ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ประกาศ
เริ่มใช้บังคับ : 22 มิ.ย. 2560

ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 112/2560 เรื่อง มาตรฐานที่พักอาศัย สถานที่ และสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับคนประจําเรือ

MARINE DEPARTMENT NOTIFICATION NO. 112/2560 ON STANDARDS FOR ACCOMMODATION, PLACES AND FACILITIES FOR SEAFARERS


ประกาศกรมเจ้าท่า
ที่ ๑๑๒/๒๕๖๐
เรื่อง มาตรฐานที่พักอาศัย สถานที่ และสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับคนประจําเรือ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๗๒ วรรคสาม และมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติ แรงงานทางทะเล พ.ศ.๒๕๕๘ กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาตรฐานที่พักอาศัยและสถานที่ และสิ่งอํานวยความสะดวก อธิบดีกรมเจ้าท่าจึงประกาศกําหนด ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ในประกาศนี้
“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ําทุกชนิดที่ปกติใช้ในการเดินทะเลที่มีวัตถุประสงค์ ในเชิงพาณิชย์ แต่มิให้หมายความรวมถึง
(๑) เรือที่ใช้เพื่อทําการประมงหรือเรืออื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมง
(๒) เรือที่ต่อแบบประเพณีดั้งเดิม
(๓) เรือของทางราชการทหาร
(๔) เรืออื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง ได้แก่
(ก) เรือของทางราชการที่มิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
(ข) เรือที่มีขนาดต่ํากว่าสองร้อยตันกรอสส์ ที่มีเขตการเดินเรือ กําหนดให้เดินเรือเฉพาะภายในประเทศ
(ค) เรือที่ให้บริการในบริเวณเขตท่าเรือ รวมถึง รับส่งคนหรือสินค้า เรือดัน - ลากจูง หรือเรือรับส่งเชือก
(ง) เรือที่ให้บริการรับส่งนําร่อง
(จ) เรือเดินประจําทางภายในเขตจังหวัด
(ฉ) เรือสําราญและกีฬาที่มิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
(ช) เรือที่มีลักษณะเป็นแท่นขุดเจาะนอกฝั่งแบบเคลื่อนที่ (Mobile Offshore Drilling Units; MODU)
(ซ) เรือที่มีเขตการเดินเรือประเภทเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต หรือเรือเดินทะเลที่มิใช่เรือกล ตามกฎข้อบังคับสําหรับการตรวจเรือ
“เรือกิจการพิเศษ” หมายถึง เรือกลซึ่งบรรทุกคนโดยสารและบุคลากรพิเศษ (Special personnel) ซึ่งปฏิบัติภารกิจบนเรือ รวมกันเกินกว่าสิบสองคน โดยลักษณะของเรืออาจเป็นเรือที่ใช้ในการวิจัยทดลองหรือสํารวจ หรือเรือฝึก
“เรือโดยสาร” หมายถึง เรือกลซึ่งบรรทุกคนโดยสารเกินกว่าสิบสองคน
ข้อ ๓ ที่พักอาศัย และสถานที่ สําหรับคนประจําเรือ มีดังนี้
(๑) ห้องนอน (Sleeping room)
(๒) ห้องรับประทานอาหาร (Mess room)
(๓) ห้องอาบน้ำ (Bath room)
(๔) ห้องสุขา (Toilet)
(๕) ห้องนั่งเล่น (Sitting room)
(๖) ห้องพักผ่อนระหว่างทํางาน (Day room)
(๗) ห้องพยาบาล (Hospital accommodation)
(๘) พื้นที่ว่างบนดาดฟ้าเรือ (Space on open deck)
(๙) ห้องทํางานสําหรับฝ่ายช่างกล (Office for engine department)
(๑๐) ห้องทํางานสําหรับฝ่ายเดินเรือ (Office for deck department)
(๑๑) ห้องประกอบศาสนกิจ (Prayer room)
