ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
กฎกระทรวง
เริ่มใช้บังคับ : 27 ม.ค. 2558

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2558

Ministerial Regulations on the Division of Marine Department, Ministry of Transport B.E.2558 (2015)


กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า

กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ 

ข้อ ๒ ให้กรมเจ้าท่า มีภารกิจเกี่ยวกับการกํากับดูแล การส่งเสริม การพัฒนาระบบ การขนส่งทางน้ําและการพาณิชยนาวี ให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง โดยให้มีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี กฎหมายว่าด้วย การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๒) ศึกษา วิเคราะห์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ํา

(๓) ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งทางน้ําและการพาณิชยนาวี 

(๔) ดําเนินการจัดระเบียบการขนส่งทางน้ําและกิจการพาณิชยนาวี

(๕) ร่วมมือและประสานงานกับองค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศในด้านการขนส่งทางน้ํา การพาณิชยนาวี และในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๓ ให้แบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า ดังต่อไปนี้

(๑) สํานักงานเลขานุการกรม

(๒) กองกํากับการพาณิชยนาวี

(๓) กองคลัง

(๔) กองมาตรฐานคนประจําเรือ

(๕) กองวิศวกรรม

(๖) กองส่งเสริมการพาณิชยนาวี

(๗) กองสํารวจและแผนที่

(๘) ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี

(๙) สํานักกฎหมาย

(๑๐) สํานักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ํา

(๑๑) - (๑๗) สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๑ - ๗

(๑๘) สํานักนําร่อง

(๑๙) สํานักแผนงาน

(๒๐) สํานักพัฒนาและบํารุงรักษาทางน้ํา

(๒๑) สํานักมาตรฐานทะเบียนเรือ

(๒๒) สํานักมาตรฐานเรือ

ข้อ ๔ ในกรมเจ้าท่า ให้มีกลุ่มตรวจสอบภายใน เพื่อทําหน้าที่หลักในการตรวจสอบ การดําเนินงานภายในกรม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรม รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่ออธิบดี โดยมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการบริหาร การเงิน และการบัญชีของกรม

(๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๕ ในกรมเจ้าท่า ให้มีกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เพื่อทําหน้าที่หลักในการพัฒนา การบริหารของกรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่ออธิบดี โดยมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอแนะและให้คําปรึกษาแก่อธิบดีเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการภายในกรม 

(๒) ติดตาม ประเมินผล และจัดทํารายงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการภายในกรม 

(๓) ประสานและดําเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ และหน่วยงานในสังกัดกรม

(๔) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๖ สํานักงานเลขานุการกรม มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับงานบริหารทั่วไปและปฏิบัติงานสารบรรณของกรม 

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับงานช่วยอํานวยการและงานเลขานุการของกรม

(๓) ดําเนินการเกี่ยวกับการจัดระบบงานและบริหารงานทรัพยากรบุคคลของกรม

(๔) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสาร ผลการปฏิบัติงาน และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ งานในหน้าที่ของกรม และดําเนินการเกี่ยวกับงานห้องสมุด

(๕) ดําเนินการอื่นใดที่มิได้กําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของส่วนราชการใดของกรม 

(๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๗ กองกํากับการพาณิชยนาวี มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการอนุญาต การจดทะเบียนและการติดตามผู้ประกอบการ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการอนุญาต การจดทะเบียนและการจดแจ้งของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและติดตามผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

(๓) ดําเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๔) กํากับดูแล และติดตามการประกอบกิจการด้านการขนส่งทางทะเล การขนส่งต่อเนื่อง หลายรูปแบบ กิจการท่าเรือ กิจการอู่เรือ และกิจการอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

(๕) กํากับดูแลมาตรฐานของบุคลากรและสถานศึกษาด้านพาณิชยนาวี ตลอดจนประกาศนียบัตรวิชาชีพของบุคลากรด้านการขนส่งทางน้ําและการพาณิชยนาวี

(๖) ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องหรือคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีแต่งตั้ง และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีมอบหมาย

(๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๘ กองคลัง มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การงบประมาณ การพัสดุ อาคารสถานที่และยานพาหนะของกรม

(๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๙ กองมาตรฐานคนประจําเรือ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการกําหนดมาตรฐานหลักสูตรคนประจําเรือ

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการสอบความรู้หรือการรับรองผู้ทําการในเรือ และการจดทะเบียนควบคุมคนประจําเรือและการออกหนังสือคนประจําเรือ

ของกรม

(๓) ดําเนินการเกี่ยวกับการจ้างและเลิกจ้างคนประจําเรือ

(๔) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๐ กองวิศวกรรม มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการสํารวจและออกแบบสิ่งล่วงล้ําลําน้ํา ร่องน้ําทางเดินเรือ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับงานวิศวกรรมการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ําลําน้ํา ร่องน้ําทางเดินเรือ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของกรม

(๓) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๑ กองส่งเสริมการพาณิชยนาวี มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานและมาตรการพัฒนาและส่งเสริมการขนส่งทางน้ําและการพาณิชยนาวี

(๒) ศึกษา วิเคราะห์และเสนอแนวทางการพัฒนาเกี่ยวกับการลงทุนและการประกอบ กิจการพาณิชยนาวี รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการยกระดับมาตรฐาน

(๓) ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี และปฏิบัติการอื่นใด ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีมอบหมาย

(๔) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนเพื่อดําเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานและมาตรการส่งเสริมการพาณิชยนาวี และกิจการเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการติดตาม และประเมินผลการดําเนินการดังกล่าว

(๕) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๒ กองสํารวจและแผนที่ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการสํารวจและสร้างแผนที่เส้นทางเดินเรือ

