ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
พระราชบัญญัติ
เริ่มใช้บังคับ : 9 ก.พ. 2498

พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

Radio Communication Act B.E. 2498 as amended


พระราชบัญญัติ

วิทยุคมนาคม

พ.ศ. ๒๔๙๘

                 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘

เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสาร

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร พุทธศักราช ๒๔๗๘

(๒) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑

(๓) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓

(๔) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕

(๕) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๑

(๖) พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๗

(๗) บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“คลื่นแฮรตเซียน” หมายความว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ระหว่าง ๑๐ กิโลไซเกิลต่อวินาที และ ๓,๐๐๐,๐๐๐ เมกกาไซเกิลต่อวินาที

“วิทยุคมนาคม” หมายความว่า การส่ง หรือการรับเครื่องหมาย สัญญาณ ตัวหนังสือ ภาพ และเสียงหรือการอื่นใดซึ่งสามารถให้เข้าใจความหมายได้ด้วยคลื่นแฮรตเซียน

“เครื่องวิทยุคมนาคม” หมายความว่า เครื่องส่งวิทยุคมนาคม เครื่องรับวิทยุคมนาคม หรือเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคม แต่ไม่รวมตลอดถึงเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงและเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์

“พนักงานวิทยุคมนาคม” หมายความว่า ผู้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม

“สถานีวิทยุคมนาคม” หมายความว่า ที่ส่งวิทยุคมนาคม ที่รับวิทยุคมนาคม หรือที่ส่งและรับวิทยุคมนาคม

“ทำ” หมายความรวมตลอดถึงการประกอบขึ้น การแปรสภาพหรือการกลับสร้างใหม่

“นำเข้า” หมายความว่า นำเข้าในราชอาณาจักร

“นำออก” หมายความว่า นำออกนอกราชอาณาจักร

“เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕[๒]  พระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) กระทรวงทบวงกรม

(๒) นิติบุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๖  ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า หรือนำออก ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคม หรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

 

มาตรา ๗  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำหน้าที่พนักงานวิทยุคมนาคมในตำแหน่งที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

 

มาตรา ๘  ห้ามมิให้ผู้ใดรับข่าววิทยุคมนาคมต่างประเทศเพื่อการโฆษณา เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

 

มาตรา ๙  ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้ได้ตามระยะเวลา ดังต่อไปนี้

(๑) ใบอนุญาตให้ทำหรือใบอนุญาตให้นำเข้า ให้ใช้ได้หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก

(๒) ใบอนุญาตให้มีหรือใบอนุญาตให้ใช้ ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม แห่งปีที่ออก

(๓) ใบอนุญาตให้นำออก ให้ใช้ได้สามสิบวันนับแต่วันออก

(๔) ใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ให้ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันออก

(๕) ใบอนุญาตพนักงานวิทยุคมนาคม ให้ใช้ได้สามปีนับแต่วันออก

(๖) ใบอนุญาตให้รับข่าววิทยุคมนาคมต่างประเทศเพื่อการโฆษณา ให้ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันออก

 

มาตรา ๑๐  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกใบอนุญาตพิเศษให้บุคคลตั้งสถานีวิทยุการบินเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยของการเดินอากาศพลเรือนโดยเฉพาะได้ ในการออกใบอนุญาตพิเศษนี้ รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๑๑  สถานีวิทยุคมนาคมต้องใช้ความถี่คลื่นให้ถูกต้องตามข้อบังคับว่าด้วยวิทยุคมนาคมตามภาคผนวกต่อท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยโทรคมนาคม

เพื่อให้การเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวแล้ว ให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆ

 

มาตรา ๑๒  ห้ามมิให้สถานีวิทยุคมนาคมดำเนินบริการวิทยุคมนาคมเพื่อประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือนอกเหนือจากราชการของกระทรวงทบวงกรมหรือกิจการของนิติบุคคลตามมาตรา ๕

 

มาตรา ๑๓  ห้ามมิให้ยานพาหนะใด ๆ ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม นอกจากจะใช้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว

 

มาตรา ๑๔  เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเพื่อป้องกันราชอาณาจักร รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งเฉพาะกาลให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดไว้เอาไปใช้ ห้ามการใช้หรือห้ามการยักย้ายซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม หรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมในระหว่างเวลาและภายในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำสั่งนั้น

 

มาตรา ๑๕  ผู้ใดกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมโดยมิได้เจตนา เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำนั้น หรือให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้ในการกระทำนั้นเสีย หรือให้ย้ายสิ่งดังกล่าวนั้นออกไปให้พ้นเขตรบกวนได้

 

