ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
กฎกระทรวง
เริ่มใช้บังคับ : 2 พ.ค. 2533

กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522

Ministerial Regulation Issue No.3 (B.E. 2533) (Prevention of Ships Collision Regulations)


กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๓)

ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน

พ.ศ. ๒๕๒๒[๑]

                 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑  ให้ยกเลิกความใน (ช) ของข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ช) “เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัว” หมายความว่า เรือซึ่งจากสภาพการใช้งานของเรือทำให้เรือนั้นไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัวตามกฎกระทรวงนี้ และไม่สามารถหลีกทางให้แก่เรืออื่นได้ และให้หมายความรวมถึง

(๑) เรือขณะทำการวาง ให้บริการ หรือเก็บเครื่องหมายการเดินเรือ สายใต้น้ำ หรือท่อใต้น้ำ

(๒) เรือขณะทำการขุด สำรวจ หรือปฏิบัติงานใต้น้ำ

(๓) เรือขณะทำการรับ ส่ง หรือขนถ่ายคน อาหาร หรือสินค้า ในขณะที่กำลังเดิน

(๔) เรือขณะทำการปล่อย หรือรับอากาศยาน

(๕) เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิด

(๖) เรือขณะทำการจูงจนทำให้เรือจูงและพวงจูงมีขีดความสามารถจำกัดเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนเข็มเดินเรือ

(๗) เรือขณะทำการอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเรือตาม (๑) ถึง (๖)”

 

ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความใน (ก) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ก) ความในข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่แผนแบ่งแนวจราจรที่รัฐมนตรี หรือองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนด”

 

ข้อ ๓  ให้ยกเลิกความใน (๓) ของ (ข) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๓) ตามปกติการเข้าหรือออกช่องทางจราจรให้กระทำที่จุดต้นทาง และปลายทางของช่องทางจราจรนั้น แต่เมื่อจะเข้าหรือออกทางด้านข้างของช่องทางจราจรด้านหนึ่งด้านใด ต้องให้ทิศทางของเรือทำมุมกับทิศทางของเส้นทางจราจรที่กำหนดให้ใช้เป็นมุมเล็กเท่าที่จะทำได้”


ข้อ ๔  ให้ยกเลิกความใน (ง) และ (จ) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ง) ตามปกติเขตจราจรชายฝั่งทะเลต้องไม่ใช้เป็นเขตจราจรผ่านหากสามารถใช้ช่องทางจราจรที่กำหนดไว้ตามแผนแบ่งแนวจราจรที่อยู่ใกล้กันนั้นได้อย่างปลอดภัยแล้ว แต่สำหรับเรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร และเรือใบ อาจเดินในเขตจราจรชายฝั่งทะเลได้ทุกกรณี

(จ) โดยปกตินอกจากเรือที่กำลังเดินตัดข้าม หรือเรือขณะที่เข้าหรือออกช่องทางจราจร ห้ามเรืออื่นเดินเข้าไปในเขตแบ่งแนวหรือเดินตัดข้ามเส้นแบ่งแนว เว้นแต่

(๑) ในกรณีฉุกเฉินเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายเฉพาะหน้า

(๒) ขณะทำการประมงภายในเขตแบ่งแนว”

 

ข้อ ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฎ) และ (ฏ) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒

“(ฎ) เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัวเมื่อปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือในแผนแบ่งแนวจราจร ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อนี้เท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน

(ฏ) เรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัวเมื่อปฏิบัติงานวางให้บริการ หรือเก็บสายใต้น้ำภายในแผนแบ่งแนวจราจรได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติข้อนี้เท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน”

 

ข้อ ๖  ให้ยกเลิกความใน (ก) ของข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ก) แม้จะมีข้อใดในบทที่ ๑ และบทที่ ๒ ของหมวด ข กำหนดไว้  อย่างไรก็ตาม เรือที่จะแซงขึ้นหน้าเรืออื่นต้องหลีกให้พ้นทางของเรือที่ถูกแซง”

 

ข้อ ๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ง) ของข้อ ๒๒ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒

“(ง) เรือหรือวัตถุที่บางส่วนจมอยู่ใต้น้ำมองเห็นไม่เด่นชัดขณะถูกลากจูง

-โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศ                           ๓ ไมล์”

 

