ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
พระราชบัญญัติ
เริ่มใช้บังคับ : 7 ต.ค. 2482

พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช พ.ศ. 2481 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

Thai vessels Act B.E. 2481, as amended


พระราชบัญญัติ

เรือไทย

พุทธศักราช ๒๔๘๑

                 

 

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร

ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)

อาทิตย์ทิพอาภา

พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทร  โยธิน

ตราไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรมีกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

 

จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑”

 

มาตรา ๒[๑]  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตสำหรับเรือจับสัตว์น้ำไทย พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระราชบัญญัติว่าด้วยการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตสำหรับเรือจับสัตว์น้ำไทย (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๙ และบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔  เรือราชนาวีไทยเป็นเรือไทย แต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

๑. “น่านน้ำไทย” หมายความถึง บรรดาน่านน้ำที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศไทย

๒. “เมืองท่า” หมายความถึง ทำเล หรือถิ่นที่ทอดจอดเรือเพื่อขนถ่ายคนโดยสารหรือของ

๓. “เรือ” หมายความถึง ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด

๔. “เรือกล” หมายความถึง เรือที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม

๕. “เรือทะเล” หมายความถึง เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเล

๖. “เรือลำน้ำ” หมายความถึง เรืออื่นที่มิใช่เรือทะเล

๖/๑[๒]. “เรือประมง” หมายความถึง เรือทุกขนาดที่ใช้หรือเจตนาจะใช้ หรือมีหรือติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทำการประมง เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทางการค้า

๖/๒[๓]. “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” หมายความถึง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำตามกฎหมายว่าด้วยการประมง

๖/๓[๔]. “เรือสนับสนุนการประมง” หมายความถึง เรือที่ใช้หรือเจตนาจะใช้บรรทุกน้ำมัน น้ำจืด อาหาร หรือสิ่งอื่นใด เพื่อสนับสนุนเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ  ทั้งนี้ ประเภทและขนาดของเรือ และลักษณะของสิ่งที่จะบรรทุกหรือให้การสนับสนุนให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

๗. “การค้าในน่านน้ำไทย” หมายความถึง การขนส่งคนโดยสาร หรือของหรือลากจูง เพื่อหากำไร จากเมืองท่าหรือถิ่นที่แห่งหนึ่งภายในน่านน้ำไทยไปยังเมืองท่าหรือถิ่นที่อีกแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งภายในน่านน้ำไทย

๘. “การประมง” หมายความถึง การจับสัตว์น้ำทุกชนิดรวมทั้งที่ใช้เรือไปทำการจับสัตว์น้ำหรือเป็นพาหนะไปทำการจับสัตว์น้ำด้วย

๙. “ผู้ควบคุมเรือ” หมายความถึง นายเรือ สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้ายหรือบุคคลใดอื่น ผู้มีหน้าที่บังคับเรือและรับผิดชอบในเรือ แต่ไม่หมายความถึงผู้นำร่อง

๑๐. “คนประจำเรือ” หมายความถึง บรรดาคนที่มีหน้าที่ทำการประจำอยู่ในเรือ

๑๑. “รัฐมนตรี” หมายความถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

๑๒. “เจ้าท่า” หมายความถึง อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*หรือผู้ทำการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* และหมายความถึงผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าท่า หรือให้รักษาการแทนเจ้าท่า

๑๓. “นายทะเบียนเรือ” หมายความถึง ผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนเรือ หรือให้รักษาการแทนนายทะเบียนเรือ

๑๔[๕]. “สารที่เป็นอันตราย” หมายความถึง น้ำมันหรือสารอื่นใด ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งลงสู่ทะเลแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในทะเล หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อความงามตามธรรมชาติ หรือรบกวนการใช้ประโยชน์อื่น ๆ อันชอบด้วยกฎหมายจากทะเลตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีประกาศกำหนด

 

หมวด ๑

การจดทะเบียนเรือไทย

                 

 

มาตรา ๖  การจดทะเบียนเรือไทยตามพระราชบัญญัตินี้ต้องจดต่อนายทะเบียนเรือ

 

มาตรา ๗[๖]  ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยซึ่งทำการค้าในน่านน้ำไทยได้ตามมาตรา ๔๗ ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

(๒) เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

(๓) เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(๔) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้

(ก) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

(ข) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย และทุนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว

(ค) บริษัทจำกัดที่กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทย หุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าวและไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้ออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

(ง) บริษัทมหาชนจำกัดที่กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทยและหุ้นอันเป็นทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ “คนต่างด้าว” หมายความว่า คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจขอคนต่างด้าว

 

มาตรา ๗ ทวิ[๗]  ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยซึ่งใช้ประกอบการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศโดยเฉพาะ และไม่ทำการค้าในน่านน้ำไทยตามมาตรา ๔๗ ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทย และมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบริษัทจำกัดที่หุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว และไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้ออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

(๒) เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่หุ้นอันเป็นทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ “คนต่างด้าว” หมายความว่า คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

 

มาตรา ๗ ตรี[๘]  ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทยและนิติบุคคลซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ แทนคนต่างด้าว

(๒) เป็นหุ้นส่วนแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗

(๓) ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๗ ทวิ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า “คนต่างด้าว” ให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลซึ่งไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๗ ทวิ แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๗ จัตวา[๙]  ห้ามมิให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ทวิ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑)  ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตาม ๗ ทวิ แทนคนต่างด้าว

(๒)  ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ ทวิ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า “คนต่างด้าว” ให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลซึ่งไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ทวิ

 

มาตรา ๘  เรือดังจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ถือว่าเป็นเรือไทย

สำหรับการค้าในน่านน้ำไทย

๑. เรือกล ขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป

๒. เรือทะเลที่มิใช่เรือกล ขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไป

๓. เรือลำน้ำที่มิใช่เรือกล ขนาดตั้งแต่ห้าสิบตันกรอสขึ้นไป

สำหรับการประมง

๑. เรือกลทุกขนาด

๒. เรือที่มิใช่เรือกลขนาดตั้งแต่หกตันกรอสขึ้นไป

 

มาตรา ๙  เรือของบุคคลตามมาตรา ๗ ซึ่งมิได้ใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๔๗ แม้จะมีขนาดดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน และเรือของบุคคลตามมาตรา ๗ ขนาดต่ำกว่าที่กล่าวไว้ในมาตราก่อน สำหรับการค้าในน่านน้ำไทยหรือการประมงแล้วแต่กรณี ไม่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

เรือซึ่งกล่าวในมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นเรือไทยด้วย

 

มาตรา ๑๐  ในการขอจดทะเบียนเป็นเรือไทย ผู้ขอต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

๑. ยื่นคำแสดงกรรมสิทธิ์ตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*

๒. ทำคำรับรองว่าเงื่อนไขในการที่จะถือกรรมสิทธิ์ได้เป็นไปตามมาตรา ๗ และนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์คำรับรองนั้น ถ้าผู้ขอเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ต้องนำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมาแสดง

๓. ยื่นใบสำคัญแสดงการตรวจเรือ ซึ่งพนักงานตรวจเรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ได้ออกให้ตามมาตรา ๑๒

๔. ยื่นรายการแสดงวัน เดือน ปี และตำบลที่ต่อเรือนั้นเสร็จ เท่าที่จะแสดงได้

๕. ถ้าเรือนั้นเดิมเป็นของคนต่างด้าว ให้แจ้งชื่อเรือซึ่งใช้อยู่เดิมนั้นด้วย

๖. แสดงชื่อผู้ควบคุมเรือ

 

มาตรา ๑๑  เรือที่ขอจดทะเบียนเป็นเรือไทยให้มีเครื่องหมายถาวรเห็นได้ชัดเจนไว้ที่ตัวเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อได้จดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้ว และตราบใดที่การจดทะเบียนนั้นยังไม่สิ้นไป ให้เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมเรือที่จะรักษาเครื่องหมายดังกล่าวแล้วนั้นให้ถาวรอยู่เสมอ จะเปลี่ยนแปลงหรือปิดบังไม่ได้ นอกจากเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

 

มาตรา ๑๒  เรือที่จะขอจดทะเบียนเป็นเรือไทยต้องมีใบสำคัญแสดงการตรวจเรือไปแสดงต่อนายทะเบียนเรือว่าเรือนั้นได้รับการตรวจจากพนักงานตรวจเรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

 

มาตรา ๑๓  ในการรับจดทะเบียนเป็นเรือไทย ให้นายทะเบียนเรือเก็บใบสำคัญแสดงการตรวจเรือไว้ และถ้ามีใบสำคัญของผู้ต่อเรือหรือหนังสือสำคัญแสดงการโอนก็ให้เก็บไว้ด้วย

 

มาตรา ๑๔  สมุดทะเบียนเรือไทยให้ทำตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* และให้มีรายการดังต่อไปนี้ด้วย

๑. ชื่อเรือ ชื่อเมืองท่าที่เรือนั้นจดทะเบียน และชื่อผู้ควบคุมเรือ

๒. ประเภทของเรือ ชื่ออู่และชื่อเจ้าของอู่ที่ต่อเรือนั้น

๓. รายการตรวจเรือ

๔. รายการแสดงการได้กรรมสิทธิ์ตามที่ปรากฏในคำรับรอง

๕. ชื่อ ที่อยู่ และอาชีพการงานของผู้ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ให้มีชื่อและที่อยู่ของผู้จัดการหรือกรรมการด้วย

 

มาตรา ๑๕  เรือลำใดได้จดทะเบียนเป็นเรือไทย ณ เมืองท่าใด เมืองท่านั้นเป็นเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น

 

หมวด ๒

ใบทะเบียนเรือไทย

                 

 

มาตรา ๑๖  เมื่อได้จดทะเบียนเรือแล้ว ให้นายทะเบียนเรือออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ให้แก่ผู้ขอจดทะเบียน ใบสำคัญนี้ให้เรียกว่า “ใบทะเบียน”

 

