ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
พระราชบัญญัติ
เริ่มใช้บังคับ : 6 เม.ย. 2559

พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558

Maritime Labour Act B.E. 2558, as amended


พระราชบัญญัติ

แรงงานทางทะเล

พ.ศ. ๒๕๕๘

                 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเล

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๘”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ปกติใช้ในการเดินทะเลที่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ แต่มิให้หมายความรวมถึง

(๑) เรือที่ใช้เพื่อทำการประมงหรือเรืออื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมง

(๒) เรือที่ต่อแบบประเพณีดั้งเดิม

(๓) เรือของทางราชการทหาร

(๔) เรืออื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“คนประจำเรือ” หมายความว่า ผู้ซึ่งเจ้าของเรือจ้างหรือมอบหมายให้ทำหน้าที่ประจำอยู่ในเรือโดยได้รับค่าจ้าง แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งทำงานในเรือเป็นการชั่วคราว

“เจ้าของเรือ” หมายความว่า

(๑) ผู้มีกรรมสิทธิ์ในเรือ

(๒) ผู้เช่าซื้อเรือ

(๓) ผู้เช่าเรือเปล่า

(๔) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)

(๕) ผู้ซึ่งบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) มอบหมายให้เป็นผู้จัดหาคนประจำเรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ซึ่งมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนประจำเรือที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม

“นายเรือ” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ควบคุมสูงสุดในเรือ

“ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ” หมายความว่า สัญญาจ้างงานหรือข้อตกลงซึ่งกำหนดรายละเอียดตามที่พระราชบัญญัตินี้กำหนด และให้หมายความรวมถึงข้อตกลงที่เกิดจากการเจรจาต่อรองของคนประจำเรือและเจ้าของเรือ

“ตันกรอสส์” หมายความว่า หน่วยที่ใช้กำหนดขนาดของเรือที่คำนวณได้ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

“ใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล” หมายความว่า เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีเพื่อรับรองสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือว่าได้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

“ใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล” หมายความว่า เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงข้อกำหนดและมาตรการปฏิบัติของเจ้าของเรือเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการแรงงานทางทะเล

“เวลาทำงานปกติ” หมายความว่า เวลาที่กำหนดให้คนประจำเรือทำงานตามปกติ

“วันหยุด” หมายความว่า วันที่กำหนดให้คนประจำเรือหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณีหรือหยุดประจำปี

“วันลา” หมายความว่า วันที่คนประจำเรือลาตามพระราชบัญญัตินี้

“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่เจ้าของเรือและคนประจำเรือตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาสำหรับเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่คนประจำเรือทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่เจ้าของเรือจ่ายให้แก่คนประจำเรือในวันหยุดและวันลาที่คนประจำเรือมิได้ทำงาน แต่มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

“ค่าจ้างในวันทำงาน” หมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ

“อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือ” หมายความว่า อัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด

“ชั่วโมงการทำงาน” หมายความว่า เวลาในช่วงที่คนประจำเรือได้รับการกำหนดให้ทำงานซึ่งหมายความรวมถึง เวลาทำงานปกติ การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด

“ชั่วโมงการพักผ่อน” หมายความว่า เวลานอกเหนือจากชั่วโมงการทำงาน ซึ่งไม่รวมถึงการหยุดพักในระยะเวลาสั้น ๆ จากการทำงาน

“การทำงานล่วงเวลา” หมายความว่า การทำงานนอกหรือเกินชั่วโมงการทำงานปกติ หรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่เจ้าของเรือและคนประจำเรือตกลงกันตามพระราชบัญญัตินี้ในวันทำงานหรือวันหยุด แล้วแต่กรณี

“ค่าล่วงเวลา” หมายความว่า เงินที่เจ้าของเรือจ่ายให้แก่คนประจำเรือเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันที่ได้ทำงาน

“จัดหางาน” หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อคัดเลือกและบรรจุคนประจำเรือ หรือหาคนประจำเรือให้แก่เจ้าของเรือ โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการหรือไม่ก็ตาม และให้หมายรวมถึงการเรียกเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อคัดเลือกและบรรจุคนประจำเรือ

“ค่าบริการ” หมายความว่า เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ให้เป็นค่าตอบแทนการจัดหางาน

“ค่าใช้จ่าย” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน

“ใบอนุญาตจัดหางาน” หมายความว่า ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ

“ผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน” หมายความว่า ผู้จัดหางานซึ่งได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อทำงานเป็นคนประจำเรือ

“ตัวแทนจัดหางาน” หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้รับใบอนุญาตจัดหางานจดทะเบียนให้เป็นตัวแทนจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานจัดหางานของผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน

“คนหางาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งประสงค์จะทำงานเป็นคนประจำเรือ

“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน

“ท่าเรือ” หมายความว่า ธุรกิจเกี่ยวกับท่าเรือ และให้หมายความรวมถึงอู่เรือและกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นส่วนประกอบกับท่าเรือ

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔  การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

เจ้าของเรือต้องจัดให้มีการคุ้มครองด้านประกันสังคมและเงินทดแทนโดยให้คนประจำเรือได้รับสิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด

 

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการของกระทรวงนั้น

กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

บททั่วไป

                 

 

มาตรา ๖  กรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะนำมาปรับใช้ ให้นำหลักจารีตประเพณีในการทำงานของคนประจำเรือ จารีตประเพณีในการเดินเรือทางทะเลหรือข้อกำหนดหรือมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง มาบังคับตามแต่ละกรณี

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าของเรือต้องกระทำการทั้งปวงตามธรรมดาและตามสมควรที่จะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบอาชีพเดินเรือทางทะเล

 

มาตรา ๗  การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่คนประจำเรือหรือคนที่ทำงานบนเรือพึงได้ตามกฎหมายอื่น

 

มาตรา ๘  หนี้ที่เกิดจากการที่เจ้าของเรือต้องจ่ายเงินแก่คนประจำเรือและหนี้ที่เจ้าของเรือต้องชำระตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของเจ้าของเรือในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา ๙  ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เจ้าของเรือต้องแจ้งการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เจ้าของเรือแจ้งด้วยตนเอง โดยทางไปรษณีย์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๐  ในกรณีที่เจ้าของเรือต้องจัดให้มีเอกสารตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าของเรือจัดทำเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

มาตรา ๑๑  ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เจ้าของเรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้เจ้าของเรือเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น

 

มาตรา ๑๒  ให้เจ้าของเรือจัดให้มีสำเนาอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๔๙ และพระราชบัญญัตินี้รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไว้บนเรือ

 

มาตรา ๑๓  เจ้าของเรือต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนประจำเรือเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง

 

มาตรา ๑๔  บรรดาคดีที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือ หรือทายาทหรือระหว่างบุคคลดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ อันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน

 

หมวด ๒

เงื่อนไขในการทำงานบนเรือ

                 

 

มาตรา ๑๕  ห้ามเจ้าของเรือให้บุคคลอายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ทำงานบนเรือ

 

มาตรา ๑๖  ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือซึ่งอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ทำงานในเวลากลางคืน เว้นแต่เป็นการฝึกอบรมที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือเป็นการฝึกอบรมตามตำแหน่งหน้าที่ที่คนประจำเรือต้องทำในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งต้องไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนประจำเรือโดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมาย  ทั้งนี้ การทำงานเวลากลางคืนต้องมีระยะเวลาอย่างน้อยเก้าชั่วโมง โดยเริ่มต้นก่อนเที่ยงคืนและสิ้นสุดหลังจากเวลาห้านาฬิกาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๑๗  ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือซึ่งอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยของคนประจำเรือตามประเภทของงานที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๘  ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานบนเรือ โดยที่คนประจำเรือไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่ามีความพร้อมด้านสุขภาพในการทำงานบนเรือ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

ใบรับรองแพทย์แสดงว่าคนประจำเรือมีความพร้อมด้านสุขภาพในการทำงานบนเรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๙  ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานบนเรือ เว้นแต่คนประจำเรือได้รับการฝึกอบรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

หมวด ๓

การจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ

                 

 

มาตรา ๒๐  ห้ามผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การขออนุญาต การอนุญาต และการออกใบอนุญาตจัดหางาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๑  ผู้ขออนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๓) ไม่เป็นผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจัดหางานไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดหางาน ไม่เป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้จัดการของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน และไม่เป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้จัดการของนิติบุคคลอยู่ในขณะที่นิติบุคคลนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดหางาน ตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) ไม่เป็นผู้รับใบอนุญาต ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตไม่เป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้จัดการของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต และไม่เป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้จัดการของนิติบุคคลอยู่ในขณะที่นิติบุคคลนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน

(๕) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๖) ไม่เป็นผู้มีหรือเคยมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

(๗) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดที่กฎหมายบัญญัติให้ถือเอาการกระทำโดยทุจริตเป็นองค์ประกอบ หรือในความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตจัดหางานเป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องมีสัญชาติไทยโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น ต้องมีกรรมการที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดและมีผู้จัดการซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งด้วย

 

มาตรา ๒๒  ใบอนุญาตจัดหางานให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตจัดหางาน

ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจัดหางาน ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตจัดหางานสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เมื่อได้ยื่นคำขอดังกล่าวแล้วให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่านายทะเบียนจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจัดหางานนั้น

การขอต่ออายุใบอนุญาตจัดหางานและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๓  ในกรณีที่ใบอนุญาตจัดหางานชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลายให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานยื่นคำขอใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการชำรุด สูญหายหรือถูกทำลาย

การขอและการออกใบแทนใบอนุญาตจัดหางาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๔  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานต้องแสดงใบอนุญาตจัดหางานไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตจัดหางาน

 

มาตรา ๒๕  สำนักงานจะต้องอยู่ในที่ตั้งที่เป็นสัดส่วน เปิดเผย มีหลักแหล่งที่แน่นอนและไม่เป็นสถานที่ต้องห้ามตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด

 

มาตรา ๒๖  ห้ามผู้รับใบอนุญาตจัดหางานย้ายสำนักงานหรือตั้งสำนักงานชั่วคราว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด

 

มาตรา ๒๗  ในกรณีผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่เป็นนิติบุคคลประสงค์จะเปลี่ยนผู้จัดการให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด

 

มาตรา ๒๘  ก่อนที่จะออกใบอนุญาตจัดหางาน ผู้ขออนุญาตต้องวางหลักประกันอันสมควรเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการดำเนินการของผู้ขออนุญาต เป็นจำนวนเงินตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าล้านบาทวางไว้กับนายทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

การวางหลักประกัน การเก็บรักษาหลักประกัน การหักหลักประกัน การเปลี่ยนแปลงหลักประกัน การหักเงินจากหลักประกันชดใช้ให้แก่คนหางานและเจ้าของเรือในกรณีที่เกิดความเสียหาย การเรียกหลักประกันเพิ่ม และการขอรับหลักประกันคืน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่หลักประกันที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานวางไว้ตามวรรคหนึ่งลดลงเพราะถูกใช้จ่ายไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานวางหลักประกันเพิ่มจนครบจำนวนเงินที่กำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

 

มาตรา ๒๙  หลักประกันที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานวางไว้ตามมาตรา ๒๘ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตราบเท่าที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานยังมิได้เลิกประกอบธุรกิจจัดหางานที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเลิกประกอบธุรกิจจัดหางานแล้ว แต่ยังไม่พ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานไม่ขอรับหลักประกันคืนภายในห้าปีนับแต่วันที่เลิกประกอบธุรกิจจัดหางาน ให้หลักประกันดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน

 

มาตรา ๓๐  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนตัวแทนจัดหางานและลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดในกฎกระทรวง

ตัวแทนจัดหางานต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๑ (๑) ถึง (๗) และลูกจ้าง ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๑ (๓) ถึง (๗)  ทั้งนี้ ตัวแทนจัดหางานและลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานต้องไม่เป็นตัวแทนจัดหางานหรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานของผู้รับใบอนุญาตจัดหางานอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานในขณะเดียวกัน

ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานต้องแสดงทะเบียนตัวแทนจัดหางานและลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางาน ณ สำนักงาน เพื่อให้คนหางานสามารถตรวจสอบความเป็นตัวแทนจัดหางานและลูกจ้างดังกล่าวได้

ใบอนุญาตจัดหางานที่ออกให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานผู้ใด ให้คุ้มถึงตัวแทนจัดหางานและลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานซึ่งผู้รับใบอนุญาตจัดหางานผู้นั้นได้จดทะเบียนไว้ด้วย

การกระทำที่เกี่ยวกับการจัดหางานของตัวแทนจัดหางานและลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานซึ่งผู้รับใบอนุญาตจัดหางานได้จดทะเบียนไว้ ให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้รับใบอนุญาตจัดหางานด้วย

 

มาตรา ๓๑  เมื่อออกไปปฏิบัติงานนอกสำนักงาน ผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน ผู้จัดการ ตัวแทนจัดหางาน หรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน ผู้จัดการ ตัวแทนจัดหางาน หรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางาน ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด และให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกบัตร

ในกรณีที่บัตรประจำตัวชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน ผู้จัดการ ตัวแทนจัดหางาน หรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานยื่นคำขอใบแทนบัตรประจำตัวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลาย

การขอมีบัตร การออกบัตรประจำตัว และการออกใบแทนบัตรประจำตัว ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมการจัดหางานกำหนด

 

มาตรา ๓๒  ผู้จัดการ ตัวแทนจัดหางาน หรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางาน ซึ่งพ้นจากความเป็นผู้จัดการ ตัวแทนจัดหางาน หรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางาน ต้องส่งคืนบัตรประจำตัวแก่นายทะเบียนหรือผู้รับใบอนุญาตจัดหางานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พ้นจากความเป็นผู้จัดการตัวแทนจัดหางาน หรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางาน

ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานซึ่งได้รับบัตรประจำตัวคืนตามวรรคหนึ่ง ต้องส่งบัตรประจำตัวนั้นแก่นายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับบัตรประจำตัวคืน

 

มาตรา ๓๓  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานหรือตัวแทนจัดหางานต้องทำสัญญาจัดหางานกับเจ้าของเรือ ตามแบบที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด

ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานส่งสัญญาจัดหางานที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานหรือตัวแทนจัดหางานทำกับเจ้าของเรือต่ออธิบดีกรมการจัดหางาน ตลอดจนตัวอย่างข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือที่เจ้าของเรือจะทำกับคนหางาน และหลักฐานอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนดก่อนคนหางานไปทำงานบนเรือ

 

มาตรา ๓๔  ห้ามตัวแทนจัดหางานทำสัญญาจัดหางานกับเจ้าของเรือแทนผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน เว้นแต่จะได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนดจากผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน และผู้รับใบอนุญาตจัดหางานได้แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบแล้ว

การที่ตัวแทนจัดหางานมิได้รับมอบอำนาจจากผู้รับใบอนุญาตจัดหางานหรือได้รับมอบอำนาจแต่หนังสือมอบอำนาจมิได้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด ไม่เป็นเหตุให้เจ้าของเรือหรือบุคคลภายนอกที่สุจริตเสื่อมสิทธิเพราะเหตุนั้น

 

มาตรา ๓๕  ห้ามผู้รับใบอนุญาตจัดหางานเรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานเว้นแต่ค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้

(๑) ค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองแพทย์

(๒) ค่าหนังสือคนประจำเรือที่กรมเจ้าท่าออกให้แก่คนประจำเรือ

(๓) ค่าหนังสือเดินทาง หรือเอกสารที่ใช้สำหรับการเดินทาง  ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าตรวจลงตราเข้าประเทศ

(๔) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ให้เจ้าของเรือเป็นผู้รับผิดชอบค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดหางานตามวรรคหนึ่งค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่น นอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคสอง ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานเรียกหรือรับได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๖  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดให้มีสมุดทะเบียนคนหางาน บัญชี และเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจของตนตามแบบและรายการที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด

(๒) จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับการจัดหางานประจำเดือนตามแบบที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนดต่อนายทะเบียนภายในวันที่สิบของเดือนถัดไป

(๓) เก็บรักษาทะเบียนคนหางานที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับบรรจุงานไว้ไม่น้อยกว่าสองปีเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้

(๔) แจ้งเป็นหนังสือให้คนหางานทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของคนประจำเรือตามข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ ในช่วงก่อนหรือระหว่างการมอบหมายงานและให้คนหางานได้ตรวจสอบข้อตกลงดังกล่าวของตนก่อนและหลังลงนาม พร้อมทั้งส่งสำเนาอย่างน้อยจำนวนหนึ่งชุดให้ด้วย

เมื่อมีเหตุที่จะต้องลงในสมุดทะเบียนคนหางาน บัญชี หรือเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจของตนผู้รับใบอนุญาตจัดหางานต้องลงรายการเกี่ยวกับเหตุนั้นในสมุดทะเบียน บัญชี หรือเอกสารเช่นว่านั้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุจะต้องลงรายการนั้น

 

มาตรา ๓๗  ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานตรวจสอบว่าเจ้าของเรือได้จัดให้มีวิธีคุ้มครองคนประจำเรือซึ่งอยู่ในสภาพลำบาก ณ เมืองท่าต่างประเทศ ตามแบบที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด

กรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานตรวจสอบและชี้แจงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่

 

มาตรา ๓๘  ในกรณีที่คนหางานไม่ได้ทำงานตรงตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือและคนหางานไม่ประสงค์ที่จะทำงานนั้น ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานจัดการให้คนหางานเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยออกค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการเดินทางกลับของคนหางาน พร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีหน้าที่จะต้องจัดการดังกล่าว

ในกรณีที่เจ้าของเรือไม่ได้คนหางานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานหรือได้คนหางานแต่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน และเจ้าของเรือไม่ประสงค์ที่จะจ้างคนหางานนั้นผู้รับใบอนุญาตจัดหางานต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง ให้แก่เจ้าของเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าของเรือขอรับคืน และจัดการให้คนหางานเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยออกค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการเดินทางกลับของคนหางาน พร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีหน้าที่จะต้องจัดการดังกล่าว

ในกรณีที่คนหางานไม่ได้ทำงานตรงตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือแต่คนหางานไม่ประสงค์จะเดินทางกลับ หรือกรณีที่เจ้าของเรือได้คนหางานที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานแต่เจ้าของเรือประสงค์จะจ้างคนหางานต่อไป ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดการให้คนหางานดังกล่าวเดินทางกลับภูมิลำเนาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีหน้าที่จะต้องจัดการดังกล่าว

 

มาตรา ๓๙  เมื่อนายทะเบียนทราบว่ามีเหตุที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานจะต้องจัดการให้คนหางานเดินทางกลับตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง แต่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานยังมิได้ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว ให้นายทะเบียนประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือคนหางานนั้น

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดการให้คนหางานเดินทางกลับตามวรรคหนึ่งเป็นจำนวนเท่าใดให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานชดใช้เงินคืนภายในเวลาที่กำหนด ถ้าผู้รับใบอนุญาตจัดหางานมิได้ชดใช้เงินคืนภายในเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนหักเงินจำนวนดังกล่าวจากหลักประกันที่วางไว้ตามมาตรา ๒๘ เพื่อคืนให้แก่หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือคนหางานดังกล่าวได้

 

มาตรา ๔๐  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานมิได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และคนหางานได้ใช้จ่ายเงินเพื่อเป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นในการจัดการให้ตนเดินทางกลับภูมิลำเนา คนหางานมีสิทธิยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเพื่อขอรับเงินชดเชยค่าใช้จ่ายที่ตนต้องจ่ายไปได้ และถ้านายทะเบียนพิจารณาเห็นว่าคนหางานไม่ได้ทำงานตรงตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ และคนหางานนั้นได้ใช้จ่ายเงินเพื่อจัดการให้ตนเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานชดใช้เงินคืนภายในเวลาที่กำหนด ถ้าผู้รับใบอนุญาตจัดหางานมิได้ชดใช้เงินคืนภายในเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนหักเงินจำนวนดังกล่าวจากหลักประกันที่วางไว้ตามมาตรา ๒๘ เพื่อคืนให้แก่คนหางาน

 

มาตรา ๔๑  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานมิได้คืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าของเรือตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานชดใช้เงินคืนภายในเวลาที่กำหนด ถ้าผู้รับใบอนุญาตจัดหางานมิได้ชดใช้เงินคืนภายในเวลาที่กำหนดให้นายทะเบียนหักค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากหลักประกันที่วางไว้ตามมาตรา ๒๘ คืนให้แก่เจ้าของเรือ

 

มาตรา ๔๒  ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน การควบคุม และอัตราค่าธรรมเนียมมาใช้บังคับแก่การจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งให้นำบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานมาใช้บังคับกับการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๔

สภาพการจ้าง

                 

 

มาตรา ๔๓  เจ้าของเรือต้องจัดให้มีข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือเป็นหนังสือพร้อมลายมือชื่อของเจ้าของเรือและคนประจำเรือ โดยจัดทำเป็นคู่ฉบับจัดเก็บไว้บนเรือหนึ่งฉบับ และอีกฉบับหนึ่งให้คนประจำเรือเก็บไว้ พร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้

ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อและชื่อสกุล พร้อมคำนำหน้านามของคนประจำเรือ

(๒) วันเดือนปีเกิด และอายุของคนประจำเรือ

(๓) สถานที่เกิดของคนประจำเรือ

(๔) ที่อยู่ปัจจุบันของคนประจำเรือ

(๕) สถานที่และวันที่ทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

(๖) สถานที่และวันที่ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือมีผลบังคับ

(๗) ตำแหน่งหรืองานในหน้าที่ที่คนประจำเรือได้รับมอบหมาย

(๘) ชื่อและชื่อสกุล พร้อมคำนำหน้านามของเจ้าของเรือ กรณีเจ้าของเรือเป็นนิติบุคคลต้องระบุชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลด้วย

(๙) ที่อยู่ปัจจุบันของเจ้าของเรือ

(๑๐) ชื่อเรือ และสัญชาติของเรือ

(๑๑) เส้นทางหลักและท่าเรือปลายทางของการเดินเรือ ในกรณีที่ทำการตกลงไว้ว่าเป็นการเดินเรือเที่ยวเดียว

(๑๒) วันเริ่มทำงาน อัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือวิธีการคำนวณ

(๑๓) จำนวนวันหยุดประจำปีที่ได้รับค่าตอบแทน หรือวิธีการคำนวณ

(๑๔) สิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองการประกันสังคมและสุขภาพที่เจ้าของเรือเป็นผู้จัดหาให้กับคนประจำเรือ

(๑๕) สิทธิของคนประจำเรือในการได้รับการส่งตัวกลับ

(๑๖) ข้อตกลงที่ได้มาจากการร่วมเจรจาต่อรอง

(๑๗) วันสิ้นสุดหรือเงื่อนไขการสิ้นสุดของข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

(๑๘) อื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๔๔  ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ หรือสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือไม่มีกำหนดระยะเวลา เจ้าของเรือหรือคนประจำเรืออาจบอกเลิกข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือโดยบอกกล่าวล่วงหน้าให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ  ทั้งนี้ ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ไม่เกินสามสิบวัน

การเลิกข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ ให้เป็นไปตามที่คนประจำเรือและเจ้าของเรือตกลงกัน  ทั้งนี้ ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ไม่เกินสามสิบวัน

 

มาตรา ๔๕  หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เหตุฉุกเฉิน หรือเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างคนประจำเรือและเจ้าของเรือ หรือเหตุอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกาศกำหนดคนประจำเรือหรือเจ้าของเรืออาจบอกเลิกข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือน้อยกว่าเจ็ดวันหรือไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

การบอกเลิกข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือตามวรรคหนึ่ง คนประจำเรือไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

 

มาตรา ๔๖  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือเพื่อใช้บังคับแก่เรือที่ชักธงไทย เพื่อให้คนประจำเรือได้รับอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม

การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือ ให้คำนึงถึงมาตรฐานการครองชีพต้นทุนการประกอบกิจการ ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถทางธุรกิจ ผลิตภาพแรงงานและสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติในการจ้างงานของคนประจำเรือด้วย

 

มาตรา ๔๗  ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรา ๔๖ แล้ว ห้ามเจ้าของเรือจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศกำหนดให้แก่คนประจำเรือ

 

มาตรา ๔๘  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณค่าล่วงเวลา ในกรณีที่คนประจำเรือได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานหมายถึง ค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงที่ทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย

 

มาตรา ๔๙  ให้เจ้าของเรือจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาให้ถูกต้อง และตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่คนประจำเรือ

(๒) ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้าง นอกจาก (๑) ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่เจ้าของเรือและคนประจำเรือตกลงกัน

(๓) ค่าล่วงเวลา ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง

ในกรณีที่เจ้าของเรือเลิกจ้างคนประจำเรือ ให้เจ้าของเรือจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาตามที่คนประจำเรือมีสิทธิได้รับ ให้แก่คนประจำเรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

 

มาตรา ๕๐  ในกรณีที่เจ้าของเรือไม่จ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๔๙ ให้เจ้าของเรือจ่ายดอกเบี้ยให้แก่คนประจำเรือในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่เจ้าของเรือจงใจไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่ายเจ้าของเรือต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่คนประจำเรือร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

 

มาตรา ๕๑  เจ้าของเรือต้องจัดให้คนประจำเรือสามารถดำเนินการโอนเงินที่ได้รับทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับบุคคลตามที่คนประจำเรือกำหนด ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกัน โดยเจ้าของเรืออาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากคนประจำเรือได้ในอัตราที่จ่ายจริง

 

มาตรา ๕๒  เจ้าของเรือต้องจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลาให้แก่คนประจำเรือทุกครั้งที่มีการจ่าย โดยอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) วันและเวลาทำงาน

(๒) ผลงานที่ทำได้สำหรับคนประจำเรือซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(๓) อัตราค่าจ้าง จำนวนค่าจ้าง และค่าล่วงเวลา ที่คนประจำเรือแต่ละคนได้รับ

(๔) อัตราแลกเปลี่ยนเงิน กรณีที่ใช้เงินสกุลอื่นซึ่งแตกต่างจากที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ ให้เป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

มาตรา ๕๓  การจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาแก่คนประจำเรือ ให้เจ้าของเรือจ่าย ณ สถานที่ทำงานของคนประจำเรือ เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๕๔  ห้ามเจ้าของเรือหักค่าจ้างและค่าล่วงเวลา เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

(๑) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่คนประจำเรือต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้

(๒) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานหรือองค์กรของคนประจำเรือ

(๓) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่คนประจำเรือฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากคนประจำเรือ

(๔) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

การหักตาม (๒) (๓) และ (๔) ในแต่ละกรณีห้ามหักเกินร้อยละสิบและจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่คนประจำเรือมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๔๙ เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคนประจำเรือ

 

มาตรา ๕๕  ในกรณีที่เจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานล่วงเวลา ให้เจ้าของเรือจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่คนประจำเรือในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดสองห้าเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลา

 

มาตรา ๕๖  คนประจำเรือมีสิทธิลาขึ้นฝั่งได้ตามที่ได้ตกลงกับเจ้าของเรือ เว้นแต่กรณีลาขึ้นฝั่งด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกาศกำหนด

 

มาตรา ๕๗  ให้คนประจำเรือมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยได้รับค่าจ้างแต่ไม่เกินหนึ่งร้อยสามสิบวัน

 

มาตรา ๕๘  ให้เจ้าของเรือประกาศเวลาทำงานปกติให้คนประจำเรือทราบโดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันของคนประจำเรือซึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

 

มาตรา ๕๙  เจ้าของเรืออาจให้คนประจำเรือทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น แต่เมื่อรวมกับระยะเวลาการทำงานปกติตามมาตรา ๕๘ แล้วต้องไม่เกินวันละสิบสี่ชั่วโมงในรอบยี่สิบสี่ชั่วโมง และไม่เกินเจ็ดสิบสองชั่วโมงในรอบเจ็ดวัน

 

มาตรา ๖๐  ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยแก่เรือ หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือแก่เรือลำอื่นหรือบุคคลที่ประสบภัยพิบัติทางทะเล นายเรืออาจให้คนประจำเรือทำงานได้เท่าที่จำเป็นจนกว่าสถานการณ์ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ

กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้านายเรือให้คนประจำเรือทำงานในชั่วโมงการพักผ่อนให้จัดให้คนประจำเรือได้พักผ่อนชดเชยเวลาเหล่านั้นโดยเร็วที่สุด  ทั้งนี้ ให้นายเรือบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุผล และลงชื่อรับรองทุกครั้ง

 

มาตรา ๖๑  ในวันที่มีการทำงาน ให้เจ้าของเรือจัดให้คนประจำเรือมีเวลาพักระหว่างช่วงการทำงานในวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง  ทั้งนี้ เจ้าของเรือกับคนประจำเรืออาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงได้ แต่เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

เวลาพักระหว่างช่วงการทำงานไม่ถือเป็นชั่วโมงการทำงาน และไม่นับรวมเป็นชั่วโมงการพักผ่อนตามมาตรา ๖๒

 

มาตรา ๖๒  เจ้าของเรือต้องจัดให้คนประจำเรือมีชั่วโมงการพักผ่อนไม่น้อยกว่าสิบชั่วโมงในรอบยี่สิบสี่ชั่วโมง และไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบเจ็ดชั่วโมงในรอบเจ็ดวัน

ชั่วโมงการพักผ่อนสามารถแบ่งออกได้ไม่เกินสองช่วง หนึ่งในสองช่วงนี้ต้องมีระยะเวลาอย่างน้อยหกชั่วโมง และต้องมีระยะห่างระหว่างกันแต่ละช่วงไม่เกินสิบสี่ชั่วโมง

 

มาตรา ๖๓  คนประจำเรือซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อการคลอดและเลี้ยงดูบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน

ให้เจ้าของเรือจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่คนประจำเรือลาเพื่อการคลอดและเลี้ยงดูบุตรตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน

 

มาตรา ๖๔  คนประจำเรือที่เจ้าของเรือให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

(๑) งานที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยของเรือเดินทะเล สินค้า หรือคนในเรือเดินทะเล

(๒) งานที่ทำเพื่อช่วยเหลือชีวิตหรือผู้ประสบภัยพิบัติทางทะเล

(๓) งานพิเศษเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบของศุลกากร การป้องกันโรคติดต่อ หรือการตรวจสุขภาพอื่น ๆ

(๔) งานในช่วงเวลาพิเศษที่ต้องใช้เพื่อการเปลี่ยนเวรยามตามปกติ

 

มาตรา ๖๕  ให้เจ้าของเรือจัดวันหยุดประจำปีให้แก่คนประจำเรือ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามสิบวันโดยได้รับค่าจ้าง  ทั้งนี้ ให้เจ้าของเรือเป็นผู้กำหนดล่วงหน้า

ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานในวันหยุดประจำปี เว้นแต่เป็นกรณีฉุกเฉินโดยได้รับความยินยอมจากคนประจำเรือ เจ้าของเรืออาจให้คนประจำเรือทำงานในวันหยุดดังกล่าวได้ โดยเจ้าของเรือต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่คนประจำเรือเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในส่วนที่คำนวณจ่ายตามระยะเวลา

กรณีที่ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือมีระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ให้เจ้าของเรือคำนวณวันหยุดประจำปีให้ตามส่วน

 

หมวด ๕

การส่งตัวกลับ

                 

 

มาตรา ๖๖  คนประจำเรือมีสิทธิเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือสถานที่อื่นตามที่ตกลงกันโดยให้เจ้าของเรือจัดการหรือออกค่าใช้จ่ายใด ๆ ระหว่างการเดินทาง ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ครบกำหนดเวลาตามข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือในระหว่างเวลาที่คนประจำเรือทำงานอยู่ ณ สถานที่อื่นอันมิใช่สถานที่ทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

(๒) เจ้าของเรือบอกเลิกข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือก่อนครบกำหนดตามข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

(๓) เมื่อมีเหตุดังต่อไปนี้เกิดขึ้น

(ก) คนประจำเรือเจ็บป่วย บาดเจ็บ หรือมีสภาพร่างกายหรือจิตใจที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้

(ข) เมื่อเจ้าของเรือไม่สามารถดำเนินธุรกิจการเดินเรือต่อไป

(ค) เรือเดินทะเลอับปางหรือไม่อาจใช้การได้โดยสิ้นเชิง

(ง) เมื่อเรือจะมุ่งหน้าเข้าสู่เขตสงคราม

(จ) กรณีอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๖๗  เจ้าของเรือต้องจัดทำประกันภัยให้แก่คนประจำเรือทุกคนเกี่ยวกับการส่งตัวคนประจำเรือกลับตามมาตรา ๖๖ โดยมีมาตรฐานไม่น้อยกว่าการประกันภัยทางทะเลระหว่างประเทศ

การประกันภัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

มาตรา ๖๘  เจ้าของเรือไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางตามมาตรา ๖๖ ในกรณีเลิกข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ เนื่องจากคนประจำเรือได้กระทำความผิดต่อกฎหมายของรัฐเจ้าของธง หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

 

มาตรา ๖๙  ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้คนประจำเรือได้เดินทางกลับตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการกงสุลประกาศกำหนด

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้กรมการกงสุลหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายมีสิทธิไล่เบี้ยเพื่อค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปตามวรรคหนึ่งและค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าของเรือพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ได้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อส่งตัวคนประจำเรือกลับตามมาตรา ๖๖ รวมทั้งเข้ารับช่วงสิทธิจากเจ้าของเรืออันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นหลักประกันตามมาตรา ๖๗

สิทธิไล่เบี้ยหรือการรับช่วงสิทธิตามวรรคสอง ให้มีอายุความสิบปีนับแต่วันที่ได้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าว