ข้อ ๘  ให้ยกเลิกความใน (ค) ของข้อ ๒๓ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ค) (๑) เรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร อาจเปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศหนึ่งดวง และโคมไฟข้างเรือแทนการเปิดใช้โคมไฟตาม (ก)

(๒) เรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร  ซึ่งอัตราความเร็วสูงสุดไม่เกิน ๗ นอต ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศหนึ่งดวงแทนการเปิดใช้โคมไฟตาม (ก) และถ้าสามารถทำได้ให้เปิดใช้โคมไฟข้างเรือด้วย

(๓) โคมไฟเสากระโดง หรือโคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศในเรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร อาจติดตั้งอยู่นอกเส้นกึ่งกลางตามแนวหัวเรือถ้าการติดตั้งที่เหนือเส้นกึ่งกลางไม่อาจกระทำได้ แต่ทั้งนี้ โคมไฟข้างเรือต้องรวมกัน อยู่ในดวงเดียวกันและติดตั้งอยู่เหนือเส้นกึ่งกลางตามแนวหัวเรือ หรือให้อยู่ใกล้กับแนวเส้นกึ่งกลางหัวเรือท้ายเรือ ในแนวเดียวกันกับโคมไฟเสากระโดงหรือโคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

 

ข้อ ๙  ให้ยกเลิกความในข้อ ๒๔ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๒๔

การจูงและดัน

                 

 

(ก) เรือกลเมื่อทำการจูง ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือซ้อนกันสองดวงในทางดิ่ง เมื่อความยาวของพวงจูงวัดจากท้ายเรือจูงถึงท้ายสุดของเรือพ่วงเกิน ๒๐๐ เมตร ให้เปิดใช้โคมไฟดังกล่าวสามดวงในทางดิ่งแทนการเปิดใช้โคมไฟตาม ข้อ ๒๓ (ก) (๑) หรือ (๒)

(๒) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๓) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(๔) เปิดใช้โคมไฟพ่วงจูงเหนือโคมไฟท้ายเรือซ้อนกันในทางดิ่งอีกหนึ่งดวง

(๕) ให้แสดงเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดหนึ่งทุ่นเมื่อความยาวของพวงจูงเกิน ๒๐๐ เมตร

(ข) เมื่อเรือดันและเรือที่ถูกดันไปข้างหน้าต่อสนิทติดกัน ให้ถือว่าเรือทั้งสองลำเป็นเรือกลลำเดียวกันและต้องเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓

(ค) เรือกลเมื่อดันเรือไปข้างหน้า หรือจูงเทียบข้าง เว้นแต่ในกรณีที่ติดสนิทติดเป็นลำเดียวกัน ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือสองดวงซ้อนกันในทางดิ่งแทนการเปิดใช้โคมไฟตามข้อ ๒๓ (ก) (๑) หรือ (๒)

(๒) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๓) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(ง) เรือกลที่ปฏิบัติตาม (ก) หรือ (ค) ต้องปฏิบัติตามข้อ ๒๓ (ก) (๒) อีกด้วย

(จ) เรือหรือวัตถุใดขณะถูกจูงนอกจากที่กำหนดไว้ใน (ช) ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟข้างเรือ

(๒) เปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ

(๓) เมื่อความยาวของพวงจูงเกิน ๒๐๐ เมตร  ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุดหนึ่งทุ่น

(ฉ) (๑) เรือที่ถูกดันไปข้างหน้าซึ่งมิได้ต่อสนิทติดเป็นลำเดียวกับเรือดันให้เปิดใช้โคมไฟข้างเรือที่ตอนหัวเรือ

(๒) เรือที่ถูกจูงเทียบข้างต้องเปิดใช้โคมไฟท้ายเรือ และโคมไฟข้างเรือที่ตอนหัวเรือ

ทั้งนี้ เรือที่ถูกจูงเทียบข้างหรือถูกดันเป็นกลุ่มไม่ว่ามีจำนวนเท่าใดก็ตามต้องเปิดใช้โคมไฟเสมือนเป็นเรือลำเดียวกัน

(ช) เรือหรือวัตถุที่บางส่วนจมอยู่ใต้น้ำมองเห็นไม่เด่นชัด หรือพวงของเรือ และหรือวัตถุขณะถูกลากจูง

