ตามที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
(International Maritime Organization: IMO) จึงมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญาและตราสารต่าง
ๆ
ที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะรัฐเจ้าของธงซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลเรือไทยทุกลำให้ครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นเรือเดินระหว่างประเทศหรือเรือภายในประเทศ
ให้เกิดความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศกำหนด
เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจดังกล่าวเป็นไปอย่างเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๓๙
มาตรา ๑๕๘ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดีกรมเจ้าท่าจึงออกประกาศกำหนด
ให้มีระบบการตรวจสอบและกำกับการดำเนินการตรวจเรือและออกใบสำคัญรับรองไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือ กรมเจ้าท่า หรือโดยสถาบันการตรวจเรือและองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า
(Recognized Organization : RO) เพื่อให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของประมวลว่าด้วยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ (Code for Recognized Organizations : RO Code) ตามมติคณะกรรมการด้านความปลอดภัยทางทะเล ที่ 349 (92)
และมติคณะกรรมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่ 237 (65) และที่แก้ไขเพิ่มเติม (Resolution MSC. 349 (92) and MEPC. 237 (65) as amended) และประมวลข้อบังคับว่าด้วยการอนุวัติการตราสารขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
((IMO Instruments Implementation Code : III Code)ตามข้อมติสมัชชา (Resolution A.1070 (28) as amended) และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับเรือภายใต้ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือไทย (Flag State Supplementary Survey) ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. 2564 รวมถึงเรือไทยอื่นทุกลำที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาและตราสารระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ดังนี้
(๑)
อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และ
ที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of
Life at Sea (SOLAS), 1974, as amended :
SOLAS 1974)
(๒) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. ๑๙๖๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Load Lines 1966, as amended : LL 1966)
(๓) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. ๑๙๗๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๘ และพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๙๗ (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, 1973, as modified by of the1978 and 1997 Protocols as amended : MARPOL 73/78)
(๔) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม
การออกประกาศนียบัตร และ
การเข้ายามของคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๗๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Standards of Training, Certification and
Watchkeeping for Seafarers, 1978, as amended : STCW 1978)
(๕) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการวัดขนาดตันเรือ ค.ศ. ๑๙๖๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Tonnage Measurement of Ships, 1969, as amended : TONNAGE 1969)
(๖) อนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (Convention on the International Regulations for Preventing Collisions at Sea, 1972, as amended : COLREG 1972)
(๗)
อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายอันเกิดจาก มลพิษของน้ำมัน ค.ศ. ๑๙๙๒ (International Convention on Civil Liability for
Oil Pollution Damage 1992 :
CLC 1992)
(๘) อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. ๒๐๐๖ (Maritime Labour Convention : MLC 2006)
(๙) อนุสัญญาระหว่างประเทศอื่นใดที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีหลังจากประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 3 ในการตรวจควบคุมเรือไทย (Flag State Supplementary Survey) ของเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ให้ดำเนินการตามระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือไทย (Flag State Supplementary Survey) ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. 2564
ข้อ 4 ให้เรือไทยอำนวยความสะดวกและจัดเตรียมเรือเพื่อรองรับการตรวจเรือตามประกาศฉบับนี้