ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ข้อบังคับ
เริ่มใช้บังคับ : 30 ม.ค. 2560

(SSB) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล พ.ศ. ๒๕๕๙

Ship Survey Regulation on Criterias, Methods and Conditions of Issuance of Certificate relating to Safety of Life at Sea B.E. 2559


กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล
พ.ศ. ๒๕๕๙
                 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และมาตรา ๑๖๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กฎข้อบังคับนี้เรียกว่า “กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล พ.ศ. ๒๕๕๙”

ข้อ ๒ กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ บรรดากฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรืออื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎข้อบังคับนี้ให้ใช้กฎข้อบังคับนี้แทน

ข้อ ๔ กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับเรือที่เดินทะเลระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้
(๑) เรือโดยสาร ทุกขนาดตันกรอสส์
(๒) เรือสินค้า ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป เว้นแต่การตรวจการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสาร ตามความในข้อ ๘ (๓) ใช้บังคับกับเรือสินค้าซึ่งมีขนาดตั้งแต่ ๓๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป
กฎข้อบังคับนี้ไม่ใช้บังคับกับเรือรบ เรือช่วยรบ เรือที่มิใช่เรือกล เรือไม้ที่ต่อแบบโบราณ เรือสำราญ และกีฬา และเรือประมง

ข้อ ๕ ในกฎข้อบังคับนี้
“เรือโดยสาร (Passenger ship)” หมายความว่า เรือที่บรรทุกคนโดยสารเกินสิบสองคน
“เรือสินค้า (Cargo ship)” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือโดยสาร
“เรือประมง (Fishing vessel)” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับการจับสัตว์น้ำหรือทรัพยากรที่มีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเล
“เรือสำราญและกีฬา (Yacht)” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ และไม่ได้ใช้เพื่อการค้า การทหาร หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
“เรือไม้ที่ต่อแบบโบราณ (Wooden ship with primitive build)” หมายความว่า เรือใบเสาเดียวเรือสำเภาหรือเรือไม้ ที่ต่อตามแบบเรือที่ใช้อยู่ในสมัยโบราณ
“คนโดยสาร (Passenger)” หมายความว่า คนที่อยู่ในเรือ เว้นแต่คนประจำเรือหรือผู้อื่นที่รับจ้างทำงานในเรือและเด็กที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งปี
“วันครบรอบปี (Anniversary date)” หมายความว่า วันและเดือนในแต่ละปีซึ่งตรงกับวันที่หมดอายุของใบสำคัญรับรอง
“อนุสัญญา” หมายความว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (The International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 as amended: SOLAS)
“องค์กรที่ได้รับการยอมรับ (Recognized Organization)” หมายความว่า องค์กรที่กรมเจ้าท่ายอมรับเพื่อดำเนินการตรวจเรือและออกใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศและพิธีสารที่เกี่ยวข้อง และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่ว่าด้วยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ

ข้อ ๖ การตรวจเรือโดยสารและเรือสินค้าเพื่อออกใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเลตามกฎข้อบังคับนี้ ให้กระทำโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือของกรมเจ้าท่าหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ในกรณีที่กรมเจ้าท่ามอบหมายให้บุคคลหรือนิติบุคลอื่นใดเป็นผู้ตรวจสอบแทนเฉพาะแห่งกรมเจ้าท่าผู้มอบหมายต้องรับผิดชอบในความถูกต้องสมบูรณ์ของการตรวจสอบนั้น

