ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
กฎกระทรวง
เริ่มใช้บังคับ : 8 เม.ย. 2565

กฎกระทรวงเครื่องหมายถาวรของเรือไทย พ.ศ. ๒๕๖๕

Ministerial Regulation on marking of Thai vessel B.E. 2565


กฎกระทรวงเครื่องหมายถาวรของเรือไทย พ.ศ. ๒๕๖๕

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ และมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกข้อ ๑ และข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวงเศรษฐการ ออกตามความในพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑

ข้อ ๒ เรือที่ขอจดทะเบียนเป็นเรือไทย เจ้าของเรือต้องจัดให้มีเครื่องหมายถาวรอยู่ที่ตัวเรือ ตามรายการและลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

ข้อ ๓ เครื่องหมายถาวรของเรือกลและเรือที่มิใช่เรือกลใช้เดินทะเลระหว่างประเทศ สำหรับเรือโดยสารที่มีขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยตันกรอสขึ้นไปและเรือบรรทุกสินค้าที่มีขนาดตั้งแต่สามร้อยตันกรอสขึ้นไป ต้องมีรายการและลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อเรือ เป็นอักษรไทยอยู่ด้านบนและอักษรอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่อยู่ด้านล่าง อยู่ที่บริเวณ หัวเรือภายนอกทั้งสองข้าง หากมีตัวเลขให้ใช้เป็นเลขอารบิค

(๒) ชื่อเรือและชื่อเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ เป็นอักษรอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ อยู่ที่บริเวณ ท้ายเรือภายนอก หากมีตัวเลขให้ใช้เป็นเลขอารบิค

(๓) หมายเลขทะเบียนเรือ เป็นเลขอารบิค อยู่ที่บริเวณหนึ่งบริเวณใด ได้แก่ หัวเรือภายใน ด้านขวา ขื่อกลางลำเรือ หรือเก๋งเรือ

(๔) อัตรากินน้ำลึก เป็นเลขอารบิค อยู่ที่บริเวณหัวเรือและท้ายเรือภายนอกทั้งสองข้าง โดยมีอัตราส่วนเป็นเดซิเมตร ทุก ๆ สองเดซิเมตร

(๕) หมายเลขประจำเรือ (Ship’s identification number) ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ เป็นเลขอารบิค หากมีตัวอักษรให้ใช้เป็นอักษรอังกฤษ ตัวพิมพ์ใหญ่ อยู่ที่บริเวณภายนอกเรือและภายในเรือ ดังต่อไปนี้

(ก) ภายนอกเรือ อยู่ที่บริเวณหนึ่งบริเวณใด ได้แก่ ท้ายเรือ กลางลำเรือทั้งสองข้าง เหนือระดับแนวน้ำ ข้างเก๋งเรือทั้งสองข้าง หรือด้านหน้าของเก๋งเรือ และกรณีที่เป็นเรือโดยสารอาจอยู่ที่บริเวณพื้นระนาบซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทางอากาศ

(ข) ภายในเรือ อยู่ที่บริเวณฝากั้นห้องเครื่องจักรหรือบนฝาระวางสินค้า เว้นแต่กรณี ที่เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่มีระวางสำหรับบรรทุกของเหลว ให้อยู่ที่บริเวณฝากั้นห้องสูบถ่ายสินค้า และ กรณีที่เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่มีระวางสำหรับบรรทุกยานพาหนะ ให้อยู่ที่บริเวณฝากั้นระวางบรรทุก

ข้อ ๔ เครื่องหมายถาวรของเรือกลและเรือที่มิใช่เรือกลใช้เดินทะเลระหว่างประเทศ นอกจากเรือตามข้อ ๓ ต้องมีรายการและลักษณะตามข้อ ๓ (๑) (๒) (๓) และ (๔)

