะเปิดใช้ก็ได้

(๓) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๔) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(ข) เรือที่มีเบาะอากาศรองรับ (air - cushion vessel) ขณะขับเคลื่อนด้วยวิธีระวางไม่ขับน้ำ (โดยการลอยตัวพ้นพื้นน้ำ) ให้เปิดใช้โคมไฟวับสีเหลืองมองเห็นได้รอบทิศเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวงจากที่บังคับไว้ใน (ก) โดยต้องติดตั้งไว้ให้มองเห็นได้ชัดที่สุด

(ค) เรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร ซึ่งอัตราความเร็วสูงสุดไม่เกิน ๗ นอต ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศหนึ่งดวงแทนการเปิดใช้โคมไฟตาม (ก) โดยต้องติดตั้งไว้ให้มองเห็นได้ชัดที่สุด และถ้าสามารถทำได้ให้เปิดใช้โคมไฟข้างเรือด้วย

(ง) เรือของเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมาย หรือตรวจตราควบคุมการจราจรทางน้ำ เรือดับเพลิงในขณะปฏิบัติหน้าที่ เรือพยาบาลขณะรับส่งคนป่วย เรือกู้ภัยขณะปฏิบัติหน้าที่ จะเปิดใช้โคมไฟวับสีแดงมองเห็นได้รอบทิศเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวงจากที่บังคับไว้ใน (ก) ก็ได้ โดยต้องติดตั้งไว้ให้มองเห็นได้ชัดที่สุด

 

ข้อ ๒๔

การจูงและดัน

                 

 

(ก) เรือกลเมื่อทำการจูง ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหัวเรือซ้อนกันสองดวงในทางดิ่งถ้าความยาวของพวงจูงวัดจากท้ายเรือจูงถึงท้ายสุดของเรือพ่วงเกิน ๒๐๐ เมตร ต้องเปิดใช้โคมไฟดังกล่าวสามดวงแทนการเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓ (ก) (๑)

(๒) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๓) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(๔) เปิดใช้โคมไฟพ่วงจูงเหนือโคมไฟท้ายเรือซ้อนกันในทางดิ่งอีกหนึ่งดวง

(๕) แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดหนึ่งทุ่น เมื่อความยาวของพวงจูงเกิน ๒๐๐ เมตร

(ข) เมื่อเรือดันและเรือที่ถูกดันไปข้างหน้าต่อสนิทติดกัน ให้ถือว่าเรือทั้งสองลำเป็นเรือกลลำเดียวกัน และต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓

(ค) เรือกลเมื่อดันเรือไปข้างหน้าหรือจูงเทียบข้าง เว้นแต่ในกรณีที่ต่อสนิทติดเป็นลำเดียวกัน ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหัวเรือสองดวงซ้อนกันในทางดิ่งแทนการเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓ (ก) (๑)

(๒) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๓) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(ง) เรือกลที่ปฏิบัติตาม (ก) และ (ค) ต้องปฏิบัติตามข้อ ๒๓ (ก) (๒) อีกด้วย

(จ) เรือหรือวัตถุใดขณะถูกจูง ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๒) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(๓) เมื่อความยาวของพวงจูงเกิน ๒๐๐ เมตร ต้องแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดหนึ่งทุ่น

(ฉ) เมื่อเรือที่ถูกจูงเทียบข้างหรือถูกดันเป็นกลุ่มไม่ว่ามีจำนวนเท่าใดก็ตามต้องเปิดใช้โคมไฟเสมือนเป็นเรือลำเดียวกัน ดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่ถูกดันไปข้างหน้าซึ่งมิได้ต่อสนิทติดเป็นลำเดียวกับเรือดันต้องเปิดใช้โคมไฟข้างเรือที่ตอนหัวเรือ