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการสํารวจและประเมินผลข้อมูลระดับน้ํา กระแสน้ํา คลื่นลม ตะกอน ความเค็ม และอุณหภูมิของน้ํา

(๓) ดําเนินการสํารวจสิ่งล่วงล้ําลําน้ํา และสํารวจปักหลักเขตควบคุมทางน้ําและสร้างแผนที่ 

(๔) จัดระบบการสํารวจ การจัดเก็บและการใช้ประโยชน์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่องน้ําและ สิ่งล่วงล้ําลําน้ํา

(๕) เผยแพร่ข้อมูลแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ สภาพร่องน้ําและสิ่งล่วงล้ําลําน้ําด้ว ภูมิสารสนเทศ

(๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๓ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการผลิต ฝึกอบรมและพัฒนาคนประจําเรือ รวมทั้งบุคลากรด้านการพาณิชยนาวี

(๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๔ สํานักกฎหมาย มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี กฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับงานนิติกรรมและสัญญา งานเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง อาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของกรม

(๓) ให้คําปรึกษาและแนะนําเกี่ยวกับการดําเนินงานตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่จําเป็นต่อการควบคุมดูแลการขนส่งทางน้ําและการส่งเสริมการพาณิชยนาวี 

(๔) ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อยกร่างและพัฒนากฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม 

(๕) ศึกษา วิเคราะห์ และติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ตลอดจนให้คําปรึกษา และเสนอแนะในการจัดทําอนุสัญญา สนธิสัญญา และความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการขนส่ง ทางน้ําและการพาณิชยนาวี

(๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๕ สํานักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ํา มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการควบคุม ตรวจตรา และปราบปรามเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไป ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกัน เรือโดนกัน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการดําเนินคดีแก่ผู้กระทําการอันเป็นความผิด

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดมิให้ล่วงล้ําลําน้ําหรือกีดขวางทางเดินเรือ

(๓) ดําเนินการเกี่ยวกับงานด้านสภาวะแวดล้อมทางน้ําที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม 

(๔) ดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานสื่อสาร การควบคุมการจราจรและรักษาความปลอดภัยทางน้ํา 

(๕) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๖ สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๑ - ๗ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี กฎหมายว่าด้วย การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตาม ข้องตามที่ได้รับมอบหมายในเขตพื้นที่ที่อธิบดีกําหนด

(๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๗ สํานักนําร่อง มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ศึกษาและพัฒนาระบบ รูปแบบ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการนําร่องเรือ และระบบการประกอบกิจการนําร่อง

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการนําร่องตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย

(๓) เสนอแนะเกี่ยวกับการกําหนดเขตท่าเรือหรือน่านน้ําใด ๆ ให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยผู้นําร่อง

(๔) เสนอแนะเกี่ยวกับการออกข้อบังคับที่เกี่ยวกับการนําร่อง

(๕) ดําเนินการเกี่ยวกับการสอบความรู้และออกใบอนุญาตผู้นําร่องและผู้นําร่องพิเศษ 

(๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๘ สํานักแผนงาน มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทําแผนยุทธศาสตร์และแผนการปฏิบัติราชการของกรม

(๒) ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการ รวมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนงานโครงการของกรม

(๓) ศึกษาและพัฒนารูปแบบและวิธีการด้านการขนส่งทางน้ําแ และการพาณิชยนาวี

(๔) จัดทําและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรม ตลอดจนสํารวจและประมวลผลสถิติการขนส่งทางน้ําและการพาณิชยนาวี

(๕) ดําเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ

(๖) ศึกษา พัฒนาและเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับระบบการขนส่งทางทะเล ระบบการขนส่ง เชื่อมโยง การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และการส่งเสริมการประกอบกิจการการขนส่งทางน้ํา และการพาณิชยนาวีและกิจการเกี่ยวเนื่อง

(๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๙ สํานักพัฒนาและบํารุงรักษาทางน้ํา มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการขุดลอกและรักษาร่องน้ําทางเดินเรือ และงานเครื่องหมาย การเดินเรือในลําแม่น้ําและบริเวณชายฝั่ง

(๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๒๐ สํานักมาตรฐานทะเบียนเรือ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตใช้เรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย 

(๓) ดําเนินการเกี่ยวกับการตรวจสภาพเรือ เครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องใช้ประจําเรือ เพื่อออกใบสําคัญรับรองการตรวจเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน เพื่อประกอบการออกใบทะเบียนเรือตามกฎหมาย ว่าด้วยเรือไทย และการออกและต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ําไทย

(๔) ศึกษาเพื่อเสนอแนะนโยบายและแนวทางในการพัฒนาระบบทะเบียนเรือไทย

(๕) กํากับดูแลและประเมินผลการปฏิบัติงานทะเบียนเรือให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

(๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๒๑ สํานักมาตรฐานเรือ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการตรวจสภาพเรือ เครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องใช้ประจําเรือ เพื่อออกใบสําคัญรับรองตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการตรวจอนุมัติแบบแปลนเรือให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ ตลอดจนติดตามการปรับปรุงแก้ไขอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง 

(๓) ดําเนินการเกี่ยวกับการตรวจเรือ สําหรับเรือต่างประเทศที่เดินเรือเข้ามาในน่านน้ําไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรืออนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ

(๔) ดําเนินการเกี่ยวกับการกําหนดมาตรฐานเรือ อุปกรณ์ประจําเรือ และการตรวจรับรองวัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ประจําเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

(๕) ดําเนินการเกี่ยวกับการกําหนดหลักเกณฑ์และกํากับดูแลองค์กรที่ได้รับมอบอํานาจให้ทําการตรวจเรือและออกใบสําคัญรับรองตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

(๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย


ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ 

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ และอํานาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับ สภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะทําให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้