ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ระเบียบ
เริ่มใช้บังคับ : 16 พ.ย. 2565

ระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเรือให้บริการรับของเสีย พ.ศ.2565

Marine Department Rule on criteria and rules on waste reception service ship B.E.2565


ระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเรือให้บริการรับของเสีย พ.ศ.๒๕๖๕

________________________

เพื่อให้การพิจารณาเรือให้บริการรับของเสียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจของกรมเจ้าท่าในการดูแลความปลอดภัยในการคมนาคมและการสัญจรทางน้ำ ดูแลรักษา สิ่งแวดลอมทางนํ้า ตลอดจนป้องกันและปราบปรามการลักลอบทิ้งของเสียในแหล่งน้ำสาธารณะและ ทะเลภายในน่านน้ำไทยตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. ๑๙๗๓ ที่แก้ไขปรับปรุงโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๘ (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, 1973 as modified by the Protocol of 1978) อธิบดีกรมเจ้าท่า จึงวางระเบียบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเรือให้บริการรับของเสียไว้ ดังต่อไปนี้                                                                                                                 

 ข้อ ๑ ระเบียบนี้ให้เรียกว่า “ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเรือ ให้บริการรับของเสีย พ.ศ. ๒๕๖๕"                                                                                                   

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป                       

 ข้อ ๓ บรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่งหรือข้อสั่งการใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้บังคับแทน                                                                                                                             

ข้อ ๔ ในระเบียบนี้ “ของเสียจากเรือ” หมายถึง น้ำมันใช้แล้ว น้ำปนน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ น้ำเสียจากเรือ น้ำอับเฉา ขยะและกากของเสียต่าง ๆ และสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานตามปกติของเรือ หรือการบำรุงรักษาเรือ หรือการปฏิบัติงานบนเรือซึ่งต้องทิ้งอย่างสม่ำเสมอตามกำหนดเวลา รวมถึง สารทำความสะอาด น้ำล้างระวางสินค้าในเรือ แต่ไม่รวมถึงสินค้าในระวางเรือ ได้แก่ น้ำมัน สารเหลวมีพิษ สารอันตรายในรูปแบบหีบห่อที่ขนส่งทางทะเล และสัตว์น้ำจากการทำประมง                                                                     

ข้อ ๕ ผู้ใดประสงค์จะขอใช้เรือเพื่อให้บริการรับของเสียจากเรือ ให้ยื่นคำร้องตามแบบ วล.๒ ที่ปรากฏในภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ ต่อสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้                                                                                                               

 (๑) ชื่อ นามสกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชนของเจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ กรณีการเช่าเรือหรือนําเรือที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือมายื่นขอใช้เรือเพื่อให้บริการ รับของเสียจากเรือ ต้องแสดงสัญญาการเช่าเรือหรือบันทึกข้อตกลงการให้ใช้เรือระหว่างเจ้าของหรือ ผู้ครอบครองเรือกับผู้ที่จะนำเรือมาให้บริการรับของเสีย พร้อมทั้งชื่อ นามสกุล และหมายเลขประจำตัว ประชาชนของทั้งสองฝ่าย                     

 (๒) ชื่อเรือและหมายเลขทะเบียนเรือ พร้อมภาพถ่ายที่ชัดเจนทั้งภายนอกตัวเรือ (ด้านซ้าย และด้านขวา) และบนดาดฟ้าและ/หรือระวางเรือ กรณีเรือต่อสร้างใหม่ที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๔ เมตรขึ้นไป ซึ่งยังไม่มีหมายเลขทะเบียนเรือ อนุโลมให้สามารถยื่นใบสำคัญรับรองการอนุมัติแบบเรือก่อนได้                                             

 (๓) ชื่อ นามสกุล หมายเลขประจำตัวประชาชน และหมายเลขประกาศนียบัตรของผู้ปฏิบัติงาน บนเรือทุกตำแหน่ง                                                                                                               

 (๔) รายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะของเรือ (Ship Particular)                                               

 (๕) มาตรการป้องกันของเสียจากเรือตกหล่นรั่วไหลลงสู่ทะเลหรือแหล่งน้ำสาธารณะ                           

 (๖) แผนปฏิบัติการกรณีเกิดเหตุของเสียจากเรือตกหล่นรั่วไหลลงสู่ทะเลหรือแหล่งน้ำสาธารณะ                           

(๗) รายการอุปกรณ์ป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำประจำเรือ พร้อมภาพถ่ายที่ชัดเจน และต้องมีอุปกรณ์ไว้ประจำบนเรือตลอดเวลา ทั้งนี้ รายละเอียดของรายการอุปกรณ์ป้องกันและ ขจัดมลพิษทางน้ำประจำเรือ ปรากฏตามภาคผนวก ๒ ที่แนบท้ายระเบียบนี้                                                                         

 (๘) หลักฐานแสดงการติดตั้งระบบระบุตัวตนอัตโนมัติอย่างน้อยระดับชั้น บี (Automatic Identification System : AIS Class B) พร้อมคู่มือวิธีปฏิบัติการแจ้งเรือเข้า - ออก                                                     

(๙) หลักฐานแสดงการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้บนเรือ พร้อมแจ้งช่องทางในการเข้าถึงสัญญาณภาพ เพื่อแสดงภาพเคลื่อนไหวในระหว่างปฏิบัติงาน                                                                                     

