ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ประกาศ
เริ่มใช้บังคับ : 13 ก.ย. 2564

(SSB) นโยบายการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า

Port State Control Inspection Policy



ประกาศกรมเจ้าท่า

ที่     ๑๔๑ /๒๕๖๔

เรื่อง นโยบายการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection Policy)

 


ตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลหลายฉบับขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ประเทศไทยจึงมีสิทธิ
และพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าวในการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection: PSC) ประกอบกับกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานหลักในฐานะเจ้าหน้าที่ควบคุมเรือในเมืองท่า (Port State Control Officer: PSCO) ที่มีบทบาทในการตรวจควบคุมเรือต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยให้มีความปลอดภัยและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๕๘ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรมเจ้าท่าจึงประกาศนโยบายการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Policy) ไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

                    ดำเนินการและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า โดยคำนึงถึงระบบการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (PSC Regime) ที่มีประสิทธิภาพที่จัดทำขึ้นโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) และตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการควบคุมเรือในเมืองท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Memorandum of Understanding on Port State Control in the Asia-Pacific Region: Tokyo MOU) ตลอดจนระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection)

ข้อ 2 การยับยั้ง (Deterrence)

                      เพื่อไม่ให้มีเรือที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ จะกำหนดมาตรการยับยั้งสำหรับเรือที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว

ข้อ 3 ความมีประสิทธิผล (Effectiveness)

                    จัดให้มีและรักษาระบบตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าให้มีประสิทธิผล มีจำนวนและอัตราการตรวจสอบที่สม่ำเสมอเพียงพอตามที่ระบุไว้ในเกณฑ์ของประเทศ

ข้อ 4 ความสอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติ (Consistency)

                    การตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าจะดำเนินการตามระเบียบ มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าซึ่งออกโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศและ Tokyo MOU

ข้อ 5 ความร่วมมือ (Cooperation)

                    จะคงไว้ซึ่งความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการ Tokyo MOU ตลอดจนประเทศสมาชิกของ Tokyo MOU อย่างมีประสิทธิภาพในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า

ข้อ 6 การให้อำนาจและคุณสมบัติ (Authorization and Qualification)

                    การตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าจะต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติและผ่านการฝึกอบรม ซึ่งได้รับมอบอำนาจในการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าโดยดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดโดยผู้มีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

ข้อ 7 จรรยาบรรณในการทำงาน (Work Ethics)

                    เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าจะต้องปฏิบัติตามประมวลการปฏิบัติที่ดีสำหรับเจ้าพนักงานตรวจเรือและเจ้าหน้าที่ควบคุมเรือในเมืองท่า (Code Of Good Practice for Government Ship Surveyor and Port State Control Officer) ตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
และ Tokyo MOU ได้กำหนด

อนึ่ง ให้ยกเลิกประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 47/2563 เรื่อง นโยบายการควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของท่าเรือ (Port State Control Policy) ลงวันที่ ๒0 มีนาคม ๒๕๕๓ และให้ใช้ประกาศนี้แทน

จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่  ๕ กรกฎาคม   พ.ศ.  ๒๕๖๔

 

 

 

        (นายวิทยา ยาม่วง)

        อธิบดีกรมเจ้าท่า