มาตรา ๑๗  ในระหว่างเวลาที่คงใช้เรือนั้น ใบทะเบียนให้ใช้เป็นเอกสารประจำเรือ และผู้ควบคุมเรือต้องรักษาไว้ในเรือเสมอ ผู้ใดจะเอาไปเสียจากเรือไม่ได้ นอกจากเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น และเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจ ผู้ควบคุมเรือต้องนำออกแสดงทันที

 

มาตรา ๑๘  ถ้าใบทะเบียนสูญหายหรือเป็นอันตรายไปด้วยประการอื่น หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ควบคุมเรือขอใบทะเบียนใหม่แทนใบเก่าจากนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น

ถ้ากรณีดังกล่าวแล้วเกิดขึ้นนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น ให้ผู้ควบคุมเรือขอใบทะเบียนชั่วคราวที่เมืองท่าแรกถึง ซึ่งมีนายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยแล้วแต่กรณี

เมื่อเรือมาถึงเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ผู้ควบคุมเรือต้องนำใบทะเบียนชั่วคราวส่งนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่านั้นภายในกำหนดสิบวันนับแต่วันเรือถึง เพื่อนายทะเบียนเรือจะได้ออกใบทะเบียนใหม่แทนใบเก่า

ในกรณีที่ใบทะเบียนไม่มีที่ว่างสำหรับกรอกรายการต่าง ๆ ได้ต่อไป ให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี ออกใบประจำต่อตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๑๙  เมื่อได้ออกใบทะเบียนใหม่แทนใบเก่าแล้ว ถ้าใบเก่ายังมีอยู่ในกรณีที่ชำรุดในสาระสำคัญ หรือได้พบในภายหลังในกรณีที่สูญหาย ให้ผู้ควบคุมเรือส่งแก่นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือโดยด่วน เพื่อจัดการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๐  เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมเรือให้ผู้ควบคุมเรือคนใหม่นำใบทะเบียนกับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตประจำตัวของตนไปแสดงต่อเจ้าท่าหรือนายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี ก่อนเรือออก

เมื่อเจ้าพนักงานดังกล่าวมานั้นได้พิจารณาเป็นที่พอใจแล้ว ให้หมายเหตุการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมเรือในใบทะเบียนและลงนามกำกับไว้

เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมเรือนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้หมายเหตุรายงานไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นโดยด่วน

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นเรือไทยที่จดทะเบียนแล้วบางขนาดมิต้องปฏิบัติตามบทแห่งมาตรานี้ โดยออกเป็นกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๑  ในกรณีที่มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เรือ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นเป็นผู้หมายเหตุไว้ในใบทะเบียน

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เรือนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าที่มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือที่เรือแรกถึง แล้วแต่กรณี เป็นผู้หมายเหตุในใบทะเบียนแต่จะต้องแจ้งให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นทราบ และได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเรือนั้นก่อน

 

มาตรา ๒๒[๑๐]  ในกรณีที่เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วได้สูญหายไป ถูกข้าศึกยึด ถูกเพลิงไหม้โดยสิ้นเชิง อับปาง ทำลายหรือถูกละทิ้ง ให้เจ้าของเรือแจ้งแก่นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นพร้อมทั้งเอกสารหรือหลักฐาน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนทราบเหตุการณ์  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด และให้นายทะเบียนเรือนั้นเพิกถอนทะเบียนเรือไทยโดยบันทึกเหตุแห่งการเพิกถอน และจำหน่ายทะเบียนเรือไทยออกจากสมุดทะเบียนเรือไทย

 

มาตรา ๒๒/๑[๑๑]  ให้นำความในมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับกับเรือที่เจ้าของเรืออ้างว่าได้จำหน่าย จ่าย หรือโอนไปให้ผู้อื่นโดยไม่สามารถแสดงหลักฐานการจำหน่าย จ่าย หรือโอน และไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบได้ว่าเรืออยู่ที่ใด ด้วยโดยอนุโลม และไม่ว่าเจ้าของเรือจะได้แจ้งแก่นายทะเบียนเรือหรือไม่ให้นายทะเบียนเรือสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือไทยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบ

เรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเรือสนับสนุนการประมงที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือตามวรรคหนึ่งหรือมาตรา ๒๒ ห้ามมิให้นายทะเบียนเรือรับจดทะเบียนเรือนั้นเป็นเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และเรือสนับสนุนการประมงอีก

ในกรณีที่มีการพบเรือที่ห้ามรับจดทะเบียนเรือตามวรรคสอง ให้เจ้าท่ามีอำนาจยึดหรืออายัดและควบคุมเรือ เครื่องประกอบเรือ รวมทั้งทรัพย์สินที่อยู่ในเรือดังกล่าว และนำไปจอดเพื่อควบคุมไว้ในบริเวณที่เห็นสมควร ทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ประจำเรือ และติดตั้งเครื่องมือควบคุมเรือหรือเครื่องมืออย่างใด ๆ มิให้เคลื่อนจากจุดที่จอด และแจ้งให้เจ้าของเรือทราบและมาแสดงตน ในกรณีที่ไม่ทราบชื่อหรือที่อยู่ของเจ้าของเรือ ให้ปิดประกาศให้เจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือมาแสดงตนต่อเจ้าท่า หากไม่มีเจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือมาแสดงตนภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าเจ้าของเรือสละกรรมสิทธิ์ในเรือนั้น และให้เจ้าท่ามีอำนาจแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือ จำหน่ายเป็นเศษวัสดุ หรือให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประโยชน์

ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือมาแสดงตนพร้อมด้วยหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือภายในกำหนดเวลา ให้เจ้าท่าคืนเรือนั้นให้แก่เจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือ เมื่อเจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือได้ชำระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการดำเนินการตามวรรคสามแล้วและทำหนังสือรับรองว่าจะไม่นำเรือนั้นไปใช้เป็นเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเรือสนับสนุนการประมง

การดำเนินการตามวรรคสามและวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

ในการดำเนินการตามมาตรานี้ เจ้าท่าจะดำเนินการเองหรือมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดำเนินการแทนก็ได้ โดยให้นำความในมาตรา ๕๔/๘ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๓  ให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี ส่งใบทะเบียนที่ได้รับไว้ตามมาตราก่อนไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ

 

มาตรา ๒๔[๑๒]  ถ้าเรือได้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ หรือต่อขึ้นใหม่นอกราชอาณาจักรไทย และเป็นเรือของบุคคลผู้มีลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ เจ้าพนักงานกงสุลไทยหรือพนักงานตรวจเรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* อาจออกใบทะเบียนชั่วคราวให้แก่ผู้ควบคุมเรือ และให้เจ้าพนักงานกงสุลไทยหรือพนักงานตรวจเรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* ผู้ออกใบทะเบียนชั่วคราวส่งสำเนาใบทะเบียนชั่วคราวนั้นไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าซึ่งมีความจำนงจะจดทะเบียนโดยด่วน

ข้อความในใบทะเบียนชั่วคราวต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

๑. ชื่อเรือ และชื่อเก่า ถ้ามี

๒. ชื่อผู้ควบคุมเรือ

๓. ชื่อเจ้าของเรือ และชื่อเจ้าของเก่า ถ้ามี

๔. เหตุที่ได้กรรมสิทธิ์เรือนั้น

๕. วัน เดือน ปี และตำบลที่ได้กรรมสิทธิ์

๖. รายการเกี่ยวด้วยขนาดเรือ การต่อเรือ และรายการอื่น ๆ เท่าที่แสดงได้

๗. ชื่อเมืองท่าซึ่งมีความจำนงจะจดทะเบียนเป็นเรือไทย

 

มาตรา ๒๕[๑๓]  ใบทะเบียนชั่วคราวซึ่งเจ้าพนักงานกงสุลไทย หรือพนักงานตรวจเรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* ออกให้ตามมาตรา ๒๔ ให้ใช้ได้เช่นเดียวกับใบทะเบียน และให้ใช้ได้จนกว่าเรือนั้นมาถึงเมืองท่าซึ่งมีความจำนงจะจดทะเบียน แต่ห้ามมิให้ใช้เกินกำหนดหกเดือนนับแต่วันออกใบทะเบียนชั่วคราวนั้น

ให้ผู้ควบคุมเรือส่งใบทะเบียนชั่วคราวแก่นายทะเบียนเรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เรือนั้นมาถึงเมืองท่าซึ่งมีความจำนงจะจดทะเบียน

 

มาตรา ๒๖  ภายในน่านน้ำไทย เมื่อเรือลำใดจะออกไปยังเมืองท่าหนึ่งเมืองท่าใด เพื่อจะจดทะเบียนเป็นเรือไทยและประสงค์จะรับประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ในระหว่างเดินทางนั้น ให้ผู้ควบคุมเรือขอใบผ่านเมืองท่าชั่วคราวจากเจ้าท่าผู้ควบคุมถิ่นที่ที่เรือจะออกไป

ใบผ่านเมืองท่าชั่วคราวนี้ให้ใช้ได้เสมือนใบทะเบียนภายในกำหนดเงื่อนไขอันระบุไว้ในผ่านเมืองท่าชั่วคราวนั้น

ในการขอใบผ่านนี้ เมื่อเจ้าท่าได้พิจารณาไม่เห็นสมควรจะไม่อนุญาตก็ได้

 

หมวด ๓

การโอนกรรมสิทธิ์เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว

                 

 

มาตรา ๒๗  การโอนโดยนิติกรรมซึ่งกรรมสิทธิ์เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น เพื่อขอให้จัดการโอนไว้ในสมุดทะเบียน

สัญญาโอนกรรมสิทธิ์เรือตามมาตรานี้ ให้ทำเป็นหนังสือตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* ต่อหน้านายทะเบียนเรือดังกล่าวมาแล้ว

ถ้ามีการโอนกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวมาแล้วนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าที่มีการโอนกรรมสิทธิ์เรือนั้น แล้วแต่กรณี ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ โดยหมายเหตุการโอนไว้ในใบทะเบียนและส่งสำเนาสัญญา ถ้าจำเป็นก็รวมทั้งคำแปลสัญญาอันรับรองว่าถูกต้องไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นโดยด่วน เมื่อได้รับเอกสารเช่นว่านั้นและเห็นว่าถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนเรือจดการโอนไว้ในสมุดทะเบียน

 

มาตรา ๒๘  ในกรณีดังกล่าวมาแล้วในมาตราก่อน เมื่อปรากฏว่าผู้รับโอนไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗

๑. ถ้าทำการโอน ณ เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าที่กล่าวนั้นเรียกใบทะเบียนคืน และให้ถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

๒. ถ้าทำการโอนนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือ หรือเจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี เรียกใบทะเบียนคืนและให้ส่งรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์และใบทะเบียนนั้น พร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในวรรคสามแห่งมาตราก่อนไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือเพื่อให้ถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

 

มาตรา ๒๙  เมื่อกรรมสิทธิ์ในเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วได้ตกไปเป็นของผู้ใดโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ให้ผู้นั้นส่งใบทะเบียนพร้อมทั้งคำรับรองและพยานหลักฐานเกี่ยวกับสัญชาติของตนต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่เรือได้ตกไปเป็นของผู้นั้น

เพื่อการนี้ให้นายทะเบียนเรือมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลและพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสอบถามได้

 

มาตรา ๓๐  เมื่อเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ได้ตกไปโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเป็นของบุคคลที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ให้ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์เรือนั้นยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ เพื่อขอจดทะเบียนเรือนั้นในนามของตน ภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในมาตราก่อนพร้อมทั้งนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าตนได้กรรมสิทธิ์และเป็นผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้

เมื่อได้รับคำร้องและพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถ้ามีมูลพอเชื่อฟังได้ภายในเจ็ดวัน ให้นายทะเบียนเรือจัดให้ปิดประกาศคำร้องนั้นไว้ ณ เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือและโฆษณาในหนังสือพิมพ์โดยผู้ร้องต้องออกค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ถ้าพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศไว้แล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้านต่อนายทะเบียนเรือ ให้นายทะเบียนเรือเรียกใบทะเบียนจากผู้ร้องและเมื่อได้สอบพยานหลักฐานเป็นที่ถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนเรือบันทึกรายการไว้ในสมุดทะเบียนและหมายเหตุใบทะเบียนตามคำร้องนั้น

ถ้ามีผู้คัดค้านภายในสามสิบวันนั้น ให้นายทะเบียนเรือแจ้งให้ผู้คัดค้านนำคดีไปฟ้องศาลภายในสิบห้าวัน และในระหว่างสิบห้าวันนี้ให้นายทะเบียนเรืองดการบันทึกรายการหรือหมายเหตุไว้ก่อน ถ้าผู้คัดค้านไม่นำคดีไปฟ้องศาลภายในกำหนดนั้น ให้นายทะเบียนเรือดำเนินการดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อน ถ้าผู้คัดค้านนำคดีไปฟ้องศาล ให้นายทะเบียนเรือเลื่อนการดำเนินการไปจนกว่าศาลจะได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว จึงดำเนินการต่อไปตามคำพิพากษานั้น

 

มาตรา ๓๑  ในกรณีที่เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ได้ตกไปโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เป็นของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ก็ดีหรือในกรณีที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของขาดลักษณะเช่นนั้นด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี ถ้าเจ้าของเรือมีความประสงค์จะให้เรือนั้นยังคงเป็นเรือไทยต่อไปก็ให้จัดการโอนไปยังผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่เรือได้ตกไปเป็นของตน หรือนับแต่วันที่ขาดลักษณะเช่นนั้น แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเจ้าของเรือไม่มีความประสงค์จะให้เรือนั้นยังคงเป็นเรือไทยต่อไป ก็ให้ยื่นคำร้องขอถอนทะเบียนต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นเสียภายในเก้าสิบวัน ดังกล่าวแล้วดุจกัน

ถ้าพ้นกำหนดเก้าสิบวันดังกล่าวไว้ในวรรคก่อนแล้วเจ้าของเรือมิได้จัดการอย่างใด ให้ถือว่าเจ้าของเรือมีความประสงค์จะให้เรือนั้นยังคงเป็นเรือไทยต่อไป และเมื่อกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ร้องขอ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันดังกล่าวแล้ว เพื่อขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดเรือนั้นแก่ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ เมื่อขายได้และหักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายเหลือเงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้จ่ายแก่บุคคลผู้มีสิทธิจะได้รับ

ในระหว่างที่จัดการโอนดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่าเรือนั้นเป็นเรือไทย แต่ในกรณีที่มิได้จัดการโอนตามวรรคสองมิให้ถือว่าเรือนั้นเป็นเรือไทย เมื่อพ้นกำหนดร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่เรือนั้นเป็นของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้และเมื่อพ้นกำหนดร้อยแปดสิบวันนั้นไปแล้ว ให้นายทะเบียนเรือถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

 

มาตรา ๓๒  เมื่อหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วได้ตกไปเป็นของบุคคลอื่นใดโดยนิติกรรม หรือโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ให้หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้จัดการบริษัท แล้วแต่กรณี แจ้งความต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนทราบว่าหุ้นได้ตกไปเป็นของบุคคลอื่นนั้น พร้อมทั้งยื่นรายงานเกี่ยวกับสัญชาติของบุคคลที่ได้มาเป็นเจ้าของหุ้นนั้นด้วย

เพื่อการนี้ ให้นายทะเบียนเรือมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลและพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสอบถามได้

 

มาตรา ๓๒ ทวิ[๑๔]  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๗ ตรี (๒) หรือ (๓) หรือมาตรา ๗ จัตวา (๒) ให้นิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยที่มีการฝ่าฝืนดังกล่าว ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นทราบถึงการฝ่าฝืนดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการฝ่าฝืนนั้น

(๒) หยุดใช้เรือไทยที่ตนถือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่เป็นเรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ ถ้านิติบุคคลนั้นไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวตามมาตรา ๗ ได้ต่อไป แต่ยังสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ ทวิ ได้ ให้หยุดใช้เรือนั้นทำการค้าในน่านน้ำไทยโดยพลัน แต่ถ้านิติบุคคลนั้นไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ ทวิ ได้ต่อไป ให้หยุดใช้เรือนั้นทำการขนส่งหรือลากจูงตามที่มีกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือความตกลงระหว่างประเทศกำหนดให้ต้องขนส่งหรือลากจูงโดยเรือไทยโดยพลันด้วย  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่ได้รู้ถึงการฝ่าฝืนในเวลาที่เรืออยู่ในระหว่างการเดินทางโดยมีการขนส่งหรือลากจูงอยู่ ก็ให้ใช้เรือนั้นทำการขนส่งหรือลากจูงต่อไปได้จนถึงเมืองท่าหรือถิ่นที่ตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้าง

(ข) กรณีที่เป็นเรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ ทวิ ถ้านิติบุคคลนั้นไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวตามมาตรา ๗ ทวิ ได้ต่อไป ให้หยุดใช้เรือนั้นทำการขนส่งหรือลากจูงตามที่มีกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือความตกลงระหว่างประเทศกำหนดให้ต้องขนส่งหรือลากจูงโดยเรือไทยโดยพลัน เว้นแต่กรณีที่ได้รู้ถึงการฝ่าฝืนในเวลาที่เรืออยู่ในระหว่างการเดินทางโดยมีการขนส่งหรือลากจูงอยู่ ก็ให้ใช้เรือนั้นทำการขนส่งหรือลากจูงต่อไปได้จนถึงเมืองท่าหรือถิ่นที่ตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้าง

 

มาตรา ๓๓  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ขาดลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย เว้นแต่หุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นจะได้โอนไปยังบุคคลผู้มีลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ขาดลักษณะเช่นนั้น

 

มาตรา ๓๔  ถ้าจำนวนหุ้นในบริษัทจำกัดซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วบกพร่องจนทำให้บริษัทขาดลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดหุ้นซึ่งการโอนหรือตกทอดไปเป็นเหตุให้บริษัทขาดลักษณะเช่นนั้นแก่ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ได้ทราบการขาดลักษณะเช่นนั้น

ในการที่จะถือว่าหุ้นใดเป็นเหตุให้บริษัทขาดลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วได้ เพื่อประโยชน์ในการที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งขายทอดตลาดนั้น ให้ถือเอาหุ้นซึ่งได้โอนไปและเป็นเหตุให้บริษัทขาดลักษณะดังกล่าวแล้ว เป็นหุ้นที่จะต้องขายทอดตลาดดังกล่าวนี้ ถ้ามีจำนวนมากกว่าที่จำเป็นจะต้องขายทอดตลาดก็ให้ขายทอดตลาดเฉพาะหุ้นที่มีเลขหมายน้อยที่สุดเป็นลำดับขึ้นไปจนครบจำนวนอันจะทำให้บริษัทมีลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทยตามมาตรา ๗ หุ้นนอกนั้นไม่ต้องขายทอดตลาด

การขายทอดตลาดต้องขายให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ลงในประกาศครั้งแรก ถ้าภายในกำหนดนั้นไม่มีผู้ซื้อหุ้นจนครบจำนวนอันจะทำให้บริษัทมีลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

 

มาตรา ๓๕  ถ้าจำนวนกรรมการส่วนมากในบริษัทจำกัดซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทแจ้งต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนทราบเหตุการณ์นั้น และถ้าภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แจ้งยังมิได้จัดให้จำนวนกรรมการถูกต้องตามมาตรา ๗ ให้นายทะเบียนเรือถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

เพื่อการนี้ ให้นายทะเบียนเรือมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลและพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสอบถามได้

 

มาตรา ๓๕ ทวิ[๑๕]  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๗ ตรี (๒) หรือ (๓) หรือมาตรา ๗ จัตวา (๒) โดยนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ถ้านิติบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยนั้นได้ต่อไป หากยังมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ทวิ ให้นำมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ทวิ ให้นำมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แล้วแต่กรณี

(๒) ถ้านิติบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา ๗ ทวิ และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยนั้นต่อไป ให้นำมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๔

การจำนองและบุริมสิทธิอันเกี่ยวกับ

เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว

                 