ข้อ ๔ มาตรฐานทั่วไป สําหรับที่พักอาศัยและสถานที่ มีดังต่อไปนี้
(๑) มีที่ว่างเหนือศีรษะอย่างเพียงพอและมีระดับเพดานสูงจากพื้นอย่างน้อย ๒๐๓ เซนติเมตร เว้นแต่เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีระดับเพดานสูงจากพื้นอย่างน้อย ๑๙๐ เซนติเมตร
(๒) วัสดุที่ใช้สร้างฝากั้น แผ่นและวัสดุบุฝาผนัง พื้นและรอยต่อ ต้องมีความเหมาะสมสําหรับ การใช้งานและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมีแสงสว่างเพียงพอ
(๓) ไม่อยู่ในตําแหน่งที่มีการสั่นสะเทือนมากเกินควร
(๔) กันความร้อนได้
(๕) ระบายอากาศได้ดี
ข้อ ๕ มาตรฐานสําหรับห้องนอน มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่บริเวณกลางลําเรือหรือส่วนท้ายเรือ ในตําแหน่งเหนือกว่าระดับแนวน้ําบรรทุกเว้นแต่ มีข้อจํากัดของขนาดหรือลักษณะเรือ ห้องนอนอาจอยู่บริเวณส่วนหัวของเรือได้ แต่ต้องอยู่หลังฝากั้นกันชน (Collision Bulkhead)
ห้องนอนในเรือโดยสารและเรือกิจการพิเศษที่ต่อขึ้นตามประมวลข้อบังคับขององค์การทางทะเล ระหว่างประเทศว่าด้วยเรือกิจการพิเศษ (IMO Code of Safety for Special Purpose Ships) อาจอยู่ในตําแหน่งซึ่งต่ํากว่าระดับแนวน้ำบรรทุกได้ แต่ต้องมีแสงสว่างและการระบายอากาศที่เพียงพอและไม่อยู่ด้านล่างของทางเดิน
(๒) อยู่ห่างจากห้องเครื่องจักร (Machinery space) ห้องหางเสือ (Steering gear room) กว้านบนดาดฟ้าเรือ เครื่องระบายอากาศ เครื่องทําความร้อน ตลอดจนเครื่องมือและเครื่องจักรกล ซึ่งก่อให้เกิดเสียงดัง
(๓) ต้องไม่มีช่องเปิดจากระวางสินค้า (Cargo space) ห้องเครื่องจักร ห้องครัว (Galley) ห้องเสบียง (Storeroom) ห้องอบแห้ง (Drying room) หรือห้องอาบน้ำ (Bath room) เข้าสู่ห้องนอนได้โดยตรง
(๔) ผนังทําด้วยโลหะหรือวัสดุอื่นที่เทียบเท่าซึ่งสามารถผนึกน้ำและก๊าซได้
(๕) ต้องแยกห้องนอนสําหรับชายและหญิง และแยกห้องนอนของคนประจําเรือที่เข้าเวรยาม ออกเป็นการเฉพาะ รวมทั้งแยกห้องนอนสําหรับคนประจําเรือที่ทํางานเฉพาะช่วงกลางวันออกจากคนประจําเรือ ที่มีหน้าที่เข้าเวรยาม (Watchkeepers)
(๖) เรือโดยสารและเรือกิจการพิเศษ ต้องมีพื้นที่ห้องนอนสําหรับคนประจําเรือ ดังนี้
(ก) ห้องนอนสําหรับลูกเรือ
(๑) ห้องนอนสําหรับ ๑ คน ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๔.๕ ตารางเมตร เว้นแต่ เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๓.๕ ตารางเมตร
(๒) ห้องนอนสําหรับ ๒ คน ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๗.๕ ตารางเมตร เว้นแต่ เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ตารางเมตร
(๓) ห้องนอนสําหรับ ๓ คน ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๑.๕ ตารางเมตร เว้นแต่ เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๔ ตารางเมตร
(๔) ห้องนอนสําหรับ ๔ คน ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๔.๕ ตารางเมตร เว้นแต่ เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๒ ตารางเมตร
(๕) ห้องนอนตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๓.๖ ตารางเมตรต่อคน เว้นแต่เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๓ ตารางเมตรต่อคน
