ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ประกาศ
เริ่มใช้บังคับ : 14 ธ.ค. 2553

ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 273/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทําให้เกิดอันตรายได้

Marine Department Notification No.273/2553 on Criteria for Granting Permission to Transport Maritime Dangerous Goods


ประกาศกรมเจ้าท่า

ที่ ๒๗๓/๒๕๕๓

เรื่อง หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้

________________

          ตามที่มาตรา ๑๙๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ บัญญัติว่าการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ จากเรือลำหนึ่งไปยังเรืออีกลำหนึ่ง การขนถ่าย จากเรือขึ้นบก หรือการขนถ่ายจากบกลงเรือ นายเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือต้องแจ้งให้เจ้าท่าทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงก่อนการขนถ่าย และห้ามมิให้ขนถ่ายจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ดังนั้น เพื่อให้การอนุญาตตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกัน อธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะ “เจ้าท่า” จึงออกประกาศ ดังนี้

          ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศกรมเจ้าท่า ที่ ๒๗๕/๒๕๔๒ เรื่อง การอนุญาตให้ขนถ่ายสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

          ข้อ ๒ ในประกาศนี้

          “สิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้” หมายความว่า สิ่งของตามประกาศกรมเจ้าท่า ที่ ๓๕๓/๒๕๒๙ เรื่อง การกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งให้หมายความรวมถึงน้ำมันชนิดสลายตัวยาก (Persistent Oil) ๔ ประเภท อันได้แก่น้ำมันดิบ (Crude Oil) น้ำมันเตา (Fuel Oil) น้ำมันหล่อลื่น (Lubrication Oil) และน้ำมันดีเซล หมุนช้า (Low Speed Diesel Oil) ด้วย

          ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมเจ้าท่ากำหนด โดยให้ยื่นคำขอได้ที่ สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ หรือสำนักงานการขนส่งทางน้ำสาขาแล้วแต่กรณี ซึ่งสถานที่ขนถ่ายอยู่ในเขตรับผิดชอบ พร้อมเอกสาร หลักฐานตามที่กำหนด เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ขนถ่าย ดังนี้

          (๑) กรณีเรือไทย ผู้ขออนุญาตต้องยื่นเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

                  ๑. ใบอนุญาตใช้เรือที่ยังไม่ขาดอายุ

                  ๒. สำเนาใบอนุญาตให้ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ของกรมเจ้าท่า

          (๒) กรณีเรือต่างประเทศ ผู้ขออนุญาตต้องยื่นเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

                  ๑. บัญชีสำแดงสินค้าอันตราย (Dangerous Cargoes Manifest)

                  ๒. International Oil Pollution Prevention Certificate สำหรับกรณีเรือต่างประเทศ        ที่บรรทุกน้ำมันหรือสารคล้ายน้ำมันในถังระวาง หรือ

                  ๓. Certificate of Fitness for the Carriage of Chemicals in Bulk สำหรับกรณีเรือต่างประเทศที่บรรทุกสารเคมีเหลวในถังระวาง

          ข้อ ๔ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาอนุญาตให้ขนถ่ายเพื่อความปลอดภัยและป้องกัน ไม่ให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในน้ำ มีดังต่อไปนี้

          (๑) ชนิดของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้

          (๒) ลักษณะของการบรรทุกสิ่งของในเรือ

          (๓) ความเหมาะสมของท่าเทียบเรือหรือสถานที่ตำบลที่ขนถ่าย

          (๔) มาตรการความปลอดภัยสําหรับการขนถ่าย

          (๕) มีการจัดให้มีประกันภัยความเสียหายเพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากการขนถ่ายสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตราย โดยต้องเป็นการประกันภัยกับบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือการเป็นสมาชิก P&I Club

                  (๕.๑) ความเสียหาย หมายความว่า ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ผลกระทบต่อ จิตใจ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขจัด เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทาความเสียหาย รวมทั้งการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมหรือสภาพที่ใกล้เคียงกับสภาพเดิม ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งเป็นผลมาจาก อุบัติเหตุจากการขนถ่ายสินค้าอันตราย

                  (๕.๒)ความคุ้มครองให้เริ่มต้นตั้งแต่เรือที่ใช้ในการขนส่งเข้ามาในน่านน้ำไทยจนถึงจุดหมายปลายทาง และการขนส่งจากต้นทาง จนออกไปพ้นน่านน้ำไทย แล้วแต่กรณี

                  (๕.๓)กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่ต่ำกว่ามาตรฐานดังต่อไปนี้

                            (๑) จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือผลกระทบต่อจิตใจอันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัย คนละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาท) ต่อการเกิดเหตุการณ์หนึ่งครั้ง

                            (๒) ก่อนที่จะมีการพิสูจน์ทราบความเสียหายที่แท้จริง ให้ผู้รับประกันภัย มีหน้าที่สำรองจ่ายค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหาย เมื่อมีการร้องขอ ดังนี้

                                      (๒.๑)กรณีบาดเจ็บให้ผู้รับประกันภัยสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามจริง ไม่ต่ำกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ต่อราย

                                      (๒.๒) กรณีเสียชีวิต ให้ผู้รับประกันภัยสำรองจ่ายค่าปลงศพ และค่าใช้จ่าย   อันจำเป็นเกี่ยวกับการปลงศพ รายละ ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาท)

                            (๓) การชดใช้ความเสียหายต่อทรัพย์สินต้องเป็นไปตามความเสียหายที่แท้จริง

                            (๔) จำนวนเงินเอาประกันความคุ้มครองความเสียหายทั้งหมด รวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาทต่อเหตุการณ์หนึ่งครั้ง

                            (๕) การชดใช้ความเสียหายในกรณีนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          ข้อ ๕ เมื่อเจ้าท่าตรวจสอบหลักฐาน เอกสาร และหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาการอนุญาต ให้ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ จนครบถ้วนและถูกต้องแล้ว เจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้ ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้

          ข้อ ๖ ใบอนุญาตให้ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ฉบับหนึ่งให้ใช้ขนถ่ายได้ ณ ท่าหรือตำบลที่เดียวในหนึ่งเที่ยวเรือเท่านั้น โดยมีกำหนดระยะเวลาการอนุญาตเพื่อการขนถ่ายไม่เกินกำหนด ๕ วัน

          กรณีการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ในเที่ยวเรือใด ซึ่งได้กระทำการโดยผ่านท่า หรือตำบลที่ขนถ่ายมากกว่า ๑ แห่ง ผู้ขนถ่ายจะต้องยื่นขออนุญาตทุกท่าหรือตำบลที่มีการขนถ่ายนั้น ๆ

          ข้อ ๗ กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่อาจดำเนินการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตอาจยื่นขอต่ออายุใบอนุญาต โดยแสดงเหตุผลหรือความจำเป็นเพื่อการนั้นประกอบด้วย

         ข้อ ๘ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสี่สิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป