ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ความตกลง/บันทึกความเข้าใจ
เริ่มใช้บังคับ : 27 ก.ย. 2565

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยประมวลข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย กับ กระทรวงคมนาคมแห่งสหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

MEMORANDUM OF UNDERSTANDING ON THE INTERNATIONAL SHIP AND PORT FACILITY SECURITY CODE BETWEEN THE MINISTRY OF TRANSPORT OF THE KINGDOM OF THAILAND AND THE DEPARTMENT FOR TRANSPORT OF THE UNITED KINGDOM OF GREAT BRITAIN AND NORTHERN IRELAND


บันทึกความเข้าใจว่าด้วยประมวลข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย

กับกระทรวงคมนาคมแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

กระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกรมเจ้าท่า (“MOT”) กับกระทรวงคมนาคมแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (“DFT”) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจ”)

โดยพิจารณาตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS) โดยเฉพาะบทที่ XI-2 ว่าด้วย “มาตรการพิเศษเพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล” และประมวลข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (ISPS Code) ซึ่งมีผลใช้บังคับในปี ค.ศ. ๒๐๐๔ ภายใต้อนุสัญญา SOLAS

โดยตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจในการเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อการปฏิบัติงานที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล

ได้มีความเข้าใจร่วมกัน ดังนี้

๑. วัตถุประสงค์

๑.๑ จุดมุ่งหมายของบันทึกความเข้าใจฯ คือเห็นชอบกรอบการทำงานร่วม ซึ่งช่วยให้ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจสามารถมีส่วนร่วมกับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อพัฒนาและจัดทำกฎระเบียบของประเทศ ซึ่งสนับสนุนการส่งมอบมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจฯ ได้กำหนดวิธีการที่ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจจะจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลให้ตรงกับความต้องการของผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจแต่ละราย และเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการขยายความร่วมมือและความช่วยเหลือในทุกมิติด้านความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจภายใต้บริบทของ ISPS Code

๑.๒ บันทึกความเข้าใจฯ ไม่ได้สร้างภาระผูกพันทางกฎหมายใดๆ ต่อผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจ และไม่ถือเป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

๒. ขอบเขตความร่วมมือและความช่วยเหลือ

ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเทคนิค ซึ่งอาจรวมถึง

(เอ) การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมชมท่าเรือ/สิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือของผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจเพื่อสังเกตการณ์และตรวจระดับการดำเนินการตาม ISPS Code

(บี) การจัดการประชุม สัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาขีดความสามารถ และกิจกรรมการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลและต่อท่าเรือ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล

(ซี) การดำเนินกิจกรรมความร่วมมือและแผนงานเฉพาะตามขอบเขตที่ได้ตกลงกัน

(ดี) การร่วมมือกันเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าและทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาของผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจ

(อี) การแลกเปลี่ยนสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูล และผลิตภัณฑ์อื่นตามความเหมาะสม เว้นแต่ เอกสารและข้อมูลที่เป็นความลับ และ

(เอฟ) การดำเนินกิจกรรมอื่นใดที่ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจเห็นว่าเหมาะสมและเกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ

๓. รายชื่อผู้แทน

ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจจะเสนอรายชื่อผู้แทนสำหรับการประสานงานและการประยุกต์ใช้บันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้แทนต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจอีกฝ่ายเพื่อให้แน่ใจว่าบันทึกความเข้าใจฯ นี้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

๔. การทบทวนบันทึกความเข้าใจฯ

ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจจะประชุมร่วมกันตามความจำเป็น โดยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบเวลาสามปี เพื่อทบทวนการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ และระบุการปรับปรุงพัฒนาที่อาจมีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ สถานที่ที่ตกลงร่วมกัน และอาจใช้รูปแบบการประชุมทางไกลหรือการประชุมทางวิดีโอตามที่ได้ตกลงกัน ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจแต่ละฝ่ายต้องรับผิดชอบในการจัดการด้านโลจิสติกส์ของฝ่ายตน

๕. มิติด้านเศรษฐกิจ

บันทึกความเข้าใจฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับการให้การสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจจากผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจ และจะไม่เป็นการแสดงถึงพันธะผูกพันทางการเงินใดๆ สำหรับผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจ

๖. การสื่อสารข้อมูล

๖.๑ การสื่อสารข้อมูลจาก DFT เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจฯ จะถูกส่งไปยัง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย เลขที่ ๑๒๗๘ ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ๑๐๑๐๐ ประเทศไทย

๖.๒ การสื่อสารข้อมูลจากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจฯ จะถูกส่งไปยังกระทรวงคมนาคม (Department for Transport) ที่ตั้ง Great Minister House โซน IMSOT Zone 2/34, 33 Horseferry Road, London, SW1P 4DR, UK

๖.๓ ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจแต่ละราย จะแจ้งให้ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจอีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรกรณีที่อยู่ตามที่ระบุในวรรค ๖.๑ หรือ ๖.๒ ข้างต้นได้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เมื่อได้รับแจ้งข้อมูล ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจจะสื่อสารข้อมูลราวกับว่าที่อยู่ที่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่แทนที่อยู่เดิมที่กำหนดในวรรค ๖.๑ หรือ ๖.๒ ข้างต้น

๗. การตีความและการแก้ไขข้อแตกต่าง

๗.๑ ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจจะตีความ ดำเนินการ และปฏิบัติตามสารัตถะของบันทึกความเข้าใจฯ โดยคำนึงถึงเจตนารมย์ของการร่วมมือกันและการให้ความร่วมมือซึ่งหลอมรวมไว้ด้วยกันโดยสุจริต

๗.๒ ข้อแตกต่างใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการประยุกต์ใช้บันทึกความเข้าใจฯ จะได้รับการแก้ไขโดยการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจ โดยยึดหลักการของความเข้าใจซึ่งกันและกัน

๘. การมีผลใช้บังคับและการสิ้นสุดบันทึกความเข้าใจฯ

๘.๑ บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลในวันที่ลงนามและไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด บันทึกความเข้าใจฯ นี้อาจถูกทำให้สิ้นสุดโดยผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจรายใดรายหนึ่ง ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจอีกฝ่ายผ่านช่องทางการทูต ทั้งนี้ การสิ้นสุดดังกล่าวจะมีผลหลังจากวันที่ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจอีกฝ่ายได้รับแจ้งแล้วเป็นระยะเวลาหกเดือน

๘.๒ การสิ้นสุดบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของแผนงาน กิจกรรม หรือโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการโดยผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจก่อนวันที่สิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ เว้นแต่ ผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

๙. การแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ

บันทึกความเข้าใจฯ อาจได้รับการแก้ไขโดยการตกลงร่วมกันของผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจทั้งสองฝ่ายโดยการแลกเปลี่ยนหนังสือที่ได้มีการลงนาม ทั้งนี้ การแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลใช้บังคับเป็นไปตามรูปแบบเดียวกับที่กำหนดในวรรค ๘.๑ เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

๑๐. ความสัมพันธ์กับความตกลงระหว่างประเทศอื่น

บทบัญญัติของบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นการกระทบต่อสิทธิและภาระผูกพันของผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับผู้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจและต่อความเป็นสมาชิกภาพในองค์การระหว่างประเทศ

 

ลงนามต้นฉบับและคู่ฉบับ ณ …………..เมื่อ………เป็นภาษาอังกฤษ

 

ในนามของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย

 

 

ในนามของกระทรวงคมนาคมแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