โดยที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended ) บทที่ XIV Safety Measures for Ships Operating in Polar Waters ให้ใช้ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยเรือเดินเขตขั้วโลก (International Code for Ships Operating in Polar Waters) กับเรือเดินเขตขั้วโลก ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจและการออกใบสำคัญรับรอง ระหว่างประเทศสำหรับเรือเดินเขตขั้วโลกเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาและประมวลข้อบังคับดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ และมาตรา ๑๖๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ เจ้าท่า โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือเดินเขตขั้วโลก พ.ศ. 2566”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดากฎข้อบังคับ ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วซึ่งขัด หรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ
๔ ข้อบังคับนี้ให้ใช้กับเรือเดินเขตขั้วโลก ดังนี้
(๑) เรือเดินเขตขั้วโลกที่ต่อขึ้นตั้งแต่วันที่
๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐
(๒) ภายหลังจากวันที่
๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เรือเดินเขตขั้วโลกที่ต่อก่อนวันที่
๑ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๖๐ จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับนี้ตั้งแต่การตรวจช่วงกลางอายุ
(Intermediate survey)
หรือการตรวจเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่
(Renewal survey) แล้วแต่ว่าการตรวจใดจะเกิดขึ้นก่อน
ข้อบังคับนี้ไม่ใช้กับเรือเดินเขตขั้วโลกของรัฐบาลที่มิได้ใช้เพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ตามให้เรือนั้นปฏิบัติตามข้อบังคับนี้อย่างเหมาะสมและสามารถปฏิบัติได้
ข้อ ๕ ในข้อบังคับนี้
“เรือเดินเขตขั้วโลก ” (Polar ship) หมายถึง เรือที่ต่อหรือดัดแปลงเพื่อเดินเขตขั้วโลก
“ประมวลข้อบังคับ ” หมายถึง ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยเรือเดินเขตขั้วโลก (International Code for Ships Operating in Polar Waters) ที่รับรองโดยมติคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ที่ ๓๘๕ (๙๔) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวถูกรับรองและมีผลใช้บังคับ ตามบทบัญญัติของข้อ ๘ ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับขั้นตอนแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้บังคับกับภาคผนวกนอกเหนือจากบทที่ I รวมถึงที่อาจมีการแก้ไขปรับปรุงในอนาคต
“ต่อเรือ” หมายถึง การต่อเรือที่ได้วางกระดูกงูแล้ว หรืออยู่ในขั้นตอนการต่อเรือที่คล้ายคลึงกัน “การต่อเรือที่คล้ายคลึงกัน” หมายถึง (1) การต่อเรือที่มีการระบุประเภทเรือตั้งแต่เริ่มต้น และ (2) การต่อเรือลำนั้นได้ดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย ๕๐ ตันหรือร้อยละ ๑ ของมวลประมาณของวัสดุโครงสร้างทั้งหมด แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า
“เขตน่านน้ำขั้วโลก” (Polar waters) หมายถึง บริเวณเขตน่านน้ำอาร์กติก หรือบริเวณพื้นที่เขตแอนตาร์กติก หรือทั้งสองบริเวณ
“เขตน่านน้ำอาร์กติก” (Arctic waters) หมายถึง พื้นที่ทางเหนือของเส้นละติจูด 58 º 00 ΄.0 เหนือ และลองจิจูด 042 º 00 ΄.0 ตะวันตก ถึงละติจูด 64 º 37 ΄.0 เหนือ, ลองจิจูด 035 º 27 ΄.0 ตะวันตก และจากเส้น rhumb ถึงละติจูด 67 º 03 ΄.9 เหนือ, ลองจิจูด 026 º 33 ΄.4 ตะวันตก และจากเส้น rhumb ถึงละติจูด 70 ๐ 49 ΄.56 เหนือ และลองจิจูด 008 º 59 ΄.61 ตะวันตก (เขตน่านน้ำซอลแคป แจนไมเอน (Sørkapp, Jan Mayen)) และทางชายฝั่งทางใต้ของเขตน่านน้ำ (Jan Mayen) ถึง 73 º 31 ' .6 เหนือ และ 019 º01'.0 ตะวันออก โดยเกาะบีโอโนย่า (Bjørnøya) จากนั้นเป็นเส้นเดินวงใหญ่ถึงละติจูด 68 º38 ΄.29 เหนือ และลองจิจูด 043 º 23 ΄.08 ตะวันออก (เขตน่านน้ำ Cap Kanin Nos) และทางชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปเอเชียไปทางตะวันออกจนถึงช่องแคบแบริ่งจากนั้นจากช่องแคบแบริ่งไปทาง ทิศตะวันตกถึงละติจูด 60 º เหนือ ถึงเขตน่านน้ำอิลเพิร์สกี้ (Il'pyrskiy) และตามเส้นขนานที่ 60 º เหนือ ไปทางทิศตะวันออกจนถึงช่องแคบอิโตลิน (Etolin) และจากนั้นไปทางชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาเหนือไกลออกไปทางใต้ละติจูด 60 º เหนือ และจากนั้นไปทางตะวันออกตามแนวขนานของละติจูด 60 º เหนือถึงลองจิจูด 056 º 37 ΄.1 ตะวันตก และจากนั้นไปถึงละติจูด 58 º 00 ΄.0 เหนือ, ลองจิจูด 042 º 00 ΄.0 ตะวันตก
