ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ข้อบังคับ
เริ่มใช้บังคับ : 25 พ.ย. 2528

(SSB) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๒๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

Regulation for Ship Survey (No. 15) B.E. 2528, as amended


กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ

(ฉบับที่ ๑๕)

พ.ศ. ๒๕๒๘

(Last update 23 November 2017)

                 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓ ของพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ.๒๕๒๕ เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือไว้ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑  กฎข้อบังคับนี้เรียกว่า “กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ” (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๒๘

 

ข้อ ๒[๑]  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่เรือลำใด ใบอนุญาตใช้เรือยังไม่สิ้นอายุ ให้ปฏิบัติไปตามเดิมจนกว่าใบอนุญาตสิ้นอายุ

 

ข้อ ๓  ให้ยกเลิกความใน

(๑) กฎข้อบังคับการตรวจเซอร์เวย์ ภาคที่ ๑ พุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมเจ้าท่า ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๕

(๒) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๒

(๓) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๙

(๔) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๕๐๖

(๕) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๑๒

(๖) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๕๑๕

(๗) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๕๑๕

(๘) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๕๑๕

(๙) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๑) พุทธศักราช ๒๕๒๒

(๑๐) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๒) พุทธศักราช ๒๕๒๓

(๑๑) กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๔) พุทธศักราช ๒๕๒๘

ให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน และบรรดากฎข้อบังคับและระเบียบในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในกฎข้อบังคับนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งกฎข้อบังคับนี้ ให้ใช้กฎข้อบังคับนี้แทน

 

ภาคที่ ๑

หมวด ก.

ข้อบังคับทั่วไป

                 

 

ข้อ ๑  ในกฎข้อบังคับนี้

“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะใช้เพื่อบรรทุกลำเลียง โดยสาร ลากจูง ดัน ยก ขุด หรือลอก รวมทั้งยานพาหนะอย่างอื่น ที่สามารถใช้ในน้ำได้ทำนองเดียวกัน

“เรือเดินทะเล” หรือ “เรือทะเล” หมายความว่า เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเล ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ

“เรือลำน้ำ” หมายความว่า เรือที่ใช้อยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง ทะเลสาบ และไม่แล่นพ้นออกจากปากแม่น้ำนั้น ๆ

“เรือกล” หมายความว่า เรือที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องจักรกลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง จะใช้กำลังอื่นด้วย หรือไม่ก็ตาม

“เครื่องจักรใหญ่” หมายความว่า เครื่องจักรกลอย่างใด ๆ ที่ใช้สำหรับขับเคลื่อนเรือ

“จำนวนแรงม้าเบรก” หมายความว่า จำนวนแรงม้าเบรคตามเอกสารหลักฐานของผู้สร้างที่เชื่อถือได้ หรือจำนวนแรงม้าเบรคที่คำนวณได้ โดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับนี้

“ใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทย”[๒] หมายความว่า เอกสารที่เจ้าพนักงานตรวจเรือออกให้แก่เรือเพื่อรับรองว่า เรือที่ระบุชื่อในใบสำคัญแสดงการตรวจเรือนี้ได้รับการตรวจเรือโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือหรือสมาคมจัดชั้นเรือ (CLASSIFICATION SOCIETY) หรือนิติบุคคลผู้รับมอบอำนาจจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีให้เป็นผู้ตรวจเรือได้รับการตรวจตามข้อกำหนดของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย และมีความแข็งแรงมีความคงทนเหมาะสมในการจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้

“เรือใบ”[๓] หมายความว่า เรือที่เดินด้วยใบ และไม่ใช้เครื่องจักรกล

“เรือใบกล”[๔] หมายความว่า เรือที่เดินด้วยใบเป็นหลัก และใช้เครื่องจักรกลเป็นเครื่องช่วยในการขับเคลื่อน โดยมีอัตราส่วนระหว่างพื้นที่ของใบต่อระวางขับน้ำเกินกว่า ๙

 

ข้อ ๒  เจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ที่มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ เพื่ออนุญาตให้ใช้เรือ ต้องยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ของกรมเจ้าท่าล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วัน สำหรับการตรวจเรือภายในประเทศ และไม่น้อยกว่า ๒๑ วัน สำหรับการตรวจเรือในต่างประเทศ

 

ข้อ ๓  เจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ต้องจัดเตรียมเรือไว้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือให้พร้อมในวันกำหนดการตรวจเรือ ตามวิธีการที่เจ้าพนักงานตรวจเรือบอกกล่าวและให้มีหนังสือยืนยันกำหนดนัดถึงเจ้าพนักงานตรวจเรือก่อนกำหนดนัดไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมงโดยให้แจ้งตำบลที่เรือจอด หรือเข้าอู่อยู่ไว้ด้วย

 

ข้อ ๔  เจ้าพนักงานตรวจเรือ ต้องทำการตรวจเรือต่อหน้าเจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ และหากปรากฏข้อบกพร่องซึ่งจะต้องซ่อมแซม แก้ไขต่อเติม เปลี่ยนแปลง หรือจัดหา เพื่อให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับนี้ ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือแจ้งให้เจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

 

ข้อ ๕  เมื่อเจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ได้ปฏิบัติตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือได้แจ้งให้ทราบดามข้อ ๔ แล้ว ให้แจ้งให้เจ้าพนักงานตรวจเรือทราบ เพื่อตรวจดูผลการปฏิบัติ เจ้าพนักงานตรวจเรือจะกำกับขณะทำการซ่อมแซม แก้ไข ต่อเติม เปลี่ยนแปลง หรือจัดหาอยู่ด้วยก็ได้

 

ข้อ ๖[๕]  เจ้าพนักงานตรวจเรือจะออกใบสำคัญรับรองต่างๆ และแผ่นป้ายวงกลมแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปี ให้กับเรือตามแต่ละชนิดและแต่ละประเภท เมื่อได้ตรวจตัวเรือ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ และการตรวจอื่นๆ ตามข้อกำหนดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และข้อกำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา ดังนี้

ก. เรือเดินในประเทศ

(๑) ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (Certificate of Survey)

(๒) แผ่นป้ายวงกลมแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปี

ข. เรือเดินระหว่างประเทศ

(๑) ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (Certificate of Survey)

(๒) แผ่นป้ายวงกลมแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปี

(๓) ใบสำคัญรับรองตัวเรือโดยสาร เพื่อความปลอดภัย (Passenger Ship Safety Certificate)

(๔) ใบสำคัญรับรองตัวเรือของเรือสินค้า เพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Construction Certificate)

(๕) ใบสำคัญรับรองเครื่องมือเครื่องใช้ของเรือสินค้าเพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Equipment Certificate)

(๖) ใบสำคัญรับรองวิทยุโทรเลขของเรือสินค้าเพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Radiotelegraphy Certificate)

(๗) ใบสำคัญรับรองวิทยุโทรศัพท์ของเรือสินค้า เพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Radiotelephony Certificate)

(๘) ใบสำคัญรับรองการยกเว้น (Exemption Certificate)

(๙) ใบสำคัญรับรองความพร้อมสำหรับการบรรทุกแก๊สเหลวในถัง (Certificate of Fitness of the Carriage of Liquefied Gass in Bulk)

(๑๐) ใบสำคัญรับรองการจัดชั้นเรือของรัฐบาลไทย (Thai Government Classification Certificate)[๖]

(๑๑)[๗] ใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศ (International Ship Security Certificate)

(๑๒)[๘] ใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศฉบับชั่วคราว (Interim International Ship Security Certificate) ในกรณีดังต่อไปนี้

(ก) ไม่มีใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศในขณะส่งมอบเรือ หรือก่อนนำเรือออกใช้งาน หรือก่อนนำเรือออกใช้งานอีกครั้ง

(ข) การเปลี่ยนไปชักธงของรัฐภาคีอื่นที่เป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974

(ค) การเปลี่ยนธงจากรัฐภาคีอื่นที่ไม่ใช่ภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 มาเป็นธงของรัฐภาคีอนุสัญญาฯ

(ง) บริษัทเจ้าของเรือ หรือองค์กร หรือบุคคลผู้มีหน้าที่จัดการบนเรือ หรือผู้เช่าเหมาเรือเปล่า ที่เข้ามารับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานในเรือลำใหม่ซึ่งไม่เคยปฏิบัติงานมาก่อน

(วรรคสอง)[๙] (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗  เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือ ปฏิเสธการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือให้แก่เรือลำใด ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือผู้นั้น รายงานต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ ถึงอุปสรรค และข้อขัดข้องในโอกาสแรก ซึ่งต้องอยู่ในระยะเวลา ๓ วันทำการ นับตั้งแต่กลับจากการตรวจเรือ

 

ข้อ ๘  ในกรณีที่เจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของ ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยสั่งการใด ๆ ของเจ้าพนักงานตรวจเรือ ให้อุทธรณ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือภายใน ๕ วัน นับตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานตรวจเรือวินิจฉัยสั่งการ เจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือและเจ้าพนักงานตรวจเรือ มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือเป็นลายลักษณ์อักษรต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า คำวินิจฉัยของอธิบดีถือเป็นที่สุด

 

ข้อ ๙  การตรวจเรือตามกฎข้อบังคับนี้ ให้กระทำโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือ ในกรณีที่เจ้าพนักงานตรวจเรือมอบหมายให้บุคคล หรือนิติบุคคลอื่นใด เป็นผู้ตรวจสอบแทนเฉพาะแห่งเจ้าพนักงานตรวจเรือผู้มอบหมาย ต้องรับผิดชอบในความถูกต้องสมบูรณ์ของการตรวจสอบนั้น

 

ข้อ ๑๐[๑๐]  ใบสำคัญรับรองต่างๆ ที่ออกให้กับเรือที่ผ่านการตรวจนับตั้งแต่วันที่การตรวจเรือเสร็จสิ้นลงมีกำหนดอายุดังนี้

(๑) ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ แบบ ตร. ๒๐ – ๑ (Certificate of Survey) มีกำหนดไม่เกิน ๑๒ เดือน

(๒) แผ่นป้ายวงกลมแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปี มีกำหนดไม่เกิน ๑๒ เดือน

(๓) ใบสำคัญรับรองตัวเรือโดยสาร เพื่อความปลอดภัย (Passenger Ship Safety Certificate) มีกำหนดไม่เกิน ๑๒ เดือน

(๔) ใบสำคัญรับรองตัวเรือของเรือสินค้า เพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Construction Certificate) มีกำหนดไม่เกิน ๒๔ เดือน

(๕) ใบสำคัญรับรองเครื่องมือเครื่องใช้ของเรือสินค้า เพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Equipment Certificate) มีกำหนดไม่เกิน ๑๒ เดือน

(๖) ใบสำคัญรับรองวิทยุโทรเลขของเรือสินค้า เพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Radiotelegraphy Certificate) มีกำหนดไม่เกิน ๒๔ เดือน

(๗) ใบสำคัญรับรองวิทยุโทรศัพท์ของเรือสินค้า เพื่อความปลอดภัย (Cargo Ship Safety Radiotelephony Certificate) มีกำหนดไม่เกิน ๒๔ เดือน

(๘) ใบสำคัญรับรองการยกเว้น (Exemption Certificate) มีกำหนดตามการยกเว้นในแต่ละชนิด

(๙) ใบสำคัญรับรองความพร้อมสำหรับการบรรทุกแก๊สเหลวในถัง (Certificate of Fitness of the Carriage of Liquefied Gases in Bulk) มีกำหนดไม่เกิน ๑๒ เดือน

(๑๐)[๑๑] ใบสำคัญรับรองจำนวนคนประจำเรือต่ำสุดเพื่อความปลอดภัย (Minimum Safe Certificate) ที่มีอยู่ก่อนกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปเมื่อสิ้นอายุจึงให้นำมาเป็นหลักฐานในการขอใบสำคัญรับรองจำนวนคนประจำเรือต่ำสุดเพื่อความปลอดภัยตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้

(๑๑) ใบสำคัญรับรองการจัดชั้นเรือของรัฐบาลไทย (Thai Government Classification Certificate)

(๑๒)[๑๒] ใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศ (International Ship Security Certificate) มีกำหนดไม่เกิน ๕ ปี

(๑๓)[๑๓] ใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศฉบับชั่วคราว (Interim International Ship Security Certificate) มีกำหนดไม่เกิน ๖ เดือน

 

ข้อ ๑๑  เมื่อมีอุบัติเหตุอันอาจทำให้สมรรถภาพของเรือเปลี่ยนแปลงไป เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือต้องรายงานให้กรมเจ้าท่าทราบโดยพลัน

 

ข้อ ๑๒  เมื่อเจ้าท่ามีเหตุผลสงสัยว่า เรือที่มีใบอนุญาตใช้เรือลำใด มีสภาพ หรืออุปกรณ์ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ เพื่ออนุญาตให้ใช้เรือ ก็อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานตรวจเรือขึ้นไปตรวจเรือนั้นอีกได้

 

ข้อ ๑๓  การเปลี่ยนแปลงแบบเรือ ตัวเรือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในสิ่งซึ่งเป็นผลหรืออาจเป็นผลต่อสมรรถภาพของเรือ มีผลทำให้ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ เพื่ออนุญาตให้ใช้เรือเป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากเจ้าพนักงานตรวจเรือก่อน

 

ข้อ ๑๔[๑๔]  การตรวจประจำปีต้องกระทำทุกรอบ ๑๒ เดือน นอกจากเรือประมงทะเลลึกชั้น ๑ ซึ่งออกไปทำการจับปลาในน่านน้ำระหว่างประเทศโดยมีสัญญากับต่างประเทศ การตรวจประจำปี ให้มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน ๓๐ เดือน

 

ข้อ ๑๕[๑๕]  การตรวจเรือในอู่แห้ง หรือบนคานลาด

ก.[๑๖] สำหรับเรือโดยสาร ที่มีขนาดเกิน ๖๐ ตันกรอส ต้องกระทำทุกรอบ ๑๒ เดือน เว้นแต่เป็นเรือโดยสารที่เดินภายในประเทศ และเรือลำนั้นใช้สีชนิดพิเศษหรือมีกรรมวิธีพิเศษป้องกันการสึกกร่อนของตัวเรือใต้แนวน้ำและได้ทำการตรวจสภาพใต้แนวน้ำโดยวิธีการถ่ายภาพใต้น้ำ หรือวีดีทัศน์ใต้น้ำตามระเบียบการตรวจเรือแล้วพบว่าสภาพตัวเรือและสีที่สามารถใช้งานต่อไปได้อีก เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจผ่อนผันการเข้าอู่ของเรือนั้นได้ตามสภาพตัวเรือนั้นต่อไปอีกก็ได้ แต่เมื่อได้รับการผ่อนผันแล้วต้องไม่ทำให้ระยะเวลาการเข้าอู่หรืออยู่บนคานลาดเพื่อรับการตรวจห่างกันเกินกว่า ๒๔ เดือน

ข. เรือบรรทุกสินค้าอันตราย และเรืออื่น ๆ ที่มีขนาดเกินกว่า ๖๐ ตันกรอสแต่ไม่เกิน ๓๐๐ ตันกรอส ต้องกระทำในระยะห่างกันไม่เกิน ๒๔ เดือน เว้นแต่เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือได้ตรวจพบว่าเรือลำนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยจะสั่งให้เข้าอู่หรือขึ้นอยู่บนคานลาด เพื่อรับการตรวจก่อนกำหนดเข้าอู่ก็ได้ หรือเมื่อเรือลำนั้นใช้สีชนิดพิเศษหรือมีกรรมวิธีพิเศษป้องกันการสึกกร่อนของตัวเรือใต้แนวน้ำ ก็อาจผ่อนผันระยะเวลาการเข้าอู่ของเรือนั้นต่อไปได้อีกแต่เมื่อได้รับการผ่อนผันแล้ว ต้องไม่ทำให้ระยะเวลาการเข้าอู่หรือขึ้นอยู่บนคานลาด เพื่อรับการตรวจห่างกันเกินกว่า ๓๐ เดือน

ค. เรืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรือโดยสาร หรือเรือบรรทุกสินค้าอันตราย และเรือนั้นมีขนาดเกินกว่า ๓๐๐ ตันกรอส การตรวจเรือให้พิจารณาจากอายุของเรือ และทำการตรวจดังนี้

๑. หากเรือมีอายุไม่เกิน ๕ ปี และเรือนั้นมีหนังสือรับรองว่ามีการใช้สีชนิดพิเศษซึ่งสามารถทนทะเลเป็นอย่างดีแล้ว เมื่อเรือนั้นมีอายุครบกำหนดการตรวจเรือในอู่แห้งหรือบนคานลาดตามข้อ ข. เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจพิจารณาให้ตรวจเรือได้โดย

๑.๑ เมื่อครบกำหนด ๓๐ เดือน นับแต่เรือนั้นต่อสร้างเสร็จ และเจ้าของเรือร้องขอให้ตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือพิจารณาอนุมัติให้ทำการตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey แล้ว อาจพิจารณาผ่อนผันให้เลื่อนกำหนดการเข้าอู่แห้งหรือขึ้นคานลาดได้อีกไม่เกิน ๑๒ เดือน

๑.๒ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ผ่อนผันตามข้อ ๑.๑ ซึ่งรวมเวลาทั้งสิ้นหลังจากเรือนั้นต่อเสร็จไม่เกิน ๔๒ เดือน และเจ้าของเรือร้องขอให้ตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือพิจารณาอนุมัติให้ทำการตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey แล้วอาจพิจาณณาผ่อนผันให้เลื่อนกำหนดการเข้าอู่แห้งหรือขึ้นคานลาดได้อีกไม่เกิน ๑๒ เดือน

๑.๓ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ผ่อนผันตามข้อ ๑.๒ ซึ่งรวมเวลาทั้งสิ้นหลังจากเรือนั้นต่อเสร็จไม่เกิน ๔๔ เดือน และเจ้าของเรือร้องขอให้ตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือพิจารณาอนุมัติให้ทำการตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey แล้วอาจพิจาณณาผ่อนผันให้เลื่อนกำหนดการเข้าอู่แห้งหรือขึ้นคานลาดได้อีกไม่เกิน ๖ เดือน

๑.๔ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ผ่อนผันตามข้อ ๑.๓ ซึ่งรวมเวลาทั้งสิ้นหลังจากเรือนั้นต่อเสร็จไม่เกิน ๖๐ เดือน ต้องนำเรือเข้าอู่แห้งหรือขึ้นบนคานลาดเพื่อตรวจสภาพเรือ

๒. หากเรือมีอายุเกินกว่า ๕ ปี และเรือนั้นมีหนังสือรับรองว่ามีการใช้สีชนิดพิเศษซึ่งสามารถทนทะเลเป็นอย่างดีแล้ว เมื่อเรือนั้นมีอายุครบกำหนดการตรวจเรือในอู่แห้งหรือบนคานลาดตามข้อ ข. เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจพิจารณาให้ตรวจเรือได้โดย

๒.๑ เมื่อครบกำหนด ๓๐ เดือนนับแต่วันที่เรือนั้นได้เข้าอู่ครั้งสุดท้าย และเจ้าของเรือร้องขอให้ตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือพิจารณาอนุมัติให้ทำการตรวจเรือด้วยวิธี Inwater Survey แล้ว อาจพิจาณณาผ่อนผันให้เลื่อนกำหนดการเข้าอู่แห้ง หรือขึ้นคานลาดได้อีกไม่เกิน ๖ เดือน

๒.๒ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ผ่อนผันตามข้อ ๒.๑ ซึ่งรวมเวลาทั้งสิ้นนับแต่วันที่เรือนั้นได้เข้าอู่ครั้งสุดท้ายไม่เกิน ๓๖ เดือน ต้องนำเรืองนั้นเข้าอู่แห้งหรือขึ้นคานลาดเพื่อตรวจสภาพเรือ

 

ข้อ ๑๖  สำหรับเรือที่มีขนาดไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์ หรือเรือประมง การตรวจเรือประจำปีให้ตรวจสภาพทั่ว ๆ ไป ในขณะที่เรือลอยน้ำ เว้นแต่เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือได้พบว่าเรือลำนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยสำหรับใช้งาน จะสั่งให้เข้าอู่ หรือขึ้นบนคานลาดเพื่อรับการตรวจก็ได้

 

ข้อ ๑๗  การตรวจพิเศษ ให้กระทำทุกรอบ ๔ ปี สำหรับการตรวจพิเศษครั้งแรกนั้นให้กระทำเมื่อครบ ๔ ปี หลังจากต่อเรือเสร็จหรือเมื่อนำเรือมาจดทะเบียนครั้งแรก ส่วนครั้งต่อไปให้กระทำเมื่อครบ ๔ ปี นับจากครั้งก่อน

 

ข้อ ๑๘  ในการตรวจพิเศษ ถ้าเจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือไม่สามารถจะจัดให้กระทำการตรวจพิเศษให้เสร็จสมบูรณ์ได้ในวันที่ครบกำหนด เจ้าพนักงานตรวจเรือ อาจผ่อนผันให้เป็นบางส่วน หรือทั้งหมดก็ได้ แต่ระยะเวลาที่ผ่อนผันต้องไม่เกิน ๑๒ เดือน นับจากวันที่ครบกำหนด

 

ข้อ ๑๙  ในกรณีที่การตรวจพิเศษ ไม่สามารถกระทำให้เสร็จสมบูรณ์ในโอกาสเดียวกันได้ ให้ถือเอาวันที่ทำการตรวจส่วนสำคัญเสร็จเป็นวันที่การตรวจพิเศษเสร็จสมบูรณ์

 

ข้อ ๒๐  เมื่อเจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือขอ เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจผ่อนผันให้กระทำการตรวจพิเศษ โดยระบบการตรวจต่อเนื่อง (Continuous Survey) ได้

 

ข้อ ๒๑  ในระหว่างการตรวจพิเศษหากพบสิ่งบกพร่อง หรือมีข้อสงสัย เจ้าพนักงานตรวจเรือ อาจสั่งให้เปิดหรือรื้อ เพื่อการตรวจได้ตามความจำเป็น และเจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ต้องทำการซ่อมหรือแก้ไข สิ่งบกพร่องต่าง ๆ เหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่ดี

 

ข้อ ๒๒  เจ้าพนักงานตรวจเรือ อาจสั่งให้นำชิ้นส่วนของวัสดุที่ใช้ทำส่วนต่าง ๆ ของเรือไปทำการทดสอบเพื่อทราบคุณสมบัติก็ได้

 

ข้อ ๒๓  ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเดินทางไปตรวจเรือ เจ้าของ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ต้องมอบไว้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือก่อนถึงกำหนดการเดินทาง

 

ข้อ ๒๔[๑๗]  แผ่นป้ายวงกลมแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปี จะออกให้พร้อมกับใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ โดยเจ้าพนักงานตรวจเรือ เมื่อเรือลำนั้นได้ผ่านการตรวจ และเป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือโดยในแผ่นป้ายวงกลมจะมีเลขที่ ประเภทการใช้ ชื่อเรือ เลขทะเบียน และกำหนดวันหมดอายุเช่นเดียวกันกับใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ มีขนาดและรายละเอียดดังนี้

ก. แผ่นป้ายวงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘" พื้นสีขาว พิมพ์สีต่าง ๆ ตามแต่ละประเภทการใช้เรือ มีสัญลักษณ์ตรากรมเจ้าท่าอยู่ตอนบนสุด มีรูปแบบตามแบบท้ายกฎข้อบังคับนี้

ข. มีอักษรและเลขอารบิคแสดง

(๑) เลขที่ของแผ่นป้ายวงกลม

(๒) ประเภทการใช้เรือ

(๓) หน่วยงานที่ออกแผ่นป้ายวงกลมแสดงโดยเลขที่

(๔) ชื่อเรือ

(๕) เลขทะเบียน

(๖) ปี พ.ศ. ที่ออก

(๗) วัน เดือน ปี หมดอายุ

(๘) ลายมือชื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือผู้ลงนามออกแผ่นป้ายวงกลม

ค. แผ่นป้ายวงกลมพิมพ์สีต่าง ๆ กัน ออกให้สำหรับเรือตามแต่ละประเภทการใช้ดังนี้

(๑) สีน้ำเงิน ออกให้เพื่อใช้กับเรือต่าง ๆ ดังนี้

- เรือบรรทุกสินค้า

- เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น

- เรือบรรทุกสินค้าตู้

- เรือบรรทุกสินค้าล้อเลื่อน

- เรือบรรทุกซีเมนต์

- เรือบรรทุกแร่

- เรือบรรทุกซุง

- เรือลำเลียงน้ำจืด

- เรือลำเลียงสินค้า

- เรือดัน-ลากจูง

(๒) สีแดง ออกให้เพื่อใช้กับเรือต่าง ๆ ดังนี้

- เรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง

- เรือบรรทุกแก๊สเหลว

- เรือบรรทุกแก๊สเหลว แอล.พี.จี. และน้ำมันเชื้อเพลิง

- เรือบรรทุกสินค้าอันตราย

- เรือบรรทุกสารเคมี

- เรือลำเลียงน้ำมัน

(๓) สีเขียว ออกให้เพื่อใช้กับเรือต่าง ๆ ดังนี้

- เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น

- เรือบรรทุกปลามีชีวิต

- เรือทำการประมง

- เรือสำรวจประมง

(๔) สีเหลือง ออกให้เพื่อใช้กับเรือต่าง ๆ ดังนี้

- เรือบรรทุกคนโดยสาร

- เรือบรรทุกยานพาหนะ

- เรือบรรทุกคนโดยสารและยานพาหนะ

- เรือบรรทุกสินค้าและคนโดยสาร

- เรือเฟอร์รี่

- เรือเพลาใบจักรยาว ใช้เป็นเรือโดยสาร

- แพโดยสาร

- เรือสำราญกีฬา

- เรือโดยสาร

- เรือโดยสารและบรรทุกสินค้า

(๕) สีน้ำตาล ออกให้เพื่อใช้กับเรือต่าง ๆ ดังนี้

- เรือสำรวจอุทกศาสตร์

- เรืองานวิจัยทางทะเล

- เรือสำรวจแหล่งแร่และน้ำมัน

- เรือบำรุงรักษาประภาคาร

- เรือซ่อมบำรุงทุ่น

- เรือโรงงานและซ่อมบำรุง

- เรือวางสายเคเบิล

- เรือส่งกำลังบำรุง

- เรือตรวจการณ์ทางทะเล

- เรือตรวจการณ์ลำน้ำ

- เรือฝึก

- เรือนำร่อง

- อู่ลอย

- เรือปั้นจั่น

- เรือสายพานลำเลียง

- เรือปั้นจั่นสายพานลำเลียง

- เรือตอกเสาเข็ม

- เรือลำเลียงใช้ดูดทราย

- เรือลำเลียงใช้ดูดแร่

- เรือลำเลียงมียุ้งดิน

- เรือขจัดมลภาวะ

- เรือพักอาศัย

- เรือผจญเพลิง

- เรือกู้ภัย

- เรือเจาะ

- เรือขุด

- เรือขุดมียุ้งดิน

รูปแบบของแผ่นป้ายวงกลมเป็นไปตามแบบท้ายกฎข้อบังคับนี้

ง. การออกแผ่นป้ายวงกลม

(๑) กองตรวจเรือ ให้ผู้อำนวยการกองตรวจเรือ เป็นผู้ลงนามในแผ่นป้ายวงกลม

(๒) สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ให้เจ้าพนักงานตรวจเรืออาวุโส ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ แต่ละเจ้าท่าภูมิภาค เป็นผู้ลงนามแทนผู้อำนวยการกองตรวจเรือ

(๓) สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาต่าง ๆ ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ณ สาขา เป็นผู้ลงนามแทน ผู้อำนวยการกองตรวจเรือ

จ. การติดแผ่นป้ายวงกลม แสดงว่า เรือได้ผ่านการตรวจประจำปี ให้ติดไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจน เมื่อมองจากภายนอกเรือไว้สำหรับเพื่อการตรวจดังนี้

(๑) เรือที่มีสะพานเดินเรือ หรือห้องถือท้าย ให้ติดด้านหน้าภายนอกสะพานเดินเรือหรือห้องถือท้าย

(๒) เรือที่ไม่มีสะพานเดินเรือ หรือ ห้องถือท้าย ให้ติดไว้ที่บริเวณภายนอกห้องพัก ผู้ควบคุมเรือหรือบริเวณผู้ควบคุมเรือปฏิบัติหน้าที่

(๓) เรือที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ให้ทำแท่นถาวรเพื่อติดแผ่นป้ายนี้

 

หมวด ข.

การแบ่งประเภทเรือ

                 

 

 

ข้อ ๑[๑๘]  ให้แบ่งประเภทเรือตามเขตการใช้เรือ และลักษณะของเรือออกเป็นดังนี้

๑.๑ เรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศ [VESSEL ENGAGED ON INTERNATIONAL VOYAGES]

๑.๒ เรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง [VESSEL ENGAGED ON NEAR – COASTAL VOYAGES]

๑.๓ เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต [LOCAL TRADE VESSEL]

๑.๔[๑๙] (ยกเลิก)

๑.๕ เรือกลประมง [FISHING VESSEL]

๑.๖ เรือเดินทะเลที่มิใช่เรือกล [NON – SELF PROPELLED VESSEL]

๑.๗ เรือใบชายทะเลชายแดน [NEIGHBOURING AREA SAILING VESSEL]

๑.๘ เรือกลลำน้ำ [SELF PROPELLED RIVER VESSEL]

๑.๙ เรือลำน้ำที่มิใช่เรือกล [NON – SELF PROPELLED RIVER VESSEL]

๑.๑๐ เรือที่ใช้ในกิจการพิเศษ [SPECIAL PURPOSE VESSEL]

 

ข้อ ๒[๒๐]  เรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศต้องมีลักษณะ ดังนี้

๒.๑ มีเครื่องมือสำหรับตรวจหาที่เรือโดยวิชาดาราศาสตร์และเครื่องช่วยในการเดินเรือตามความเหมาะสม

๒.๒ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุตามความเหมาะสม

๒.๓ มีอุปกรณ์ประจำเรือ และเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับนี้

๒.๔ มีคนประจำเรือตามกฎข้อบังคับนี้

๒.๕ ไม่จำกัดเขตการเดินเรือ

 

ข้อ ๓[๒๑]  เรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง ต้องมีลักษณะดังนี้

๓.๑ มีเครื่องมือสำหรับตรวจหาที่เรือโดยวิชาดาราศาสตร์และเครื่องช่วยในการเดินเรือตามความเหมาะสม

๓.๒ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุตามความเหมาะสม

๓.๓ มีอุปกรณ์ประจำเรือและเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับนี้

๓.๔ มีคนประจำเรือตามกฎข้อบังคับนี้

๓.๕ มีเขตการเดินเรือจำกัดภายในเขตตามแผนที่เขตสำหรับเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งแนบท้ายกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๔  เรือกลเดินประเทศใกล้เคียง ต้องมีลักษณะดังนี้

๔.๑ มีขนาดเกิน ๑๕๐ ตันกรอสส์

๔.๒ มีเครื่องมือสำหรับตรวจหาที่เรือโดยวิชาดาราศาสตร์ และเครื่องช่วยในการเดินเรือตามความเหมาะสม

๔.๓ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุตามความเหมาะสม

๔.๔ มีอุปกรณ์ประจำเรือ และเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับนี้

๔.๕ มีคนประจำเรือ ตามกฎข้อบังคับนี้

๔.๖ มีเขตการเดินเรือภายในเขตตามแผนที่ต่อท้ายกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๕  เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงจำกัดเขต ต้องมีลักษณะดังนี้

๕.๑ มีขนาดเกิน ๖๐ ตันกรอสส์

๕.๒ เรือที่มีขนาดไม่เกิน ๕๐๐ ตันกรอสส์ ต้องมีเครื่องมือเดินเรือสำหรับตรวจหาที่เรือโดยวิชาเดินเรือนำร่องชายฝั่ง

๕.๓ เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องมีเครื่องมือสำหรับตรวจหาที่เรือโดยวิชาดาราศาสตร์ และเครื่องช่วยในการเดินเรือตามความเหมาะสม

๕.๔ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุตามความเหมาะสม

๕.๕ มีอุปกรณ์ประจำเรือ และเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับนี้

๕.๖ มีคนประจำเรือ ตามกฎข้อบังคับนี้

๕.๗ มีเขตการเดินเรือภายในเขตตามแผนที่ต่อท้ายกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๖  เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตต้องมีลักษณะดังนี้

๖.๑ มีเครื่องมือเดินเรือสำหรับตรวจหาที่เรือโดยวิชาเดินเรือนำร่องชายฝั่ง

๖.๒ มีเครื่องรับวิทยุตามความเหมาะสม

๖.๓ มีคนประจำเรือตามกฎข้อบังคับนี้

๖.๔ มีอุปกรณ์ประจำเรือและเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับ

๖.๕ มีเขตการเดินเรือภายในเขตตามแนวชายฝั่งประเทศไทยตามความเหมาะสมแห่งลักษณะทนทะเลที่กรมเจ้าท่ากำหนด

 

ข้อ ๗[๒๒]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๘[๒๓]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๙  เรือเดินทะเลที่มิใช่เรือกล ต้องมีลักษณะดังนี้

๙.๑[๒๔] ถ้าเป็นเรือใบหรือเรือใบกล ต้องมีเครื่องมือเดินเรือสำหรับตรวจหาที่เรือ โดยวิชาเดินเรือนำร่องชายฝั่ง

๙.๒ มีเครื่องรับวิทยุตามความเหมาะสม

๙.๓ มีอุปกรณ์ประจำเรือ และเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับนี้

๙.๔ มีคนประจำเรือ ตามกฎข้อบังคับนี้

๙.๕ มีเขตการเดินเรือ ตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือจะได้กำหนดให้ตามความเหมาะสมแห่งลักษณะทนทะเลของเรือ

 

ข้อ ๑๐  เรือใบชายทะเลชายแดน ต้องมีลักษณะดังนี้

๑๐.๑ เรือมีขนาดเกินกว่า ๑๕ ตันกรอสส์

๑๐.๒ มีเขตการเดินเรือดังต่อไปนี้

(ก) เขตชายแดนทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย สำหรับเรือใบชายทะเลขนาดไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์ ให้มีเขตการเดินเรือตั้งแต่จังหวัดจันทบุรีไปจนถึงเกาะกง

(ข) เขตชายแดนทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ซึ่งติดต่อกับสหพันธรัฐมาเลเซีย สำหรับเรือใบชายทะเลขนาดไม่เกิน ๒๕ ตันกรอสส์ ให้มีเขตการเดินเรือตั้งแต่จังหวัดสงขลาไปจนถึงท่าเรือกลันตัน (Kelantan) ถ้าขนาดเกินกว่า ๒๕ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์ ให้มีเขตการเดินเรือตั้งแต่จังหวัดสงขลาไปจนถึงท่าเรือกวนตัน (Kuantan)

(ค) เขตชายแดนทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ซึ่งติดต่อกับสหพันธรัฐมาเลเซีย สำหรับเรือใบชายทะเลขนาดไม่เกิน ๒๕ ตันกรอสส์ ให้มีเขตการเดินเรือตั้งแต่จังหวัดตรังไปจนถึงท่าเรือปะลิส (Perlis) ถ้าขนาดเกินกว่า ๒๕ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน๖๐ ตันกรอสส์ ให้มีเขตการเดินเรือตั้งแต่จังหวัดสงขลาไปจนถึงท่าเรือกวนตัน (Kuantan)

(ง) เขตชายแดนทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ซึ่งติดต่อกับสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า สำหรับเรือใบชายทะเลขนาดไม่เกิน ๒๕ ตันกรอสส์ ให้มีเขตการเดินเรือตั้งแต่จังหวัดตรังไปจนถึงท่าเรือวิคตอเรียปอยนต์ (Victoria Point) ถ้าขนาดเกินกว่า ๒๕ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์ ให้มีเขตการเดินเรือตั้งแต่จังหวัดตรังไปจนถึงท่าเรือมะริด

๑๐.๓ มีอุปกรณ์ประจำเรือ และเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับนี้

๑๐.๔ มีคนประจำเรือตามกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๑๑  เรือกลลำน้ำต้องมีลักษณะดังนี้

๑๑.๑ มีอุปกรณ์ประจำเรือ และเครื่องชูชีพตามกฎข้อบังคับนี้

๑๑.๒ มีคนประจำเรือตามกฎข้อบังคับนี้

๑๑.๓ มีเขตการเดินเรือเฉพาะในแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง ทะเลสาบ แต่ไม่แล่นพ้นออกไปจากปากแม่น้ำนั้น ๆ

 

ข้อ ๑๒  เรือกลลำน้ำที่ใช้บรรทุกคนโดยสาร อนุญาตให้บรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน๗ คน ต่อความจุของขนาดเรือ ๑ ตันกรอสส์

 

ข้อ ๑๓  เรือลำน้ำที่มิใช่เรือกล ต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับเรือกลลำน้ำแต่มิได้ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลแต่อย่างใด ๆ

 

ข้อ ๑๔  เรือที่ใช้ในกิจการพิเศษ คือเรือที่มีลักษณะไม่เหมือนกับเรือประเภทต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ ถึงข้อ ๑๓ ของหมวด ข. แห่งกฎข้อบังคับนี้ การตรวจเรือประเภทนี้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือนำข้อกำหนดในหมวด ค. มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้เป็นไปตามข้อกำหนดในหมวด ค. ให้มากที่สุด ข้อใดปฏิบัติไม่ได้ให้ขออนุมัติอธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อยกเว้นการปฏิบัติตามข้อนั้น ๆ

 

ข้อ ๑๕[๒๕]  บทเฉพาะกาล

การเปลี่ยนประเภทเรือให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับนี้ ให้ทำการเปลี่ยนเมื่อใบอนุญาตใช้เรือฉบับที่ออกให้หมดอายุลงแล้ว โดยให้เปรียบเทียบประเภทเรือตามตารางต่อไปนี้

ประเภทเรือแบบเดิม

ประเภทเรือแบบใหม่

๑. เรือกลเดินต่างประเทศ

๒. เรือกลเดินในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

๑. เรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศ

๓. เรือกลเดินประเทศใกล้เคียง

๔. เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงจำกัดเขต

 

 

๒. เรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง

 

 

หมวด ค.

ข้อกำหนดในการตรวจเรือเดินทะเล

                 

 

ข้อ ๑[๒๖]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๒[๒๗]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๓  ในระหว่างที่ทำการต่อเรือใหม่ จะต้องได้รับการตรวจโครงสร้างของเรือ วัสดุที่นำมาใช้ต่อเรือ ขนาดของโครงสร้าง และฝีมือของช่างที่ทำการต่อเรือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลต่าง ๆ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับอย่างเต็มที่

 

ข้อ ๔  เรือกลเดินทะเลทุกลำ ที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องกั้นห้องเครื่อง ห้องหม้อน้ำ และต้องมีฝากั้นกันชนตอนหัวเรือและท้ายเรือ ซึ่งกันไม่ให้น้ำเข้าได้เมื่อเวลาเรือโดนกัน สำหรับเรือเดินทะเลที่มิใช่เรือกลที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป จะต้องมีฝากั้นกันชนตอนหัวเรือและตอนท้ายเรือ

 

ข้อ ๕  การตรวจเรือประจำปี ต้องตรวจสภาพทั่วไปของตัวเรือและอุปกรณ์ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสั่งให้แก้ไข หรือซ่อมแซมให้เรืออยู่ในสภาพที่ดี โดยเฉพาะจะต้องเข้มงวดในสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) ขอบปากระวาง และฝาปิดปากระวางบนดาดฟ้าเปิด และภายในซุปเปอร์สตรัคเจอร์ซึ่งไม่มีสิ่งปกปิด และอุปกรณ์สำหรับปิดผนึกอากาศ หรือผนึกน้ำของฝาระวางที่ทำด้วยเหล็ก

(๒) ผนังกั้นหัวท้ายของซุปเปอร์สตรัคเจอร์ ผนังด้านนอกของเดคเฮ้าส์ ช่องทางเดิน บรรดาฝาปิดเหนือห้องเครื่อง รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการปิดต่าง ๆ ที่ติดอยู่กับส่วนดังกล่าวข้างต้น

(๓) ประตูผนึกน้ำ และลิ้นปิด - เปิดที่ติดตั้งอยู่ที่ผนังกันผนึกน้ำ

(๔) บรรดาช่องระวางสินค้า ช่องสะกายไลท์ ประตูห้องที่ใช้ผ่านเข้าออกห้องหม้อน้ำ แมนโฮล

ช่องกระจก และช่องเปิดที่มีฝาปิดแบบเรียบอื่น ๆ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าดาดฟ้าฟรีบอร์ด รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ปิดช่องต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นด้วย

(๕) บรรดาท่อทางระบายอากาศสำหรับที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ใต้ดาดฟ้าฟรีบอร์ดหรือซุปเปอร์สตรัคเจอร์ที่มีผนังล้อมรอบ และท่อทางระบายอากาศซึ่งตั้งอยู่บนดาดฟ้าเปิด รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ปิด

(๖) บรรดาทางน้ำตกดาดฟ้า และท่อทางระบายน้ำอื่น ๆ ตลอดจนลิ้นต่าง ๆ ที่อยู่ต่ำกว่าดาดฟ้าฟรีบอร์ด

(๗) บรรดากราบอ่อน ราวข้างเรือ ฝาปิดช่องทางระบายน้ำที่กราบอ่อน ไลฟ์ลายน์ บันได และสิ่งอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน

(๘) บรรดาเครื่องยึดซุงต่าง ๆ ในเรือบรรทุกซุง

(๙) เครื่องหมายแนวน้ำบรรทุก

(๑๐) ระบบการสูบน้ำท้องเรือ และระบบเครื่องถือท้าย

 

ข้อ ๖  การตรวจเรือประจำปีครั้งที่ ๒ หลังจากการตรวจพิเศษครั้งที่ ๓ และการตรวจพิเศษครั้งต่อ ๆ ไป สำหรับเรือกำปั่นถังบรรทุกน้ำมัน หรือเรือที่ใช้บรรทุกซุงมาก่อนและหลังการตรวจพิเศษครั้งที่ ๔ และการตรวจพิเศษครั้งต่อ ๆ ไป สำหรับเรืออื่น ๆ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อ ๕ แล้วจะต้องทำการตรวจภายในระวาง หรือถังน้ำมันซึ่งเป็นสินค้า (Hold or Cargo Tank) หัวและท้ายอย่างละ ๑ ถัง หรือ ๑ ระวาง

 

ข้อ ๗  การตรวจเรือในอู่แห้ง หรือบนคานลาดจะต้องตรวจ ดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่ให้ทำการตรวจจะต้องเข้าอู่แห้ง หรือขึ้นอยู่บนคานลาด โดยจัดให้อยู่บนหมอนหรือแท่นซึ่งมีความสูงเพียงพอที่จะสามารถตรวจ และซ่อมแผ่นเหล็กตัวเรือ ซุ้มใบจักร และหางเสือได้โดยสะดวก และต้องทำความสะอาดบริเวณที่จะต้องตรวจไว้ให้พร้อม

การตรวจจะต้องให้ความสนใจ ส่วนของโครงสร้าง ซึ่งมีการสึกกร่อนอย่างรุนแรงหรือการชำรุด เนื่องจากการครูด หรือการเกยตื้น หรือส่วนของตัวเรือที่ผิดรูปไป

(๒) ต้องตรวจลิ้นน้ำเข้า - ออกของเรือ ที่อยู่ต่ำกว่าแนวน้ำ รวมตลอดลิ้น และก๊อกที่ติดอยู่กับตัวเรือ

(๓) ต้องวัดสอบระยะห่างระหว่างเดือยหางเสือกับตุ๊กตา และปรับแต่งให้อยู่ในเกณฑ์

(๔) สมอ และโซ่สมอต้องเอาออกมาวางเรียงทำความสะอาดเพื่อทำการตรวจ

(๕) ใบจักร และตุ๊กตารับเพลาใบจักรตัวสุดท้าย และวัดสอบระยะห่างของตุ๊กตารับเพลา หรือตรวจสภาพของฝาอัดน้ำมันหล่อลื่นตามชนิดของเพลา

ในกรณีที่ใช้ใบจักรแบบปรับพิท (Controllable Pitch Propeller) ให้ตรวจกลไกสำหรับควบคุมการปรับพิทให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และหากพิจารณาแล้วมีความจำเป็นก็ให้ทำการถอดกลไกสำหรับควบคุมการปรับพิทออกตรวจต่อไป

ระยะห่างระหว่างเพลาใบจักร และกระบอกรับเพลาใบจักรจะต้องไม่มากกว่าที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๘  การตรวจพิเศษสำหรับตัวเรือ

๘.๑ การตรวจพิเศษครั้งที่ ๑

ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๑ นอกจากจะต้องตรวจตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับการตรวจประจำปีแล้ว จะต้องทำการตรวจ ดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่จะให้ทำการตรวจจะต้องเข้าอู่แห้ง หรือขึ้นอยู่บนคานลาดและอยู่บนหมอนหรือแท่นรองรับที่มีความสูงเพียงพอที่จะสามารถทำการตรวจ และซ่อมได้โดยสะดวก

(๒) ต้องทำความสะอาดแผ่นเหล็กตัวเรือภายนอก ซุ้มใบจักร และหางเสือไว้เพื่อทำการตรวจ

หางเสือจะต้องยก หรือถอดออก เพื่อทำการตรวจเดือยหางเสือและตุ๊กตารับเดือยหางเสือ

การตรวจจะต้องสนใจเป็นพิเศษต่อโครงสร้างส่วนที่เว้น หรือนูนโครงสร้างส่วนที่มีการสึกกร่อนอย่างรุนแรง แผ่นเหล็ก ตัวเรือบริเวณช่องขี้เถ้า และช่องเปิดต่าง ๆ จะต้องเปิดฝาออกตรวจ

(๓) บรรดาระวาง ทวีนเดค ถังอับเฉา ดีฟแท้งค์ ห้องเครื่องจักรและห้องหม้อน้ำ ยุ้งถ่านหิน และระวางอื่น ๆ จะต้องรื้อและทำความสะอาดตามความจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจ ไม้ปูท้องเรือ และไม้ปิดช่องทางน้ำท้องเรือทั้งระวางหัว และท้าย จะต้องทำความสะอาด และตรวจสภาพของโครงสร้างเหล็กปูพื้นห้องหม้อ และห้องเครื่องต้องเปิดออกเท่าที่จำเป็น เพื่อตรวจโครงสร้างข้างล่าง

(๔) บรรดาเรือที่มีท้องเรือชั้นเดียว จะต้องเปิดไม้ปูพื้นท้องเรือแต่ละกราบออกพอสมควร ทั้งตอนหัวเรือและท้ายเรือ เพื่อให้สามารถตรวจท้องเรือได้ จะต้องเพ่งเล็งเป็นพิเศษต่อซีเมนต์ หรือสารผสมอื่น ๆ ที่ใช้ฉาบท้องเรือภายในว่ายังอยู่ในสภาพเรียบร้อยดีหรือไม่

(๕) บรรดาเรือที่มีท้องเรือสองชั้นจะต้องรื้อไม้ปูท้องเรือออกตามความจำเป็น เพื่อทำการตรวจสภาพของแผ่นเหล็กท้องเรือชั้นใน

(๖) บรรดาถังน้ำที่อยู่บริเวณท้องเรือสองชั้น และคอฟเฟอร์แดมจะต้องทำความสะอาด และทำการตรวจภายใน

(๗) ดีฟแท้งค์สำหรับใส่น้ำ หรือน้ำมัน จะต้องทำความสะอาดไล่แก๊ส (Gas Free) และตรวจภายใน

นอกจากถังอับเฉาหัวและท้ายแล้ว การตรวจภายในดีฟแท้งค์ที่ใช้สำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง อาจจะยกเว้นได้ต่อเมื่อได้ทำการตรวจภายนอก และทดลองอัดน้ำตามที่กำหนดไว้ในข้อ (๘) แล้ว และเจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นสภาพของถังดีพอ

(๘) บรรดาถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้นและถังอื่น ๆ ต้องทดลองอัดน้ำตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

การทดลองอัดน้ำ และการตรวจภายในถังอาจกระทำในขณะเรือลอยน้ำก็ได้

(๙) ในการตรวจภายในถัง จะต้องเพ่งเล็งถึงสภาพของแผ่นเหล็กกันกระแทกใต้ท่อวัดระดับเป็นพิเศษ

(๑๐) บรรดาดาดฟ้าของฝาครอบ และสิ่งก่อสร้างเหนือดาดฟ้า จะต้องทำการตรวจและเพ่งเล็งตามมุมของช่องปิดเปิด ตลอดถึงส่วนที่หักมุมของดาดฟ้ารับกำลัง และแผ่นเหล็กตัวเรือบริเวณนั้น และต้องตรวจดูให้แน่ว่าวัสดุที่ใช้ฉาบดาดฟ้าอยู่ในสภาพที่ดี

(๑๑) บรรดาระวางสินค้าที่หุ้มฉนวน เพื่อบรรทุกสินค้าแช่เย็น ต้องรื้อแผ่นไม้ปิดข้างเรือ (Limbers) และฝาปิดออก เพื่อตรวจสภาพของแผ่นเหล็กตัวเรือ และกงต่าง ๆ ตามความจำเป็น

(๑๒) เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจจะสั่งให้เจาะ หรือใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อวัดความหนาที่แน่นอนของโครงสร้างส่วนใด ๆ ที่ปรากฏร่องรอย เมื่อพบว่าส่วนใดของโครงสร้าง สึกกร่อน ชำรุด ขาดคุณสมบัติและผิดขนาด จะสั่งให้ทำการซ่อมแซมจนเป็นที่พอใจ

(๑๓) ต้องตรวจสมอ และโซ่สมอ ท่อโซ่สมอ และยุ้งโซ่ ตลอดถึงที่ยึดปลายโซ่ติดกับตัวเรือ และต้องตรวจว่ามีเชือกผูกเรือ และเชือกพ่วงเรืออยู่ในสภาพดี และจำนวนเพียงพอตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

(๑๔) โครงสร้างและการจัดการเกี่ยวกับการป้องกันเพลิงไหม้ เช่น ผนังช่องทางเดินบริเวณที่อยู่อาศัย ทางหนีภัย อุปกรณ์สำหรับปิดเปิดเครื่องระบายอากาศไปยังห้องเครื่องและระวางสินค้า วัสดุที่ใช้ปูพื้นบริเวณที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่เหนือห้องเครื่องและระวางสินค้า ฯลฯ และต้องมีประสิทธิภาพดี

๘.๒ บรรดาเรือกำปั่นถังบรรทุกน้ำมัน นอกจากต้องตรวจตามที่กำหนดไว้ข้างต้นแล้ว จะต้องตรวจเพิ่มเติมอีกดังต่อไปนี้

(๑) ถังน้ำมันทุกถังและคอฟเฟอร์แดม (COFFERDAM) ต้องทำความสะอาดไล่แก๊สและตรวจภายใน ให้ระมัดระวังเกี่ยวกับอันตรายในระหว่างการตรวจเป็นพิเศษ

(๒) สภาพของแผ่นเหล็กท้องเรือด้านใน ต้องไม่สึกกร่อนเป็นหลุมเกินเกณฑ์

(๓) ให้ถอดปลายท่อทางดูดในถังน้ำมันเป็นสินค้าออกตามความจำเป็น เพื่อให้สามารถตรวจสภาพของแผ่นเหล็กตัวเรือ และผนังกั้นบริเวณปลายท่อทางดูดนั้นได้

(๔) บรรดาผนังกั้นถังน้ำมันที่ใช้เป็นสินค้าแต่ละถัง ให้ทำการตรวจสอบด้วยวิธีบรรจุน้ำสลับถังจนกระทั่งถึงระดับขอบปากถัง

การทดสอบดังกล่าว และการตรวจท้องเรือภายใน อาจจะกระทำในขณะเรือลอยน้ำก็ได้

 

ข้อ ๙  การตรวจพิเศษครั้งที่ ๒ (สำหรับเรือซึ่งมีอายุระหว่าง ๕ ถึง ๑๐ ปี)

ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๒ นอกจากจะต้องทำการตรวจตามที่กำหนดไว้ในการตรวจพิเศษ ครั้งที่ ๑ แล้ว จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(๑) บรรดาเรือท้องเรือชั้นเดียว ต้องเปิดไม้ปูพื้นท้องเรือออก ให้สามารถตรวจโครงสร้างที่อยู่ใต้ไม้ปูพื้นทั้งหมดได้ บรรดาเรือท้องเรือสองชั้น ต้องเปิดไม้ปูท้องเรือออกตามความจำเป็น เพื่อให้สามารถตรวจสภาพของแผ่นเหล็กท้องเรือชั้นใน ส่วนล่างของผนังกั้นเสาอุโมงค์เพลา กงข้างเรือ และท่อทางต่าง ๆ ได้

(๒) ต้องทำความสะอาดบรรดาถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้น ถังอื่น ๆ และคอฟเฟอร์แดม (cofferdam) เพื่อการตรวจภายใน ถังใดที่ใช้บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก (นอกจากถังอับเฉาหัวและท้าย) จะไม่ตรวจภายในหมดทุกถังก็ได้ ถ้าหากว่าได้ทำการตรวจภายนอก และทดลองอัดน้ำแล้ว และได้ทำการตรวจภายในถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้นถังหัวถังใดถังหนึ่ง และเลือกตรวจดีฟแท้งค์ (Deep tank) อื่นอีกหนึ่งถัง ต้องให้เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าอยู่ในสภาพที่ดีพอ สำหรับถังน้ำมันหล่อลื่นไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน

(๓) ต้องตรวจสมอและโซ่สมอ หากปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของเส้นผ่าศูนย์กลางโซ่สมอท่อนใดสึกกร่อนไปจากขนาดที่กำหนดไว้สำหรับเรือนั้น ๆ ตั้งแต่ร้อยละ ๑๐เป็นต้นไป ให้เปลี่ยนโซ่ท่อนนั้นใหม่

 

ข้อ ๑๐  การตรวจพิเศษครั้งที่ ๓ (สำหรับเรือที่มีอายุระหว่าง ๑๐ - ๑๕ ปี)

การตรวจพิเศษครั้งที่ ๓ นอกจากจะต้องทำการตรวจตามที่กำหนดไว้สำหรับการตรวจพิเศษครั้งที่ ๒ แล้ว จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องรื้อไม้ปูพื้นระวาง ไม้กันข้าง ระวางสินค้า ไม้กันยุ้งถ่านหิน และพื้นห้องเครื่องออกตามความจำเป็น เพื่อทำการตรวจตัวเรือภายใน เรือที่จะรับการตรวจจะต้องทำความสะอาดให้ปราศจากสนิททั้งภายนอก ภายใน เพื่อการตรวจแผ่นเหล็ก กง ท่อ ทางออกนอกเรือ ทางน้ำตกจากดาดฟ้า ท่อระบายอากาศ ท่อวัดระดับ และส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เป็นเหล็ก

(๒) ต้องทำความสะอาดบรรดาถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้น ถังอื่น ๆ และคอฟเฟอร์แดม (Cofferdam) เพื่อการตรวจภายใน ถังใดที่ใช้บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง หรือน้ำมันหล่อลื่นเป็นหลัก (นอกจากถังอับเฉาหัวและท้าย) จะไม่ตรวจภายในหมดทุกถังก็ได้ ถ้าหากว่าได้ทำการตรวจภายนอกและทดลองอัดน้ำแล้ว และได้ทำการตรวจภายในถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้น ถังหัวหนึ่งถัง ถังท้ายหนึ่งถัง และตรวจดีฟแท้งค์ (Deep tank) อีกหนึ่งถัง ต้องให้เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าอยู่ในสภาพที่ดีพอ

(๓) ให้รื้อไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ปูพื้นดาดฟ้าเหล็กออกตามความจำเป็นเพื่อตรวจแผ่นเหล็กพื้นดาดฟ้าซีเมนต์ที่เทไว้ข้างเรือในท้องเรือและดาดฟ้าบางส่วนต้องกระเทาะออกตามความจำเป็น เพื่อตรวจสภาพของแผ่นเหล็กตรงส่วนนั้น และส่วนที่อยู่ข้างเคียง

(๔) ให้รื้อฝ้ากรุบริเวณช่องกระจกข้างเรือออก เพื่อตรวจแผ่นเหล็กตัวเรือตามความจำเป็น

(๕) ต้องตรวจสภาพของเสากระโดง เสาเดอริค (Derrick Post) หากเห็นสมควรก็ให้ทำการวัดความหนาของโครงสร้างด้วย

(๖) บรรดาระวางสินค้าที่หุ้มฉนวน เพื่อบรรจุสินค้าแช่เย็น ต้องรื้อแผ่นไม้ปิดท้องเรือ (Limbers) และฝาปิดออกตรวจสภาพของแผ่นเหล็กและกงต่าง ๆ

 

ข้อ ๑๑  การตรวจพิเศษครั้งที่ ๔ (สำหรับเรือที่มีอายุระหว่าง ๑๕ - ๒๐ ปี) นอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับการตรวจพิเศษครั้งที่ ๒ แล้ว จะต้องการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องทำความสะอาดบรรดาถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้น ถังอื่นและคอฟเฟอร์แดมเพื่อการตรวจภายใน ถังใดที่ใช้บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันหล่อลื่นเป็นหลัก (นอกจากถังอับเฉาหัวและท้าย) จะไม่ตรวจภายในหมดทุกถังก็ได้ ถ้าหากว่าได้ทำการตรวจภายนอก และทดลองอัดน้ำแล้ว และอย่างน้อยได้ทำการตรวจภายในถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้นที่อยู่กลางลำถังหนึ่ง หัวเรือถังหนึ่ง ท้ายเรือถังหนึ่ง และจำนวนครึ่งหนึ่งของดีฟแท้งค์ที่มีอยู่ ต้องให้เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าอยู่ในสภาพที่ดีพอ ถังต่าง ๆ ที่จะเลือกตรวจภายในเหล่านี้ควรจะเลือกถังที่ยังไม่เคยตรวจภายในมาก่อน

(๒) ให้วัดความหนาส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

 

ข้อ ๑๒  การตรวจพิเศษครั้งที่ ๕ (สำหรับเรือที่มีอายุระหว่าง ๒๐ - ๒๕ ปี)

ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๕ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับการตรวจพิเศษครั้งที่ ๒ แล้ว จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องทำความสะอาดบรรดาถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้น ถังอื่น ๆ และคอฟเฟอร์แดมเพื่อตรวจภายในทุกถัง

(๒) ให้วัดความหนาของส่วนประกอบของโครงสร้างตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

 

ข้อ ๑๓  การตรวจพิเศษครั้งที่ ๖ (สำหรับเรือที่มีอายุเกิน ๒๕ ปี)

ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๖ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับการตรวจพิเศษครั้งที่ ๓ แล้ว จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องทำความสะอาดบรรดาถังที่อยู่ระหว่างท้องเรือสองชั้น ถังอื่น ๆ และคอฟเฟอร์แดมเพื่อตรวจภายในทุกห้อง

(๒) ให้วัดความหนาของส่วนประกอบของโครงสร้างตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

 

ข้อ ๑๔  การวัดความหนา

ในการตรวจพิเศษทุกครั้งหลังจากเรือทั่วไปที่มีอายุครบ ๑๕ ปี และเรือน้ำมันที่มีอายุครบ ๑๐ ปี นอกจากต้องทำการวัดความหนาตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๘.๑ (๑๒) สำหรับการตรวจพิเศษครั้งที่ ๑ แล้ว จะต้องทำการวัดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ คือ แผ่นเหล็กตัวเรือ แผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลัง โครงสร้างส่วนที่รับกำลังในทางยาว โดยวิธีการเจาะหรือวิธีอื่นใดที่เชื่อถือได้เพื่อทราบความหนา ดังต่อไปนี้

๑๔.๑ สำหรับเรือสินค้า

(ก) เรือที่มีอายุระหว่าง ๑๕-๒๐ ปี

ก. ๑ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือทุกสเตรค ที่อยู่ระหว่างแนวน้ำบรรทุกขณะเรือเบา และแนวน้ำบรรทุกเต็มที่ สเตรคละ ๒ แห่งทั้ง ๒ กราบ

ก. ๒ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลังทุกสเตรคที่อยู่ระหว่างแนวขอบข้างปากระวาง กับกราบเรือ สเตรคละ ๒ แห่ง ทั้งสองกราบ

การวัดความหนาในข้อ (ก) นี้ ให้วัดเฉพาะที่อยู่บริเวณ ๐.๕ ของความยาวเรือ ณ กึ่งกลางลำ

(ข) เรือที่มีอายุระหว่าง ๒๐-๒๕ ปี

ข.๑ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือทุกสเตรคของแต่ละกราบ สเตรคละ ๒ แห่ง

ข.๒ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือ ที่อยู่ระหว่างแนวน้ำบรรทุกขณะเรือเบา และแนวน้ำบรรทุกเต็มที่ทุกแผ่นในแต่ละสเตรค ทั้ง ๒ กราบ

ข.๓ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลังทุกแผ่นสำหรับแผ่นเหล็กดาดฟ้า ระหว่างปากระวางให้ทำการวัดเฉพาะแผ่นที่อยู่ติดกับปากระวางเท่านั้น

การวัดความหนาในข้อ (ข) นี้ ให้วัดเฉพาะที่อยู่บริเวณ ๐.๕ ของความยาวเรือ ณ กึ่งกลางลำ

(ค) เรือที่มีอายุเกิน ๒๕ ปี

ค.๑ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือแต่ละกราบทุกสเตรค ๆ ละ ๒ แผ่น เฉพาะที่อยู่บริเวณ ๐.๕ ของความยาวเรือ ณ กึ่งกลางลำ

ค.๒ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือแต่ละแนวน้ำบรรทุก ขณะเรือเบา และแนวน้ำบรรทุกเต็มที่ทุกแผ่นในแต่ละสเตรค ทั้ง ๒ กราบ ตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายเรือ

ค.๓ ให้ทำการวัดความหนาแน่นแผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลังทุกแผ่น ตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายเรือ สำหรับแผ่นเหล็กดาดฟ้าระหว่างปากระวางให้ทำการวัดเฉพาะแผ่นที่ติดอยู่กับปากระวางเท่านั้น

๑๔.๒ สำหรับเรือกำปั่นถัง

(ก) เรือที่มีอายุระหว่าง ๑๐ - ๑๕ ปี

ก.๑ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือทุกสเตรค ๆ ละ๒ แห่ง ทั้ง ๒ กราบ

ก.๒ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือที่อยู่ระหว่างแนวน้ำบรรทุกขณะเรือเบา และแนวน้ำบรรทุกเต็มที่ทุกแผ่นในแต่ละสเตรคทั้ง ๒ กราบ

ก.๓ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลังแผ่นละ๓ แห่ง

การวัดความหนาในข้อ  (ก) นี้ ใช้วัดเฉพาะบริเวณถังน้ำมันที่อยู่ในบริเวณ ๐.๕ ของความยาวเรือ ณ กึ่งกลางลำ

(ข) เรือที่มีอายุระหว่าง ๑๕ - ๒๐ ปี

ข.๑ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือทุกสเตรค ๆ ละ๒ แห่ง ทั้ง ๒ กราบ

ข.๒ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือที่อยู่ระหว่างแนวน้ำบรรทุกขณะเรือเบา และแนวน้ำบรรทุกเต็มที่ทุกแผ่นในแต่ละสเตรคทั้ง ๒ กราบ

ข.๓ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลังทุกแผ่น

การวัดความหนาในข้อ (ข) นี้ ใช้วัดเฉพาะบริเวณถังน้ำมันที่อยู่ในบริเวณ ๐.๕ ของความยาวเรือ ณ กึ่งกลางลำ

(ค) เรือที่มีอายุระหว่าง ๒๐ - ๒๕ ปี

ค.๑ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือทุกสเตรค ๆ ละ๒ แห่ง ทั้ง ๒ กราบ

ค.๒ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือที่อยู่ระหว่างแนวน้ำบรรทุกขณะเรือเบา และแนวน้ำบรรทุกเต็มที่ทุกแผ่นในแต่ละสเตรคทั้ง ๒ กราบเฉพาะบริเวณถังน้ำมัน

ค.๓ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลังเฉพาะบริเวณถังน้ำมันทุกแผ่น

(ง) สำหรับเรือที่มีอายุเกิน ๒๕ ปี

ง.๑ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือทุกสเตรค ๆ ละ๓ แห่ง ทั้ง ๒ กราบ เฉพาะบริเวณถังน้ำมันที่อยู่ในบริเวณ ๐.๕ ของความยาวเรือ ณ กึ่งกลางลำ

ง.๒ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือที่อยู่ระหว่างแนวน้ำบรรทุกขณะเรือเบา และแนวน้ำบรรทุกเต็มที่ทุกแผ่นในแต่ละสเตรคทั้ง ๒ กราบตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายเรือ

ง.๓ ให้ทำการวัดความหนาแผ่นเหล็กดาดฟ้ารับกำลังเฉพาะบริเวณถังน้ำมันทุกแผ่น

๑๔.๓ บรรดาเรือสินค้าที่มีอายุเกิน ๑๕ ปี หรือเรือกำปั่นถังที่มีอายุเกิน ๑๐ ปี ต้องวัดความหนาแน่นส่วนที่เป็นตัวรับกำลังในทางยาว เช่น กง ฝาผนัง เกอร์เดอร์ เป็นต้น ตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น

 

ข้อ ๑๕  การตรวจเครื่องจักรกลประจำปี

(๑) ในการตรวจประจำปีแต่ละครั้ง จะต้องทำการตรวจสภาพทั่วไปของเครื่องจักรกล ที่ใช้ขับเพลาใบจักร และเครื่องจักรช่วยที่สำคัญต่าง ๆ รวมตลอดถึงเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วย

(๒) ส่วนใดของเครื่องจักรกลซึ่งได้เคยถอดเพื่อซ่อนทำโดยเจ้าของจัดการเองมาก่อน จะต้องทำการตรวจอีกตามความจำเป็น

(๓) บรรดาเครื่องอัตโนมัติ และเครื่องบังคับจากระยะไกลที่มีไว้สำหรับเครื่องจักรกลที่สำคัญ จะต้องทำการตรวจและทดลองเพื่อให้แน่ว่าทำงานได้เรียบร้อย

 

ข้อ ๑๖  ในการตรวจพิเศษสำหรับเครื่องจักรกลจะต้องทำการตรวจดังนี้

(๑) ขณะเรืออยู่ในอู่แห้ง

ก. บรรดาช่องต่าง ๆ ออกนอกเรือรวมทั้งทางน้ำสุขา และทางน้ำออกนอกเรือในห้องเครื่องจักร และห้องปั๊มตลอดจนลิ้นและก๊อก จะต้องตรวจทั้งภายในและภายนอก ส่วนประกอบของเครื่องยึดและก๊อกที่ติดกับตัวเรือ จะต้องทำการตรวจด้วย

ข. ต้องทำการตรวจตามที่กำหนดไว้ใน (๕) ของข้อ ๗ ด้วย

(๒) ต้องทำการตรวจเพลาใบจักรทุกท่อนรวมทั้งกันรุน และตุ๊กตารับเพลาทุกตัว

(๓) ต้องเปิดฝาครอบเกียร์ออกตรวจเฟืองเกียร์ทุกตัว เพลา และตุ๊กตารับเพลา ตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น

(๔) เครื่องอัดอากาศรวมทั้งระบบดับความร้อน หม้อกรอง เครื่องแยกน้ำมัน เครื่องป้องกันอันตราย และปั๊มต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องประกอบ จะต้องเปิดออกตรวจตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น

(๕) เครื่องถือท้ายจะต้องทำการตรวจจนเป็นที่แน่ใจว่าทำงานได้เรียบร้อยดีหากเจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจะสั่งให้เปิด หรือถอดส่วนต่าง ๆ ออกตรวจก็ได้

(๖) กว้านสมอและบรรดาเครื่องกว้านต่าง ๆ ที่ใช้ในการผูกเรือ จะต้องทำการตรวจและทดลอง หากเจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็นจะสั่งให้เปิดหรือถอดส่วนต่าง ๆ ออกตรวจก็ได้

(๗) เครื่องกลั่นน้ำจะต้องเปิดออกตรวจภายใน และทำการทดลองลิ้นกันอันตรายให้ทำงานตามเกณฑ์ที่กำหนด

(๘) จะต้องตรวจบรรดาสลักยึด และแผ่นรองรับแท่นของเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย ห้องเกียร์ กันรุน และตุ๊กตารับเพลา

(๙) จะต้องทำความสะอาด และตรวจบรรดาขวดกำลังดันสูงต่าง ๆ ทั้งภายใน ภายนอก รวมทั้งฐานรับ และเครื่องป้องกันอันตรายต่าง ๆ หากไม่อาจจะทำการตรวจภายในได้ ให้ทำการทดลองอัดน้ำ ด้วยกำลังดัน ๑.๕ เท่าของกำลังดันใช้การ

(๑๐) ต้องตรวจปั๊มและระบบท่อทาง ดังต่อไปนี้

(ก) ระบบสูบน้ำท้องเรือ ลิ้น ก๊อก และหม้อกรองในระบบสูบน้ำท้องเรือ รวมทั้งลิ้นดูดน้ำท้องเรือฉุกเฉิน ต้องเปิดออกตรวจตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น และให้ทดลองระบบให้ทำงานตามเกณฑ์ที่กำหนด

(ข) ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบน้ำเลี้ยง ระบบน้ำมันหล่อลื่น ทางติดต่อของน้ำถ่วงเรือ และการจัดระบบการปิดเปิดไปยังท้องเรือ ซึ่งใช้บรรทุกได้ทั้งสินค้าที่เป็นของเหลวและสินค้าแห้ง รวมตลอดถึงหม้อกรอง หม้ออุ่น และหม้อดับความร้อนที่สำคัญจะต้องเปิดออกตรวจ และทำการทดลองตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น และจะต้องตรวจเครื่องป้องกันอันตรายในระบบดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดด้วย

(ค) บรรดาถังน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมิได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตัวเรือ จะต้องตรวจทั้งภายในภายนอกตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น และทำการทดลองอัดน้ำเท่ากำลังดันที่กำหนดไว้สำหรับถังใหม่

ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๑ จะยกเว้นไม่ตรวจภายในถังก็ได้ ถ้าเจ้าพนักงานตรวจเรือได้ตรวจภายนอกแล้วเห็นว่ามีสภาพดีพอ

บรรดาแท่นและเครื่องยึดอุปกรณ์และเครื่องบังคับจากระยะไกล จะต้องทำการตรวจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

(๑๑) ต้องทำการตรวจสอบบรรดาของอะไหล่ที่กำหนดให้ต้องมีอยู่ในเรือด้วย

(๑๒) บรรดาเครื่องอัตโนมัติ และเครื่องบังคับจากระยะไกล ซึ่งได้ติดตั้งไว้สำหรับเครื่องจักรกลที่สำคัญ จะต้องทดลองการทำงานว่าเรียบร้อยดีหรือไม่

(๑๓) เครื่องจักรไอน้ำจะต้องทำการตรวจดังต่อไปนี้

(ก) สำหรับเครื่องจักรไอน้ำชนิดข้อเสือ ข้อต่อ (เครื่องจักรใหญ่และเครื่องจักรช่วยที่จำเป็น) จะต้องทำการตรวจกระบอกสูบ ฝาสูบ ลูกสูบ ลิ้นเลื่อน และส่วนประกอบของลิ้น ก้านสูบ ก้านต่อ ข้อต่อและไกด์ เพลาข้อเสือ พร้อมทั้งตุ๊กตารับเพลา

(ข) เครื่องกังหันไอน้ำ (เครื่องจักรใหญ่ และเครื่องจักรช่วยที่จำเป็น) จะต้องทำการตรวจ ปีกกังหัน โรเตอร์ พร้อมทั้งตุ๊กตารับเพลา เคสซิ่งหม้อดับไอคัปปลิ้งระหว่างเครื่องกังหันกับเกียร์ ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๑ สำหรับเรือที่มีเครื่องกังหันไอน้ำสำหรับขับเพลาใบจักรเดินหน้าเกินกว่า ๑ เครื่อง จะไม่เปิดฝาครอบเพื่อตรวจภายในเครื่องกังหันก็ได้ ถ้าเจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่ามีเครื่องแสดงความสั่นและเครื่องแสดงตำแหน่งของโรเตอร์ติดตั้งไว้และบันทึกการใช้งานของเครื่องดังกล่าวเป็นที่พอใจ

ลิ้นปิดเปิดไอน้ำที่ฝากั้น และลิ้นเปิดปิดไอเข้าเครื่อง จะต้องทำการเปิดออกตรวจด้วย

(ค) ท่อไอใหญ่ จะต้องทำการตรวจดังนี้

ค.๑ เจ้าพนักงานตรวจเรือต้องเลือกสั่งให้ถอดท่อไอใหญ่จำนวนหนึ่ง เพื่อทำการตรวจภายใน ในกรณีที่ท่อต่อกันโดยวิธีประสานไม่สามารถจะถอดได้อาจจะใช้วิธีอื่นแทน เช่น ตรวจโดยเครื่องมือตรวจภายในท่อ หรือโดยใช้เครื่องอุลตราโซนิควัดความหนาของท่อแทนก็ได้ เมื่อใช้วิธีหลังนี้แทน จะต้องทำการตรวจแนวเชื่อมและรอยร้าวตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น

ค.๒ ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๓ และครั้งต่อ ๆ ไป ท่อที่จะต้องทำการตรวจภายในและจะต้องทำการทดลองอัดน้ำด้วยกำลังดัน ๒ เท่า ของกำลังดันใช้การ

ค.๓ สำหรับเครื่องที่ใช้กับไอซุปเปอร์ฮีทที่มีอุณหภูมิสูงไม่เกิน ๔๕๐ องศาเซลเซียส ในการตรวจพิเศษครั้งที่ ๑ ไม่ต้องตรวจท่อไอ

(๑๔) เครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายใน (เครื่องจักรใหญ่ และเครื่องจักรช่วยที่จำเป็น) จะต้องเปิดเพื่อทำการตรวจดังต่อไปนี้ กระบอกสูบ ฝาสูบ ลิ้นและเครื่องประกอบสูบน้ำมันเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ สคาเว้นปั๊ม สคาเว้นโบลเออร์และเครื่องขับเทอร์โบชาร์จ ลูกสูบ ก้านสูบ ข้อต่อไกด์ ก้านต่อ เพลาข้อเสือและตุ๊กตารับเพลา สลักยึดห้องแคร้งค์และอุปกรณ์กันอันตราย เพลาลูกเบี้ยวและเฟืองขับปั๊มน้ำมันหล่อลื่น และหม้อดับความร้อนไวเบรชั่นแดมเปอร์ บล้านเซอร์และดัปปลิ้งเพลา จะต้องทำการตรวจและแก้ไขให้เพลาข้อเสือได้ศูนย์ด้วย

(๑๕) ต้องตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าดังนี้

(ก) อุปกรณ์ที่แผงเมนสวิทช์ แผงสวิทช์ประจำภาคและตู้แยก ตลอดจนเครื่องกันกระแสไฟเกินและฟิวส์แต่ละวงจรจะต้องตรวจให้ทำหน้าที่ป้องกันได้ถูกต้อง

(ข) ตรวจสายไฟฟ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะตรวจได้โดยไม่ต้องรื้อ

(ค) ทดลองเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าในอัตราปกติ ทั้งเดินแยกและขนานกัน ตรวจประสิทธิภาพของกอฟเวอร์เนอร์ และทดลองเครื่องตัดวงจรของเครื่อง เครื่องกำหนดไฟฟ้า และรีเลย์ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะทำได้

(ง) วัดค่าฉนวนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผงสวิทช์ มอเตอร์ เครื่องทำความร้อนด้วยไฟฟ้า อุปกรณ์แสงสว่าง และสายไฟ และจัดการแก้ไขให้ได้ตามเกณฑ์

(จ) ตรวจทดลองต้นกำลังไฟฟ้าฉุกเฉินพร้อมทั้งอุปกรณ์เพื่อให้แน่ว่าทำงานได้เรียบร้อยตลอดทั้งระบบ