(๒) เรือที่ถูกจูงเทียบข้าง ต้องเปิดใช้โคมไฟท้ายเรือและโคมไฟข้างเรือที่ตอนหัวเรือ

(ช) ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้เรือหรือวัตถุที่ถูกจูงไม่สามารถเปิดใช้โคมไฟตาม (จ)ได้ต้องใช้มาตรการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ด้วยการจัดให้มีแสงสว่างที่เรือหรือวัตถุที่ถูกจูง หรืออย่างน้อยที่สุดต้องแสดงให้รู้ว่ามีเรือหรือวัตถุนั้นอยู่

 

ข้อ ๒๕

เรือใบที่กำลังเดิน และเรือที่กำลังแจวพาย

                 

 

(ก) เรือใบที่กำลังเดิน ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๒) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(ข) เรือใบที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร โคมไฟที่บังคับไว้ตาม (ก) จะอยู่รวมกันเป็นดวงโคมดวงเดียวกันก็ได้ โดยต้องติดตั้งไว้ให้มองเห็นได้ชัดที่สุด ณ ที่หรือใกล้ยอดเสากระโดง

(ค) เรือใบที่กำลังเดิน นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตาม (ก) แล้ว อาจเปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่งให้มองเห็นได้ชัดที่สุดเพิ่มขึ้นอีก ณ ที่หรือใกล้กับยอดเสากระโดงก็ได้โดยโคมไฟดวงบนต้องเป็นสีแดงและดวงล่างต้องเป็นสีเขียว แต่โคมไฟทั้งสองดวงต้องไม่ติดตั้งให้อยู่ใกล้เคียงกันกับโคมไฟตาม (ข)

(ง) (๑) เรือใบที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร ถ้าสามารถกระทำได้ให้เปิดใช้โคมไฟตาม (ก) หรือ (ข) แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ต้องมีไฟฉาย หรือโคมไฟให้แสงสีขาวพร้อมที่จะเปิดใช้ได้ในระยะเวลาเพียงพอที่จะป้องกันการโดนกัน

(๒) เรือที่กำลังแจวพายอาจเปิดใช้โคมไฟที่ใช้บังคับแก่เรือใบตามข้อนี้ก็ได้แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ต้องมีไฟฉายหรือโคมไฟให้แสงสีขาวพร้อมที่จะเปิดใช้ได้ในระยะเวลาเพียงพอที่จะป้องกันการโดนกัน

(จ) เรือที่กำลังเดินด้วยใบ เมื่อใช้เครื่องจักรกลในการเดินเรือด้วย ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกรวยปลายแหลมชี้ลงหนึ่งทุ่นไว้ตอนหัวเรือ ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด

 

ข้อ ๒๖

เรือประมง

                 

 

(ก) เรือขณะทำการประมง ไม่ว่ากำลังเดินหรือทอดสมอ ให้เปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้

(ข) เรือขณะลากอวนหน้าดิน หรือลากเครื่องทำการประมงอื่นอยู่ใต้น้ำต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่งโดยโคมไฟดวงบนเป็นสีเขียวและโคมไฟดวงล่างเป็นสีขาว หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกรวยสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่งให้ปลายแหลมชี้เข้าหากัน เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปตะกร้าแทน

(๒) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหนึ่งดวงให้อยู่ถัดไปทางท้ายและสูงกว่าโคมไฟสีเขียวมองเห็นได้รอบทิศ เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๕๐ เมตร ไม่บังคับให้ต้องเปิดใช้โคมไฟดังกล่าวแต่จะเปิดใช้ก็ได้

(๓) ขณะเคลื่อนที่นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้แล้วต้องเปิดใช้โคมไฟข้างเรือและโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

(ค) เรือขณะทำการประมงอื่น นอกจาก (ข) ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง โคมไฟดวงบนเป็นสีแดง ดวงล่างเป็นสีขาว หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกรวยสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่งให้ปลายแหลมชี้เข้าหากัน เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปตะกร้าแทน

โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศดวงล่างในจำนวนสองดวงที่กำหนดให้ติดตั้งซ้อนกันในทางดิ่งในเรือประมงขณะทำการประมง ต้องติดตั้งให้อยู่สูงเหนือโคมไฟข้างเรือมีระยะไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะต่อระหว่างโคมไฟสองดวงที่ติดตั้งซ้อนกันในทางดิ่งนั้น