“พื้นที่เขตแอนตาร์กติก
”
(Antarctic area) หมายถึง พื้นที่ทางทะเลที่อยู่ตั้งแต่ละติจูด 600 ใต้
จนถึงขั้วโลกใต้
ข้อ ๖ การตรวจเรือเดินเขตขั้วโลก ให้ตรวจตามข้อ ๗ หรือข้อ ๘ ประกอบกับข้อ ๙ และข้อ ๑๐ ของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล พ.ศ. ๒๕๕๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ ๗ เรือเดินเขตขั้วโลกต้องปฏิบัติตามประมวลข้อบังคับตามภาคผนวก 1 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
ข้อ ๘ เรือเดินเขตขั้วโลกต้องจัดให้มีคู่มือการใช้งาน โดยคู่มือต้องมีรายละเอียดและคำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลบนเรือทุกคนที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการใช้เรือเดินเขตขั้วโลก (Polar Water Operational Manual (PWOM)) ให้มีความปลอดภัย สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน เมื่อเรือจัดให้มีคู่มือการใช้งานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้กรมเจ้าท่าหรือสถาบันการตรวจเรือ เป็นผู้อนุมัติคู่มือการใช้งานและให้สำเนาคู่มือเก็บไว้บนเรือ ตลอดจนปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเสมอ
ข้อ ๙ เรือเดินเขตขั้วโลกต้องมีใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือเดินเขตขั้วโลก (Polar Ship Certificate) ตามแบบที่ปรากฏในภาคผนวก 2 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
ข้อ ๑๐ เจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือที่มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือเดินเขตขั้วโลก ต้องยื่นคำร้องตามแบบ ก. ๕ ล่วงหน้าก่อนวันนัดหมายตรวจเรือไม่น้อยกว่า ๓ วัน สำหรับการตรวจเรือภายในประเทศ และไม่น้อยกว่า ๒๑ วัน สำหรับการตรวจเรือในต่างประเทศ เมื่อพบว่าเรือเดินเขตขั้วโลกเป็นไปตามข้อบังคับนี้ ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือเดินเขตขั้วโลกภายใน ๓ วันทำการ นับตั้งแต่กลับจากการตรวจเรือ
ข้อ ๑๑ อายุและการมีผลของใบสำคัญรับรอง (Duration and validity of certificate) (๑) ใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือเดินเขตขั้วโลก ต้องออกให้เป็นระยะเวลาตามที่กรมเจ้าท่าระบุ ซึ่งต้องไม่เกิน ๕ ปี (๒) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ (๒.๑) นอกเหนือจากกรณีข้อ ๑๑ (๑) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นภายใน ๓ เดือนก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ใบสำคัญรับรองใหม่ให้มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือจนถึงกำหนดไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม (๒.๒) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นหลังจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ ทั้งนี้ ใบสำคัญรับรองใหม่ต้องมีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม (๒.