 

มาตรา ๓๖  สัญญาจำนองเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้น ให้ทำเป็นหนังสือตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* และจดทะเบียนการจำนองต่อหน้านายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น

ในเรื่องบุริมสิทธิดังระบุไว้ในมาตรา ๒๗๓ ถึงมาตรา ๒๗๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่าเรือดังกล่าวมาแล้วเป็นอสังหาริมทรัพย์ และให้นำมาตรา ๒๘๕ ถึงมาตรา ๒๘๙ แห่งประมวลกฎหมายนั้นมาใช้บังคับและในเรื่องการจดทะเบียนบุริมสิทธิดังกล่าวมาแล้ว ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่

การจดทะเบียนดังบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนนั้น ให้จดไว้ในสมุดทะเบียนและหมายเหตุไว้ในใบทะเบียน

 

มาตรา ๓๗  ถ้าจะต้องปฏิบัติตามความในมาตราก่อนนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าหนึ่งเมืองท่าใด แล้วแต่กรณี เป็นผู้ทำหน้าที่นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ โดยหมายเหตุไว้ในใบทะเบียน แล้วส่งสำเนาให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นโดยด่วน เมื่อได้รับสำเนาเช่นนั้นแล้ว ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือจดข้อความนั้นไว้ในสมุดทะเบียน

 

หมวด ๕

ชื่อเรือ การเปลี่ยนแปลงเรือ การเปลี่ยนเมืองท่าขึ้นทะเบียน

การจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลง และการจดทะเบียนใหม่

                 

 

มาตรา ๓๘  เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วจะใช้ชื่ออย่างอื่นให้ผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้

ชื่อของเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว จะเปลี่ยนได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*

การขอเปลี่ยนชื่อเรือ ให้ทำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๙  เมื่อได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเรือแล้วการแก้ชื่อที่ตัวเรือ ในสมุดทะเบียน ในใบทะเบียน ในเอกสารอื่นทุกฉบับซึ่งเห็นว่าสมควร และการโฆษณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อเรือนั้น ให้ทำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๐  เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเรือหรือส่วนอื่นของเรือให้ผิดไปจากรายการซึ่งปรากฏอยู่ในใบทะเบียน ผู้ควบคุมเรือต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นต่อนายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้นโดยด่วน ถ้าที่เมืองท่านั้นไม่มีเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงที่เมืองท่าแรกถึงซึ่งมีเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว

 

มาตรา ๔๑  ในการแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนเรือตามมาตราก่อน ให้ผู้ควบคุมเรือส่งใบตรวจเรือของพนักงานตรวจเรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ไปแสดงด้วย

ถ้านายทะเบียนเรือที่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงมิใช่นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือนั้นหมายเหตุรายการเปลี่ยนแปลงไว้ในใบทะเบียนแล้วลงนามกำกับไว้ และให้รายงานรายการเปลี่ยนแปลงนั้นไปให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือทราบโดยด่วน

 

มาตรา ๔๒  ในการแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อเจ้าพนักงานกงสุลไทยตามมาตรา ๔๐ ให้ผู้ควบคุมเรือส่งใบตรวจเรือของพนักงานตรวจเรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* หรือถ้าไม่มีใบตรวจเรือเช่นนั้น ก็ให้ส่งใบตรวจเรือของบุคคลผู้ซึ่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ได้ระบุไว้หรือผู้ซึ่งมีความรู้และฐานะที่เทียบกันได้อย่างใกล้เคียงไปแสดงด้วย

ให้เจ้าพนักงานกงสุลไทยหมายเหตุรายการการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ในใบทะเบียนแล้วลงนามกำกับไว้ และให้รายงานการเปลี่ยนแปลงนั้นไปให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือทราบโดยด่วน กับให้ส่งสำเนาใบตรวจเรือของพนักงานตรวจเรือซึ่งรับรองว่าถูกต้องไปให้ด้วย

 

มาตรา ๔๓  เมื่อได้รับรายงานการเปลี่ยนแปลงและเอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือสั่งให้จดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ และออกใบทะเบียนให้ใหม่

ถ้าเรือนั้นไม่อยู่ที่เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือส่งใบทะเบียนใหม่ไปให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยที่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วแต่กรณี

เมื่อได้รับใบทะเบียนใหม่แล้ว ให้ผู้ควบคุมเรือคืนใบทะเบียนเดิมซึ่งต้องส่งไปให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือเพื่อจัดการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๔  เรือไทยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จะขอโอนไปขึ้นทะเบียนเรือ ณ เมืองท่าอื่นภายในราชอาณาจักรไทยก็ได้ คำขอให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น โดยบุคคลทั้งหมดที่ปรากฏในสมุดทะเบียนว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรือนั้น

เมื่อมีผู้มาขอโอนเมืองท่าขึ้นทะเบียนเรือตามความในวรรคก่อน ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือแจ้งการอนุญาตการโอนนั้นพร้อมทั้งส่งสำเนาเอกสารต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเรือและรายนามบุคคลทั้งหมดที่ปรากฏในสมุดทะเบียนว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรือนั้นไปให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าที่มีความจำนงจะขึ้นทะเบียน

เมื่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนใหม่ได้รับเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น ให้จดรายการของเอกสารเหล่านั้น และรายนามบุคคลทั้งหมดเช่นว่านั้นลงในสมุดทะเบียน แล้วออกใบทะเบียนให้ใหม่ ส่วนใบทะเบียนเดิมให้เรียกคืน เมืองท่านี้ย่อมเป็นเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นต่อไป และให้เปลี่ยนชื่อเมืองท่าที่ตัวเรือเป็นชื่อเมืองท่าใหม่

 

มาตรา ๔๕  การจดทะเบียนเป็นเรือไทยสิ้นไปด้วยเหตุต่าง ๆ ดังระบุไว้ใน มาตรา ๒๒

เมื่อการจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้สิ้นไปด้วยเหตุสูญหาย ถูกเพลิงเผาผลาญ อับปาง ทำลาย หรือถูกละทิ้ง จะขอจดทะเบียนใหม่เป็นเรือไทยได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามความในมาตรา ๑๒ เท่านั้น และในกรณีเช่นว่านี้ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนใหม่

ค่าธรรมเนียมในการตรวจเรือตามมาตรานี้ ให้เรียกเก็บเต็มอัตรา หรือเพียงบางส่วนแล้วแต่พฤติการณ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๔๖  เรือที่ไม่เคยจดทะเบียนเป็นเรือไทยมาขอจดทะเบียนเป็นเรือไทย ต้องจดในชื่อเรือที่ใช้อยู่ในขณะที่ขอจดทะเบียน ส่วนเรือที่เคยจดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้วมาขอจดทะเบียนใหม่ต้องจดในชื่อเรือที่ใช้อยู่ในขณะที่ขอจดทะเบียน แต่ในคำร้องผู้ขอจดทะเบียนต้องแจ้งชื่อเรือครั้งสุดท้ายที่ใช้อยู่ในขณะที่การจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้สิ้นไป

 

หมวด ๖

สิทธิและหน้าที่พิเศษของเรือไทย

                 

 

มาตรา ๔๗  นอกจากจะมีความตกลงกับต่างประเทศเป็นอย่างอื่น เรือไทยซึ่งได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้และเรือมีขนาดต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ สำหรับการค้าในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา ๗ เท่านั้นจะทำการค้าในน่านน้ำไทยได้

บทบัญญัติในวรรคก่อนไม่ใช้บังคับแก่เรือของบุคคลธรรมดาที่เป็นคนต่างด้าวซึ่งมีขนาดต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ สำหรับการค้าในน่านน้ำไทย

 

มาตรา ๔๗ ทวิ[๑๖]  ในกรณีที่รัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า น่านน้ำไทยส่วนใดยังมีเรือไทยทำการตามมาตรา ๔๗ ไม่พอแก่ความต้องการของประเทศ รัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้เรือของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ทำการตามมาตรา ๔๗ ได้ มีกำหนดคราวละไม่เกินหนึ่งปี แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๔๘  ห้ามมิให้บุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ เช่าหรือรับเอาไปโดยประการอื่น ซึ่งเรือไทยมีขนาดตามมาตรา ๘ สำหรับการค้าในน่านน้ำไทยที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้และเอาไปทำการค้าในน่านน้ำไทย

 

มาตรา ๔๙[๑๗]  เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ในระหว่างเวลาที่คงใช้เรือต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้ประจำเรือ

๑. ใบทะเบียนหรือใบทะเบียนชั่วคราว แล้วแต่กรณี

๒. ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือต่าง ๆ

๓. สัญญาคนประจำเรือ

๔. สัญญาเช่าเรือ ถ้ามี

๕. ใบตราส่ง ถ้ามี

๖. บัญชีสินค้าสำหรับเรือ ถ้ามี

๗. สมุดปูมเรือ

๘. ใบปล่อยเรือและใบอนุญาตออกจากท่า ถ้ามี

เอกสารตามวรรคหนึ่ง นอกจากใบทะเบียนหรือใบทะเบียนชั่วคราว แล้วแต่กรณี รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นมิให้ต้องมีได้โดยออกเป็นกฎกระทรวง

เอกสารตามวรรคหนึ่ง อาจใช้พิสูจน์สัญชาติเรือได้ ส่วนภาษาและแบบพิมพ์ของเอกสารนั้น หากมิได้มีข้อความบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้ทำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๕๐[๑๘]  คนประจำเรือไทยที่ได้จดทะเบียนตามความในมาตรา ๗ ซึ่งสามารถทำการค้าในน่านน้ำไทยได้ทุกคนต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย

สำหรับคนประจำเรือไทยที่ได้จดทะเบียนตามความในมาตรา ๗ ทวิ เพื่อใช้ประกอบการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศโดยเฉพาะต้องมีอัตราส่วนของบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๕๑  เรือไทยเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ธงชาติไทยได้

ถ้าเรือลำใดซึ่งมิใช่เรือไทย ใช้ธงชาติไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นเรือไทย ต้องถือว่าเรือลำนั้นฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕๒  ผู้ควบคุมเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ต้องจัดให้มีการชักธงชาติไทยในเมื่อ