ข้อ ๗ การตรวจเรือโดยสาร
(๑) เรือโดยสารต้องได้รับการตรวจ ดังต่อไปนี้
(ก) การตรวจเรือครั้งแรก (Initial survey) ให้กระทำก่อนนำเรือออกใช้งาน
(ข) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ (Renewal survey) ให้กระทำทุก ๑๒ เดือน เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ ๑๓ (๑) ข้อ ๑๓ (๔) ข้อ ๑๓ (๕) และข้อ ๑๓ (๖)
(ค) การตรวจเรือเพิ่มเติม (Additional survey) ให้กระทำในโอกาสอื่นตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับนี้
(๒) วิธีการตรวจเรือ ให้กระทำ ดังต่อไปนี้
(ก) การตรวจเรือครั้งแรก ให้ตรวจโครงสร้างเรือ (Ship’s structure) เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ (Machinery and equipment) สภาพภายนอกใต้แนวน้ำ (Outside of the ship’s bottom) สภาพภายนอกและภายในหม้อน้ำ (Inside and outside of the boilers) การตรวจเรือต้องดำเนินการเพื่อให้การจัดแผนผัง (Arrangements) วัสดุและส่วนประกอบของโครงสร้าง (Materials and scantlings of structure) หม้อน้ำและถังกำลังดัน (Boiler and other pressure vessels) เครื่องจักรขับเคลื่อนหลัก (Main machinery) เครื่องจักรช่วย (Auxiliary machinery) การติดตั้งระบบไฟฟ้า (Electrical installation) การติดตั้งระบบวิทยุสื่อสาร รวมถึงวิทยุสื่อสารที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต (Radio installations including those used in life - saving appliances) ระบบและอุปกรณ์ป้องกันและจัดการเพลิงไหม้ (Fire protection, fire safety systems and appliances) อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดแผนผังระบบการช่วยชีวิต (Life - saving appliances and arrangements) เครื่องมือเดินเรือ (Shipborne navigational equipment) บรรณสารการเดินเรือ (Nautical publications) วิธีการขึ้นลงเรือสำหรับผู้นำร่อง (Means of embarkation for pilots) และเครื่องมืออื่น ๆ เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องดำเนินการเพื่อให้การต่อเรือและอุปกรณ์เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และได้จัดให้มีโคมไฟ (Lights) ทุ่นสัญญาณ (Shapes) วิธีการส่งสัญญาณเสียง (Means of making sound signals) และสัญญาณขอความช่วยเหลือ (Distress signals) เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน พระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
(ข) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ ให้ตรวจโครงสร้างเรือ หม้อน้ำและถังกำลังดันเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ รวมถึงสภาพภายนอกใต้แนวน้ำ เพื่อให้โครงสร้างเรือ หม้อน้ำและถังกำลังดัน เครื่องจักรขับเคลื่อนหลัก เครื่องจักรช่วย การติดตั้งระบบไฟฟ้าการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารรวมถึงวิทยุสื่อสารที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ระบบและอุปกรณ์ป้องกันและจัดการเพลิงไหม้ อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดแผนผังระบบการช่วยชีวิต เครื่องมือเดินเรือ บรรณสารการเดินเรือ วิธีการขึ้นลงเรือสำหรับผู้นำร่อง และอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตรวจสอบว่าโคมไฟ ทุ่นสัญญาณ วิธีการส่งสัญญาณเสียงและสัญญาณขอความช่วยเหลือเป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา กฎข้อบังคับระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกันพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
(ค) การตรวจเรือเพิ่มเติม ให้กระทำหลังจากการซ่อม (Repair) ซึ่งเป็นผลมาจากการสอบสวน (Investigations) ตามข้อ ๙ หรือกระทำเมื่อมีการซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่สำคัญ (Important repairs or renewals) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วัสดุและฝีมือช่าง (Material and workmanship) มีความเหมาะสม สอดคล้องตามข้อกำหนดของอนุสัญญา กฎข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน พระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๘ การตรวจเรือสินค้า
(๑) การตรวจโครงสร้างเรือ เครื่องจักร และอุปกรณ์
(ก) เรือสินค้าที่มีขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องได้รับการตรวจโครงสร้างเรือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ (นอกเหนือจากรายการที่เกี่ยวกับใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า และใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า) ดังต่อไปนี้
๑) การตรวจเรือครั้งแรก รวมถึงการตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำ ให้กระทำก่อนนำเรือออกใช้งาน
๒) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ ให้กระทำตามช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับกำหนด แต่ไม่เกิน ๕ ปี เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ ๑๓ (๑) ข้อ ๑๓ (๔) ข้อ ๑๓ (๕) และข้อ ๑๓ (๖)
๓) การตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง (Intermediate survey) ภายในระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนหรือหลังวันครบรอบปีที่ ๒ หรือปีที่ ๓ ของใบสำคัญรับรองการต่อเรือเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ให้กระทำแทนที่การตรวจเรือครั้งใดครั้งหนึ่งของการตรวจเรือประจำปีตามข้อ ๘ (๑) (ก) ๔)
๔) การตรวจเรือประจำปี ให้กระทำภายในระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนหรือหลังวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรองการต่อเรือเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า
๕) การตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำ ให้กระทำอย่างน้อย ๒ ครั้ง ภายในช่วงเวลา ๕ ปี เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ (๔) หรือข้อ ๑๓ (๖) ทั้งนี้ ระยะเวลา ๕ ปี ที่กำหนดไว้ อาจขยายออกไปเพื่อให้ตรงกับอายุของใบสำคัญรับรองที่ขยายออกไปได้ และช่วงห่างระหว่างการตรวจสภาพสองครั้ง ต้องไม่เกินกว่า ๓๖ เดือน ในทุกกรณี
การตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำให้กระทำในอู่แห้ง (Dry dock) หรืออู่ลอย (Floating dock) หรือคานลาด (Slip way) หรืออู่เรือที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เว้นแต่เรือสินค้าที่มีอายุไม่เกิน ๑๕ ปี การตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำซึ่งมิได้กระทำในรอบการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ ให้กระทำในขณะเรือลอยน้ำ (Afloat) ได้ โดยผู้ที่ได้รับรองจากกรมเจ้าท่าหรือจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งตรวจตามมาตรฐานด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์และเงื่อนไขที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนด ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานตรวจเรือของกรมเจ้าท่าหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับ
๖) การตรวจเรือเพิ่มเติม ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ (๒) (ค)
(ข) วิธีการตรวจเรือ ให้กระทำ ดังต่อไปนี้