(ฉ) ตรวจทดลองไฟนำเครื่องหมายเดินเรือ ระบบสื่อสารภายในเรือที่สำคัญเพื่อให้แน่ว่าทำงานได้ถูกต้องเรียบร้อยดี และถ้าเจ้าพนักงานตรวจเรือพิจารณาเห็นว่าจำเป็นจะให้ทำการทดลองอุปกรณ์หยุดฉุกเฉิน ของมอเตอร์ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง พัดลมระบายอากาศอื่น ๆ และโหลดในลักษณะเดียวกัน เครื่องป้องกันอันตรายจากการทำงานเกินกำลังของอุปกรณ์ไฟฟ้ามอเตอร์ และเครื่องควบคุมที่สำคัญเพื่อให้แน่ว่าสามารถทำงานได้ถูกต้องเรียบร้อย

(ช) ค่าของฉนวนไฟฟ้าในเรือเมื่อวัดด้วยเมกเกอร์ขนาด ๕๐๐ โวลท์ไฟตรงต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในตารางต่อไปนี้

ส่วนที่ต้องวัด

วิธีวัด

ค่าฉนวนต่ำสุด

แผงเมนสวิทซ์เมื่อปลดเซอร์กิต

เบรกเกอร์ปลดสวิทซ์จ่ายไฟทุกตัว และปลดสายต่อเข้าเครื่องวัดต่าง ๆ

 

วัดระหว่างบัสบาร์ต่าง ๆ และระหว่างบัสบาร์กับตัวเรือ

๑ เมกโอห์ม

เยนเนอเรเตอร์และมอเตอร์

วัดระหว่างตัวนำทุกตัวกับตัวเรือ

๑,๐๐๐ เท่าอัตรา โวลท์ที่ใช้สำหรับเครื่องนั้นเป็นโอห์ม

สายไฟทุกเส้น วัดที่สวิทช์บอร์ด โดยสับสวิทช์ไฟจากตัวเครื่อง

วัดระหว่างตัวนำทุกตัวและระหว่างตัวนำทุกตัวกับตัวเรือ

๑ เมกโอห์ม

(๑๖) การตรวจเครื่องทำความเย็น

(ก) เครื่องทำความเย็นที่ติดตั้งในเรือเจ้าพนักงานตรวจเรือจะทำการตรวจและทดลอง ขดของคอนเดนเซอร์แบบขด ขดทำความเย็น หม้อพัก ตัวทำความเย็น และคอนเดนเซอร์แบบหลอดด้วยกำลัง ๙๐% ของกำลังดันออกแบบ หรือถึงกำลังดันที่ตั้งลิ้นผ่อนไว้ แล้วแต่จำนวนไหนจะน้อยกว่ากัน แต่ถ้าใช้แก๊สแอมโมเนีย หรือเมทธิลคลอไรด์ จะต้องทำการทดลองทุกครั้งที่ตรวจ การทดลองดังกล่าวนี้อาจยกเว้นได้เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าไม่จำเป็น

(ข) ต้องตรวจอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อให้แน่ว่าทำงานได้เรียบร้อย

(ค) เครื่องทำความเย็นต้องทำงานได้เรียบร้อย และไม่มีแก๊สรั่ว

(๑๗) การตรวจหม้อน้ำ

(๑) ระยะเวลาการตรวจ

(ก) หม้อหลอดน้ำสำหรับใช้ขับเพลา ใบจักร และเครื่องทำไอสำหรับความอบอุ่นภายในเรือต้องทำการตรวจภายในและภายนอกทุก ๆ ระยะเวลา ๒ ปีเว้นแต่เรือที่มีหม้อน้ำสำหรับขับเพลาใบจักรหม้อเดียว ให้ทำการตรวจทุกระยะ ๒ ปี ไปจนครบ ๘ ปี จากนั้นให้ทำการตรวจทุกปี

(ข) หม้อน้ำอื่น ๆ เครื่องทำไอ และอีโคโนไมเซอร์ ซึ่งมีกำลังเกิน ๓.๕ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และมีผิวสัมผัสความร้อนเกิน ๔.๕ ตารางเมตรให้ทำการตรวจภายในและภายนอกทุกระยะ ๒ ปี ไปจนครบ ๘ ปี หลังจากนั้นให้ทำการตรวจทุกปี

(๒) ส่วนที่ต้องตรวจ

การตรวจตามที่กำหนดไว้ใน (๑) ให้ทำการตรวจหม้อน้ำ หม้อไอซูเปอร์ฮีท อีโคโนไมเซอร์ และห้องอุ่นลม ถ้าเจ้าพนักงานตรวจเรือพิจารณาเห็นว่าจำเป็นจะให้ทำการทดลองอัดน้ำส่วนที่ต้องรับกำลังดัน วัดความหนาของแผ่นเหล็ก หลอดและวัดขนาดของสะเตก็ได้ ส่วนประกอบที่สำคัญที่ติดอยู่กับหม้อน้ำ หม้อไอซูเปอร์ฮีทและอีโคโนไมเซอร์จะต้องเปิดออกตรวจ ตลอดจนถึงสลักยึดหม้อน้ำและเฮดเดอร์ทั้งหมด ต้องทำการตั้งลิ้นกันอันตรายให้ทำงานสูงกว่ากำลังดันใช้การสูงสุดไม่เกิน ๓%

เมื่อมีเครื่องบังคับการเผาไหม้อัตโนมัติจะต้องตรวจ และทำการทดลองเพื่อให้แน่ว่าทำงานได้เรียบร้อย

(๓) ให้ทำการทดลองอัดน้ำด้วยกำลังดันต่อไปนี้

ก. ให้ทดลองอัดน้ำในการตรวจประจำปีด้วยกำลังดัน

๑.๔ เท่าของกำลังดันใช้การ เมื่อกำลังดันใช้การไม่เกิน ๗ กิโลเมตรต่อตารางเซนติเมตร

๑.๔ เท่าของกำลังดันใช้การบวกด้วย ๒ เมื่อกำลังดันใช้การเกิน ๗ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

ข. ให้ทดลองอัดน้ำในการตรวจพิเศษด้วยกำลังดัน

๒ เท่าของกำลังดันใช้การ เมื่อกำลังดันใช้การไม่เกิน ๗ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

๑.๔ เท่าของกำลังดันใช้การบวกด้วย ๔ เมื่อกำลังดันใช้การเกิน ๗ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

(๔) เรือที่มีอายุเกิน ๒ ปี

ก. ให้ทดลองอัดน้ำในการตรวจประจำปีด้วยกำลังดัน

๑.๑๕ เท่าของกำลังดันใช้การ

ข. ให้ทดลองอัดน้ำในการตรวจพิเศษด้วยกำลังดัน

๑.๔ เท่าของกำลังดันใช้การ เมื่อกำลังดันใช้การไม่เกิน ๗ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

๑.๒ เท่าของกำลังดันใช้การบวกด้วย ๒ เมื่อกำลังใช้การเกิน ๗ กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

 

ข้อ ๑๗  การตรวจเพลาใบจักรและกระบอกรับเพลาใบจักร

(๑) ระยะเวลาการตรวจ

เพลาใบจักรและกระบอกรับเพลาใบจักรชนิดสวมปลอกตลอดหรือชนิดใช้น้ำมันหรือชนิดใช้วัสดุที่สึกกร่อนยาก ให้ชักเพลาออกตรวจทุกรอบ ๓ ปี สำหรับเรือเพลาใบจักรเดียว และทุกรอบ ๔ ปี สำหรับเรือ ๒ เพลาใบจักรขึ้นไป เพลาชนิดอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ให้ชักเพลาออกตรวจทุกรอบ ๒ ปี

สำหรับเรือเพลาใบจักรเดียว เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจผ่อนผันให้ชักเพลาทุกรอบ ๔ ปีก็ได้ ถ้าเพลาและร่องลิ่มนั้นได้ออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งพนักงานตรวจเรือเห็นชอบด้วย และการตรวจจะต้องกระทำอย่างละเอียดที่สุด

(๒) ส่วนที่ต้องตรวจ

(ก) ในการตรวจตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ใน (๑) ให้ทำการตรวจเพลาหารอยร้าวบริเวณส่วนหน้าของรูปกรวยให้ละเอียด ในกรณีที่คัปปลิ้งเพลาเป็นแบบสวม ให้ถอดคัปปลิ้งออกตรวจเพลาด้วย ปลอกเพลาต้องตรวจว่า จับกับเพลาแน่นดีถ้าผิวของปลอกเพลาขรุขระให้กลึงแต่งให้เรียบ

ให้เพ่งเล็งเป็นพิเศษในการตรวจสภาพของเพลาว่าไม่มีรอยร้าวบริเวณตอนท้ายปลอกเพลา

(ข) ระยะห่างระหว่างเพลา และกระบอกรับเพลาใบจักร สำหรับเรือเครื่องกลางลำให้ทำการเปลี่ยนกระบอกรับเพลาใบจักร เมื่อมีระยะห่างกัน

ขนาดเพลา                                     ระยะห่าง

ไม่เกิน ๒๓๐ มม.                              ๖ มม.

ไม่เกิน ๓๐๕ มม.                              ๘ มม.

เกิน ๒๓๐ มม.                                 ๙.๕ มม.

สำหรับเรือเครื่องท้ายให้ลดระยะห่างลง ๑ ชั้น

(ค) ในการตรวจเพลาใบจักรทุกครั้ง ให้เปิดส่วนประกอบเครื่องบังคับพิทธ์ใบจักรออกตรวจ และทำการทดลองให้ทำงานได้เรียบร้อยทุกครั้ง

(ง) ให้พิจารณาดัดแปลง แก้ไขให้ดีขึ้นได้ตามกรณี เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจพิจารณายอมรับการดัดแปลง แก้ไขที่ไม่เป็นไปตามกำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ถ้าการดัดแปลงแก้ไขนั้นทำให้เกิดผลดีขึ้น

 

ข้อ ๑๘  ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลว

ในการตรวจเรือประจำปี และการตรวจพิเศษสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวนอกจากต้องทำการตรวจตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ถึง ๑๗ แล้ว จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

๑๘.๑ การตรวจประจำปี

(๑) ถังคาร์โก้ ต้องเลือกตรวจถังใดถังหนึ่ง หรือหลายถังจากการทำความสะอาดและไล่แก๊สแล้ว โดย

ก. ต้องตรวจสภาพภายในและภายนอกให้มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าถังมีฉนวนหุ้มไว้ เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจสั่งให้รื้อฉนวนออกตรวจสภาพแผ่นเหล็กของถังได้ตามความจำเป็น

ข. ให้ทำการตรวจสภาพของฉนวนที่ห่อหุ้มถังด้วย

ค. ต้องตรวจบรรดาแท่นและเครื่องยึดถังทั้งหมด การซีลลิ่งที่ดาดฟ้า และถ้าจำเป็นเจ้าพนักงานตรวจเรืออาจสั่งให้ทำการรื้อฉนวนออกตรวจโครงสร้างก็ได้

ง. ต้องตรวจสายดินระหว่างถังและตัวเรือด้วย

(๒) ลิ้นผ่อนกำลังดัน และระบบการถ่ายแก๊สฉุกเฉินต้องทำการตรวจ ดังต่อไปนี้

ก. ลิ้นผ่อนกำลังดัน และลิ้นผ่อนสุญญากาศที่ติดอยู่กับถัง ต้องทำงานได้ถูกต้องเรียบร้อย

ข. เครื่องระบายอากาศ ลิ้นผ่อน หรือระบบอื่น ๆ ที่จัดไว้สำหรับถ่ายแก๊สฉุกเฉินออกจากช่องว่างระหว่างถังคาร์โก้กับเซคกันดารี่บาริเออร์ หรือโครงสร้างต้องทำงานได้ถูกต้องเรียบร้อย

(๓) เครื่องมือต่าง ๆ เช่น มาตรวัดระดับสัญญาณแสดงระดับสูงของแก๊ส มาตรวัดกำลังดัน มาตรวัดอุณหภูมิ เครื่องตรวจแก๊ส พร้อมทั้งระบบสัญญาณต้องทำงานได้ถูกต้องเรียบร้อย

(๔) ต้องตรวจสภาพของท่อทางและส่วนประกอบต่าง ๆ เครื่องกลและอุปกรณ์รวมทั้งระบบควบคุมอัตโนมัติที่ใช้ในการบรรจุ ขนถ่าย ระบาย อัด ทำความเย็น อุ่น หรือเครื่องมือในการขนถ่ายทั้งหมดจะต้องแน่ใจว่าอยู่ในสภาพที่ดี

(๕) เมื่อมีการเปิดชิ้นส่วนใด ๆ เพื่อบำรุงรักษา ต้องให้เจ้าพนักงานตรวจเรือตรวจทุกครั้ง

๑๘.๒ การตรวจพิเศษ

(๑) ถังคาร์โก้

ก. ถังที่จะบรรจุแก๊สต้องได้รับการตรวจตามที่กำหนดไว้ในข้อ (๑) ของข้อ ๑๘.๑ ทั้งหมด

ข. การตรวจรั่วของแก๊สให้ตรวจบันทึกของเครื่องตรวจรั่ว ตั้งแต่การตรวจพิเศษครั้งก่อน ถ้าปรากฏว่าไม่เคยมีการรั่วเลย จะยกเว้นไม่ต้องทำการทดลองรั่วก็ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าเคยมีการรั่ว จะต้องทำการทดลองรั่วตามวิธีที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นชอบด้วย

(๒) ถ้ามีเซคกันดารี่บาริเออร์ติดตั้งไว้ จะต้องทำการตรวจด้วย และเจ้าพนักงานตรวจเรืออาจจะพิจารณาให้รื้อฉนวนเพื่อตรวจโครงสร้างตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้

(๓) บรรดาลิ้นผ่อนกำลังดัน และลิ้นผ่อนสุญญากาศ ซึ่งติดไว้ประจำถังต้องถอดออกตรวจ และปรับแต่งให้ทำงานตามกำลังดันที่กำหนดไว้

(๔) บรรดาเครื่องถ่ายแก๊สฉุกเฉิน  เช่น เครื่องระบายอากาศ ลิ้นผ่อนกำลังดัน และอื่น ๆ ซึ่งจัดไว้เพื่อถ่ายแก๊สฉุกเฉินออกจากที่ว่างระหว่างถังคาร์โก้กับเชคกั้นดารี่บาริเออร์ หรือโครงสร้างตัวเรือ ต้องเปิดออกตรวจตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น

(๕) บรรดาเครื่องวัดต่าง ๆ เช่น เครื่องวัดระดับแก๊สเหลว สัญญาณเตือนเมื่อระดับแก๊สสูง มาตรวัดกำลังดัน มาตรวัดอุณหภูมิ เครื่องตรวจแก๊ส พร้อมทั้งสัญญาณเตือนต้องทดลองจนแน่ใจได้ว่าทำงานถูกต้อง

(๖) ก. อุปกรณ์ในการขนถ่ายแก๊สเหลว เช่น สูบขนถ่าย เครื่องอัดแก๊สพร้อมทั้งเครื่องขับต้องถอดออกตรวจ บรรดาเครื่องอัตโนมัติ และเครื่องควบคุมจากระยะไกลที่ใช้ในการนี้ ต้องทำการทดลองจนแน่ใจได้ว่าทำงานได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ข. บรรดาหม้อดับความร้อน และที่บรรจุแก๊สหรือของเหลว ต้องเปิดออกตรวจภายในและภายนอก ถ้าเปิดออกตรวจภายในไม่ได้ ต้องทำการทดลองด้วยกำลังดัน ๑.๕ เท่ากำลังดันใช้งาน ลิ้นผ่อนกันอันตรายประจำอุปกรณ์เหล่านี้ ต้องตรวจและปรับแต่งด้วย

ค. ต้องทำการตรวจบรรดาท่อทางขนถ่ายหรือของเหลวพร้อมทั้งอุปกรณ์ หากจำเป็นจะให้รื้อฉนวนเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมอีกก็ได้

ง. บรรดาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้ถอดออกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดเมื่อประกอบใหม่ เจ้าพนักงานตรวจเรือจะสั่งให้ทำการทดลองรั่วเท่ากับกำลังดันใช้การ

จ. บรรดาสายดิน จะต้องอยู่ในสภาพที่ดี

(๗) บรรดาอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องทำความเย็น ซึ่งติดตั้งไว้สำหรับใช้ลดอุณหภูมิของแก๊สเหลว หรือใช้ทำให้กลับเป็นแก๊สเหลวต้องทำการตรวจดังนี้

ก. บรรดาเครื่องอัดแก๊ส โบลว์เออร์สำหรับแก๊สเหลว หรือรีฟริจิแรนท์ พร้อมทั้งเครื่องยนต์ขับต้องเปิดออกตรวจ บรรดาเครื่องอัตโนมัติ และเครื่องควบคุมระยะไกล ต้องทำการทดลองจนเป็นที่แน่ใจว่าทำงานได้ถูกต้อง

ข. บรรดาหม้อบรรจุที่มีกำลังดัน และหม้อดับความร้อนสำหรับสินค้า หรือรีฟริจิแรนท์ ต้องเปิดออกตรวจภายในและภายนอก ถ้าตรวจภายในไม่ได้ให้ทดลองอัดด้วยกำลังดันสูง ๑.๕ เท่าของกำลังดันใช้งาน

บรรดาลิ้นผ่อนกันอันตราย และอุปกรณ์ผ่อนกำลังดันต่าง ๆ ต้องทำการทดลองจนเป็นที่แน่ใจว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย

ค. บรรดาท่อรับแก๊ส หรือรีฟริจิแรนท์ พร้อมทั้งลิ้นผ่อนกันอันตรายต่าง ๆ ที่ใช้ในวงจรต้องตรวจสอบให้แน่ว่าอยู่ในสภาพที่ดี

ง. บรรดาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้ถอดออกเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดเมื่อประกอบใหม่ เจ้าพนักงานตรวจเรือจะสั่งให้ทำการทดลองรั่วเท่ากับกำลังดันใช้การ

(๘) บรรดาอุปกรณ์เกี่ยวกับการไฟฟ้า ต้องทำการตรวจ ดังต่อไปนี้

ก. บรรดาอุปกรณ์กันการระเบิด ต้องตรวจตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็น

ข. บรรดาฉนวนต่าง ๆ จะทำการวัดเป็นบางส่วน หรือทั้งระบบตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าจำเป็นก็ได้

ค. บรรดาเครื่องอินเตอร์ล๊อคเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องทำการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่มีประสิทธิภาพดี

(๙) บรรดาส่วนต่าง ๆ ซึ่งได้ถอดออกเพื่อทำการซ่อมแซม ต้องให้เจ้าพนักงานตรวจเรือตรวจทุกครั้ง

(๑๐) การตรวจต่อเนื่อง

เจ้าของเรืออาจอนุญาตให้ทำการตรวจต่อเนื่อง แทนการตรวจพิเศษต่อเจ้าพนักงานตรวจเรือก็ได้ การตรวจต่อเนื่องจะต้องกระทำให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนด ๕ ปี และส่วนสำคัญต่าง ๆ จะต้องทำการตรวจทุกรอบไม่เกินกว่า ๕ ปี

 

ข้อ ๑๙[๒๘]  การตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเป็นเรือไทยครั้งแรก สำหรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓๐ ตันกรอส ขึ้นไป ให้ทำการตรวจตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ และข้อ ๗ ของหมวดนี้ เว้นแต่เมื่อเรือนั้นได้รับการตรวจบนอู่แห้งหรือบนคานลาดมาแล้วเป็นเวลาไม่เกิน ๑๒ เดือน และเจ้าพนักงานตรวจเรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ตรวจสภาพเรือใต้แนวน้ำโดยวิธีถ่ายภาพใต้น้ำ หรือวีดีทัศน์ใต้น้ำตามระเบียบการตรวจเรือแล้วพบว่าสภาพตัวเรือ และสีที่สามารถใช้งานต่อไปได้อีก เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจผ่อนผันการเข้าอู่ของเรือนั้นได้ตามสภาพตัวเรือนั้นต่อไปอีกก็ได้ แต่เมื่อได้รับการผ่อนผันแล้วต้องไม่ทำให้ระยะเวลาการเข้าอู่หรืออยู่บนคานลาดเพื่อรับการตรวจห่างกันเกินกว่า ๒๔ เดือน หรือ ๓๐ เดือนหากใช้สีชนิดพิเศษหรือกรรมวิธีพิเศษป้องกันการสึกกร่อนของตัวเรือใต้แนวน้ำ

ในกรณีที่เรือได้รับการตรวจและรับรองจากสมาคมจัดชั้นเรือที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีให้การยอมรับ เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจผ่อนผันการเข้าอู่แห้งของเรือนั้นได้ตามสภาพและหลักฐานการตรวจเรือของสมาคมจัดชั้นเรือนั้น ๆ

 

ข้อ ๒๐  เรือที่ใช้ในกิจการพิเศษ หรือเรืออื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะและรายละเอียดไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด ค. และไม่มีกฎข้อบังคับใดกำหนดไว้โดยเฉพาะสำหรับเรือนั้น ๆ ให้นำข้อกำหนดในกฎข้อบังคับหมวด ค.มาใช้โดยอนุโลม และให้เป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวให้มากที่สุด สำหรับกำหนดการเข้าอู่ให้กรมเจ้าท่าพิจารณากำหนดได้ตามความเหมาะสม

 

หมวด ง.

เครื่องใช้และอุปกรณ์ประจำเรือ

                 

 

ข้อ ๑  เครื่องใช้และอุปกรณ์ประจำเรือมีดังนี้

(๑) เข็มทิศและเครื่องมือเดินเรือ

(๒) เรือชูชีพ เรือบด และเครื่องชูชีพ

(๓) เชือกและลวด

(๔) สมอและสายโซ่

(๕) ลูกดิ่งและสายดิ่ง

(๖) โคมไฟสัญญาณการเดินเรือ

(๗) พลุ ดอกไม้ไฟและเครื่องส่งสัญญาณ

(๘) เครื่องสูบน้ำท้องเรือ

(๙) เครื่องมือดับเพลิง

 

ข้อ ๒  เรือเดินทะเลทุกลำอย่างน้อยต้องมีเข็มทิศและเครื่องมือเดินเรือตามตารางต่อไปนี้

 

รายการ

ขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ กรอสส์ขึ้นไป

ขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสส์แต่ไม่เกิน ๕๐๐ ตันกรอสส์

ขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสส์แต่ไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์

หมายเหตุ

เข็มทิศ.............................อัน

โครโนมิเตอร์...................อัน

นาฬิกา.........................เรือน

บาโรมิเตอร์.....................อัน

เทอร์โมมิเตอร์.................อัน

เครื่องวัดแดด..................อัน

กล้องสองตา................กล้อง

แมกกะโฟน......................ตัว

แผนที่มาตราน้ำ บรรณสาร ประภาคาร......................ชุด

ข้อบังคับป้องกันเรือโดนกันในทะเล..........................เล่ม

ไม้บรรทัดขนาด...............อัน

วงเวียนวัดระยะ..............อัน

 

 

-

 

 

-

-

-

 

 

ตามเขตการเดินเรือ

 

ข้อ ๓  เรือโดยสารและเรือสินค้าที่เดินระหว่างประเทศต้องมีเรือชูชีพและเครื่องชูชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล

 

ข้อ ๔  เรือกลเดินทะเลทุกลำที่ไม่ได้เดินระหว่างประเทศยกเว้นเรือประมงอย่างน้อยต้องมีเรือชูชีพ เรือบดและเครื่องชูชีพตามรายละเอียดต่อไปนี้

๔.๑ เรือกลเดินทะเลขนาดต่ำกว่า ๓๐ ตันกรอสส์

พวงชูชีพ ๒ พวง

เสื้อชูชีพเท่าจำนวนคน

๔.๒ เรือกลเดินทะเลขนาดตั้งแต่ ๓๐ แต่ต่ำกว่า ๖๐ ตันกรอสส์

พวงชูชีพ ๔ พวง

เสื้อชูชีพเท่าจำนวนคน

๔.๓ เรือกลเดินทะเลขนาดตั้งแต่ ๖๐ แต่ต่ำกว่า ๒๕๐ ตันกรอสส์

พวงชูชีพ ๔ พวง

เสื้อชูชีพเท่าจำนวนคน

เรือบด ๑ ลำ หรือแพชูชีพ ๑ แพ ที่สามารถบรรทุกคนได้ทั้งหมดที่มีอยู่บนเรือ

๔.๔ เรือกลเดินทะเลขนาดตั้งแต่ ๒๕๐ แต่ต่ำกว่า ๕๐๐ ตันกรอสส์

พวงชูชีพ ๖ พวง

เสื้อชูชีพเท่าจำนวนคน

เรือบด ๒ ลำ หรือแพชูชีพ ๑ แพ หรือเรือชูชีพ ๑ ลำ และแพชูชีพ ๒ แพ

๔.๕ เรือกลเดินทะเลขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ แต่ต่ำกว่า ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์

พวงชูชีพ ๘ พวง

เสื้อชูชีพเท่าจำนวนคน ๕%

เรือบดที่มีเครื่องยนต์ ๑ ลำ ที่สามารถบรรทุกคนได้ทั้งหมดที่มีอยู่บนเรือ หรือแพชูชีพ ๒ แพ แต่ละแพสามารถบรรทุกคนได้ทั้งหมดที่มีอยู่บนเรือ

๔.๖ เรือกลเดินทะเลขนาดตั้งแต่ ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป

พวงชูชีพ ๘ พวง

เสื้อชูชีพเท่าจำนวนคน ๕%

เรือชูชีพ ๒ ลำ และแพชูชีพ ๑ แพ หรือเรือชูชีพ ๑ ลำ และแพชูชีพ ๒ แพ

 

ข้อ ๕  สำหรับเรือกลเดินทะเลขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ ไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ ที่กำหนดไว้ในตารางให้มีเรือบต ๒ ลำนั้น ถ้ามีเรือบดเพียง ๑ ลำ ต้องเพิ่มแพชูชีพอีก ๑ แพซึ่งมีขนาดสามารถบรรทุกคนที่อยู่บนเรือทั้งหมดได้แทนเรือบลำที่ขาดไป

 

ข้อ ๖  เรือกลเดินทะเลขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสส์ ขึ้นไป ขนาดของแพที่กำหนดให้มี ๑ แพ ตามตารางนั้น ต้องสามารถบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคนที่มีอยู่บนเรือทั้งหมด

 

ข้อ ๗  ขนาดเรือชูชีพ เรือบด และแพชูชีพบรรทุกได้รวมกันทั้งหมด สำหรับเรือกลเดินทะเลต้องไม่น้อยกว่า ๒ เท่า จำนวนคนที่มีอยู่บนเรือทั้งหมด

 

ข้อ ๘[๒๙]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๙[๓๐]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๑๐  เรือเดินทะเลที่มิใช่เรือกลขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป อย่างน้อยต้องมีพวงชูชีพ ๒ พวง และเสื้อชูชีพเท่าจำนวนคนที่อยู่บนเรือ

 

ข้อ ๑๑  เรือกลลำน้ำทุกลำ ต้องมีพวงชูชีพอย่างน้อย ๒ พวง และเครื่องลอยน้ำให้เพียงพอสำหรับทุกคนที่อยู่บนเรือ

 

อุปกรณ์ประจำเรือชูชีพ

                 

 

ข้อ ๑๒  อุปกรณ์ประจำเรือชูชีพ สำหรับเรือเดินทะเล

ก. อุปกรณ์ประจำเรือชูชีพ ตามปกติต้องประกอบด้วย

(๑) กรรเชียงที่ลอยน้ำได้ชนิดใช้กับเรือชูชีพตามอัตราเต็มที่ของคนประจำเรือชูชีพ กรรเชียงสำรองที่ลอยน้ำได้ ๒ เล่ม กรรเชียงสำหรับคัดท้ายที่ลอยน้ำได้ ๑ เล่ม หลักกรรเชียง ๑ ชุดซึ่งผูกติดกับเรือชูชีพด้วยเชือกหรือโซ่ พร้อมด้วยขอตะเพรา ๑ ด้าม

(๒) จุกอุดรู ๒ จุกต่อรูปล่อยน้ำ ๑ รู ผูกติดกับเรือชูชีพโดยเชือกหรือโซ่ (ไม่ต้องมีจุกหากติดลิ้นอัตโนมัติไว้) ถังวิดน้ำ ๑ ใบ ที่วิดน้ำ ๒ อันซึ่งทำด้วยวัสดุที่ได้รับอนุมัติแล้ว

(๓) หางเสือซึ่งผูกติดกับเรือชูชีพ พร้อมทั้งพังงา ๑ ชุด

(๔) ขวาน ๒ เล่ม เก็บไว้หัวเรือ ๑ เล่ม ท้ายเรือ ๑ เล่ม

(๕) ตะเกียง ๑ ดวงพร้อมทั้งน้ำมันพอที่จะใช้จุดได้นานต่อเนื่องกันถึง ๑๒ ชั่วโมง ไม้ขีดไฟ ๒ กลักบรรจุไว้ในกล่องผนึกกันน้ำ

(๖) เสาใบ ๑ เสา หรือหลายเสาพร้อมด้วยลวดยึดเสา และใบเรือ (สีส้ม)

(๗) เข็มทิศที่ใช้การได้ดีพร้อมกล่องบรรจุเข็มทิศ ๑ ชุด มีพรายน้ำ หรือติดเครื่องส่องสว่างให้เห็นได้ในเวลากลางคืน

(๘) เชือกชีวิต ๑ เส้น ต้องติดไว้รอบลำเรือด้านนอก

(๙) สมอทะเลขนาดที่ได้รับอนุมัติ ๑ ชุด

(๑๐) เชือก ๒ เส้น ยาวพอสมควรเส้นหนึ่ง ให้ผูกติดกับหัวเรือชูชีพโดยทำเป็นห่วงและมีสลักยึดเพื่อใช้ปลดโดยวิธีปลดสลักออกได้ง่าย ๆ อีกเส้นหนึ่ง ให้ผูกติดกับทวนหัวของเรือชูชีพอย่างมั่นคงพร้อมที่จะใช้การได้เสมอ

(๑๑) ภาชนะขนาดจุ ๔ ลิตร (๑ แกลลอน) บรรจุน้ำมันพืช น้ำมันปลา หรือน้ำมันสัตว์เต็มภาชนะนั้น ต้องออกแบบให้น้ำมันที่บรรจุอยู่ภายในสามารถกระจายออกปกคลุมพื้นน้ำทะเลได้โดยง่าย และให้สามารถผูกติดกับสมอทะเลได้ด้วย

(๑๒) เสบียงกรัง ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้มีไว้สำหรับผู้โดยสารเรือชูชีพทุกคน ตามอัตราที่ได้รับอนุญาตให้บรรทุกได้ เสบียงกรังเหล่านี้ต้องบรรจุไว้ในภาชนะผนึกกันอากาศ และเก็บไว้ในที่เก็บซึ่งผนึกกันน้ำมิให้เข้าได้ด้วย

(๑๓) ถังน้ำจืดหลาย ๆ ใบซึ่งผนึกกันน้ำเข้าได้ด้วยบรรจุน้ำจืดไว้สำหรับดื่มตามอัตราคนละ ๓ ลิตร (หรือ ๖ ไพนส์) บรรจุไว้ให้พอต่อจำนวนคนที่ได้รับอนุญาตให้บรรทุกได้ หรือมีถังชนิดดังกล่าวบรรจุน้ำจืดไว้สำหรับผู้โดยสารตามอัตราคนละ ๒ ลิตร (หรือ ๔ ไพนส์) พร้อมทั้งมีเครื่องเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดตามแบบที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งสามารถทำน้ำจืดเพิ่มขึ้นให้พอดื่มได้อีกคนละ ๑ ลิตร (หรือ ๒ ไพนส์) และต้องจัดให้มีกระบวยตักน้ำซึ่งไม่เป็นสนิมผูกเชือกติดไว้กับถังด้วย ๑ กระบวย พร้อมทั้งมีถ้วยสำหรับดื่มน้ำที่ไม่เป็นสนิม และมีขีดแบ่งความจุไว้บนถ้วย จำนวน ๑ ใบ

(๑๔) พลุสัญญาณชนิดมีร่มชูชีพตามแบบที่ได้รับอนุมัติจำนวน ๔ ดอก พลุสัญญาณดังกล่าวต้องสามารถให้แสงสีแดงแจ่มกระจ่างในระยะสูงได้ กับต้องมีดอกไม้เพลิงตามแบบที่ได้รับอนุมัติอีกจำนวน ๔ ดอก ดอกไม้เพลิงนี้ให้แสงสีแดงแจ่มกระจ่างเช่นกัน

(๑๕) เครื่องส่งสัญญาณควันชนิดที่ลอยน้ำได้ตามแบบที่ได้รับอนุมัติ จำนวน ๒ เครื่อง (สำหรับใช้เวลากลางวัน) แต่ละเครื่องสามารถให้กลุ่มควันสัญญาณสีส้มได้หนึ่งกลุ่ม

(๑๖) ที่สำหรับให้คนเกาะกับเรือชูชีพหากเรือคว่ำลงและต้องเป็นแบบที่ได้รับอนุมัติด้วย มีรูปลักษณะเป็นกระดูกงูปีกหรือราวจับใต้ท้องเรือ รวมทั้งมีเชือกสำหรับเกาะโดยผูกติดกับกราบเรือกราบหนึ่งห้อยลอดให้กระดูกงูไปผูกติดกับอีกกราบหนึ่ง หรือจะทำอย่างอื่นตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่อนุมัติก็ได้

(๑๗) เครื่องปฐมพยาบาลที่บรรจุอยู่ในหีบผนึกกันน้ำจำนวน ๑ ชุด

(๑๘) ไฟฉายเดินทางชนิดผนึกกันน้ำ จำนวน ๑ กระบอก ให้เหมาะสำหรับใช้ส่งสัญญาณระหัสม้อสได้ พร้อมทั้งมีถ่านไฟฉายสำรองและหลอดสำรองด้วย ๑ ชุด บรรจุไว้ในหีบที่ผนึกกันน้ำได้

(๑๙) กระจกสำหรับส่งสัญญาณเวลากลางวันตามแบบที่ได้รับอนุมัติ จำนวน ๑ บาน

(๒๐) มีดพับซึ่งมีที่เปิดกระป๋องด้วย จำนวน ๑ เล่ม ผูกติดไว้กับเรือชูชีพด้วยเชือก

(๒๑) เชือกเบา ๆ ที่ลอยน้ำได้สำหรับลากจูง จำนวน ๒ เส้น

(๒๒) เครื่องสูบน้ำชนิดใช้มือตามแบบที่ได้รับอนุมัติจำนวน ๑ เครื่อง

(๒๓) หีบเก็บของที่เหมาะสำหรับเก็บเครื่องอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ จำนวน ๑ หีบ

(๒๔) นกหวีดหรือเครื่องส่งสัญญาณเสียงที่ให้ผลทัดเทียมกัน จำนวน ๑ อัน

(๒๕) เบ็ดตกปลา จำนวน ๑ ชุด

(๒๖) ประทุนที่มีสีแลเห็นได้ง่ายตามแบบที่ได้รับอนุมัติ จำนวน ๑ ผืน สำหรับใช้ป้องกันผู้ที่อาศัยอยู่ภายในมิให้ได้รับอันตรายจากสภาพอากาศภายนอก

(๒๗) หนังสือภาพคู่มือแสดงวิธีการส่งสัญญาณติดต่อในการช่วยชีวิตตามความบังคับของอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ บทที่ ๕ ข้อ ๑๖ จำนวน ๑ เล่ม

ข. สำหรับเรือที่เดินเรือโดยมีกำหนดระยะเวลาเดินทางซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นว่าบรรดาสิ่งของที่ต้องมีตามอนุวรรค (๖) (๗) (๑๙) (๒๐) และ (๒๕) ของวรรค ก. แห่งกฎข้อบังคับข้อนี้ไม่มีความจำเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่อาจผ่อนผันให้ไม่ต้องมีก็ได้

ค. จะมีบทบังคับของวรรค ก. แห่งกฎข้อบังคับข้อนี้ไว้แล้วก็ตาม เรือยนต์ชูชีพหรือเรือชูชีพที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกอย่างอื่น ซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว จะไม่มีเสาใบ หรือใบเรือ หรือไม่มีกรรเชียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรเชียงก็ได้ แต่จะต้องมีขอตะเพราะไว้จำนวน ๒ อัน

ง. เรือชูชีพทุกลำต้องติดสิ่งที่เหมาะสมเพื่อให้คนที่อยู่ในน้ำสามารถไต่ขึ้นเรือชูชีพได้

จ. เรือยนต์ชูชีพทุกลำต้องมีเครื่องมือดับเพลิงชนิดเคลื่อนที่ได้ตามแบบที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งใช้พ่นฟองหรือพ่นสารอื่น และเหมาะสำหรับใช้ดับไฟที่เกิดจากน้ำมันได้

 

อุปกรณ์ประจำแพชูชีพ

                 

 

ข้อ ๑๓  อุปกรณ์ประจำแพชูชีพชนิดพองลม และแพชูชีพชนิดทำด้วยวัสดุแข็ง

ก. อุปกรณ์ประจำแพชูชีพประจำเรือเดินระหว่างประเทศตามปกติต้องประกอบด้วย

(๑) พวงชูชีพ ๑ พวง ผูกติดกับเชือกที่ลอยน้ำได้ยาวไม่ต่ำกว่า ๓๐ เมตร

(๒) สำหรับแพชูชีพที่บรรทุกคนได้ไม่เกินกว่า ๑๒ คน ต้องมีมีด ๑ เล่ม และถังตักน้ำ๑ ใบ สำหรับแพชูชีพที่บรรทุกคนได้ตั้งแต่ ๑๓ คนขึ้นไป ให้มีมีด ๒ เล่ม และถังตักน้ำ ๒ ใบ

(๓) ฟองน้ำ ๒ อัน

(๔) สมอทะเล ๒ ตัว โดยตัวหนึ่งผูกติดประจำไว้กับแพชูชีพ อีกตัวหนึ่งไว้สำรองใช้

(๕) พาย ๒ เล่ม

(๖) เครื่องมือสำหรับซ่อมทำปะรอยรั่วห้องลอย ๑ ชุด

(๗) สูบลมชนิดทำงานด้วยมือ หรือสูบลมชนิดให้เท้าเหยียบ จำนวน ๑ สูบ เว้นแต่แพชูชีพนั้นเป็นแพชูชีพตามกฎข้อบังคับ ข้อ ๕๖ แห่งหมวดนี้