(๑) ถ้าความกว้างไม่ถึง ๒๕ เมตร ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศหนึ่งดวง ณ ที่หรือใกล้กับส่วนหัวมากที่สุด และอีกดวงหนึ่ง ณ ที่หรือใกล้กับส่วนท้ายมากที่สุด เว้นแต่ภาชนะเปลือกอ่อนบรรจุของเหลวที่ลอยน้ำได้ (DRACONES) ไม่จำเป็นต้องเปิดใช้โคมไฟ ณ ที่หรือใกล้กับส่วนหัวมากที่สุด

(๒) ถ้าความกว้าง ๒๕ เมตรขึ้นไป ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศเพิ่มขึ้นอีกสองดวง ณ ที่หรือใกล้กับขอบด้านข้างตอนที่กว้างที่สุด

(๓) ถ้าความยาวมากกว่า ๑๐๐ เมตร ให้เปิดใช้โคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศเพิ่มขึ้น ณ ที่ระหว่างโคมไฟตาม (๑) และ (๒) โดยระยะระหว่างโคมไฟต้องไม่เกินกว่า ๑๐๐ เมตร

(๔) แสดงเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ณ ที่หรือใกล้กับตำแหน่งท้ายสุดของเรือหรือวัตถุที่อยู่ท้ายสุดของพวง และถ้าความยาวมากกว่า ๒๐๐ เมตร ให้แสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทุ่น ณ ที่ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดที่สุด และอยู่ค่อนไปทางตอนหัวเท่าที่จะทำได้

(ซ) ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้เรือหรือวัตถุที่ถูกจูงไม่สามารถเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (จ) หรือ (ช) ได้ ต้องใช้มาตรการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ด้วยการจัดให้มีแสงสว่างที่เรือหรือวัตถุที่ถูกจูงหรืออย่างน้อยที่สุดต้องแสดงให้รู้ว่ามีเรือหรือวัตถุนั้นอยู่

(ฌ) ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้เรือซึ่งตามปกติมิให้ใช้ในการลากจูงไม่สามารถเปิดใช้โคมไฟตาม (ก) หรือ (ค) เรือดังกล่าวไม่ต้องเปิดใช้โคมไฟเหล่านั้นขณะทำการลากจูงเรืออื่นที่อยู่ในฐานะอับจนหรือที่ต้องการความช่วยเหลือด้วยเหตุอื่น ให้ใช้มาตรการทั้งหลายที่แสดงถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเรือจูงและเรือที่ถูกจูงตามข้อ ๓๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องส่องสว่างไปยังสายจูง”

 

ข้อ ๑๐  ให้ยกเลิกความใน (ข) ของข้อ ๒๕ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ข) เรือใบที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร โคมไฟที่บังคับไว้ตาม (ก) จะอยู่รวมกันเป็นดวงโคมดวงเดียวกันก็ได้ โดยต้องติดตั้งไว้ให้มองเห็นได้ชัดที่สุด ณ ที่หรือใกล้ยอดเสากระโดง”

 

ข้อ ๑๑  ให้ยกเลิกความใน (ค) (ง) (จ) (ฉ) และ (ช) ของข้อ ๒๗ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ค) เรือกลขณะทำการจูงอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเปลี่ยนเข็มเดินเรือของตนเองได้ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ข) (๑) และ (๒) เพิ่มขึ้นจากที่ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๒๔ (ก)

(ง) เรือขณะทำการขุดลอกหรือเรือปฏิบัติงานที่อยู่ใต้น้ำซึ่งทำให้ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัวต้องเปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ข) (๑) (๒) และ (๓) เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเกิดการกีดขวางต้องเปิดใช้โคมไฟและแสดงทุ่นเครื่องหมายเพิ่มขึ้นดังนี้

(๑) เปิดใช้โคมไฟสีแดงมองเห็นได้รอบทิศสองดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่งทางด้านที่มีสิ่งกีดขวาง

(๒) เปิดใช้โคมไฟสีเขียวมองเห็นได้รอบทิศสองดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสองทุ่นซ้อนกันในทางดิ่งทางด้านที่เรืออื่นอาจผ่านได้

(๓) เมื่อทอดสมออยู่ต้องเปิดใช้โคมไฟ หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ง) แทนการเปิดใช้โคมไฟ หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อ ๓๐

(จ) เรือขนาดใดก็ตามขณะปฏิบัติงานประดาน้ำถ้าไม่อาจเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ง) ได้ต้อง

(๑) เปิดใช้โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศสามดวงในทางดิ่ง ณ ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด ดวงบนสุดและดวงล่างสุดเป็นสีแดงและดวงกลางเป็นสีขาว

(๒) แสดงแผ่นแข็งจำลองธงอักษร “A” ตามประมวลสัญญาณธงระหว่างประเทศสูงไม่น้อยกว่า ๑ เมตร และให้แน่ใจว่าต้องมองเห็นได้รอบทิศ

(ฉ) เรือขณะทำการกวาดทุ่นระเบิดต้องเปิดใช้โคมไฟสีเขียวมองเห็นได้รอบทิศสามดวง หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายรูปทรงกลมสามทุ่นเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้สำหรับการเปิดใช้โคมไฟสำหรับเรือกลตามข้อ ๒๓ หรือการเปิดใช้โคมไฟ หรือแสดงทุ่นเครื่องหมายของเรือขณะทอดสมอตามข้อ ๓๐ ตามควรแก่กรณี โคมไฟหนึ่งดวงหรือทุ่นเครื่องหมายหนึ่งทุ่นให้เปิดหรือแสดง ณ ที่ใกล้ยอดเสากระโดงตอนหัวเรือและที่ปลายพรวนเสากระโดงตอนหัวเรือข้างละหนึ่งดวงหรือหนึ่งทุ่น โคมไฟและทุ่นเครื่องหมายดังกล่าวแสดงให้เรืออื่นทราบว่ามีอันตรายหากเข้ามาใกล้เรือกวาดทุ่นระเบิดในระยะ ๑,๐๐๐ เมตร

(ช) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร เว้นแต่เรือขณะปฏิบัติงานประดาน้ำไม่จำเป็นต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตามข้อนี้”

 

ข้อ ๑๒  ให้ยกเลิกความใน (๓) ของ (ก) ของข้อ ๒๙ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๓) เมื่อทอดสมอให้เปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายสำหรับเรือที่ทอดสมอตามข้อ ๓๐ เพิ่มจากที่บังคับไว้ตาม (๑)”

 

ข้อ ๑๓  ให้ยกเลิกความใน (จ) ของข้อ ๓๐ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(จ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๗ เมตร เมื่อทอดสมออยู่ในร่องน้ำซึ่งไม่ใช่ทางเรือเดิน หรือใกล้กับร่องน้ำแคบที่ทอดจอดเรือหรือที่ซึ่งโดยปกติใช้เป็นทางเดินเรือของเรืออื่น ไม่ต้องเปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ก) และ (ข) ของข้อนี้”

 

ข้อ ๑๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฉ) ของข้อ ๓๐ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ฉ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร เมื่อติดตื้นไม่บังคับให้เปิดใช้โคมไฟหรือแสดงทุ่นเครื่องหมายตาม (ง) (๑) และ (๒) ของข้อนี้”


ข้อ ๑๕  ให้ยกเลิกความใน (๓) ของ (ข) ของข้อ ๓๔ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๓) ถ้าได้ติดตั้งโคมไฟสำหรับใช้แสดงสัญญาณต้องเป็นโคมไฟสีขาวมองเห็นได้รอบทิศในระยะอย่างน้อยที่สุด ๕ ไมล์ และต้องเป็นไปตามภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวงนี้”

 

ข้อ ๑๖  ให้ยกเลิกความใน (ง) (จ) (ฉ) (ช) (ซ) และ (ฌ) ของข้อ ๓๕ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ง) เรือขณะทำการประมงเมื่อทอดสมอ และเรือที่ไม่สามารถบังคับการเดินเรือได้คล่องตัวเมื่อปฏิบัติงานขณะทอดสมออาจใช้สัญญาณเสียงตาม (ค) แทนการใช้สัญญาณตาม (ช) ของข้อนี้

(จ) เรือที่พ่วงไปกับเรือจูงหนึ่งลำหรือเกินกว่าหนึ่งลำและถ้าเรือพ่วงลำสุดท้ายมีคนประจำเรือ ต้องแสดงสัญญาณเสียงหวูดสี่ครั้งติดต่อกันเป็นชุดเว้นระยะเวลาแต่ละชุดไม่เกิน ๒ นาที สัญญาณเสียงแต่ละชุด ต้องเป็นหวูดยาวหนึ่งครั้งติดตามด้วยหวูดสั้นสามครั้ง เมื่อสามารถกระทำได้ให้แสดงสัญญาณเสียงนี้ในทันทีภายหลังสัญญาณเสียงของเรือจูง

