ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ข้อบังคับ
เริ่มใช้บังคับ : 13 ต.ค. 2559

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจเรือเพื่อจัดทำเครื่องหมายแสดงหมายเลขประจำเรือ พ.ศ. 2559

Marine Department Regulations on Marking of Ship Identification Number B.E. 2559


กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ 

ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจเรือเพื่อจัดทำเครื่องหมายแสดงหมายเลขประจำเรือ 

พ.ศ. ๒๕๕๙

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎข้อบังคับสําหรับการตรวจเรือไว้ ดังต่อไปนี้ 

ข้อ ๑ กฎข้อบังคับนี้เรียกว่า “กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจเรือเพื่อจัดทำเครื่องหมายแสดงหมายเลขประจำเรือ พ.ศ. ๒๕๕๙” 

ข้อ ๒ กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

ข้อ ๓ บรรดากฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หรือประกาศอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับ กฎข้อบังคับนี้ ให้ใช้กฎข้อบังคับนี้แทน 

ข้อ ๔ กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับเรือที่เดินทะเลระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้ 

(๑) เรือโดยสารที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอสส์ ขึ้นไป 

(๒) เรือสินค้าที่มีขนาดตั้งแต่ ๓๐๐ ตันกรอสส์ ขึ้นไป 

(๓) เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอสส์ ขึ้นไป 

กฎข้อบังคับนี้ ไม่ใช้บังคับกับเรือที่มิใช่เรือกล เรือสำราญและกีฬา เรือรบ เรือช่วยรบ และเรือที่ต่อด้วยไม้ 

ข้อ ๕ ในกฎข้อบังคับนี้ 

“หมายเลขประจำเรือ (Ship’s identification number)” หมายความว่า หมายเลขที่กำหนดโดยหน่วยงานที่กำหนดโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization, IMO) หรือเรียกว่า หมายเลข IMO (IMO number) และออกให้สำหรับเรือลำใดลำหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพื่อใช้ในการระบุตัวตน โดยหมายเลขนี้จะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเรือจะมีการเปลี่ยนชื่อเรือ เจ้าของเรือ หรือสัญชาติเรือไปอย่างไรก็ตาม และจะคงอยู่จนกว่าเรือจะสิ้นสภาพไป

“เรือโดยสาร (Passenger ship)” หมายความว่า เรือที่บรรทุกคนโดยสารเกินสิบสองคน

“เรือสินค้า (Cargo ship)” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือโดยสาร

“เรือประมง (Fishing vessel)” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับการจับสัตว์น้ำ หรือทรัพยากรที่มีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเล

“เรือที่ต่อด้วยไม้ (Wooden ship)” หมายความว่า เรือที่มีโครงสร้างตัวเรือทำด้วยไม้ หรือใช้ไม้เป็นโครงสร้างหลัก

“เรือสำราญและกีฬา (Yacht)” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ และไม่ได้ใช้เพื่อการค้า การทหาร หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์

“ซูเปอร์สตรัคเจอร์ (Superstructure)” หมายความว่า โครงสร้างบนดาดฟ้ามีความกว้างจากกราบหนึ่งไปยังอีกกราบหนึ่งของเรือ หรือจรดแผ่นข้างเรือที่ไม่ล้ำเข้ามาจากแผ่นตัวเรือมากกว่าร้อยละ ๔ ของความกว้าง

ข้อ ๖ เรือที่ได้รับหมายเลขประจำเรือแล้ว ให้ทำเป็นเครื่องหมายบนเรือในตำแหน่ง
ดังต่อไปนี้

(๑) บริเวณท้ายเรือ (Stern) หรือบริเวณด้านข้างเรือ (Side) ทั้งกราบซ้าย (Port) และกราบขวา (Starboard) ณ ตำแหน่งกึ่งกลางลำ (Midship) โดยอยู่เหนือระดับแนวน้ำบรรทุกสูงสุดของเรือหรือบริเวณด้านข้างซูเปอร์สตรัคเจอร์ (Superstructure) ทั้งกราบซ้ายและกราบขวา หรือบริเวณด้านหน้าของซูเปอร์สตรัคเจอร์ กรณีเรือโดยสารให้ทำไว้บนพื้นระนาบที่สามารถมองเห็นได้จากทางอากาศ และ

(๒) บริเวณฝากั้นด้านหน้า (Fore bulkhead) หรือฝากั้นด้านท้าย (Aft bulkhead)
ของห้องเครื่องจักร (Engine room) หรือบนฝาระวาง (Hatchway) กรณีเรือบรรทุกของเหลวในระวาง (Tanker) ให้ทำไว้ที่ห้องสูบถ่ายสินค้า (Pump room) กรณีเรือที่มีระวางสำหรับบรรทุกยานพาหนะ (Ro-Ro spaces) ให้ทำไว้บนฝากั้นด้านหน้าหรือฝากั้นด้านท้ายของระวาง 

เครื่องหมายนี้ต้องสามารถเห็นได้โดยง่ายและเด่นชัดจากเครื่องหมายอื่น ๆ บนตัวเรือ โดยใช้สีที่ตัดกับสีของตัวเรือ ขนาดความสูงของตัวเลขและตัวอักษร ตามข้อ (๑) ต้องไม่น้อยกว่า ๒๐๐ มิลลิเมตร ขนาดความสูงของตัวเลขและตัวอักษร ตามข้อ (๒) ต้องไม่น้อยกว่า ๑๐๐ มิลลิเมตร และให้มีขนาดความกว้างของตัวเลขและตัวอักษรตามสัดส่วนที่เหมาะสม

ข้อ ๗ การทำเครื่องหมาย ให้ใช้วิธีการเชื่อมเป็นตัวนูน (Raised lettering) การตัดเซาะ (Cutting) หรือการตอก (Punching) ที่ไม่สามารถทำลายหรือลบออกได้โดยง่าย กรณีเรือที่มิได้ต่อด้วยโลหะ ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือกําหนดวิธีการที่เหมาะสมตามแต่กรณี
ข้อ ๘ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลข IMO รวมทั้ง
ขนาดและตำแหน่งการทำเครื่องหมาย พบว่าเป็นไปตามกฎข้อบังคับนี้และกฎข้อบังคับอื่นใดที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือให้แก่เรือได้

ข้อ ๙ เรือที่ต่อก่อนวันที่กฎข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตาม กฎข้อบังคับนี้ เมื่อครบกำหนดการตรวจเรือบนอู่แห้ง (Dry dock) หรืออู่ลอย (Floating dock) หรือคานลาด (Slip way) ครั้งถัดไป แต่ต้องไม่เกิน ๒๔ เดือนนับจากวันที่กฎข้อบังคับนี้มีผลบังคับใช้ 

ข้อ ๑๐ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้ 

ประกาศ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ 

ศรศักดิ์ แสนสมบัติ 

อธิบดีกรมเจ้าท่า