ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ข้อบังคับ
เริ่มใช้บังคับ : 3 มี.ค. 2563

ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับมาตรฐานที่พักอาศัยบนเรือประมง พ.ศ. ๒๕๖๓

Regulations of the Marine Department On the Guidelines Procedures and conditions regarding the standard of accommodation on fishing vessels B.E. 2563



                                        ข้อบังคับกรมเจ้าท่า
ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับมาตรฐานที่พักอาศัยบนเรือประมง พ.ศ. ๒๕๖๓

      ตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาการทางานในภาคประมง ค.ศ. ๒๐๐๗ ฉบับที่ ๑๘๘ (Work in Fishing Convention, 2007 (No. 188)) ซึ่งในภาคผนวก ๓ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานที่พักอาศัยบนเรือประมง และมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมงพ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการอนุสัญญาดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับมาตรฐานที่พักอาศัยบนเรือประมง เพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาและพระราชบัญญัติดังกล่าว
      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ และมาตรา ๑๖๓ (๑) (๒) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบมาตรา ๑๓ และมาตรา ๒๒ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าไว้ ดังต่อไปนี้
    ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานที่พักอาศัยบนเรือประมง พ.ศ. ๒๕๖๓”
    ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
    ข้อ ๓ บรรดากฎข้อบังคับ ข้อบังคับ และระเบียบในส่วนที่บัญญัติไว้แล้ว ซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
    ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“เรือประมง” หมายความว่า เรือประมงตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงานในงานประมง
“เจ้าของเรือ” หมายความว่า เจ้าของเรือประมง และให้หมายความรวมถึงผู้เช่าเรือประมง
แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าของเรือประมงซึ่งให้ผู้อื่นเช่าหรือใช้เพื่อประกอบกิจการประมงโดยตนเอง
ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
“เรือประมงใหม่” หมายความว่า เรือประมงซึ่งมีดาดฟ้า ตามกรณีดังต่อไปนี้
    ๑. กรณีมีการทำสัญญาต่อเรือ
    (ก) มีการทำสัญญาต่อเรือ ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ หรือภายหลังจากนั้น
    (ข) มีการทำสัญญาการต่อเรือก่อนวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และทำการส่งมอบเรือเมื่อพ้นระยะเวลาสามปีนับจากวันดังกล่าว
    ๒. กรณีที่ไม่มีการทำสัญญาการต่อเรือ ให้ใช้วันดังต่อไปนี้แทน
    (ก) ที่มีการวางกระดูกงู หรือ
    (ข) อยู่ในขั้นตอนการต่อสร้างที่สามารถบ่งชี้ว่าได้เริ่มต่อเรือนั้นขึ้น หรือ
    (ค) มีการประกอบชิ้นส่วนน้ำหนักรวมเกินกว่าห้าสิบตัน หรือเกินกว่าร้อยละหนึ่งของน้ำหนักเรือ ทั้งนี้ ให้ใช้ค่าที่น้อยกว่า
    ความตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง เรือประมงที่ต่อขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเรือประมงเก่าซึ่งได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงและไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิม
    “เรือประมงเก่า” หมายความว่า เรือที่ไม่ใช่เรือประมงใหม่