(๒) เมื่อมีเครื่องมือยื่นออกไปจากตัวเรือทางระดับเกิน ๑๕๐ เมตร ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศหนึ่งดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกรวยปลายแหลมชี้ขึ้นหนึ่งทุ่นทางด้านที่มีเครื่องมือยื่นออกไปนั้น

(๓) ขณะเคลื่อนที่นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้แล้ว ต้องเปิดใช้โคมไฟข้างเรือและโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

(ง) เรือที่ไม่ได้ทำการประมง ห้ามเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อนี้ แต่ต้องติดตั้งโคมไฟหรือทุ่นเครื่องหมายตามที่กำหนดไว้ตามขนาดความยาวของเรือ

 

ข้อ ๒๗

เรือไม่อยู่ในบังคับหรือเรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว

                 

 

(ก) เรือไม่อยู่ในบังคับ ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟสีแดงมองเห็นได้รอบทิศสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด

(๒) แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลม หรือที่มีลักษณะคล้ายรูปทรงกลมสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด

(๓) ขณะเคลื่อนที่นอกจากต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้แล้ว ต้องเปิดใช้โคมไฟข้างเรือและโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

(ข) เรือขณะทำการวาง ให้บริการ หรือเก็บเครื่องหมายการเดินเรือ สายใต้น้ำท่อใต้น้ำและเรือขณะทำการขุด สำรวจหรือปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำ ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสามดวงซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดโคมไฟดวงบนสุดและดวงล่างสุดเป็นสีแดงและดวงกลางเป็นสีขาว

(๒) แสดงทุ่นเครื่องหมายสามทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดทุ่นลูกบนสุดและลูกล่างสุดเป็นรูปทรงกลม และลูกกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

(๓) ขณะเคลื่อนที่ต้องเปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหัวเรือโคมไฟข้างเรือ และโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นจากที่ต้องใช้ตาม (๑)

(๔) เมื่อทอดสมออยู่ ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๒๙ เพิ่มขึ้นจาก (๑) และ (๒)

(ค) เรือขณะทำการขุดลอก หรือปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำ ต้องเปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ข) แต่เมื่อเกิดการกีดขวางต้องเปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายเพิ่มขึ้นดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีแดงสองดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง ทางด้านที่มีการกีดขวาง

(๒) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีเขียวสองดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่งทางด้านที่เรืออื่นอาจผ่านได้

(๓) ขณะเคลื่อนที่ต้องเปิดใช้โคมไฟเสากระโดงหัวเรือโคมไฟข้างเรือและโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้นจากที่ต้องเปิดใช้โคมไฟตาม (ค)

(๔) เรือซึ่งต้องบังคับให้ปฏิบัติตาม (ค) เมื่อทอดสมออยู่ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (๑) และ (๒) แทนการเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๒๙

(ง) เรือขนาดใดก็ตาม ขณะปฏิบัติงานประดาน้ำ ถ้าไม่อาจแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ค) ได้ ต้องแสดงแผ่นแข็งจำลองธงอักษร “A” ตามประมวลสัญญาณธงระหว่างประเทศสูงไม่น้อยกว่า ๑ เมตร และให้แน่ใจว่าต้องมองเห็นได้รอบทิศด้วย

(จ) เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิด ต้องเปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีเขียวสามดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสามทุ่นเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้สำหรับการเปิดใช้โคมไฟของเรือกลตามข้อ ๒๓ โคมไฟหนึ่งดวงหรือทุ่นเครื่องหมายหนึ่งทุ่น ดังกล่าวแล้วต้องเปิดใช้หรือแสดง ณ ที่หรือใกล้กับยอดเสากระโดงตอนหัวเรือ และที่ปลายพรวนเสากระโดงตอนหัวเรือข้างละหนึ่งดวงหรือหนึ่งทุ่น โคมไฟหรือทุ่นเครื่องหมายดังกล่าวแสดงให้เรืออื่นทราบว่ามีอันตราย หากเข้ามาใกล้ทางท้ายเรือในระยะ ๑,๐๐๐ เมตร หรือใกล้ข้างเรือแต่ละข้างในระยะ ๕๐๐ เมตร ของเรือกวาดทุ่นระเบิดนั้น

