ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ข้อบังคับ
เริ่มใช้บังคับ : 21 มิ.ย. 2566

ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจ และการออกใบสำคัญรับรองสำหรับเรือบรรทุกสินค้าอันตราย พ.ศ. 2566

Marine Department Regulation on Survey and Certificate for Ships carrying IMDG B.E. 2566


โดยที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended) บทที่ VII Carriage of Dangerous Goods ให้ใช้ประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code : IMDG Code) กับเรือบรรทุกสินค้าอันตราย ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจและการออกใบสำคัญรับรอง สำหรับเรือบรรทุกสินค้าอันตรายเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาและประมวลข้อบังคับดังกล่าว 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ และมาตรา ๑๖๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ เจ้าท่า โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าไว้ ดังต่อไปนี้ 

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองสำหรับเรือบรรทุกสินค้าอันตราย พ.ศ. 2566” 

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

ข้อ ๓ บรรดากฎข้อบังคับ ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน 

ข้อ ๔ ข้อบังคับนี้ให้ใช้กับเรือ ดังนี้ (๑) เรือทุกล าที่บรรทุกสินค้าอันตรายตามที่อนุสัญญาและประมวลข้อบังคับก าหนด (๒) เรือใดๆ ที่ท าการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพมาเป็นเรือบรรทุกสินค้าอันตราย ให้ถือวันที่ ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพนั้นเป็นวันต่อเรือและเรือดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ข้อบังคับนี้ไม่ใช้กับการเก็บสารอันตรายที่ไม่ใช่สินค้าภายในห้องเก็บของและอุปกรณ์ที่ใช้บนเรือ

ข้อ ๕ ในข้อบังคับนี้ 

“สินค้าอันตราย” (Dangerous goods) หมายถึง สาร วัสดุ และวัตถุที่กำหนดในประมวลข้อบังคับ

“อนุสัญญา” หมายถึง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended) 

“ประมวลข้อบังคับ” หมายถึง ประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code : IMDG Code) ที่รับรองโดยมติคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเล ที่ ๓๒๘ (๙๐) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศโดยมีเงื่อนไขว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวถูกรับรองและมีผลใช้บังคับตามบทบัญญัติของข้อ ๘ ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับขั้นตอนแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้บังคับกับภาคผนวกนอกเหนือจากบทที่ I รวมถึงที่อาจมีการแก้ไขปรับปรุงในอนาคต 

“ใบสำคัญรับรอง” (Certificate) หมายถึง หนังสือรับรองสำหรับเรือบรรทุกสินค้าอันตราย (Document of Compliance for the Carriage Dangerous Goods) 

“รูปแบบหีบห่อ” (Packaged form) หมายถึง รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุสารเคมีหรือวัตถุอันตราย เพื่อการจัดเก็บในสถานที่เก็บรักษาบนเรือตามที่กำหนดในประมวลข้อบังคับ 

ข้อ ๖ เรือบรรทุกสินค้าอันตรายต้องจัดทำรายละเอียดการบรรทุกสินค้าอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดตามตำแหน่งการจัดวางของสินค้าและต้องมีสำเนารายการเอกสารที่ออกโดยบุคคลหรือองค์กร ที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานของรัฐเมืองท่า อย่างน้อย ๑ ชุดอยู่บนเรือก่อนเรือออกเดินทาง ดังนี้ (๑) มีบัญชีพิเศษ (Special list) (๒) บัญชีรายการสินค้า (Manifest) (๓) แผนการจัดวาง (Stowage plan) 

ข้อ ๗ เรือบรรทุกสินค้าอันตรายต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาและประมวลข้อบังคับตามภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนดเพื่อให้เป็นแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติม

ข้อ ๘ เรือบรรทุกสินค้าอันตรายต้องมีใบสำคัญรับรองตามแบบที่ปรากฏในภาคผนวก ๒ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด 

ข้อ ๙ เจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือที่มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรอง ต้องยื่นคำร้องตามแบบ ก.๕ ล่วงหน้าก่อนวันนัดหมายตรวจเรือไม่น้อยกว่า ๓ วัน สำหรับการตรวจเรือภายในประเทศ และไม่น้อยกว่า ๒๑ วัน สำหรับการตรวจเรือในต่างประเทศ เมื่อพบว่าเรือบรรทุกสินค้าอันตรายเป็นไปตามข้อบังคับนี้ ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการออกใบสำคัญรับรองภายใน ๓ วันทำการนับตั้งแต่กลับจากการตรวจเรือ 