(ฉ) เมื่อเรือดันและเรือที่ถูกดันไปข้างหน้าต่อสนิทติดกันให้ถือว่าเรือทั้งสองลำเป็นเรือกลลำเดียวกัน และต้องแสดงสัญญาณเสียงตาม (ก) หรือ (ข) ของข้อนี้

(ช) เรือที่ทอดสมอต้องรัวระฆังเป็นชุด ชุดละประมาณ ๕ วินาที เว้นระยะเวลาระหว่างชุดไม่เกิน ๑ นาที เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไปต้องรัวระฆังตอนหัวเรือ และทันทีหลังจากการรัวระฆังต้องรัวฆ้องเป็นชุด ชุดละประมาณ ๕ วินาทีที่ตอนท้ายเรือ เรือที่ทอดสมออาจแสดงสัญญาณเสียงหวูดเพิ่มขึ้นอีกสามครั้งติดต่อกันดังนี้ หวูดสั้นหนึ่งครั้ง หวูดยาวหนึ่งครั้ง และหวูดสั้นหนึ่งครั้ง ก็ได้ เพื่อเตือนเรือที่แล่นใกล้เข้ามาให้ทราบตำแหน่งที่ที่เรือนั้นทอดสมอและอาจโดนกันได้

(ซ) เรือที่ติดตื้นต้องแสดงสัญญาณเสียงระฆัง และถ้าต้องแสดงสัญญาณเสียงฆ้องตาม (ช) ของข้อนี้ด้วยต้องตีระฆังแยกให้ชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกสามครั้งทันทีทั้งก่อนและหลังการรัวระฆัง เรือที่ติดตื้นอาจแสดงสัญญาณเสียงหวูดตามที่เห็นสมควรเพิ่มขึ้นอีกด้วยก็ได้

(ฌ) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๒ เมตร ไม่บังคับให้ต้องแสดงสัญญาณเสียงดังกล่าว แต่ถ้าไม่แสดงสัญญาณเสียงตามที่กำหนดไว้ข้างต้นต้องแสดงสัญญาณเสียงอย่างอื่นที่ใช้ได้ดี เว้นระยะเวลาห่างกันไม่เกิน ๒ นาที

(ญ) เรือนำร่องขณะทำการนำร่องอาจแสดงสัญญาณเสียงหวูดสั้นที่เหมือนกันอีกสี่ครั้งเพิ่มจาก (ก) (ข) หรือ (ช)”

 

ข้อ ๑๗  ให้ยกเลิกความในข้อ ๓๖ และข้อ ๓๗ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๓๖

สัญญาณให้ระวังอันตราย

                 

 

เรือที่จำเป็นต้องให้สัญญาณเพื่อให้เรืออื่นระวังอันตรายอาจแสดงสัญญาณแสงหรือสัญญาณเสียงที่ไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ หรืออาจใช้ลำแสงไฟฉายของเรือส่องไปยังทิศทางที่มีอันตรายก็ได้ แต่การกระทำการดังกล่าวต้องไม่เป็นการรบกวนเรืออื่น สัญญาณแสงใด ๆ เพื่อให้เรืออื่นระวังอันตรายต้องไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นไฟช่วยในการเดินเรือ  เพื่อประโยชน์ของข้อนี้ห้ามมิให้ใช้โคมไฟที่มีความเข้มสูงซึ่งเปิดปิดสลับกันไป หรือเป็นไฟหมุนที่มีจังหวะแน่นอน เช่น ไฟกระพริบ

 

ข้อ ๓๗

สัญญาณอับจน

 

 

เมื่อเรืออยู่ในฐานะอับจนและต้องการความช่วยเหลือ เรือนั้นต้องใช้หรือแสดงสัญญาณตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๔ แห่งกฎกระทรวงนี้”

 

ข้อ ๑๘  ให้ยกเลิกความในข้อ ๓๘ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“ข้อ ๓๘

ข้อยกเว้น

                 

 

เรือที่ได้มีการวางกระดูกงู หรืออยู่ในระหว่างการต่อก่อนกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ อาจได้รับการยกเว้นจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ดังนี้

(ก) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟเนื่องจากผลการเปลี่ยนมาตราวัดระยะจากหน่วยอิมพีเรียลเป็นหน่วยเมตริกให้เป็นตัวเลขที่ลงตัวให้ได้รับการยกเว้นตลอดไป