      “ดัดแปลงส่วนใหญ่” หมายความว่า การดัดแปลง ต่อเติมใด ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายขนาดความยาว ความกว้าง ความลึก ของตัวเรือ หรือการขยายขนาดความยาว ความกว้าง หรือความสูง ของที่พักอาศัย หรือระวางบรรทุกสัตว์น้ำหรือสินค้า อย่างชัดเจน
      ข้อ ๕ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
หมวด ก
ข้อบังคับทั่วไป
      ข้อ ๖ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับเรือประมงใหม่ และเรือประมงเก่าที่ดัดแปลงส่วนใหญ่ที่มีดาดฟ้า และมีขนาดตั้งแต่สามร้อยตันกรอสส์ขึ้นไป
      ข้อ ๗ ให้กรมเจ้าท่า มีอำนาจยกเว้นมิให้ข้อบังคับนี้ ใช้บังคับกับเรือประมงที่โดยปกติมีการใช้งานในทะเลไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมง และขณะจอดเรือประมง แรงงานประมงได้ขึ้นไปอาศัยอยู่บนบก
      กรณีเรือประมงตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของเรือจัดให้มีสิ่งอานวยความสะดวกเพื่อการพักผ่อนการบริโภค และสุขาภิบาลที่เหมาะสม
หมวด ข
การดัดแปลงส่วนใหญ่
      ข้อ ๘ การดัดแปลงส่วนใหญ่ ให้หมายความถึง การดัดแปลงเรือประมงตามเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
      (๑) การขยายขนาดของตัวเรือ โดยขยายขนาดความยาวตั้งแต่ร้อยละสิบขึ้นไป หรือขยายขนาดความกว้างตั้งแต่ร้อยละสิบห้าขึ้นไป หรือขยายขนาดความลึกตั้งแต่ร้อยละยี่สิบขึ้นไป
      (๒) การขยายขนาดที่พักอาศัย โดยขยายขนาดความยาวตั้งแต่ร้อยละยี่สิบขึ้นไป หรือขยายขนาดความกว้างตั้งแต่ร้อยละสามสิบขึ้นไป หรือขยายขนาดความสูงตั้งแต่ร้อยละสี่สิบขึ้นไป
      (๓) การขยายขนาดระวางบรรทุกสัตว์น้าหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้า โดยขยายความยาวตั้งแต่ร้อยละยี่สิบขึ้นไป หรือขยายขนาดความกว้างตั้งแต่ร้อยละสามสิบขึ้นไป หรือขยายขนาดความสูงตั้งแต่ร้อยละสี่สิบขึ้นไป
หมวด ค
แบบแปลนเรือ
    ข้อ ๙ กรณีเรือประมงใหม่ หรือเรือประมงเก่าดัดแปลงส่วนใหญ่ หรือเรือประมงซื้อมาจากต่างประเทศ ในสภาพที่ต่อสร้างหรือดัดแปลงเสร็จแล้ว ให้เจ้าของเรือหรือผู้ต่อเรือประมงยื่นคำขอณ สำนักมาตรฐานเรือ กรมเจ้าท่า เพื่อตรวจรับรองและอนุมัติแบบแปลนตามข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการตรวจอนุมัติแบบแปลนเรือพร้อมเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) แบบแปลน
    (๒) แบบการจัดการทั่วไป
    (๓) แบบรายละเอียดที่พักอาศัย
    (๔) หนังสือแสดงความทรงตัว
    (๕) แบบการจัดการความปลอดภัย
    (๖) แบบแสดงรายละเอียดวัสดุที่ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในที่พักอาศัย
หมวด ง
มาตรฐานที่พักอาศัยและสิ่งอานวยความสะดวก
    ข้อ ๑๐ ให้เจ้าของเรือจัดให้เรือประมงมีมาตรฐานที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกในเรือประมง ตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้
    ข้อ ๑๑ ที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวก ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) มีระดับเพดานสูงจากพื้นอย่างน้อยหนึ่งร้อยเก้าสิบเซนติเมตร เพื่อให้แรงงานประมงสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกสบาย
    (๒) ไม่มีช่องเปิดใด ๆ จากระวางบรรทุกสัตว์น้ำ ห้องเครื่องจักร ห้องครัว ห้องเสบียงห้องอบแห้ง หรือพื้นที่สุขาภิบาลส่วนรวม เข้าสู่ห้องนอนได้โดยตรง เว้นแต่มีไว้เพื่อเป็นทางออกสำหรับการหลบหนีและมีผนังกั้นซึ่งสามารถผนึกน้ำและก๊าซได้