(ข) ห้องนอนสําหรับนายประจําเรือ ซึ่งไม่มีห้องนั่งเล่นหรือห้องพักผ่อนระหว่างทํางาน
(๑) สําหรับนายประจําเรือระดับปฏิบัติการ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๗.๕ ตารางเมตรต่อคน
(๒) สําหรับนายประจําเรือระดับบริหาร ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๔.๕ ตารางเมตรต่อคน
(ค) ห้องนอนสําหรับนายเรือ ต้นกล ต้นเรือ และรองต้นกล ให้มีขนาดตาม (ข) และมีห้องนั่งเล่นหรือห้องพักผ่อนระหว่างทํางานหรือมีห้องอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยให้ยกเว้นได้ สําหรับเรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์
(๗) เรืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรือโดยสารและเรือกิจการพิเศษ ต้องมีพื้นที่ห้องนอนสําหรับคนประจําเรือ ดังนี้
(ก) ห้องนอนสําหรับลูกเรือ
(๑) เรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ ให้มีห้องนอนแยกสําหรับลูกเรือแต่ละราย ซึ่งมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๔.๕ ตารางเมตร เว้นแต่เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๒.๓๕ ตารางเมตร ทั้งนี้ ให้มีห้องนอนรวมกันได้แต่ต้อง ไม่เกินกว่าห้องละ ๒ คน และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๗ ตารางเมตร
(๒) เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป แต่ต่ํากว่า ๑๐,๐๐๐ ตันกรอสส์ ให้มีห้องนอนแยกสําหรับลูกเรือแต่ละราย ซึ่งมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๕.๕ ตารางเมตร เว้นแต่เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๒.๗๘ ตารางเมตร
(๓) เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ให้มีห้องนอนแยกสําหรับลูกเรือแต่ละราย ซึ่งมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๗ ตารางเมตร เว้นแต่เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๒.๗๘ ตารางเมตร
(ข) ห้องนอนสําหรับนายประจําเรือ ซึ่งไม่มีห้องนั่งเล่นหรือห้องพักผ่อนระหว่างทํางาน
(๑) เรือที่มีขนาดต่ำกว่า ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๗.๕ ตารางเมตร
(๒) เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป แต่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ตันกรอสส์ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๘.๕ ตารางเมตร
(๓) เรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๐ ตารางเมตร
(ค) ห้องนอนสําหรับนายเรือ ต้นกล ต้นเรือและรองต้นกล ให้มีขนาดตาม (ข) และมีห้องนั่งเล่นหรือห้องพักผ่อนระหว่างทํางานหรือมีห้องอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยให้ยกเว้นได้ สําหรับเรือที่มีขนาดต่ํากว่า ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์
(๔) ขนาดพื้นที่ห้อง ให้รวมถึงพื้นที่จัดวางเตียงนอน ตู้เก็บของ ตู้มีลิ้นชักและที่นั่งต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงพื้นที่แคบหรือพื้นที่ซึ่งมีรูปทรงไม่ปกติซึ่งบุคคลไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์ได้รวมทั้งพื้นที่ซึ่งไม่สามารถติดตั้งเครื่องเรือนได้
(๔) มีเตียงนอนสําหรับคนประจําเรือแต่ละราย ดังนี้