๓) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมเกินกว่า ๓ เดือน ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ ทั้งนี้ ใบสำคัญรับรองต้องมีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ (๓) กรณีใบสำคัญรับรองที่ออกให้มีอายุน้อยกว่า ๕ ปี เจ้าพนักงานตรวจเรือสามารถขยายวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองออกไปจนถึงระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ ๑๑ (๑) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องดำเนินการตรวจเรือตามประมวลข้อบังคับแล้ว (๔) กรณีใบสำคัญรับรองของเรือลำใดหมดอายุลงในขณะที่เรือนั้นไม่อยู่ในเมืองท่าที่สามารถทำการตรวจเรือได้ เจ้าพนักงานตรวจเรือสามารถขยายอายุใบสำคัญรับรองออกไปเพื่อให้เรือเดินทางไปยังเมืองท่าที่สามารถรับการตรวจเรือได้ในกรณีที่มีเหตุอันควรเท่านั้น โดยให้การขยายอายุใบสำคัญรับรองข้างต้นมีระยะเวลาไม่เกิน ๓ เดือน เมื่อเรือลำดังกล่าวเดินทางถึงเมืองท่าที่สามารถทำการตรวจเรือได้แล้ว ให้เข้ารับการตรวจเรือโดยพลัน และห้ามมิให้อาศัยประโยชน์จากการขยายอายุใบสำคัญรับรองนี้เดินทางออกจากเมืองท่าจนกว่าจะได้รับใบสำคัญรับรองใหม่ ทั้งนี้ ใบสำคัญรับรองใหม่ ให้มีกำหนดอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมก่อนมีการขยายอายุ (๕) กรณีใบสำคัญรับรองที่ออกให้แก่เรือที่เดินทางระยะสั้น ซึ่งไม่เคยได้รับการขยายอายุใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดข้างต้น เจ้าพนักงานตรวจเรือสามารถขยายอายุใบสำคัญรับรองออกไปได้ ไม่เกิน ๑ เดือน ทั้งนี้ เมื่อการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้น ให้ออกใบสำคัญรับรองใหม่ โดยมีกำหนดอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม (๖) ในสถานการณ์พิเศษ (Special circumstances) ที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกใบสำคัญรับรองใหม่โดยใช้วันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๑ (๒) (๒.๒) ข้อ ๑๑ (๔) และข้อ ๑๑ (๕) ให้ออกใบสำคัญรับรองใหม่โดยกำหนดอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันเสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ (๗) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นลงแต่ไม่สามารถออกใบสำคัญรับรองใหม่ได้ หรือไม่สามารถนำใบสำคัญรับรองไปไว้บนเรือได้ก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือสถาบันการตรวจเรือสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองเดิมเพื่อให้ใบสำคัญรับรองนั้นมีผลต่อไปอีกไม่เกิน ๕ เดือนนับจากวันหมดอายุ (๘) การตรวจเรือประจำปีหรือการตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง ให้ดำเนินการ ดังนี้ (๘.๑) การตรวจเรือประจำปี (Annual survey) ให้กระทำทุกปีในช่วงเวลาก่อนหน้า ๓ เดือน หรือหลัง ๓ เดือน ของวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรอง (๘.๒) การตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางของใบสำคัญรับรอง ให้กระทำได้ก่อนหน้า ๖ เดือน หรือหลัง ๖ เดือน ของวันที่ใบสำคัญรับรองครบรอบปีที่ ๒ หรือปีที่ ๓ ของใบสำคัญรับรอง ให้กระทำแทนที่การตรวจครั้งใดครั้งหนึ่งของการตรวจเรือประจำปีตามข้อ ๑๑ (๘.๑) (๙) กรณีการตรวจเรือประจำปี การตรวจเรือช่วงกลางอายุ หรือการตรวจเรือตามรอบระยะเวลาเสร็จสิ้นก่อนช่วงเวลาที่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้ ให้ดำเนินการ ดังนี้ (๙.๑) แก้ไขวันครบรอบปีที่แสดงไว้ในใบสำคัญรับรองที่เกี่ยวข้องด้วยการสลักหลัง และลงวันที่ซึ่งต้องไม่เกิน ๓ เดือน หลังจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ (๙.๒) ทำการตรวจเรือประจำปี การตรวจเรือช่วงกลางอายุ การตรวจเรือตามรอบระยะเวลาโดยใช้วันครบรอบปีที่กำหนดขึ้นใหม่ (๙.๓) หากมีการตรวจเรือประจำปี หรือการตรวจเรือช่วงกลางอายุ หรือการตรวจเรือตามรอบระยะเวลาอย่างน้อย ๑ ครั้ง ซึ่งมีช่วงห่างระหว่างการตรวจเรือไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับนี้ ให้คงวันหมดอายุเดิมได้ (๑๐) ให้ใบสำคัญรับรองที่ออกให้ภายใต้ข้อบังคับนี้สิ้นสุดลงในกรณี ดังนี้ (๑๐.๑) ไม่ได้ทำการตรวจเรือตามช่วงเวลาที่กำหนดในข้อ ๑๑ (๘) (๑๐.๒) เมื่อเรือมีการเปลี่ยนสัญชาติ
ข้อ ๑๒ อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการตรวจเรือเพื่อออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือเดินเขตขั้วโลก ให้เป็นไปตามภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๓ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์
รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมเจ้าท่า