ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ระเบียบ
เริ่มใช้บังคับ : 21 เม.ย. 2565

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

Office of the Prime Minister Regulation on Management of Marine Oil and Chemical Pollution B.E.2565


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมลพิษทางน้ำ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี วางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้ เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๕”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. ๒๕๔๗

ข้อ ๔ ในระเบียบนี้

“มลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์” หมายความว่า มลพิษที่เกิดจากการเททิ้งหรือ การรั่วไหลของน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ หรือการทิ้งสิ่งปนเปื้อนน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ลงสู่ทะเลหรือลำน้ำอื่น

“การจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์” หมายความว่า การดำเนินการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ และการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์

“แผนปฏิบัติการ” หมายความว่า แผนป้องกันมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ แผนขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ ที่หน่วยปฏิบัติการจัดทำขึ้นโดยต้องสอดคล้องกับแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ตามระเบียบนี้

“น้ำมัน” หมายความว่า น้ำมันดิบตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม แต่ไม่หมายความรวมถึงก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว

“เคมีภัณฑ์” หมายความรวมถึง สารอันตรายหรือสารพิษที่รั่วไหลลงสู่ทะเลหรือลำน้ำอื่น แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลหรือลำน้ำ ทั้งนี้ รวมถึงสารที่มิใช่สารพิษแต่เมื่อไหลลงสู่ทะเลหรือลำน้ำในปริมาณมากแล้วก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ

“ศูนย์ประสานงาน” หมายความว่า ศูนย์ประสานงานเพื่อการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

“หน่วยปฏิบัติการ” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีกฎหมายรองรับและดำเนินการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ตามที่กำหนดในระเบียบนี้

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ

ข้อ ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์” เรียกโดยย่อว่า “กจน.” ประกอบด้วย

(๑) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

(๒) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ

(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เจ้ากรมอุทกศาสตร์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และนายกสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันหรือผู้แทน

(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เคมีภัณฑ์ สารพิษ หรือสารอันตรายเศรษฐกิจ กฎหมาย องค์การระหว่างประเทศ สื่อสารมวลชน ประชำสัมพันธ์ หรือสิ่งแวดล้อมจำนวนหกคน

ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารเรือ และข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หน่วยงานละหนึ่งคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ผู้ได้รับการแต่งตั้ง แทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ และในกรณีนี้ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

ข้อ ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖) นายกรัฐมนตรีให้ออก เพรำะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

ข้อ ๘ องค์ประชุมและการประชุมของ กจน. ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กจน. กำหนด

ข้อ ๙ ให้ กจน. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายและจัดทำแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

(๒) พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการซึ่งเป็นหน่วยงานหลักตามแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

(๓) ควบคุมและกำกับดูแลการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ

(๔) ติดตามและประเมินผลการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ของหน่วยปฏิบัติการ

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดครำบน้ำมันและเคมีภัณฑ์และค่าเสียหายที่เกิดจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

(๖) ควบคุมการใช้จ่ายเงินที่หน่วยปฏิบัติการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้รับบริจาคตามข้อ ๒๒

(๗) เสนอคณะรัฐมนตรีในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ตามแผนปฏิบัติการหรือตามการสั่งการของ กจน.

(๘) เร่งรัดและติดตามผลการดำเนินคดีเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

(๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๑๐ ให้ กจน. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือตามที่ กจน. มอบหมาย

องค์ประชุมและการประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่ กจน. กำหนด

ข้อ ๑๑ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และไม่อาจจัดให้มีการประชุม กจน. ได้ ประธานกรรมการอาจใช้อำนาจตามข้อ ๙ (๓) แทน กจน. แล้วแจ้งให้ กจน. ทราบโดยเร็ว

ข้อ ๑๒ ในการประชุมหำรือการปฏิบัติหน้าที่ กจน. อาจขอให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมหรือขอให้บุคคลใดชี้แจงหรือแสดงความเห็นต่อ กจน. ได้

ข้อ ๑๓ แผนปฏิบัติการอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเรื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดรายชื่อหน่วยปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ตามแผนปฏิบัติการ และในกรณีจำเป็นต้องมีหน่วยสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานหลัก ให้กำหนดหน่วยปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ เป็นหน่วยสนับสนุน