(ข) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟเสากระโดงในเรือที่มีความยาวไม่ถึง ๑๕๐ เมตร อันเนื่องมาจากผลบังคับของ ๓. (ก) ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวงนี้ให้ได้รับการยกเว้นตลอดไป

(ค) การเปลี่ยนที่ติดตั้งโคมไฟมองเห็นได้รอบทิศอันเนื่องมาจากผลบังคับของ ๙. (ข) ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวงนี้ให้ได้รับการยกเว้นตลอดไป"

 

ข้อ ๑๙  ให้ยกเลิกความใน ๑ ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“๑. คำนิยาม

“ความสูงเหนือตัวเรือ” หมายความว่า ความสูงเหนือดาดฟ้าที่ยาวต่อเนื่องกันชั้นบนสุด ความสูงดังกล่าวให้วัดจากจุดใต้ที่ตั้งของโคมไฟทางดิ่ง”


ข้อ ๒๐  ให้ยกเลิกความใน (จ) และ (ฉ) ของ ๒.  ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(จ) โคมไฟเสากระโดงหนึ่งดวงในจำนวนสองหรือสามดวงที่กำหนดให้ติดตั้งในเรือกลขณะจูงหรือดันเรืออื่นต้องติดตั้งที่ที่เดียวกันกับโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือหรือตอนท้ายเรือ  ทั้งนี้ ถ้าติดตั้งที่เสากระโดงตอนท้ายเรือ โคมไฟต่ำสุดที่เสากระโดงตอนท้ายเรือต้องสูงเหนือโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรืออย่างน้อย ๔.๕ เมตร ในทางดิ่ง

(ฉ) (๑) โคมไฟเสากระโดงดวงเดียวหรือหลายดวงตามข้อ ๒๓ (ก) ต้องติดตั้งไว้เหนือและอยู่ห่างจากโคมไฟดวงอื่น และต้องไม่มีสิ่งบังแสงของโคมไฟนั้นนอกจากที่กำหนดไว้ใน (๒)

(๒) เมื่อไม่อาจติดตั้งโคมไฟมองเห็นได้รอบทิศตามข้อ ๒๗ (ข) (๑) หรือข้อ ๒๘ ที่ใต้โคมไฟเสากระโดง อาจติดตั้งที่เหนือโคมไฟเสากระโดงตอนท้ายเรือหรือติดตั้งในทางดิ่งในบริเวณระหว่างโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือกับโคมไฟเสากระโดงตอนท้ายเรือ แต่ในกรณีหลังนี้ต้องให้เป็นไปตาม ๓. (ค) แห่งภาคผนวกนี้”

 

ข้อ ๒๑  ให้ยกเลิกความใน (ซ) (ฌ) (ญ) และ (ฎ) ของ ๒. ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ซ) โคมไฟข้างเรือถ้าเป็นโคมไฟแบบรวมอยู่ในดวงโคมเดียวกันเมื่อติดตั้งในเรือกลที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้อยู่ต่ำกว่าโคมไฟเสากระโดงไม่น้อยกว่า ๑ เมตร

(ฌ) เมื่อต้องติดตั้งโคมไฟสองหรือสามดวงซ้อนกันในทางดิ่งตามกฎกระทรวงนี้ต้องติดตั้งให้มีระยะต่อดังนี้

(๑) เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป ให้มีระยะต่อทางดิ่งไม่น้อยกว่า ๒ เมตร และโคมไฟดวงต่ำสุดต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๔ เมตร เว้นแต่ที่นั้นได้กำหนดให้เป็นที่ติดตั้งโคมไฟเรือจูงให้ติดตั้งสูงไม่น้อยกว่า ๔ เมตร เหนือตัวเรือ

(๒) เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ให้มีระยะต่อทางดิ่งระหว่างกันไม่น้อยกว่า๑ เมตร และโคมไฟดวงต่ำสุดต้องอยู่สูงเหนือกราบเรือไม่น้อยกว่า ๒ เมตร เว้นแต่ที่นั้นได้กำหนดให้เป็นที่ติดตั้งโคมไฟเรือจูงให้ติดตั้งสูงไม่น้อยกว่า ๒ เมตรเหนือตัวเรือ

