ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
พระราชบัญญัติ
เริ่มใช้บังคับ : 7 ก.ค. 2561

พระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. 2560

Requirement of Contributions to the International Fund for Compensation for Oil Pollution Damage Caused by Ships Act,B.E.2560(2017)


พระราชบัญญัติ

การเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศ

เพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ

พ.ศ. ๒๕๖๐

                 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. ๒๕๖๐”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“อนุสัญญาความรับผิด” หมายความว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ. ๑๙๙๒

“อนุสัญญากองทุน” หมายความว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. ๑๙๙๒

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันซึ่งจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญากองทุน

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการกองทุนตามอนุสัญญากองทุน

“เรือ” หมายความว่า เรือเดินทะเลใด ๆ รวมทั้งยานพาหนะทางทะเลแบบใด ๆ ซึ่งได้ต่อหรือดัดแปลงขึ้นเพื่อใช้บรรทุกน้ำมันในระวางอย่างสินค้า สำหรับเรือที่สามารถบรรทุกได้ทั้งน้ำมันและสินค้าอื่นให้ถือว่าเป็นเรือตามความหมายนี้ต่อเมื่อเรือนั้นได้บรรทุกน้ำมันในระวางอย่างสินค้า และให้ถือว่าเป็นเรืออยู่ต่อไปในระหว่างการเดินทางภายหลังการบรรทุกน้ำมันจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีน้ำมันเหลืออยู่ในระวาง

“บุคคล” หมายความว่า บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนไม่ว่าจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงรัฐและเขตการปกครองของรัฐนั้น

“เจ้าของเรือ” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเรือ หรือในกรณีที่ไม่มีการจดทะเบียนก็ให้หมายถึงบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของเรือตามความเป็นจริง ในกรณีที่รัฐถือกรรมสิทธิ์และดำเนินการโดยบริษัทที่ได้จดทะเบียนในรัฐนั้นในฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการเดินเรือ คำว่า “เจ้าของเรือ” ให้หมายความถึงบริษัทดังกล่าว

“น้ำมัน” หมายความว่า น้ำมันแร่ไฮโดรคาร์บอนที่สลายตัวยาก เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลหนัก น้ำมันหล่อลื่น ไม่ว่าจะบรรทุกบนเรืออย่างสินค้าหรือในถังน้ำมันเชื้อเพลิงของเรือดังกล่าว

“น้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบ” หมายความว่า น้ำมันดิบและน้ำมันเตาที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) น้ำมันดิบ ได้แก่ สารผสมไฮโดรคาร์บอนเหลวใด ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติใต้พื้นดินไม่ว่าจะผ่านกรรมวิธีเพื่อให้เหมาะสมกับการขนส่งหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงน้ำมันดิบที่ได้แยกส่วนกลั่นบางส่วนออกไปแล้ว หรือน้ำมันดิบที่มีการเติมส่วนกลั่นบางส่วนเพิ่มขึ้น

(๒) น้ำมันเตา ได้แก่ น้ำมันส่วนที่หนักหรือส่วนที่เหลือจากการกลั่นน้ำมันดิบ หรือสารผสมของทั้งสองส่วน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตความร้อนหรือพลังงานที่มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำมันเตาหมายเลขสี่ตามมาตรฐาน หมายเลข ดี ๓๙๖-๖๙ ที่กำหนดโดยสถาบันทดสอบและกำหนดค่าวัตถุของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือหนักกว่า

“ความเสียหายจากมลพิษ” หมายความว่า

(๑) การสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นภายนอกตัวเรือจากการปนเปื้อนที่มีผลมาจากการรั่วไหลหรือปล่อยทิ้งน้ำมันจากเรือ ไม่ว่าการรั่วไหลหรือการปล่อยทิ้งดังกล่าวจะเกิดขึ้น ณ ที่ใด  ทั้งนี้ รวมถึงค่าชดเชยความเสียหายของสิ่งแวดล้อมและการสูญเสียผลประโยชน์จากความเสียหายของสิ่งแวดล้อม