(๑๐) แผนที่แสดงเส้นทางการเดินเรือและพื้นที่ให้บริการรับของเสียจากเรือ                                     

(๑๑) สัญญาหรือบันทึกข้อตกลงการใช้เรือบริการรับของเสียจากเรือระหว่างเจ้าของหรือ ผู้ครอบครองเรือ กับผู้ให้บริการจัดเก็บและบำบัดของเสียจากเรือที่ได้รับหนังสือรับรองเป็นผู้ให้บริการ จัดเก็บและบำบัดของเสียจากเรือซึ่งออกโดยกรมเจ้าท่า และหนังสือรับรองนั้นยังคงเหลืออายุการใช้งาน มากกว่า ๖ เดือน (เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือและผู้ให้บริการจัดเก็บและบำบัดของเสียจากเรือ จะเป็นบุคคลเดียวกัน)                                     

 (๑๒) สัญญาหรือบันทึกข้อตกลง ๓ ฝ่าย ระหว่างผู้ให้บริการจัดเก็บและบำบัดของเสียจากเรือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองท่าเรือ ในการใช้ท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งของเสีย จากเรือไปกำจัด                   

 (๑๓) กรณีเรือให้บริการรับของเสียจากเรือประเภทน้ำมันใช้แล้ว น้ำปนน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ สารทำความสะอาด น้ำล้างเรือ น้ำเสียต่าง ๆ ต้องจัดทำประกันภัยเรือที่มีความคุ้มครองสำหรับ ชดเชยค่าใช้จ่ายการขจัดมลพิษทางน้ำ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและบรรเทา ผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมกันไม่น้อยกว่า ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากของเสียจากเรือดังกล่าวหกรั่วไหล ลงสู่แหล่งน้ำ (ยกเว้นเรือให้บริการรับของเสียจากเรือประเภทขยะและกากของเสียต่าง ๆ ไม่ต้อง จัดทำประกันภัยเรือ) ทั้งนี้ หากค่าชดใช้ความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษ การบำบัดฟื้นฟู และบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบเกินกว่าวงเงินคุ้มครองของการประกันภัย เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ และผู้ให้บริการจัดเก็บและบำบัดของเสียจากเรือ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินดังกล่าวด้วย     

 ข้อ ๖ การพิจารณาความเหมาะสมของเรือให้บริการรับของเสีย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้                           

 (๑) มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนตามข้อ ๕                                                                               

 (๒) เรือให้บริการรับของเสียจากเรือประเภทน้ำมันใช้แล้ว น้ำปนน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ สารทำความสะอาด น้ำล้างเรือ และน้ำเสียต่าง ๆ ระวางหรือถังเก็บต้องมีฝาปิดมิดชิด หากมีการ แบ่งแยกถังเก็บ ถังทุกใบต้องมีปริมาตรไม่น้อยกว่า ๑ ลูกบาศก์เมตร และมีระบบท่อทางและ ปั๊มสูบถ่ายอย่างเพียงพอ                                         

 (๓) เรือให้บริการรับของเสียจากเรือประเภทขยะและกากของเสียต่าง ๆ ระวางหรือถังเก็บ ต้องมีฝาปิดหรือวัสดุปกคลุมมิดชิด ต้องแบ่งแยกถังเก็บกากของเสียทั่วไปกับของเสียอันตรายไม่ให้ปะปนกัน                               

 (๔) เรือให้บริการรับของเสียต้องมีวิทยุสื่อสารและเปิดใช้งานตลอดเวลา                                           

 (๕) เรือให้บริการรับของเสียต้องมีระบบติดตามเส้นทางการเดินเรือและต้องเปิดสัญญาณ ไว้ตลอดเวลา                                                                                                                                     

ข้อ ๗ เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่าเรือให้บริการรับของเสียมีความเหมาะสมตามข้อ 5 ให้กลุ่มสิ่งแวดล้อม สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำรายงานต่อสำนักมาตรฐานเรือ เพื่อตรวจสอบสภาพตัวเรือ อุปกรณ์ป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำประจำเรือ และเครื่องส่งสัญญาณ ติดตามเส้นทางการเดินเรือ หากพบว่าครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้ดำเนินการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ และรายงานต่อสำนักมาตรฐานทะเบียนเรือเพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตใช้เรือให้บริการรับของเสีย ก่อนส่งให้กลุ่มสิ่งแวดล้อม สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ประกาศรายชื่อเรือให้บริการ รับของเสียจากเรือบนเว็บไซต์กรมเจ้าท่าต่อไป                                       

 ข้อ ๘ ผู้ใดประสงค์จะต่ออายุการใช้เรือเพื่อให้บริการรับของเสีย ให้ยื่นคำร้องตามแบบ วล.๒ พร้อมเอกสารหลักฐานตามข้อ ๕ (๑) (๒) (๓) (๗) (๑๑) (๑๒) และ (๑๓) ต่อสำนักความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมทางน้ำล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ก่อนวันที่เอกสารหลักฐานฉบับหนึ่งฉบับใดตามข้อ ๕ จะสิ้นอายุลง                 

ข้อ ๙ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของเอกสารหลักฐานตามข้อ ๕ (๑) (๒) (๓) (๑๑) (๑๒) หรือ (๑๓) แม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง ให้ผู้ประสงค์นำเรือมาให้บริการรับของเสียจากเรือ ยื่นคำร้องตามแบบ วล.๒ พร้อมเอกสารหลักฐานทุกฉบับ ตามข้อ ๕ (๑) - (๑๓) ต่อสำนักความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมทางน้ำเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง                                                                                                               

ข้อ ๑๐ หากพบว่าเรือให้บริการรับของเสียใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือเงื่อนไขที่ กรมเจ้าท่ากำหนด นายทะเบียนเรืออาจพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตใช้เรือลำดังกล่าวได้                                                               

ข้อ ๑๑ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้                                                                                                     

ประกาศ ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