มาตรา ๑๖  ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือจัดให้ส่งข้อความใด ๆ โดยวิทยุคมนาคมอันตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ หรือข้อความอื่นใดที่มิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน

 

มาตรา ๑๗  ห้ามมิให้ผู้ใดดักรับไว้ ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน

 

มาตรา ๑๘  เพื่อตรวจเครื่องวิทยุคมนาคม ส่วนแห่งเครื่องวิทยุคมนาคม สถานีวิทยุคมนาคม สิ่งที่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม หรือใบอนุญาต เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในอาคารสถานที่ หรือยานพาหนะของบุคคลใด ๆ ได้ในเวลาอันสมควร

 

มาตรา ๑๙  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตของผู้นั้นเสียได้

ผู้รับใบอนุญาตอาจอุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขภายในสามสิบวัน นับแต่วันถูกเพิกถอนหรือพักใช้ คำชี้ขาดของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๒๐  รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีสูญหายหรือเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะเหตุที่เครื่องวิทยุคมนาคมของรัฐบาลใช้การไม่สะดวกและไม่ต้องรับผิดชอบในการรับ การส่ง หรือการส่งมอบข่าวสารวิทยุคมนาคมใด ๆ

ในกรณีดังกล่าวในวรรคก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกันเว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่นั้นจะก่อให้เกิดขึ้นโดยจงใจ ฉ้อฉล หรือประมาทเลินเล่อ

 

มาตรา ๒๑  ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจทำการเปรียบเทียบได้

 

มาตรา ๒๒  เมื่อมีคำพิพากษาว่า ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะสั่งริบสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขด้วยก็ได้

 

มาตรา ๒๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ หรือมาตรา ๑๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา ๒๔  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ ผู้ควบคุมสถานีวิทยุคมนาคม หรือผู้ควบคุมเครื่องวิทยุคมนาคม และผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดนั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา ๒๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ มาตรา ๘ หรือมาตรา ๑๗ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา ๒๖  ผู้ใดจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา ๒๗  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามความในมาตรา ๑๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา ๒๘  บรรดาใบอนุญาตและประกาศนียบัตรที่ได้ออกไว้ตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสารก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นกำหนดอายุใบอนุญาต หรือประกาศนียบัตรนั้น ๆ

 

มาตรา ๒๙  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและออกกฎกระทรวง

(๑) วางระเบียบการขอและการออกใบอนุญาต

(๒) กำหนดวิธีการเพิกถอนและพักใช้ใบอนุญาต

(๓) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอย่างสูงไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้

(๔) กำหนดคุณลักษณะของเครื่องวิทยุคมนาคม และคุณวุฒิสำหรับพนักงานวิทยุคมนาคม

(๕) กำหนดกิจการอื่นใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป.  พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียม

                 

 

๑. ใบอนุญาตให้ทำ นำเข้า หรือมีซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม                         ๕๐ บาท

๒. ใบอนุญาตให้นำออกซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม                                    ๒๐ บาท

๓. ใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม                                          ๑๐๐ บาท

๔. ใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม                                        ๑,๐๐๐ บาท

๕. ใบอนุญาตพนักงานวิทยุคมนาคม                                               ๕๐ บาท

๖. ใบอนุญาตให้รับข่าววิทยุคมนาคมต่างประเทศเพื่อการโฆษณา              ๑๐๐ บาท

๗. ใบแทนใบอนุญาต                                                               ๒๐ บาท


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีความมุ่งหวังจะให้การวิทยุคมนาคมเจริญวิวัฒนาการไปตามกาลสมัย อันกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมได้บัญญัติรวมกันอยู่ในกฎหมายว่าด้วยวิทยุสื่อสาร ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วถึง ๖ ครั้ง เห็นสมควรจะได้ปรับปรุงไว้เป็นฉบับเดียว และแยกเรื่องวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ออกเป็นพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากกัน

 

พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔[๓]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม ได้บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นให้กระทรวงทบวงกรมมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมได้ ซึ่งทำให้ล่าช้าและไม่เหมาะสม จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมเพื่อยกเว้นให้กระทรวงทบวงกรมมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมได้โดยไม่ต้องออกเป็นกฎกระทรวง

 

 

 

 

 

วสุ สรรกำเนิด/ปรับปรุง

๑๑ กันยายน ๒๕๕๒

 

ศิรวัชร์/ปรับปรุง

๒ ตุลาคม ๒๕๖๓

 

อรญา/ตรวจ

๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๓

 


[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๒/ตอนที่ ๑๑/หน้า ๒๐๘/๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

[๒] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔

[๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘/ตอนที่ ๕๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๓/๑ กรกฎาคม ๒๕๐๔