 

หมวด ๖

ค่าสินไหมทดแทนกรณีเรือเสียหายหรือเรือจม

                 

 

มาตรา ๗๐  ในกรณีที่เรือเสียหายหรือเรือจม เจ้าของเรือต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้

(๑) คนประจำเรือได้รับบาดเจ็บอันเป็นผลมาจากเรือเสียหายหรือเรือจม

(๒) คนประจำเรือได้รับความเสียหายอันเป็นผลมาจากเรือเสียหายหรือเรือจม

(๓) คนประจำเรือว่างงานอันเป็นผลมาจากเรือเสียหายหรือเรือจม

กรณีตาม (๑) และ (๒) ให้คนประจำเรือเรียกเงินจากเจ้าของเรือได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นหรือเท่าที่ได้รับความเสียหายจริง

กรณีตาม (๓) ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่ากับค่าจ้างที่คนประจำเรือจะได้รับภายใต้ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ  ทั้งนี้ ไม่เกินสองเดือน

 

หมวด ๗

อัตรากำลัง

                 

 

มาตรา ๗๑  ให้เจ้าของเรือจัดหาคนประจำเรือมาทำงานในตำแหน่งหน้าที่บนเรือ ในจำนวนที่เพียงพอเหมาะสมกับปริมาณงาน ระยะเวลาการเดินเรือ ระยะทาง ประเภท และขนาดของเรือ เพื่อให้สามารถเดินเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยคำนึงถึงสภาพร่างกายของคนประจำเรือ และเส้นทางการเดินเรือ

การจัดอัตรากำลังสำหรับเรือเดินทะเลในแต่ละประเภทและขนาด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

หมวด ๘

มาตรฐานที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก อาหาร และโภชนาการบนเรือ

                 

 

มาตรา ๗๒  ให้เจ้าของเรือจัดให้มีที่พักอาศัยและสถานที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ห้องนอน

(๒) ห้องรับประทานอาหาร

(๓) ห้องอาบน้ำ

(๔) ห้องสุขา

(๕) ห้องนั่งเล่น

(๖) ห้องพักผ่อนระหว่างการทำงาน

(๗) ห้องพยาบาล

(๘) พื้นที่ว่างบนดาดฟ้าเรือ

(๙) ห้องทำงานสำหรับฝ่ายช่างกล

(๑๐) ห้องทำงานสำหรับฝ่ายเดินเรือ

(๑๑) อื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

นอกจากวรรคหนึ่งแล้ว ให้เจ้าของเรือจัดให้มีห้องประกอบศาสนกิจ หากมีความจำเป็นตามข้อกำหนดทางศาสนาของคนประจำเรือ

มาตรฐานที่พักอาศัยและสถานที่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๓  ให้เจ้าของเรือจัดให้มีบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐาน เหมาะสมจำเป็น และเพียงพอแก่คนประจำเรือ  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๔  ให้เจ้าของเรือจัดอาหารและน้ำดื่มที่มีคุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ และปริมาณที่เพียงพอต่อคนประจำเรือ โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม และศาสนาของคนประจำเรือโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากคนประจำเรือ

มาตรฐานการจัดอาหารและน้ำดื่มตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมอนามัยประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๕  ให้เจ้าของเรือจ้างงานคนประจำเรือในตำแหน่งคนครัวบนเรือที่รับผิดชอบในการจัดเตรียมอาหาร ซึ่งผ่านมาตรฐานการฝึกอบรมและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานประกาศกำหนด

ห้ามเจ้าของเรือมอบหมาย หรือจ้างงานคนประจำเรือในตำแหน่งคนครัวที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

 

มาตรา ๗๖  ให้เจ้าของเรือจัดให้คนประจำเรือที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานในแผนกจัดหาอาหารต้องผ่านมาตรฐานการฝึกอบรมที่เหมาะสม หรือมีคุณสมบัติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๗  ให้เจ้าของเรือจัดให้มีพื้นที่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมอาหารเพื่อให้สามารถจัดเตรียมอาหารได้อย่างถูกสุขลักษณะและถูกหลักโภชนาการ  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมอนามัยประกาศกำหนด

 

หมวด ๙

การจัดให้มีการรักษาพยาบาล การคุ้มครองต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของคนประจำเรือ

                 

 

ส่วนที่ ๑

การรักษาพยาบาลบนเรือและบนฝั่ง

                 

 

มาตรา ๗๘  เจ้าของเรือต้องจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการรักษาพยาบาลในห้องพยาบาลบนเรือ การฝึกอบรมการปฐมพยาบาล และแพทย์ หรือคนประจำเรือผู้ทำหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาล  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๙  ในกรณีที่คนประจำเรือประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้เจ้าของเรือจัดให้คนประจำเรือได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น

 

มาตรา ๘๐  เจ้าของเรือต้องจัดให้มีมาตรฐานการคุ้มครองสุขภาพของคนประจำเรือเพื่อให้ได้รับการรักษาสุขภาพบนเรือและบนฝั่งโดยทันที

มาตรฐานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดในกฎกระทรวง

 

ส่วนที่ ๒

ความรับผิดชอบของเจ้าของเรือต่อคนประจำเรือ

                 

 

มาตรา ๘๑  เจ้าของเรือต้องรับผิดชอบต่อคนประจำเรือในกรณี ดังต่อไปนี้

(๑) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการได้รับบาดเจ็บของคนประจำเรือที่ทำงานบนเรือซึ่งเกิดขึ้นนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่จนถึงกำหนดวันส่งตัวกลับ

(๒) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดให้ทำประกันภัยทางทะเล ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่คนประจำเรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพเป็นเวลานาน อันเนื่องมาจากการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากการทำงาน เพื่อให้มีหลักประกันการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

(ข) กรณีที่คนประจำเรือถูกละทิ้ง

(ค) กรณีอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด

(๓) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การแพทย์ การจัดหายาที่จำเป็น เครื่องมือในการบำบัดโรค ค่าอาหาร และการเช่าที่พักอาศัยในสถานที่อื่นนอกเหนือจากภูมิลำเนาของคนประจำเรือ จนกว่าคนประจำเรือจะหายจากการเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บ หรือจนกว่าจะมีการวินิจฉัยว่าการทุพพลภาพนั้นมีลักษณะถาวรจนไม่สามารถทำงานได้อีก ตามที่เจ้าของเรือกับคนประจำเรือได้ตกลงกัน  ทั้งนี้ ไม่น้อยกว่าสิบหกสัปดาห์ นับแต่วันที่ได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มเจ็บป่วย จนกว่าคนประจำเรือจะได้รับการส่งตัวกลับ เว้นแต่การเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บนั้นเกิดขึ้นนอกเหนือจากการปฏิบัติงานให้กับเจ้าของเรือ หรือเกิดจากการกระทำอันมิชอบของคนประจำเรือผู้นั้น หรือคนประจำเรือนั้นได้จงใจปกปิดความเจ็บป่วยหรือสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ขณะที่ทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