๑. เรือราชนาวี หรือเรือราชการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือผู้มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายส่งสัญญาณสั่งให้ชักธงชาติ

๒. ผ่านเรือรบไทยหรือเรือรบต่างประเทศ

๓. ขณะเรือเข้าหรือออกจากเมืองท่าไทย และเมืองท่าต่างประเทศ

๔. ขณะเรืออยู่ในเมืองท่าไทยตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกา จนถึงเวลาอาทิตย์ตก

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นเรือบางขนาดมิต้องปฏิบัติตามบทแห่งมาตรานี้ได้ โดยออกเป็นกฎกระทรวง

 

มาตรา ๕๓  ห้ามมิให้ผู้ควบคุมเรือหรือเจ้าของเรือไทยลำใด กระทำการใด ๆ โดยเจตนาจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจเรือเข้าใจผิดไปว่าเรือนั้นเป็นเรือต่างประเทศ

 

มาตรา ๕๓/๑[๑๙]  ห้ามมิให้ผู้ควบคุมเรือหรือเจ้าของเรือไทยปล่อยทิ้งหรือทำให้สารที่เป็นอันตรายหรือสิ่งใด ๆ ที่มีสารที่เป็นอันตรายปนอยู่พ้นจากเรือลงสู่ทะเลไม่ว่าบริเวณใด ๆ เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดในมาตรา ๕๓/๒  ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เป็นการปล่อยทิ้งจากการสำรวจการแสวงหาประโยชน์ หรือจากกระบวนการเกี่ยวกับทรัพยากรแร่บนพื้นท้องทะเลนอกชายฝั่ง หรือเป็นการปล่อยทิ้งเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการลดหรือการควบคุมมลพิษ

การปล่อยทิ้งตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงการรั่ว การกำจัด การหก การซึม การสูบ การแพร่กระจายหรือการเท สารที่เป็นอันตรายหรือสิ่งใด ๆ ที่มีสารที่เป็นอันตรายปนอยู่ด้วย

บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่ผู้ควบคุมหรือเจ้าของสิ่งก่อสร้างในทะเลทั้งที่ติดตรึงอยู่กับที่หรือที่ลอยน้ำได้ ซึ่งก่อสร้างขึ้นเพื่อการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม หรือสนับสนุนการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม หรือการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลด้วย

 

มาตรา ๕๓/๒[๒๐]  ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชั้นและรายชื่อของสารที่เป็นอันตราย มาตรฐานการควบคุม การปล่อยทิ้งสารที่เป็นอันตราย และวิธีการกำจัดสารที่เป็นอันตราย

 

มาตรา ๕๔  เรือของบุคคลตามมาตรา ๗ อันพึงจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ยังมิได้จดทะเบียนก็ดี หรือเรือซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้วแต่การจดทะเบียนได้สิ้นไปด้วยเหตุต่าง ๆ ดังระบุไว้ในมาตรา ๒๒ ก็ดี ไม่ชอบที่จะได้รับประโยชน์อันเรือไทยจะพึงได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ในเรื่องเสียค่าธรรมเนียมต้องใช้ค่าปรับ ถูกริบ และต้องรับโทษเพื่อความผิดใด ๆ อันเกิดขึ้นในเรือ หรือโดยคนประจำเรือ ให้จัดการแก่เรือนั้นเช่นเดียวกับเป็นเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว

 

หมวด ๖/๑

เรือประมง[๒๑]

                 

 

มาตรา ๕๔/๑[๒๒]  (ยกเลิก)

 

มาตรา ๕๔/๒[๒๓]  ในการขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมง นอกจากต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการจดทะเบียนเรือไทย ผู้ขอจดทะเบียนต้องได้รับหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเรือ

หนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นขอต่อกรมประมงโดยปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมประมงกำหนด และอย่างน้อยต้องมีการรับรองเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ขอจดทะเบียนไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับใบอนุญาตทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการประมง

(๒) เรือที่จะขอจดทะเบียนเรือไทยไม่เคยถูกใช้ในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง

(๓) เรือที่จะขอจดทะเบียนเรือไทยไม่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี

การยื่นคำขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่อธิบดีกรมเจ้าท่ากำหนด

เมื่อนายทะเบียนเรือรับคำขอจดทะเบียนเรือไทยแล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียน เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หนังสือรับรองจากกรมประมง และตัวเรือประมงที่จะทำการจดทะเบียน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมง ก็ให้รับจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงนั้น และดำเนินการจัดให้มีการทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ประจำเรือไว้ที่ตัวเรือเป็นการถาวรตรงจุดที่เห็นได้ง่าย

 

มาตรา ๕๔/๓[๒๔]  การขอเปลี่ยนประเภทของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตัวเรือหรือเครื่องจักรของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และการขอโอนกรรมสิทธิ์เรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือยื่นคำขออนุญาตต่อนายทะเบียนเรือ โดยให้นำความในมาตรา ๕๔/๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวเรือหรือส่วนอื่นของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือแจ้งต่อนายทะเบียนเรือเพื่อทำการตรวจสอบ และเมื่อพนักงานตรวจเรือและเจ้าหน้าที่ของกรมประมงร่วมกันดำเนินการตรวจสอบว่าถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนเรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนเรือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือจึงนำเรือออกใช้ได้

 

มาตรา ๕๔/๔[๒๕]  ในกรณีมีความจำเป็นต้องควบคุมจำนวนเรือสำหรับการประมงเพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือปราบปรามการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการประมง หรือเมื่อได้รับแจ้งการงดการออกใบอนุญาตทำการประมงจากกรมประมง หรือเรือที่ใช้ทำการประมงเกินจำนวนที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติกำหนด ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศงดการจดทะเบียนเรือประมงเป็นการชั่วคราวได้คราวละไม่เกินสองปี

 

มาตรา ๕๔/๕[๒๖]  ให้นายทะเบียนเรือมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือไทยโดยบันทึกเหตุแห่งการเพิกถอน และจำหน่ายทะเบียนเรือไทยออกจากสมุดทะเบียนเรือไทย ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เจ้าของเรือประมงมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอยกเลิกทะเบียนเรือไทยต่อนายทะเบียนเรือ

(๒) อธิบดีกรมประมงแจ้งเจ้าท่าว่าเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการประมง

(๓) มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วมีส่วนเกี่ยวข้องหรือใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือศาลมีคำสั่งริบเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วอันเนื่องมาจากการกระทำความผิด

(๔)[๒๗] เรือประมงที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้วแต่ไม่ได้รับใบอนุญาตใช้เรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือใบอนุญาตใช้เรือสิ้นอายุโดยมิได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าท่าแจ้งให้เจ้าของเรือทราบถึงการสิ้นอายุของใบอนุญาตใช้เรือนั้น

(๕) เรือประมงที่ต้องขอใบอนุญาตทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการประมงแต่มิได้ยื่นขอใบอนุญาตทำการประมงภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับใบทะเบียนหรือนับแต่วันที่ใบอนุญาตทำการประมงสิ้นอายุ หรือยื่นขอใบอนุญาตทำการประมงแต่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง

(๖) เรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งอธิบดีกรมประมงแจ้งมายังเจ้าท่าว่าถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมง และเจ้าของเรือประมงมิได้แจ้งของดใช้เรือหรือมิได้ขอเปลี่ยนประเภทเรือต่อนายทะเบียนเรือภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าท่าได้รับแจ้งการเพิกถอนจากอธิบดีกรมประมง

(๗) เรือที่ต้องจดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำแต่มิได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับใบทะเบียน หรือได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำแล้วแต่ได้รับแจ้งจากอธิบดีกรมประมงว่ามิได้รับการจดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ

(๘) เรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่อธิบดีกรมประมงแจ้งว่าถูกเพิกถอนทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และเจ้าของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำมิได้แจ้งของดใช้เรือหรือมิได้ขอเปลี่ยนประเภทเรือต่อนายทะเบียนเรือภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าท่าได้รับแจ้งการเพิกถอนจากอธิบดีกรมประมง

(๙) มีการแจ้งงดใช้เรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำตามมาตรา ๕๔/๑๐ แล้วฝ่าฝืนนำเรือไปใช้

(๑๐) มีการขอเปลี่ยนประเภทเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำเป็นเรืออื่นตามมาตรา ๕๔/๑๐ แต่ได้นำเรือดังกล่าวมาใช้ทำการประมง หรือใช้ขนถ่ายสัตว์น้ำ แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๕๔/๖[๒๘]  เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทยตามมาตรา ๕๔/๕ ต้องแจ้งจุดจอดเรือภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือถึงการถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทยให้เจ้าท่าทราบ และให้ส่งคืนใบทะเบียนและใบอนุญาตใช้เรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือดังกล่าวจากนายทะเบียนเรือ รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอื่นใดตามที่เจ้าท่ากำหนด

เมื่อเจ้าท่าได้รับแจ้งจุดจอดเรือตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าท่าดำเนินการตรวจสอบถึงความเหมาะสมของจุดจอดเรือ ในกรณีที่เห็นว่าจุดจอดเรือนั้นไม่เหมาะสมเจ้าท่าอาจกำหนดจุดจอดเรือใหม่ตามที่เห็นสมควรก็ได้ และไม่ว่าเรือนั้นจะจอดอยู่ที่ใด ให้เจ้าท่าดำเนินการติดตั้งเครื่องมือควบคุมเรือหรือเครื่องมืออย่างใด ๆ ที่ไม่ให้เรือเคลื่อนจากจุดที่จอด และทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แสดงว่าเรือนั้นถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทย

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

มาตรา ๕๔/๗[๒๙]  ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายเรือจากจุดจอดเรือตามที่ได้แจ้งหรือกำหนดตามมาตรา ๕๔/๖ หรือปลด รื้อถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเครื่องมือควบคุมเรือหรือเครื่องมืออย่างใด ๆ รวมทั้งเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ตามมาตรา ๕๔/๖ วรรคสอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