(๓) เมื่อต้องติดตั้งโคมไฟสามดวง ระยะต่อทางดิ่งต้องเท่ากัน

(ญ) โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศดวงล่างในจำนวนสองดวงที่กำหนดให้ติดตั้งซ้อนกันทางดิ่งในเรือขณะทำการประมงต้องติดตั้งให้อยู่สูงเหนือโคมไฟข้างเรือ มีระยะไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะต่อระหว่างโคมไฟสองดวงที่ติดตั้งซ้อนกันในทางดิ่ง

(ฎ) เมื่อต้องติดตั้งโคมไฟเรือทอดสมอสองดวงตามข้อ ๓๐ (ก) (๑) ดวงหน้าต้องอยู่สูงกว่าดวงหลังไม่น้อยกว่า ๔.๕ เมตร เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๕๐ เมตรขึ้นไปโคมไฟเรือทอดสมอดวงหน้าต้องอยู่สูงเหนือตัวเรือไม่น้อยกว่า ๖ เมตร”

 

ข้อ ๒๒  ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ ๓. ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ข) เรือกลที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป โคมไฟข้างเรือต้องไม่ติดตั้งให้อยู่ด้านหน้าของโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือแต่ต้องติดตั้งให้อยู่ ณ ที่หรือใกล้กับข้างเรือ”

 

ข้อ ๒๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ค) ของ ๓. ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒

“(ค) เมื่อติดตั้งโคมไฟมองเห็นได้รอบทิศตามข้อ ๒๗ (ข) (๑) หรือ ข้อ ๒๘ ในทางดิ่งระหว่างโคมไฟเสากระโดงตอนหัวเรือและโคมไฟเสากระโดง ตอนท้ายเรือต้องติดตั้งในระยะห่างทางระดับซึ่งวัดจากเส้นกึ่งกลางที่ลากจากหัวเรือไปท้ายเรือไปทางขวางของลำเรือมีระยะไม่น้อยกว่า ๒ เมตร”

 

ข้อ ๒๔  ให้ยกเลิกความใน ๕. ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“๕. บังเพลิงสำหรับโคมไฟข้างเรือ

 เรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ เมตรขึ้นไป โคมไฟข้างเรือต้องติดตั้งบังเพลิงซึ่งด้านในที่ติดตัวเรือต้องทาสีดำชนิดด้านและเป็นไปตาม ๙. แห่งภาคผนวกนี้ เรือที่มีความยาวไม่ถึง ๒๐ เมตร ถ้าจำเป็นต้องให้เป็นไปตาม ๙. แห่งภาคผนวกนี้ต้องติดตั้งบังเพลิงซึ่งด้านในที่ติดตัวเรือต้องทาสีดำชนิดด้าน สำหรับโคมไฟแบบรวมอยู่ในดวงโคมเดียวกันที่ใช้ไส้หลอดเส้นเดียวกันทางดิ่งและการกั้นแบ่งระหว่างส่วนของโคมไฟที่เป็นสีเขียวและสีแดงแคบมาก ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งบังเพลิงด้านนอกของโคมไฟ”

 

ข้อ ๒๕  ให้ยกเลิกความใน หมายเหตุ ของ ๘. ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“หมายเหตุ ควรลดกำลังส่องสว่างของแสงไฟเดินเรือเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้สว่างมากจนทำให้สายตาพร่า และห้ามมิให้ใช้อุปกรณ์ปรับกำลังส่องสว่างเพื่อการนี้”

 

ข้อ ๒๖  ให้ยกเลิกความใน ๙. ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“๙. เซคเตอร์ทางระดับ

(ก) (๑) โคมไฟข้างเรือต้องมีแสงไฟที่มีกำลังส่องสว่างต่ำส่องไปทางด้านหน้าเรือตามที่กำหนดไว้ กำลังส่องสว่างของแสงไฟดังกล่าวต้องให้ลดน้อยลง ระหว่าง ๑ องศา และ ๓ องศา เมื่อพ้นเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้

(๒) สำหรับโคมไฟท้ายเรือ โคมไฟเสากระโดงและโคมไฟข้างเรือ ณ ที่มุม ๒๒.๕ องศา เลยเส้นฉากข้างเรือไปทางท้ายเรือ แสงไฟภายในวงขอบทางระดับจะต้องมีกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้จนถึงมุม ๕ องศา ก่อนถึงเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๑ และตั้งแต่มุม ๕ องศา ก่อนถึงเขตเซคเตอร์ไปจนถึงสุดเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้กำลังส่องสว่างของแสงไฟอาจลดลงร้อยละ ๕๐ ต่อจากนั้นกำลังส่องสว่างของแสงไฟอาจจะลดน้อยลงตามลำดับจนมองไม่เห็นแสงไฟเมื่อพ้นเขตเซคเตอร์ที่กำหนดไว้ออกไปอีกจนถึงมุมไม่เกิน ๕ องศา ของเซคเตอร์ที่กำหนด