(๔) ค่าใช้จ่ายในการปลงศพและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในกรณีที่คนประจำเรือเสียชีวิตบนเรือหรือบนฝั่งในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ

(๕) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

ส่วนที่ ๓

การป้องกันอุบัติเหตุและการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย

                 

 

มาตรา ๘๒  เจ้าของเรือต้องจัดให้มีการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยบนเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๘๓  เจ้าของเรือต้องจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือและกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ  ทั้งนี้ ตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดในกฎกระทรวง

คนประจำเรือต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน และปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือที่เจ้าของเรือกำหนดไว้

 

มาตรา ๘๔  เจ้าของเรือต้องจัดให้คนประจำเรือได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อม ระหว่างที่อยู่บนเรือ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

มาตรา ๘๕  ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางทะเลอย่างร้ายแรงจนทำให้คนประจำเรือได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้เจ้าของเรือหรือนายเรือรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทันทีที่ทราบ

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

 

หมวด ๑๐

ใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล

                 

 

มาตรา ๘๖  เรือที่มีขนาดตั้งแต่ห้าร้อยตันกรอสส์ขึ้นไปที่เป็นเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ต้องมีใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล เพื่อแสดงว่าสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือบนเรือเป็นไปตามข้อกำหนดในใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเลซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๘๗  หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำขอรับใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล แบบใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล การออกใบรับรองชั่วคราว อายุและการต่ออายุใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล การตรวจสอบ ติดตาม และการเพิกถอนใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอุทธรณ์การออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล การต่ออายุ และการเพิกถอนใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๘๘  การตรวจเรือ การออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล และการสลักหลังใบรับรองอาจกระทำโดยผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า

การกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมอบอำนาจ การเพิกถอนการมอบอำนาจ วิธีการประเมินผลการดำเนินงาน และการประกาศรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดในกฎกระทรวง

 

หมวด ๑๑

การร้องเรียนบนเรือ

                 

 

มาตรา ๘๙  ให้เจ้าของเรือจัดให้มีเอกสารที่มีขั้นตอนการร้องเรียนอันเกี่ยวกับสภาพการจ้างสภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือตามพระราชบัญญัตินี้แก่คนประจำเรือ

ในกรณีที่คนประจำเรือได้ร้องเรียนตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของเรือดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งผลการตรวจสอบให้แก่คนประจำเรือทราบโดยเปิดเผยและไม่ชักช้า

การร้องเรียนดังกล่าวไม่ตัดสิทธิคนประจำเรือที่จะร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ เจ้าของธงหรือรัฐเจ้าของท่าเรือที่เรือเทียบท่าหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งคนประจำเรือนั้นมีสัญชาติ

ห้ามเจ้าของเรือบอกเลิกการจ้างงานหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลร้าย หรือเป็นผลให้คนประจำเรือหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ได้ร้องเรียน หรือให้การเป็นพยานตามวรรคสอง และวรรคสาม

 

หมวด ๑๒

สิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

                 

 

มาตรา ๙๐  คนประจำเรือหรือเจ้าของเรือมีสิทธิรวมตัวกัน เพื่อเจรจาต่อรองหรือเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและสภาพการทำงานตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๙๑  คนประจำเรือหรือเจ้าของเรือมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของตนเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

 

มาตรา ๙๒  สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองตามมาตรา ๙๐ และสิทธิในการรวมตัวเพื่อจัดตั้งองค์กรตามมาตรา ๙๑ ให้นำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แล้วแต่กรณี

การจัดให้มีหรือเปลี่ยนแปลงและดำเนินการเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้นำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

กรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ถือว่าคนประจำเรือเป็นลูกจ้าง เจ้าของเรือเป็นนายจ้างและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน แล้วแต่กรณี

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกประกาศ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้

สภาพการจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน ที่พักอาศัย สิ่งนันทนาการอาหารและการจัดหาอาหาร กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าของเรือหรือคนประจำเรืออันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน

 

มาตรา ๙๓  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน และการนัดหยุดงาน การกระทำอันไม่เป็นธรรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับคนประจำเรือและเจ้าของเรือ

 

มาตรา ๙๔  ห้ามเจ้าของเรือเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้คนประจำเรือไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่คนประจำเรือกระทำการ หรือกำลังจะกระทำการตามมาตรา ๙๐ และมาตรา ๙๑ หรือได้กระทำการหรือกำลังจะกระทำการชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง ดำเนินการฟ้องร้อง เป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือต่อศาล

เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อกำหนดให้มีหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของคนประจำเรือ ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานห้ามมิให้เจ้าของเรือเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานคนประจำเรือ ผู้แทนคนประจำเรือ กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกองค์กรของคนประจำเรือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่เจ้าของเรือ

(๒) จงใจทำให้เจ้าของเรือได้รับความเสียหาย

(๓) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของเรือ โดยเจ้าของเรือได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง เจ้าของเรือไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน  ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง

(๔) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ห้ามคนประจำเรือ ผู้แทนคนประจำเรือ กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกองค์กรของคนประจำเรือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ให้การสนับสนุน หรือก่อเหตุการณ์นัดหยุดงาน

 

หมวด ๑๓

พนักงานเจ้าหน้าที่

                 

 

มาตรา ๙๕  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ขึ้นไปบนเรือหรือเข้าไปในสำนักงานของเจ้าของเรือ และสถานที่ทำงานเพื่อตรวจสภาพ การทำงาน สภาพการจ้าง และสภาพความเป็นอยู่ สอบถามข้อเท็จจริง ถ่ายภาพ ถ่ายสำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับการจ้าง การจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และทะเบียนคนประจำเรือ ปูมเรือ เอกสารทะเบียนหนังสือรับรอง และข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง เก็บตัวอย่างวัสดุหรือผลิตภัณฑ์เพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน และกระทำการอื่นใดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในอันที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกเจ้าของเรือ คนประจำเรือ หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา

(๓) มีคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของเรือหรือคนประจำเรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อเจ้าของเรือหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้เจ้าของเรือหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกและไม่ขัดขวางการปฏิบัติตามหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่

การขอมีบัตรประจำตัว การออกบัตรประจำตัว และแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนด

การปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด

 

มาตรา ๙๖  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขึ้นไปบนเรือและตรวจเรือต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งสิทธิของคนประจำเรือที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือบนเรือ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าเจ้าของเรือปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้ อันเกี่ยวกับสิทธิของคนประจำเรือที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือบนเรือ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้นายเรือแก้ไขให้ถูกต้อง หรือดำเนินการอื่นใดตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้อย่างร้ายแรงหรืออาจเป็นเหตุให้คนประจำเรือได้รับอันตราย หรือเป็นการฝ่าฝืนที่ก่อให้เกิดเหตุร้ายแรง หรือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่เกิดขึ้นซ้ำ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งกักเรือไว้ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง หรือมีอำนาจให้นายเรือเสนอแผนแก้ไขได้ เมื่อนายเรือได้แก้ไขให้ถูกต้องหรือจัดทำแผนแก้ไขแล้ว ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบ โดยเจ้าของเรือต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบดังกล่าว หากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้วหรือให้ความเห็นชอบกับแผนแก้ไข ก็ออกคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยเรือได้