(๘) ที่เปิดกระป๋อง ๓ อัน

(๙) เครื่องปฐมพยาบาล ๑ ชุด บรรจุไว้ในหีบผนึกกันน้ำเข้า

(๑๐) ถ้วยสำหรับดื่มน้ำที่ไม่เป็นสนิม และมีขีดแบ่งความจุไว้บนถ้วย จำนวน ๑ ใบ

(๑๑) ไฟฉายเดินทางชนิดกันน้ำซึ่งเหมาะแก่การใช้ส่งสัญญาณระหัสม้อส จำนวน ๑ กระบอก พร้อมทั้งมีถ่านไฟฉายสำรองและหลอดไฟสำรองด้วย จำนวน ๑ ชุด เก็บไว้ในที่เก็บซึ่งกันน้ำได้

(๑๒) กระจกสำหรับส่งสัญญาณในเวลากลางวัน ๑ บาน และนกหวีดสัญญาณ ๑ ตัว

(๑๓) พลุสัญญาณแจ้งเหตุอับจนตามแบบที่ได้รับอนุมัติ สามารถส่องแสงสีแดงแจ่มกระจ่างในระยะสูงได้ จำนวน ๒ ดอก

(๑๔) ดอกไม้เพลิงตามแบบที่ได้รับอนุมัติ สามารถส่องแสงสีแดงแจ่มกระจ่างได้จำนวน ๖ ดอก

(๑๕) เบ็ดตกปลา จำนวน ๑ ชุด

(๑๖) เสบียงกรังตามอัตราที่กำหนดโดย พนักงานเจ้าหน้าที่ให้ครบทุกคน ตามจำนวนคนที่มีทั้งหมดในเรือ

(๑๗) ถังน้ำจืดชนิดมีฝาผนึกแน่น บรรจุน้ำจืดไว้สำหรับดื่มตามอัตราคนละ ๑ ลิตร (๓ ไพนส์) โดยบรรจุไว้ให้พอต่อจำนวนคนที่ได้รับอนุญาตให้บรรทุกได้ หรือมีจำนวนถังน้ำจืดชนิดดังกล่าวให้พอที่จะบรรจุน้ำจืดสำหรับดื่มตามอัตราคนละ  ลิตร (๑ ไพนส์) แทนก็ได้ หากมีเครื่องเปลี่ยนน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดซึ่งสามารถทำน้ำจืดเพิ่มขึ้นให้พอดื่มได้เท่ากับจำนวนน้ำจืดสำหรับดื่มตามอัตราที่กำหนดในตอนต้นของอนุวรรคนี้

(๑๘) ยากันเมาคลื่น จำนวน ๖ เม็ดต่อคน ครบจำนวนผู้โดยสารที่บรรทุกได้

(๑๙) สมุดคู่มือแนะนำการยังชีพในแพชูชีพ

(๒๐) หนังสือภาพคู่มือแสดงวิธีการส่งสัญญาณติดต่อในการช่วยชีวิตตามความบังคับของอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ บทที่ ๕ ข้อ ๑๖ จำนวน ๑ เล่ม

ข. สำหรับเรือโดยสารที่ใช้เดินระหว่างประเทศระยะใกล้โดยมีระยะเวลาการเดินทางซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นว่าอุปกรณ์ที่ต้องมีตามรายการทั้งหมดในวรรค ก. แห่งกฎข้อบังคับข้อนี้ไม่มีความจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อาจผ่อนผันอนุญาตให้แพชูชีพใด หรือหลายแพชูชีพจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๖ ของแพชูชีพทั้งหมดที่บังคับไว้นั้น ยังคงต้องมีอุปกรณ์ประจำแพชูชีพตามรายการ (๑) ถึง (๗) รายการ (๑๑) และรายการ (๑๙) ของวรรค ก. แห่งกฎข้อบังคับข้อนี้ พร้อมทั้งมีอุปกรณ์ตามรายการ (๑๓) และรายการ (๑๔) อีกครึ่งหนึ่งของที่กำหนดไว้ในวรรคนั้นด้วย และแพชูชีพที่เหลือให้มีอุปกรณ์เพียงตามรายการ (๑) ถึง (๗) และรายการ (๑๙) ในวรรค ก. แห่งกฎข้องบังคับข้อนี้เท่านั้นก็พอ

ค. อุปกรณ์ประจำแพชูชีพสำหรับเรือที่มิได้เดินระหว่างประเทศ

(๑) พวงชูชีพ ๑ พวง ผูกติดกับเชือกที่ลอยน้ำได้ยาวไม่ต่ำกว่า ๓๐ เมตร

(๒) สำหรับแพชูชีพที่บรรทุกคนได้ไม่เกินกว่า ๑๒ คน ต้องมีมีด ๑ เล่ม และถังตักน้ำ ๑ ใบ สำหรับแพชูชีพที่บรรทุกคนได้ตั้งแต่ ๑๓ คนขึ้นไป ให้มีมีด ๒ เล่ม และถังตักน้ำ ๒ ใบ

(๓) ฟองน้ำ ๒ อัน

(๔) สมอทะเล ๒ ตัว โดยตัวหนึ่งผูกติดประจำไว้กับแพชูชีพ อีกตัวหนึ่งไว้สำรองใช้

(๕) พาย ๒ เล่ม

(๖) เครื่องมือสำหรับซ่อมทำปะรอยรั่วห้องลอย ๑ ชุด

(๗) สูบลมชนิดทำงานด้วยมือ หรือสูบลมชนิดใช้เท้าเหยียบ จำนวน ๑ สูบ เว้นแต่แพชูชีพนั้น เป็นแพชูชีพตามกฎข้อบังคับ ข้อ ๕๖ แห่งหมวดนี้

(๘) พลุสัญญาณแจ้งเหตุอับจนตามแบบที่ได้รับอนุมัติ สามารถส่องแสงสีแดงแจ่มกระจ่างในระยะสูงได้ จำนวน ๑ ดอก

(๙) ดอกไม้เพลิงตามแบบที่ได้รับอนุมัติ สามารถส่องแสงสีแดงแจ่มกระจ่างได้จำนวน ๓ ดอก

(๑๐) สมุดคู่มือแนะนำการยังชีพในแพชูชีพ

(๑๑) หนังสือภาพคู่มือแสดงวิธีการส่งสัญญาณติดต่อในการช่วยชีวิตตามความบังคับของอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ บทที่ ๕ ข้อ ๑๖ จำนวน ๑ เล่ม

 

ข้อกำหนดสำหรับเรือชูชีพ

                 

 

ข้อ ๑๔  เรือชูชีพทุกลำที่ใช้ในเรือเดินทะเล ต้องได้รับการอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๑๕  เรือชูชีพทุกลำ ต้องต่อให้มั่นคงแข็งแรง

 

ข้อ ๑๖  เรือชูชีพที่หลังคาแข็ง ต้องทำให้สามารถเปิดประตูเข้าออกได้ทั้งจากภายใน และภายนอก กับทั้งไม่กีดขวางการขึ้น – ลงเรือชูชีพหรือ การชักเรือชูชีพขึ้น และปล่อยเรือชูชีพลงน้ำ

 

ข้อ ๑๗  เรือชูชีพทุกลำที่ต่อด้วยวัสดุอย่างอื่นนอกจากไม้ ต้องมีสัมประสิทธิ์ความจุ ไม่ต่ำกว่า๐.๖๔

 

ข้อ ๑๘  เรือชูชีพทุกลำ ต้องมีอัตราส่วนของรูปเรือซึ่งจะให้อาการทรงตัวได้อย่างดีเมื่อเรืออยู่ในทะเล  และมีระยะกราบพ้นน้ำมากพอเมื่อบรรทุกคนเต็มที่ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบครัน

 

ข้อ ๑๙  เรือชูชีพทุกลำ ต้องสร้างให้สามารถมีค่าความทรงตัวเป็นบวกตลอดเวลาเมื่ออยู่ในทะเล และบรรทุกคนเต็มที่ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบครัน

 

ข้อ ๒๐  เรือชูชีพทุกลำ ต้องสร้างให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่จะใช้มีความแข็งแรงพอสำหรับการหย่อนเรือเมื่อบรรทุกเต็มที่พร้อมอุปกรณ์ครบครัน และจะต้องไม่เกิดการเสียหายใด ๆ เมื่อบรรทุกคนเกินอัตราอย่างน้อย ๒๕ เปอร์เซ็นต์

 

ข้อ ๒๑  เรือชูชีพทุกลำ ต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า ๑๖ ฟุต

 

ข้อ ๒๒  เรือชูชีพทุกลำ เมื่อบรรทุกคนเต็มที่ (คิดว่าคนหนักคนละ ๑๖๕ ปอนด์) พร้อมทั้งอุปกรณ์ครบครัน ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน ๒๐ ตัน

 

ข้อ ๒๓  เรือชูชีพทุกลำ ต้องทำที่นั่งให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้

 

ข้อ ๒๔  เรือชูชีพทุกลำ ต้องมีค่าความงอนเฉลี่ยของกราบเรืออย่างน้อย ๔ เปอร์เซ็นต์ ของความยาวและความงอนของกราบเรือต้องเป็นรูปพาราโบลิค

 

ข้อ ๒๕  เรือชูชีพทุกลำ ต้องมีเครื่องลอยน้ำอยู่ภายใน ซึ่งควรจะเป็นห้องลอย หรือวัสดุลอยน้ำอื่น ๆ ซึ่งทนต่อน้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน

 

ข้อ ๒๖  เรือชูชีพทุกลำ ต้องมีห้องลอย หรือวัสดุลอยน้ำอื่น ๆ ให้มีปริมาตรอย่างน้อยเท่ากับผลบวกของ

ก. ทำให้เรือชูชีพสามารถลอยน้ำอยู่ได้โดยมีช่องกรรเชียงกลางลำ ไม่จมน้ำเมื่อเรือชูชีพลำนั้นบรรทุกเต็มที่ และมีน้ำทะเลเข้าเต็มลำ กับ

ข. ไม่น้อยกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของขนาดความจุของเรือชูชีพนั้น

 

ข้อ ๒๗  ในกรณีเรือชูชีพที่บรรทุกได้ตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป ปริมาตรของเครื่องลอยน้ำตามข้อ ๒๖ ข. ต้องเพิ่มขึ้นอีกดังนี้

สำหรับเรือที่บรรทุกได้ ๑๐๐ คนถึง ๑๓๐ คน ต้องเพิ่มอีกตามที่คำนวณได้จากวิธีบัญญัติไตรยางค์ จาก ๐ เมื่อ ๑๐๐ คนกับ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อบรรทุก ๑๓๐ คน

สำหรับเรือที่บรรทุกได้เกิน ๑๓๐ คน ต้องเพิ่มอีก ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ ของขนาดความจุของเรือชูชีพ

 

ข้อ ๒๘  ขนาดความจุที่กล่าวมาแล้วในข้อก่อน ให้คำนวณได้จากกฎของสเตอริง ดังต่อไปนี้ขนาดความจุ =  (๔ก + ๒ข + ๔ค)

เมื่อ ย = ความยาวของเรือเป็นฟุต วัดจากหลังหวนหัวถึงแกนหางเสือ ถ้าเป็นเรือท้ายตัดให้วัดถึงท้ายสุด

ก = พื้นที่หน้าตัดของเรือ ณ จุด  ของความยาวของเรือ วัดจากหัวเรือเป็นตารางฟุต

ข = พื้นที่หน้าตัดของเรือ ณ จุดกึ่งกลางลำเป็นตารางฟุต

ค = พื้นที่หน้าตัดของเรือ ณ จุด  ของความยาวของเรือ วัดจากหัวเรือเป็นตารางฟุต

ก ข ค หาได้โดยใช้กฎซิมสัน โดยคิดความลึกจากช่องกรรเชียงที่ต่ำสุดถึงท้องเรือออกเป็น ๕ ส่วน

สำหรับเรือท้ายตัด ใช้คิดเช่นเดียวกับเรือท้ายแหลม

 

ข้อ ๒๙  สำหรับเรือที่มีความงอนที่กราบเรือ ซึ่งวัดระหว่างจุดที่ห่างกัน  ของความยาวเรือได้เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์ของความยาวเรือ ความลึกของพื้นที่หน้าตัดที่จุด ก และ จุด ค ให้คิดจากความลึกกลางลำบวก ๑ เปอร์เซ็นต์ของความยาวเรือ

ในกรณีที่ความลึกกึ่งกลางลำ เกินกว่า ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของความกว้างของเรือความลึกที่ใช้คำนวณหาพื้นที่ที่จุด ข ให้คิดเพียง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของความกว้างของเรือ และความลึกที่ใช้คำนวณหาพื้นที่ที่จุด ก และจุด ค ให้เพิ่มความลึกที่ใช้คำนวณได้อีก ๑ เปอร์เซ็นต์ของความยาวของเรือ

แต่อย่างไรก็ตามความลึกที่ใช้คำนวณจะต้องไม่ลึกเกินกว่าความลึกตรงที่วัดได้จุดนั้น ๆ

 

ข้อ ๓๐  การคำนวณขนาดความจุของเรือชูชีพอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

ขนาดความจุ = กว้าง x ยาว x ลึก x ๐.๖ ลูกบาศก์ฟุต

เมื่อกว้าง          วัดจากกราบนอกถึงกราบนอกบริเวณกึ่งกลางลำตรงที่กว้างที่สุด

ยาว               วัดจากหลังทวนหัวถึงแกนหางเสือ ถ้าเป็นเรือท้ายตัดวัดถึงท้ายสุด

ลึก                วัดตรงบริเวณกึ่งกลางลำจากพื้นเรือด้านในติดกับกระดูกงูถึงระดับช่องกรรเชียงที่ต่ำสุด แต่ต้องไม่เกิน ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของความกว้าง

 

ข้อ ๓๑  ขนาดความจุของเรือยนต์ชูชีพ หรือเรือชูชีพที่มีใบจักรขับด้วยแรงอย่างใด ๆ ก็ตาม หาได้จากการคำนวณหาความจุเป็นตันกรอสส์ คือเอาความจุที่คำนวณได้ ลบด้วยปริมาตรที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งกระปุกเกียร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งต้องมีประจำเรือตามข้อบังคับ

 

เครื่องยนต์สำหรับเรือยนต์ชูชีพ

                 

 

ข้อ ๓๒  เครื่องยนต์สำหรับเรือยนต์ชูชีพต้องสามารถเดินได้ทุกสภาวะอากาศ

 

ข้อ ๓๓  เครื่องยนต์ต้องเดินอยู่ได้เมื่อเรือเอียงกราบใด ๆ ๑๐ องศา หรือหัว และท้ายเรือระดับต่างกัน ๑๐ องศา ระบบน้ำหล่อดับความร้อนต้องเป็นแบบไพรมิ่งโดยอัตโนมัติ

 

ข้อ ๓๔  ระบบตัวเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ รวมทั้งถังน้ำมันเชื้อเพลิง ท่อทาง และ อุปกรณ์ ต้องมีการป้องกันให้สามารถทำงานได้ในทุกสภาวะที่อาจเกิดขึ้นในทะเลได้ ฝาครอบเครื่องต้องทนไฟและสำหรับดับความร้อนด้วยอากาศ ต้องออกแบบฝาครอบให้อากาศสำหรับดับความร้อนผ่านเข้าออกได้โดยสะดวก

 

ข้อ ๓๕  ต้องมีเครื่องป้องกันน้ำมันไม่ให้กระจายออกไปตามส่วนต่าง ๆ ของเรือ เรือที่ต่อด้วยไม้ต้องมีถาดโลหะรองรับน้ำมันอยู่ใต้เครื่อง

 

ข้อ ๓๖  ถังน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องทำให้แข็งแรง และมีที่ยึดอยู่กับที่อย่างแน่นหนา มีถาดโลหะรองน้ำมันอยู่ใต้ถัง มีทางเติมน้ำมันที่เหมาะสม มีทางระบายอากาศ และลิ้นผ่อนกำลังดันถังน้ำมัน และท่อทางติดต่อต่าง ๆ ต้องไม่บัดกรีด้วยตะกั่ว และถังที่ทำด้วยเหล็กให้เคลือบภายนอกเพื่อกันการสึกกร่อนจากน้ำทะเล ถังและทางติดต่อต้องทนกำลังน้ำที่บรรจุได้สูงอย่างน้อย ๑๕ ฟุต และมีลิ้นปิด – เปิดที่ปลายของท่อทางน้ำมันทุกปลาย

 

ข้อ ๓๗  เพลาใบจักร และส่วนเคลื่อนไหวต่าง ๆ ต้องมีที่ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่คนในเรือได้

 

เครื่องกลสำหรับขับเพลาใบจักรเรือชูชีพ

                 

 

ข้อ ๓๘  เครื่องกลสำหรับขับเพลาใบจักรเรือชูชีพ ต้องทำให้ใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว กับทั้งไม่กีดขวางการลงเรือชูชีพอย่างรีบด่วน

 

ข้อ ๓๙  เครื่องกลขับเพลาใบจักรทำงานด้วยแรงคน ต้องสามารถใช้ได้โดยคนที่ไม่ได้รับการฝึกมาก่อน และต้องสามารถใช้ได้เมื่อน้ำเข้าเต็มลำเรือด้วย

 

ข้อ ๔๐  เครื่องกลขับเพลาใบจักรที่ใช้ ต้องเป็นแบบที่ไม่ต้องปรับแต่งเพื่อให้คนที่มีขนาดต่าง ๆ กันใช้ และสามารถใช้ได้ไม่ว่าจะมีคนบางส่วนหรือมีคนเต็มที่

 

ข้อ ๔๑  เครื่องกลขับเพลาใบจักร ต้องทำให้มั่นคงแข็งแรง และติดตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อ ๔๒  เครื่องกลขับเพลาใบจักร ต้องมีกำลังขับเพียงพอที่จะขับเรือชูชีพเมื่อบรรทุกเต็มที่ ต้องมีความเร็วเดินหน้าอย่างน้อย ๓.๕ น๊อต ในทะเลเรียบเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า  ไมล์

 

ข้อ ๔๓  เครื่องกลขับเพลาใบจักร ต้องมีเครื่องเปลี่ยนจากเดินหน้าเป็นถอยหลัง หรือในทางกลับกันได้ตามที่ต้องการ

 

ข้อกำหนดสำหรับเรือบด

                 

 

ข้อ ๔๔  บรรดาเรือบดทุกลำ ต้องเป็นเรือบดดาดฟ้าเปิดที่ต่ออย่างมั่นคงแข็งแรง

 

ข้อ ๔๕  ตัวเรือต้องต่อตามสัดส่วนที่จะเกิดอาการทรงตัวอย่างดีเมื่ออยู่ในทะเล และเมื่อบรรทุกเต็มที่ตามข้อบังคับ จะต้องมีระยะกราบพ้นน้ำมากพอ

 

ข้อ ๔๖  ความยาวของเรือบดที่ใช้ในเรือเดินทะเลขนาดต่าง ๆ ให้ใช้ตามตารางกำหนดข้างล่างนี้ โดยกำหนดให้ขนาดความจุ ๑๐ ลบ.ฟุต บรรทุกคนได้ ๑ คน

ขนาดของเรือเป็นตันกรอสส์

ความยาวต่ำสุดเป็นฟุต

ตั้งแต่ ๖๐ ไม่เกิน ๒๐๐

ตั้งแต่ ๒๐๐ ไม่เกิน ๕๐๐

๑๒ ฟุต (๓.๖ เมตร)

๑๔ ฟุต (๔.๓ เมตร)

หมายเหตุ ขนาดเรือตั้งแต่ ๕๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ความยาวของเรือบดให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล

 

ข้อ ๔๗  ที่นั่งข้างกราบเรือ และที่กระทงต้องทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องมีไม้ปูท้องเรือด้วย

 

ข้อ ๔๘  เรือบดต้องมีท้ายตัด และต้องมีความงอนของกราบเรืออย่างน้อยเท่ากับ ๕ เปอร์เซ็นต์ของความยาวเรือ

 

ข้อ ๔๙  เรือบดต้องมีเครื่องลอยน้ำติดตั้งไว้อย่างมั่นคงแข็งแรงและมีอาการทรงตัวของเรือดีเมื่อบรรทุกเต็มที่ตามข้อบังคับไม่ว่าทะเลจะมีสภาพเป็นอย่างไร

 

ข้อ ๕๐  ปริมาตรรวมของเครื่องลอยน้ำอย่างต้องเท่ากับผลบวกของ

(ก) ปริมาตรที่ต้องการเพื่อให้เรือลอยอยู่ได้โดยช่องกรรเชียงที่ต่ำสุดไม่จมน้ำเมื่อเรือบรรทุกเต็มที่ และมีน้ำเข้าเต็มลำเรือกับ

(ข) ปริมาตรอีก ๗.๕ เปอร์เซ็นต์ ของปริมาตรของเรือที่คำนวณได้ตามข้อบังคับ

 

ข้อกำหนดสำหรับแพชูชีพชนิดพองลม

                 

 

ข้อ ๕๑  แพชูชีพชนิดพองลมที่ใช้ในเรือเดินทะเลต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้เรือได้

 

ข้อ ๕๒  แพชูชีพชนิดพองลมที่ใช้ในเรือต้องได้รับการตรวจทดลองโดยผู้ผลิต หรือสถานีบริการที่ได้รับอนุมัติทุก ๆ รอบ ๑๒ เดือน หากจำเป็นอนุญาตให้ขยายเวลาการตรวจทดลองออกไปได้อีกไม่เกิน ๓ เดือน

 

ข้อ ๕๓ บรรดาแพชูชีพชนิดพองลมที่ใช้กับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่อไปนี้

(ก) ต้องทำให้มีอาการทรงตัวอยู่ในทะเลได้ดีเมื่อพองเต็มที่พร้อมทั้งกางประทุนด้วย

(ข) แพชูชีพต้องทำให้สามารถทิ้งจากที่สูง ๑๘ เมตร ลงไปในน้ำได้โดยตัวแพและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในแพไม่ชำรุดเสียหาย

(ค) ตัวแพชูชีพและประทุนต้องมีสีที่เห็นได้ง่ายและต้องกางออกได้โดยอัตโนมัติ เมื่อแพชูชีพพองตัวประทุนต้องสามารถป้องกันอันตรายอันเกิดจากธรรมชาติได้ มีเครื่องรองน้ำฝน มีไฟแสงสว่างซึ่งเกิดจากเซลล์ทำปฏิกิริยากับน้ำทะเล และต้องมีไฟแสงสว่างเช่นว่านี้อยู่ภายในแพอีกดวงหนึ่งด้วย

(ง) แพชูชีพต้องมีเชือกพ่วงและมีเชือกชีวิตผูกอยู่รอบ ๆ แพทั้งภายนอกและภายใน

(จ) แพชูชีพต้องมีน้ำหนักเบาพอที่คนๆ เดียวสามารถพลิกแพให้หงายขึ้นได้เมื่อแพกางเต็มที่

(ฉ) แพชูชีพต้องมีเครื่องสำหรับให้คนไต่ขึ้นแพได้ตามช่องที่เปิดไว้สำหรับให้คนเข้าไปอยู่ในแพ

(ช) แพชูชีพต้องบรรจุอยู่ในที่เก็บโดยเฉพาะ หรือภาชนะที่มีความแข็งแรงลอยน้ำได้ และทนต่อการสึกกร่อนจากทุกสภาพของทะเล

(ซ) ห้องลอยของแพชูชีพต้องแบ่งออกเป็นช่อง ๆ และมีจำนวนเป็นเลขคู่ ครึ่งหนึ่งของจำนวนช่องทั้งหมดต้องสามารถรับน้ำหนักของจำนวนคนทั้งหมดที่อนุญาตให้แพชูชีพนั้นบรรทุกได้ ลอยพ้นน้ำสูงพอสมควร หรือโดยวิธีอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันเมื่อแพหรือบางส่วนของห้องลอยชำรุดต้องไม่ทำแพนั้นจมมิดน้ำ

(ฌ) น้ำหนักทั้งหมดของแพชูชีพรวมทั้งวัสดุห่อหุ้มต้องไม่เกิน ๑๘๐ กิโลกรัม

(ญ) จำนวนคนที่แพชูชีพบรรทุกได้หาได้ดังนี้

(๑) จำนวนคนที่บรรทุกได้มากที่สุดเท่ากับปริมาตรรวมของห้องลอย (ไม่รวมกระทงและเสาประทุน) เมื่อแพกางเต็มที่เป็นลูกบาศก์เมตรหารด้วย ๙๖ หรือ

(๒) จำนวนคนที่บรรทุกได้มากที่สุดเท่ากับพื้นที่ของพื้นแพ เมื่อแพกางเต็มที่ (รวมทั้งกระทงถ้ามี) เป็นตารางเซนติเมตรหารด้วย ๓๗๒๐ และให้ใช้จำนวนที่น้อยที่สุดที่หาได้จากวิธีทั้งสองข้างต้น

(ฎ) พื้นของแพต้องกั้นน้ำและสามารถกันอากาศหนาวได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยวิธี

(๑) โดยมีห้องลอยห้องหนึ่งหรือหลายห้องซึ่งสามารถสูบลมเข้าได้ โดยผู้อาศัยหรือกางโดยอัตโนมัติแล้วสามารถปล่อยลมออก และสูบเข้าได้โดยผู้อาศัยหรือ

(๒) โดยวิธีอื่นใดซึ่งมิใช่วิธีพองลม

(ฏ) แก๊สที่ใช้สำหรับอัดแพชูชีพให้พองต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้อาศัย และต้องอัดลมเข้าแพเองโดยอัตโนมัติโดยสายดึงหรือวิธีอื่นซึ่งให้ผลและประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน และต้องสามารถใช้สูบมือสูบลมเพิ่มหรือรักษากำลังดันได้

(ฐ) แพชูชีพต้องทำด้วยวัสดุและฝีมือที่ดีสามารถทนลอยอยู่ในทะเลได้ทุกสภาพท้องทะเลได้นานถึง ๓๐ วัน

(ฑ) แพชูชีพที่ออกแบบไว้สำหรับใช้กับเครื่องหย่อนลงน้ำต้องทำให้สามารถใช้ได้ตามวัตถุประสงค์และมีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะหย่อนแพลงน้ำได้ในขณะที่แพบรรทุกคนและอุปกรณ์เต็มที่ตามข้อบังคับได้โดยปลอดภัย

(ฒ) แพชูชีพต้องบรรทุกคนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ได้ไม่ต่ำกว่า ๖ คน และไม่เกิน ๒๕ คน

(ณ) แพชูชีพต้องใช้งานได้ดีในอุณหภูมิตั้งแต่ลบ ๓๐ องศาเซลเซียส ถึง ๖๖ องศาเซลเซียส

(ด) แพชูชีพต้องมีที่สำหรับพร้อมที่จะทำการพ่วงได้

(ต) แพชูชีพที่ต้องมีเครื่องรับ-ส่งวิทยุกระเป๋าหิ้วตามข้อบังคับ

 

ข้อ ๕๔  แพชูชีพสำหรับใช้กับเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตที่มีความยาวไม่เกิน ๒๑ เมตรให้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในข้อกำหนดสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศดังนี้

(ก) ข้อกำหนดที่กำหนดให้แพชูชีพพร้อมทั้งอุปกรณ์ต้องไม่ชำรุดเสียหายเมื่อทิ้งจากความสูง ๑๘ เมตรลงสู่น้ำทะเลให้ลดลงเหลือเท่ากับความสูงที่แพชูชีพจะติดตั้งแต่ต้องไม่น้อยกว่า ๖ เมตร

(ข) ไม่ต้องมีที่รองน้ำฝนตามที่กำหนดไว้

(ค) ไม่ต้องมีวิธีป้องกันอากาศหนาวตามที่กำหนดไว้

(ง) ข้อกำหนดที่กำหนดให้แพชูชีพบรรทุกได้ไม่ต่ำกว่า ๖ คน ให้ลดลงเหลือ ๔ คน แต่จะใช้ความในข้อนี้ได้เมื่อบนเรือใหญ่มีคนไม่ถึง ๖ คนเท่านั้น

(จ) ข้อกำหนดที่กำหนดให้แพชูชีพต้องทำงานได้เมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำถึงลบ ๓๐ องศาเซลเซียสนั้นให้ลดลงเหลือลบ ๑๘ องศาเซลเซียส

(ฉ) ไม่ต้องมีที่พ่วงตามที่กำหนดไว้

 

ข้อ ๕๕  แพชูชีพที่ใช้กับเรือประมงและเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตที่มีขนาดเกิน ๕๐๐ ตันกรอสส์ ให้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศดังนี้

ข้อกำหนดที่กำหนดให้แพชูชีพบรรทุกคนได้ไม่ต่ำกว่า ๖ คน ให้ลดลงเหลือ ๔ คน แต่จะใช้ความในข้อนี้ได้ เมื่อบนเรือใหญ่มีคนไม่ถึง ๖ คนเท่านั้น

 

ข้อกำหนดสำหรับแพชูชีพชนิดคงรูป

                 

 

ข้อ ๕๖  แพชูชีพชนิดคงรูปทุกแพที่ใช้ในเรือเดินทะเลต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่า ให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๕๗  แพชูชีพชนิดคงรูปต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังนี้

(ก) แพชูชีพชนิดคงรูปต้องสร้างให้มีความมั่นคงแข็งแรงดี พอที่จะทิ้งจากที่เก็บลงไปสู่น้ำได้โดยตัวแพชูชีพและอุปกรณ์ไม่เกิดการชำรุดเสียหาย

(ข) แพชูชีพชนิดคงรูปที่ออกแบบไว้ใช้กับเครื่องหย่อนลงน้ำ ต้องสามารถหย่อนลงน้ำในขณะที่บรรทุกคนเต็มที่พร้อมทั้งอุปกรณ์ตามข้อบังคับโดยไม่เกิดการชำรุดเสียหาย

(ค) แพชูชีพชนิดคงรูปต้องมีห้องลอยหรือวัสดุที่จะทำให้แพลอยน้ำอยู่ใกล้กับขอบแพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

(ง) พื้นแพต้องอยู่ภายในส่วนที่มีเครื่องป้องกันผู้อาศัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะต้องสามารถรับน้ำหนักของผู้อาศัยได้

(จ) แพชูชีพชนิดคงรูปต้องมีประทุนที่มีสีเห็นได้ง่ายและสามารถป้องกันอันตรายผู้อยู่อาศัยได้ไม่ว่าด้านใดของแพชูชีพจะลอยขึ้นข้างบน

(ฉ) อุปกรณ์ประจำแพชูชีพต้องสามารถหยิบใช้ได้ไม่ว่าด้านใดของแพจะลอยขึ้นข้างบน

(ช) น้ำหนักของแพชูชีพรวมทั้งอุปกรณ์สำหรับแพชูชีพที่ใช้กับเรือโดยสารต้องไม่เกิน ๑๘๐ กิโลกรัม สำหรับเรือสินค้าอาจจะเกิน ๑๘๐ กิโลกรัมก็ได้ถ้าสามารถปล่อยลงน้ำได้ไม่ว่ากราบใด ๆ หรือมีเครื่องปล่อยลงน้ำได้ไม่ว่ากราบใด ๆ โดยเครื่องกล

(ซ) แพชูชีพต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและมีประสิทธิภาพดีไม่ว่าจะลอยทางด้านใดขึ้นข้างบน

(ฌ) จำนวนคนที่แพชูชีพบรรทุกได้คำนวณได้ดังนี้

(๑) ปริมาตรของห้องลอยหรือวัสดุสำหรับทำให้แพลอยน้ำได้เป็นลูกบาศก์เดซิเมตรหารด้วย ๙๖ หรือ

(๒) พื้นที่อาศัยเป็นตารางเซนติเมตรหารด้วย ๓๗๒๐ ให้ใช้จำนวนที่น้อยที่สุดที่คำนวณได้จากวิธีทั้งสองข้างบนนี้

(ญ) แพชูชีพต้องมีเชือกพ่วงผูกติดไว้ ๑ เส้น และเชือกชีวิตผูกติดไว้ทั้งภายนอกและที่ตรงช่องเปิดประทุนแต่ละช่องของแพชูชีพ ต้องจัดให้มีที่สำหรับให้คนที่อยู่ในน้ำสามารถไต่ขึ้นแพชูชีพได้

(ฎ) แพชูชีพต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เปลี่ยนสภาพเมื่อถูกน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ของน้ำมัน

(ฏ) แพชูชีพต้องมีที่สำหรับใช้พ่วงได้ทันที

(ฐ) แพชูชีพต้องเก็บไว้ในลักษณะที่สามารถจะหลุดลอยน้ำเป็นอิสระในกรณีที่เรือใหญ่จม

(ฑ) แพชูชีพ ต้องมีเครื่องรับ – ส่งวิทยุกระเป๋าหิ้วตามข้อบังคับ

 

ข้อกำหนดสำหรับเครื่องลอยน้ำ

                 

 

ข้อ ๕๘  เครื่องชูชีพชนิดลอยน้ำทุกชนิดที่ใช้ใจเรือต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่า ให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๕๙  เครื่องลอยน้ำต้องสามารถคงรูปและคุณสมบัติอยู่ได้เมื่อเก็บไว้บนดาดฟ้าเปิด และเมื่ออยู่ในน้ำทะเลเครื่องลอยน้ำนั้นต้องสามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการปรับแต่งก่อนใช้

 

ข้อ ๖๐  เครื่องลอยน้ำต้องสามารถทนทานต่อการทดลองปล่อยลงน้ำจากที่สูงเท่ากับที่ที่จะติดตั้งเรือใหญ่ใจขณะเรือเบา แต่ต้องสูงไม่น้อยกว่าเกณฑ์ดังนี้

เรือโดยสารระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า ๑๘ เมตร

เรืออื่น ๆ ต้องไม่น้อยกว่า ๖ เมตร

 

ข้อ ๖๑  เครื่องลอยน้ำต้องสามารถใช้ได้และมีความแข็งแรงมั่นคงไม่ว่าด้านใดจะลอยขึ้นข้างบนและในขณะที่แพลอยน้ำเมื่อเอาเหล็กที่มีน้ำหนัก ๖.๗๐ กิโลกรัม (๑๕ ปอนด์) แขวนรอบ ๆ ห่างกัน ๓๐ เซนติเมตร (๑ ฟุต) (ต้องใช้เหล็กทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๒๘.๖ กิโลกรัม หรือ ๖๔ ปอนด์) จะต้องไม่ทำให้ส่วนบนของเครื่องลอยน้ำนั้น ณ จุดใดๆ จมน้ำ

 

ข้อ ๖๒  ห้องลอยผนึกอากาศหรือเครื่องลอยน้ำอื่น ๆ ต้องให้อยู่ใกล้กับขอบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเครื่องลอยน้ำนั้นต้องไม่ใช่ชนิดที่ต้องทำให้พองลมก่อนใช้ วัสดุที่ใช้ทำเครื่องลอยน้ำนั้น ต้องไม่เปลี่ยนสภาพเมื่อถูกน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน

 

ข้อ ๖๓  ต้องมีห่วงเชือกสำหรับให้คนเกาะอยู่รอบๆ เครื่องลอยน้ำและต้องมีจำนวนห่วงเชือกเท่ากับจำนวนคนที่เครื่องลอยน้ำนั้นจะรับได้และที่ห่วงเชือกสำหรับเกาะทุกๆ ห่วงต้องมีไม้ก๊อกหรือไม้เบา ๆ ลอยอยู่และระยะตกท้องช้างของห่วงนั้นเมื่อเปียกน้ำต้องไม่น้อยกว่า ๑๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒๐ เซนติเมตร

สำหรับเครื่องลอยน้ำที่มีความสูงเกินกว่า ๓๐ เซนติเมตร ให้มีห่วงสำหรับคนเกาะได้ ๒ แถว แถวหนึ่งให้อยู่ใกล้กับขอบบนของห้องลอยอีกแถวหนึ่งอยู่ใกล้กับขอบล่างของห้องลอย และให้อยู่ใกล้กับขอบของห้องลอยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับเครื่องลอยน้ำที่มีความสูงไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร ให้ติดห่วงไว้ตรงแนวกึ่งกลางความสูง

เชือกที่ใช้ทำห่วงสำหรับเกาะต้องมีขนาดเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า ๔.๕ เซนติเมตรเชือกดังกล่าวนี้ ให้ร้อยผ่านรูที่ขอบ และผูกไขว้ไว้สำหรับกันเลื่อน หรือใช้ลวดเหล็กเส้นเล็ก ๆ ผูกยึดติดกับเครื่องลอยน้ำแล้วแต่วิธีไหนจะแข็งแรงพอที่จะยกเครื่องลอยน้ำนั้นโดยยกที่ห่วงสำหรับเกาะนี้ได้

 

ข้อ ๖๔  เครื่องลอยน้ำต้องมีเชือกสำหรับพ่วงผูกไว้

 

ข้อ ๖๕  เครื่องลอยน้ำต้องมีน้ำหนักไม่เกิน ๑๘๐ กิโลกรัม (๔๐๐ปอนด์) เว้นแต่จะมีเครื่องปล่อยลงน้ำที่ไม่ต้องใช้คนยก สำหรับเครื่องลอยน้ำที่มีน้ำหนักเกิน ๑๓๕ กิโลกรัม (๓๐๐ ปอนด์) ต้องมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๑.๐๖ เมตร (๓ ฟุต ๖ นิ้ว)

 

ข้อกำหนดสำหรับพวงชูชีพ

                 

 

ข้อ ๖๖  พวงชูชีพทุกพวงที่ใช้ในเรือต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๖๗  พวงชูชีพต้องทำด้วยแท่งไม้ก๊อก และทำให้เรียบยึดติดกันด้วยสลักให้แน่น หรือวัสดุลอยน้ำอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน และต้องไม่เปลี่ยนสภาพเมื่อถูกน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมันสามารถลอยอยู่ในน้ำจืดโดยมีเหล็กหนัก ๑๔.๕ กิโลกรัม (๓๒ ปอนด์) ถ่วงอยู่ได้ไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง

 

ข้อ ๖๘  พวงชูชีพที่ทำจากพลาสติกหรือวัสดุที่ประกอบขึ้นจากสารประกอบทางเคมีต้องคงคุณสมบัติในการลอยน้ำอยู่ได้ และมีความทนทานดีเมื่อลอยอยู่ในน้ำทะเล เมื่อถูกน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป หรือลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงเมื่ออยู่ในทะเลเปิด

 

ข้อ ๖๙  พวงชูชีพต้องไม่ทำจากพืชหรือเศษไม้ก๊อกที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือสิ่งของที่หลุดลุ่ยได้และต้องใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องอัดลมก่อนใช้

 

ข้อ ๗๐  พวงชูชีพต้องมีขนาดดังนี้

เส้นผ่าศูนย์กลางภายใน ๔๕ เซนติเมตร

เส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก ๗๕ เซนติเมตร

เส้นผ่าศูนย์กลางหน้าตัดของพวงชูชีพด้านใหญ่ ๑๕ เซนติเมตร

เส้นผ่าศูนย์กลางหน้าตัดของพวงชูชีพด้านเล็ก ๑๐ เซนติเมตร

 

ข้อ ๗๑  พวงชูชีพต้องมีสีที่เห็นได้ง่าย

 

ข้อ ๗๒  พวงชูชีพทุกพวงต้องเขียนชื่อเรือใหญ่ และเมืองท่าจดทะเบียนด้วยตักอักษรอารบิคตัวพิมพ์ใหญ่ พวงชูชีพที่ทำจากวัสดุอย่างอื่นนอกจากไม้ก๊อกต้องมีชื่อผู้ทำพวงชูชีพนั้นติดไว้อย่างถาวร

 

ข้อ ๗๓  พวงชูชีพทุกพวงต้องมีห่วงเชือกสำหรับเกาะ เชือกนั้นต้องไม่แตกเป็นเสี้ยน และต้องผูกยึดไว้เป็นระยะห่างเท่า ๆ กัน ๔ จุด ซึ่งทำให้เกิดเป็นห่วง ๔ ห่วง แต่ละห่วงต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า๗๐ เซนติเมตร

 

ข้อ ๗๔  น้ำหนักของพวงชูชีพ เมื่อทำเสร็จใหม่ ๆ ต้องไม่เกิน ๖ กิโลกรัม

 

ข้อกำหนดสำหรับเสื้อชูชีพ

                 

 

ข้อ ๗๕[๓๑]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗๖[๓๒]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗๗[๓๓]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗๘[๓๔]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗[๓๕]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๘๐[๓๖]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๘๑[๓๗]  (ยกเลิก)

 

ข้อกำหนดสำหรับเข็มทิศเรือชูชีพ

                 

 

ข้อ ๘๒  บรรดาเข็มทิศที่ใช้ในเรือชูชีพต้องเป็นชนิดอยู่ในของเหลวซึ่งมี ความถ่วงจำเพาะ ๐.๙๓ ที่ ๖๐°ฟ. ต้องใสไม่มีตะกอนไม่มีฝ้าและสิ่งสกปรกเจือปน เข็มทิศจะต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอุณหภูมิระหว่าง -๑๐ °ฟ. ถึง ๑๒๐ °ฟ.