ข้อ ๕ เครื่องหมายถาวรของเรือกลและเรือที่มิใช่เรือกลใช้เดินลำน้ำระหว่างประเทศ ต้องมีรายการและลักษณะตามข้อ ๓ (๑) (๒) และ (๓)

 ข้อ ๖ เครื่องหมายถาวรของเรือกลและเรือที่มิใช่เรือกลใช้เดินในประเทศ ต้องมีรายการและลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อเรือ เป็นอักษรไทย อยู่ที่บริเวณหัวเรือภายนอกทั้งสองข้าง หากมีตัวเลขให้ใช้เป็น เลขอารบิค

(๒) หมายเลขทะเบียนเรือ เป็นเลขอารบิค อยู่ที่บริเวณหัวเรือภายนอกทั้งสองข้าง

 ข้อ ๗ เครื่องหมายถาวรของเรือประมงทะเลที่มีขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยตันกรอสขึ้นไป ต้องมี รายการและลักษณะตามข้อ ๓ และมีตัวอักษร “ป” อยู่ที่บริเวณหัวเรือภายนอกทั้งสองข้าง

 ข้อ ๘ เครื่องหมายถาวรของเรือประมง นอกจากเรือตามข้อ ๗ ต้องมีรายการและลักษณะ ตามข้อ ๔ ข้อ ๕ หรือข้อ ๖ แล้วแต่กรณี และมีตัวอักษร “ป” อยู่ที่บริเวณหัวเรือภายนอกทั้งสองข้าง

 ข้อ ๙ เครื่องหมายถาวรตามข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๘ ให้ใช้ สีตัวอักษรหรือตัวเลขเป็นสีอ่อนเมื่อสีพื้นเป็นสีเข้ม และให้ใช้สีตัวอักษรหรือตัวเลขเป็นสีเข้มเมื่อสีพื้น เป็นสีอ่อน โดยมีขนาดของตัวอักษรและตัวเลขที่เหมาะสมกับขนาดของเรือและสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีความสูงไม่น้อยกว่าสิบเซนติเมตรและมีความกว้างที่ได้สัดส่วนกับความสูง เว้นแต่ หมายเลขประจำเรือที่อยู่บริเวณภายนอกเรือ ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่ายี่สิบเซนติเมตรและมีความกว้าง ที่ได้สัดส่วนกับความสูง

ข้อ ๑๐ หมายเลขประจำเรือตามข้อ ๓ (๕) และข้อ ๗ ให้จัดทำด้วยวิธีการเชื่อมเป็นตัวนูน ตัดเจาะ หรือตอกเป็นตัวอักษรหรือตัวเลขบนตัวเรือ เว้นแต่เรือที่สร้างด้วยวัสดุอื่นที่ไม่ใช่เหล็กหรือโลหะ อาจจัดทำด้วยวิธีการอื่นได้ แต่ต้องมีลักษณะที่คงทนถาวรและยากแก่การแก้ไข

ข้อ ๑๑ บรรดาเรือที่อยู่ระหว่างการยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเรือไทยก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ ใช้บังคับ ให้เจ้าของเรือจัดให้มีเครื่องหมายถาวรตามกฎกระทรวงนี้

ข้อ ๑๒ เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ เครื่องหมายถาวรตามกฎกระทรวงเศรษฐการ ออกตามความในพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้ต่อไป จนกว่าใบอนุญาตใช้เรือจะสิ้นอายุ หรือต้องมีการดำเนินการใด ๆ ทางทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่า ซึ่งเจ้าของเรือต้องจัดให้มีเครื่องหมายถาวรตามกฎกระทรวงนี้

ให้ไว้ ณ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖5

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๒๑ ก ราชกิจจานุเบกษา ๘ เมษายน ๒๕๖๕

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดเครื่องหมายถาวรของเรือไทย ตามกฎกระทรวงเศรษฐการ ออกตามความในพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้ใช้บังคับ มาเป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงการกำหนดเครื่องหมายถาวรของเรือไทยให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS)) จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้