(ฉ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร ไม่จำเป็นต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อนี้

(ช) สัญญาณในข้อนี้ไม่ใช่เป็นสัญญาณอับจนของเรือและต้องการความช่วยเหลือสัญญาณดังกล่าวแล้วได้กำหนดไว้ในข้อ ๓๖

 

ข้อ ๒๘

เรือนำร่อง

                 

 

(ก) เรือขณะทำการรับส่งผู้นำร่องที่ไปปฏิบัติหน้าที่นำร่อง ต้องปฏิบัติดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟสองดวงซ้อนกันในทางดิ่งมองเห็นได้รอบทิศที่เสากระโดงหรือใกล้เสากระโดง โคมไฟดวงบนสีขาว และดวงล่างสีแดง

(๒) เมื่อกำลังเดินให้เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ และโคมไฟท้ายเรือเพิ่มขึ้น

(๓) เมื่อทอดสมออยู่ให้เปิดใช้โคมไฟเรือทอดสมอ หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายเพิ่มขึ้นจากที่ได้บังคับไว้ให้เปิดใช้โคมไฟตาม (๑)

(ข) เรือขณะไม่ได้ทำการรับส่งผู้นำร่องที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามที่กำหนดไว้ตามขนาดความยาวของเรือ

 

ข้อ ๒๙

เรือที่ทอดสมอและเรือที่ติดตื้น

                 

 

(ก) เรือที่ทอดสมอ ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมาย ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด ดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาวหนึ่งดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมหนึ่งทุ่นไว้ตอนหัวเรือ

(๒) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาวหนึ่งดวง ที่ท้ายเรือ หรือใกล้ท้ายเรือโดยให้อยู่ต่ำกว่าดวงที่ได้กำหนดไว้ใน (๑)

(ข) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๕๐ เมตร อาจเปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีขาวหนึ่งดวง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด แทนโคมไฟตาม (ก)

(ค) เรือที่ทอดสมอและเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตร ขึ้นไป ต้องเปิดใช้โคมไฟที่ใช้ขณะทำงานหรือโคมไฟอื่นใดที่มีลักษณะทัดเทียมกันให้ส่องสว่างทั่วดาดฟ้าของเรือนั้นด้วย

(ง) เรือที่ติดตื้นหรือเกยตื้นให้เปิดใช้โคมไฟตาม (ก) หรือ (ข) และให้เปิดใช้โคมไฟ ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดเพิ่มขึ้น ดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสีแดงสองดวงซ้อนกันในทางดิ่ง

(๒) แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสามทุ่นซ้อนกันในทางดิ่ง

(จ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร เมื่อทอดสมอหรือติดตื้นหรือเกยตื้นซึ่งไม่ใช่อยู่ในหรือใกล้ร่องน้ำแคบ ร่องน้ำทางเรือเดิน ที่ทอดจอดเรือ หรือที่ซึ่งโดยปกติใช้เป็นทางเดินเรือของเรืออื่น ไม่บังคับให้เปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อนี้แต่ต้องเปิดใช้โคมไฟที่ใช้ขณะทำงาน หรือโคมไฟอื่นใดที่มีลักษณะทัดเทียมกัน

 

ข้อ ๓๐

เครื่องบินทะเล

                 

 

เครื่องบินทะเลที่ไม่อาจเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามรูปลักษณะที่กำหนดไว้สำหรับบังคับใช้กับเรือตามหมวดนี้ ให้เปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายที่มีลักษณะ และที่ติดตั้งใกล้เคียงกับที่กำหนดไว้ เท่าที่จะทำได้

 

หมวด ง

สัญญาณเสียงและสัญญาณแสง

                 

