ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
พระราชบัญญัติ
เริ่มใช้บังคับ : 22 พ.ย. 2562

พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒

Labour Protection Act B.E. 2562


พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า


       โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมง
       พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

      เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของแรงงานประมงและป้องกันการบังคับใช้แรงงานในงานประมงครบถ้วนสมบูรณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

      จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติท่าหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
      มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒
      มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
      มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
      “เจ้าของเรือ” หมายความว่า เจ้าของเรือประมง และให้หมายความรวมถึงผู้เช่าเรือประมง แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าของเรือประมงซึ่งให้ผู้อื่นเช่าหรือใช้เพื่อประกอบกิจการประมงโดยตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
      “แรงงานประมง” หมายความว่า ผู้ควบคุมเรือประมงและคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง แต่มิให้หมายความรวมถึงผู้สังเกตการณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
      “เรือประมง” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกขนาดที่ใช้หรือเจตนาจะใช้เพื่อทำการประมงในทางการค้า
      “ทำการประมง” หมายความว่า ทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
      “ประมงเพื่อการยังชีพ” หมายความว่า การทำการประมงเพื่อนําสัตว์น้ำมาบริโภคภายใน ครอบครัวหรือนําไปจําหน่ายให้กับชุมชนโดยตรง
      “ประมงน้ำจืด” หมายความว่า ประมงน้ำจืดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
      “ประมงเพื่อนันทนาการ” หมายความว่า การทำการประมงเพื่อการพักผ่อน การแข่งขันทางกีฬา หรือการอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด
     “นอกน่านน้ำไทย” หมายความว่า ทะเลหลวงที่อยู่พ้นจากเขตเศรษฐกิจจําเพาะตามประกาศ เขตเศรษฐกิจจําเพาะของราชอาณาจักรไทย หรือสุดเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ตามกฎหมายระหว่างประเทศ สุดแต่เขตใดจะไกลกว่า และให้หมายความรวมถึงทะเลที่อยู่ในเขตของ รัฐชายฝั่งอื่นนอกจากประเทศไทยด้วย
     “สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน “ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก” หมายความว่า ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
      “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
      มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการของกระทรวงนั้น


                                                   หมวด ๑ บททั่วไป
      มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับการทำการประมงในกรณี ดังต่อไปนี้
     (๑) ประมงเพื่อการยังชีพ
     (๒) ประมงน้ำจืด
     (๓) ประมงเพื่อนันทนาการ
     (๔) การทำการประมงตามขนาดเรือหรือจำนวนแรงงานประมงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ประกาศกำหนด
     มาตรา ๖ นอกจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เจ้าของเรือ และแรงงานประมงต้องปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ขั้นต่ำในการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ ที่พักอาศัย อาหาร การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานบนเรือประมง และการจัดสวัสดิการ ในการทำงาน บรรดาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วย แรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะหรือบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
       ในการจัดทำสัญญาจ้าง ต้องกําหนดให้รวมถึงเงื่อนไขหรือการจัดการอย่างอื่นเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานประมงและสภาพการทำงานทั้งบนเรือและบนท่าเทียบเรือ
       เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเจ้าของเรือเป็นนายจ้างและแรงงานประมงเป็นลูกจ้าง

        ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกฎหมายตามวรรคหนึ่ง จัดทำรายงานจำนวนคดีและผลการดําเนินงานให้กระทรวงแรงงาน และให้กระทรวงแรงงานรวบรวมจัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดําเนินงานในอนาคตเกี่ยวกับ การคุ้มครองแรงงานในงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด

       มาตรา ๗ บรรดาคดีที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างเจ้าของเรือกับแรงงานประมง หรือ
ทายาทหรือระหว่างบุคคลดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ อันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน

                                หมวด ๒ การคุ้มครองแรงงานประมง
       มาตรา ๘ ในการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วย การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และกฎหมายว่าด้วยการประมง ที่เกี่ยวกับการทำงานของ แรงงานประมง ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีใบรับรองแพทย์แสดงว่ามีความพร้อมด้านสุขภาพในการทำงานบนเรือประมงซึ่งรวมทั้งสุขภาพด้านการได้ยินและด้านสายตาด้วย
       มาตรา ๙ เมื่อมีเหตุดังต่อไปนี้เกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทยหรือ ณ ต่างประเทศ แรงงานประมง มีสิทธิขอเดินทางกลับสถานที่ที่เจ้าของเรือรับแรงงานประมงเข้าทำงานหรือสถานที่ที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้าง
    (๑) ครบกําหนดเวลาตามสัญญาจ้างในระหว่างเวลาที่แรงงานประมงทำงานอยู่ ณ สถานที่อื่น อันมิใช่สถานที่ที่เจ้าของเรือรับแรงงานประมงเข้าทำงานและมิได้มีการตกลงต่อสัญญาจ้างต่อไป
    (๒) เจ้าของเรือหรือแรงงานประมงบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง หรือเจ้าของเรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาจ้างโดยแรงงานประมงไม่ยินยอม
    (๓) แรงงานประมงเจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (๔) แรงงานประมงถูกนําไปอยู่ในต่างประเทศไม่ว่าด้วยเหตุใดอันมิใช่เป็นความผิดของแรงงานประมง
      เมื่อได้รับคําร้องขอจากแรงงานประมงตามวรรคหนึ่ง เจ้าของเรือต้องดำเนินการส่งแรงงานประมงนั้นมายังสถานที่ที่เจ้าของเรือรับแรงงานประมงเข้าทำงานหรือสถานที่ที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างโดยเร็วในระหว่างเวลาที่ยังไม่สามารถจัดส่งได้ด้วยเหตุใดอันจะโทษเจ้าของเรือมิได้ เจ้าของเรือต้องจัดให้แรงงานประมงมีที่พักในเรือหรือที่พักที่เหมาะสมและมีอาหารที่เพียงพอในการดำรงชีพ ทั้งนี้ เจ้าของเรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งปวง
       ในกรณีที่แรงงานประมงขอใช้สิทธิตาม (๒) หากเหตุนั้นเกิดจากความผิดของแรงงานประมง หรือแรงงานประมงเป็นผู้เลิกสัญญาจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร แรงงานประมงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งกลับ
       มาตรา ๑๐ ในกรณีที่เจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดำเนินการเพื่อให้แรงงานประมงได้เดินทางกลับมายังสถานที่ตามมาตรา ๙ และเมื่อได้เสียค่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนเท่าใด ให้เจ้าของเรือจ่ายคืนให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ชําระครบถ้วน
       ในการออกใบอนุญาตทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการประมงหรือการต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย แล้วแต่กรณี ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่เจ้าของเรือได้ ชําระค่าใช้จ่ายพร้อมดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่งแล้ว
         มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานสำหรับแรงงานประมง ให้ผู้จัดหางานเรียกเก็บจากเจ้าของเรือ และเจ้าของเรือมีหน้าที่ต้องชําระค่าบริการและค่าใช้จ่ายดังกล่าว
         มาตรา ๑๒ เจ้าของเรือต้องจัดให้แรงงานประมงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการ ในด้านต่าง ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด โดยจะจัดให้มีประกันที่คุ้มครอง ด้านสุขภาพและสวัสดิการดังกล่าว หรือวิธีอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด ก็ได้
         มาตรา ๑๓ เรือประมงที่มีดาดฟ้าและมีขนาดตั้งแต่สามร้อยตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องจัดให้มีที่พักอาศัยบนเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
         มาตรา ๑๔ เรือประมงดังต่อไปนี้ ต้องมีใบรับรองว่าเรือผ่านการตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ และสภาพการทำงานตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
       (๑) เรือที่ออกไปทำการประมงเกินกว่าสามวัน และมีความยาวตลอดลำ โดยวัดจากจุด ที่อยู่หน้าสุดของหัวเรือถึงจุดหลังสุดของท้ายเรือ เป็นระยะเส้นตรงขนานไปกับเส้นแนวน้ำที่กำหนดไว้ ตั้งแต่ยี่สิบหกจุดห้าเมตรขึ้นไป หรือ
        (๒) เรือที่ออกไปทำการประมงเกินกว่าสามวันและเดินเรือออกไปนอกน่านน้ำไทย
          ในการกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องกำหนดระยะเวลาในการออกใบรับรอง ซึ่งต้องไม่เกินสิบวันทำการ อายุใบรับรองซึ่งต้องไม่เกินห้าปี และให้มีอำนาจกําหนดให้กรมประมง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสถาบันการตรวจเรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย เป็นผู้ออกใบรับรองแทนได้
         ในการแจ้งออกทำการประมงเจ้าของเรือต้องแจ้งหมายเลขใบรับรองตามวรรคหนึ่งด้วยทุกครั้ง และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกจะอนุญาตให้เรือออกไปทำการประมงได้เมื่อใบรับรองยังไม่หมดอายุ
         มาตรา ๑๕ ในกรณีที่แรงงานประมงร้องเรียนว่าเจ้าของเรือมิได้ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าของเรือจะบอกเลิกสัญญาจ้างหรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้แรงงานประมงไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้เพราะเหตุแห่งการร้องเรียนดังกล่าวหรือเพราะเหตุที่ไปให้การเป็นพยานในเรื่องที่มีการร้องเรียนดังกล่าวมิได้