 

ข้อ ๘๓  แม่เหล็กที่ใช้ในเข็มทิศต้องมีกำลังแรงพอที่จะหันเข็มที่ผิดไป ๔๐ องศา ให้หันตรงได้ภายในเวลา ๑๘ ถึง ๒๒ วินาที ในอุณหภูมิ ๖๐ °ฟ.

 

ข้อ ๘๔  ขนาดหน้าปัทม์ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางโตพอที่จะอ่านได้ง่าย และหน้าปัทม์ต้องเรืองแสงหรือจัดให้มีเครื่องส่องแสงที่เหมาะสม

 

ข้อ ๘๕  ตัวเรือนต้องทำให้มีที่สำหรับให้ของเหลวขยายตัวจาก -๑๐ °ฟ. ถึง ๑๒๐ °ฟ. ได้ และต้องผนึกกันรั่วได้ด้วย

 

ข้อ ๘๖  วัสดุและฝีมือในการทำต้องดีและปราณีตสามารถใช้ในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อกำหนดสำหรับสมอทะเลประจำเรือชูชีพ

                 

 

ข้อ ๘๗  สมอทะเลประจำเรือชูชีพต้องมีลักษณะดังนี้

(ก) ต้องทำด้วยผ้าใบอย่างดี หรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม

(ข) ต้องเย็บผ้าใบให้แข็งแรงดี และเจาะรูตาไก่สำหรับผูกเชือกขนาดโต  นิ้วปลายของเชือกนี้อีกด้านหนึ่งผูกรวมกันติดกับห่วงสำหรับเกี่ยวกับประแจกลของเชือกพ่วง

(ค) เชือกพ่วงต้องมีความยาว ๓ เท่าของความยาวเรือบด

(ง) ต้องมีเชือกเก็บอีกเส้นหนึ่งยาวกว่าเชือกพ่วง ๑๒ ฟุต

 

ข้อ ๘๘  ขนาดของสมอทะเลสำหรับเรือชูชีพขนาดต่าง ๆ ต้องเป็นดังนี้

(ก) สำหรับเรือที่มีความยาวเกิน ๓๐ ฟุต

สมอทะเลชนิดปากสี่เหลี่ยม               ขอบบนยาว      ๓๐ นิ้ว

ขอบล่าง          ๒๗ นิ้ว

ขอบด้านข้าง     ๒๗ นิ้ว

ความยาวของถุงผ้าใบ ๔ ฟุต ๖ นิ้ว

เชือกพ่วงขนาด ๓ นิ้ว

เชือกเก็บขนาด ๒ นิ้ว

(ข) สำหรับเรือที่มีความยาวเกิน ๒๒ ฟุต แต่ไม่เกิน ๓๐ ฟุต สมอทะเลชนิดปากกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๗ นิ้ว สมอทะเลชนิดปากสี่เหลี่ยมขอบยาวด้านละ ๒๔ นิ้ว ความยาวของถุงผ้าใบ๔ ฟุต

เชือกพ่วงขนาด ๓ นิ้ว

เชือกเก็บขนาด ๒ นิ้ว

(ค) สำหรับเรือที่มีความยาวไม่เกิน ๒๒ ฟุต

สมอทะเลชนิดปากกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๔ นิ้ว

สมอทะเลชนิดปากเหลี่ยมขอบยาวด้านละ ๒๑ นิ้ว

ความยาวของถุงผ้าใบ ๓ ฟุต ๖ นิ้ว

เชือกพ่วงขนาด ๒ นิ้ว

เชือกเก็บขนาด ๑ นิ้ว

 

ข้อกำหนดสำหรับพลุ สัญญาณประจำเรือชูชีพและแพชูชีพ

                 

 

ข้อ ๘๙  พลุสัญญาณที่ใช้ในเรือชูชีพและแพชูชีพต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๙๐  พลุสัญญาณต้องสามารถยิงออกเป็นดวงไฟสีแดงแจ่มกระจ่าง ๑ พวง ให้ได้ความสูงเพียงพอ จะทำให้ดวงไฟสีแดงแจ่มกระจ่างซึ่งติดอยู่กับร่มชูชีพตกลงสู่พื้นดินด้วยเร็วเฉลี่ย ๑๕ ฟุตต่อวินาที พลุสัญญาณต้องมีระบบจุดระเบิดอยู่ภายในตัวเองโดยใช้มือถือยิงพลุขึ้นไปจากเรือหรือแพชูชีพได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้อยู่ในเรือหรือแพชูชีพนั้น

 

ข้อ ๙๑  เมื่อยิงพลุสัญญาณขึ้นไปในแนวเกือบตั้งฉากกับแนวระดับดวงไฟและร่มชูชีพจะต้องหลุดออกจากพลุ ณ จุดสูงสุดหรือก่อนเล็กน้อยและมีความสูงไม่น้อยกว่า ๖๐๐ ฟุต พลุสัญญาณดังกล่าวเมื่อยิงในมุม ๔๕ องศากับแนวระดับจะต้องทำงานได้ดีด้วย

 

ข้อ ๙๒  ดวงไฟต้องให้แสงสว่างไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ แรงเทียน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐วินาที และต้องไหม้หมดก่อนตกถึงพื้นท้องทะเล ณ ระดับสูงไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ฟุต

 

ข้อ ๙๓  ร่มที่ใช้กับดวงไฟต้องมีขนาดเหมาะสมที่จะสามารถควบคุมความเร็วในการตกของดวงไฟที่กำลังลุกไหม้ได้และต้องมีสายผูกดวงไฟกับร่มชูชีพชนิดกันไฟได้

 

ข้อ ๙๔  พลุสัญญาณต้องเป็นชนิดกันน้ำ เมื่อนำไปจุ่มน้ำนาน ๑ นาที แล้วนำมายิงต้องทำงานได้ถูกต้อง

 

ข้อ ๙๕  อุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องมีคุณภาพดีสามารถเก็บไว้ได้นานไม่น้อยกว่า ๒ ปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพ

 

ข้อ ๙๖  พลุสัญญาณ ต้องเก็บไว้ในภาชนะที่ผนึกน้ำ ถ้าทำด้วยโลหะต้องชุบหรือเคลือบเพื่อกันการผุกร่อนได้อย่างดี

 

ข้อ ๙๗  ต้องแสดงวันที่ผลิตพลุสัญญาณติดไว้ที่ตัวพลุ และภาชนะที่บรรจุ

 

ข้อ ๙๘  ต้องมีคำแนะนำในการใช้พลุสัญญาณติดไว้ที่ภาชนะบรรจุด้วย

 

ข้อกำหนดสำหรับดอกไม้เพลิงประจำเรือชูชีพและแพชูชีพ

                 

 

ข้อ ๙๙  ดอกไม้เพลิงที่ใช้ในเรือชูชีพและแพชูชีพต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๑๐๐  ดอกไม้เพลิงที่ใช้ในเรือชูชีพและแพชูชีพต้องมีระบบจุดไฟอยู่ในตัวเองโดยไม่ต้องใช้ไฟจากภายนอกและเมื่อใช้มือถือในขณะจุดอยู่ในเรือชูชีพหรือแพชูชีพต้องไม่เป็นอันตราย ต่อคนที่อยู่ในเรือหรือแพชูชีพนั้น

 

ข้อ ๑๐๑  ดอกไม้เพลิงที่ใช้ในแพชูชีพ เมื่อจุดไฟต้องไม่มีลูกไฟร่วงลงมาจากดอกไม้เพลิงซึ่งอาจจะทำให้เกิดการชำรุดเสียหายแก่แพชูชีพได้

 

ข้อ ๑๐๒  ดอกไม้เพลิงต้องให้แสงสว่างได้ไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ แรงเทียนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕๔ วินาที

 

ข้อ ๑๐๓  ดอกไม้เพลิงต้องกันน้ำได้ เมื่อนำไปจุ่มน้ำนาน ๑ นาที แล้วนำมาใช้ต้องทำงานได้ถูกต้อง

 

ข้อ ๑๐๔  อุปกรณ์และส่วนต่าง ๆ ต้องคุณภาพดีสามารถเก็บไว้ได้นานไม่น้อยกว่า ๒ ปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพ

 

ข้อ ๑๐๕  ต้องแสดงวันที่ผลิตดอกไม้เพลิงไว้ที่ตัวดอกไม้เพลิงและภาชนะที่บรรจุ

 

ข้อ ๑๐๖  ต้องมีคำแนะนำการใช้ดอกไม้เพลิงติดไว้ที่ภาชนะบรรจุด้วย

 

ข้อกำหนดสำหรับทุ่นควันลอยน้ำประจำเรือชูชีพ

                 

 

ข้อ ๑๐๗  ทุ่นควันลอยน้ำประจำเรือชูชีพต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๑๐๘  ทุ่นควันลอยน้ำประจำเรือชูชีพต้องมีระบบติดไฟอยู่ในตัวเอง

 

ข้อ ๑๐๙  ต้องสามารถให้ควันสีส้ม ที่มีความหนาแน่นในขณะที่ลอยน้ำอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า ๒ นาที แต่ไม่เกิน ๔ นาที

 

ข้อ ๑๑๐  ทุ่นควันลอยน้ำต้องกันน้ำเมื่อนำไปจุ่มน้ำนาน ๑ นาที แล้วนำมาใช้ต้องทำงานได้ถูกต้อง

 

ข้อ ๑๑๑  อุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องมีคุณภาพดีสามารถเก็บไว้ได้นานไม่น้อยกว่า ๒ ปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพ

 

ข้อ ๑๑๒  ต้องแสดงวันที่ผลิตทุ่นควันลอยน้ำไว้ที่ตัวทุ่นควัน

 

ข้อ ๑๑๓  ต้องมีคำแนะนำการใช้ทุ่นควันลอยน้ำติดไว้ที่ตัวทุ่นควันด้วย

 

ข้อกำหนดสำหรับสูบมือประจำเรือชูชีพ

                 

 

ข้อ ๑๑๔  สูบมือประจำเรือชูชีพต้องมีคุณสมบัติดังนี้

(๑) เมื่อหมุนเครื่องด้วยความเร็ว ๖๐ รอบ ต่อนาที และเมื่อทางดูดสูง ๔ ฟุต จะต้องสามารถสูบน้ำได้

(ก) ๗ แกลลอนต่อนาที สำหรับเรือที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๔ ฟุตขึ้นไป

(ข) ๕ แกลลอนต่อนาที สำหรับเรือที่มีความยาวไม่เกิน ๒๔ ฟุต

(๒) ต้องสูบน้ำที่มีทางดูดสูง ๔ ฟุต ได้โดยไม่ต้องใช้น้ำล่อ

(๓) ทุกส่วนของสูบต้องทำด้วยวัสดุที่ทนต่อการผุกร่อนที่เกิดจากน้ำทะเลได้

(๔) ต้องสามารถทำความสะอาดชิ้นส่วนภายในของสูบได้ในกรณีฉุกเฉิน ฝาครอบเปิดออกได้โดยไม่ต้องใช้ประแจเลื่อนหรือเครื่องมือพิเศษใด ๆ

(๕) ทางส่งต้องสามารถต่อกับสายยางที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในอย่างน้อย ๑ นิ้ว

 

ข้อ ๑๑๕ เรือที่เดินในทะเลและลำน้ำอย่างน้อยต้องมีเชือกและลวดตามตารางต่อไปนี้

ขนาดเรือเป็น

ตันกรอสส์

เชือก

ลวด

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง มิลลิเมตร

ยาว

เมตร

จำนวน

เส้น

ขนาดเส้นผ่า

ศูนย์กลาง มิลลิเมตร

ยาว

เมตร

จำนวน

เส้น

ต่ำกว่า ๓

ตั้งแต่ ๓ – ไม่เกิน ๓๐

ตั้งแต่ ๓๐ ไม่เกิน ๖๐

ตั้งแต่ ๖๐ – ไม่เกิน ๙๐

ตั้งแต่ ๙๐ – ไม่เกิน ๑๒๐

ตั้งแต่ ๑๒๐ – ไม่เกิน ๑๕๐

ตั้งแต่ ๑๕๐ – ไม่เกิน ๒๐๐

ตั้งแต่ ๒๐๐ – ไม่เกิน ๒๕๐

ตั้งแต่ ๒๕๐ – ไม่เกิน ๓๐๐

ตั้งแต่ ๓๐๐ – ไม่เกิน ๔๐๐

 

ตั้งแต่ ๔๐๐ – ไม่เกิน ๕๐๐

 

ตั้งแต่ ๕๐๐ – ไม่เกิน ๑,๐๐๐

 

ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ขึ้นไป

๑๐

๑๓.๕

๑๖

๑๖

๑๘

๒๐

๒๒

๒๔

๒๖

๒๘

๒๘

๓๒

๓๒

๕๐

๕๐

๕๕

๕๕

๒๐

๙๐

๑๐๐

๑๒๐

๑๒๐

๑๒๐

๑๔๐

๑๖๐

๑๖๐

๑๖๐

๑๖๐

๑๘๐

๑๐๐

๑๘๐

๑๐๐

๑๘๐

๑๐๐

-

-

-

-

-

-

-

๑๐

๑๓

๑๓

-

๑๓

-

๑๕

-

๑๘

-

-

-

-

-

-

-

-

๑๖๐

๑๖๐

๑๖๐

-

๑๖๐

-

๑๖๐

-

๑๖๐

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

 

ข้อ ๑๑๖  เรือเดินทะเลทุกลำ อย่างน้อยต้องมีสมอและโซ่สมอ ดังต่อไปนี้

ขนาดเรือเป็นตันกรอสส์

สมอ

โซ่สมอ

ใช้การ

ตัว

อะไหล่

ตัว

ขนาดน้ำหนัก

ตัน

ยาว

เมตร

ขนาดโต

ม.ม.

ต่ำกว่า ๓๐

ตั้งแต่ ๓๐ – ไม่เกิน ๖๐

ตั้งแต่ ๖๐ ไม่เกิน ๙๐

ตั้งแต่ ๙๐ – ไม่เกิน ๑๕๐

ตั้งแต่ ๑๕๐ – ไม่เกิน ๓๐๐

ตั้งแต่ ๓๐๐ – ไม่เกิน ๕๐๐

ตั้งแต่ ๕๐๐ – ไม่เกิน ๑,๐๐๐

ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ – ไม่เกิน ๓,๐๐๐

ตั้งแต่ ๓,๐๐๐ – ไม่เกิน ๕,๐๐๐

ตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ขึ้นไป

-

-

-

-

๐.๑

๐.๑๕

๐.๑๖

๐.๒๑

๐.๓๒

๐.๕๐

๐.๙๒

๑.๘๕

๒.๒๕

๒.๕๐

๖๐

๑๖๐

๒๐๐

๒๔๐

๓๖๐

๓๖๐

๔๒๐

๔๔๐

๔๔๐

๔๖๐

๑๐

๑๒

๑๔

๑๕

๒๐

๒๖

๓๖

๓๖

๓๖

๓๘

 

ลูกดิ่งและสาย

                 

 

ข้อ ๑๑๗  บรรดาเรือกลเดินทะเลทุกลำ ต้องมีลูกดิ่งและสายพร้อม ดังต่อไปนี้

ก. บรรดาเรือกลเดินทะเลทุกลำที่เดินระหว่างประเทศต้องมี

๑. ดิ่งน้ำลึก อย่างน้อย ๒ ลูก หนักลูกละไม่น้อยกว่า ๑๒.๕ กิโลกรัม สำหรับเรือที่มีเครื่องหยั่งน้ำอาจมีดิ่งน้ำลึกเพียงลูกเดียวก็ได้

๒. สายดิ่งน้ำลึก ยาวไม่น้อยกว่าสายละ ๒๔๐ เมตร

๓. ดิ่งน้ำตื้น มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า ๓.๑๒ กิโลกรัม อย่างน้อย ๔ ลูก

๔. สายดิ่งน้ำตื้น ยาวไม่น้อยกว่าสายละ ๕๐ เมตร อย่างน้อย ๔ สาย

ข. เรือกลเดินทะเลที่มิได้เดินระหว่างประเทศ ต้องมี

๑. ดิ่งน้ำตื้นที่มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า ๓.๑๒ กิโลกรัม อย่างน้อย ๒ ลูก

๒. สายดิ่งน้ำตื้น ยาวไม่น้อยกว่าสายละ ๕๐ เมตรอย่างน้อย ๒ สาย

 

โคมไฟสัญญาณการเดินเรือ

                 

 

ข้อ ๑๑๘  บรรดาเรือเดินทะเลทุกลำ ต้องมีโคมไฟสัญญาณและทุ่นเครื่องหมายการเดินเรือ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน

 

ข้อ ๑๑๙  บรรดาเรือกลเดินทะเลทุกลำ ต้องติดแตร หวูด และไซเรนไว้หน้าปล่องสูงกว่าดาดฟ้าไม่น้อยกว่า ๑.๘๐ เมตร

 

พลุดอกไม้ไฟ

                 

 

ข้อ ๑๒๐  บรรดาเรือกลเดินทะเลทุกลำ ที่มีขนาดตั้งแต่ ๕ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องมีพลุสัญญาณอย่างน้อย ๖ ดอก ดอกไม้ไฟ ๑๒ ดอก และธงสัญญาณฉุกเฉินซึ่งใช้ในระหว่างนานาชาติ

 

ข้อกำหนดสำหรับพลุสัญญาณประจำเรือใหญ่

                 

 

ข้อ ๑๒๑  พลุสัญญาณประจำเรือใหญ่ ต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๑๒๒  พลุสัญญาณประจำเรือใหญ่ ต้องสามารถยิงออกเป็นดวงไฟสีแดงแจ่มกระจ่าง ๑ ดวง ซึ่งยิงขึ้นไปอยู่ในระดับสูงที่ต้องการโดยพลุและดวงไฟสีแดงแจ่มกระจ่างนั้น ต้องลุกไหม้ในขณะที่ตกลงมาสู่พื้น ความเร็วในการตกต้องควบคุมโดยร่มชูชีพ เพื่อให้ดวงโคมตกลงสู่พื้นด้วยความเร็ว ๑๕ ฟุตต่อวินาที

 

ข้อ ๑๒๓  เมื่อพลุยิงขึ้นในแนวใกล้เคียงกับแนวตั้งฉากกับพื้นระดับ ดวงโคมต้องหลุดออกจากพลุ ณ จุดสูงสุด หรือจุดใกล้เคียง ณ ความสูงไม่น้อยกว่า ๗๕๐ ฟุต นอกจากนั้นพลุสัญญาณต้องทำหน้าที่ได้ดีเมื่อยิงด้วยมุม ๔๕ องศาจากพื้นระดับ

 

ข้อ ๑๒๔  ดวงโคมต้องมีความสว่างไม่น้อยกว่า ๓๐,๐๐๐ แรงเทียน เป็นเวลานานกว่า ๔๐ วินาที และต้องไหม้หมดก่อนตกถึงพื้นท้องทะเลไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ฟุต

 

ข้อ ๑๒๕  พลุต้องมีระบบจุดไฟที่เหมาะสม ถ้าใช้ระบบจุดไฟจากภายนอกต้องมีชนวนชนิดกันอันตราย

 

ข้อ ๑๒๖  เมื่อนำพลุไปจุ่มน้ำนาน ๑ นาที แล้วนำมาสลัดน้ำออกพลุต้องสามารถทำหน้าที่ได้ถูกต้อง

 

ข้อ ๑๒๗  อุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องมีคุณภาพดีสามารถเก็บไว้ได้ไม่น้อยกว่า ๒ ปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพ

 

ข้อ ๑๒๘  พลุสัญญาณต้องเก็บไว้ในภาชนะที่มีความคงทน และมีประสิทธิภาพในการผนึกน้ำ ถ้าทำด้วยโลหะต้องมีกรรมวิธีป้องกันสนิมหรือการผุกร่อนที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำทะเล

 

ข้อ ๑๒๙  ต้องแสดงวันที่ผลิตพลุสัญญาณ ติดไว้ที่ตัวพลุและภาชนะบรรจุ

 

ข้อ ๑๓๐  ต้องมีคำแนะนำการใช้พลุสัญญาณ ติดไว้ที่ภาชนะบรรจุด้วย

 

ข้อ ๑๓๑  พลุสัญญาณและดอกไม้ไฟ ซึ่งต้องมีประจำเรือ ต้องได้รับการตรวจเป็นประจำทุกปี ถ้าปรากฏว่ามีการชำรุด เช่น ฉีกขาดหรือมีกลิ่นเหม็น หรือเปียกชื้น ต้องเปลี่ยนใหม่ อย่างไรก็ดีพลุสัญญาณและดอกไม้ไฟ จะต้องเปลี่ยนใหม่เมื่อมีอายุครบ ๓ ปี นับจากวันผลิต หรือเมื่อครบอายุตามที่ผู้ผลิตบ่งไว้

 

ข้อ ๑๓๒  ในการเก็บพลุสัญญาณและดอกไม้ไฟ จะต้องแยกกันเก็บไว้ในภาชนะและปิดผนึกอย่างดี ตามชนิดดังนี้

๑. ดินปืน หรือลูกปืน

๒. พลุและดอกไม้ไฟชนิดต่าง ๆ

๓. เครื่องส่งแสงสัญญาณบนดาดฟ้าและทุ่นไฟสัญญาณ

 

เครื่องสูบน้ำท้องเรือ

                 

 

ข้อ ๑๓๓  เรือกลเดินทะเลทุกลำที่เดินระหว่างประเทศ ต้องมีเครื่องสูบน้ำท้องเรือ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล

 

ข้อ ๑๓๔  เรือกลทุกลำที่มีขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ที่มิได้เดินระหว่างประเทศ ต้องมีเครื่องสูบน้ำท้องเรือด้วยแรงเครื่องจักรกลอย่างน้อย ๑ เครื่อง ซึ่งสามารถสูบน้ำท้องเรือได้ทุกตอนในเรือ และให้มีสูบโยกหรือหมุนด้วยมือ ซึ่งสามารถสูบน้ำท้องเรือได้ทุกตอนอีก ๑ เครื่อง หรือสูบน้ำชนิดอื่นที่ใช้แทนกันได้

 

ข้อ ๑๓๕  เรือกลที่มีขนาดตั้งแต่ ๓ ตันกรอสส์ขึ้นไป แต่ต่ำกว่า ๖๐ ตันกรอสส์ ต้องมีสูบโยกหรือหมุนด้วยมือ ซึ่งสามารถสูบน้ำท้องเรือได้ทุกตอน ๑ เครื่อง หรือสูบน้ำชนิดอื่นที่ใช้แทนกันได้

 

ข้อ ๑๓๖  เรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า ๓ ตันกรอสส์ ต้องมีภาชนะสำหรับตักน้ำท้องเรือ ๒ อัน

 

เครื่องมือดับเพลิง

                 

 

ข้อ ๑๓๗  เครื่องมือดับเพลิงทุกชนิดที่ใช้ในเรือ ต้องได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๑๓๘  เรือโดยสารและเรือสินค้าที่เดินระหว่างประเทศทุกลำต้องมีการป้องกันเพลิงไหม้และเครื่องมือดับเพลิง ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล

 

ข้อ ๑๓๙  เรือเดินทะเลทุกลำ ต้องมีหัวต่อน้ำสำหรับดับเพลิงอยู่ตามที่ต่าง ๆ เพียงพอ ซึ่งเมื่อต่อสายสูบแล้ว มีปริมาณและกำลังดันน้ำพอแก่การใช้ดับเพลิงได้ทั่วทุกแห่งในลำเรือ

 

ข้อ ๑๔๐  ในห้องเครื่องที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีหัวต่อสายสูบและหัวฉีด พร้อมที่จะฉีดน้ำได้ทันทีอย่างน้อย ๒ หัว

 

ข้อ ๑๔๑  เรือเดินทะเลทุกลำ ต้องมีเครื่องสูบน้ำดับเพลิง หัวฉีดและสายสูบดามตารางต่อไปนี้

ขนาดเรือ

เป็นตันกรอสส์

จำนวนเครื่องสูบน้ำ

รวมความจุ

เครื่องสูบน้ำ

แกลลอน/นาที

จำนวนหัวฉีดขนาด

ขนาดสายสูบโต

อย่างต่ำเป็นนิ้ว (มม.)

๑๒ มม.

๑๖ มม.

๑๙ มม.

ตั้งแต่ ๐ – เกิน ๑๐๐

ตั้งแต่ ๑๐๐ – ไม่เกิน ๗๕๐

 

ตั้งแต่ ๗๕๐ – ไม่เกิน ๑,๕๐๐

ตั้งแต่ ๑,๕๐๐ – ไม่เกิน ๔,๐๐๐

ตั้งแต่ ๔,๐๐๐ ขึ้นไป

 

 

 

๓๐

๒๐๐

 

๔๐๐

 

๖๐๐

 

๘๐๐

-

 

-

 

-

 

-

-

 

 

-

 

-

-

-

 

-

 

 

๑ (๒๕ มม.)

๑ (๓๗.๕ มม.)

๑ (๓๗.๕ มม.)

๑ (๓๗.๕ มม.)

๒ (๖๔ มม.)

 

ข้อ ๑๔๒  ปลายสายสูบต้องมีหัวต่อตัวเมียข้างหนึ่งและตัวผู้อีกข้างหนึ่ง

 

ข้อ ๑๔๓  สายสูบที่ใช้ในบริเวณที่อยู่อาศัย ต้องเป็นแบบผ้าใบไม่เคลือบยาง ยาวเส้นละ ๕๐ ฟุตต่อหัวต่อ ๑ หัว และต้องมีอะไหล่เก็บไว้ในกระซับอีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนสายสูบที่ต้องมีทั้งหมดในเรือแต่ต้องไม่น้อยกว่า ๒ เส้น และไม่เกิน ๖ เส้น

 

ข้อ ๑๔๔  สายสูบที่ใช้บนดาดฟ้า หรือในบริเวณอื่นที่มิใช่บริเวณที่อยู่อาศัย ต้องใช้สายสูบผ้าใบเคลือบยางยาวเส้นละ ๕๐ ฟุต พร้อมทั้งประแจและหัวฉีด ติดตั้งไว้ในที่เข้าถึงได้ง่าย

 

ข้อ ๑๔๕  สายสูบที่ใช้ในห้องเครื่องจักร และห้องหม้อน้ำ ต้องใช้สายสูบยางยาวเส้นละ ๕๐ ฟุต

 

ข้อ ๑๔๖  สายสูบในเรือไม่ว่าจะใช้เพื่อสูบน้ำดับเพลิง สูบน้ำล้างเรือ หรือสูบน้ำเพื่อการอื่น ๆ ต้องใช้เกลียวตามมาตรฐานสายสูบดับเพลิงนานาชาติ และหัวต่อทั้งหมดต้องใช้เกลียวแบบเดียวกัน และต่อกันได้ หากจำเป็นจะใช้ข้อต่อลดหรือเพิ่มก็ได้ และจะต้องมีหัวต่อซึ่งใช้ต่อกับหัวต่อน้ำดับเพลิงบนฝั่งได้ด้วย

 

ข้อ ๑๔๗  เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ต้องติดลิ้นผ่อนกำลังดันใช้การ ๒๕ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และต้องมีมาตรวัดกำลังดันไว้ที่ท่อทางส่งด้วย

 

ข้อ ๑๔๘  เครื่องสูบน้ำดับเพลิงอาจใช้ในกิจการอื่น ๆ ด้วยได้แต่ต้องมีเครื่องสูบน้ำอย่างน้อย ๑ เครื่อง พร้อมที่จะใช้ดับเพลิงได้ทันทีทุกโอกาส

 

ข้อ ๑๔๙  ในกรณีที่มีเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเกิน ๒ เครื่อง ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแยกไว้คนละห้อง อย่างน้อย ๑ เครื่อง

 

ข้อ ๑๕๐  เครื่องสูบน้ำดับเพลิงทุกเครื่องที่ใช้ในเรือ ต้องเป็นแบบไพรมิ่งด้วยตัวเอง

 

ข้อ ๑๕๑  เรือที่มีขนาดเกิน ๕๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องมีระบบสมอธเทอริ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ไอน้ำ

๒. คาร์บอนไดออกไซด์

๓. ฟองเคมี

๔. ฝอยน้ำอัตโนมัติ

 

ข้อ ๑๕๒  ระบบสมอธเทอริ่งที่ติดตั้งไว้ประจำที่ ให้ใช้ดังต่อไปนี้

 

สำหรับระวางบริการ

                 

 

๑. ห้องเก็บฟิล์ม ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์

๒. ห้องเก็บวัสดุไวไฟ ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ หรือระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

๓. ห้องเก็บพัสดุไปรษณีย์ ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์หรือระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

๔. ห้องกระซับและห้องเก็บกระเป๋าเดินทาง ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์หรือระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ แต่ถ้าห้องนั้นสามารถเปิดเข้าไปได้ในระหว่างที่เรือเดินจะไม่ติดระบบสมอธเทอริ่งก็ได้

๕. ห้องเย็นใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ หรือระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

 

สำหรับระวางสินค้า

                 

 

๑. ระวางที่เปิดเข้าไปไม่ได้ในระหว่างที่เรือเดิน ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ หรือระบบไอน้ำ

๒. ห้องเย็นที่เปิดเข้าไปไม่ได้ในระหว่างที่เรือเดิน ให้ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ หรือระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

๓. ระวางที่เปิดเข้าไปได้ในระหว่างที่เรือเดิน ใช้ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

๔. ระวางบรรทุกยานยนต์ที่เปิดเข้าไปได้ในระหว่างเรือเดิน ใช้ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

๕. ท่อทางเดินเข้าไปสู่ระวางสินค้า ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์หรือ ระบบไอน้ำ

 

สำหรับห้องเครื่องจักร

                 

 

๑. ระวางเก็บถ่านหิน ใช้ระบบไอน้ำ หรือระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

๒. ห้องหม้อน้ำซึ่งใช้น้ำมันเตา ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ หรือระบบฟองเคมี

๓. ห้องเครื่องยนต์ขับเพลาใบจักร ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์

๔. ห้องเครื่องไฟฟ้าที่มีระบบระบายอากาศเป็นวงจรปิด ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์

๕. ห้องเครื่องจักรช่วย ซึ่งใช้น้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันดีเซล ใช้ระบบคาร์บอนไดออกไซด์

 

ระบบสมอธเทอริ่งที่ใช้ไอน้ำ

                 

 

ข้อ ๑๕๓  ระบบสมอธเทอริ่งซึ่งใช้ไอน้ำ จะใช้ได้ต่อเมื่อในเรือนั้น มีหม้อน้ำที่เหมาะสมและมีไอน้ำตลอดเวลาที่เรือใช้งานอยู่ และหม้อน้ำมันนั้นต้องมีพื้นผิวที่ได้รับความร้อนอย่างน้อย ๑ ตารางฟุตต่อปริมาตร ๗๒ ลูกบาศก์ฟุตของระวางสินค้าที่ใหญ่ที่สุด

 

ข้อ ๑๕๔  หม้อน้ำที่ใช้ต้องสามารถทำไอน้ำได้เพียงพอที่จะรักษากำลังดันของไอน้ำในระบบสมอธเทอริ่งให้คงอยู่ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้วตลอดเวลา

 

ข้อ ๑๕๕  ท่อไอน้ำที่ใช้ต้องหุ้มด้วยฉนวนกันความร้อนอย่างดี

 

ข้อ ๑๕๖  ท่อไอน้ำที่ใช้ในระวางสินค้า ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า ๑ นิ้ว ระวางอื่น ๆ ต้องใช้ท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า  นิ้ว อย่างไรก็ตามท่อไอน้ำที่ใช้ในระวางต่าง ๆ ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่โตกว่า ๑ นิ้ว ถ้าปริมาณไอน้ำไม่เพียงพอให้ใช้ท่อหลาย ๆ ท่อแทน

 

ระบบสมอธเทอริ่งที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์

                 

 

ข้อ ๑๕๗  (๑) เมื่อใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวดับเพลิงในระวางสินค้า จะต้องมีปริมาณของแก๊สเมื่อขยายตัวเต็มที่ คิดเป็นปริมาตรไม่น้อยกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรทั้งหมดของระวางสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งระวางนั้นสามารถปิดผนึกได้

(๒) เมื่อใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวดับเพลิงในห้องหม้อน้ำหรือห้องเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายใน จะต้องมีปริมาณของแก๊สคิดเป็นปริมาตรไม่น้อยกว่าจำนวนที่มากที่สุดที่หาได้จากหัวข้อต่อไปนี้

ก. ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรรวมของห้องที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปริมาตรนี้คิดรวมถึงปริมาตรที่ว่างส่วนที่อยู่เหนือห้องหม้อน้ำขึ้นไป ถึงระดับซึ่งมีพื้นที่ทางระดับเท่ากับ ๔๐ เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่าของพื้นที่ห้อง ๆ นั้น

ข. ๓๕ เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรทั้งหมด รวมถึงปริมาตรที่ว่างส่วนที่อยู่เหนือห้องหม้อน้ำ ข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะลดลงเหลือ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ และ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับเรือสินค้าที่มีขนาดต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ตันกรอสส์ และสำหรับเรือที่มีห้องหม้อน้ำหรือห้องเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายในตั้งแต่ ๒ ห้องขึ้นไป ซึ่งมิได้แยกจากกันโดยเด็ดขาด ให้คิดรวมเป็นห้องเดียวกัน

(๓) เมื่อใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวดับเพลิงสำหรับห้องหม้อน้ำหรือห้องเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายใน ปริมาณของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่จำเป็นต้องมีเกินกว่าปริมาณสูงสุดของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำหนดให้ต้องมี เมื่อดับเพลิงในระวางสินค้าที่ใหญ่ที่สุดหรือระวางเครื่องจักร

(๔) ตามที่ได้กล่าวถึงในวรรคนี้ การคำนวณปริมาตรของแก๊สให้คิดปริมาตร ๐.๕๖ ลูกบาศก์เมตรเท่ากับ ๑ กิโลกรัม (หรือ ๙ ลูกบาศก์ฟุต เท่ากับ ๑ ปอนด์)

(๕) ถ้าใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวดับเพลิงในห้องหม้อน้ำและห้องเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ ภายในการติดตั้งระบบท่อทางแก๊สดับเพลิง ต้องสามารถจ่ายแก๊สดับเพลิงในห้องนั้นได้ปริมาตร ๘๕ เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา ๒ นาที

 

ข้อ ๑๕๘  ท่อทางที่ใช้ในระบบคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับบริการและระวางสินค้า ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า  นิ้ว

 

ข้อ ๑๕๙  ท่อทางที่ใช้ในระบบคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับห้องเครื่องจักร ต้องมีพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า ๐.๐๐๒ ตารางนิ้ว ต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องการ ๑ ปอนด์ แต่ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า  นิ้ว

 

ระบบฟองเคมี

                 

 

ข้อ ๑๖๐  ระบบสมอธเทอริ่งที่ใช้ฟองเคมี ต้องมีปริมาณและการออกแบบซึ่งสามารถใช้ได้รวดเร็วและสม่ำเสมอ โดยสามารถฉีดไปยังดาดฟ้า หรือหลังถังในระวางที่ใหญ่ที่สุด ให้ใช้พื้นที่ ๑๐๐ ตารางฟุตมีโฟมหนา ๖ นิ้ว ใน ๑ นาที และฉีดฟองเคมีได้ไม่น้อยกว่านาทีละ ๑๗ ลูกบาศก์ฟุต

 

ข้อ ๑๖๑  เครื่องฉีดฟองเคมีต้องติดตั้งไว้ในท้องที่เข้าถึงได้ง่ายโดยปกติให้ติดไว้ใกล้ ๆ ห้องเครื่องจักรและไม่ให้ใช้ฟองเคมีในห้องนั้น

 