(๒) กำหนดหน้าที่และอำนาจของหน่วยปฏิบัติการในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์และขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติการแต่ละหน่วย โดยอาจกำหนดขั้นตอนและวิธีการที่หน่วยปฏิบัติการต้องดำเนินการไว้ด้วยก็ได้

(๓) กำหนดวิธีการติดต่อสื่อสารและการรับแจ้งเหตุ

(๔) การจัดหาอัตรากำลัง สถานที่ เครื่องมือ วัสดุ สารเคมี ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่จำเป็นในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

(๕) กำหนดวิธีการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

(๖) กำหนดแนวทางการตรวจสอบและติดตามการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

(๗) การดำเนินการใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

ข้อ ๑๔ เมื่อ กจน. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการแล้ว ให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยสนับสนุนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จัดทำคำขอตั้งงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณต่อไปให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยสนับสนุน ซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ เสนอต่อ กจน. เพื่อทราบ

ข้อ ๑๕ ค่าใช้จ่ายของหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักหรือหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยสนับสนุนในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินให้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมเจ้าท่าเมื่อสิ้นสุดภารกิจแล้ว

ข้อ ๑๖ ให้กรมเจ้าท่าปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของ กจน. และเป็นศูนย์ประสานงานในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

ข้อ ๑๗ ให้หน่วยปฏิบัติการประกอบด้วยหน่วยงาน ดังต่อไปนี้

(๑) กองทัพเรือ

(๒) กรมควบคุมมลพิษ

(๓) กรมเจ้าท่า

(๔) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

(๕) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

(๖) กรมท่าอากาศยาน

(๗) กรมธุรกิจพลังงาน

(๘) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(๙) กรมศุลกากร

(๑๐) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

(๑๑) กรมอุตุนิยมวิทยา

(๑๒) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(๑๓) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

(๑๔) การท่าเรือแห่งประเทศไทย

(๑๕) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

(๑๖) สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน

(๑๗) หน่วยงานอื่นของรัฐหรือนิติบุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ

ให้กำหนดรายชื่อหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยสนับสนุนไว้ในแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ด้วย

ข้อ ๑๘ ให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักตามแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติด้วย

ข้อ ๑๙ ในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ในกรณีฉุกเฉินและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยสนับสนุนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโดยเร็ว ในกรณีที่มีข้อขัดข้อง ให้เลขานุการ กจน. แจ้ง กจน. เพื่อพิจารณาโดยเร็ว

ข้อ ๒๐ ในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ในกรณีฉุกเฉินให้หน่วยปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ แต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติงานกับศูนย์ประสานงานและรายงานผลการปฏิบัติการให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญ กำลังคน สถานที่ เครื่องมือ วัสดุ สารเคมี ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการตามที่ศูนย์ประสานงานร้องขอ

ให้ศูนย์ประสานงานรายงานความคืบหน้ำการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการให้เลขานุการ กจน. ทราบทุกระยะ และให้เลขานุการ กจน. แจ้ง กจน. ทราบโดยเร็วเมื่อการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ในกรณีฉุกเฉินตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลงให้เลขานุการ กจน. จัดทำรายงานวิเคราะห์สำเหตุของการเกิดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์และการดำเนินการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ของหน่วยปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ เสนอต่อ กจน.

ข้อ ๒๑ ในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ในกรณีฉุกเฉินตามข้อ ๒๐ วรรคหนึ่ง ศูนย์ประสานงานอาจขอให้บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญ กำลังคน สถานที่ เครื่องมือ วัสดุ สารเคมี ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่จำเป็นได้

ให้หน่วยปฏิบัติการตามข้อ ๑๗ (๑๗) หรือบุคคลซึ่งช่วยเหลือหรือสนับสนุนในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ได้รับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามหลักเกณฑ์ที่ กจน. กำหนดตามข้อ ๙ (๕)

ข้อ ๒๒ บรรดาเงินที่มีผู้มอบให้เพื่อใช้ในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ ให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เพื่อกิจการตามระเบียบนี้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ข้อ ๒๓ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี