บันทึกความร่วมมือด้านอุทกศาสตร์ และด้านเครื่องช่วยการเดินเรือ ระหว่างกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ ทำขึ้น ณ กรมเจ้าท่า เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ระหว่าง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม โดยนายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมเจ้าท่า สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๗๘ ถนนโยธา เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐ ฝ่ายหนึ่ง กับ กองทัพเรือโดยพลเรือโทคมสัน กลิ่นสุคนธ์ เจ้ากรมอุทกศาสตร์ ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ ตามอนุมัติกองทัพเรือ สำนักงานตั้งอยู่ที่ พระราชวังเดิม ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๖๐ อีกฝ่ายหนึ่ง กับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้มีอำนาจลงนาม สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๔๔๔ ถนนท่าเรือ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๑๐ อีกฝ่ายหนึ่ง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการสายงานปฏิบัติการ ๓ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๖๑๘ ถนนนิคมมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐ อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสี่ฝ่ายตกลงทำบันทึกความร่วมมือกันโดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ วัตถุประสงค์
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) ของประเทศไทย กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ฐานะรัฐชายฝั่ง (Coastal State) ของประเทศไทยจะร่วมมือกันในการบริการด้านอุทกศาสตร์ และด้านเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างกันให้สอดคล้อง และเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 as amended : SOLAS 1974) รวมถึงให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎและระเบียบ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๒ คำนิยาม
๒.๑ การบริการด้านอุทกศาสตร์ (Hydrographic Services) หมายถึง การสำรวจอุทกศาสตร์ การจัดทำแผนที่เดินเรือและแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์ การรวบรวม จัดพิมพ์ เผยแพร่ และปรับปรุงข้อมูลทางอุทกศาสตร์ที่จำเป็นให้ทันสมัยเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ อีกทั้งให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา SOLAS 1974
๒.๒ เครื่องช่วยการเดินเรือ (Aids to Navigation) หมายถึง อุปกรณ์ ระบบ หรือการให้บริการที่อยู่ภายนอกตัวเรือ ซึ่งได้รับการออกแบบและใช้สำหรับเพิ่มความปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพของการ เดินเรือหรือการจราจรทางน้ำ ทั้งนี้อาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น ได้แก่ เครื่องหมายทางเรือ เครื่องหมายการเดินเรือ และเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ
๒.๓ อนุสัญญา SOLAS 1974 หมายถึง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเลค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 as amended: SOLAS 1974)
๒.๔ หน่วยงานที่รับผิดชอบ (Competence Authority) หมายถึง หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลมาตรฐานการปฏิบัติที่กำหนดโดยองค์การอุทกศาสตร์สากล (International Hydrographic Organization: IHO) และสมาคมประภาคารและเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างประเทศ(International Association of Marine Aids to Navigation and Lighthouse Authorities : IALA)
ข้อ ๓ ขอบเขตความร่วมมือ
กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตกลงร่วมมือกันในการบริการด้านอุทกศาสตร์และด้านเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างกัน ภายใต้กรอบภารกิจ หน้าที่ อำนาจและความรับผิดชอบที่มีของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้
๓.๑ ด้านอุทกศาสตร์
๓.๑.๑ ดำเนินการสำรวจอุทกศาสตร์ และนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทางน้ำ ขุดลอกทางเดินเรือติดตั้ง จัดวาง สิ่งปลูกสร้างในน่านน้ำไทย นำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกันทำให้มั่นใจได้ว่ามีการดำเนินการสำรวจอุทกศาสตร์ตามมาตรฐานองค์การอุทกศาสตร์สากล (International Hydrographic Organization: IHO) ที่เพียงพอตามความต้องการในการเดินเรืออย่างปลอดภัย โดยขอบเขตความรับผิดชอบการสำรวจอุทกศาสตร์ ตามภาคผนวก ก-๑ มาตรฐานการสำรวจอุทกศาสตร์สำหรับจัดทำแผนที่เดินเรือตามภาคผนวก ก-๒ กระบวนการปฏิบัติงานสำรวจอุทกศาสตร์สำหรับจัดทำแผนที่เดินเรือ ตามภาคผนวก ก-๓ และคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานสำรวจอุทกศาสตร์สำหรับจัดทำแผนที่เดินเรือ ตามภาคผนวก ก-๔
๓.๑.๒ ดำเนินการสร้างแผนที่เดินเรือ (Nautical Chart) จัดทำหนังสือนำร่อง (Sailing Direction) ทำเนียบไฟและทุ่น (List of Lights and Buoys) มาตราน้ำ (Tide Tables) และบรรณสาร การเดินเรือ (Nautical Publication) อื่น ๆ ที่เพียงพอต่อความปลอดภัยในการเดินเรือ โดยขอบเขตความรับผิดชอบการสร้างแผนที่เดินเรือตามภาคผนวก ข-๑ มาตรฐานการสร้างแผนที่เดินเรือตามภาคผนวก ข-๒ กระบวนการการสร้างแผนที่เดินเรือ ตามภาคผนวก ข-๓ และคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานการสร้างแผนที่เดินเรือตามภาคผนวก ข-๔