มาตรา ๕๔/๘[๓๐]  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เจ้าท่าอาจจัดให้มีการดูแลรักษาเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทยหรือมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดูแลรักษาก็ได้ โดยให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของเรือ  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ในกรณีที่เจ้าของเรือไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนด หรือในกรณีไม่ปรากฏตัวเจ้าของเรือ ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจหรือศาลแพ่งที่เจ้าของเรือมีภูมิลำเนาหรือเรือจอดอยู่ในเขตศาลนั้น แล้วแต่กรณี เพื่อให้ศาลสั่งให้นำเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เครื่องอุปกรณ์ของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และทรัพย์สินที่อยู่ในเรือดังกล่าวออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นมาชดใช้ค่าใช้จ่าย ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าใดให้คืนเจ้าของเรือ

 

มาตรา ๕๔/๙[๓๑]  เรือประมงที่เจ้าของเรือประสงค์จะแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือจะต้องมีหนังสือรับรองจากกรมประมง และต้องจัดทำแผนดำเนินการและได้รับอนุมัติแผนดำเนินการจากเจ้าท่า

ในกรณีที่เป็นการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือเนื่องจากเจ้าของเรือประสงค์จะมีเรือประมงลำใหม่ขึ้นทดแทนหรือด้วยเหตุอื่นใด ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าจะมีการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือจริงหรือไม่ ให้เจ้าท่าและเจ้าหน้าที่ของกรมประมงร่วมกันดำเนินการตรวจสอบการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือดังกล่าว

หนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของเรือยื่นขอต่อกรมประมงโดยปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมประมงกำหนด

การจัดทำแผนดำเนินการ การอนุมัติแผนดำเนินการ และการตรวจสอบการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือ ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนดโดยหารือกับกรมประมงก่อน

 

มาตรา ๕๔/๑๐[๓๒]  เพื่อประโยชน์ในการคงไว้ซึ่งทะเบียนเรือไทย เจ้าของเรืออาจแจ้งงดใช้เรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเปลี่ยนประเภทเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำเป็นเรืออื่น หรือเรืออื่นเป็นเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต่อนายทะเบียนเรือ ก่อนวันที่นายทะเบียนเรือมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือไทยและจำหน่ายทะเบียนเรือไทยออกจากสมุดทะเบียนเรือไทย

ในกรณีที่มีการแจ้งเปลี่ยนประเภทเรือตามวรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือและเจ้าหน้าที่ของกรมประมงร่วมกันดำเนินการตรวจสอบว่าถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนเรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนเรือ

การแจ้งงดใช้เรือและการเปลี่ยนประเภทเรือตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่อธิบดีกรมเจ้าท่ากำหนด

 

หมวด ๗

เบ็ดเตล็ด

                 

 

มาตรา ๕๕  ในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือในกรณีความผิดที่เกิดขึ้นในเรือไทย ให้ถือว่าเจ้าพนักงานต่อไปนี้เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย เมื่อปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ และมาตรา ๙๒ แห่งประมวลกฎหมายนั้น

๑. เจ้าท่า หรือผู้รักษาการแทนเจ้าท่า

๒. นายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ ผู้บังคับบัญชาป้อม ผู้บังคับการเรือ หรือผู้บังคับการกองทหารแห่งราชนาวี

๓. เจ้าพนักงานประมงหรือเจ้าพนักงานศุลกากรตั้งแต่ตำแหน่งประจำแผนกขึ้นไป

๔. เจ้าพนักงานอื่น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเพื่อการนี้

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ เจ้าพนักงานประมงและเจ้าพนักงานศุลกากรต่ำกว่าตำแหน่งประจำแผนกลงมา ให้ถือว่าเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

 

มาตรา ๕๖[๓๓]  ภายใต้บังคับมาตรา ๕๗ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกักเรือและยึดเอกสารเกี่ยวกับเรือ ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๗ ตรี มาตรา ๗ จัตวา มาตรา ๑๑ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๗ ทวิ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๓

(๒) เมื่อมีการกระทำความผิดอื่นใดเกิดขึ้นในเรือและความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือโทษประหารชีวิต

 

มาตรา ๕๗  ให้เจ้าพนักงานต่อไปนี้ มีอำนาจกักและยึดตามความในมาตราก่อน

๑. พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และอนุมาตรา ๑ อนุมาตรา ๒ และอนุมาตรา ๔ แห่งมาตรา ๕๕

๒. เจ้าพนักงานศุลกากรตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองขึ้นไป

การกักหรือการยึดเช่นว่านั้น ห้ามมิให้กักหรือยึดเกินกว่าสองวัน โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล การนับระยะเวลานั้น ถ้าเรืออยู่ในเมืองท่าไทย ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่กักเรือหรือยึดเอกสาร ถ้าเรือมิได้อยู่ในเมืองท่าไทยให้นำเรือเข้ามาในเมืองท่าไทยโดยด่วน และระยะเวลาเช่นว่านั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เรือถึงเมืองท่าไทย

ถ้าเจ้าพนักงานเห็นเป็นการสมควรที่จะขยายการกักหรือการยึดออกไปเกินกว่าสองวัน ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในระยะเวลาเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกักหรือยึดต่อไปได้จนกว่าจะได้มีคำชี้ขาดของศาลชั้นต้น คำชี้ขาดนี้ให้ถือว่าเป็นอันถึงที่สุด

ให้เจ้าพนักงาน หรือศาลโดยคำขอของเจ้าพนักงานแล้วแต่กรณี กักเรือหรือยึดเอกสารจนกว่าจะได้ปฏิบัติถูกต้องตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ที่ได้ฝ่าฝืน หรือตามความต้องการของบทกฎหมายอื่น

 

มาตรา ๕๗ ทวิ[๓๔]  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๗ ตรี (๑) หรือมาตรา ๗ จัตวา (๑) หรือในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๗ ตรี (๒) หรือ (๓) หรือมาตรา ๗ จัตวา (๒) โดยนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

 

มาตรา ๕๘  การจดทะเบียน การจดรายการ การแก้หรือการถอนทะเบียนอันจะพึงกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อนายทะเบียนเรือเรียกร้องก็ให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการนั้นมาแสดง จนเป็นที่พอใจของนายทะเบียนเรือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้ว

 

มาตรา ๕๙  ในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ ผู้มีส่วนได้เสียคนใด เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราในกฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะตรวจรายการในสมุดทะเบียนเรือไทยของเมืองท่าใด ๆ ซึ่งเป็นเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือหรือตรวจหลักฐานเกี่ยวด้วยการนั้น หรือหลักฐานอื่นซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*เห็นสมควร หรือจะขอให้คัดสำเนาทั้งหมดหรือบางส่วนพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้

 

มาตรา ๖๐  ให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ย่อรายการการจดทะเบียนหรือการถอนทะเบียนเรือไทย ส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นคราว ๆ โดยมิชักช้า

 

มาตรา ๖๑[๓๕]  ให้เจ้าท่ามีอำนาจกระทำการเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับทางปกครองหรือมีโทษทางอาญาที่เป็นโทษปรับสถานเดียว

หลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่เจ้าท่ากำหนดโดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดด้วย

 

มาตรา ๖๒[๓๖]  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และเงินอย่างอื่นที่ต้องชำระ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและเงินดังกล่าว และกำหนดกิจการอื่น รวมทั้งออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๘

บทกำหนดโทษ[๓๗]

                 

 

ส่วนที่ ๑

โทษทางปกครอง

                           

 

มาตรา ๖๓[๓๘]  ผู้ใดเปลี่ยนประเภทของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตัวเรือหรือเครื่องจักรของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๔/๓ วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔/๖ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๔/๙ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่ได้มีการแจ้งไว้ตามมาตรา ๕๔/๑๐ ต้องชำระค่าปรับทางปกครองดังนี้

(๑) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดต่ำกว่าสิบตันกรอส ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินห้าพันบาท

(๒) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินสามสิบตันกรอส ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราตั้งแต่ห้าพันบาทแต่ไม่เกินห้าหมื่นบาท

(๓) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินสามสิบตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินหกสิบตันกรอส ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท

(๔) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินหกสิบตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยตันกรอส ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราตั้งแต่ห้าหมื่นบาทแต่ไม่เกินห้าแสนบาท

(๕) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินหนึ่งร้อยตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราตั้งแต่หนึ่งแสนบาทแต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท

(๖) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราตั้งแต่สองแสนบาทแต่ไม่เกินสามล้านบาท

ในกรณีที่เห็นสมควร เจ้าท่าอาจมีคำสั่งให้ผู้นั้นดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยก็ได้

 

มาตรา ๖๔[๓๙]  ผู้ใดโอนกรรมสิทธิ์เรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยไม่ได้ดำเนินการทางทะเบียนต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๖๕[๔๐]  ถ้าผู้ถูกปรับตามมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๔ ไม่ชำระค่าปรับทางปกครอง ให้เจ้าท่ามีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาเพื่อบังคับชำระค่าปรับทางปกครอง  ในการนี้ ถ้าศาลพิพากษาให้ชำระค่าปรับทางปกครอง หากผู้นั้นไม่ชำระค่าปรับทางปกครองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชดใช้แทนค่าปรับทางปกครอง แต่มิให้นำมาตรการกักขังแทนค่าปรับมาใช้แก่ผู้นั้น

 

มาตรา ๖๖[๔๑]  ถ้าการกระทำความผิดซึ่งมีโทษปรับทางปกครองเป็นความผิดต่อเนื่องและเจ้าท่าได้พิจารณาสั่งลงโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำต้องชำระค่าปรับรายวันอีกในอัตราดังต่อไปนี้ นับแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองดังกล่าว ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

(๑) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดต่ำกว่าสิบตันกรอส ให้ปรับวันละหนึ่งร้อยบาท

(๒) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินสามสิบตันกรอส ให้ปรับวันละห้าร้อยบาท

(๓) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินสามสิบตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินหกสิบตันกรอส ให้ปรับวันละหนึ่งพันบาท