ข้อ ๑๖๒  จำนวนน้ำยาฟองเคมีที่ต้องมีอยู่บนเรือ ต้องไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปอนด์ต่อ ๑๐๐ ตารางฟุตของพื้นที่ระวางที่ใหญ่ที่สุด

 

ข้อ ๑๖๓  จำนวนผงเคมีที่ต้องมีอยู่บนเรือ ต้องไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปอนด์ต่อ ๑๐๐ ตารางฟุตของพื้นที่ระวางที่ใหญ่ที่สุด

 

ข้อ ๑๖๔  จำนวนน้ำที่ใช้ในการทำฟองเคมี ต้องไม่น้อยกว่านาทีละ ๑๗ แกลลอนต่อ ๑๐๐ ตารางฟุตของพื้นที่ระวางที่ใหญ่ที่สุด และกำลังดันน้ำที่เหมาะสมควรมีกำลังดัน ๑๐๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แต่ต้องไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว

 

ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ

                 

 

ข้อ ๑๖๕  ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ อนุญาตให้ใช้ได้สำหรับระวางที่เก็บวัตถุไวไฟ เช่น ฟิล์ม พัสดุไปรษณีย์ กระเป๋าเดินทาง ระวางสินค้า และระวางถ่านหิน เมื่อในระวางเหล่านั้นไม่มีระบบสมอธเทอริ่งอย่างอื่นติดตั้งอยู่

 

ข้อ ๑๖๖  ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ และเครื่องป้องกันเพลิงไหม้อื่น ๆ ที่ใช้ระบบสมอธเทอริ่ง ต้องเป็นแบบที่เหมาะสำหรับใช้ในเรือและได้รับอนุญาตให้ใช้ในเรือได้ และต้องมีแบบแปลนการติดตั้งซึ่งได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตรวจเรือแล้ว

 

ข้อ ๑๖๗  ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ ต้องเป็นแบบที่มีน้ำอยู่ในท่อเสมอ และต้องมีหัวฉีดอยู่เป็นระยะห่างกันพอที่จะฉีดน้ำให้ทั่วบริเวณได้โดยอัตโนมัติ

 

ข้อ ๑๖๘  ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ ต้องมีน้ำพร้อมที่จะใช้ได้ทันทีอยู่ในถังกำลังดันสูง ซึ่งมีปริมาณมากพอ และสามารถรักษากำลังดันของน้ำอยู่ได้ตลอดเวลา และต้องมีเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติที่จะสูบน้ำให้น้ำในถังมีกำลังดันตามต้องการอยู่เสมอ หรือใช้สูบที่ใช้กำลังคน โดยมีสัญญาณเสียงติดตั้งไว้ในห้องเครื่อง เพื่อให้ทราบว่ากำลังดันในถังน้ำในระบบลดต่ำกว่าเกณฑ์ สำหรับระบบที่ใช้เครื่องสูบน้ำที่ขับด้วยกำลังไฟฟ้าต้องมีระบบทางไฟฟ้าจากเครื่องไฟฟ้าฉุกเฉินมาใช้ขับเครื่องสูบน้ำได้น้ำที่อยู่ในถังกำลังดันสูงเพื่อใช้ดับเพลิงในตอนแรก ต้องเป็นน้ำจืดสำหรับกรณีที่ใช้ร่วมกับระบบน้ำทะเล ต้องมีลิ้นปิดกันน้ำทะเลเข้าถังไว้ด้วย

 

ข้อ ๑๖๙  ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ ต้องแบ่งเป็นภาคและต้องมีสัญญาณเตือน ซึ่งสามารถทราบได้ง่ายโดยนายเรือหรือลูกเรือที่อยู่ในสถานีควบคุมการดับเพลิง ในเมื่อมีน้ำไหลออกจากระบบ

 

ข้อ ๑๗๐  เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจจะอนุญาตให้ใช้ระบบฝอยน้ำอัตโนมัติ ที่ไม่มีน้ำอยู่ในท่อตลอดเวลาได้

 

ข้อ ๑๗๑  ต้องมีแบบแปลนรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ การระวังรักษา และการตรวจสอบ ตลอดถึงตำแหน่งที่ติดตั้งเครื่องมือต่าง ๆ และของอะไหล่ของระบบดังต่อไปนี้ ใส่กรอบแขวนไว้ในที่เห็นได้ง่ายในห้องควบคุมการดับเพลิงคือ

๑. ระบบน้ำดับเพลิง (สูบน้ำ ท่อทางน้ำ หัวต่อ สายสูบ และหัวฉีด ฯลฯ)

๒. ระบบสมอธเทอริ่ง

๓. ระบบฝอยน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ

 

ข้อ ๑๗๒  ระบบน้ำดับเพลิง ต้องได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานตรวจเรือเป็นประจำทุกปี หากมีการชำรุดต้องซ่อมแซมให้เรียบร้อย

 

ข้อ ๑๗๓  เครื่องดับเพลิงทุกชนิด ต้องทำการตรวจโดยเจ้าหน้าที่ของเรือทุก ๓ เดือน และต้องจดผลการตรวจลงไว้ในปูมเรือด้วย

 

ข้อ ๑๗๔  ระบบสมอธเทอริ่ง เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องทดลองอัดน้ำ ด้วยกำลังดัน ๑ เท่า ของกำลังดันใช้งานสูงสุด

 

ข้อ ๑๗๕  ระบบสมอธเทอริ่ง ต้องทำการทดลองด้วยกำลังดันที่ทำให้ลิ้นผ่อนกำลังเปิดเป็นประจำทุกปี

 

ข้อ ๑๗๖  สายสูบน้ำดับเพลิง ต้องไม่นำไปใช้เพื่อกิจการอื่น ๆ นอกจากเพื่อการตรวจ การฝึกดับเพลิง และใช้ดับเพลิง หลังจากใช้ดังกล่าวแล้วต้องทำให้แห้ง และนำเข้าติดตั้งประจำตามที่

 

ข้อ ๑๗๗  ท่อทางในระบบสมอธเทอริ่ง ต้องทำการตรวจเพื่อหารอยรั่ว อุดตัน หรือสึกกร่อนเป็นประจำทุกปี

 

ข้อ ๑๗๘  ท่อทางในระบบสมอธเทอริ่ง ต้องทำการทดลองอัดด้วยน้ำหรือลม ด้วยกำลังดันอย่างน้อย ๕๐ ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว จนถึงกำลังดันใช้การเป็นประจำทุกปี

 

ข้อ ๑๗๙  ขวดคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าจะเป็นชนิดประจำที่หรือชนิดหิ้วไปใช้ได้ ต้องทำการชั่งเป็นประจำทุกเดือน ถ้าน้ำหนักลดลง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ต้องบรรจุใหม่

 

ข้อ ๑๘๐  ขวดคาร์บอนไดออกไซด์ทุกขวด ถ้าปรากฏว่ามีการสึกกร่อนภายนอก ต้องนำขึ้นไปทำการทดลองอัดน้ำ

 

ข้อ ๑๘๑  เครื่องดับเพลิงชนิดหิ้วเคลื่อนที่ได้ ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน ๕๕ ปอนด์

 

ข้อ ๑๘๒  ขวดบรรจุน้ำยาดับเพลิงชนิดหิ้วเคลื่อนที่ได้ ต้องมีป้ายติดบอกรายการ ประเภทของไฟที่ใช้ดับได้ ขนาดและชนิดน้ำยาดับไฟ

 

ข้อ ๑๘๓  ชนิดและวิธีใช้เครื่องดับเพลิงชนิดหิ้วเคลื่อนที่ได้ ในกฎข้อบังคับนี้แบ่งเป็นดังนี้

ประเภทเครื่องมือดับเพลิง

ชนิด

วิธีใช้

ต้นกำลัง

เอ - ๑

โซดาแอซิด ๒ แกลลอน

โฟม ๒ แกลลอน

คว่ำขวด

ปฎิกิริยาทางเคมี

เอ – ๒

โฟม ๑ - ๑ แกลลอน

คว่ำขวด

ปฎิกิริยาทางเคมี

บี – ๑

โฟม ๒ แกลลอน

คว่ำขวด

ปฎิกิริยาทางเคมี

บี – ๒

โฟม ๑ - ๑ แกลลอน

คาร์บอนไดออกไซด์ ๑. ๑, ๑, ๒ คว๊อต

Co๒ ๗, ๑๐, ๑๕ ปอนด์

คว่ำขวด

ปลดล็อกและใช้มือกด

”          ”

กำลังอัดภายใน

ใช้มือกด

ซี – ๑

Co๒ ๗, ๑๐, ๑๕ ปอนด์

เปิดลิ้น

กำลังที่อัดอยู่ภายใน

ซี - ๒

Co๒ ๑, ๑, ๑,๒ คว๊อต

ปลดล็อกและใช้มือกด

กำลังอัดภายใน

ใช้มือกด

หมายเหตุ ชั้นของไฟแบ่งออกเป็น

ชั้น เอ. หมายถึงไฟที่ไหม้วัสดุทั่งไป เช่น ไม้ กระดาษ ฯลฯ

ชั้น บี. หมายถึงไฟที่ไหม้น้ำมันต่าง ๆ

ชั้น ซี. หมายถึงไฟที่ไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้น้ำยาที่เป็นฉนวนไฟฟ้า

 

ข้อ ๑๘๔  เรือทุกลำ อย่างน้อยต้องมีเครื่องดับเพลิงแบบหิ้วเคลื่อนที่ได้ประเภท เอ.-๑ ขนาด ๒ แกลลอน ตามตารางดังต่อไปนี้

จำนวนขวด

 

ขนาดเรือเป็นตันกรอสส์

 

เกิน ๑๕ แต่ไม่เกิน ๕๐

เกิน ๕๐ แต่ไม่เกิน ๑๐๐

เกิน ๑๐๐ แต่ไม่เกิน ๕๐๐

เกิน ๕๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป

 

ข้อ ๑๘๕  นอกจากต้องมีเครื่องดับเพลิงชนิดที่หิ้วเคลื่อนที่ได้ตามข้อ ๑๘๔ แล้ว ต้องมีเครื่องดับเพลิงชนิดหิ้วเคลื่อนที่ได้เพิ่มเติมอีกตามตาราง ดังต่อไปนี้

สถานที่

ประเภท

จำนวนและตำแหน่งติดตั้ง

ที่อยู่อาศัย

ช่องบันไดและช่องทางขึ้นลง

ทางเข้าออกติดต่อกับดาดฟ้า

สถานที่ใช้ร่วมกัน

ห้องใช้งาน

ห้องควบคุม

 

ห้องครัวและห้องเตรียมอาหาร

 

ห้องเก็บฟิล์ม

ห้องเก็บวัตถุไวไฟ

ห้องกระซับและห้องเก็บกระเป๋าเดินทาง

ห้องเย็น

ระวางสินค้า

ระวางที่เข้าออกได้ในขณะเดินเรือ

ห้องเครื่องจักร

ห้องเก็บถ่านหินใช้สำหรับหม้อน้ำ

ห้องหม้อน้ำที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

 

 

 

 

 

 

ห้องเครื่องยนต์ขับเพลาใบจักร

 

 

 

มอเตอร์ขับเพลาใบจักร หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ห้องเครื่องจักรช่วยที่ใช้เครื่องยนต์

ห้องเครื่องจักรช่วยที่ขับด้วยมอเตอร์หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เอ – ๑

 

 

 

 

เอ – ๑

และ ซี – ๑

บี – ๑ หรือ ซี – ๑

เอ – ๑

บี – ๑

เอ – ๑

เอ – ๑

 

เอ – ๑

 

เอ – ๑

บี – ๑

 

 

 

 

 

 

บี – ๑

 

 

 

ซี – ๑

 

บี – ๑ หรือ ซี - ๑

 

๑ ขวดต่อบันไดหรือช่องทางขึ้นลง

๑ ขวดต่อประตู

๑ ขวดต่อทุก ๆ พื้นที่ ๒,๕๐๐ ตารางฟุต

 

อย่างละ ๑ ขวดที่บริเวณทางเข้าออก

 

๑ ขวดทุก ๆ พื้นที่ ๕๐๐ ตารางฟุตตามชนิดของไฟ

๑ ขวดที่บริเวณทางเข้าออก

๑ ขวดที่บริเวณทางเข้าออก

๑ ขวดที่บริเวณทางเข้าออก

๑ ขวดที่บริเวณทางเข้าออก

 

๑ ขวดต่อทุก ๆ พื้นที่ ๑,๒๐๐ ตารางฟุต

 

๒ ขวดที่บริเวณประตูห้อง

๒ ขวดและโฟมอีก ๔๐ แกลลอน หรือคาร์บอนไดออกไซด์อีก ๑๐๐ ปอนด์ สำหรับเรือที่มีขนาดเกิน ๑,๐๐๐ ตันกรอสส์ หรือโฟมอีก ๒๐ แกลลอน หรือคาร์บอนไดออกไซด์อีก ๕๐ ปอนด์ สำหรับเรือที่มีขนาดเกิน ๑,๐๐๐ ตันกรอสส์

๒ – ๖ ขวด (๑ ขวดต่อ ๑,๐๐๐ แรงม้า เบรกของเครื่องจักรใหญ่) และโฟม หรือคาร์บอนไดออกไซด์ขนาด ๑๒ แกลลอนอีก ๑ ขวด

๑ ขวดต่อ ๑ เครื่อง

 

๑ ขวดตามชนิดของไฟ

๑ ขวดบริเวณทางเข้าออก

 

ข้อ ๑๘๖  เครื่องดับเพลิงที่หิ้วเคลื่อนที่ได้ ต้องมีขนาดใหญ่ไม่เกิน ๒ แกลลอน

 

ข้อ ๑๘๗  เรือกลเดินทะเลที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐๐ ตันกรอสส์ ต้องมีเครื่องดับไฟประเภท บี. - ๒ จำนวน ๑ ขวด ติดตั้งไว้ในที่หยิบใช้ได้ง่าย

 

ข้อ ๑๘๘  ขวดน้ำยาดับเพลิงที่ติดตั้งไว้ตามที่ต่าง ๆ ต้องเอาออกจากที่ติดตั้งได้ง่าย

 

ข้อ ๑๘๙  น้ำยาดับเพลิงต้องมีอยู่เต็มที่ตลอดเวลา

 

ทรายดับเพลิง

                 

 

ข้อ ๑๙๐  เรือกลเดินทะเลที่มีขนาดเกิน ๑,๐๐๐ ตันกรอสส์ ซึ่งห้องหม้อน้ำใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีถังใส่ทรายหรือขี้เลื่อยแช่อิ่มโซดา หรือวัสดุอื่น ๆ ที่อนุญาตให้ใช้ได้ ไว้ในห้องหม้อน้ำอย่างน้อยห้องละ ๑๐ ลูกบาศก์ฟุต

 

ข้อ ๑๙๑  เรือกลเดินทะเลที่มีขนาดไม่เกิน ๑,๐๐๐ ตันกรอสส์ ซึ่งห้องหม้อน้ำใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีถังใส่ทรายหรือขี้เลื่อยแช่อิ่มโซดา หรือวัสดุอื่น ๆ ที่อนุญาตให้ใช้ได้ ไว้ในห้องหม้อน้ำอย่างน้อยห้องละ ๕ ลูกบาศก์ฟุต

 

ขวานดับเพลิง

                 

 

ข้อ ๑๙๒  เรือกลเดินทะเลทุกลำ ต้องมีขวานดับเพลิงตามตาราง ดังต่อไปนี้

จำนวนขวานดับเพลิง

ขนาดตันกรอสส์

ตั้งแต่

ไม่เกิน

-

๑๐

๒๕

๕๐

๑๐๐

๒๐๐

๕๐๐

๑,๐๐๐

๑๐

๒๕

๕๐

๑๐๐

๒๐๐

๕๐๐

๑,๐๐๐

๑๐,๐๐๐

 

ข้อ ๑๙๓  ขวานดับเพลิง ต้องติดไว้ในที่ซึ่งสามารถหยิบใช้ได้ง่ายและห้ามนำไปใช้เพื่อการอื่น ๆ

 

หมวด จ.

ว่าด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ และความเสียหาย

                 

 

ข้อ ๑  เมื่อเรือลำใดได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุใด ๆ หรือจากเหตุอื่น ๆ ก็ดี ซึ่งทำให้เรือนั้นไม่มีความมั่นคงสมประกอบ พอที่จะใช้การได้ต่อไปโดยปลอดภัย ให้เจ้าของเรือหรือผู้แทนเจ้าของเรือ แจ้งความแก่กรมเจ้าท่าโดยพลัน เพื่อให้เจ้าพนักงานตรวจเรือทำการตรวจความเสียหายนั้น ๆ ว่ามากน้อยเพียงใด ในการตรวจนี้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือระมัดระวังอย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือขยับขยายสิ่งใด ๆ ในเรือนั้น ซึ่งจะได้ไว้เป็นหลักฐานสำหรับการไต่สวนต่อไปถ้าจำเป็น

 

ข้อ ๒  การตรวจนี้เจ้าพนักงานผู้ตรวจ ต้องทำรายงานมีรูปวาดอย่างคร่าว ๆ ให้เห็นแห่งที่เสียหายในห้องต่าง ๆ นั้น เสนอต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือเพื่อทราบด้วย และต้องรายงานชี้แจงด้วยว่าลำเรือหรือเครื่องจักรกลของเรือลำนั้นจะสมประกอบแก่การเดินเรือหรือไม่ และให้ออกความเห็นว่า ควรขีดฆ่าใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ และอนุญาตให้ใช้เรือนั้นเสียทีเดียว หรือให้ยึดไว้แต่เพียงชั่วคราว และเป็นข้อสำคัญจะต้องตรวจเรือลำนั้น และทำรายงานเสนอต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้

 

ข้อ ๓  ถ้ามีเหตุเรื่องเรือโดนกัน ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจ ตรวจโคมไฟ และที่บังแสงในเรือนั้น แล้วให้ทำรายงานต่างหากอีกฉบับหนึ่งเสนอต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ ชี้แจงขนาดโคม ที่วางโคมไม้บังแสงไฟซึ่งในขณะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง กับต้องชี้แจงว่าเรือลำนั้นมีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับเรือถูกต้องตามข้อบังคับหรือไม่ และสิ่งใดที่ยังขาดอยู่บ้าง เจ้าพนักงานผู้ตรวจต้องระวังให้มาก เมื่อจะเขียนรายงานเรื่องโคมไฟ และไม้บังแสงไฟ ซึ่งเป็นข้อสำคัญสำหรับการไต่สวนที่ศาล

 

ข้อ ๔  ถ้ามีอุบัติเหตุอย่างใด ๆ เกิดขึ้นแก่เรือหรือถ้าเป็นเหตุอย่างอื่น ๆ เจ้าพนักงานผู้ตรวจเห็นว่าจำเป็นจะต้องให้เอาเรือเข้าอู่ เพื่อทำการตรวจลำเรือ ก็ให้ทำรายงานชี้แจงต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ ทราบด้วย

 

ข้อ ๕  เว้นแต่เมื่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ จะมีคำสั่งไม่ให้ทำเช่นนั้น ก็ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจเรียกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ และใบอนุญาตใช้เรือนั้นมายึดไว้ตลอดเวลาที่ซ่อมแซมอยู่ นอกจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจจะเห็นว่าความเสียหายนั้น สมควรจะต้องขีดฆ่าใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ และใบอนุญาตใช้เรือนั้น ก็ให้เสนอต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ พร้อมกับรายงานด้วย ถ้าในเรื่องใด ๆ ได้มีความเสียหายมาก ก็ให้ส่งคืนใบสำคัญรับรองการตรวจเรือและใบอนุญาตใช้เรือนั้น ต่อกรมเจ้าท่าเพื่อยกเลิก ถ้านายเรือหรือเจ้าของเรือไม่ยอมคืนใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ และใบอนุญาตใช้เรือก็ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจแจ้งความต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ ให้ทราบโดยพลัน เพื่อจะได้ยกเลิกใบสำคัญนั้นเสียถ้าเป็นการจำเป็น แต่ต้องให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจทำตามคำสั่งโดยระมัดระวัง คือ ให้ทำรายงานทั้งหมดทั้งเรื่อง เสนอต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ข้อ ๖  ถ้าเรือนั้นสมประกอบพอแก่การที่จะใช้เดินเรือได้ โดยลำเรือและเครื่องจักรปกติทุกอย่าง ซึ่งเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานผู้ตรวจแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจเขียนหมายเหตุลงไว้ในใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ และใบอนุญาตใช้เรือซึ่งยังมิได้ขีดฆ่า โดยชี้แจงว่าได้จัดทำสิ่งที่เสียหายนั้นดีแล้ว พอใช้การได้ตลอดกำหนดอายุของใบสำคัญ และให้นำใบสำคัญนั้นเสนอต่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ โดยให้ชี้แจงการจัดทำว่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นการจำเป็นกับให้ทำสำเนาหมายเหตุนั้นเสนอผู้อำนวยการ กองกองตรวจเรือ ด้วย

 

ข้อ ๗  เมื่อผู้อำนวยการกอง กองตรวจเรือ ได้มีคำสั่งให้เรียกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ และใบอนุญาตใช้เรือจากเจ้าของเรือหรือนายเรือทุก ๆ รายที่พ้นกำหนดอายุตามข้อ ๖ หรือขีดฆ่าหรือเรียกคืนก็ดี ให้เจ้าของเรือหรือนายเรือทำตามคำสั่งโดยเร็ว ถ้าแม้เจ้าของเรือหรือนายเรือเพิกเฉยเสีย ก็ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจทำรายงานยื่นโดยทันที

 

หมวด ฉ

การวัดลำเรือ และคำนวณระวางบรรทุก

                 

 

ข้อ ๑  ขนาดตันกรอสส์ของเรือทุก ๆ ลำที่จะต้องจดทะเบียนนั้น ให้คิดตามวิธีที่จะกล่าวต่อไปสำหรับเรือแต่ละชนิด ขนาดระวางบรรทุกของเรือ ๑ ตันกรอสส์เท่ากับ ๒.๘๓ ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับ ๑๐๐ ลูกบาศก์ฟุต

 

การวัดลำเรือและคำนวณระวางบรรทุกของเรือกลเดินทะเล

                 

 

ข้อ ๒  ส่วนยาว คือส่วนยาว ๙๖ เปอร์เซ็นต์ของความยาวแนวน้ำ ณ ระดับ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ของความลึกที่วัดจากส่วนบนของกระดูกงูขึ้นมาหรือความยาววัดจากด้านนอกของทวนหัวถึงกึ่งกลางของแกนหางเสือแล้วแต่ความยาวใดจะมากกว่ากันให้ใช้ความยาวนั้น สำหรับเรือที่มีแนวกระดูกงูลาดเอียงแนวน้ำที่ใช้วัดความยาวนี้ จะต้องเป็นแนวน้ำที่ขนานกับแนวน้ำออกแบบ

 

ข้อ ๓  ส่วนกว้าง คือส่วนกว้างสุดของของเรือวัดที่กึ่งกลางลำ โดยวัดจากขอบบนสุดเส้นขอบนอกของกง ถึงเส้นขอบนอกกงตรงข้ามสำหรับเรือที่ต่อด้วยโลหะ และสำหรับเรือที่ต่อด้วยวัสดุอย่างอื่นวัดจากขอบบนสุดของเส้นขอบนอกผิวเปลือกเรือ ถึงขอบบนสุดของเส้นขอบนอกผิวเปลือกเรือตรงข้าม

 

ข้อ ๔  ส่วนลึก หาได้โดย

ก. ส่วนลึก คือระยะทางดิ่งวัดจากส่วนบนกระดูกงูขึ้นไปถึงใต้ดาดฟ้า สำหรับเรือที่ต่อด้วยไม้ หรือวัสดุผสมให้วัดจากส่วนล่างของกระดูกงู และสำหรับเรือที่มีรูปท้องเรือตรงกลางลำเป็นรูปเว้า หรือเรือที่เผ่นเปลือกเรือแนวที่ต่อจากแผ่นกระดูกงูหนามาก ให้วัดจากจุดที่เส้นระดับท้องเรือตัดกับด้านข้างของกระดูกงู

ข. สำหรับเรือที่มีขอบกราบเรือโค้ง การวัดความลึกโดยวัดจากจุดตัดของเส้นดาดฟ้ากับเส้นเปลือกเรือด้านข้าง เช่นเดียวกับเรือที่มีขอบกราบเป็นมุม

ค. สำหรับเรือที่มีดาดฟ้าเป็นชั้น และดาดฟ้าที่ยกเป็นชั้น ๆ นั้นคลุมจุดที่วัดความลึก ให้วัดความลึกจากเส้นขนานที่ต่อออกมาจากส่วนล่างของดาดฟ้า

 

ข้อ ๕  ขนาดของเรือเป็นตันกรอส หาได้จากสูตร

ตันกรอส          =        ค๑ x บ

(GT = K1 V )

ค๑ (K1)           =        ตัวคูณมีค่าเท่ากับ ๐.๒ + ๐.๐๒ Log10บ (หรือตามตาราง

                             แนบท้าย)

บ (V)             =        ปริมาตรส่วนที่ปิดกั้นทั้งหมดของเรือเป็นลูกบาศก์เมตร

 

ข้อ ๖  ขนาดของเรือเป็นตันเนต (NT) หาได้จากสูตร

                                           ๒

๔ล๑

๓ล

ตันเนต = ค๒ x บ๑         + ค๓ (ผ๑ +๒)

 

NT = K2 Vc ()2 + K3(N1 + 2)

จากสูตรข้างต้น

๔ล๑

๓ล

                                                  ๒

๑. ผลลัพธ์ ของ  จะต้องไม่มากกว่า ๑

 

๔ล๑

๓ล

                                               ๒

๒. ค่าของ ค๒ X บ๑        จะต้องไม่น้อยกว่า ๐.๒๕ ตันกรอสส์

 

๓. ตันเนต (NT) จะต้องไม่น้อยกว่า ๐.๓๐ ตันกรอสส์

บ๑ (Vc)           =        ปริมาตรของระวางบรรทุกสินค้าเป็นลูกบาศก์เมตร

ค๒ (K2)           =        ตัวคูณมีค่าเท่ากับ ๐.๒ + ๐.๐๒Log10บ๑

(หรือตามตารางแนบท้าย)

ค๓ (K3)           =        ๑.๒๕ X

ล (D)             =        ส่วนลึกของเรือกลางลำเป็นเมตร

ล๑ (d)            =        กินน้ำลึกตรงกลางลำเป็นเมตร

ผ๑ (N1)           =        จำนวนคนโดยสารในห้องไม่เกิน ๘ คน

ผ๒ (N2)           =        จำนวนคนโดยสารอื่น ๆ

ผ๑ + ผ๒          =        จำนวนผู้โดยสารในเรือที่บรรทุกได้ตามใบสำคัญรับรอง

                             การตรวจเรือ ถ้าจำนวน ผ๑ + ผ๒ น้อยกว่า ๑๓ คนให้

คิด ผ๑ และ ผ๒ เท่ากับศูนย์

 

การวัดลำเรือและการคำนวณระวางบรรทุกของเรือประมง และเรืออื่น ๆ

                 

 

ข้อ ๗[๓๘]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๘[๓๙]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๙[๔๐]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๑๐[๔๑]  (ยกเลิก)

 

การวัดและการคิดระวางบรรทุกของเรือโป๊ะจ้าย เรือสำเภา

และเรือลำเลียง

                 

 

การวัดลำเรือและคำนวณระวางบรรทุกของเรือที่มิใช่เรือกลที่เดินภายในประเทศ

 

ข้อ ๑๑[๔๒]  ส่วนยาว คือ ความยาวบนดาดฟ้าต่อเนื่องชั้นบนสุด วัดจากปลายสุดด้านหัวเรือจนถึงปลายสุดด้านท้ายเรือ

 

ข้อ ๑๒[๔๓]  ส่วนกว้าง คือ หมายความว่า ความกว้างสูงสุดที่กึ่งกลางลำ วัดถึงเส้นขอบกงสำหรับเรือที่ต่อด้วยเหล็ก และวัดถึงผิวนอกของตัวเรือ สำหรับเรือที่ต่อด้วยวัสดุอื่น

 

ข้อ ๑๓[๔๔]  ส่วนลึก คือ ระยะที่กึ่งกลางลำ วัดตามแนวดิ่งตั้งแต่ใต้พื้นดาดฟ้าลงไปถึงด้านบนของแผ่นท้องเรือ

ขนาดของเรือเป็นตันกรอสส์ เมื่อวัดส่วนต่าง ๆ เป็นเมตร ให้คิดจากสูตรต่อไปนี้

ตันกรอสส์         =        

ตันเนต             =        ๐.๘๕ ตันกรอสส์

ย                   =        ส่วนยาว

ก                   =        ส่วนกว้าง

ล                   =        ส่วนลึก

ค                   =        ๐.๗๕ สำหรับเรือที่ต่อด้วยไม้

ค                   =        ๐.๙๐ สำหรับเรือที่ต่อด้วยเหล็ก

ค                   =        ๐.๘๕ สำหรับเรือที่ต่อด้วยวัสดุอื่น ๆ

 

ตารางค่าตัวคูณ ค๑ (K1) และ ค๒ (K2)

บ(V) หรือ บ๑ (V๑) = ปริมาตรเป็นลูกบาศก์เมตร

 

บ หรือ บ๑     ค๑ หรือ ค๒     บ หรือ บ๑     ค๑ หรือ ค๒     บ หรือ บ๑     ค๑ หรือ ค๒     บ หรือ บ๑     ค๑ หรือ ค๒

V or V1        K1 or K2        V or V1       K1 or K2       V or V1       K1 or K2        V or V1        K1 or K2

๑๐             ๐.๒๒๐๐       ๔๕ ๐๐๐       ๐.๒๙๓๑      ๓๓๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๐๔        ๖๗๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๖๕

๒๐             ๐.๒๒๖๐       ๕๐ ๐๐๐       ๐.๒๙๔๐      ๓๔๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๐๖        ๖๘๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๖๖

๓๐             ๐.๒๒๙๕       ๕๕ ๐๐๐       ๐.๒๙๔๘      ๓๕๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๐๙        ๖๙๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๖๘

๔๐             ๐.๒๓๒๐       ๖๐ ๐๐๐       ๐.๒๙๕๖      ๓๖๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๑๑        ๗๐๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๖๙

๕๐             ๐.๒๓๔๐       ๖๕ ๐๐๐       ๐.๒๙๖๓      ๓๗๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๑๔        ๗๑๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๐

๖๐             ๐.๒๓๕๖       ๗๐ ๐๐๐       ๐.๒๙๖๙      ๓๘๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๑๖        ๗๒๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๑

๗๐             ๐.๒๓๖๙       ๗๕ ๐๐๐       ๐.๒๙๗๕      ๓๙๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๑๘        ๗๓๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๓

๘๐             ๐.๒๓๘๑       ๘๐ ๐๐๐       ๐.๒๙๘๑      ๔๐๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๒๐        ๗๔๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๔

๙๐             ๐.๒๓๙๑       ๘๕ ๐๐๐       ๐.๒๙๘๖      ๔๑๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๒๓        ๗๕๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๕

๑๐๐           ๐.๒๔๐๐      ๙๐ ๐๐๐        ๐.๒๙๙๑      ๔๒๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๒๕        ๗๖๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๖

๒๐๐           ๐.๒๔๖๐      ๙๕ ๐๐๐        ๐.๒๙๙๖      ๔๓๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๒๗        ๗๗๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๗

๓๐๐           ๐.๒๔๙๕     ๑๐๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๐๐      ๔๔๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๒๙        ๗๘๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๗๘

๔๐๐           ๐.๒๕๒๐     ๑๑๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๐๘      ๔๕๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๓๑        ๗๙๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๐

๕๐๐           ๐.๒๕๔๐     ๑๒๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๑๖      ๔๖๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๓๓        ๘๐๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๑

๖๐๐           ๐.๒๕๕๖     ๑๓๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๒๓      ๔๗๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๓๔        ๘๑๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๒

๗๐๐           ๐.๒๕๖๙     ๑๔๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๒๙      ๔๘๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๓๖        ๘๒๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๓

๘๐๐           ๐.๒๕๘๑     ๑๕๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๓๕      ๔๙๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๓๘        ๘๓๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๔

๙๐๐           ๐.๒๕๙๑     ๑๖๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๔๑      ๕๐๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๔๐        ๘๔๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๕

๑ ๐๐๐        ๐.๒๖๐๐     ๑๗๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๔๖      ๕๑๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๔๒        ๘๕๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๖

๒ ๐๐๐        ๐.๒๖๖๐     ๑๘๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๕๑      ๕๒๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๔๓        ๘๖๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๗

๓ ๐๐๐        ๐.๒๖๙๕     ๑๙๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๕๖      ๕๓๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๔๕        ๘๗๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๘

๔ ๐๐๐        ๐.๒๗๒๐     ๒๐๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๖๐      ๕๔๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๔๖        ๘๘๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๘๙

๕ ๐๐๐        ๐.๒๗๔๐     ๒๑๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๖๔      ๕๕๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๔๘        ๘๙๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๐

๖ ๐๐๐        ๐.๒๗๕๖     ๒๒๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๖๘      ๕๖๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๕๐        ๙๐๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๑

๗ ๐๐๐        ๐.๒๗๖๙     ๒๓๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๗๒      ๕๗๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๕๑        ๙๑๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๒

๘ ๐๐๐        ๐.๒๗๘๑     ๒๔๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๗๖      ๕๘๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๕๓        ๙๒๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๓

๙ ๐๐๐        ๐.๒๗๙๑     ๒๕๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๘๐      ๕๙๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๕๔        ๙๓๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๔

๑๐ ๐๐๐      ๐.๒๗๘๐     ๒๖๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๘๓      ๖๐๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๕๖        ๙๔๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๕

๑๕ ๐๐๐      ๐.๒๘๓๕      ๒๗๐ ๐๐๐      ๐.๓๐๘๖      ๖๑๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๕๗        ๙๕๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๖

๒๐ ๐๐๐      ๐.๒๘๖๐      ๒๘๐ ๐๐๐      ๐.๓๐๘๙      ๖๒๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๕๘        ๙๖๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๖

๒๕ ๐๐๐      ๐.๒๘๘๐      ๒๙๐ ๐๐๐      ๐.๓๐๙๒      ๖๓๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๖๐        ๙๗๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๗

๓๐ ๐๐๐      ๐.๒๘๙๕     ๓๐๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๙๕      ๖๔๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๖๑        ๙๘๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๘

๓๕ ๐๐๐      ๐.๒๙๐๙     ๓๑๐ ๐๐๐       ๐.๓๐๙๘      ๖๕๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๖๓        ๙๙๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๙๙

๔๐ ๐๐๐      ๐.๒๙๒๐     ๓๒๐ ๐๐๐       ๐.๓๑๐๑      ๖๖๐ ๐๐๐     ๐.๓๑๖๔       ๑๐๐๐ ๐๐๐      ๐.๓๒๐๐

ตัวคูณ ค๑ (K1) หรือ ค๒ (K2) ที่อยู่ระหว่างค่าของ บ (V) หรือ บ๑ (V1) จะต้องเฉลี่ยหาค่าตามวิธีเทียบบัญญัติไตรยางค์

 

วิธีคำนวณแรงม้าตามขนาดเครื่อง

                 

 

ข้อ ๑๔  วิธีสำหรับคำนวณแรงม้าของเครื่องจักรไอน้ำ (INDI CATED HORSEPOWER, IHP) เป็นกำลังงานที่วัดได้จากกำลังบานตัวของไอน้ำในกระบอกสูบ

แรงม้า (IHP)     =        

P                  =        กำลังบานตัวเฉลี่ย (MEAN BFFECTIVE PRESSURE)

เป็นปอนด์ต่อตารางนิ้ว

L                  =        ความยาวของช่วงชักของลูกสูบ (STROKE) เป็นฟุต

A                  =        เนื้อที่ของลูกสูบ เป็นตารางนิ้ว

N                 =        จำนวนรอบที่ทำงาน (NUMBER OF WORKING

                             STROKE) ใน ๑ วินาที

แรงม้าคือ งานที่ผลิตออกมาในจำนวน ๕๕๐ ฟุต - ปอนด์ใน ๑ วินาที หรือ ๓๓,๐๐๐ ฟุตปอนด์ใน ๑ นาที หรือ ๗๕ กิโลกรัม - เมตร ใน ๑ วินาที

 

ข้อ ๑๕  วิธีสำหรับคำนวณแรงม้าเบรคของเครื่องจักรไอน้ำ (BRAKE HORSEPOWER, BHP) วัดได้ที่พูลเล่ ( PULLEY OR FLYWHEEL) หรือวัดที่คัปปลิ้งของเพลาทางท้ายเครื่อง (SHAFT COUPLING) โดยวิธีเบรคด้วยเครื่องกล (MECHANICAL BRAKE) หรือเบรกด้วยไฮโดรลิค (HYDRAULIC BRAKE) หรือเบรกด้วยไฟฟ้า (ELECTRIC BRAKE)

แรงม้า (BHP)    =        

Q                 =        ท๊อค (TORQUE) ที่เกิดจากเบรคเป็นปอนด์ – ฟุต

N                 =        จำนวนรอบของเครื่องต่อวินาที

 

ข้อ ๑๖  การคำนวณแรงม้าของเครื่องยนต์ให้คำนวณดังนี้

แรงม้าเบรก                =        ๐.๘๕ แรงม้าที่คำนวณได้

แรงม้าที่คำนวณได้         =        

เมื่อ น   =        เนื้อที่หน้าตัดลูกสูบเป็นตารางนิ้ว

ช        =        ระยะลูกสูบเลื่อนเป็นฟุต

ม        =        จำนวนครั้งที่เครื่องยนต์ทำงานต่อนาที่

ก        =        กำลังดันเฉลี่ยที่วัดได้จากไดอะแกรม หรือ จากหลักฐานของผู้สร้าง

ที่เชื่อถือได้ หรือ เป็นปอนด์ต่อ ตารางนิ้ว หรือ

=        ๗๕ สำหรับเครื่องยนต์ ๔ จังหวะหมุนไม่เกิน ๒,๐๐๐ รอบต่อนาที

=        ๙๕ สำหรับเครื่องยนต์ ๔ จังหวะหมุนเกิน ๒,๐๐๐ รอบต่อนาที

และไม่มีซุปเปอร์ชาร์จหรือเทอร์โบชาร์จ หรือเครื่องเพิ่มปริมาณ

อากาศเข้าสูบอย่างใด ๆ

=        ๑๑๕ สำหรับเครื่องยนต์ ๔ หมุนเกิน ๒,๐๐๐ รอบต่อ

นาที และมีซุปเปอร์ชาร์จ หรือเทอร์โบชาร์จ หรือเครื่องเพิ่มปริมาณอากาศเข้าสูบอย่างใด ๆ

=        ๕๐ สำหรับเครื่องยนต์ ๒ จังหวะ ไม่มีซุปเปอร์ชาร์จหรือเทอร์โบ

          ชาร์จ หรือเครื่องเพิ่มปริมาณอากาศเข้าสูบอย่างใด ๆ

=        ๑๐๐ สำหรับเครื่องยนต์ ๒ จังหวะมีซุปเปอร์ชาร์จ หรือเทอร์โบ

ชาร์จ หรือเครื่องเพิ่มปริมาณเข้าสูบอย่างใด ๆ

สำหรับเครื่องที่มีหลายสูบให้เอาจำนวนสูบคูณได้แรงม้าเบรกของเครื่อง

 

ข้อ ๑๗  การเทียบขนาดแรงม้าของเครื่องยนต์ ให้คิดว่า ๑ แรงม้าเบรคเท่ากับ ๗๔๖ วัตต์

 

หมวด ช.