    (๓) ผนังที่พักอาศัยมีฉนวนกันความร้อนอย่างเพียงพอ ผนังกั้นห้อง เพดาน และพื้นทำด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดผิวได้ง่าย ใช้สีที่สว่าง ทนทาน และไม่เคลือบสารที่เป็นพิษ และไม่สร้างในรูปแบบที่ทำให้สัตว์และแมลงขนาดเล็กสามารถใช้เป็นที่อาศัยได้ พื้นทำด้วยวัสดุกันลื่น ป้องกันความชื้น และทำความสะอาดได้ง่าย หากพื้นปูด้วยวัสดุที่เชื่อมต่อกัน ยาแนวเพื่อป้องกันการแยกออกจากกัน
    (๔) มีมาตรการป้องกันแมลงวันและแมลงอื่น ๆ ในบริเวณที่พักอาศัยของคนประจำเรือ
    (๕) มีมาตรการป้องกันเสียงและลดการสั่นสะเทือนไม่ให้มากเกินควร
    (๖) มีการระบายอากาศที่ดีสำหรับที่พักอาศัย เพื่อควบคุมและรักษาสภาพอากาศให้เหมาะสมและไหลเวียน
    (๗) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ หรือระบบปรับอากาศ ในห้องพักอาศัย สะพานเดินเรือห้องวิทยุ และห้องควบคุมเครื่องจักร เว้นแต่เรือที่ใช้ทำการประมงในเขตที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
    (๘) ติดตั้งไฟส่องสว่างที่เพียงพอ
    (๙) ติดตั้งม่านบังช่องแสงด้านข้าง หรือกระจกกรองแสง
    (๑๐) ติดตั้งไฟฉุกเฉินภายในห้องนอน
    (๑๑) ติดตั้งไฟส่องสว่างในห้องรับประทานอาหาร ช่องทางเดิน และช่องทางออกฉุกเฉิน
    ข้อ ๑๒ ห้องนอน ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
  (๑) อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สั่นสะเทือนเกินควรจากสภาพคลื่นลมและการเดินเรือ โดยไม่พ้นไปกว่าแนวฝากั้นกันชน (Collision Bulkhead)
  (๒) พื้นที่ในห้องนอนไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าตารางเมตรต่อหนึ่งคน กรณีเรือที่มีขนาดตั้งแต่เก้าร้อยห้าสิบตันกรอสส์ขึ้นไป พื้นที่ในห้องนอนไม่น้อยกว่าสองตารางเมตรต่อหนึ่งคน ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวไม่รวมถึงพื้นที่เตียงและตู้เก็บของ
    (๓) ห้องนอนสำหรับนายเรือเป็นห้องนอนเดี่ยว ห้องนอนสำหรับนายประจำเรือนอนรวมกันได้ไม่เกินห้องละสองคน ห้องนอนสำหรับลูกเรือ ให้นอนรวมกันได้ไม่เกินห้องละหกคน
    (๔) ปิดป้ายระบุจำนวนผู้พักอาศัยในห้องนอนไว้ในที่ซึ่งสามารถมองเห็นได้โดยง่ายและชัดเจน
    (๕) เตียงนอนปูด้วยแผ่นรองพร้อมด้วยเบาะนวม หรือแผ่นรองที่มีเบาะนวม
    (๖) เตียงนอนมีขนาดไม่ต่ำกว่า ๑๙๘ x ๘๐ เซนติเมตร
    (๗) จัดให้มีอุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบายสำหรับผู้พักอาศัย ซึ่งรวมถึงตู้เก็บของส่วนตัวที่เพียงพอต่อการเก็บเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ และจัดให้มีโต๊ะและเก้าอี้ สำหรับการเขียนหนังสือ
    (๘) แยกห้องนอนสำหรับชายและหญิง
    ข้อ ๑๓ ห้องรับประทานอาหาร ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) ห้องรับประทานอาหารอยู่ใกล้หรือติดกับห้องครัว โดยไม่พ้นไปกว่าแนวฝากั้นกันชน (Collision Bulkhead) และไม่ติดกับห้องนอน
    (๒) ขนาดและอุปกรณ์ในห้องรับประทานอาหารเพียงพอต่อจำนวนคนประจำเรือสูงสุดที่อาจเข้ามาใช้งานพร้อมกัน
    (๓) ติดตั้งตู้เย็นไว้ในที่สะดวกต่อการใช้งานโดยมีขนาดปริมาณบรรจุที่เหมาะสม
    (๔) มีเครื่องทาน้าดื่มร้อนและเย็น
  ข้อ ๑๔ ห้องอาบน้ำ และห้องสุขา ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) จัดให้มีเครื่องสุขภัณฑ์ ซึ่งรวมถึง โถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำหรือฝักบัวอาบน้ำ
โดยมีน้ำร้อนและน้ำเย็นตามสมควร และมีจำนวนอย่างน้อยหนึ่งชุดต่อคนประจำเรือซึ่งไม่มีห้องอาบน้ำ
ส่วนตัวจำนวนหกคน