(ก) มีขนาดไม่ต่ำกว่า ๑๙๘ x ๘๐ เซนติเมตร เว้นแต่เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติ แรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีขนาดไม่ต่ำกว่า ๑๙๐ x ๖๘ เซนติเมตร
(ข) เตียงนอนต้องไม่เกินกว่า ๒ ชั้น โดยเตียงนอนชั้นล่างสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร
(ค) เตียงชั้นบนควรอยู่ในบริเวณกึ่งกลางระหว่างเตียงชั้นล่างและขอบล่างของคานเพดาน กรณีที่วางเตียงนอนขนานตามแนวผนังของลําเรือ เตียงนั้นต้องเป็นชั้นเดียวเพื่อให้ช่องแสงด้านข้าง (Sidelight) อยู่เหนือเตียง กรณีมีโครงและแผ่นรองเตียงนอน ต้องเป็นวัสดุผิวเรียบ ไม่เป็นสนิมได้ง่าย และไม่เป็นที่อาศัยของสัตว์และแมลงขนาดเล็ก กรณีที่ใช้ท่อกลวงต้องอุดรูที่สัตว์หรือแมลงขนาดเล็กอาจเข้าไปได้
(ง) เตียงนอนแต่ละเตียงต้องปูด้วยแผ่นรองพร้อมด้วยเบาะนวม หรือแผ่นรองที่มีเบาะนวม โดยมีพื้นล่างเป็นสปริงหรือเป็นแผ่นรองสปริง วัสดุที่ใช้สําหรับทําแผ่นรองและเบาะนวมต้องไม่เป็นวัสดุ ที่อาจเป็นที่อาศัยของสัตว์และแมลงขนาดเล็ก กรณีเตียงหลายชั้น ต้องมีที่รองกันฝุ่นวางไว้ใต้แผ่นรอง หรือใต้สปริงของเตียงชั้นบน
(จ) ติดตั้งโคมไฟสําหรับอ่านหนังสือไว้บนหัวนอนของแต่ละเตียง
(๑๐) เครื่องเรือน ต้องทําด้วยวัสดุที่แข็ง ผิวเรียบ ซึ่งไม่โค้งงอได้ง่ายหรือไม่เป็นสนิม ประกอบด้วย
(ก) ตู้เก็บเสื้อผ้าที่มีความจุ อย่างน้อย ๐.๔๗๕ ลูกบาศก์เมตร และลิ้นชักหรือปริมาตรอื่น ที่ทัดเทียมกัน อย่างน้อย ๐.๐๕๖ ลูกบาศก์เมตร หากลิ้นชักเป็นส่วนหนึ่งของตู้เก็บเสื้อผ้า ตู้เก็บเสื้อผ้า ต้องมีปริมาตรอย่างน้อย ๐.๕ ลูกบาศก์เมตร โดยต้องมีชั้นวางของแ องและสามารถล็อคได้
(ข) โต๊ะหรือโต๊ะเขียนหนังสือ แบบติดอยู่กับที่หรือแบบพับเก็บได้หรือแบบเลื่อนออกพร้อมที่นั่ง
(ค) ม่านบังช่องแสงด้านข้าง
(ง) กระจก
(จ) ตู้ขนาดเล็กสําหรับใส่ของใช้ที่จําเป็น
(ฉ) ชั้นวางหนังสือ
(ช) ตะขอแขวนเสื้อที่เพียงพอ และ
(ซ) เครื่องนอนชนิดที่มีคุณภาพดี
(๑๑) ผนังภายนอกต้องกันความร้อนได้ โดยมีฉนวนกันความร้อน เพื่อป้องกันการกลั่นตัว เป็นหยดน้ำหรือการรับความร้อนมากเกินไป ผนังกั้นห้องและเพดานต้องทําด้วยวัสดุที่ทําความสะอาดผิวได้ง่าย ใช้สีที่สว่าง ทนทาน และไม่เคลือบสารที่เป็นพิษ และต้องไม่สร้างในรูปแบบที่ทําให้สัตว์และแมลงขนาดเล็กสามารถใช้เป็นที่อาศัยได้
(๑๒) พื้นต้องทําด้วยวัสดุที่ผิวไม่ลื่น ป้องกันความชื้น และทําความสะอาดได้ง่ายหากพื้นปูด้วย วัสดุที่เชื่อมต่อกัน ต้องยาแนวเพื่อป้องกันการแยกออกจากกัน
(๑๓) มีระบบระบายอากาศที่ดี โดยต้องสามารถควบคุมและรักษาอากาศให้อยู่ในสภาพ ที่เหมาะสมและมีการไหลเวียนของอากาศได้ในทุกสภาพอากาศ รวมทั้งต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เว้นแต่เรือที่โดยปกติใช้เพื่อทําการค้าในบริเวณซึ่งสภาพอุณหภูมิไม่จําเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
ข้อ ๖ มาตรฐานสําหรับห้องรับประทานอาหาร มีดังต่อไปนี้
(๑) ต้องแยกออกจากบริเวณห้องนอน และอยู่ใกล้กับห้องครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทําได้ โดยให้ยกเว้นได้สําหรับเรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์
