ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ประกาศ
เริ่มใช้บังคับ : 1 ก.ค. 2565

(SSB) ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ ๑๑๔/๒๕๖๕ เรื่อง การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การทดสอบการทำงาน การซ่อมบำรุง และการซ่อมแซมเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต เครื่องหย่อนเรือและอุปกรณ์ปลดเรือ


ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ ๑๑๔/๒๕๖๕

เรื่อง การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การทดสอบการทำงาน การซ่อมบำรุงและการซ่อมแซมเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต เครื่องหย่อนเรือและอุปกรณ์ปลดเรือ

ตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้กำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended) บทที่ III: Life-Saving Appliances and Arrangements ให้เรือเดินทะเลระหว่างประเทศขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไปต้องได้รับการบำรุงรักษา การตรวจสอบ การทดสอบ การทำงาน การซ่อมบำรุง และการซ่อมแซมเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต เครื่องหย่อนเรือและอุปกรณ์ปลดเรือตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อมติของคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ที่ MSC.402(96) ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับข้อ 10 ของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล พ.ศ. ๒๕๕๙ ตลอดจน อนุสัญญา SOLAS 1974 และข้อมติของคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลดังกล่าว กรมเจ้าท่าจึงประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบำรุงรักษา การตรวจสอบ การทดสอบการทำงาน การซ่อมบำรุงและการซ่อมแซมเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต เครื่องหย่อนเรือและอุปกรณ์ปลดเรือไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ใช้บังคับกับเรือเดินทะเลระหว่างประเทศที่มีขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“การบำรุงรักษา” (Maintenance) หมายถึง การดูแลและบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องยนต์และอุปกรณ์ตามคำแนะนำของผู้ผลิต

“การซ่อมบำรุง” (Overhaul) หมายถึง การดำเนินการที่กำหนดโดยผู้ผลิตตามวงรอบเวลาซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นช่วงเวลาการบำรุงรักษาที่ถูกต้องอันจะก่อให้เกิดความต่อเนื่องของสมรรถนะของอุปกรณ์

“การซ่อมแซม” (Repair) หมายถึง การดำเนินการใด ๆ ที่ต้องทำการถอดประกอบอุปกรณ์หรือการดำเนินการอื่นใดที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของข้อแนะนำในการบำรุงรักษาบนเรือและการซ่อมแซมฉุกเฉินของอุปกรณ์ช่วยชีวิตตามอนุสัญญา SOLAS 1974 บทที่ III ข้อ 35.3.18 และข้อ 36.2

“เครื่องหย่อนเรือ” (Launching Appliances) หมายถึง เครื่องช่วยในการหย่อนเรือชูชีพ (Lifeboat) เรือชูชีพแบบปล่อยอิสระ (Free-Fall Lifeboat) เรือช่วยชีวิต (Rescue Boat) เรือเร็วช่วยชีวิต (Fast Rescue Boat) แพชูชีพ (Life Raft) และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่นที่ต้องหย่อนลงสู่ผิวน้ำเมื่อจะใช้งาน

 “อนุสัญญา SOLAS 1974” หมายถึง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended)

ข้อ 3 เรือเดินทะเลระหว่างประเทศขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไปต้องได้รับการบำรุงรักษา การตรวจสอบ การทดสอบการทำงาน การซ่อมบำรุง และการซ่อมแซมเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต เครื่องหย่อนเรือและอุปกรณ์ปลดเรือประจำปีหรือทุกรอบ ๕ ปี โดยผู้ให้บริการ (Service Provider) ที่ได้รับการรับรองจากกรมเจ้าท่าตามข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๑๖๓ และมาตรา 163/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือจากสถาบันการตรวจเรือที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ขององค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศ (International Association of Classification Societies: IACS) ซึ่งได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่าหรือจากรัฐภาคีอื่น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อมติคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ที่ MSC.402(96) ที่ปรากฏตามภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้