๑) การตรวจเรือครั้งแรก ให้ตรวจโครงสร้างเรือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อให้การจัดแผนผัง วัสดุและส่วนประกอบของโครงสร้างและฝีมือช่าง หม้อน้ำถังอัดกำลังดันและส่วนควบ (Appurtenances) เครื่องจักรขับเคลื่อนหลัก เครื่องจักรช่วย เครื่องถือท้าย (Steering gears) และระบบควบคุมที่เกี่ยวข้อง (Associated control system) การติดตั้งระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตรวจสอบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับความทรงตัวของเรือ ในกรณีเรือบรรทุกของเหลวในระวาง (Tankers) ต้องตรวจสอบห้องสูบถ่ายสินค้า (Pump - rooms) ระบบท่อน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้า (Cargo and bunker piping systems) ระบบท่อระบายอากาศ (Vent piping) รวมทั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง
๒) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ ให้ตรวจโครงสร้างเรือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ตามข้อ ๘ (๑) (ข) ๑) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
๓) ในการตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง ให้ตรวจโครงสร้างเรือ หม้อน้ำและถังอัดกำลังดัน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องถือท้ายและระบบควบคุมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการติดตั้งระบบไฟฟ้า เพื่อให้สามารถใช้การได้ ในกรณีเรือบรรทุกของเหลวในระวาง (Tankers) ต้องตรวจสอบห้องสูบถ่ายสินค้า (pump - rooms) ระบบท่อสินค้าและน้ำมันเชื้อเพลิง (Cargo and bunker piping systems) ระบบท่อระบายอากาศ (Vent piping) รวมทั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง และต้องทดสอบความต้านทานของฉนวนที่ติดตั้งในระบบไฟฟ้าในพื้นที่อันตราย (Testing of insulation resistance of electrical installations in dangerous zones)
๔) ในการตรวจเรือประจำปี ให้ตรวจโครงสร้างเรือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ตามข้อ ๘ (๑) (ข) ๑) เพื่อให้มีการบำรุงรักษาตามข้อ ๙ และสามารถใช้การได้
๕) ในการตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำ ให้ตรวจเพื่อให้เรือยังคงมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งาน
(ค) การตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง และการตรวจเรือประจำปีและการตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำตามข้อ ๘ (๑) (ก) ๓) ข้อ ๘ (๑) (ก) ๔) และข้อ ๘ (๑) (ก) ๕) ต้องสลักหลังไว้ในใบสำคัญรับรองการต่อเรือเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า
(๒) การตรวจอุปกรณ์ช่วยชีวิตและอุปกรณ์อื่น ๆ
(ก) เรือสินค้าที่มีขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องได้รับการตรวจอุปกรณ์ช่วยชีวิตและอุปกรณ์อื่น ๆ ดังต่อไปนี้
๑) การตรวจเรือครั้งแรก ให้กระทำก่อนนำเรือออกใช้งาน
๒) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ ให้กระทำตามช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับกำหนด แต่ไม่เกิน ๕ ปี เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ ๑๓ (๑) ข้อ ๑๓ (๔) ข้อ ๑๓ (๕) และข้อ ๑๓ (๖)
๓) การตรวจเรือตามกำหนดเวลา (Periodical survey) ให้กระทำภายในระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนหรือหลังจากวันครบรอบปีที่ ๒ หรือปีที่ ๓ ของใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า โดยการตรวจนี้จะกระทำแทนที่การตรวจเรือประจำปีครั้งใดครั้งหนึ่งตามข้อ ๘ (๒) (ก) ๔)
๔) การตรวจเรือประจำปี ให้กระทำภายในระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนหรือหลังวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า
๕) การตรวจเรือเพิ่มเติม ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ (๒) (ค)
(ข) วิธีการตรวจเรือ ให้กระทำ ดังต่อไปนี้
๑) การตรวจเรือครั้งแรก ให้ตรวจระบบและอุปกรณ์ป้องกันและจัดการเพลิงไหม้อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดแผนผังระบบการช่วยชีวิต (ซึ่งไม่รวมถึงการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสาร)เครื่องมือเดินเรือ วิธีการขึ้นลงเรือสำหรับผู้นำร่องและอุปกรณ์อื่น ๆ ภายใต้บทบังคับของบทที่ II - 1 การต่อเรือ - โครงสร้าง การแบ่งระวางและความทรงตัว การติดตั้งเครื่องจักรและไฟฟ้า (Construction - Structure, subdivision and stability, machinery and electrical installations) บทที่ II - 2 การต่อเรือ - การป้องกันตรวจจับและดับเพลิงไหม้ (Construction - fire protection, fire detection and fire extinction) บทที่ III อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดการแผนผังระบบการช่วยชีวิต (Life-saving appliances and arrangements) และบทที่ V ความปลอดภัยในการเดินเรือ (Safety of navigation) ของอนุสัญญารวมถึงต้องดำเนินการเพื่อให้อุปกรณ์และการติดตั้งเป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตรวจแบบการจัดการเพลิงไหม้ (Fire control plans) บรรณสารการเดินเรือ โคมไฟทุ่นสัญญาณ วิธีการส่งสัญญาณเสียงและสัญญาณขอความช่วยเหลือให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา กฎข้อบังคับระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกันพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
๒) การตรวจเรือเพื่อการออกใบสำคัญรับรองใหม่และการตรวจเรือตามกำหนดเวลาให้ตรวจอุปกรณ์ตามข้อ ๘ (๒) (ข) ๑) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และกฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกัน พระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
๓) การตรวจเรือประจำปี ให้ตรวจอุปกรณ์ตามข้อ ๘ (๒) (ข) ๑) เพื่อให้มีการบำรุงรักษาตามข้อ ๙ และสามารถใช้การได้
(ค) การตรวจเรือตามกำหนดเวลาและการตรวจเรือประจำปีตามข้อ ๘ (๑) (ก) ๓) และข้อ ๘ (๑) (ก) ๔) ต้องสลักหลังไว้ในใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า
(๓) การตรวจการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสาร
(ก) เรือสินค้าที่มีขนาดตั้งแต่ ๓๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องได้รับการตรวจระบบวิทยุสื่อสาร รวมทั้งวิทยุสื่อสารที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ตามบทที่ III อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดการแผนผังระบบการช่วยชีวิต และบทที่ IV การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ (Radiocommunications) ของอนุสัญญา ดังต่อไปนี้
๑) การตรวจเรือครั้งแรก ให้กระทำก่อนนำเรือออกใช้งาน
๒) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ ให้กระทำตามช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับกำหนด แต่ไม่เกิน ๕ ปี เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ ๑๓ (๑) ข้อ ๑๓ (๔) ข้อ ๑๓ (๕) และข้อ ๑๓ (๖)
๓) การตรวจเรือตามกำหนดเวลา ให้กระทำภายในระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนหรือหลังจากวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า
๔) การตรวจเรือเพิ่มเติม ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ (๒) (ค)
(ข) วิธีการตรวจเรือ ให้กระทำ ดังต่อไปนี้
๑) การตรวจเรือครั้งแรก ให้ตรวจการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารของเรือสินค้า รวมทั้งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
๒) การตรวจเรือเพื่อการออกใบสำคัญรับรองใหม่และการตรวจเรือตามกำหนดเวลาให้ตรวจการติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารของเรือสินค้า รวมทั้งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
(ค) การตรวจเรือตามระยะเวลาตามข้อ ๘ (๓) (ก) ๓) ต้องสลักหลังไว้ในใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า