(๒) อยู่ห่างจากห้องเครื่องจักร ห้องหางเสือ กว้านบนดาดฟ้าเรือ ตลอดจนเครื่องมือและ เครื่องจักรกลซึ่งก่อให้เกิดเสียงดัง
(๓) มีพื้นที่เพียงพอสําหรับรองรับจํานวนคนประจําเรือมากที่สุดที่อาจเข้ามาใช้งานพร้อมกัน โดยพื้นที่ต้องไม่น้อยกว่า ๑.๕ ตารางเมตรต่อคน เว้นแต่เรือที่ต่อก่อนวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลมีผลใช้บังคับ ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑ ตารางเมตรต่อคน รวมทั้ง ให้ตกแต่งตามความเหมาะสม โดยอาจมีฉากกั้นแบ่งห้องหรือแยกห้องรับประทานอาหารสําหรับนายประจําเรือและลูกเรือออกจากกันได้ตามความเหมาะสม โดยคํานึงถึงขนาดของเรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และสภาพสังคมของคนประจําเรือ
(๔) มีโต๊ะและเก้าอี้ซึ่งทําด้วยวัสดุป้องกันความชื้น แบบติดตั้งถาวรหรือเคลื่อนย้ายได้ที่เพียงพอ ต่อจํานวนคนประจําเรือมากที่สุดที่อาจเข้ามาใช้งานพร้อมกัน
(๕) มีตู้เย็นซึ่งตั้งไว้ในที่สะดวกต่อการใช้งานและมีขนาดปริมาณบรรจุที่เหมาะสม
(๖) มีเครื่องทําน้ําร้อนและเครื่องทําน้ำเย็น
(๗) มีตู้เก็บอุปกรณ์สําหรับใช้ในการรับประทานอาหาร
(๔) มีอ่างล้างอุปกรณ์
(๔) มีจาน ชาม ถ้วย และอุปกรณ์สําหรับรับประทานอาหารทําด้วยวัสดุซึ่งสามารถทําความสะอาดได้ง่าย
ข้อ ๗ มาตรฐานสําหรับห้องอาบน้ำ มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่ในตําแหน่งที่สะดวกสําหรับการใช้งาน และแยกห้องสําหรับชายและหญิงออกจากกัน
(๒) มีอ่างอาบน้ำหรือฝักบัวอาบน้ำ โดยมีทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น และต้องมีจํานวนอย่างน้อย ๑ ชุด ต่อคนประจําเรือซึ่งไม่มีห้องอาบน้ำส่วนตัวจํานวน ๖ คน
(๓) มีอ่างล้างหน้า และสุขภัณฑ์ทําด้วยวัสดุผิวเรียบและไม่แตกร้าว กะเทาะ หรือเป็นสนิมได้ง่าย
(๔) พื้นทําด้วยวัสดุที่มีความทนทาน ป้องกันความชื้นและระบายน้ำทิ้งได้ดี
(๕) ผนังกั้นห้องทําด้วยโลหะหรือวัสดุอื่นที่เทียบเท่า และต้องกันน้ําได้อย่างน้อย ๒๓ เซนติเมตร เหนือระดับพื้น
(๖) มีผ้าเช็ดตัว สบู่ และกระดาษชําระ
ข้อ ๘ มาตรฐานสําหรับห้องสุขา มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่ในพื้นที่ซึ่งสะดวกในการเข้าถึงได้จากห้องนอน โดยไม่รวมอยู่กับห้องนอนและ ห้องชําระล้าง (Washroom) และต้องไม่มีทางเข้าโดยตรงจากห้องนอน เว้นแต่เป็นห้องสุขารวม ที่อยู่ระหว่างห้องนอน ๒ ห้อง ซึ่งมีคนประจําเรือรวมกันไม่เกิน ๔ คน
(๒) อยู่ใกล้กับสะพานเดินเรือ ห้องเครื่องจักร ห้องควบคุมเครื่องจักรโดยให้ยกเว้นได้สําหรับเรือ ที่มีขนาดต่ำกว่า ๓,000 ตันกรอสส์
(๓) ต้องแยกห้องสุขาสําหรับชายและหญิงออกจากกัน
(๔) มีฉากกั้น ในกรณีมีห้องสุขามากกว่าหนึ่งห้องในพื้นที่เดียวกัน
(๕) มีโถสุขภัณฑ์พร้อมสายชําระล้าง สุขภัณฑ์ทําด้วยวัสดุผิวเรียบและไม่แตกร้าว กะเทาะ หรือเป็นสนิมได้ง่าย
(๖) พื้นทําด้วยวัสดุที่มีความทนทาน ป้องกันความชื้นและระบายน้ำทิ้ง
(๗) ผนังกั้นห้องทําด้วยโลหะหรือวัสดุอื่นที่เทียบเท่า และต้องกันน้ำได้อย่างน้อย ๒๓ เซนติเมตร เหนือระดับพื้น
(๘) มีสบู่ และกระดาษชําระ
ข้อ ๙ มาตรฐานสําหรับห้องนั่งเล่น สําหรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่ในพื้นที่ซึ่งสะดวกในการเข้าถึงได้จากห้องนอน โดยมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าห้องนอน