การตรวจ และการบำรุงรักษาเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต เครื่องหย่อนเรือและอุปกรณ์ปลดเรือ ประจำสัปดาห์หรือประจำเดือน ให้ดำเนินการโดยคนประจำเรือภายใต้การกำกับดูแลของนายประจำเรือในระดับบริหาร ตามหลักเกณฑ์ที่ปรากฏในคู่มือจากผู้ผลิต (Manufacturer) พร้อมทั้งลงบันทึกการดำเนินการเก็บไว้ให้ตรวจเมื่อมีการร้องขอ

ข้อ 4 ในกรณีผู้ผลิตเลิกกิจการโดยไม่ได้ส่งมอบกิจการหรืออำนาจให้บุคคลอื่น หรือไม่ได้ให้บริการทางเทคนิคแล้ว ให้เจ้าของเรือยื่นคำร้องตามแบบ ก.๕ ต่อสำนักมาตรฐานเรือหรือผ่านระบบ E-Service เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือพิจารณาให้เรือดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการจากผู้ให้บริการ (Service Provider) ที่ได้รับการรับรองจากกรมเจ้าท่าตามข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๑๖๓ และมาตรา 163/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือจากสถาบันการตรวจเรือที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ขององค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศ (International Association of Classification Societies: IACS) ซึ่งได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่าได้ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการดังกล่าวมีความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ในการบริการ และมีประสบการณ์ในการให้บริการที่เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันการตรวจเรือที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ขององค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่าต้องเข้าร่วม ในการให้บริการดังกล่าวด้วย

ข้อ 5 ในกรณีเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต อุปกรณ์ปลดเรือ และเครื่องหย่อนเรือซึ่งรวมถึงเดวิท ที่ติดตั้งบนเรือ มิได้ผลิตจากผู้ผลิตรายเดียวกัน ให้เจ้าของเรือยื่นคำร้องตามแบบ ก.๕ ต่อสำนักมาตรฐานเรือหรือผ่านระบบ E-Service เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือพิจารณาให้เรือดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการจากผู้ให้บริการ (Service Provider) ที่ได้รับการรับรองจากกรมเจ้าท่าตามข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๑๖๓ และมาตรา 163/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือจากสถาบันการตรวจเรือที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ขององค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศ (International Association of Classification Societies: IACS) ซึ่งได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่าได้ โดยผู้ให้บริการดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจากผู้ผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งในอุปกรณ์ที่จะให้บริการ ทั้งนี้ เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันการตรวจเรือที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ขององค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่าต้องเข้าร่วมในการให้บริการดังกล่าวด้วย

ข้อ 6 ในกรณีเรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับบริการบำรุงรักษา ตรวจสอบ ทดสอบการทำงาน ซ่อมบำรุง และซ่อมแซมเรือชูชีพ เรือช่วยชีวิต เครื่องหย่อนเรือและอุปกรณ์ปลดเรือ และในเมืองท่านั้นไม่มีผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๗.๑ ข้อ ๘.๑ และ ข้อ ๘.๒ ของข้อมติคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ที่ MSC.402(96) ที่ปรากฏตามภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้ ให้เจ้าของเรือยื่นคำร้องตามแบบ ก.๕ ต่อสำนักมาตรฐานเรือ หรือผ่านระบบ E-Service เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือพิจารณาให้เรือดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการจากผู้ให้บริการ (Service Provider) ที่ได้รับการรับรองจากกรมเจ้าท่าตามข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๑๖๓ และมาตรา 163/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือจากสถาบันการตรวจเรือที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ขององค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศ (International Association of Classification Societies: IACS) ซึ่งได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า หรือจากรัฐภาคีอื่นได้ โดยเจ้าพนักงานตรวจเรือ หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันการตรวจเรือที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ขององค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่าต้องเข้าร่วมในการให้บริการดังกล่าวด้วย

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของเรือชี้แจงเหตุผลและรายละเอียดของผู้ให้บริการที่จะเข้ารับบริการ พร้อมใบรับรองของผู้ให้บริการ ใบรับรองการผ่านการอบรมของผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนขั้นตอนในการให้บริการต่อผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการมีความรู้ความสามารถในการให้บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. ๒๕65

 

สมชาย สุมนัสขจรกุล

รองอธิบดี รักษาราชการแทน

อธิบดีกรมเจ้าท่า