ค่าชดเชยความเสียหายของสิ่งแวดล้อมให้จำกัดเพียงค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการที่สมเหตุผลซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหรือจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้สิ่งแวดล้อมที่เสียไปคืนสู่สภาพเดิม

(๒) ค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการในการป้องกัน และการสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว

“มาตรการในการป้องกัน” หมายความว่า มาตรการที่สมเหตุผลซึ่งดำเนินการโดยบุคคลใด ๆ ภายหลังที่เกิดอุบัติการณ์ เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายจากมลพิษ

“อุบัติการณ์” หมายความว่า เหตุการณ์หรือเหตุการณ์ต่อเนื่องใด ๆ อันเป็นผลจากเหตุเดียวกันที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากมลพิษ หรือก่อให้เกิดภัยคุกคามที่ร้ายแรงและชัดเจนอันจะนำไปสู่ความเสียหายจากมลพิษ

“หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

“ผู้รับประกัน” หมายความว่า ผู้รับประกันภัยหรือผู้ให้หลักประกันทางการเงินอื่นใดซึ่งครอบคลุมความรับผิดของเจ้าของเรือตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ

“จุดรับน้ำมัน” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่ใช้สำหรับเก็บน้ำมันซึ่งสามารถรับน้ำมันจากการขนส่งทางน้ำได้ และให้หมายความรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ที่ตั้งอยู่นอกฝั่งและสามารถส่งน้ำมันมายังสถานที่นั้น

 

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๑

บททั่วไป

                 

 

มาตรา ๕  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับกับ

(๑) ความเสียหายจากมลพิษที่เกิดขึ้น

(ก) ในราชอาณาจักรไทยซึ่งรวมถึงทะเลอาณาเขต

(ข) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย

(๒) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้มาตรการในการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ตาม (๑)  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้ดำเนินมาตรการนั้น ณ ที่ใด

 

มาตรา ๖  ถ้าอุบัติการณ์ประกอบด้วยหลายเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ให้ถือว่าอุบัติการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่วันเกิดเหตุการณ์ครั้งแรก

 

มาตรา ๗  ให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานในการประสานงานกับกองทุน และดำเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจออกประกาศและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

 

หมวด ๒

กองทุน

                 

 

มาตรา ๘  ให้ยอมรับนับถือว่ากองทุนเป็นนิติบุคคล สามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายไทย และอาจเป็นคู่ความในการดำเนินคดีในศาล  ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายของกองทุน

 

มาตรา ๙  ให้กองทุนได้รับการยกเว้น ดังต่อไปนี้

(๑) ภาษีทางตรงใด ๆ ที่จะจัดเก็บจากสินทรัพย์ รายได้ เงินสมทบที่ได้รับและทรัพย์สินอื่น

(๒) อากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีอื่น ๆ ในกรณีที่มีการนำเข้าหรือส่งออกของใด ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินงานของกองทุน  ทั้งนี้ ของดังกล่าวจะต้องไม่ถูกโอนหรือนำออกขายในราชอาณาจักร เว้นแต่จะมีความตกลงระหว่างกองทุนกับรัฐบาลไทย

การยกเว้นดังกล่าวไม่รวมถึงภาษีต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มีการจัดเก็บมากไปกว่าค่าบริการสาธารณูปโภค

 

มาตรา ๑๐  การดำเนินงานของกองทุนให้อยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายจากมลพิษในกรณีที่วงเงินความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือนั้นไม่เพียงพอ

(๒) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อื่นใดตามที่อนุสัญญากองทุนกำหนด

 

มาตรา ๑๑  กองทุนจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษหากบุคคลนั้นไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนและเพียงพอตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดต่อความเสียหายจากมลพิษที่เกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ

(๒) เจ้าของเรือซึ่งต้องรับผิดต่อความเสียหายจากมลพิษตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือไม่มีความสามารถทางการเงินเพียงพอที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้เต็มตามจำนวนที่กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือกำหนดไว้ และหลักประกันทางการเงินที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมถึงหรือไม่เพียงพอ

เมื่อปรากฏว่าบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษได้ดำเนินการเรียกร้องสิทธิในทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนตามที่กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือกำหนดไว้ ให้ถือว่าเจ้าของเรือไม่มีความสามารถทางการเงินที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและมีหลักประกันทางการเงินไม่เพียงพอ

(๓) ความเสียหายที่เกิดขึ้นมากเกินกว่าที่เจ้าของเรือสามารถจำกัดความรับผิดได้ ตามที่กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือกำหนดไว้

ในกรณีที่เจ้าของเรือได้กระทำการโดยสมัครใจและตามสมควร ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายหรือมีการเสียสละทรัพย์สิน เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายจากมลพิษที่เกิดขึ้น ให้ถือว่าค่าใช้จ่ายหรือทรัพย์สินที่ได้เสียสละไปนั้นเป็นความเสียหายจากมลพิษด้วย

 

มาตรา ๑๒  กองทุนไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) หากกองทุนพิสูจน์ได้ว่า

(ก) ความเสียหายจากมลพิษเป็นผลมาจากสงคราม การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ สงครามกลางเมือง หรือการจลาจล หรือ

(ข) ความเสียหายจากมลพิษเกิดจากน้ำมันซึ่งรั่วไหลหรือถูกปล่อยทิ้งจากเรือรบ หรือเรืออื่นใดซึ่งรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือดำเนินการในขณะที่เกิดอุบัติการณ์นั้น เรือดังกล่าวได้ใช้ในกิจการของรัฐซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์

(๒) บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายจากมลพิษนั้นเกิดขึ้นจากอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือ

 

มาตรา ๑๓  กองทุนอาจหลุดพ้นจากความรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายจากมลพิษนั้นเป็นผลจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบุคคลดังกล่าว

กองทุนไม่ต้องรับผิดในกรณีที่เจ้าของเรือหลุดพ้นจากความรับผิด เนื่องจากเจ้าของเรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายจากมลพิษไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นผลจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษนั้น

กองทุนยังคงต้องรับผิดสำหรับมาตรการในการป้องกัน

 

มาตรา ๑๔  กองทุนจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเมื่อมีอุบัติการณ์ ดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อมีอุบัติการณ์เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ๆ เว้นแต่กรณีตาม (๒) และ (๓) ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนซึ่งเมื่อรวมกับค่าสินไหมทดแทนที่ได้จ่ายไปจริงตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือแล้วไม่เกิน ๒๐๓ ล้านหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน

(๒) เมื่อมีอุบัติการณ์เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ เว้นแต่กรณีตาม (๓) ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกิน ๒๐๓ ล้านหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน

(๓) เมื่อมีอุบัติการณ์เกิดขึ้นและมีรัฐภาคีแห่งอนุสัญญากองทุนสามประเทศเกี่ยวข้อง ประกอบกับปริมาณน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบที่บุคคลซึ่งอยู่ในอาณาเขตของรัฐภาคีได้รับในปีที่ผ่านมารวมกันแล้วเท่ากับหรือมากกว่า ๖๐๐ ล้านเมตริกตันขึ้นไป ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกิน ๓๐๐.๗๔ ล้านหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน

การจำกัดความรับผิดนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามอนุสัญญาหรือพิธีสารที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีได้  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

 

มาตรา ๑๕  จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กองทุนจะต้องจ่ายตามมาตรา ๑๔ ไม่ให้รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดจากการวางหลักประกันเพื่อความรับผิดของเจ้าของเรือตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ

 

มาตรา ๑๖  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นเงินสกุลบาท ให้คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดในวันที่สภาแห่งกองทุนตามอนุสัญญากองทุนมีมติให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน

 

มาตรา ๑๗  ในกรณีที่กองทุนต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษหลายรายรวมกันมีจำนวนเกินกว่าค่าสินไหมทดแทนที่กองทุนจะต้องจ่ายตามมาตรา ๑๔ ให้กองทุนจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัดส่วนที่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายแต่ละคนมีสิทธิจะได้รับ

 

มาตรา ๑๘  ในกรณีที่กองทุนได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากมลพิษตามมาตรา ๑๑ ไปแล้ว ให้กองทุนรับช่วงสิทธิของบุคคลที่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อไล่เบี้ยต่อเจ้าของเรือผู้รับประกันของเจ้าของเรือ หรือบุคคลอื่นซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายได้

การใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อบุคคลอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้กองทุนอยู่ในลำดับเดียวกันกับผู้รับประกันภัย

 

มาตรา ๑๙  ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อความเสียหายจากมลพิษให้แก่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายให้หน่วยงานของรัฐนั้นรับช่วงสิทธิของบุคคลดังกล่าวเพื่อไล่เบี้ยต่อกองทุนได้

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

 

หมวด ๓

เงินสมทบ

                 

 

มาตรา ๒๐  ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบรายปีให้แก่กองทุน

(๑) บุคคลผู้รับน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบเป็นจำนวนรวมกันเกินกว่า ๑๕๐,๐๐๐ เมตริกตัน ในแต่ละปีปฏิทิน

(๒) บุคคลผู้ร่วมกิจการแต่ละรายซึ่งรับน้ำมันในแต่ละปีปฏิทินมีจำนวนไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ เมตริกตัน แต่เมื่อรวมกันแล้วมีปริมาณน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบเกินกว่า ๑๕๐,๐๐๐ เมตริกตัน โดยบุคคลผู้ร่วมกิจการแต่ละรายต้องจ่ายเงินสมทบตามส่วนปริมาณน้ำมันที่ได้รับจริง

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ “บุคคลผู้ร่วมกิจการ” หมายความว่า บุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือบริหารร่วมกัน

 

มาตรา ๒๑  น้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามมาตรา ๒๐ ให้หมายความถึง กรณีดังต่อไปนี้

(๑) น้ำมันที่รับจากการขนส่งทางทะเล ณ ท่าเรือหรือจุดรับน้ำมันในราชอาณาจักร

(๒) น้ำมันที่รับ ณ สิ่งติดตั้งใด ๆ ในราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกจากประเทศอื่นที่มิได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากองทุน ภายหลังจากการขนส่งทางทะเลและได้มีการขนถ่ายในประเทศนั้น

 

มาตรา ๒๒  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศรายชื่อน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบและน้ำมันที่ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบในราชกิจจานุเบกษาตามที่กองทุนประกาศกำหนด

 

มาตรา ๒๓  ให้บุคคลตามมาตรา ๒๐ ส่งข้อมูลรายการตามแบบและปริมาณน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบที่ตนได้รับไว้ในแต่ละรอบปีปฏิทินให้แก่กรมเจ้าท่าให้ครบถ้วนและถูกต้องตามความเป็นจริง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการรายงานข้อมูลรายการตามแบบและปริมาณน้ำมัน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๒๔  ให้กรมเจ้าท่าจัดทำบัญชีรายชื่อและที่อยู่ของบุคคลตามมาตรา ๒๐ ที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ตลอดจนข้อมูลรายการตามแบบและปริมาณน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินสมทบที่บุคคลดังกล่าวได้รับไว้ในแต่ละรอบปีปฏิทิน และส่งต่อผู้อำนวยการตามที่กองทุนกำหนด  ทั้งนี้ ให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่มีรายชื่อตามบัญชีรายชื่อเป็นบุคคลที่มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบรายปีให้แก่กองทุน

 