ข้อ ๙ การดำเนินการภายหลังการตรวจเรือ
(๑) เรือและอุปกรณ์ประจำ เรือต้องได้รับการบำรุงรักษาเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาและมีความเหมาะสมสำหรับการเดินทางออกสู่ทะเลโดยปราศจากอันตรายต่อเรือหรือบุคคลบนเรือ
(๒) หลังจากการตรวจเรือตามข้อ ๗ หรือข้อ ๘ เสร็จสิ้นห้ามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเรือ เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมทั้งสิ่งใด ๆ ที่ผ่านการตรวจแล้ว เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับ
(๓) เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเรือหรือปรากฏข้อบกพร่อง ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของเรือหรือส่งผลต่อประสิทธิภาพ รวมทั้งความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ช่วยชีวิตหรืออุปกรณ์อื่น ๆ นายเรือหรือเจ้าของเรือต้องรายงานต่อกรมเจ้าท่าโดยพลัน เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับซึ่งรับผิดชอบในการออกใบสำคัญรับรอง ต้องดำเนินการสอบสวนเพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องตรวจสภาพเรือตามที่กำหนดไว้โดยข้อ ๗ หรือข้อ ๘ หรือไม่ ในกรณีที่เรืออยู่ในท่าเรือของรัฐภาคีอื่น นายเรือหรือเจ้าของเรือต้องรายงานต่อหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐนั้นหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับโดยพลัน

ข้อ ๑๐ การออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรอง
(๑) เมื่อการตรวจเรือครั้งแรกหรือการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ สำหรับเรือโดยสารเสร็จสิ้นลง และพบว่าเรือนั้นได้ดำเนินการตามบทที่ II - 1 การต่อเรือ - โครงสร้าง การแบ่งระวางและความทรงตัว การติดตั้งเครื่องจักรและไฟฟ้า บทที่ II - 2 การต่อเรือ - การป้องกัน ตรวจจับและดับเพลิงไหม้ บทที่ III อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดแผนผังระบบการช่วยชีวิต บทที่ IV การติดต่อสื่อสารทางวิทยุและบทที่ V ความปลอดภัยในการเดินเรือของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้องแล้วให้ออกใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือโดยสาร (Passenger Ship Safety Certificate) ได้
(๒) เมื่อการตรวจเรือครั้งแรกหรือการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ สำหรับเรือสินค้าเสร็จสิ้นลง และพบว่าเรือนั้นได้ดำเนินการตามบทที่ II - 1 การต่อเรือ - โครงสร้าง การแบ่งระวางและความทรงตัว การติดตั้งเครื่องจักรและไฟฟ้า บทที่ II - 2 การต่อเรือ - การป้องกัน ตรวจจับ และดับเพลิงไหม้ (นอกเหนือจากส่วนที่เกี่ยวกับระบบป้องกันเพลิงไหม้ เครื่องมือและแบบการจัดการเพลิงไหม้) ของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ออกใบสำคัญรับรองการต่อเรือเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า (Cargo Ship Safety Construction Certificate) ได้
(๓) เมื่อการตรวจเรือครั้งแรกหรือการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่สำหรับเรือสินค้าเสร็จสิ้นลง และพบว่าเรือนั้นได้ดำเนินการตามบทที่ II - 1 การต่อเรือ - โครงสร้าง การแบ่งระวางและความทรงตัว การติดตั้งเครื่องจักรและไฟฟ้า บทที่ II - 2 การต่อเรือ - การป้องกัน ตรวจจับและดับเพลิงไหม้ บทที่ III อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดแผนผังระบบการช่วยชีวิต และบทที่ V ความปลอดภัยในการเดินเรือของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ออกใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า (Cargo Ship Safety Equipment Certificate) ได้
(๔) เมื่อการตรวจเรือครั้งแรก หรือการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่แก่เรือสินค้าเสร็จสิ้นลงและพบว่าเรือนั้นได้ดำเนินการตามบทที่ IV การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ออกใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า (Cargo Ship Safety Radio Certificate) ได้
(๕) เมื่อการตรวจเรือครั้งแรก หรือการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่แก่เรือสินค้าเสร็จสิ้นลงและพบว่าเรือนั้นได้ดำเนินการตามบทที่ II-1 การต่อเรือ - โครงสร้าง การแบ่งระวางและความทรงตัวการติดตั้งเครื่องจักรและไฟฟ้า บทที่ II-2 การต่อเรือ - การป้องกัน ตรวจจับและดับเพลิงไหม้ บทที่ III อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดแผนผังระบบการช่วยชีวิต บทที่ IV การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ และบทที่ V ความปลอดภัยในการเดินเรือ ของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ออกใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือสินค้า (Cargo Ship Safety Certificate) ได้ และสามารถใช้แทนใบสำคัญรับรองตามข้อ ๑๐ (๒) ข้อ ๑๐ (๓) และข้อ ๑๐ (๔) ได้
(๖) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือโดยสาร ใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า และใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือสินค้า ตามข้อ ๑๐ (๑) ข้อ ๑๐ (๓) ข้อ ๑๐ (๔) และข้อ ๑๐ (๕) ต้องมีบันทึกรายการอุปกรณ์ (Records of equipment) แนบด้วย
(๗) เมื่อมีการยกเว้นแก่เรือตามข้อกำหนดของอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือให้ออกใบสำคัญรับรองการยกเว้น (Exemption Certificate) ร่วมกับใบสำคัญรับรองอื่นที่ออกระบุไว้ในกฎข้อบังคับฉบับนี้ได้
(๘) การออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองให้กระทำโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือของกรมเจ้าท่าหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับ

ข้อ ๑๑ กรมเจ้าท่าสามารถอนุญาตให้ติดตั้งส่วนประกอบ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ใด ๆ ในเรือ ทดแทนสิ่งที่กำหนดตามอนุสัญญาและข้อกำหนดของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือได้หากส่วนประกอบ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้นั้น มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสิ่งที่กำหนดไว้
เมื่ออนุญาตให้ใช้ส่วนประกอบ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ใดทดแทนสิ่งที่กำหนดไว้ให้กรมเจ้าท่ารายงานต่อองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ

ข้อ ๑๒ การออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองให้แก่รัฐภาคีอื่น
กรณีได้รับการร้องจากรัฐบาลของรัฐภาคีอื่น ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือ ดำเนินการตรวจเรือและเมื่อพบว่าเรือนั้นได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาแล้ว เจ้าพนักงานตรวจเรือจึงออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองให้ได้
ใบสำคัญรับรองซึ่งออกหรือสลักหลังให้นั้นต้องมีข้อความ (Statement) แสดงว่า ได้ออกหรือสลักหลังให้ตามคำร้องขอของรัฐบาลของรัฐภาคีใด โดยมีผลใช้ได้และให้ถือเป็นใบสำคัญรับรองที่ออกให้ตามข้อ ๑๐

