ระเบียบกรมเจ้าท่า
ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำการงานในเรือที่ใช้ทำการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น
เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง
และเรือบรรทุกน้ำจืด ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป พ.ศ. 2562
เพื่อให้การดำเนินการว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการงานในเรือที่ใช้ทำการประมง เรือบรรทุก สินค้าประมงห้องเย็น เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป เป็นไปตามนัยมาตรา ๒๘๕ มาตรา ๒๘๗ มาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๒๘๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ รวมถึงสอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๔๙ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ อธิบดีกรมเจ้าท่า จึงวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำการงานในเรือที่ใช้ทำการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำการงาน ในเรือที่ใช้ทำการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป พ.ศ. ๒๕๖๒
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำการงานในเรือที่ใช้ ทำการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป พ.ศ. ๒๕๖๐
ข้อ ๔ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับกับการจ้างและการเลิกจ้างคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือที่ใช้ ทำการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด รวมถึงกรณีการจ้างและการเลิกจ้างคนรับจ้าง สำหรับทำการในเรือในระหว่างเรืออยู่กลางทะเล สำหรับเรือขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป
ข้อ ๕ บรรดาประกาศ ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อสั่งการใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้บังคับแทน
ข้อ ๖ ในระเบียบนี้
“เจ้าของเรือ” หมายความว่า ผู้รับผิดชอบในการควบคุมเรือในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า ผู้ครอบครอง หรือในฐานะอื่นใด
“คนประจำเรือ” หมายความว่า ผู้ทําการประจำในเรือโดยมีสัญญาการจ้างงานกับเจ้าของเรือ “คนรับจ้างสำหรับทำการในเรือ” หมายความว่า ผู้ทําการประจำในเรือโดยมีสัญญา การจ้างงานกับ เจ้าของเรือ รวมถึงผู้รับจ้างทำการงานในเรือโดยได้รับค่าตอบแทนในทางการที่จ้าง
“เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง” หมายความว่า เรือบรรทุกน้ำมันที่ใช้ขนถ่ายน้ำมันให้กับเรือที่ใช้ทำการประมง
“การจ้าง” หมายความว่า การเข้าทำการงานในเรือ “การเลิกจ้าง” หมายความว่า การเลิกทำการงานในเรือ
“ใบพยานการเลิกจ้าง” หมายความว่า เอกสารที่นายเรือในฐานะตัวแทนเจ้าของเรือออก ให้กับคนประจำเรือเมื่อเลิกจ้างแล้วตามแบบที่เจ้าท่ากำหนดหรือบันทึกการเลิกจ้างในหนังสือคนประจำเรือก็ได้
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตให้ทำการงานในเรือตามระเบียบนี้
“วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การดำเนินการยื่นเอกสารด้วยไฟล์ข้อมูล ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำการงานในเรือตามระเบียบนี้
“เรือกลางทะเล” หมายความว่า เรือที่ประสงค์จะจ้างหรือเลิกจ้างคนรับจ้างสำหรับทำการ ในเรือซึ่งอยู่ในทะเลขณะจ้างหรือเลิกจ้าง
“เรือฝากไป” หมายความว่า เรือที่จะออกจากท่าและนําผู้รับจ้างสำหรับทำการในเรือจากฝั่ง ไปเปลี่ยนแปลงกับผู้รับจ้างสำหรับทำการในเรือของเรือกลางทะเล
“เรือฝากกลับ” หมายความว่า เรือที่รับผู้รับจ้างสำหรับทำการในเรือจากเรือกลางทะเลเพื่อกลับเข้าฝั่ง
ข้อ ๗ ให้เจ้าของเรือที่ใช้ทำการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือขนถ่าย เพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป ที่ประสงค์จะขออนุญาตให้คนทำการงานในเรือ ให้ยื่นคําขออนุญาต ตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ ที่กองมาตรฐานคนประจำเรือ หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาในพื้นที่ รับผิดชอบ โดยมีหลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณา ดังนี้
(๑) สำเนาใบอนุญาตใช้เรือและทะเบียนเรือไทย
(๒) สำเนาบัตรประจําตัวประชาชนของเจ้าของเรือ
(๓) กรณีเจ้าของเรือเป็นนิติบุคคลให้ยื่นคําขออนุญาตพร้อมหนังสือรับรองการจดทะเบียน นิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 5 เดือน และบัตรประจําตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล
(๔) หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจําตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ
(๕) หลักฐานการจ้างงาน
(๖) สำเนาหนังสือคนประจำเรือของคนรับจ้าง หรือสำเนาหนังสือเดินทางของคนรับจ้าง หรือสำเนาบัตรประจําตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยของคนรับจ้าง
(๗) สำเนาใบอนุญาตทำงานของคนรับจ้าง (ถ้ามี)
(๘) สำเนาใบประกาศนียบัตรของคนประจำเรือตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับสำหรับ การตรวจเรือ ที่ยังไม่หมดอายุ
(๙) ใบพยานการเลิกจ้าง กรณีคนรับจ้างที่ได้เลิกจ้างจากเรือลำก่อน และประสงค์จะทำ การงานในเรือลำใหม่
ข้อ ๘ เมื่อเจ้าหน้าที่รับคําร้องขออนุญาตและได้ตรวจสอบเอกสารแล้วเห็นว่าถูกต้อง ครบถ้วน ให้ผู้อํานวยการกองมาตรฐานคนประจำเรือ หรือผู้อํานวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ทำการงานในเรือตามแบบใบอนุญาตที่แนบท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๙ เมื่อได้รับการอนุญาตให้ลงทำการในเรือประมงแล้ว เจ้าของเรือหรือนายเรือ ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานไว้ในหนังสือคนประจำเรือของคนประจำเรือทุกคน ไว้สำหรับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบในเรือด้วย
ข้อ ๑๐ กรณีที่มีการแจ้งเข้าและแจ้งออกท่าเทียบเรือประมงของเรือตามระเบียบนี้เจ้าของเรือต้องยื่นแจ้งขอออกรายชื่อคนประจำเรือลำนั้น ที่ออกไปและกลับเข้ามากับเรือลำดังกล่าวทุกครั้ง ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก (PIPO)
ข้อ ๑๑ การจ้างคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือ หรือการเลิกจ้างคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือระหว่างเรืออยู่กลางทะเล ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
(๑) กรณีเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่อยู่กลางทะเล ประสงค์จะจ้างคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือ เพิ่มในระหว่างที่เรืออยู่กลางทะเล ให้ยื่นคําร้องขอจ้างและฝากคนรับจ้างไปทำการในเรือกลางทะเล ตามแบบ คร ๑-๒ ต่อกองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา
(๒) กรณีเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่อยู่กลางทะเล ประสงค์จะเลิกจ้างคนรับจ้างสำหรับ ทำการในเรือเดิมในระหว่างที่เรืออยู่กลางทะเล ให้ยื่นคําร้องขอเลิกจ้างและฝากคนรับจ้างกลับจากการ ทำการในเรือกลางทะเลตามแบบ คร ๑-๓ ต่อกองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือสำนักงาน เจ้าท่าภูมิภาคสาขา
(๓) กรณีเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่อยู่กลางทะเล ประสงค์จะเลิกจ้างคนรับจ้างสำหรับ ทำการในเรือเดิมและจ้างคนรับจ้างสำหรับทําการในเรือใหม่ ในระหว่างที่เรืออยู่กลางทะเล ให้ยื่นคําร้องขอจ้างและฝากคนรับจ้างไปทำการในเรือกลางทะเลตามแบบ คร ๑-๒ และให้ยื่นคําร้องขอเลิกจ้าง และฝากคนรับจ้างกลับจากการทำการในเรือกลางทะเลตามแบบ คร ๑-๓ ไปพร้อมกัน ต่อกองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา
(๔) เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคําขอตามข้อ (๑) และเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อํานวยการ กองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือผู้อํานวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา เป็นผู้พิจารณา ออกใบอนุญาตการจ้างและฝากคนรับจ้างไปทำการในเรือกลางทะเลตามแบบ คร ๔-๓
(๕) เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคําขอตามข้อ (๒) และเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อํานวยการ กองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือผู้อํานวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา เป็นผู้พิจารณา ออกหนังสือการเลิกจ้างและฝากคนรับจ้างกลับจากการทำการในเรือกลางทะเลตามแบบ คร ๔-๔
(๖) เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคําขอตามข้อ (๓) และเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อํานวยการ กองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือผู้อํานวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา เป็นผู้พิจารณา ออกใบอนุญาตการจ้างและฝากคนรับจ้างไปทำการในเรือกลางทะเลตามแบบ คร ๔-๓ และพิจารณา ออกหนังสือการเลิกจ้างและฝากคนรับจ้างกลับจากการทำการในเรือกลางทะเลตามแบบ คร ๔-๔
(๗) การจ้างคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือ หรือการเลิกจ้างคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือ ในขณะที่เรืออยู่กลางทะเล ต้องดำเนินการตามมาตรา ๒๘๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบนี้ก่อน
(๘) จำนวนคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือของเรือที่ฝากไป เรือที่ฝากกลับ หรือเรือกลางทะเลเมื่อรวมกับคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือที่มีอยู่เดิมแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้เรือ
(๙) เมื่อทำการเปลี่ยนแปลงคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือแล้ว ให้ผู้ควบคุมเรือของเรือกลางทะเล ลงลายมือชื่อในต้นฉบับและสำเนาใบอนุญาตและหนังสือตาม (๔) ถึง (๖) เพื่อรับรองว่ามีการเปลี่ยนแปลงคนตามที่ได้รับอนุญาตจริง
ต้นฉบับใบอนุญาตการจ้างและฝากคนรับจ้างไปทำการในเรือกลางทะเลให้เก็บไว้ในเรือกลางทะเล สำเนาใบอนุญาตดังกล่าวให้เก็บไว้ในเรือที่ฝากไป
ต้นฉบับหนังสือการเลิกจ้างและฝากคนรับจ้างกลับจากการทำการในเรือในเรือกลางทะเล ให้เก็บไว้ในเรือกลางทะเล สำเนาหนังสือดังกล่าวให้เก็บไว้ในเรือที่ฝากกลับ
เมื่อเรือที่ฝากไป หรือที่ฝากกลับแล้วแต่กรณีกลับถึงฝั่ง ให้ทำสำเนาใบอนุญาตและสำเนาหนังสือการเลิกจ้างเพิ่มเติมและส่งให้กรมเจ้าท่าเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
(๑๐) กรณีที่เรือกลางทะเลมีความประสงค์ที่จะฝากคนรับจ้างกลับเข้าฝั่งด้วยเหตุอื่น เช่น เพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิต สุขภาพ และอนามัย หรือมีเหตุฉุกเฉิน หรือมีปัญหาข้อพิพาทของคนรับจ้าง ทำการในเรือ ให้เจ้าของเรือแจ้งการฝากคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือกลับต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่คนรับจ้างสำหรับทำการในเรือลงเรือที่ฝากกลับ และให้ดำเนินการ ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงด้วย
ข้อ ๑๒ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงนายจ้างหรือเพิ่มนายจ้างตามระเบียบของกรมการจัดหางานเรียบร้อยแล้ว ให้นายจ้างใหม่ยื่นขอปรับปรุงข้อมูล ที่กองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือสานักงาน เจ้าท่าภูมิภาคสาขาด้วยทุกครั้ง
ข้อ ๑๓ กรณีคนรับจ้างสำหรับทำการในเรือที่มีชื่อในใบอนุญาตของนายจ้าง ไม่ได้ลงทำงาน ในเรือเกิน ๖๐ วันขึ้นไป ให้เจ้าหน้าที่กองมาตรฐานคนประจำเรือแจ้งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงานดำเนินการตรวจสอบการจ้างงานต่อไป
ข้อ ๑๔ เมื่อมีการเลิกจ้าง เจ้าของเรือต้องแจ้งการเลิกจ้าง ที่กองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา โดยเจ้าของเรือต้องออกใบพยานการเลิกจ้างให้กับ คนประจำเรือไว้เป็นหลักฐาน และหรือบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเลิกจ้างไว้ในหนังสือคนประจำเรือ ของคนประจำเรือทุกครั้ง
ข้อ ๑๕ เมื่อเจ้าของเรือออกใบพยานเลิกจ้างให้กับคนประจำเรือเรือเรียบร้อยแล้ว ให้เจ้าของเรือ แจ้งการเลิกจ้างคนประจำเรือกับเจ้าหน้าที่ และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการออกใบอนุญาตฉบับใหม่ ให้กับเจ้าของเรือและยกเลิกใบอนุญาตฉบับเดิม
ข้อ ๑๖ การอนุญาตให้ทำการงานในเรือและการเลิกจ้างตามระเบียบนี้ เจ้าของเรือต้องเสีย ค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กฎกระทรวงกำหนด
ข้อ ๑๗ ให้สัญญาจ้างให้ทำการงานในเรือที่ใช้ทำการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมง ห้องเย็น เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกน้ำจืด ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไปที่มีการอนุญาตตามระเบียบนี้ ให้มีอายุได้คราวละไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่จ้าง ที่ปรากฏตามบัญชีคนทํางานในเรือแนบท้ายใบอนุญาต
ข้อ ๑๘ การขออนุญาตให้ทำการงานในเรือตามระเบียบนี้ สามารถทำการขออนุญาต และ ส่งสำเนาเอกสารต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทางระบบ Single Window 4 Fishing Fleet ของกรมเจ้าท่า (http://fpipo.md.go.th) และสามารถออกใบอนุญาตที่มีการลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน แบบอิเล็กทรอนิกส์โดยให้ถือว่าการดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งการออกใบอนุญาตที่มีการลงลายมือชื่อ ของเจ้าพนักงานแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีผลผูกพันตามที่กฎหมายในเรื่องนั้น ๆ บัญญัติไว้ทุกประการ ข้อ ๑๙ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
สมศักดิ์ ห่มม่วง
อธิบดีกรมเจ้าท่า