                                                        หมวด ๓
                                                   พนักงานเจ้าหน้าที่
       มาตรา ๑๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
        (๑) ขึ้นไปบนเรือประมงหรือเข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการของเจ้าของเรือเพื่อตรวจสภาพ การทำงาน สภาพการจ้าง และสภาพความเป็นอยู่ สอบถามข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงในอันที่จะปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
        (๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกเจ้าของเรือ แรงงานประมง หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาชี้แจง ข้อเท็จจริง หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้
        (๓) มีคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของเรือหรือแรงงานประมงปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้
        (๔) มีคำสั่งเป็นหนังสือห้ามนําเรือออกทำการประมงในกรณีที่เรือมีสภาพไม่ปลอดภัย หรือ เจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขั้นต่ำในการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ ที่พักอาศัย อาหาร การคุ้มครอง ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานบนเรือประมง หรือการจัดสวัสดิการในการทำงาน ไม่เป็นไป ตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องระบุเหตุผลในคำสั่งห้ามให้ชัดเจน
         ในการใช้อำนาจตาม (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจําตัวต่อเจ้าของเรือ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของเรือหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไม่กระทำหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
        บัตรประจําตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศ
        การปฏิบัติการตาม (๑) และ (๔) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ต้องกําหนดให้มีการบูรณาการในการปฏิบัติการร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนใน การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่
       มาตรา ๑๗ เมื่อได้รับการร้องขอหรือร้องเรียนหรือมีพยานหลักฐานเชื่อว่าเรือประมงที่มิใช่ เรือประมงไทยมีสภาพบนเรือที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ความปลอดภัย หรือสุขภาพ อย่างร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ นาจขึ้นไปบนเรือและตรวจเรือประมงดังกล่าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และในกรณีจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้กักเรือไว้จนกว่าจะมีการแก้ไขกรณีดังกล่าวก็ได้

                       หมวด ๔ บทกำหนดโทษ
           มาตรา ๑๘ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          มาตรา ๑๙ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าคณะกรรมการเปรียบเทียบเห็นว่าผู้ต้องหา ไม่ควรได้รับโทษถึงจําคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบได้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด

         คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดตามความเหมาะสม

   เมื่อผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
         มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

                  บทเฉพาะกาล
          มาตรา ๒๑ ใบรับรองแพทย์ซึ่งออกให้แรงงานประมงก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้สามารถใช้แทนใบรับรองแพทย์ตามมาตรา ๘ ได้จนกว่าจะสิ้นอายุของใบรับรองแพทย์นั้น
         มาตรา ๒๒ การจัดให้มีที่พักอาศัยบนเรือประมงตามมาตรา ๑๓ ไม่ใช้บังคับกับเรือประมง ที่มีดาดฟ้าและมีขนาดตั้งแต่สามร้อยตันกรอสส์ขึ้นไปที่มีอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผล ใช้บังคับ เว้นแต่มีการขยายขนาดของตัวเรือ หรือที่พักอาศัย หรือระวางบรรทุกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่ถือเป็นการดัดแปลงเรือเป็นส่วนใหญ่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
        ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยซึ่งมาขอจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เรือประมงที่เคยจดทะเบียนเป็นเรือไทยและมีการขอยกเลิกทะเบียนเรือไทยเพื่อไปจดทะเบียนเป็นเรือของรัฐชายฝั่งอื่นตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงของรัฐชายฝั่งนั้น

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหน้าที่ของ เจ้าของเรือและการปฏิบัติหน้าที่ของแรงงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานประมงและป้องกันการบังคับใช้แรงงานในงานประมงที่มีความแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไปเนื่องจากมีความเสี่ยงภัยทางทะเลและมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อันเป็นการส่งเสริมและเพิ่มความสามารถในการประกอบกิจการประมงของประเทศ ตลอดจนเพื่อเป็นการอนุวัติการให้เป็นไป ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ค.ศ. ๒๐๐๗ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้