ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
พระราชบัญญัติ
เริ่มใช้บังคับ : 13 มี.ค. 2562

พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562

Preservation of national maritime interests Act B.E. 2562, as amended


พระราชบัญญัติ

การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

พ.ศ. ๒๕๖๒

                 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และสิทธิหน้าที่อื่นใดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. ๒๕๖๒”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” หมายความว่า ผลประโยชน์ของประเทศไทยอันพึงได้รับจากกิจกรรมทางทะเล หรือประโยชน์อื่นใดในเขตทางทะเล ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร หรือด้านสิ่งแวดล้อม

“เขตทางทะเล” หมายความว่า ชายฝั่งทะเลและพื้นที่ทางทะเลที่ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตย หรือมีสิทธิหรือเสรีภาพในการใช้หรือจะใช้ หรือมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสนธิสัญญาหรือด้วยประการใด ๆ ได้แก่ น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไหล่ทวีป และทะเลหลวง และให้หมายความรวมถึงเกาะเทียม สิ่งติดตั้ง และสิ่งปลูกสร้างในทะเล รวมทั้งห้วงอากาศเหนือทะเล พื้นดินท้องทะเล ใต้พื้นดินท้องทะเล และพื้นที่ทางทะเลอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

“กิจกรรมทางทะเล” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตทางทะเลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพาณิชยนาวี การประมง การท่องเที่ยว การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต การวางสายเคเบิลหรือท่อใต้ทะเล การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือการสำรวจและวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล

“ยานพาหนะ” หมายความว่า เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใด ๆ ที่สามารถบรรทุกคนหรือสิ่งของในทะเลได้

“จังหวัดชายทะเล” หมายความว่า จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตทางทะเลตามที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ไม่รวมถึงศาล องค์กรอัยการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

“ศรชล.” หมายความว่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ จากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) นายทหารเรือหรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือข้าราชการพลเรือนสามัญไม่ต่ำกว่าระดับปฏิบัติการ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือ ผู้ควบคุมเรือ ผู้ควบคุมอากาศยาน หรือเทียบเท่า

(๒) ผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนด

 

มาตรา ๔  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๑

คณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

                 

 

มาตรา ๕  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” เรียกโดยย่อว่า “นปท.” ประกอบด้วย

(๑) นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ

(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนยี่สิบเจ็ดคน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสามคน จากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านกิจกรรมทางทะเล ด้านกฎหมาย ด้านการทหารเรือ หรือด้านอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

ให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการ ศรชล.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่งตั้งหนึ่งคน และเจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งอีกหนึ่งคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ คณะกรรมการอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น

 

มาตรา ๖  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง

 

มาตรา ๗  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

 

มาตรา ๘  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๖

 

มาตรา ๙  ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นดำรงตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งไว้แล้วนั้น  ทั้งนี้ ในกรณีการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หากวาระเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งเข้ารับหน้าที่

 

มาตรา ๑๐  คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และมาตรการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ

(๒) ให้คำแนะนำ ปรึกษา และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารจัดการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

(๓) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนแม่บท มาตรการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของ ศรชล. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และเสนอผลการดำเนินงานต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

(๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

มาตรา ๑๑  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา หรืออาจเรียกให้บุคคลใด ๆ มาชี้แจงด้วยก็ได้

 

มาตรา ๑๒  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๓  คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการใด ๆ แทนได้

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวมตลอดทั้งวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำความในมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๔  ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า “อจชล.” ตามจำนวนที่เหมาะสม โดยให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง (๓) เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและจัดการความรู้เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้แก่คณะกรรมการและ ศรชล. รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

ให้นำความในมาตรา ๑๓ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ อจชล. โดยอนุโลม

การประชุม อจชล. ให้นำความในมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๕  ให้กรรมการ กรรมการบริหาร ศรชล. อนุกรรมการ ที่ปรึกษา ศรชล. กรรมการที่ปรึกษา ศรชล.ภาค และกรรมการที่ปรึกษา ศรชล.จังหวัด ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๑๖  ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบงานธุรการและงานประชุมของคณะกรรมการ รวมทั้งการดำเนินงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ

 

หมวด ๒

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

                 

 

มาตรา ๑๗  ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า “ศรชล.” ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

ศรชล. อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยวิธีการปฏิบัติราชการและการบริหารงาน การจัดโครงสร้าง การแบ่งส่วนงาน และหน้าที่และอำนาจของส่วนงานและอัตรากำลังให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า “ผอ.ศรชล.” เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างใน ศรชล. และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ ศรชล. โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นรองผู้อำนวยการ

ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการจากข้าราชการในสังกัด ศรชล. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงโครงสร้างและการแบ่งส่วนงานภายในของ ศรชล.

