ประกาศกรมเจ้าท่า
ที่ 305/ 2565
เรื่อง กำหนดหน้าที่นายเรือ และคนประจำเรือ เกี่ยวกับการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาการมึนเมาและอาจเป็นอันตรายในการควบคุมยานพาหนะ โดยเฉพาะนายเรือและคนประจำเรือที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีอาการมึนเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่ในเรือจนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรือและเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารและประชาชน และตามข้อที่ ๘/๑ ในหมวด ๘ ว่าด้วยการเข้าเวรยาม ในภาคผนวกของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๗๘ (International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers 1978, STCW as amended) และมาตรา เอ-๘/๑ วรรค ๑๐ ของประมวลการการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ (Seafarers’ Training, Certification and Watchkeeping Code) ได้กำหนดให้รัฐภาคีต้องมีมาตรการป้องกันมิให้มีการเสพยาเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเข้าเวรยามเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในเรือ อีกทั้งตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้กำหนดห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ หรือบนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และให้การปฏิบัติเป็นไปตามอนุสัญญาขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ อาศัยอำนาจตามความใน
มาตรา 46 ทวิ มาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๒๙๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ข้อ 99 ของข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการสอบความรู้
ผู้ทำการในเรือ พ.ศ. ๒๕๓2 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๕ และข้อ ๓๗ ของข้อบังคับกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ผู้ทำการในเรือเดินทะเลใกล้ฝั่งและเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๕ ข้อ ๕ ของข้อบังคับกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทำการในเรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙ ข้อ 14 ของข้อบังคับกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทำการในเรือลำเลียง พ.ศ. 2563 ประกอบกับมาตรา ๒๐ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติมอธิบดีกรมเจ้าท่าจึงออกประกาศกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับหน้าที่ของนายเรือ และคนประจำเรือ เกี่ยวกับการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเข้าเวรยามเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในเรือไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกประกาศกรมเจ้าท่า ที่ ๙๑/๒๕๖๓ เรื่อง กำหนดสถานที่ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ หรือบนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง ลงวันที่
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“ผู้ควบคุมเรือ” หมายความว่า ผู้นำร่อง นายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย ต้นกล หรือคนใช้เครื่อง
“คนประจำเรือ” หมายความว่า คนที่มีหน้าที่ทำการประจำอยู่ในเรือ ซึ่งมิใช่ผู้ควบคุมเรือ
ข้อ ๔ ห้ามมิให้ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ในเรือ
ข้อ ๕ ห้ามมิให้ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือปฏิบัติหน้าที่ขณะที่มีอาการมึนเมาหรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
ข้อ ๖ ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณท่าเรือโดยสารสาธารณะหรือ บนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง
ข้อ ๗ ผู้ควบคุมเรือต้องควบคุมดูแลมิให้คนประจำเรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ควบคุมเรือต้องควบคุมดูแลมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง
ข้อ ๘ ผู้ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๗ ให้เจ้าท่าพิจารณาสั่งงดไม่ให้ใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกิน ๒ ปี และไม่ลบล้างโทษอย่างอื่นซึ่งผู้ควบคุมเรือนั้น จะพึงได้รับตามนัยมาตรา ๒๙๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ ๙ คนประจำเรือผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๔ และข้อ ๕ ให้เจ้าท่าพิจารณาสั่งพักใช้ประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถไม่เกิน 90 วัน โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดด้วย
ข้อ ๑๐ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๖ อาจมีความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
ข้อ ๑๑ เรือลำใดที่มีการฝ่าฝืนข้อ ๔ และข้อ ๕ ให้ถือว่าเรือนั้นไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและไม่เหมาะสมสำหรับการใช้ ให้เจ้าท่าพิจารณามีคำสั่งห้ามใช้เรือและสั่งให้แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในการออกคำสั่งให้แก้ไขตามวรรคหนึ่ง เจ้าท่าอาจพิจารณาออกคำสั่ง ดังต่อไปนี้
(๑) สั่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ให้ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือที่กระทำการฝ่าฝืนข้อ ๔ และข้อ ๕ หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่กำหนดไม่เกิน ๗ วัน
(๒) สั่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ให้ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือหยุดปฏิบัติหน้าที่ขณะที่มีอาการมึนเมาจากหรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
(๓) สั่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ให้พักงานผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนข้อ ๔ และข้อ ๕ ซ้ำ ๑ ครั้ง ภายในระยะเวลา ๖ เดือน นับแต่การฝ่าฝืนครั้งแรก หรือซ้ำ ๒ ครั้งขึ้นไป ภายในระยะเวลา ๑ ปี นับแต่การฝ่าฝืนครั้งแรก เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่กำหนดไม่เกิน ๓๐ วัน
(๔) สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนข้อ ๔ และข้อ ๕ และไม่ปฏิบัติตาม (๑) (๒) และ (๓) หรือมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำซาก ออกจากหน้าที่ในเรือ
(๕) คำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือแก้ไขอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกัน ระงับ หรือยับยั้งมิให้เกิดอันตรายแก่การเดินเรือหรือประชาชน จากอาการมึนเมาหรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์
ของแอลกอฮอล์ของผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ หรือบุคคลใด ๆ ที่อยู่ในเรือหากเรือมิได้มีการแก้ไขตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และเห็นว่าอาจจะเป็นอันตรายแก่การเดินเรือและประชาชน ให้เจ้าท่าพิจารณาสั่งกักเรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
ข้อ ๑๒ ให้เจ้าท่าและเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าพิจารณาประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมึนเมาหรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ในเรือและในท่าเรือโดยฝ่าฝืนกฎหมายต่อไปด้วย
ข้อ ๑๓ กรณีผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือไม่มีประกาศนียบัตรขณะทำการในเรือให้เจ้าท่าดำเนินคดีแก่ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือนั้นตามมาตรา ๒๘๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ
ในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนถึงที่สุดด้วย
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์
(นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์)
รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมเจ้าท่า