    (๒) จำกัดการปนเปื้อนของสิ่งชำระล้างจากห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่อื่น ๆ และแยกห้องน้ำชายและหญิงออกจากกัน
    (๓) พื้นทำด้วยวัสดุกันลื่นซึ่งมีความทนทานและสามารถป้องกันความชื้นและระบายน้ำได้ดี
    (๔) มีการระบายอากาศที่ดี โดยท่อระบายอยู่ห่างจากที่พักอาศัย
    ข้อ ๑๕ สิ่งอำนวยความสะดวกในการซักอบรีด ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) จัดให้มีอุปกรณ์สำหรับการซักอบรีดเสื้อผ้า อย่างน้อยหนึ่งชุด
    (๒) กรณีเรือที่มีขนาดตั้งแต่เก้าร้อยห้าสิบตันกรอสส์ขึ้นไป จัดให้มีห้องหรือพื้นที่สำหรับซักตาก และรีดเสื้อผ้าโดยเฉพาะ และมีการระบายอากาศและความร้อนที่ดี รวมถึงมีราวตากผ้าหรือวิธีการอื่น ๆ ในการทำให้เสื้อผ้าแห้งได้
    ข้อ ๑๖ ห้องพยาบาล ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) มีพื้นที่สำหรับการดูแล รักษา ผู้เจ็บป่วย หรือผู้บาดเจ็บ
    (๒) เรือที่มีขนาดตั้งแต่เก้าร้อยห้าสิบตันกรอสส์ขึ้นไป จัดให้มีห้องหรือพื้นที่สำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ และมีอุปกรณ์สำหรับการรักษาพยาบาล
    ข้อ ๑๗ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) มีตะขอไว้สำหรับแขวนชุดหรืออุปกรณ์เผชิญสภาพอากาศเลวร้าย และอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ติดตั้งในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งาน
    (๒) จัดให้มีจาน ชาม ถ้วย และอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหาร
    (๓) จัดให้มีเครื่องนอนและผ้าห่ม
    ข้อ ๑๘ ห้องครัว ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
  (๑) จัดให้มีอุปกรณ์ในการประกอบอาหารบนเรือ
    (๒) จัดให้มีพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร ซึ่งมีแสงสว่างและการระบายอากาศที่ดี
    (๓) กรณีมีถังบรรจุก๊าซหุงต้มซึ่งใช้สำหรับการประกอบอาหาร ให้ติดตั้งบนดาดฟ้าเปิดโล่งโดยมีเครื่องกำบังจากความร้อนและป้องกันความเสียหายจากการกระแทก
    (๔) จัดให้มีพื้นที่จัดเก็บเสบียงที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยสามารถป้องกันความชื้นรักษาความเย็น และมีการระบายอากาศที่ดี หรือจัดให้มีตู้เย็นจำนวนอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
    ข้อ ๑๙ ความสะอาด และสภาพที่พักอาศัย ให้มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
    (๑) จัดให้มีอุปกรณ์รองรับขยะไว้ในที่ปิดมิดชิด หรือมีภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ไว้ในพื้นที่ประกอบอาหารหรือห้องครัว
    (๒) จัดคนประจำเรืออย่างน้อยหนึ่งคน ให้มีหน้าที่ตรวจสอบที่พักอาศัย เพื่อทำให้แน่ใจว่าที่พักอาศัย ห้องครัว พื้นที่เก็บเสบียง มีความสะอาด ความปลอดภัย และมีสภาพเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี และมีปริมาณอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอ และมีการบันทึกผลการตรวจ และการแก้ไขข้อบกพร่องที่ตรวจพบไว้เป็นหลักฐาน
หมวด จ
บทเฉพาะกาล
    ข้อ ๒๐ บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนดตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๗) พ.ศ. ๒๕๕๓ และข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือและใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมง พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับข้อบังคับนี้



ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖3
วิทยา ยาม่วง
อธิบดีกรมเจ้าท่า