ให้เสนาธิการทหารเรือเป็นเลขาธิการ ศรชล. มีหน้าที่รับผิดชอบงานอำนวยการและธุรการของ ศรชล.

รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเลขาธิการ ศรชล. มีอำนาจบังคับบัญชา ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างใน ศรชล. และมีหน้าที่และอำนาจอื่น  ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการกำหนด

ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจทำนิติกรรม ฟ้องคดี ถูกฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีอันเกี่ยวเนื่องกับหน้าที่และอำนาจของ ศรชล.  ทั้งนี้ โดยกระทำในนามของสำนักนายกรัฐมนตรี

ในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้อำนาจแทนก็ได้

 

มาตรา ๑๘  ให้ ศรชล. เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

 

มาตรา ๑๙  ให้ ศรชล. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) วางแผน อำนวยการ ประสานงาน สั่งการ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

(๒) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และรายงานคณะกรรมการ และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ เพื่อพิจารณาต่อไป

(๓) เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานและโครงการเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนและแนวทางดังกล่าวต่อไป

(๔) วางแผน พัฒนา และดำเนินการเกี่ยวกับระบบควบคุมบังคับบัญชาและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการปฏิบัติงานของ ศรชล. ให้สามารถติดต่อ เชื่อมโยง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

(๕) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนตระหนักรู้ในความสำคัญของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สิทธิอธิปไตย เขตอำนาจ และสิทธิในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในเขตทางทะเลพื้นที่ต่าง ๆ และหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ ศรชล. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

มาตรา ๒๐  นอกจากการมอบอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บรรดาหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ ผอ.ศรชล.ภาค หรือ ผอ.ศรชล.จังหวัด หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติแทนก็ได้

 

มาตรา ๒๑  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจของ ศรชล. ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้หน่วยงานของรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. ตามที่ผู้อำนวยการร้องขอ และให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กรอื่นที่มีหน้าที่และอำนาจทำนองเดียวกันของหน่วยงานของรัฐนั้น จัดให้หน่วยงานของรัฐที่จัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ยัง ศรชล. มีอัตรากำลังแทนตามความจำเป็นแต่ไม่เกินจำนวนอัตรากำลังที่จัดส่งไป โดยการจัดอัตรากำลังแทนดังกล่าวอาจจัดเป็นรายอัตราหรือเป็นหน่วยก็ได้

ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. ตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราที่ได้รับอยู่เดิมต่อไป สำหรับสิทธิประโยชน์อื่นให้เป็นไปตามกฎหมาย

ว่าด้วยการนั้น

 

มาตรา ๒๒  ให้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการบริหาร ศรชล.” ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานกรรมการ รองผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ ผอ.ศรชล.ภาค เป็นกรรมการ

ให้เสนาธิการทหารเรือเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือแต่งตั้งอีกหนึ่งคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

มาตรา ๒๓  คณะกรรมการบริหาร ศรชล. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณเพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการพิจารณาให้ความเห็นชอบ

(๒) เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานในหน้าที่และอำนาจของ ศรชล.

(๓) วางระเบียบเกี่ยวกับการอำนวยการและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

(๔) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อให้มีการบูรณาการในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ หรือเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๒๗ ได้ทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ

(๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการรวบรวมและบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานของรัฐให้สามารถติดต่อ เชื่อมโยง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเล

(๖) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ ศรชล. ศรชล.ภาค และ ศรชล.จังหวัด

(๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ การสืบสวน และการสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติหน้าที่หรือการสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา และการเก็บรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับของกลาง  ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(๘) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงิน การคลัง การจัดการทรัพย์สินของ ศรชล. ศรชล.ภาค และ ศรชล.จังหวัด และการอื่นใดที่จำเป็น

(๙) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

(๑๐) แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ศรชล. เพื่อให้การเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหรือป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการบริหาร ศรชล. และ ศรชล.