 

ข้อ ๓๑

บทนิยาม

                 

 

(ก) “หวูด” หมายความว่า เครื่องทำสัญญาณเสียงใด ๆ ที่สามารถทำเสียงหวูดได้

(ข) “หวูดสั้น” หมายความว่า เสียงหวูดที่มีระยะเสียงนานประมาณ ๑ วินาที

(ค) “หวูดยาว” หมายความว่า เสียงหวูดที่มีระยะเสียงนานตั้งแต่ ๔ ถึง ๖ วินาที

 

ข้อ ๓๒

อุปกรณ์สำหรับสัญญาณเสียง

                 

 

(ก) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๒ เมตรขึ้นไป ต้องมีหวูดหนึ่งเครื่อง และระฆังหนึ่งใบ และเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป ต้องมีฆ้องเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งใบ ระดับเสียงและความดังของฆ้องต้องไม่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเสียงระฆัง สำหรับระฆังหรือฆ้องหรือทั้งสองอย่างอาจใช้อุปกรณ์อย่างอื่นที่มีลักษณะของเสียงอย่างเดียวกันแทนก็ได้

ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวนั้นต้องสามารถทำสัญญาณเสียงด้วยมือได้ด้วย

(ข) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร ไม่บังคับให้ต้องมีเครื่องทำสัญญาณเสียงตาม (ก) แต่ถ้าไม่มีเครื่องทำสัญญาณเสียงข้างต้น เรือนั้นต้องมีวิธีอื่นที่ทำสัญญาณเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อ ๓๓

สัญญาณแสดงการบังคับการเดินเรือและสัญญาณเตือน

                 

 

(ก) เมื่อเรือต่าง ๆ ขณะมองเห็นซึ่งกันและกัน เรือกลกำลังเดินเมื่อทำการบังคับการเดินเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ต้องแสดงสัญญาณการบังคับการเดินเรือด้วยหวูด ดังนี้

หวูดสั้นหนึ่งครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังไปทางขวา”

หวูดสั้นสองครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังไปทางซ้าย”

หวูดสั้นสามครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังใช้เครื่องจักรกลถอยหลัง”

(ข) ขณะทำการบังคับการเดินเรืออาจแสดงสัญญาณแสงเพิ่มเติมสัญญาณหวูดที่กำหนดไว้ใน (ก) ตามที่เห็นสมควรอีกก็ได้ ดังนี้

(๑) สัญญาณแสงมีความหมาย ดังนี้

แสงหนึ่งวับ หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังไปทางขวา”

แสงสองวับ หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังไปทางซ้าย”

แสงสามวับ หมายความว่า “ข้าพเจ้ากำลังใช้เครื่องจักรกลถอยหลัง”

(๒) ระยะนานของแสงไฟแต่ละวับ ต้องประมาณ ๑ วินาที ช่วงระยะเวลาระหว่างวับต้องประมาณ ๑ วินาที และช่วงระยะเวลาระหว่างการส่งสัญญาณแต่ละชุดต้องไม่น้อยกว่า ๑๐ วินาที

(๓) ถ้าได้ติดตั้งโคมไฟสำหรับใช้แสดงสัญญาณ ต้องเป็นโคมไฟสีขาวที่มองเห็นได้รอบทิศ เห็นได้ในระยะอย่างน้อยที่สุด ๕ ไมล์

(ค) เมื่อเรือเข้ามาอยู่ในขณะมองเห็นซึ่งกันและกันในร่องน้ำแคบหรือในร่องน้ำทางเรือเดิน

(๑) เรือที่มีความประสงค์จะแซงขึ้นหน้าเรืออีกลำหนึ่งต้องปฏิบัติตามข้อ ๘ (จ) โดยแสดงสัญญาณหวูดประจำเรือ ดังนี้

หวูดยาวสองครั้ง ติดตามด้วยหวูดสั้นหนึ่งครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแซงขึ้นหน้าทางกราบขวาของท่าน”