(๔) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินหกสิบตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยตันกรอส ให้ปรับวันละห้าพันบาท

(๕) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินหนึ่งร้อยตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ให้ปรับวันละหนึ่งหมื่นบาท

(๖) กรณีเป็นเรือที่มีขนาดเกินหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ให้ปรับวันละสามหมื่นบาท

 

มาตรา ๖๗[๔๒]  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติถูกต้องหรือได้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง ภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งตามมาตรา ๖๓ วรรคสอง ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นค่าปรับตามมาตรา ๖๖

 

ส่วนที่ ๒

โทษทางอาญา

                           

 

มาตรา ๖๘[๔๓]  บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย นิติบุคคลซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๗ ทวิ หรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ ตรี หรือมาตรา ๗ จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท

คนต่างด้าวซึ่งให้หรือยอมให้กระทำการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ฝ่าฝืนดังกล่าว

 

มาตรา ๖๘/๑[๔๔]  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖๘ เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ ด้วย

 

มาตรา ๖๘/๒[๔๕]  ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๕ วรรคสอง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๐ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๔/๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท

ผู้ใดนำเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเรือสนับสนุนการประมงที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือตามมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๒/๑ ไปทำการประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือสนับสนุนการประมง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้ถือว่าเรือนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิด และให้ริบเสียทั้งสิ้น[๔๖]

 

มาตรา ๖๘/๓[๔๗]  นิติบุคคลใดซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทย ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ ทวิ (๑) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่แสนบาท

 

มาตรา ๖๘/๔[๔๘]  นิติบุคคลใดซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทย ฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ทวิ (๒) ต้องระวางโทษปรับเป็นรายวัน โดยให้คำนวณค่าปรับจากขนาดของเรือในอัตราตันกรอสละห้าร้อยบาท ตลอดเวลาที่มีการฝ่าฝืน

 

มาตรา ๖๘/๕[๔๙]  ผู้ควบคุมเรือที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๔๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

ถ้าความผิดที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวกับใบทะเบียนหรือใบทะเบียนชั่วคราวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๘/๖[๕๐]  ในกรณีที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๔๗ เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๔๗ ทวิ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ ผู้ควบคุมเรือมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๘/๗[๕๑]  ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๘/๘[๕๒]  เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๖๘/๙[๕๓]  ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๕๓/๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดหรือแก้ไขสารที่เป็นอันตราย ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วย

ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๕๓/๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แล้วให้ส่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดได้ดำเนินการกำจัดหรือแก้ไขสารที่เป็นอันตรายและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วยตนเองในเวลาใกล้เคียงกับเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายตามวรรคหนึ่ง

 

มาตรา ๖๘/๑๐[๕๔]  ในกรณีที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๕๑ ศาลจะสั่งริบเรือ เครื่องประกอบเรือ ผลประโยชน์ที่ได้จากเรือนั้น และวัตถุที่ใช้ทำการฝ่าฝืนนั้นเสียก็ได้

 

มาตรา ๖๘/๑๑[๕๕]  ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา ๕๔/๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

 

มาตรา ๖๘/๑๒[๕๖]  เมื่อเจ้าท่าได้กระทำการเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๑ สำหรับความผิดที่บัญญัติในส่วนนี้แล้ว และผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่เจ้าท่าเปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดยินยอมให้เปรียบเทียบแต่ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป ในกรณีเช่นว่านี้ ให้อายุความเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

 

หมวด ๙

บทบัญญัติเฉพาะกาล

                 

 

มาตรา ๖๙  ภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ เรือทะเลมีขนาดตามมาตรา ๘ สำหรับการค้าในน่านน้ำไทยอันเป็นของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้ และรับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ก่อนวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ ให้ทำการตามมาตรา ๔๗ และมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่งได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่มาตรา ๗ มาตรา ๘ และบทบัญญัติที่เกี่ยวแก่มาตรานั้น ๆ

ส่วนเรือลำน้ำมีขนาดตามมาตรา ๘ สำหรับการค้าในน่านน้ำไทยอันเป็นของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ก่อนวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ ภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ทำการตามมาตรา ๔๗ ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา ๗ มาตรา ๘ และบทบัญญัติที่เกี่ยวแก่มาตรานั้น ๆ

เมื่อพ้นกำหนดสามปี หรือสองปีแล้ว แล้วแต่กรณี ถ้าพิจารณาเห็นว่าน่านน้ำไทยส่วนใดยังมีจำนวนเรือไทยทำการตามมาตรา ๔๗ ไม่พอแก่ความต้องการของประเทศรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้เรือของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา ๗ ดังกล่าวมาแล้ว ทำการตามมาตรา ๔๗ ต่อไปได้ มีกำหนดคราวละไม่เกินสองปี แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดขึ้น

ในระหว่างเวลาสามปีหรือสองปีดังกล่าวข้างต้น แล้วแต่กรณี เรือตามที่กล่าวในมาตรานี้เปลี่ยนแปลงอัตราค่าระวางหรือค่าโดยสารโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก็ดี หรือเรือที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ทำการตามมาตรา ๔๗ ต่อไปได้ภายหลังกำหนดเวลานั้น ๆ ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่รัฐมนตรีได้กำหนดขึ้นก็ดี ห้ามมิให้เรือนั้นได้รับประโยชน์ตามมาตรานี้

 

มาตรา ๗๐  ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลที่จะใช้เป็นคนประจำเรือได้ ยังมีจำนวนไม่พอแก่ความต้องการของประเทศ หรือมีเหตุอื่นอันสมควรอนุญาตให้มีการผ่อนผันเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว ก็ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*มีอำนาจสั่งอนุญาตผ่อนผันจำนวน คุณสมบัติ พื้นความรู้และอัตราคนประจำเรือตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๐ ได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐมนตรี

การขออนุญาตเช่นว่านั้น ให้ผู้ควบคุมเรือ หรือเจ้าของเรือหรือผู้แทนทำเป็นหนังสือยื่นต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* และในระหว่างพิจารณาคำขออนุญาตนั้น มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๐ มาใช้บังคับแก่เรือนั้น

การอนุญาตนั้นให้ออกใบสำคัญกำหนดประเภทคนประจำเรือ ชั้นความรู้ จำนวน กำหนดเวลาที่อนุญาต และอื่น ๆ ให้ไว้แก่ผู้ขอเพื่อนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี


 



บัญชีค่าธรรมเนียมอัตราขั้นสูง[๕๗]

เลขลำดับ

ประเภท

จำนวนเงิน

บาท

สตางค์

ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเรือไทย

 

 

 

(ก) เรือขนาดไม่เกิน ๑๐ ตันกรอส

๒๐

-

 

(ข) เรือขนาดเกิน ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป แต่

 

 

 

ไม่เกิน ๕๐ ตันกรอส

๒๐๐

-

 

(ค) เรือขนาดเกิน ๕๐ ตันกรอสขึ้นไป แต่

 

 

 

ไม่เกิน ๑๐๐ ตันกรอส

๕๐๐

-

 

(ง) เรือขนาดเกิน ๑๐๐ ตันกรอสขึ้นไป แต่

 

 

 

ไม่เกิน ๒๐๐ ตันกรอส

๑,๐๐๐

-

 

(จ) เรือขนาดเกิน ๒๐๐ ตันกรอสขึ้นไป แต่

 

 

 

ไม่เกิน ๑,๐๐๐ ตันกรอส                     ตันกรอสละ

๑๐

-

 

(ฉ)  เรือขนาดเกิน ๑,๐๐๐ ตันกรอสขึ้นไป      ตันกรอสละ

๒๐

-

ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์หรือการจำนอง

 

 

 

(ก) เรือขนาดไม่เกิน ๑๐ ตันกรอส

๒๐

-

 

(ข) เรือขนาดเกิน ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป แต่

 

 

 

 ไม่เกิน ๕๐ ตันกรอส

๒๐๐

-

 

(ค)  เรือขนาดเกิน ๕๐ ตันกรอสขึ้นไป แต่

 

 

 

 ไม่เกิน ๑๐๐ ตันกรอส

๕๐๐

-

 

(ง)  เรือขนาดเกิน ๑๐๐ ตันกรอสขึ้นไป แต่

 

 

 

 ไม่เกิน ๒๐๐ ตันกรอส

๑,๐๐๐

-

 

(จ)  เรือขนาดเกิน ๒๐๐ ตันกรอสขึ้นไป         ตันกรอสละ

๑๐

-

 

 แต่ครั้งหนึ่งไม่เกิน                                   ลำละ

๒๐,๐๐๐

-

ค่าธรรมเนียมการหมายเหตุแก้ข้อความในสัญญา

 

 

 

(ก)  ไม่เพิ่มทุนทรัพย์                                    ครั้งละ

๒๐

-

 

(ข)  เพิ่มทุนทรัพย์

 

 

 

 หนึ่งหมื่นบาทแรกหรือต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท

๕๐

-

 

 หนึ่งหมื่นบาทหลัง                                หมื่นละ

๒๐

-

 

 เศษของหนึ่งหมื่นบาทให้นับเป็นหนึ่งหมื่นบาท

 

 

 

 แต่ฉบับหนึ่งไม่เกิน

๕๐๐

-

 


 

เลขลำดับ

ประเภท

จำนวนเงิน

บาท

สตางค์

[๕๘]

ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนชื่อเรือ การขอโอน

 

 

 

 ไปขึ้นทะเบียนเรือ ณ เมืองท่าอื่น การออก

 

 

 

 ใบทะเบียนแทนใบเก่า การออกใบทะเบียน

 

 

 

 ชั่วคราว การออกใบผ่านเมืองท่าชั่วคราว หรือ

 

 

 

 การออกใบทะเบียนให้ใหม่ในกรณีเปลี่ยน

 

 

 

 แปลงตัวเรือหรือส่วนอื่นของเรือ                  ครั้งละ

๑๐๐

-

ค่าธรรมเนียมการคัดสำเนาหลักฐาน

 

 

 

(ก)  หนึ่งร้อยคำแรกหรือต่ำกว่าหนึ่งร้อยคำ

๑๐

-

 