ข้อ ๑๓ อายุของใบสำคัญรับรอง
(๑) การกำหนดอายุใบสำคัญรับรอง
(ก) กรณีการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมไม่เกิน ๓ เดือน ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ และให้กำหนดอายุดังนี้
๑) สำหรับเรือโดยสาร ให้มีอายุไม่เกิน ๑๒ เดือน นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
๒) สำหรับเรือสินค้า ให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
(ข) กรณีการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นหลังจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ และให้กำหนดอายุดังนี้
๑) สำหรับเรือโดยสาร ให้มีอายุไม่เกิน ๑๒ เดือน นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
๒) สำหรับเรือสินค้า ให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
(ค) กรณีการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมเกินกว่า ๓ เดือน ใบสำคัญรับรองใหม่นั้นให้มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ และให้กำหนดอายุดังนี้
๑) สำหรับเรือโดยสาร ให้มีอายุไม่เกิน ๑๒ เดือน นับจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่
๒) สำหรับเรือสินค้าให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่
(๒) ใบสำคัญรับรองใด ๆ ที่มิใช่ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือโดยสารที่ออกให้มีอายุน้อยกว่า ๕ ปี เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับสามารถขยายวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองนั้นออกไปจนถึงระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ ๑๓ (๙) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องดำเนินการตรวจเรือตามข้อ ๘ แล้ว
(๓) กรณีการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นลงแต่ไม่สามารถออกใบสำคัญรับรองใหม่ได้ทัน หรือไม่สามารถนำใบสำคัญรับรองไปไว้บนเรือได้ก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมเจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองเดิม เพื่อให้ใบสำคัญรับรองนั้นมีผลใช้ได้ต่อไปอีกไม่เกิน ๕ เดือน นับจากวันหมดอายุเดิม
(๔) กรณีใบสำคัญรับรองของเรือลำใดหมดอายุลง ในขณะที่เรือนั้นไม่อยู่ในเมืองท่าที่สามารถกระทำการตรวจเรือได้ เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับสามารถขยายอายุใบสำคัญรับรองออกไปเพื่อให้เรือเดินทางไปยังเมืองท่าที่สามารถรับการตรวจเรือได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเท่านั้น
การขยายอายุใบสำคัญรับรองข้างต้นให้มีระยะเวลาไม่เกิน ๓ เดือน เมื่อเรือนั้นเดินทางถึงเมืองท่าที่สามารถกระทำการตรวจเรือได้แล้ว เรือนั้นต้องได้รับการตรวจเรือโดยพลัน และห้ามมิให้อาศัยประโยชน์จากการขยายอายุใบสำคัญรับรองนี้ออกเดินทางจากเมืองท่านั้น จนกว่าจะได้รับใบสำคัญรับรองใหม่โดยใบสำคัญรับรองใหม่ให้กำหนดอายุดังนี้
(ก) สำหรับเรือโดยสาร ให้มีอายุไม่เกิน ๑๒ เดือน นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมก่อนมีการขยายอายุ
(ข) สำหรับเรือสินค้าให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมก่อนมีการขยายอายุ
(๕) กรณีใบสำคัญรับรองที่ออกให้แก่เรือที่เดินทางระยะสั้น ซึ่งไม่เคยได้รับการขยายอายุใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดข้างต้น เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับสามารถขยายอายุใบสำคัญรับรองออกไปได้ไม่เกิน ๑ เดือน เมื่อการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นให้ออกใบสำคัญรับรองใหม่โดยกำหนดอายุดังนี้
(ก) สำหรับเรือโดยสาร ให้มีอายุไม่เกิน ๑๒ เดือน นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมก่อนมีการขยายอายุ
(ข) สำหรับเรือสินค้าให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมก่อนมีการขยายอายุ
(๖) ในสถานการณ์พิเศษ (Special circumstances) ที่เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกใบสำคัญรับรองใหม่โดยใช้วันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ (๑) (ข) ข้อ ๑๓ (๔) และข้อ ๑๓ (๕) ให้ออกใบสำคัญรับรองใหม่โดยกำหนดอายุ ดังนี้
(ก) สำหรับเรือโดยสารให้มีอายุไม่เกิน ๑๒ เดือน นับจากวันเสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่
(ข) สำหรับเรือสินค้าให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันเสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่
(๗) กรณีการตรวจเรือประจำปี การตรวจเรือช่วงกลางอายุ หรือการตรวจเรือตามรอบระยะเวลาเสร็จสิ้นก่อนช่วงเวลาที่ระบุไว้ในกฎข้อบังคับนี้ ให้ดำเนินการ ดังนี้
(ก) แก้ไขวันครบรอบปีที่แสดงไว้ในใบสำคัญรับรองที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสลักหลังลงวันที่ซึ่งต้องไม่เกิน ๓ เดือน หลังจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ
(ข) กระทำการตรวจเรือประจำปี การตรวจเรือช่วงกลางอายุ การตรวจเรือตามรอบระยะเวลาโดยใช้วันครบรอบปีที่กำหนดขึ้นใหม่
(ค) หากมีการตรวจเรือประจำปี หรือการตรวจเรือช่วงกลางอายุ หรือการตรวจเรือตามรอบระยะเวลาอย่างน้อย ๑ ครั้ง ซึ่งมีช่วงห่างระหว่างการตรวจเรือไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับนี้ ให้คงวันหมดอายุไว้เช่นเดิมได้
(๘) ใบสำคัญรับรองที่ออกให้ภายใต้กฎข้อบังคับนี้ ให้สิ้นผลในกรณี ดังต่อไปนี้
(ก) ไม่สามารถกระทำการตรวจเรือหรือการตรวจสภาพให้เสร็จสิ้นได้ภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในข้อ ๗ (๑) ข้อ ๘ (๑) (ก) ข้อ ๘ (๒) (ก) และข้อ ๘ (๓) (ก) ของกฎข้อบังคับนี้
(ข) ไม่มีการสลักหลังใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดของกฎข้อบังคับนี้
(ค) มีการเปลี่ยนสัญชาติเรือ
(๙) เว้นแต่ที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ (๑) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือโดยสาร ให้มีอายุไม่เกิน ๑๒ เดือน ใบสำคัญรับรองการต่อเรือเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า และใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้าให้มีอายุตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับกำหนด แต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี ใบสำคัญรับรองการยกเว้นให้มีอายุไม่เกินกว่าอายุของใบสำคัญรับรองที่อ้างถึง