หวูดยาวสองครั้ง ติดตามด้วยหวูดสั้นสองครั้ง หมายความว่า “ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแซงขึ้นหน้าทางกราบซ้ายของท่าน”

(๒) เรือลำที่กำลังจะถูกแซงขึ้นหน้า เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ ๘ (จ) แล้ว ต้องแสดงการยินยอมโดยแสดงสัญญาณหวูดประจำเรือเป็นชุดดังนี้

หวูดยาวหนึ่งครั้ง หวูดสั้นหนึ่งครั้ง หวูดยาวหนึ่งครั้ง และหวูดสั้นหนึ่งครั้ง

(ง) เมื่อเรือเข้ามาอยู่ในขณะมองเห็นซึ่งกันและกันกำลังเข้ามาใกล้กันและจะเนื่องด้วยเหตุใดก็ตาม เรือลำที่ไม่แน่ใจในความประสงค์หรือการกระทำของเรือลำอื่น หรือเรือลำหนึ่งสงสัยการกระทำของเรือลำอื่นว่าได้กระทำการเพียงพอหรือไม่ ที่จะหลีกเลี่ยงการโดนกัน ให้เรือลำที่สงสัยนั้นแสดงความสงสัยของตนทันทีด้วยการแสดงสัญญาณหวูดสั้นถี่ ๆ อย่างน้อยห้าครั้ง สัญญาณดังกล่าวอาจใช้สัญญาณแสงวับถี่ ๆ อย่างน้อยห้าครั้งเพิ่มขึ้นก็ได้

(จ) เรือที่เดินเข้าไปใกล้ทางโค้ง ทางแยก บริเวณร่องน้ำแคบ หรือร่องน้ำทางเรือเดิน หรือมองไม่เห็นเรือลำอื่นเพราะมีสิ่งกีดขวางบังอยู่ ต้องแสดงสัญญาณหวูดยาวหนึ่งครั้ง เรือลำอื่นที่เดินเรืออยู่ในบริเวณใกล้ทางโค้งหรือเบื้องหลังสิ่งกีดขวางนั้น เมื่อได้ยินสัญญาณหวูดดังกล่าว ต้องตอบด้วยสัญญาณหวูดยาวหนึ่งครั้งเช่นกัน

(ฉ) ถ้าเรือที่ติดตั้งหวูดไว้หลายเครื่อง โดยมีระยะห่างกันเกิน ๑๐๐ เมตรให้ใช้หวูดเครื่องเดียวเท่านั้น สำหรับเป็นสัญญาณแสดงการบังคับการเดินเรือและสัญญาณเตือน

 

ข้อ ๓๔

สัญญาณเสียงในทัศนวิสัยจำกัด

                 

 

ในบริเวณหรือที่ใกล้กับบริเวณทัศนวิสัยจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้นก็ตามต้องแสดงสัญญาณเสียง ดังนี้

(ก) เรือกลขณะเคลื่อนที่ต้องแสดงสัญญาณหวูดยาวหนึ่งครั้งเว้นระยะเวลาเสียงหวูดแต่ละครั้งไม่เกิน ๒ นาที

(ข) เรือกลที่กำลังเดินแต่หยุดอยู่และไม่เคลื่อนที่ ต้องแสดงสัญญาณหวูดยาวสองครั้งติดต่อกัน ระยะเวลาระหว่างหวูดประมาณ ๒ วินาที การแสดงสัญญาณหวูดแต่ละชุดให้มีระยะเวลาต่างกันไม่เกิน ๒ นาที

(ค) เรือไม่อยู่ในบังคับ หรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิด เรือขณะทำการวางให้บริการ หรือเก็บเครื่องหมายการเดินเรือ สายใต้น้ำ ท่อใต้น้ำ เรือขณะทำการขุด สำรวจหรือปฏิบัติงานใต้น้ำ เรือใบ เรือขณะทำการประมงและเรือขณะจูงหรือดันเรืออื่น แทนที่จะแสดงสัญญาณเสียงตาม (ก) หรือ (ข) ต้องแสดงสัญญาณหวูดสามครั้งติดต่อกันเป็นชุด ๆ เว้นระยะเวลาแต่ละชุดไม่เกิน ๒ นาที สัญญาณหวูดแต่ละชุดต้องเป็นดังนี้ หวูดยาวหนึ่งครั้ง ติดตามด้วยหวูดสั้นสองครั้ง