(ข)  หนึ่งร้อยคำหลัง                                    ร้อยละ

-

 

 เศษของหนึ่งร้อยคำให้นับเป็นหนึ่งร้อยคำ

 

 

การออกใบอนุญาตให้เรือของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วย

 

 

 

 ลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทย ทำการค้า

 

 

 

 ในน่านน้ำไทย                                  ตันกรอสละ

๔๐

-

ค่าธรรมเนียมอื่น                            ครั้งละหรือฉบับละ

๕๐

-


                     

รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒[๕๙]

 

มาตรา ๓  นามประเทศนี้ให้เรียกว่า ประเทศไทย และบทแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า สยาม ให้ใช้คำว่า ไทย แทน

 

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๒ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕[๖๐]

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๗[๖๑]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้กำหนดไว้เป็นเวลา ๓๔ ปีเศษแล้ว ปัจจุบันนี้การขนส่งทางน้ำได้วิวัฒนาการไป และมีเรือขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาก อัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้เดิมอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ไม่เหมาะสมกับภาวะการณ์ในปัจจุบันสมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมเสียใหม่  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑[๖๒]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ในส่วนที่ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทย การออกใบทะเบียนชั่วคราวในต่างประเทศและเอกสารประจำเรือไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังมิได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีเปลี่ยนแปลงตัวเรือหรือส่วนอื่นของเรือในภายหลัง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวและบัญชีค่าธรรมเนียมอัตราขั้นสูงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนั้นโดยที่มาตรา ๖๒ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ แต่ได้มีพระราชบัญญัติโอนอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงหรือกรมซึ่งได้มีการปรับปรุงใหม่ พุทธศักราช ๒๔๘๔ โอนอำนาจดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อความสะดวกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโดยไม่ต้องอ้างพระราชบัญญัติโอนอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงหรือกรมซึ่งได้มีการปรับปรุงใหม่ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อีก สมควรแก้ไขบทบัญญัติมาตรา ๖๒ เสียด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘[๖๓]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. ๒๔๘๑ กำหนดให้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีสัญชาติไทยต้องมีทุนในบริษัทเรือไทยไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ จากกรณีดังกล่าวทำให้ชาวต่างประเทศไม่สนใจที่จะมาลงทุนด้านธุรกิจพาณิชย์นาวี นอกจากนั้นแล้ว การส่งเสริมกองเรือพาณิชย์ของไทยเท่าที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถจัดหาเรือใหม่ ๆ มาใช้ในการบริหารด้านขนส่ง เพราะมีราคาแพงมาก ประกอบกับจะต้องแข่งขันกับต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เรือประเภทขนส่งสินค้าเฉพาะที่บรรจุใส่คอนเทนเนอร์ ซึ่งสะดวกในการขนถ่ายและเดินทาง สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงสภาพเดิมอยู่ได้ และนอกจากนั้น เรือที่ทำการค้าในน่านน้ำไทยในปัจจุบันก็ใช้คนประจำเรือล้วนแต่มีสัญชาติไทยทั้งสิ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้เสีย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๔[๖๔]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้กำหนดอัตราส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทยและคนต่างด้าวในการถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยไว้ในมาตรา ๗ และมาตรา ๗ ทวิ แต่ไม่มีบทลงโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวโดยการถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยแทนคนต่างด้าว นอกจากนั้น การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวยังทำให้คนต่างด้าวได้รับสิทธิและประโยชน์บางอย่างตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวีด้วย สมควรวางมาตรการป้องกันมิให้มีการถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยแทนคนต่างด้าวกับป้องกันมิให้คนต่างด้าวได้รับสิทธิและประโยชน์จากการถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยโดยมิชอบ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๐[๖๕]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากคุณสมบัติของผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗ และมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การลงทุนในกิจการกองเรือพาณิชย์ไม่คล่องตัว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวเสียใหม่เพื่อขยายโอกาสให้มีการลงทุนในกิจการกองเรือพาณิชย์มากยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕[๖๖]

 

มาตรา ๒  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๙๒  ในพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ให้แก้ไขคำว่า “กรมเจ้าท่า” เป็น “กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี” และคำว่า “อธิบดีกรมเจ้าท่า” เป็น “อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี”

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย  ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐[๖๗]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยมีนโยบายที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. ๑๙๗๓ และพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๘ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เพื่อร่วมมือกับนานาประเทศในการป้องกันมลพิษในทะเลอันเนื่องมาจากการปล่อยทิ้งสารที่เป็นอันตรายจากเรือ หรือจากสิ่งก่อสร้างในทะเล ทั้งที่ติดตรึงอยู่กับที่หรือที่ลอยน้ำได้ และตามอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐภาคีห้ามมิให้เรือที่อยู่ในบังคับของรัฐละเมิดข้อกำหนดของอนุสัญญา และต้องจัดให้มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมการกระทำดังกล่าวทั้งหมด  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐[๖๘]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวทำนองเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗๘ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๒๘/๔ และพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๒/๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖  ดังนั้น เพื่อแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑[๖๙]

 

มาตรา ๒  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ เพื่อปรับปรุงระบบการจดทะเบียนเรือประมง สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของเจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือประมง ตลอดจนบทลงโทษให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทำการประมงสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบอันเป็นการยกระดับมาตรฐานการประมงของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็วเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทำการประมงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

 

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑[๗๐]

 

มาตรา ๒  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๘  ให้เรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และเรือสนับสนุนการประมง ตามบัญชีรายชื่อเรือสูญหายถาวรที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนดในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ถือเป็นเรือที่มีการแจ้งแก่นายทะเบียนตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑ หรือมาตรา ๒๒/๑ แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้

 

มาตรา ๙  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลเรือไทยที่ใช้ทำการประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือสนับสนุนการประมง เพื่อใช้ในการติดตามควบคุมและเฝ้าระวังมิให้มีการนำเรือไปใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจากการจัดทำฐานข้อมูลปรากฏว่ามีเรือบางส่วนที่เจ้าของเรือแจ้งว่าเรือจม สูญหาย จำหน่าย จ่าย หรือโอนให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สามารถแสดงหลักฐานและไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบได้ว่าเรืออยู่ที่ใด จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการนำเรือดังกล่าวไปใช้ทำการประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือสนับสนุนการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรกำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการนำเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และเรือสนับสนุนการประมงดังกล่าวกลับเข้ามาจดทะเบียนเป็นเรือไทย หรือนำมาใช้ทำการประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือสนับสนุนการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็วเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการการประมงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

 

 

 

 

นุสรา/ปรับปรุง

๑ เมษายน ๒๕๖๑

 

พรวิภา/เพิ่มเติม

๑๖ มกราคม ๒๕๖๒

 

ปริญสินีย์/ตรวจ

๑๘ มกราคม ๒๕๖๒

 

 


[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖/-/หน้า ๒๓๐/๑๐ เมษายน ๒๔๘๒

[๒] มาตรา ๕ ๖/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓] มาตรา ๕ ๖/๒ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔] มาตรา ๕ ๖/๓ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕] มาตรา ๕ ๑๔. เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐

[๖] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๐

[๗] มาตรา ๗ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๐

[๘] มาตรา ๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๔

[๙] มาตรา ๗ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๔

[๑๐] มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๑๑] มาตรา ๒๒/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

[๑๒] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑

[๑๓] มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑

[๑๔] มาตรา ๓๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๔

[๑๕] มาตรา ๓๕ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๔

[๑๖] มาตรา ๔๗ ทวิ เพิ่มโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๒ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

[๑๗] มาตรา ๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑

[๑๘] มาตรา ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘

[๑๙] มาตรา ๕๓/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐

[๒๐] มาตรา ๕๓/๒ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐

[๒๑] หมวด ๖/๑ เรือประมง เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๒] มาตรา ๕๔/๑ ยกเลิกโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๓] มาตรา ๕๔/๒ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๔] มาตรา ๕๔/๓ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๕] มาตรา ๕๔/๔ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๖] มาตรา ๕๔/๕ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๗] มาตรา ๕๔/๕ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๘] มาตรา ๕๔/๖ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

 

[๒๙] มาตรา ๕๔/๗ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๐] มาตรา ๕๔/๘ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๑] มาตรา ๕๔/๙ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๒] มาตรา ๕๔/๑๐ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๓] มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๔

[๓๔] มาตรา ๕๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๔

[๓๕] มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๖] มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๗] หมวด ๘ บทกำหนดโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๘] มาตรา ๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๓๙] มาตรา ๖๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๐] มาตรา ๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๑] มาตรา ๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๒] มาตรา ๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๓] มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๔] มาตรา ๖๘/๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๕] มาตรา ๖๘/๒ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๖] มาตรา ๖๘/๒ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทยพุทธศักราช ๒๔๘๑ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๗] มาตรา ๖๘/๓ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๘] มาตรา ๖๘/๔ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๔๙] มาตรา ๖๘/๕ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๐] มาตรา ๖๘/๖ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๑] มาตรา ๖๘/๗ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๒] มาตรา ๖๘/๘ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๓] มาตรา ๖๘/๙ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๔] มาตรา ๖๘/๑๐ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๕] มาตรา ๖๘/๑๑ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๖] มาตรา ๖๘/๑๒ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

[๕๗] บัญชีค่าธรรมเนียมอัตราขั้นสูง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๗

[๕๘] บัญชีค่าธรรมเนียมอัตราขั้นสูง ลำดับ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑

[๕๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖/-/หน้า ๙๘๐/๖ ตุลาคม ๒๔๘๒

[๖๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๘๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕/๖ มิถุนายน ๒๕๑๕

[๖๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๗๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๑๗

[๖๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๑๕๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗/๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๑

[๖๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๕๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๘/๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๘

[๖๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๑๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

[๖๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๕๓ ก/หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๔๐

[๖๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๐๒ ก/หน้า ๖๖/๘ ตุลาคม ๒๕๔๕

[๖๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๒๖ ก/หน้า ๑/๖ มิถุนายน ๒๕๕๐

[๖๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

[๖๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๙ ก/หน้า ๑๗/๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑

[๗๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๑๒ ก/หน้า ๘๔/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