(๒) มีโต๊ะแบบติดอยู่กับที่หรือแบบพับเก็บได้หรือแบบเลื่อนออก พร้อมที่นั่ง
(๓) ติดม่านบังช่องแสงด้านข้าง
(๔) มีเครื่องเรือนทําด้วยวัสดุที่แข็ง ผิวเรียบ ซึ่งไม่โค้งงอได้ง่ายหรือไม่เป็นสนิม
(๕) มีตู้เย็นซึ่งตั้งไว้ในที่สะดวกต่อการใช้งานและมีขนาดปริมาณบรรจุที่เหมาะสม
(๖) มีโทรทัศน์หรือวิทยุ
ข้อ ๑๐ มาตรฐานสําหรับห้องพักผ่อนระหว่างทํางาน สําหรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่ในพื้นที่ซึ่งสะดวกในการเข้าถึงได้จากห้องนอน โดยมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าห้องนอน
(๒) มีโต๊ะแบบติดอยู่กับที่หรือแบบพับเก็บได้หรือแบบเลื่อนออก พร้อมที่นั่ง
(๓) ติดม่านบังช่องแสงด้านข้าง
(๔) มีเครื่องเรือนทําด้วยวัสดุที่แข็ง ผิวเรียบ ซึ่งไม่โค้งงอได้ง่ายหรือไม่เป็นสนิม
ข้อ ๑๑ มาตรฐานสําหรับห้องพยาบาล สําหรับเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งและเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศที่มีคนประจําเรือตั้งแต่ ๑๕ คนขึ้นไป และมีช่วงเวลาเดินทางแต่ละครั้งนานกว่า ๓ วัน มีดังต่อไปนี้
(๑) มีพื้นที่ซึ่งสะดวกสําหรับการปฐมพยาบาล และมีมาตรการป้องกันการแพร่กระจาย ของเชื้อโรค สําหรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องจัดให้มีเตียงพยาบาลอย่างน้อย ๑ เตียง
(๒) มีทางเข้าที่มีขนาดเพียงพอในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บด้วยเปลหรือเตียงได้
(๓) มีห้องน้ำอยู่ในหรือติดกับห้องพยาบาล ภายในห้องน้ำประกอบด้วย โถสุขภัณฑ์ ๑ โถ อ่างล้างหน้า ๑ อ่าง และอ่างอาบน้ำหรือฝักบัว ๑ อัน
ข้อ ๑๒ มาตรฐานสําหรับพื้นที่ว่างบนดาดฟ้าเรือ มีดังต่อไปนี้
(๑) เป็นพื้นที่บนดาดฟ้าเปิดโล่ง อยู่บริเวณกลางลําเรือหรือท้ายเรือ และอยู่เหนือระดับแนวน้ำบรรทุกโดยพื้นที่ต้องไม่น้อยกว่า ๑.๕ ตารางเมตรต่อคน
(๒) มีโต๊ะแบบติดอยู่กับที่หรือแบบพับเก็บได้หรือแบบเลื่อนออก พร้อมที่นั่ง
(๓) พื้นต้องทําด้วยวัสดุที่ผิวไม่ลื่น และทําความสะอาดได้ง่าย
ข้อ ๑๓ มาตรฐานสําหรับห้องทํางานของฝ่ายช่างกล สําหรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่ในพื้นที่ซึ่งสะดวกในการเข้าถึงได้จากห้องเครื่องจักร หรืออยู่บนดาดฟ้าที่ติดกับ ห้องเครื่องจักร โดยพื้นที่ต้องไม่น้อยกว่า ๕ ตารางเมตร
(๒) มีมาตรการป้องกันเสียงหรือติดตั้งฉนวนป้องกันเสียงจากห้องเครื่องจักร
(๓) มีโต๊ะแบบติดอยู่กับที่หรือแบบพับเก็บได้หรือแบบเลื่อนออก พร้อมที่นั่ง
(๔) มีตู้ขนาดเล็กสําหรับใส่ของจําเป็น
(๕) มีชั้นวางหนังสือ
(๖) มีตะขอแขวนเสื้อที่เพียงพอ
(๗) มีเครื่องเรือนทําด้วยวัสดุที่แข็ง ผิวเรียบ ซึ่งไม่โค้งงอได้ง่ายหรือไม่เป็นสนิม
(๘) พื้นต้องทําด้วย พื้นต้องทําด้วยวัสดุที่ผิวไม่ลื่น และทําความสะอาดได้ง่าย
(๙) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เว้นแต่บนเรือซึ่งโดยปกติใช้เพื่อทําการค้าในบริเวณซึ่งสภาพ อุณหภูมิไม่จําเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
ข้อ ๑๔ มาตรฐานห้องทํางานสําหรับฝ่ายเดินเรือ สําหรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่ในพื้นที่ซึ่งสะดวกในการเข้าถึงได้จากสะพานเดินเรือ หรืออยู่บนดาดฟ้าที่ติดกับสะพานเดินเรือ หรือดาดฟ้าหลัก โดยพื้นที่ต้องไม่น้อยกว่า ๕ ตารางเมตร