(ง) เรือที่พ่วงไปกับเรือจูงหนึ่งลำหรือเกินกว่าหนึ่งลำ และถ้าเรือพ่วงลำสุดท้ายมีคนประจำเรือ ต้องแสดงสัญญาณหวูดสี่ครั้งติดต่อกันเป็นชุด เว้นระยะเวลาแต่ละชุดไม่เกิน๒ นาที สัญญาณหวูดแต่ละชุดต้องเป็นดังนี้ หวูดยาวหนึ่งครั้งติดตามด้วยหวูดสั้นสามครั้ง เมื่อสามารถกระทำได้ให้แสดงสัญญาณหวูดนี้ในทันทีภายหลังเมื่อมีสัญญาณหวูดของเรือจูง

(จ) เมื่อเรือดันและเรือที่ถูกดันไปข้างหน้าต่อสนิทติดกันให้ถือว่าเรือทั้งสองลำเป็นเรือกลลำเดียวกัน และต้องแสดงสัญญาณหวูดตาม (ก) หรือ (ข)

(ฉ) เรือที่ทอดสมอต้องรัวระฆังเป็นชุด ชุดละประมาณ ๕ วินาที เว้นระยะเวลาระหว่างชุดไม่เกิน ๑ นาที เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป ต้องรัวระฆังตอนหัวเรือและทันทีหลังจากการรัวระฆังต้องรัวฆ้องเป็นชุด ชุดละประมาณ ๕ วินาที ที่ตอนท้ายเรือ เรือที่ทอดสมออาจแสดงสัญญาณหวูดเพิ่มขึ้นอีกสามครั้งติดต่อกันคือ หวูดสั้นหนึ่งครั้ง หวูดยาวหนึ่งครั้ง และหวูดสั้นหนึ่งครั้งก็ได้ เพื่อเตือนเรือที่แล่นใกล้เข้ามาให้ทราบตำแหน่งที่ที่เรือนั้นทอดสมอและอาจโดนกันได้

(ช) เรือที่ติดตื้นหรือเกยตื้น ต้องแสดงสัญญาณเสียงระฆังและถ้าต้องแสดงสัญญาณเสียงฆ้องตาม (ฉ) ด้วย ต้องตีระฆังแยกให้ชัดเจนเพิ่มขึ้นอีก ๓ ครั้ง ทันทีทั้งก่อนและหลังการรัวระฆัง เรือที่ติดตื้นหรือเกยตื้นอาจแสดงสัญญาณหวูดตามที่เห็นสมควรเพิ่มขึ้นอีกด้วยก็ได้

(ซ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร ไม่บังคับให้ต้องแสดงสัญญาณเสียงดังกล่าว แต่ถ้าไม่แสดงสัญญาณเสียงตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ต้องแสดงสัญญาณเสียงอย่างอื่นที่ใช้ได้ดี เว้นระยะเวลาห่างกันไม่เกิน ๒ นาที

(ฌ) เรือนำร่องขณะทำการรับส่งผู้นำร่องที่ไปปฏิบัติหน้าที่นำร่อง อาจแสดงสัญญาณหวูดสั้นที่เหมือนกันอีกสี่ครั้งเพิ่มขึ้นจาก (ก) (ข) หรือ (ฉ)

 

ข้อ ๓๕

สัญญาณให้ระวังอันตราย

                 

 

เรือที่จำเป็นเพื่อให้เรืออื่นระวังอันตราย อาจแสดงสัญญาณแสงหรือสัญญาณเสียง ที่ไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้หรืออาจใช้ลำแสงไฟฉายของเรือส่องไปยังทิศทางที่มีอันตรายก็ได้ ในการกระทำดังกล่าวต้องไม่เป็นการรบกวนเรืออื่น