มาตรา ๒๕  บุคคลตามมาตรา ๒๐ จะต้องจ่ายเงินสมทบรายปีตามจำนวน และกำหนดเวลาที่กองทุนแจ้งไปยังบุคคลดังกล่าวโดยตรง

หากบุคคลดังกล่าวค้างชำระการจ่ายเงินสมทบรายปีตามวรรคหนึ่ง กองทุนอาจคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่กองทุนกำหนด

 

หมวด ๔

การเรียกร้อง การดำเนินคดี และอายุความ

                 

 

มาตรา ๒๖  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนได้

 

มาตรา ๒๗  ให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากมลพิษตามพระราชบัญญัตินี้ในฐานะผู้เสียหายแทนรัฐหรือในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากเอกชนซึ่งได้รับความเสียหาย

ในการดำเนินคดีของพนักงานอัยการตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด

ในกรณีที่ได้รับมอบอำนาจจากเอกชนซึ่งได้รับความเสียหายตามวรรคหนึ่ง พนักงานอัยการอาจมอบหมายให้กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ประเมินค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากมลพิษ หรือดำเนินการอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้

 

มาตรา ๒๘  สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้เป็นอันขาดอายุความหากมิได้มีการฟ้องคดีหรือมิได้มีการแจ้งกองทุนตามมาตรา ๓๓ ภายในสามปีนับแต่วันที่เกิดความเสียหายหรือมิได้มีการฟ้องคดีภายในหกปีนับแต่วันที่เกิดอุบัติการณ์ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายนั้น

 

มาตรา ๒๙  สิทธิเรียกร้องเงินสมทบตามพระราชบัญญัตินี้เป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่ผิดนัดชำระเงินสมทบ

 

หมวด ๕

เขตอำนาจศาล

                 

 

มาตรา ๓๐  การดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  ทั้งนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาก็ได้

 

มาตรา ๓๑  ในกรณีที่มีการดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากความเสียหายจากมลพิษต่อเจ้าของเรือหรือผู้รับประกันของเจ้าของเรือในศาลต่างประเทศ ซึ่งประเทศดังกล่าวเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาความรับผิด แต่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากองทุน บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษมีสิทธินำคดีมาฟ้องกองทุนต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ หากคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ

 

มาตรา ๓๒  ในกรณีที่มีการฟ้องเจ้าของเรือหรือผู้รับประกันของเจ้าของเรือตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กองทุนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวได้

 

มาตรา ๓๓  ในการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายจากมลพิษจากเจ้าของเรือหรือผู้รับประกันของเจ้าของเรือ ถ้าคู่ความรายหนึ่งรายใดได้แจ้งให้กองทุนทราบถึงการฟ้องคดีตามรูปแบบในข้อกำหนดตามมาตรา ๓๐ แล้ว และกองทุนมิได้เข้ามาในคดี ให้คำพิพากษาถึงที่สุดของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นข้อยุติแล้วมีผลผูกพันกองทุนด้วย

 

มาตรา ๓๔  คำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของกองทุนของศาลต่างประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากองทุน ให้ใช้บังคับในประเทศไทยได้ เว้นแต่

(๑) คำพิพากษานั้นได้มาโดยกลฉ้อฉล

(๒) จำเลยมิได้รับหมายเรียกโดยชอบและไม่มีโอกาสตามสมควรในการต่อสู้คดี

(๓) คำพิพากษานั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

กำหนดเวลา เงื่อนไข และวิธีการในการขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

 

หมวด ๖

บทกำหนดโทษ

                 

 

มาตรา ๓๕  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท

 

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เมื่อมีความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษอาจจะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่ได้รับ  ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. ๑๙๙๒ จะส่งผลดีต่อบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันและเพื่อเป็นการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว สมควรมีกฎหมายว่าด้วยการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พรวิภา/ภวรรณตรี/จัดทำ

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐

 

วิชพงษ์/ตรวจ

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐


[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๑๒/๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