ข้อ ๑๐ อายุและการมีผลของใบสำคัญรับรอง (Duration and validity of certificate) (1) ใบสำคัญรับรอง ต้องออกให้เป็นระยะเวลาตามที่กรมเจ้าท่าระบุ ซึ่งต้องไม่เกิน ๕ ปี (2) การตรวจครั้งแรก (Initial survey) เพื่อออกใบสำคัญรับรองครั้งแรกให้กระทำก่อนนำเรือออกใช้งาน (3) การตรวจประจำปี (Annual survey) ของใบสำคัญรับรองให้กระทำร่วมกับการตรวจสอบสำหรับใบสำคัญรับรองโครงสร้างเพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้า (Cargo Ship Safety Construction Certificate) หรือใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือ (4) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ (Renewal survey) (4.๑) นอกเหนือจากกรณีข้อ ๑๐ (๑) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นภายใน ๓ เดือนก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ใบสำคัญรับรองใหม่ให้มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่จนถึงกำหนดไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม (4.๒) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นหลังจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ ทั้งนี้ ใบสำคัญรับรองใหม่ให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปีนับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม (4.๓) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมเกินกว่า ๓ เดือน ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือและมีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ (5) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นลงแต่ไม่สามารถออกใบสำคัญรับรองใหม่ได้หรือไม่สามารถนำใบสำคัญรับรองไปไว้บนเรือได้ก่อนวันหมดอายุ เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือสถาบันการตรวจเรือสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองเดิมเพื่อให้ใบสำคัญรับรองนั้นมีผลต่อไปอีกไม่เกิน ๕ เดือนนับจากวันหมดอายุ (6) การตรวจเรือประจำปีหรือการตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง (Intermediate survey) ให้ดำเนินการ ดังนี้ (6.๑) การตรวจประจำปีให้กระทำทุกปีในช่วงเวลาก่อนหน้า ๓ เดือนหรือหลัง ๓ เดือน ของวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรอง (6.๒) การตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง ให้กระทำได้ภายในระยะเวลาก่อนหน้า 3 เดือนหรือหลัง 3 เดือน ของวันที่ใบรับรองครบรอบปีที่ ๒ หรือปีที่ ๓ ของใบสำคัญรับรอง ให้กระทำแทนที่การตรวจครั้งใดครั้งหนึ่งของการตรวจเรือประจำปีตามข้อ 10 (6.๑) (6.๓) วันครบรอบปีที่แสดงในใบสำคัญรับรองต้องได้รับการแก้ไขโดยสลักหลัง และลงวันที่ทำการสลักหลัง ซึ่งต้องไม่เกิน ๓ เดือนหลังจากวันที่การตรวจเรือเสร็จสิ้น (7) ให้ใบสำคัญรับรองที่ออกให้ภายใต้ข้อบังคับนี้ สิ้นสุดลงในกรณี ดังนี้ (7.๑) ไม่ได้ทำการตรวจเรือตามช่วงเวลาที่กำหนดในข้อ 10 (6) (7.๒) เมื่อเรือมีการเปลี่ยนสัญชาติ 

ข้อ ๑๑ อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองตามข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามภาคผนวก 3 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ 

ข้อ ๑๒ นายเรือหรือบุคคลอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบบนเรือต้องรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนเรือ หรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายของสินค้าอันตรายในรูปแบบหีบห่อจากเรือไปสู่ทะเลโดยไม่ชักช้าเพื่อป้องกันผลที่อาจกระทบต่อรัฐชายฝั่งที่อยู่ใกล้เคียง โดยให้รายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่อผู้มีหน้าที่บริหารจัดการเรือเพื่อแจ้งให้กรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคในเขตพื้นที่รับผิดชอบทราบโดยไม่ชักช้า 

ข้อ ๑๓ ใบสำคัญรับรองที่กรมเจ้าท่าออกให้ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบสำคัญรับรองนั้น 

ข้อ ๑๔ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ 


ประกาศ ณ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ 

สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ 

รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน 

อธิบดีกรมเจ้าท่า