(๒) มีโต๊ะแบบติดอยู่กับที่หรือแบบพับเก็บได้หรือแบบเลื่อนออก พร้อมที่นั่ง
(๓) มีตู้ขนาดเล็กสําหรับใส่ของจําเป็น
(๔) มีชั้นวางหนังสือ
(๕) มีตะขอแขวนเสื้อที่เพียงพอ
(๖) มีเครื่องเรือนทําด้วยวัสดุที่แข็ง ผิวเรียบ ซึ่งไม่โค้งงอได้ง่ายหรือไม่เป็นสนิม
(๗) พื้นต้องทําด้วยวัสดุที่ผิวไม่ลื่น และทําความสะอาดได้ง่าย
(๘) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เว้นแต่บนเรือซึ่งโดยปกติใช้เพื่อทําการค้าในบริเวณซึ่งสภาพอุณหภูมิ ไม่จําเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
ข้อ ๑๕ มาตรฐานสําหรับห้องประกอบศาสนกิจ มีดังต่อไปนี้
(๑) อยู่ในพื้นที่ซึ่งสะดวกในการเข้าถึงได้จากห้องนอนสําหรับคนประจําเรือ หรืออยู่บนดาดฟ้าหลัก โดยมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๓ ตารางเมตร
(๒) พื้นต้องทําด้วยวัสดุที่ผิวไม่ลื่น และทําความสะอาดได้ง่าย
(๓) มีตู้ขนาดเล็กสําหรับใส่ของจําเป็น
(๔) มีชั้นวางหนังสือ
(๕) มีตะขอแขวนเสื้อที่เพียงพอ
ข้อ ๑๖ มาตรฐานสําหรับสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ มีดังต่อไปนี้
(๑) สิ่งอํานวยความสะดวกในการซักอบรีดเสื้อผ้า ได้แก่ เครื่องซักผ้าหรือเครื่องอบแห้ง หรือห้องอบผ้า พร้อมทั้งเตารีดและแผ่นรองรีด ต้องได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต
(๒) สถานที่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายสําหรับคนประจําเรือฝ่ายช่างกล ต้องอยู่นอกห้องเครื่องจักร และต้องสามารถเข้าถึงห้องเครื่องจักรได้โดยสะดวก มีตู้เสื้อผ้า อ่างอาบน้ำหรือฝักบัว รวมทั้งมีอ่างล้างหน้า ซึ่งต้องมีทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น
(๓) ห้องสมุด ต้องมีหนังสือด้านวิชาชีพและหนังสืออื่น ๆ ที่เพียงพอกับระยะเวลาการเดินทางและต้องมีการเปลี่ยนหนังสือตามรอบระยะที่ความเหมาะสม
(๔) สิ่งอํานวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือกับชายฝั่งทางโทรศัพท์ และ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต ต้องได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต
(๕) อุปกรณ์ป้องกันยุง ต้องได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต
(๖) เครื่องส่งรังสีความร้อนและอุปกรณ์ทําความร้อนอื่น อื่น ๆ ต้องได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต และติดตั้งโดยมีสิ่งกําบัง เพื่อลดความเสี่ยง จากอัคคีภัย หรืออันตราย หรือความไม่สะดวกสบายแก่คนประจําเรือ
(๗) อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องบันทึกวิดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี/ซีดี คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องเล่น/เครื่องบันทึกเทปคาสเซ็ต ต้องได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มาตรฐานของประเทศผู้ผลิต
(๘) อุปกรณ์กีฬา รวมทั้งอุปกรณ์ออกกําลังกาย โต๊ะเกมส์ และเกมส์บนดาดฟ้า ต้องได้ตามมาตรฐานอุปกรณ์กีฬาหรือมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ศรศักดิ์ แสนสมบัติ
อธิบดีกรมเจ้าท่า