ว่าด้วยคนประจำเรือ

                 

 

ข้อ ๑  ผู้กระทำหน้าที่ฝ่ายเดินเรือ ต้องเป็นผู้ที่สอบความรู้ได้ตามหลักสูตรของกรมเจ้าท่า หรือได้รับหนังสือสำคัญรับรองความรู้ความชำนาญจากกรมเจ้าท่าแล้ว โดยให้มีคนประจำเรือ ซึ่งต้องมีประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นที่กำหนดให้ ดังต่อไปนี้

๑. เรือกลเดินต่างประเทศ

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือกลเดินต่างประเทศ

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่หนึ่ง

ต้นหน            ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ผู้ช่วยต้นเรือ      ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

๒. เรือกลเดินในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๒.๑ เรือที่มีขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่หนึ่ง

ต้นเรือ  ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ต้นหน   ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

๒.๒ เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป

นายเรือ ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือกลเดินต่างประเทศ

ต้นเรือ  ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ต้นหน   ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

ผู้ช่วยต้นเรือ      ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

๓. เรือกลเดินประเทศใกล้เคียง

๓.๑ เรือที่มีขนาด ไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ต้นเรือ   ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๓.๒ เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป

นายเรือ ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ต้นเรือ   ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

ต้นหน   ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๔. เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงจำกัดเขต

๔.๑ เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๔.๒ เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไปแต่ไม่เกิน ๕,๐๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

ต้นหน            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๔.๓ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๕,๐๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นทนที่สาม

ต้นหน            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๕. เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต

๕.๑ เรือที่มีขนาดไม่เกิน ๕ ตันกรอสส์

นายท้าย          ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นสอง สำหรับเรือประเภทนี้ให้ใช้นายท้ายและคนใช้เครื่องจักรคนเดียวก็ได้

๕.๒ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๕ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๓๐ ตันกรอสส์

นายท้าย          ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นสอง

๕.๓ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๓๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์

นายท้าย          ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นหนึ่ง

๕.๔ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๖๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๒๕๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๕.๕ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๒๕๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๕๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นหนึ่ง

๕.๖ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๕๐๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๕.๗ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๒,๐๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สามหรือประกาศนียบัตร

                   เรือของเรือประมง

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๕.๘ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๒,๐๐๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๕,๐๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๕.๙ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๕,๐๐๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

๖. เรือกลประมง

๖.๑ เรือกลประมงทะเลชั้น ๓

นายท้าย          ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นสอง

๖.๒ เรือกลประมงทะเลชั้น ๒

นายท้าย          ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นสอง

๖.๓ เรือกลประมงทะเลชั้น ๑

นายท้าย          ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นหนึ่ง

๖.๔ เรือกลประมงทะเลลึกชั้น ๒

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือประมง

ต้นเรือ            ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชั้นหนึ่ง

๖.๕ เรือกลประมงทะเลลึกชั้น ๑

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

ต้นเรือ             ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือประมง

๗. เรือกลเดินทะเลชายแดน

นายท้าย                ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือทะเลชายแดนมีเขต

ที่ระบุไว้ให้ควบคุมเรือในเขตนั้นได้

๘. เรือเดินทะเลที่มิใช่เรือกล

๘.๑ เรือลำเลียงหรือเรืออื่น ๆ ที่มิใช่เรือใบขนาดไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์

นายท้าย          ต้องมี ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล

๘.๒ เรือลำเลียงหรือเรืออื่น ๆ ที่มิใช่เรือใบขนาดเกินกว่า ๖๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๒๕๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล

๘.๓ เรือลำเลียงหรือเรืออื่น ๆ ที่มิใช่เรือใบขนาดเกิน ๒๕๐ ตันกรอสส์

นายเรือ           ต้องมี ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล

๘.๔[๔๕] เรือใบหรือเรือใบกลที่มีขนาดความยาวตลอดลำเกินกว่า ๑๖ เมตร

นายเรือ ต้องมีประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล

๙. เรือใบชายทะเลชายแดน

นายเรือ                 ต้องมีประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล มีเขตควบคุมเรือตามที่ระบุไว้ให้เดินเรือในเขตนั้นได้

๑๐. เรือกลลำน้ำ

๑๐.๑ เรือที่มีขนาดไม่เกิน ๓๐ ตันกรอสส์

นายท้าย       ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือลำน้ำชั้นสอง

๑๐.๒ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๓๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์

นายท้าย       ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือลำน้ำชั้นหนึ่ง

๑๐.๓ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๖๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน ๒๕๐ ตันกรอสส์

นายเรือ        ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือลำน้ำ

ผู้ช่วยนายเรือ  ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือลำน้ำชั้นสอง

๑๐.๔ เรือที่มีขนาดเกินกว่า ๒๕๐ ตันกรอสส์

นายเรือ        ต้องมี ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือลำน้ำ

ผู้ช่วยนายเรือ  ต้องมี ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือลำน้ำชั้นหนึ่ง

 

ข้อ ๒  ผู้กระทำหน้าที่ฝ่ายช่างกลเรือ ต้องเป็นผู้ที่สอบความรู้ได้ตามหลักสูตรของกรมเจ้าท่า หรือได้รับหนังสือสำคัญรับรองความรู้ความสามารถจากกรมเจ้าท่าแล้ว โดยให้มีคนประจำเรือ ซึ่งต้องมีประกาศนียบัตรตามชั้นที่กำหนดไว้ตามตารางต่อไปนี้

 

เรือกลเดินต่างประเทศ

เรือกลเดินในเขตอาเซีย

ตะวันออกเฉียงใต้

เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงและประเทศใกล้เคียงจำกัดเขต

เรือกลประมงทะเลลึก

เรือกลประมง, เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตและเรือกลลำน้ำ

 

ชั้น ๑

ชั้น ๒

 

กิโลวัตต์

 

 

 

 

ตำแหน่ง

เกิน ๓,๐๐๐

เกิน ๗๕๐-๓,๐๐๐

ไม่เกิน ๗๕๐

เกิน ๓,๐๐๐

เกิน ๑,๕๐๐–๓,๐๐๐

เกิน ๗๕๐ – ๑,๕๐๐

ไม่เกิน ๗๕๐

เกิน ๗๕๐

เกิน ๓๗๕ - ๗๕๐

ไม่เกิน ๓๗๕

เกิน ๗๕๐

ไม่เกิน ๗๕๐

ทุกขนาด

เกิน ๗๕๐

เกิน ๓๗๕ - ๗๕๐

เกิน ๒๕๐ - ๓๗๕

เกิน ๑๒๕ -๒๕๐

ไม่เกิน ๑๒๕

ตก.

รอง ตก.

ชก.

ชก.

ชก.๑

ชก.๓

ย.๑.พ

 

ย.๑.พ

ชก.๒

ชก.๓

ย.๑.พ

 

ย.๑.พ

ชก.๓

ย.๑.พ

ย.๑.พ

 

-

ชก.๒

ชก.๓

ย.๑.พ

 

ย.๑.พ

ชก.๒

ชก.๓

ย.๑.พ

 

ย.๑.พ

ชก.๓

ย.๑.พ

ย.๑.พ

 

-

ย.๑. พ

ย.๑. พ

ย.๑. พ

 

-

ชก.๓

ย.๑. พ

ย.๑. พ

 

-

ย.๑.พ

ย.๑.พ

-

 

-

ย.๑.พ

-

-

 

-

ชก.๓

ย.๑.พ

ย.๑.ฑ

 

-

ย.๑.พ

ย.๑.พ

-

 

-

ย.๑.พ

ย.๑.พ

-

 

-

ชก.๓

ย.๑.พ

ย.๑.พ

 

-

ย.๑.พ

ย.๑.พ

-

 

-

ย.๑.พ

-

-

 

-

ย.๑

-

-

 

-

ย.๒

-

-

 

-

หมายเหตุ ชก.๑ หมายความว่า ผู้ถือประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นหนึ่ง

ชก. ๒ หมายความว่า ผู้ถือประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสอง

ชก. ๓ หมายความว่า ผู้ถือประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสามหรือประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสามชำนาญงาน

ย. ๑. พ หมายความว่า ผู้ถือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษหรือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษชำนาญงาน

ย. ๑ หมายความว่า ผู้ถือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่ง

ย. ๒ หมายความว่า ผู้ถือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นสอง

ตก. หมายความว่า ต้นกลเรือ

รอง ตก. หมายความว่า รองต้นกลเรือ

ชก. หมายความว่า นายช่างกลเรือ

 

ข้อ ๓  สำหรับเรือที่มีเครื่องจักรใหญ่ขนาดไม่เกิน ๖๐ กิโลวัตต์ และมีขนาดเรือไม่เกิน ๑๐ ตันกรอสส์ หรือมีความยาวไม่เกิน ๑๖ เมตร เว้นแต่เรือที่กำหนดให้ใช้ในประเภทลากจูง อนุโลมให้ใช้ผู้ควบคุมเรือและผู้ควบคุมเครื่องจักรคนเดียวกันได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรทั้งสองประเภทสำหรับเรือขนาดอื่นที่มีเครื่องจักรใหญ่เกินกว่า ๑ เครื่องขึ้นไป ผู้ควบคุมเครื่องต้องมีประกาศนียบัตรชั้นที่สามารถควบคุมเครื่องที่มีแรงม้าสูงสุดได้

 

ข้อ ๔[๔๖]  ประกาศนียบัตรชั้นต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้นในระหว่างที่คนประจำเรือขาดแคลน หรือมีเหตุจำเป็น อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจยกเว้นให้ผู้ที่มีประกาศนียบัตรชั้นต่ำกว่าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่กำหนดให้ใช้ประกาศนียบัตรชั้นสูงกว่าไม่เกิน ๑ ชั้น ในระยะเวลาไม่เกิน ๖ เดือน  ทั้งนี้ ในเรือลำหนึ่งจะยกเว้นให้ไม่เกิน ๑ ตำแหน่ง ในแต่ละฝ่าย

การยกเว้นตามวรรคแรกไม่รวมถึงนายเรือและต้นหลเรือ นอกจากในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจยกเว้นได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

 

ข้อ ๕  ประกาศนียบัตรนายช่างกลชั้นสามประเภทชำนาญงานให้กระทำในตำแหน่งที่กำหนดให้สำหรับตำแหน่งนายช่างกลชั้นสามทุกตำแหน่ง แต่ไม่มีสิทธิที่จะได้รับการผ่อนผันตามข้อ ๔

 

ข้อ ๖[๔๗]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗  คนประจำเรือฝ่ายเดินเรือ และฝ่ายช่างกลเรือ ที่ไม่ต้องมีประกาศนียบัตร ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือกำหนดให้สำหรับเรือแต่ละลำตามความจำเป็นในการเดินเรือ และการใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ

 

ข้อ ๘  สำหรับเรือประเภทที่ได้คิดค้นต่อขึ้นใหม่ หรือไม่มีระบุไว้ในข้อบังคับนี้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือกำหนดจำนวนคนประจำเรือ และชั้นประกาศนียบัตรได้ตามความเหมาะสมและโดยได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยกาลกอง กองตรวจเรือ

 

ข้อ ๙  ผู้ถือประกาศนียบัตรฝ่ายเดินเรือชั้นต่าง ๆ มีสิทธิทำการในตำแหน่งต่าง ๆ ในเรือดังต่อไปนี้

๑. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินต่างประเทศมีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายเรือ เรือกลเดินต่างประเทศ

ข. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๒. ผู้ถือประกาศนียบัตรต้นหนที่หนึ่ง มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายเรือ เรือกลเดินในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ หรือเรือกลเดินประเทศใกล้เคียง

ข. ต้นเรือ เรือกลเดินต่างประเทศ

ค. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๓. ผู้ถือประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายเรือ เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงจำกัดเขตขนาดไม่เกิน ๕,๐๐๐ ตันกรอสส์ หรือเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต

ข. ต้นเรือ เรือกลเดินในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์ หรือเรือกลเดินประเทศใกล้เคียง

ค. ต้นหน เรือกลเดินต่างประเทศ

ง. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๔. ผู้ถือประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายเรือ เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงจำกัดเขตขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ตันกรอสส์หรือเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต ขนาดไม่เกิน ๕,๐๐๐ ตันกรอสส์ หรือเรือกลประมงทะเลลึกชั้นหนึ่ง

ข. ต้นเรือ เรือกลเดินประเทศใกล้เคียง

ค. ต้นหน เรือกลเดินในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ง. ผู้ช่วยต้นเรือ เรือกลเดินต่างประเทศ

จ. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๕. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายเรือของเรือประมง มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายเรือ เรือกลประมงทะเลลึกชั้นสอง หรือเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตขนาดไม่เกิน ๒,๐๐๐ ตันกรอสส์

ข. ต้นเรือ เรือกลประมงทะเลลึกชั้นหนึ่ง

ค. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๖. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

ก. ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสมีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. ๑ นายเรือ เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์

ก. ๒ ต้นเรือ เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์หรือเรือกลเดินประเทศใกล้เคียงจำกัดเขต ขนาดไม่เกิน ๕,๐๐๐ ตันกรอสส์ หรือเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต

ก. ๓ ต้นหน เรือกลเดินประเทศใกล้เคียง

ก. ๔ ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

ข. ประกาศนียบัตรเรือของเรือเดินในประเทศขนาดไม่เกิน ๒๐๐ ตันกรอสส์ มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ข. ๑ นายเรือ เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตขนาดไม่เกิน ๒๐๐ ตันกรอสส์

ข. ๒ ต้นหน เรือกลเดินประเทศใกล้เคียงขนาดไม่เกิน ๑,๖๐๐ ตันกรอสส์

ข. ๓ ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๗. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายเรือกลลำน้ำ มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายเรือ เรือกลลำน้ำทุกขนาด

ข. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๘. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลเดินทะเลชายแดนมีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายท้าย เรือกลเดินทะเลชายแดน

ข. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๙. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลเดินทะเลชั้นหนึ่งมีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายท้าย เรือกลเดินทะเลขนาดไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์ หรือเรือกลลำน้ำ ขนาดไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์

ข. ต้นเรือ เรือกลประมงทะเลลึกชั้นสอง

ค. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๑๐. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลเดินทะเลชั้นสอง มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายท้าย เรือกลเดินทะเลขนาดไม่เกิน  ๓๐ ตันกรอสส์ หรือเรือกลลำน้ำ ขนาดไม่เกิน ๓๐ ตันกรอสส์

ข. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๑๑. ผู้ถือประกาศนียบัตร นายท้าย เรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายท้าย เรือกลลำน้ำขนาดไม่เกิน ๖๐ ตันกรอสส์

ข. ต้นเรือ เรือกลลำน้ำ

ค. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๑๒. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นสอง มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. นายท้าย เรือกลลำน้ำขนาดไม่เกิน ๓๐ ตันกรอสส์

ข. ตำแหน่งอื่นในลำดับชั้นประกาศนียบัตรที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๑๓. ผู้ถือประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล มีสิทธิทำการในตำแหน่งผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนียบัตร

 

ข้อ ๑๐  ผู้ถือประกาศนียบัตรฝ่ายช่างกลเรือชั้นต่าง ๆ มีสิทธิทำการในเรือตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

๑. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นหนึ่ง มีสิทธิทำการในตำแหน่งต้นกลเรือทุกชนิดทุกขนาด และตำแหน่งอื่นที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๒. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสอง มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก.ต้นกลเรือทุกชนิดทุกขนาด  เว้นแต่ตำแหน่งต้นกลเรือกลเดินต่างประเทศ  ที่มีขนาดเครื่องจักรใหญ่เกินกว่า ๓,๐๐๐ กิโลวัตต์

ข.ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๓. ผู้ถือประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสามมีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. ตำแหน่งต้นกลเรือทุกชนิดทุกขนาด เว้นแต่ตำแหน่งต้นกลเรือเดินต่างประเทศที่มีขนาดเครื่องจักรใหญ่เกินกว่า ๗๕๐ กิโลวัตต์

ข. ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๔. ผู้ถือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษ มีสิทธิทำการในตำแหน่ง

ก. ตำแหน่งต้นกลเรือเดินในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีขนาดเครื่องจักรใหญ่ไม่เกิน ๗๕๐ กิโลวัตต์

ข. ตำแหน่งต้นกลเรือ  ที่เรือมีเขตการเดินเรือต่ำกว่าเขตการเดินเรือในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีขนาดเครื่องจักรใหญ่ไม่เกิน ๗๕๐ กิโลวัตต์

ค. ตำแหน่งนายช่างกลที่หนึ่งเรือกลเดินต่างประเทศ ที่มีขนาดเครื่องจักรใหญ่ไม่เกิน ๗๕๐ กิโลวัตต์ และตำแหน่งนายช่างกลที่หนึ่งเรือกลเดินในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีขนาดเครื่องจักรใหญ่ไม่เกิน ๑,๕๐๐ กิโลวัตต์ และนายช่างกลที่หนึ่ง เรือกลเดินประเทศใกล้เคียง และเรือกลเดินประเทศใกล้เคียงจำกัดเขต ขนาดเกินกว่า ๗๕๐ กิโลวัตต์

ง. ตำแหน่งผู้ควบคุมเครื่องจักรเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต และเรือกลลำน้ำที่มีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน ๗๕๐ กิโลวัตต์

จ. ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ต่ำกว่าทุกชั้น

๕. ผู้ถือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งมีสิทธิทำการในตำแหน่งผู้ควบคุมเครื่องจักรเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตและเรือกลลำน้ำที่มีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน ๒๕๐ กิโลวัตต์

๖. ผู้ถือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นสองมีสิทธิทำการในตำแหน่งผู้ควบคุมเครื่องจักรเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตและเรือกลลำน้ำที่มีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน ๑๒๕ กิโลวัตต์

 

ข้อ ๑๑  ผู้ถือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญของคนประจำเรือฝ่ายเดินเรือ ให้มีลำดับชั้นของประกาศนียบัตรตามลำดับจากสูงสุดไปต่ำสุดดังนี้

ลำดับที่ ๑ ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินต่างประเทศ

“MASTER MATE”

ลำดับที่ ๒ ประกาศนียบัตรต้นหนที่หนึ่ง

“FIRST MATE”

ลำดับที่ ๓ ประกาศนียบัตรต้นหนที่สอง

“SECOND MATE”

ลำดับที่ ๔ ประกาศนียบัตรต้นหนที่สาม

“THIRD MATE”

ลำดับที่ ๕ ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือประมง

“SKIPPER OF FISHING VESSEL”

ลำดับที่ ๖ ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินในประเทศ

“SKIPPER OF LOCAL TRADE VESSEL”

ลำดับที่ ๗ ประกาศนียบัตรนายเรือของเรือกลลำน้ำ

“SKIPPER OF POWER DRIVEN RIVER VESSEL”

ลำดับที่ ๘ ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลเดินทะเลชายแดน

“HELMSMAN OF POWER DRIVEN SEA-GOING NEIGHTBOUR AREA VESSEL”

ลำดับที่ ๙ ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลเดินทะเลชั้นหนึ่ง

“FIRST CLASS HELMSMAN OF POWER DRIVEN SEA-GOING VESSEL”

ลำดับที่ ๑๐ ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือเดินทะเลชั้นสอง

“SECOND CLASS HELMSMAN OF POWER DRIVEN SEA-GOING VESSEL”

ลำดับที่ ๑๑ ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง

“FIRST CLASS HELMSMAN OF POWER DRIVEN RIVER VESSEL”

ลำดับที่ ๑๒ ประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นสอง

“SECOND CLASS HELMSMAN OF POWER DRIVEN RIVER VESSEL”

ลำดับที่ ๑๓ ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล

“HELMSMAN OF NON-SELF PROPELLED VESSEL”

 

ข้อ ๑๒  ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญของคนประจำเรือฝ่ายช่างกล ให้มีลำดับชั้นของประกาศนียบัตรตามลำดับจากสูงสุดไปต่ำสุดดังนี้

ลำดับที่ ๑ ประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นหนึ่ง

“FIRST CLASS ENGINEER”

ลำดับที่ ๒ ประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสอง

“SECOND CLASS ENGINEER”

ลำดับที่ ๓ ประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสาม

“THIRD CLASS ENGINEER”

ลำดับที่ ๔ ประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสามชำนาญงาน

“THIRD CLASS ENGINEER BY PRACTICE”

ลำดับที่ ๕ ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรชั้นหนึ่งพิเศษ หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือ กลเดินทะเลชั้นหนึ่ง

“SPECIAL FIRST CLASS ENGINE OPERATOR หรือ CLASS BOILER MAN FOR SEA GOING SHIP”

ลำดับที่ ๖ ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษชำนาญงาน

“SPECIAL FIRST CLASS ENGINE OPERATOR BY PRACTICE”

ลำดับที่ ๗ ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่ง หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือ กลเดินทะเลชั้นสอง หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง

“FIRST CLASS ENGINE OPERATOR หรือ SECOND CLASS BOILER MAN FOR SEA-GOING SHIP หรือ FIRST CLASS BOILER MAN FOR SELF PROPELLED RIVER VESSEL”

ลำดับที่ ๘ ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นสอง หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกล ลำน้ำชั้นสอง

“SECOND CLASS ENGINE OPERATOR หรือ SECOND CLASS BOILER MAN FOR SELF PROPELLED RIVER VESSEL”

 

ข้อ ๑๓  สำหรับประกาศนียบัตรแสดงความและความชำนาญฝ่ายช่างกลทั้งประเภทเครื่องจักรไอน้ำ และประเภทเครื่องยนต์ อาจจะหมายเหตุเพิ่มเติมจากประเภทใดประเภทหนึ่งไปเป็นประเภทรวมได้ถ้าผู้ถือประกาศนียบัตรในชั้นนั้นสอบความรู้ได้ตามหลักสูตรของอีกประเภทหนึ่งได้

 

ข้อ ๑๔[๔๘]  ให้ยกเว้นประกาศนียบัตรผู้ทำการในฝ่ายเดินเรือและฝ่ายช่างกลเรือตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ภาคที่ ๑ หมวด ช. ว่าด้วยคนประจำเรือของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๒๘ สำหรับเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต ประเภทการใช้กิจการพิเศษ (เจ็ตสกีเพื่อเช่า) ในบริเวณพื้นที่ที่ได้กำหนดเขตควบคุมการเดินเรือตามกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย สำหรับเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต ประเภทการใช้กิจการพิเศษ (เจ็ตสกีเพื่อเช่า)

 

บทเฉพาะกาล

                 

 

ข้อ ๑๓  ในระหว่างที่ข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักสูตรความรู้และความชำนาญสำหรับผู้ควบคุมเรือและผู้ควบคุมเครื่องจักรฉบับต่าง ๆ ยังมิได้แก้ไขให้ยอมรับประกาศนียบัตรความรู้และความชำนาญสำหรับผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักรฉบับเดิมที่ไม่หมดอายุ เทียบเท่ากับประกาศนียบัตรฉบับใหม่ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือนี้ ดังต่อไปนี้

 

ก. ฝ่ายเดินเรือ

ประกาศนียบัตรใหม่                                    ประกาศนียบัตรเดิม

๑. นายเรือของเรือเดินต่างประเทศ           นายเรือของเรือเดินต่างประเทศ

๒. ต้นหนที่หนึ่ง                               ต้นหนที่หนึ่งเรือเดินต่างประเทศ

๓. ต้นหนที่สอง                               ต้นหนที่สองเรือเดินต่างประเทศ

๔. ต้นหนที่สาม                               ต้นหนที่สองเรือเดินต่างประเทศ

(เฉพาะลำ)

๕. นายเรือของเรือประมง                     นายเรือของเรือกลประมงชั้นหนึ่ง

นายเรือของเรือกลประมงชั้นสอง

๖. นายเรือของเรือเดินในประเทศ            นายเรือของเรือกลเดินทะเล

เฉพาะเขต

๗. นายเรือของเรือกลลำน้ำ                  นายเรือของเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง

นายเรือของเรือกลลำน้ำชั้นสอง

๘. นายท้ายเรือกลเดินทะเลชายแดน        นายเรือของเรือกลเดินทะเลชาย

แดน

๙. นายท้ายเรือกลเดินทะเลชั้นหนึ่ง          นายท้ายชายทะเลชั้นหนึ่งสำหรับ

เรือกลประมง

นายท้ายชายทะเลชั้นหนึ่งสำหรับ

เรือกลชายทะเล

๑๐. นายท้ายเรือกลเดินทะเลชั้นสอง        นายท้ายชายทะเลชั้นสองสำหรับ

เรือกลประมง

นายท้ายชายทะเลชั้นสองสำหรับ

เรือกลชายทะเล

 

ประกาศนียบัตรใหม่                                    ประกาศนียบัตรเดิม

๑๑. นายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง            นายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง

๑๒. นายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นสอง            นายท้ายเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง

๑๓. ผู้ควบคุมเรือที่มิใช่เรือกล                ไต้ก๋ง เรือใบเดินทะเลเฉพาะเขต

สรั่ง เรือลำเลียงเดินทะเลเฉพาะ

เขตคนถือท้าย

ข. ฝ่ายช่างกลเรือ

๑. ประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นหนึ่ง ใช้แทนประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นหนึ่ง

๒. ประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสอง ใช้แทนประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสอง

๓. ประกาศนียบัตรนายช่างเรือกลชั้นสาม ใช้แทนประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสาม

๔. ประกาศนียบัตรนายช่างกลเรือชั้นสามชำนาญงาน ใช้แทนประกาศนียบัตรนายช่างเรือชั้นสามชำนาญงาน

๕. ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษ หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลเดินทะเลชั้นหนึ่ง ใช้แทนประกาศนียบัตรบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษ หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลเดินทะเลชั้นหนึ่ง

๖. ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษชำนาญงาน ใช้แทนประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งพิเศษชำนาญงาน

๗. ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งหรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลเดินทะเลชั้นสอง หรือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง ใช้แทนประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่ง หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลเดินทะเลชั้นสองหรือประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลลำน้ำชั้นหนึ่ง

๘. ประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักยนต์ชั้นสองหรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลลำน้ำชั้นสอง ใช้แทนประกาศนียบัตรคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นสอง หรือคนใช้เครื่องจักรไอน้ำเรือกลลำน้ำชั้นสอง

 

หมวด ซ

คนประจำเรือในเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศ

และเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง[๔๙]

                 

 

ข้อ ๑[๕๐]  จำนวนคนประจำเรือให้มีจำนวนขั้นต่ำตามที่อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายกำหนดตามแนวทางในข้อมติขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization, IMO) ว่าด้วยการพิจารณากำหนดจำนวนคนประจำเรือขั้นต่ำและตามที่แก้ไขเพิ่มเติม  ทั้งนี้ เพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยของเรือ และการป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากเรือ โดยให้คำนึงถึง

๑. จำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานและการพักผ่อน

๒. การเดินเรือ

๓. การจัดการและจัดเก็บสินค้า

๔. การปฏิบัติงานของเรือและการดูแลบุคคลทั้งหมดบนเรือ

๕. งานช่างกลเรือ

๖. งานวิศวกรรมควบคุม อิเลคทรอนิกส์ และไฟฟ้า

๗. การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ

๘. การบำรุงรักษาและซ่อมทำในเรือ

๙. การจัดการความปลอดภัยของเรือ เมื่อมิได้อยู่ในระหว่างเดินทาง

๑๐. การประสานเพื่อดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยของเรือ และการป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ

๑๑. ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน

 

ข้อ ๒[๕๑]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๓[๕๒]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๔[๕๓]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๕[๕๔]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๖[๕๕]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗[๕๖]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๘[๕๗]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๙[๕๘]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๑๐[๕๙]  บทเฉพาะกาล

๑. ผู้ทำการในเรือที่ยังไม่ได้เปลี่ยนประเภทเรือให้เป็นไปตามหมวด ข. ของกฎข้อบังคับนี้ ให้ถือปฏิบัติตามหมวด ช. ของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ฉบับที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๕๒๘ ต่อไปจนกว่าจะได้เปลี่ยนประเภทเรือใหม่และผู้ที่มีประกาศนียบัตรออกตามข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการฝึกอบรม การสอบความรู้และการออกประกาศนียบัตรผู้ทำการในเรือ พ.ศ. ๒๕๔๑ สามารถทำการในเรือนี้ได้ตามระดับชั้นประกาศนียบัตรที่เทียบเท่าตามตารางเทียบระดับชั้นประกาศนียบัตรฝ่ายเดินเรือและฝ่ายช่างกล ในข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการฝึกอบรม การสอบความรู้และการออกประกาศนียบัตรผู้ทำการในเรือ พ.ศ. ๒๕๔๑

๒. ผู้ทำการในเรือที่เปลี่ยนประเภทเป็นเรือตามที่กำหนดไว้ในหมวด ข. ของกฎข้อบังคับนี้แล้วและเป็นผู้มีประกาศนียบัตรออกตามข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการสอบความรู้ผู้ทำการในเรือ พ.ศ. ๒๕๓๒ ที่ยังไม่หมดอายุ สามารถทำการในเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศ และเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งได้ตามระดับชั้นประกาศนียบัตรที่เทียบเท่าตามตารางเทียบระดับชั้นประกาศนียบัตรฝ่ายเดินเรือและฝ่ายช่างกล ในข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการฝึกอบรม การสอบความรู้และการออกประกาศนียบัตรผู้ทำการในเรือ พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้จนถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕

๓. ความในหมวด ซ. สำหรับเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งขนาดระหว่าง ๓,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ตันกรอส ให้ใช้การจัดคนประจำเรือและประกาศนียบัตรขั้นต่ำสำหรับผู้ทำการในเรือของเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งขนาดระหว่าง ๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ตันกรอส มาบังคับใช้โดยอนุโลมเป็นเวลาสิบปี นับแต่วันที่กฎข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ

 

 

กฎข้อบังคับให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘

อำพล  ตียาภรณ์

อธิบดีกรมเจ้าท่า


[เอกสารแนบท้าย]

 

๑.[๖๐] ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (แบบ ตร. ๒๐ - ๑)

๒.[๖๑] THAILAND HARBOUR DEPARTMENT CERTIFICATE OF SURVEY (FORM  TR. 20 - 1)

๓. ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (แบบ ตร.๒๐-๒)

๔. HARBOUR DEPARTMENT CERTIFICATE OF SURVEY (FORM  TR. 20 - 2)

๕. ใบรับรองวัสดุที่ใช้ประจำเรือ (แบบ ตร.๒๐-๓)

๖. HARBOUR DEPARTMENT INSPECTION CERTIFICATE OF ARTICLES FOR SHIP USE OF APPROVE D TYPE  (FORM  TR. 20 - 3)

๗. ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลลำน้ำและเรือลำน้ำที่มิใช่เรือกล ใช้เรือในเขตลำน้ำ (แบบ ตร. ๒๐-๔)

๘. แผนที่ต่อท้ายกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๒๘

๙. แผนที่ต่อท้ายกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๒๘ แสดงเขตการเดินเรือตามข้อ ๘

๑๐.[๖๒] อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองต่าง ๆ

๑๑.[๖๓] อัตราค่าธรรมเนียมเพื่อออกใบสำคัญรับรองการยกเว้นและใบสำคัญรับรองการจัดชั้นเรือของรัฐบาลไทย

๑๒.[๖๔] อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ

๑๓.[๖๕] แผ่นป้ายแสดงการผ่านการตรวจเรือประจำปี

๑๔.[๖๖] HARBOUR DEPARTMENT THAILAND PASSENGER SHIP SAFETY CERTIFICATE

๑๕.[๖๗] THAILAND CARGO SHIP SAFETY CONSTRUCTION CERTIFICATE

๑๖.[๖๘] HARBOUR DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE CARGO SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE

๑๗.[๖๙] MARINE DEPARTMENT CARGO SHIP SAFETY RADIO CERTIFICATE

๑๘.[๗๐] HARBOUR DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE CARGO SHIP SAFETY RADIO CERTIFICATE

๑๙.[๗๑] HARBOUR DEPARTMENT THAILAND EXAMPTION CERTIFICATE

๒๐.[๗๒] HARBOUR DEPARTMENT CERTIFICATE OF THE FITNESS FOR THE CARRIAGE OF LIQUEFIED GASES IN BULK

๒๑.[๗๓] HARBOUR DEPARTMENT BANGKOK THAILAND MINIMUM SAFE MANNING CERTIFICATE

๒๒.[๗๔] OFFICER RECORD M.V. …………………….

๒๓.[๗๕] MARINE DEPARTMENT THAI GOVERNMENT REGISTER FOR CLASSIFICATION OF SHIP

๒๔.[๗๖] ตารางที่ ๑ การจัดคนประจำเรือและประกาศนียบัตรผู้ทำการฝ่ายเดินเรือ (ยกเลิก)

๒๕.[๗๗] ตารางที่ ๒ การจัดคนประจำเรือและประกาศนียบัตรผู้ทำการฝ่ายช่างกล (ยกเลิก)

๒๖.[๗๘] แผนที่เขตสำหรับเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง

๒๗.[๗๙] THAILAND MARINE DEPARTMENT CERTIFICATE OF SURVEY (Form TR. 20 – 1A)

๒๘.[๘๐] THAILAND MARINE DEPARTMENT CERTIFICATE OF SURVEY (Form TR. 20 – 1B)

๒๙.[๘๑] ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (แบบ ตร.20-2ข)

๓๐.[๘๒] ใบสำคัญแสดงการตรวจเรือ เพื่อจดทะเบียนเรือไทย

๓๑.[๘๓] THAILAND CERTIFICATE OF SURVEY FOR SHIP REGISTRATION (Form TR 21)

๓๒.[๘๔] MARINE DEPARTMENT THAILAND PROVISIONAL CERTIFICATE OF REGISTRY

๓๓.[๘๕] MARINE DEPARTMENT THAILAND CARGO SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE

๓๔.[๘๖] MARINE DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE CARGO SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE (Form R)

๓๕.[๘๗] MARINE DEPARTMENT THAILAND INTERNATIONAL LOAD LINE CERTIFICATE (1966)

๓๖.[๘๘] MARINE DEPARTMENT THAILAND INTERNATIONAL OIL POLLUTION PREVENTION CERTIFICATE

๓๗.[๘๙] MARINE DEPARTMENT THAILAND Supplyment to the International Oil Pollution Prevention Certificate (IOPP Certificate)

๓๘.[๙๐] MARINE DEPARTMENT THAILAND (FORM B Revised 1991)

๓๙.[๙๑] THAILAND TONNAGE CERTIFICATE

๔๐.[๙๒] ใบสำคัญรับรองการบริหารงานเพื่อความปลอดภัย

๔๑.[๙๓] หนังสือรับรองการปฏิบัติตาม DOCUMENT OF COMPLIANCE

๔๒.[๙๔] MARINE DEPARTMENT BANGKOK THAILAND (NON CONVENSION)

๔๓.[๙๕] MARINE DEPARTMENT THAILAND EXAMPTION CERTIFICATE

๔๔.[๙๖] MARINE DEPARTMENT THAILAND CERTIFICATE OF TEST AND EXAMPTION OF DERRICK, WINCHES AND THERE ACCESSORY GEAR, BEFORE BEING TAKEN IN TO USE.

๔๕.[๙๗] MARINE DEPARTMENT THAILAND CERTIFICATE OF THE FITNESS FOR THE CARRIAGE OF LIQUEFIED GASES IN BULK

๔๖.[๙๘] MARINE DEPARTMENT THAILAND INTERNATIONAL POLLUTION PREVENTION FOR THE CARRIAGE OF NOXIOUS LIQUID SUBSTANCES in BULK

๔๗.[๙๙] PASSENGER SHIP SAFETY CERTIFICATE

๔๘.[๑๐๐] MARINE DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE PASSENGER SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE (Form P)

๔๙.[๑๐๑] อัตราค่าธรรมเนียมการออกใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทย

๕๐.[๑๐๒] THAILAND MARINE DEPARTMENT INTERNATIONAL SHIP SECURITY CERTIFICATE

๕๑.[๑๐๓] THAILAND MARINE DEPARTMENT INTERIM INTERNATIONAL SHIP SECURITY CERTIFICATE

๕๒.[๑๐๔] THE GOVERNMENT OF THAILAND MARINE DEPARTMENT

๕๓.[๑๐๕] INDEX OF AMENDMENT TO THE SHIP’S CSR

๕๔.[๑๐๖] THE GOVERNMENT OF THAILAND MARINE DEPARTMENT Amendments to the Continuous Synopsis Record (CSR) for the ship with IMO Number

๕๕.[๑๐๗] Amendments to the Continuous Synopsis Record (CSR) for the ship with IMO Number: ..............................