การตรวจเรือ การกักเรือ การเสนอแผนแก้ไข และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๙๗  ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางทะเลอย่างร้ายแรงจนทำให้คนประจำเรือได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและเปิดเผยผลการดำเนินการให้สาธารณชนทราบ

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด

 

มาตรา ๙๘  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

หมวด ๑๔

คณะกรรมการแรงงานทางทะเล

                 

 

มาตรา ๙๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการแรงงานทางทะเล” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการกงสุล อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแรงงานทางทะเล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง จำนวนสองคน ผู้แทนฝ่ายเจ้าของเรือ และผู้แทนฝ่ายคนประจำเรือ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง จำนวนฝ่ายละห้าคน เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแต่งตั้งข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนฝ่ายเจ้าของเรือและผู้แทนฝ่ายคนประจำเรือ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด

 

มาตรา ๑๐๐  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานทางทะเล

(๒) เสนอความเห็นในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล

(๓) พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) ให้ความเห็นชอบการส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีพิเศษขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

(๕) เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(๗) ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานทางทะเลและการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๙๓ และมาตรา ๙๔

(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือที่กฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

 

มาตรา ๑๐๑  ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการผู้แทนฝ่ายเจ้าของเรือ และกรรมการผู้แทนฝ่ายคนประจำเรือ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งกรรมการแทน และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทนเว้นแต่วาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้

ในกรณีที่กรรมการผู้แทนฝ่ายเจ้าของเรือหรือกรรมการผู้แทนฝ่ายคนประจำเรือพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งกรรมการในประเภทเดียวกันเป็นกรรมการแทนและให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้

ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

 

มาตรา ๑๐๒  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการผู้แทนฝ่ายเจ้าของเรือ และกรรมการผู้แทนฝ่ายคนประจำเรือพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ออกเพราะบกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๗) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๑๐๓  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม โดยต้องมีกรรมการผู้แทนฝ่ายเจ้าของเรือและกรรมการผู้แทนฝ่ายคนประจำเรืออย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคน

ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมสำหรับการประชุมคราวนั้น

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา ๑๐๔  การประชุมของคณะอนุกรรมการต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำมาตรา ๑๐๓ มาใช้บังคับกับการประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

หมวด ๑๕

บทกำหนดโทษ

                 

 

มาตรา ๑๐๕  ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของเจ้าของเรืออันเป็นข้อเท็จจริงตามปกติวิสัยของเจ้าของเรือจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงาน การแรงงานสัมพันธ์ ความปลอดภัยในการทำงานของคนประจำเรือหรือการสอบสวนหรือพิจารณาคดี

 

มาตรา ๑๐๖  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งจะต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคลถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใดหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

 

มาตรา ๑๐๗  เจ้าของเรือที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๐๘  เจ้าของเรือหรือนายเรือที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๕ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๘ มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ หรือมาตรา ๘๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๐๙  เจ้าของเรือที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๘๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๑๐  เจ้าของเรือที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๔๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๑๑  ผู้ใดจัดหางานโดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๑๒  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน ผู้จัดการ ตัวแทนจัดหางาน หรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางาน ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๑๓  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๑๔  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับสองเท่าของจำนวนเงินที่ต้องส่งเพิ่มจนครบวงเงินหลักประกัน

 

มาตรา ๑๑๕  บุคคลที่แสดงตนเป็นตัวแทนจัดหางานหรือลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหางานของผู้รับใบอนุญาตจัดหางานอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๑๖  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ฝ่าฝืนมาตรา ๓๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีและปรับห้าเท่าของค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกไว้

 

มาตรา ๑๑๗  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๑๘  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ลงรายการหรือทำรายงานตามมาตรา ๓๖ อันเป็นเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๑๙  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๒๐  ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๒๑  เจ้าของเรือที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๒๒  เจ้าของเรือ คนประจำเรือ หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๕ (๒) และ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บุคคลที่ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๙๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๒๓  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ความผิดตามมาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ และมาตรา ๑๑๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือคณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ดังต่อไปนี้

(๑) พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๒) คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบความผิดอื่น นอกจากที่กำหนดไว้ใน (๑)

คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นกรรมการ และผู้แทนกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดตามความเหมาะสม

หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้มาชำระค่าปรับแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

บทเฉพาะกาล

                 

 

มาตรา ๑๒๔  ใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเลที่ออกตามประกาศกระทรวงแรงงานว่าด้วยเรื่องมาตรฐานแรงงานทางทะเลอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ

 

มาตรา ๑๒๕  ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือที่ออกตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตนั้น

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากสภาพการจ้างงาน การทำงานบนเรือเดินทะเลมีลักษณะและสภาพของงานซึ่งมีความแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไปที่ต้องทำงานบนเรือเดินทะเลที่มีความเสี่ยงภัยทางทะเลและมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน ประกอบกับความสัมพันธ์ของคนทำงานบนเรือกับเจ้าของเรือบางส่วนมิได้มีความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไม่อาจให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างและคนประจำเรือให้ได้รับความเป็นธรรมและมีมาตรฐานและสภาพการจ้าง การทำงาน และความปลอดภัยและสุขอนามัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเลขึ้นโดยเฉพาะ นอกจากนี้การทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือยังเกี่ยวข้องกับกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศที่ต้องนำมาตรฐานสากล คือ อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๔๙ (Maritime Labour Convention, ๒๐๐๖) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) มาปฏิบัติต่อแรงงานทางทะเลเป็นกรณีเฉพาะ สมควรที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานการทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือและการออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลแก่เรือขนส่งทางทะเลที่ชักธงไทยเพื่อคุ้มครองแรงงานทางทะเลอันจะเป็นการรับรองว่าแรงงานทางทะเลจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการใช้มาตรการของรัฐเจ้าของท่าเรือต่อเรือไทยที่เดินทางระหว่างประเทศ เช่น การกักเรือ การตรวจเรือการสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง และเพื่อประโยชน์ในการวางมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล และบริหารจัดการในการออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นการส่งเสริมการพัฒนากิจการพาณิชยนาวีของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

 

 

 

 

 

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๙ ตุลาคม ๒๕๕๘

 

วิศนี/ผู้ตรวจ

ปัญญา/ผู้ตรวจ

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๘

 

 

 


[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๙๘ ก/หน้า ๒๑/๘ ตุลาคม ๒๕๕๘