ข้อ ๑๔ เรือที่โดยปกติไม่ได้ใช้ในการเดินระหว่างประเทศ แต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องเดินระหว่างประเทศเพียงเที่ยวเดียว (Single International voyage) ให้ได้รับยกเว้นข้อกำหนดในการตรวจเรือตามอนุสัญญาและกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้องได้ หากมีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับการเดินทางนั้น
สถานีผลิตลอยน้ำ สถานที่เก็บกักและสูบถ่าย (Floating Production Storage and Offloading Facilities, FPSOs) และชุดเก็บกักลอยน้ำ (Floating Storage Units, FSUs) ซึ่งสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองและเดินระหว่างประเทศ ให้ถือเป็นเรือสินค้าตามกฎข้อบังคับนี้ และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดอนุสัญญา กฎข้อบังคับนี้ และกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่เกี่ยวข้อง
การตรวจสถานีผลิตลอยน้ำ สถานที่เก็บกักและสูบถ่าย และชุดเก็บกักลอยน้ำ โดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ให้สามารถตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำในขณะที่เรือลอยน้ำได้ โดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับต้องเสนอกำหนดเวลาและวิธีการตรวจต่อกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาอนุญาต
การตรวจสถานีผลิตลอยน้ำ สถานที่เก็บกักและสูบถ่าย และชุดเก็บกักลอยน้ำโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือของกรมเจ้าท่า ให้สามารถตรวจสภาพภายนอกใต้แนวน้ำในขณะที่เรือลอยน้ำได้ โดยเจ้าของเรือต้องเสนอกำหนดเวลาและวิธีการตรวจต่อกรมเจ้าท่า เพื่อพิจารณาอนุญาต
กรณีเรือในลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน (Ship which embodies features of a novel kind) สามารถยกเว้นข้อกำหนดในบทที่ II - 1 การต่อเรือ - โครงสร้าง การแบ่งระวางและความทรงตัวการติดตั้งเครื่องจักรและไฟฟ้า บทที่ II - 2 การต่อเรือ - การป้องกัน ตรวจจับและดับเพลิงไหม้ บทที่ III อุปกรณ์ช่วยชีวิตและการจัดแผนผังระบบการช่วยชีวิต บทที่ IV การติดต่อสื่อสารทางวิทยุของอนุสัญญาได้ หากว่าการบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อการวิจัยและพัฒนารูปแบบของเรือ อย่างไรก็ตาม เรือนั้นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือมาตรการด้านความปลอดภัยที่เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับกำหนด และต้องรายงานรายละเอียดพร้อมทั้งเหตุผลต่าง ๆ ของการยกเว้นต่อองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ

ข้อ ๑๕ แบบใบสำคัญรับรองและบันทึกรายการอุปกรณ์ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

ข้อ ๑๖ ใบสำคัญรับรองที่ออกตามกฎข้อบังคับนี้ ต้องเก็บรักษาไว้บนเรือและพร้อมสำหรับการตรวจสอบตลอดเวลา

ข้อ ๑๗ อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการตรวจเรือ เพื่อออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองให้เป็นไปตามภาคผนวกของกฎข้อบังคับนี้
กรณีที่การตรวจและออกใบสำคัญรับรองกระทำโดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่ว่าด้วยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ

ข้อ ๑๘ เรือโดยสารและเรือสินค้าที่เดินภายในประเทศซึ่งเจ้าของประสงค์จะขอรับใบสำคัญรับรองตามกฎข้อบังคับนี้ ให้นำกฎข้อบังคับนี้ไปบังคับใช้ได้โดยอนุโลม

ข้อ ๑๙ ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือโดยสาร ใบสำคัญรับรองการต่อเรือเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือสินค้า และใบสำคัญรับรองการยกเว้นของกรมเจ้าท่าหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งออกให้ก่อนกฎข้อบังคับฉบับนี้มีผลบังคับใช้และยังไม่หมดอายุให้สามารถใช้ได้ต่อไปจนครบอายุของใบสำคัญรับรองนั้น

ข้อ ๒๐ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้


ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙
ศรศักดิ์ แสนสมบัติ
อธิบดีกรมเจ้าท่า


[เอกสารแนบท้าย]

๑. ภาคผนวก อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจเรือ เพื่อออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือโดยสาร ใบสำคัญรับรองการต่อเรือเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองวิทยุเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของเรือสินค้าและใบสำคัญรับรองการยกเว้น

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)








วิศนี/ปริยานุช/จัดทำ
๗ ธันวาคม ๒๕๕๙
ปริญสินีย์/ตรวจ
๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๙