 

ข้อ ๓๖

สัญญาณอับจน

                 

 

(ก) เมื่อเรืออยู่ในฐานะอับจนและต้องการความช่วยเหลือ เรือนั้นต้องใช้หรือแสดงสัญญาณดังต่อไปนี้ โดยจะใช้หรือแสดงร่วมกัน หรือ แยกกันก็ได้

(๑) ยิงปืนหรือทำให้เกิดระเบิด เป็นสัญญาณห่างกันประมาณครั้งละ ๑ นาที

(๒) แสดงเสียงติดต่อกันด้วยเครื่องทำสัญญาณชนิดหนึ่งชนิดใด ซึ่งใช้ในเวลามีหมอก

(๓) ยิงจรวดหรือลูกแตกเป็นประกายสีแดงทีละลูกถี่ ๆ กัน

(๔) ส่งสัญญาณทางวิทยุโทรเลข หรือส่งสัญญาณโดยวิธีอื่นใด ประกอบด้วยหมู่รหัสสัญญาณมอร์ส ...---... (SOS)

(๕) ส่งสัญญาณทางวิทยุโทรศัพท์ ประกอบด้วยคำพูดว่า “Mayday”

(๖) แสดงธงสัญญาณตามรหัสสัญญาณสากลว่าอยู่ในฐานะอับจนด้วยอักษร “NC”

(๗) แสดงสัญญาณประกอบด้วยธงสี่เหลี่ยมหนึ่งผืน โดยมีทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลม หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่คล้ายทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมอยู่เหนือ หรือใต้ธงนั้น

(๘) ทำให้มีเปลวไฟบนเรือ เช่น เผาถังน้ำมันดินหรือถังน้ำมันอย่างหนึ่งอย่างใดและอื่น ๆ

(๙) ยิงจรวดร่มหรือจุดดอกไม้ไฟสีแดง

(๑๐) แสดงสัญญาณควันสีส้ม

(๑๑) กางแขนออกทั้งสองข้าง แล้วยกขึ้นลงช้า ๆ ซ้ำกันหลายครั้ง

(๑๒) สัญญาณอันตรายทางวิทยุโทรเลข

(๑๓) สัญญาณอันตรายทางวิทยุโทรศัพท์

(๑๔) สัญญาณส่งจากกระโจมวิทยุฉุกเฉินแสดงตำบลที่เรือ

(ข) ห้ามใช้หรือแสดงสัญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว เว้นแต่เมื่อต้องการจะแสดงว่าอยู่ในฐานะอับจนและต้องการความช่วยเหลือ และห้ามใช้สัญญาณอื่นใดที่จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาณข้างต้น

(ค) ให้คำนึงถึงข้อปฏิบัติตามรหัสสัญญาณสากล หนังสือคู่มือการค้นหาและช่วยเหลือเรือพาณิชย์ในเรื่องที่ตรงกัน และให้ใช้สัญญาณดังต่อไปนี้

(๑) ผ้าใบสีส้มมีเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมและวงกลมสีดำ หรือเครื่องหมายอื่นที่เหมาะสมบนผืนผ้าใบนั้น เพื่อให้เห็นได้ชัดจากทางอากาศ

(๒) สีแสดงตำบลที่เรือ

 

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔

พลเรือเอก อมร  ศิริกายะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการป้องกันเรือโดนกัน และกฎกระทรวงที่ออกโดยพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และยังบังคับอยู่เป็นการเฉพาะกาล ยังไม่เหมาะสมฉะนั้น เพื่อวางมาตรการป้องกันเรือโดนกันสำหรับเรือไทย และเรือต่างประเทศที่เดินขึ้นล่องอยู่ในแม่น้ำลำคลองให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันเรือโดนกันที่ใช้บังคับแก่เรือไทย และเรือต่างประเทศที่อยู่ในน่านน้ำไทยที่เรือเดินทะเลเดินได้ และเรือไทยที่อยู่ในทะเลหลวง  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้