๓.๑.๓ ออกประกาศชาวเรือแจ้งการปรับปรุงข้อมูลแผนที่เดินเรือ และบรรณสารการเดินเรืออย่างสม่ำเสมอ และจัดให้มีระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริการด้านอุทกศาสตร์โดยขอบเขตความรับผิดชอบการออกประกาศชาวเรือตามภาคผนวก ค-๑ มาตรฐานการออกประกาศชาวเรือตามภาคผนวก ค-๒ กระบวนการออกประกาศชาวเรือตามภาคผนวก ค-๓ และคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานด้านการออกประกาศชาวเรือภาค ตามผนวก ค-๔
๓.๒ ด้านเครื่องช่วยการเดินเรือ
๓.๒.๑ ดำเนินการด้านเครื่องช่วยการเดินเรือ
มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล และปรึกษาหารือในการดำเนินการปฏิบัติ ติดตั้ง จัดวางเครื่องช่วยการเดินเรือ
รวมทั้งมีหลักเกณฑ์การพิจารณาในการติดตั้งให้เพียงพอและเหมาะสมตามมาตรฐานของสมาคมประภาคารและเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างประเทศ
(International
Association of Marine Aids to Navigation and Lighthouse Authorities : IALA) หรือองค์การประภาคารและเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างประเทศที่อาจมีการจัดตั้งขึ้นใหม่
ทั้งการดำเนินการโดยประเทศไทยในฐานะรัฐชายฝั่ง หรือดำเนินการร่วมกับรัฐชายฝั่งอื่น
ทั้งนี้ในการจัดวางติดตั้งเครื่องช่วยการเดินเรือ ให้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ปริมาณ ความหนาแน่น
ระดับความเสี่ยงของการจราจรในพื้นที่โดยหลักสำคัญของการดำเนินการติดตั้ง จัดวางเครื่องช่วยการเดินเรือ
ในน่านน้ำไทย ชายฝั่งหรือบนเกาะของประเทศไทย ให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างกรมเจ้าท่า กับ กรมอุทกศาสตร์
ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๕ เรื่อง
กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบและการประสานงานเกี่ยวกับงานเครื่องช่วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยการดำเนินการด้านเครื่องช่วยการเดินเรือให้เป็นไปตามขอบเขตความรับผิดชอบตามภาคผนวก
ง-๑ มาตรฐานการปฏิบัติงานด้านเครื่องช่วยการเดินเรือ ตามภาคผนวก ง-๒ กระบวนการด้านเครื่องช่วยการเดินเรือ ตามภาคผนวก ง-๓ และคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานด้านเครื่องช่วยการเดินเรือ
ตามภาคผนวก ง-๔
๓.๒.๒ ใช้ระบบทุ่นเครื่องช่วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยตามภูมิภาค A (Region A) เป็นระบบเดียวทั้งหมด รูปแบบ คุณลักษณะ สี ลักษณะสัญญาณไฟ เครื่องหมายพิเศษที่ส่งสัญญาณเสียง คลื่นความถี่ที่ติดตรึงบนเครื่องช่วยการเดินเรือ ดำเนินการตามคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติ (Recommendation and Guideline) ของสมาคมประภาคารและเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างประเทศ (IALA) หรือองค์การประภาคารและเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างประเทศที่อาจมีการจัดตั้งขึ้นใหม่ ที่อ้างอิงไว้ในอนุสัญญา SOLAS 1974 ตามหลักเกณฑ์ของสมาคมประภาคารและเครื่องช่วยการเดินเรือระหว่างประเทศ (IALA Maritime Buoyage System)
๓.๒.๓ ดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันพร้อมทั้งออกประกาศแจ้งให้ชาวเรือรับทราบตามช่องทางสื่อสารของแต่ละหน่วยงานที่มีอยู่
๓.๒.๔ กรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลการส่งสัญญาณแสดงตำแหน่งเครื่องช่วยการเดินเรือซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประมวลระบบภาครับสัญญาณที่มีการติดตั้งไว้บนเรือให้ดำเนินการได้ภายหลังที่มีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว
๓.๓ ด้านการพัฒนาบุคลากร
พัฒนาและเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านอุทกศาสตร์และเครื่องช่วยการเดินเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
๓.๔ ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
ข้อ ๔ คณะกรรมการบริหารบันทึกความร่วมมือ
๔.๑ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารบันทึกความร่วมมือภายใน ๖๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนามของทั้ง ๔ ฝ่าย เพื่อทำหน้าที่บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความร่วมมือ รวมถึงพิจารณาแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน
๔.๒ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะร่วมกันทบทวนบันทึกความร่วมมือนี้ผ่านการประชุมระหว่างคณะกรรมการบริหารบันทึกความร่วมมือ อย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง หรือตามความเหมาะสมเพื่อให้การปฏิบัติสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและเป็นปัจจุบัน
๔.๓ ให้กรมเจ้าท่าและกองทัพเรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารบันทึกความร่วมมือ ทั้งนี้ ให้ประธานฯ ดำรงตำแหน่งโดยมีกำหนดวาระคราวละ ๒ ปี
ข้อ ๕ การแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกความร่วมมือ
การแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ สามารถกระทำได้โดยความเห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย โดยจัดทำเป็นบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมแนบท้าย และให้ถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกความร่วมมือฉบับนี้
ข้อ ๖ การมีผลใช้บังคับ และการสิ้นสุด
บันทึกความร่วมมือฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความร่วมมือเป็นต้นไป โดยอาจตกลงเป็นหนังสือเพื่อยุติหรือสิ้นสุดบันทึกความร่วมมือให้ประธานฯ ทราบ โดยความเห็นชอบทั้งสี่ฝ่าย
บันทึกความร่วมมือนี้ทำขึ้นเป็น ๔ ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน ทั้งสี่ฝ่ายได้อ่านและเข้าใจข้อความโดยละเอียดแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญและต่างยึดถือไว้ฝ่ายละ ๑ ฉบับ