(ข) โคมไฟมองเห็นได้รอบทิศต้องไม่ติดตั้ง ณ ที่ซึ่งเสากระโดง ยอดเสากระโดง หรือโครงสร้างใด ๆ บังแสงไฟเป็นมุมเซคเตอร์เกิน ๖ องศา เว้นแต่โคมไฟเรือทอดสมอตามข้อ ๓๐ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งให้สูงเหนือตัวเรือเกินสมควร”

 

ข้อ ๒๗ ให้ยกเลิกความใน (ก) และ (ข) ของ ๑๐. ของภาคผนวก ๑ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒)  ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ก) เซคเตอร์ของแสงไฟทางดิ่งของดวงโคมไฟฟ้าที่ติดตั้ง เว้นแต่โคมไฟของเรือใบต้องเป็นดังนี้

(๑) อย่างน้อยที่สุดในมุมทุกมุมระหว่างมุม ๕ องศา ทางด้านบนและด้านล่างของแนวระดับโคมไฟให้คงกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้

(๒) อย่างน้อยที่สุดระหว่างมุม ๗.๕ องศา ทางด้านบนและด้านล่างของแนวระดับโคมไฟให้คงกำลังส่องสว่างไว้ร้อยละ ๖๐ ของกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้

(ข) ในกรณีที่เป็นเรือใบเซคเตอร์ของแสงไฟทางดิ่งของดวงโคมไฟฟ้าเมื่อติดตั้งต้องเป็นดังนี้

(๑) อย่างน้อยที่สุดในมุมทุกมุมระหว่าง ๕ องศา ทางด้านบนและด้านล่างของแนวระดับโคมไฟให้คงกำลังส่องสว่างต่ำสุดตามที่กำหนดไว้

(๒) อย่างน้อยที่สุดระหว่างมุม ๒๕ องศา ทางด้านบนและด้านล่างของแนวระดับโคมไฟให้คงกำลังส่องสว่างไว้ร้อยละ ๕๐ ของกำลังส่องสว่างต่ำสุด ตามที่กำหนดไว้”

 

ข้อ ๒๘  ให้ยกเลิกความใน (ง) ของ ๑. ของภาคผนวก ๓ แห่ง กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ง) คุณลักษณะของเสียงในทิศทางต่าง ๆ

ระดับกำลังดันของเสียงของหวูดชนิดบังคับทิศทางในทิศทางใด ๆ บนพื้นระดับภายในมุม ± ๔๕ องศา  ของเส้นแกนจะต่ำกว่าระดับกำลังดันของเสียงที่กำหนดบนเส้นแกนเกิน ๔ dB ไม่ได้ ในทิศทางอื่น ๆ ระดับกำลังดันของเสียงบนพื้นระดับจะต่ำกว่าระดับกำลังดันของเสียงที่กำหนดให้บนเส้นแกนเกิน ๑๐ dB ไม่ได้ ระยะได้ยินในทิศทางอื่นอย่างน้อยที่สุดต้องเป็นครึ่งหนึ่งของเสียงทางเส้นแกนด้านหน้าของหวูดระดับกำลังดันของเสียงต้องวัดได้ที่แถบที่ ๑/๓ ของแถบเสียงคู่แปดคู่ซึ่งกำหนดให้เป็นระยะได้ยินเสียง”

 

ข้อ ๒๙  ให้ยกเลิกความใน (ก) ของ ๒. ของภาคผนวก ๓ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ก) ความดังของสัญญาณเสียง

ระฆัง หรือฆ้อง หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถทำเสียงได้เหมือนระฆัง หรือฆ้อง ต้องทำระดับความดังของเสียงได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ dB ในระยะ ๑ เมตร จากระฆังหรือฆ้องนั้น”

 

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓

มนตรี  พงษ์พานิช

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีข้อแก้ไขอนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับการป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๒ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งมีผลใช้บังคับกับประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๗๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สอดคล้องกับข้อแก้ไขอนุสัญญาฯ ดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้