๕๖.[๑๐๘] อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการออกใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศ

 

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)


กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๓๓[๑๐๙]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อำนาจในการยกเว้นลดชั้นประกาศนียบัตรของคนประจำซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตรวจเรือ โดยได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการกองตรวจเรือ และมีอำนาจลดชั้นประกาศนียบัตรลงต่ำกว่าที่กำหนดไว้ได้ไม่เกิน ๑ ชั้น  ทั้งนี้ ในเรือลำหนึ่งจะอนุโลมให้ลดชั้นประกาศนียบัตรลงได้ไม่เกิน ๑ ตำแหน่งในแต่ละฝ่ายนั้นสมควรแก้ไขให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาและการลดชั้นประกาศนียบัตรดังกล่าวไม่ควรกำหนดเป็นการตายตัว  จึงจำเป็นต้องออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๓๔[๑๑๐]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๓๘[๑๑๑]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

ข้อ ๕  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙[๑๑๒]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่เรือลำใดใบสำคัญรับรองฯ ยังไม่สิ้นอายุ ให้ปฏิบัติตามเดิมจนกว่าใบสำคัญรับรองสิ้นอายุ

 

ข้อ ๗  อัตราค่าธรรมเนียม สำหรับการตรวจเรือ เพื่อออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ ใบสำคัญรับรองต่าง ๆ ใบสำคัญรับรองการยกเว้น และใบสำคัญรับรองการจัดชั้นเรือของรัฐบาลไทยและอัตราค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายวงกลม แสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปีตามข้อ ๕ ของกฎข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามอัตราท้ายกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๘  การร้องขอให้กรมเจ้าท่า มอบอำนาจให้สมาคมจัดชั้นเรือ (Classification Society) หรือมอบอำนาจให้ผู้ใด ที่กรมเจ้าท่าได้ให้การยอมรับ เป็นผู้ออกใบสำคัญรับรองต่าง ๆ ตามข้อ ๔ ผู้ร้องขอการมอบอำนาจ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการมอบอำนาจ เพื่อออกใบสำคัญรับรองต่าง ๆ นั้น ตามอัตราท้ายกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๙[๑๑๓]  แบบใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทย ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (แบบ ตร. ๒๐–๑ก และแบบ ตร. ๒๐–๑ข) ใบสำคัญรับรองต่าง ๆ ใบสำคัญรับรองการยกเว้น ใบสำคัญรับรองการจัดชั้นเรือของรัฐบาลไทย และแผ่นป้ายวงกลมแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปีให้เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดในภาคผนวก (ก) ท้ายกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้

สำหรับแผ่นป้ายวงกลมแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจประจำปีให้ใช้ได้จนถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗

 

ข้อ ๑๐  ให้อธิบดีเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๑[๑๑๔]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับให้ใช้บังคับนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๔  ใบสำคัญรับรองจำนวนคนประจำเรือต่ำสุดเพื่อความปลอดภัย (Minimum Safe Manning Certificate) ที่มีอยู่ก่อนกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปเมื่อสิ้นอายุจึงให้นำมาเป็นหลักฐานในการขอใบสำคัญรับรองจำนวนคนประจำเรือต่ำสุดเพื่อความปลอดภัยตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้

 

ข้อ ๕  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑[๑๑๕]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓  บรรดาข้อความอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎข้อบังคับฉบับนี้ ให้ใช้ความในกฎข้อบังคับฉบับนี้ใช้บังคับ และความใดที่ไม่ได้ปรากฏในกฎข้อบังคับฉบับนี้ให้คงเป็นไปตามความที่ปรากฏในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ฉบับที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๕๒๘

 

ข้อ ๗  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกระเบียบประกาศใด ๆ เพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๔๒[๑๑๖]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๔  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖[๑๑๗]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๘ เจ้าพนักงานตรวจเรือจะออกใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทยให้แก่เรือที่มีใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย

 

ข้อ ๙ ในการออกใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทยให้เจ้าพนักงานตรวจเรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการออกใบสำคัญแสดงการตรวจเรือจากเจ้าของเรือหรือผู้แทนเจ้าของเรือผู้ยื่นคำร้องตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก (ข) ท้ายกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือฉบับนี้

 

ข้อ ๑๐ ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗[๑๑๘]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๖  เรือทุกลำตามประเภทที่กำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 ต้องมีบันทึกประวัติเรือต่อเนื่อง (Continuous Synopsis Record) ที่ออกโดยกองตรวจเรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และให้แบบบันทึกประวัติเรือต่อเนื่องเป็นไปตามแบบแนบท้ายกฎข้อบังคับนี้ ยกเว้นเรือดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่ไม่ได้เดินระหว่างประเทศ

(๒) เรือสินค้าที่มีขนาดต่ำกว่า ๕๐๐ ตันกรอส

(๓) เรือที่มิได้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรกล

(๔) เรือรบ

(๕) เรือไม้ที่มีการต่อสร้างแบบโบราณ

(๖) เรือสำราญกีฬาที่ไม่ได้ใช้เพื่อทำการค้า

(๗) เรือประมง

 

ข้อ ๗  ใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศ และใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศฉบับชั่วคราวให้เป็นไปตามแบบแนบท้ายกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๘  อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการออกและสลักหลังใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศ และใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศฉบับชั่วคราวให้เป็นไปตามอัตราท้ายกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๙  ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๙[๑๑๙]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๕  ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๓) พ.ศ. ๒๕๕๐[๑๒๐]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๕  การบังคับใช้

๕.๑ ข้อ ๔ ของกฎข้อบังคับนี้ให้ใช้กับเรือที่ต่อสร้างหรือดัดแปลงในวันที่หรือหลังจากวันที่กฎข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ

๕.๒ สำหรับกฎข้อบังคับนี้ ตั้งแต่หมวด ก. ถึง หมวด ช. ให้ใช้กับเรือที่มิใช่เรือกลที่เดินภายในประเทศทุกลำ ที่มีขนาดความยาวฉากตั้งแต่ ๒๔ เมตรขึ้นไป

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๗) พ.ศ. ๒๕๕๓[๑๒๑]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๔  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับเรือทุกลำที่มีขนาดความยาวตลอดลำตั้งแต่ ๒๔ เมตรขึ้นไป ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(๑) เป็นเรือซึ่งต่อสร้างขึ้นใหม่หรือดัดแปลงในหรือหลังจากวันที่กฎข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ

(๒) เป็นเรือที่ซื้อมาจากต่างประเทศซึ่งต่อสร้างหรือดัดแปลงเสร็จสมบูรณ์ก่อนวันที่กฎข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ

กฎข้อบังคับนี้ไม่ใช้บังคับกับเรือรบ เรือช่วยรบ และเรือราชการ

 

ข้อ ๓๓  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๘) พ.ศ. ๒๕๕๔[๑๒๒]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๑๘  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๙) พ.ศ. ๒๕๕๔[๑๒๓]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓  บรรดากฎข้อบังคับ และระเบียบในส่วนที่บัญญัติไว้แล้ว ซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งกฎข้อบังคับนี้ให้ใช้กฎข้อบังคับนี้แทน

 

ข้อ ๔  ให้ยกเลิกตารางแนบท้ายที่ ๑ และตารางแนบท้ายที่ ๒ ของกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ใช้ตารางแนบท้ายกฎข้อบังคับนี้แทน

 

ข้อ ๗  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๔๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๑๒๔]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๕  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘[๑๒๕]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๔๒  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙[๑๒๖]

 

ข้อ ๒  กฎข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๒๓  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามกฎข้อบังคับนี้

 

ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐[๑๒๗]

 

ข้อ ๒  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๕  ในข้อบังคับนี้

“เสื้อชูชีพ” หมายถึง ชุดหรืออุปกรณ์ที่เพิ่มแรงลอยตัวตามขนาดที่ระบุไว้ให้กับผู้สวมซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตเมื่อสวมอย่างถูกต้อง สามารถทำให้เกิดการลอยตัวในลักษณะหงายหน้าขึ้นโดยมีการยกตัวที่เพียงพอสำหรับการใช้ในน่านน้ำซึ่งมีคลื่นลม โดยจะต้องมีการกระจายแรงลอยตัวเพียงพอที่ผู้สวมพลิกไปอยู่ในตำแหน่งที่ปากสูงพ้นจากผิวน้ำ แม้แต่กรณีที่ผู้สวมหมดสติ

“เรือเดินภายในประเทศ” หมายถึง เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต เรือเดินทะเลที่มิใช่เรือกล เรือกลลำน้ำ เรือลำน้ำที่มิใช่เรือกล เรือกลประมงทะเล ชั้น ๑ เรือกลประมงทะเล ชั้น ๒ และเรือกลประมงทะเล ชั้น ๓

“เสื้อชูชีพแบบเสื้อกั๊ก” หมายถึง เสื้อชูชีพที่คลุมลำตัวด้านบนของผู้สวมเหมือนเสื้อกั๊ก

“เสื้อชูชีพแบบคล้องคอ” หมายถึง เสื้อชูชีพที่สวมรอบหลังคอและรัดโดยแถบรัดเอว

 

ข้อ ๖  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเรือเดินภายในประเทศ

 

ข้อ ๗  เสื้อชูชีพที่ใช้ในเรือเดินภายในประเทศต้องมีใบสำคัญรับรองและได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าตามข้อกำหนดคุณสมบัติและลักษณะในข้อ ๘

 

ข้อ ๘  เสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) เสื้อชูชีพ ระดับ ๑๐๐ ต้องมีแรงลอยตัวดังนี้

(ก) เสื้อชูชีพสำหรับผู้ใหญ่ต้องมีแรงลอยตัวซึ่งได้จากการหาแรงลอยตัวตามวิธีการในข้อ ๙ (๑) ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ นิวตัน

(ข) เสื้อชูชีพสำหรับเด็กต้องมีแรงลอยตัวซึ่งได้จากการหาแรงลอยตัวตามวิธีการในข้อ ๙ (๑) ดังนี้

๑) น้ำหนักผู้ใช้ไม่เกิน ๑๕ กิโลกรัม มีแรงลอยตัวไม่น้อยกว่า ๓๐ นิวตัน

๒) น้ำหนักผู้ใช้มากกว่า ๑๕ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๓๐ กิโลกรัม มีแรงลอยตัวไม่น้อยกว่า ๔๐ นิวตัน

๓) น้ำหนักผู้ใช้มากกว่า ๓๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๔๐ กิโลกรัม มีแรงลอยตัวไม่น้อยกว่า ๕๐ นิวตัน

(๒) เสื้อชูชีพ ระดับ ๑๕๐ ต้องมีแรงลอยตัวดังนี้

(ก) เสื้อชูชีพสำหรับผู้ใหญ่ต้องมีแรงลอยตัวซึ่งได้จากการหาแรงลอยตัวตามวิธีการในข้อ ๙ (๑) ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ นิวตัน

(ข) เสื้อชูชีพสำหรับเด็กต้องมีแรงลอยตัวซึ่งได้จากการหาแรงลอยตัวตามวิธีการในข้อ ๙ (๑) ดังนี้

๑) น้ำหนักผู้ใช้ไม่เกิน ๑๕ กิโลกรัม มีแรงลอยตัวไม่น้อยกว่า ๔๕ นิวตัน

๒) น้ำหนักผู้ใช้มากกว่า ๑๕ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๓๐ กิโลกรัม มีแรงลอยตัวไม่น้อยกว่า ๖๐ นิวตัน

๓) น้ำหนักผู้ใช้มากกว่า ๓๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๔๐ กิโลกรัม มีแรงลอยตัวไม่น้อยกว่า ๗๕ นิวตัน

(๓) เมื่อทำการหาแรงลอยของตัวเสื้อชูชีพหลังจากแช่น้ำ ๒๔ ชั่วโมง ตามวิธีการในข้อ ๙ (๑) แล้วแรงลอยตัวที่สูญเสียไปต้องไม่เกินร้อยละ ๕

(๔) เสื้อชูชีพต้องไม่เสียหายและคงสภาพการใช้งานได้ เมื่อทดสอบตามข้อ ๙ (๒) ในสภาพเปียกในแนวระนาบด้วยแรงไม่น้อยกว่า ๒๐๐๐ นิวตัน และในแนวดิ่งด้วยแรงไม่น้อยกว่า ๗๕๐ นิวตัน และตำแหน่งของอุปกรณ์ปรับรัดตัวเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมไม่เกิน ๒๕ มิลลิเมตร

(๕) มีสีส้มหรือส้มแดง ตามเกณฑ์และวิธีทดสอบในข้อ ๙ (๓)

(๖) มีวัสดุสะท้อนแสงที่ได้มาตรฐานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea (SOLAS), 1974, as amended) ติดบนพื้นผิวเสื้อชูชีพโดยอาจติดหลายตำแหน่งเป็นพื้นที่รวมกัน ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางเซนติเมตร

(๗) มีนกหวีดผูกติดไว้กับเสื้อชูชีพด้วยเชือกอย่างแน่นหนาเป็นประจำ นกหวีดที่ใช้ต้องได้มาตรฐานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea (SOLAS), 1974, as amended) หรือ ISO 12402-8 หรือผ่านการทดสอบตามเกณฑ์และวิธีทดสอบในข้อ ๙ (๔)

(๘) ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเมื่อผู้ใช้สวมไม่ถูกวิธี

(๙) เมื่อผู้สวมอยู่ในน้ำนิ่งในลักษณะยืนตรง เสื้อชูชีพนั้นต้องทำให้ผู้สวมพลิกกลับไปอยู่ในลักษณะเอนหงายหลังได้ใน ๑๐ วินาที ไม่ว่าผู้สวมจะมีสติหรือหมดสติก็ตาม และต้องให้ปากของผู้สวมอยู่สูงพ้นระดับน้ำ

(๑๐) เมื่อผู้สวมกระโดดจากที่สูง ๓ เมตรลงไปในน้ำโดยให้เท้าลงสู่น้ำก่อน ต้องไม่มีอันตรายหรือหลุดไปจากเสื้อชูชีพ

(๑๑) ผ่านการทดสอบเพลิงไหม้ตามวิธีการทดสอบในข้อ ๙ (๕)

(๑๒) ผ่านการทดสอบความทนน้ำมันตามวิธีการทดสอบในข้อ ๙ (๖)

 

ข้อ ๙  การทดสอบเสื้อชูชีพให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) การหาแรงลอยตัว

(ก) ต้องมีเครื่องมือทดสอบอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

๑) กรงสำหรับใส่เสื้อชูชีพ

๒) ตุ้มน้ำหนักเป็นกิโลกรัมที่มีมวลมากกว่าค่าแรงลอยตัวประมาณ ๑.๑ เท่า เพื่อใช้ช่วยถ่วงน้ำหนักให้กรงจมลงในน้ำ

๓) ถังบรรจุน้ำซึ่งมีอุณหภูมิ ๒๐ + ๕ องศาเซลเซียส มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะใส่กรงได้ลึก ๑๐๐ มิลลิเมตร ถึง ๑๕๐ มิลลิเมตร จากผิวน้ำ และติดตั้งเครื่องชั่งที่อ่านค่าได้ละเอียด ๐.๑ กิโลกรัม โดยเกี่ยวต่อกับกรงเพื่อชั่งน้ำหนักในน้ำ

(ข) การทดสอบให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

๑) ใส่เสื้อชูชีพในกรงที่มีตุ้มน้ำหนัก นำไปเกี่ยวแขวนกับเครื่องชั่งน้ำหนัก แล้วจุ่มให้จมลงในถังน้ำให้ลึก ๑๐๐ มิลลิเมตร ถึง ๑๕๐ มิลลิเมตร จากผิวน้ำ บันทึกค่าน้ำหนักที่ชั่งได้ในน้ำเป็นค่า A

๒) ให้แช่ในน้ำ ๒๔.๐ + ๐.๕ ชั่วโมง บันทึกค่าน้ำหนักที่ชั่งได้ในน้ำเป็นค่า B

๓) นำเสื้อชูชีพออกจากกรง บันทึกค่าน้ำหนักของกรงและตุ้มน้ำหนักที่ชั่งได้ในน้ำเป็นค่า C

๔) แรงลอยตัวเบื้องต้น = (C - A) x ๙.๘ นิวตัน

๕) แรงลอยตัวหลังแช่น้ำ = (C - B) x ๙.๘ นิวตัน

๖) แรงลอยตัวที่สูญเสียไป = (แรงลอยตัวหลังแช่น้ำ-แรงลอยตัวเบื้องต้น) x ๑๐๐

แรงลอยตัวเบื้องต้น

(๒) การทดสอบความแข็งแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

(ก) ต้องมีเครื่องมือทดสอบอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

๑) อุปกรณ์ทรงกระบอกใช้สำหรับแขวนเสื้อชูชีพที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒๕ + ๑๐ มิลลิเมตร และมีความยาวเหมาะสมกับขนาดเสื้อชูชีพ สำหรับการทดสอบเสื้อชูชีพที่ใช้กับผู้สวมใส่ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ ๔๐ กิโลกรัมขึ้นไป และอุปกรณ์สำหรับติดวัสดุถ่วงน้ำหนักสำหรับการทดสอบความแข็งแรงในแนวดิ่งตามในรูปที่ ๕ และรูปที่ ๖ ในภาคผนวก ๑ ของข้อบังคับนี้

๒) วัสดุที่ใช้ถ่วงน้ำหนัก

(ข) แช่เสื้อชูชีพในน้ำสะอาดอย่างน้อย ๕ นาทีก่อนทดสอบ

(ค) ทดสอบโดยใช้น้ำหนักถ่วงในแนวระนาบและแนวดิ่งตามลำดับ

(ง) การทดสอบความแข็งแรงในแนวระนาบให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

๑) ให้เตรียมเสื้อชูชีพและอุปกรณ์ตามแบบของเสื้อชูชีพ โดยใช้วัสดุทรงกระบอกที่มีขนาดเท่ากันโดยตำแหน่งการติดตั้งวัสดุทรงกระบอก (A1A2 และ B1B2) เสื้อชูชีพและวัสดุถ่วงน้ำหนักให้เป็นไปตามรูปที่ ๑ หรือรูปที่ ๒ ตามแบบของเสื้อชูชีพในภาคผนวก ๑ ของข้อบังคับนี้

๒) เมื่อจัดตำแหน่งเสื้อชูชีพและอุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบเรียบร้อยแล้ว โดยให้ติดและปรับอุปกรณ์ให้อยู่ในลักษณะที่ใช้งานตามปกติ ทำเครื่องหมายตรงจุดที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ช่วยรัดในตำแหน่งที่สายรัดผ่าน

๓) จัดวัสดุทรงกระบอกด้านบน และด้านล่างให้อยู่ในตำแหน่งที่ขนานกันเพิ่มน้ำหนักให้กับวัสดุที่ใช้ถ่วงน้ำหนักเล็กน้อย หรือเคลื่อนที่อุปกรณ์ชุดแขวนด้านบนเพื่อปรับแรงดึงของเชือก โดยบันทึกน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งปรับระยะห่างของแกนวัสดุทรงกระบอกให้เท่ากันโดยวัดจากตำแหน่ง A1 ไป B1 และ A2 ไป B2

๔) เพิ่มน้ำหนักอย่างช้า ๆ โดยไม่ต้องกระตุกจนถึงระดับที่ต้องการ ปล่อยให้เสื้อชูชีพแขวนอย่างเป็นอิสระทิ้งไว้เป็นเวลา ๕ + ๐.๑ นาที เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วให้วัดระยะห่างระหว่างแกน A1A2 และ B1B2 จากนั้นจึงถอดวัสดุที่ใช้ถ่วงน้ำหนักออก ตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นและตรวจการเคลื่อนออกจากตำแหน่งของวัสดุช่วยรัดบนเสื้อชูชีพ คำนวณค่าเฉลี่ยของระยะห่างระหว่างแกน A1A2 และ B1B2 ที่เพิ่มขึ้น

(จ) การทดสอบความแข็งแรงในแนวดิ่งให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

๑) ให้เตรียมเสื้อชูชีพและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังรูปที่ ๓ หรือ ๔ ตามแบบของเสื้อชูชีพในภาคผนวก ๑ ของข้อบังคับนี้ การทดสอบความแข็งแรงในแนวดิ่งกับเสื้อชูชีพทุกขนาดให้ใช้วัสดุถ่วงน้ำหนัก ๗๕๐ นิวตัน

๒) เมื่อจัดตำแหน่งเสื้อชูชีพและอุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบเรียบร้อยแล้ว ให้ทำเครื่องหมายตรงจุดที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ช่วยรัด เริ่มทดสอบโดยการแขวนวัสดุถ่วงน้ำหนัก โดยห้ามกระตุกวัสดุถ่วงน้ำหนัก ปล่อยให้เสื้อชูชีพแขวนอย่างเป็นอิสระ ทิ้งไว้เป็นเวลา ๕ + ๐.๑ นาที

๓) ถอดอุปกรณ์ทุกชิ้นออกเมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบแล้วตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และตรวจการเคลื่อนออกจากตำแหน่งของวัสดุช่วยรัดบนเสื้อชูชีพ

(๓) การทดสอบวัดสีด้วยเครื่องวัดสีที่มี Geometry ๔๕/๐ ภายใต้ แหล่งกำเนิดแสง D๖๕, มุมมองที่ ๒ องศา ให้ปรับสภาวะชิ้นผ้าในบรรยากาศมาตรฐาน ที่อุณหภูมิ ๒๐ + ๒ องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ ร้อยละ ๖๕ + ๔ เป็นเวลาอย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งขณะวัดสีผ้า จะต้องรองหลังชิ้นผ้าด้วยวัสดุสีดำที่มีค่าการสะท้อนแสงน้อยกว่า ๐.๐๔ ผลการวัดสีต้องอยู่ในพื้นที่สีส้มหรือส้มแดง ตามตารางที่ ๑ หรือตารางที่ ๒ ในภาคผนวก ๒ ของข้อบังคับนี้

(๔) การทดสอบนกหวีด ให้ทำการทดสอบในพื้นที่เปิดโล่ง โดยผู้ทดสอบอายุ ๒๐-๓๐ ปี เป่านกหวีดห่างจากเครื่องวัดเสียง ๕ + ๐.๑ เมตร ความดังต้องมากกว่า ๑๐๐ เดซิเบล และต้องมีหลายโทนเสียง และต้องมีความถี่หลักที่ ๒ + ๑ กิโลเฮิรตซ์

(๕) การทดสอบเพลิงไหม้ ให้ดำเนินการโดยเตรียมถาดทดสอบขนาดกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เซนติเมตร ลึก ๖ เซนติเมตรในสถานที่ที่ไม่มีลมพัด ใส่น้ำในก้นถาดลึก ๑ เซนติเมตรแล้วใส่น้ำมันเชื้อเพลิงจนความลึกรวมไม่น้อยกว่า ๔ เซนติเมตร หลังจากนั้นให้จุดไฟและปล่อยให้เผาไหม้เองเป็นเวลา ๓๐ วินาที เคลื่อนเสื้อชูชีพเข้าไปในเปลวไฟในลักษณะตั้งตรง หันไปข้างหน้า แขวนโดยอิสระโดยให้ขอบล่างของเสื้อชูชีพอยู่สูงจากขอบถาดทดสอบ ๒๕ เซนติเมตร เพื่อให้ระยะเวลาให้การสัมผัสเปลวไฟเท่ากับ ๒ วินาที หลังจากนำเสื้อชูชีพออกจากเปลวไฟเสื้อชูชีพจะต้องไม่ลุกไหม้หรือมีการละลายต่อไปอีก

(๖) การทดสอบความทนน้ำมัน ให้ดำเนินการโดยการแช่เสื้อชูชีพในแนวราบในน้ำมันดีเซลลึก ๑๐๐ มิลลิเมตร ณ อุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมง หลังจากการทดสอบนั้นเสื้อชูชีพต้องไม่แสดงให้เห็นความเสียหาย เช่น การหดตัว การแตก การละลาย หรือการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะทางกล

 

ข้อ ๑๐  เสื้อชูชีพที่ได้รับใบสำคัญรับรองและได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าต้องติดฉลาก ขนาดกว้าง ๑๐ เซนติเมตร ยาว ๑๐ เซนติเมตร ที่มีสภาพคงทนถาวรตามรูปแบบในภาคผนวก ๓ ของข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๑๑  เมื่อเสื้อชูชีพได้ผ่านการทดสอบคุณสมบัติและลักษณะเสื้อชูชีพตามข้อบังคับนี้แล้วให้กรมเจ้าท่าโดยสำนักมาตรฐานเรือออกใบสำคัญรับรองอุปกรณ์ประจำเรือได้ตามแบบที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๔ ของข้อบังคับนี้

ใบสำคัญรับรองอุปกรณ์ประจำเรือที่ออกให้ครั้งแรกมีอายุ ๑ ปี และใบสำคัญรับรองอุปกรณ์ประจำเรือที่ออกให้ตั้งแต่ครั้งที่สองเป็นต้นไปให้มีอายุ ๓ ปี ให้ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือเป็นผู้ลงนามในใบสำคัญรับรองอุปกรณ์ประจำเรือ

 

ข้อ ๑๒  เพื่อประโยชน์ในการคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยของเสื้อชูชีพ ให้กรมเจ้าท่ามีอำนาจในการสุ่มตัวอย่างเสื้อชูชีพที่ได้รับใบสำคัญรับรองและอนุมัติจากกรมเจ้าท่าในแต่ละรอบการผลิตและทำการทดสอบหาแรงลอยตัวตามข้อ ๙ (๑) และทดสอบความแข็งแรงตามข้อ ๙ (๒) โดยจะต้องผ่านการทดสอบทุกตัว หากพบว่าเสื้อชูชีพในรอบการผลิตใดไม่ได้ผ่านการทดสอบ ให้ถือว่าเสื้อชูชีพในรอบการผลิตนั้นไม่ได้รับใบสำคัญรับรองและไม่ได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่าให้ใช้ในเรือได้

 

ข้อ ๑๓  การทดสอบเสื้อชูชีพตามข้อบังคับนี้ จะต้องกระทำโดยผู้ทดสอบมาตรฐานเสื้อชูชีพที่กรมเจ้าท่ายอมรับและได้รับหนังสือรับรองจากกรมเจ้าท่า

ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการยอมรับและออกหนังสือรับรองผู้ทดสอบมาตรฐานเสื้อชูชีพ รวมถึงกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการดำเนินการของผู้ทดสอบภายหลังได้รับหนังสือรับรอง

ให้หนังสือรับรองที่ออกให้ครั้งแรกมีอายุ ๑ ปี และหนังสือรับรองที่ออกให้ตั้งแต่ครั้งที่สองเป็นต้นไปให้มีอายุ ๓ ปี

 

ข้อ ๑๔  อัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบสำคัญรับรองอุปกรณ์ประจำเรือให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๕ ของข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๑๕ ให้เสื้อชูชีพที่มีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้ เป็นเสื้อชูชีพที่ใช้ในเรือเดินภายในประเทศได้

(๑) มาตรฐาน ISO 12402-4 (Level 100) ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization)

(๒) มาตรฐาน ISO 12402-3 (Level 150) ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization)

(๓) มาตรฐานเสื้อชูชีพตามข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea (SOLAS), 1974, as amended) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ(International Maritime Organization (IMO))

 

ข้อ ๑๖  เรือที่ได้รับใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือก่อนที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับให้สามารถใช้เสื้อชูชีพที่มีอยู่เดิมในเรือแต่ยังไม่ได้รับอนุมัติหรือผ่านการรับรองตามข้อบังคับนี้ได้จนถึงกำหนดดังนี้

(๑) เรือโดยสาร ให้ใช้เสื้อชูชีพที่มีอยู่เดิมได้จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐และสามารถใช้ต่อไปได้จนกว่าใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือมีกำหนดสิ้นอายุ

(๒) เรือที่มิใช่เรือโดยสาร ให้ใช้เสื้อชูชีพที่มีอยู่เดิมได้จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และสามารถใช้ต่อไปได้จนกว่าใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือมีกำหนดสิ้นอายุ

 

ข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือและใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือเดินทะเลเฉพาะเขตและเดินชายแดน พ.ศ. ๒๕๖๑[๑๒๘]

 

ข้อ ๒  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปริญสินีย์/ผู้จัดทำ

๒๓ เมษายน ๒๕๕๘

 

นุสรา/เพิ่มเติม

๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๙

 

ปวันวิทย์/เพิ่มเติม

๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐

 

วิวรรธน์/เพิ่มเติม

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑

 

 


[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๗๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘

[๒] หมวด ๑ ข้อ ๑ นิยามคำว่า “ใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทย” เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๓] หมวด ๑ ข้อ ๑ นิยามคำว่า “เรือใบ” เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๙

[๔] หมวด ๑ ข้อ ๑ นิยามคำว่า “เรือใบกล” เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๙

[๕] หมวด ก. ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๓๔

[๖] หมวด ก ข้อ ๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๗] หมวด ก ข้อ ๖ ข (๑๑) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๘] หมวด ก ข้อ ๖ ข (๑๒) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๙] หมวด ก ข้อ ๖ วรรคสอง ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๘) พ.ศ. ๒๕๕๔

[๑๐] หมวด ก ข้อ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๑๑] หมวด ก ข้อ ๑๐ (๑๐) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๑๒] หมวด ก ข้อ ๑๐ (๑๒) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๓] หมวด ก ข้อ ๑๐ (๑๓) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๔] หมวด ก ข้อ ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๓๘

[๑๕] หมวด ก ข้อ ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๔๒

[๑๖] หมวด ก ข้อ ๑๕ ก แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๑๗] หมวด ก ข้อ ๒๔ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๑๘] หมวด ข. ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๑๙] หมวด ข. ข้อ ๑ ๑.๔ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือและใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือเดินทะเลเฉพาะเขตและเดินชายแดนพ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๐] หมวด ข. ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๒๑] หมวด ข. ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๒๒] หมวด ข. ข้อ ๗ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือและใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือเดินทะเลเฉพาะเขตและเดินชายแดน พ.ศ. ๒๕๖๑

[๒๓] หมวด ข ข้อ ๘ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๒๔] หมวด ข ข้อ ๙.๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๙

[๒๕] ข้อ ๑๕ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๒๖] หมวด ค ข้อ ๑ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๗) พ.ศ. ๒๕๕๓

[๒๗] หมวด ค ข้อ ๒ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๗) พ.ศ. ๒๕๕๓

[๒๘] หมวด ค ข้อ ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๒๙] หมวด ง ข้อ ๘ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๓๐] หมวด ง ข้อ ๙ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๓๑] ข้อ ๗๕ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐

[๓๒] ข้อ ๗๖ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐

[๓๓] ข้อ ๗๗ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐

[๓๔] ข้อ ๗๘ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐

[๓๕] ข้อ ๗๙ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐

[๓๖] ข้อ ๘๐ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐

[๓๗] ข้อ ๘๑ ยกเลิกโดยข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสำคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสำหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐

[๓๘] หมวด ฉ ข้อ ๗ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๓๙] หมวด ฉ ข้อ ๘ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๔๐] หมวด ฉ ข้อ ๙ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๔๑] หมวด ฉ ข้อ ๑๐ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๔๒] หมวด ฉ ข้อ ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

[๔๓] หมวด ฉ ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

[๔๔] หมวด ฉ ข้อ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

[๔๕] หมวด ช ข้อ ๘.๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๙

[๔๖] หมวด ช. ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๓๓

[๔๗] หมวด ช ข้อ ๖ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือกลประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

[๔๘] หมวด ก ข้อ ๑๔ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๔๒) พ.ศ. ๒๕๕๘

[๔๙] หมวด ซ คนประจำเรือในเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง ข้อ ๑ ถึง ข้อ ๑๐ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๕๐] หมวด ซ ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๙) พ.ศ. ๒๕๕๔

[๕๑] หมวด ซ ข้อ ๒ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๒] หมวด ซ ข้อ ๓ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๓] หมวด ซ ข้อ ๔ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๔] หมวด ซ ข้อ ๕ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๕] หมวด ซ ข้อ ๖ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๖] หมวด ซ ข้อ ๗ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๗] หมวด ซ ข้อ ๘ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๘] หมวด ซ ข้อ ๙ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๕๙] หมวด ซ ข้อ ๑๐ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๖๐] ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (แบบ ตร. ๒๐ - ๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๖๑] THAILAND HARBOUR DEPARTMENT CERTIFICATE OF SURVEY (FORM  TR. 20 - 1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๖๒] อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองต่าง ๆ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๖๓] อัตราค่าธรรมเนียมเพื่อออกใบสำคัญรับรองการยกเว้นและใบสำคัญรับรองการจัดชั้นเรือของรัฐบาลไทย เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๖๔] อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๖๕] แผ่นป้ายแสดงการผ่านการตรวจเรือประจำปี แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๖๖] HARBOUR DEPARTMENT THAILAND PASSENGER SHIP SAFETY CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๖๗] THAILAND CARGO SHIP SAFETY CONSTRUCTION CERTIFICATE แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๖๘] HARBOUR DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE CARGO SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๖๙] MARINE DEPARTMENT CARGO SHIP SAFETY RADIO CERTIFICATE แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๗๐] HARBOUR DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE CARGO SHIP SAFETY RADIO CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๗๑] HARBOUR DEPARTMENT THAILAND EXAMPTION CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๗๒] HARBOUR DEPARTMENT CERTIFICATE OF THE FITNESS FOR THE CARRIAGE OF LIQUEFIED GASES IN BULK เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๗๓] HARBOUR DEPARTMENT BANGKOK THAI:AND MINIMUM SAFE MANNING CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๗๔] OFFICER RECORD M.V. เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙

[๗๕] MARINE DEPARTMENT THAI GOVERNMENT REGISTER FOR CLASSIFICATION OF SHIP แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๗๖] ตารางที่ ๑ การจัดคนประจำเรือและประกาศนียบัตรผู้ทำการฝ่ายเดินเรือ ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๗๗] ตารางที่ ๒ การจัดคนประจำเรือและประกาศนียบัตรผู้ทำการฝ่ายช่างกล ยกเลิกโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ กำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรสำหรับเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๙

[๗๘] แผนที่เขตสำหรับเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๔๑

[๗๙] THAILAND MARINE DEPARTMENT CERTIFICATE OF SURVEY (Form TR. 20 – 1A) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๐] THAILAND MARINE DEPARTMENT CERTIFICATE OF SURVEY (Form TR. 20 – 1B) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๑] ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (แบบ ตร.20-2ข) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๒] ใบสำคัญแสดงการตรวจเรือ เพื่อจดทะเบียนเรือไทยเพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๓] THAILAND CERTIFICATE OF SURVEY FOR SHIP REGISTRATION (Form TR 21) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๔] MARINE DEPARTMENT THAILAND PROVISIONAL CERTIFICATE OF REGISTRY เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๕] MARINE DEPARTMENT THAILAND CARGO SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๖] MARINE DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE CARGO SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE (Form R) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๗] MARINE DEPARTMENT THAILAND INTERMATIONAL LOAD LINE CERTIFICATE (1966) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๘] MARINE DEPARTMENT THAILAND INTERNATIONAL OIL POLLUTION PREVENTION CERTIFICATEเพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๘๙] MARINE DEPARTMENT THAILAND Supplyment to the International Oil Pollution Prevention Certificate (IOPP Certificate) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๐] MARINE DEPARTMENT THAILAND (FORM B Revised 1991) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๑] THAILAND TONNAGE CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๒] ใบสำคัญรับรองการบริหารงานเพื่อความปลอดภัย เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๓] หนังสือรับรองการปฏิบัติตาม DOCUMENT OF COMPLIANCE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๔] MARINE DEPARTMENT BANGKOK THAILAND (NON CONVENSION) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๕] MARINE DEPARTMENT THAILAND EXAMPTION CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๖] MARINE DEPARTMENT THAILAND CERTIFICATE OF TEST AND EXAMPTION OF DERRICK, WINCHES AND THERE ACCESSORY GEAR, BEFORE BEING TAKEN IN TO USE. เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๗] MARINE DEPARTMENT THAILAND CERTIFICATE OF THE FITNESS FOR THE CARRIAGE OF LIQUEFIED GASES IN BULK เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๘] MARINE DEPARTMENT THAILAND INTERNATIONAL POLLUTION PREVENTION FOR THE CARRIAGE OF NOXIOUS LIQUID SUBSTANCES in BULK เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๙๙] PASSENGER SHIP SAFETY CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๑๐๐] MARINE DEPARTMENT RECORD OF EQUIPMENT FOR THE PASSENGER SHIP SAFETY EQUIPMENT CERTIFICATE (Form P) เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๑๐๑] อัตราค่าธรรมเนียมการออกใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทย เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๑๐๒] THAILAND MARINE DEPARTMENT INTERNATIONAL SHIP SECURITY CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๐๓] THAILAND MARINE DEPARTMENT INTERIM INTERNATIONAL SHIP SECURITY CERTIFICATE เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๐๔] THE GOVERNMENT OF THAILAND MARINE DEPARTMENT เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๐๕] INDEX OF AMENDMENT TO THE SHIP’S CSR เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๐๖] THE GOVERNMENT OF THAILAND MARINE DEPARTMENT Amendments to the Continuous Synopsis Record (CSR) for the ship with IMO Number เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๐๗] Amendments to the Continuous Synopsis Record (CSR) for the ship with IMO Number: .............................. เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๐๘] อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการออกใบสำคัญรับรองการรักษาความปลอดภัยของเรือระหว่างประเทศ เพิ่มโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๔๗

[๑๐๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗/ตอนที่ ๓๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘/๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓

[๑๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๑๒/หน้า ๑๑๗๙/๕ ธันวาคม ๒๕๓๔

[๑๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนที่ ๕๒ ก/หน้า ๑๖/๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๘

[๑๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๕๔ ก/หน้า ๓๐/๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๙

[๑๑๓] กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๔๖

[๑๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๗๙ ก/หน้า ๒๗/๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๑

[๑๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๒ ก/หน้า ๓/๑๕ มกราคม ๒๕๔๒

[๑๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๔ ก/หน้า ๑๑/๘ มีนาคม ๒๕๔๒

[๑๑๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๓๓/๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖

[๑๑๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๑/๒๓ กันยายน ๒๕๔๗

[๑๑๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑๘/๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙

[๑๒๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๔๓ ก/หน้า ๑/๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐

[๑๒๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๒ ก/หน้า ๑๔/๑๔ มกราคม ๒๕๕๔

[๑๒๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๓/๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

[๑๒๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๓/๓๐ กันยายน ๒๕๕๔

[๑๒๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๒๒ ก/หน้า ๒๑/๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘

[๑๒๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒๕ ก/หน้า ๒๓/๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

[๑๒๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๙/๑ มิถุนายน ๒๕๕๙

[๑๒๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๒๘๘ ง/หน้า ๔๔/๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

[๑๒๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๓๘ ง/หน้า ๒๐/๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