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ศรชล. หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ศรชล. ตาม (๑๐) ให้มีส่วนร่วมของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามหรือผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในด้านต่าง ๆ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหาร ศรชล. กำหนด

 

มาตรา ๒๔  การประชุมของคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ให้นำความในมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๕  ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค เรียกโดยย่อว่า “ศรชล.ภาค” ขึ้นใน ศรชล. โดยมีผู้บัญชาการทัพเรือภาคเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค เรียกโดยย่อว่า “ผอ.ศรชล.ภาค” มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของทัพเรือภาคและจังหวัดชายทะเลตามที่ผู้อำนวยการมอบหมาย

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ศรชล.ภาค ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของทัพเรือภาค รวมตลอดทั้งข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในเขตพื้นที่ให้มาปฏิบัติงานประจำหรือเป็นครั้งคราวใน ศรชล.ภาค ได้

ผอ.ศรชล.ภาค เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงานใน ศรชล.ภาค และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ ศรชล.ภาค

การจัดโครงสร้าง การแบ่งส่วนงานและหน้าที่และอำนาจ อัตรากำลัง และการบริหารงานของส่วนงานภายใน ศรชล.ภาค ให้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการกำหนด

เพื่อประโยชน์ในการอำนวยการและการประสานงานของ ศรชล.ภาค ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาคก็ได้ เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการที่ปรึกษา ศรชล.ภาค” ประกอบด้วย หัวหน้าหรือผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่อยู่ในเขตพื้นที่ของ ศรชล.ภาค เพื่อให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือ ศรชล.ภาค ในการปฏิบัติงานในหน้าที่และอำนาจของ ศรชล.ภาค รวมทั้งให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือ ผอ.ศรชล.ภาค ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่ ศรชล.ภาค  ทั้งนี้ การประชุมและการดำเนินงานอื่นของคณะกรรมการที่ปรึกษา ศรชล.ภาค ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนด

ให้ ศรชล. และหน่วยงานของรัฐพิจารณาให้การสนับสนุนด้านบุคลากร ทรัพย์สิน และงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนด้านบุคลากรและทรัพย์สิน ในการปฏิบัติงานของ ศรชล.ภาค ตามที่ ผอ.ศรชล.ภาค ร้องขอ และให้นำความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับกับ ศรชล.ภาค โดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๖  ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “ศรชล.จังหวัด” ตามด้วยชื่อจังหวัดขึ้นในจังหวัดชายทะเลทุกจังหวัดที่อยู่ในเขตของ ศรชล.ภาค เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อ ศรชล.ภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “ผอ.ศรชล.จังหวัด” มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดชายทะเล

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ศรชล.จังหวัด ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในเขตพื้นที่ให้มาปฏิบัติงานประจำหรือเป็นครั้งคราวใน ศรชล.จังหวัด ได้

ผอ.ศรชล.จังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงาน ใน ศรชล.จังหวัด และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ ศรชล.จังหวัด

การจัดโครงสร้าง การแบ่งส่วนงานและหน้าที่และอำนาจ อัตรากำลัง และการบริหารงานของส่วนงานภายใน ศรชล.จังหวัด ให้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการกำหนด

ให้นำความในมาตรา ๒๕ วรรคห้า มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา ศรชล.จังหวัด โดยอนุโลม

ให้ ศรชล. และหน่วยงานของรัฐพิจารณาให้การสนับสนุนด้านบุคลากร ทรัพย์สิน และงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนด้านบุคลากรและทรัพย์สิน ในการปฏิบัติงานของ ศรชล.จังหวัด ตามที่ ผอ.ศรชล.จังหวัด ร้องขอ และให้นำความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับกับ ศรชล.จังหวัด โดยอนุโลม

 

หมวด ๓

ภารกิจการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

                 

 

มาตรา ๒๗  ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลโดยทั่วไป ให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐตามขอบเขตของกฎหมายที่ให้หน้าที่และอำนาจแก่หน่วยงานของรัฐนั้น

ในกรณีภาวะปกติ เมื่อปรากฏว่าการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลโดยทั่วไปตามวรรคหนึ่งกรณีใดเกินขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐ กรณีที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดรับผิดชอบ กรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการบูรณาการในการปฏิบัติงาน หรือกรณีที่มีความจำเป็นอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดให้ ศรชล. เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐ เพื่อกำกับดูแล อำนวยการ และบูรณาการในการจัดการหรือแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐเข้าด้วยกันในการป้องกัน ปราบปราม หรือแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ หรือการกระทำผิดกฎหมายที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเล

ในกรณีภาวะไม่ปกติอันเนื่องมาจากสถานการณ์ใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลอย่างกว้างขวางหรือรุนแรง กรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกรณีที่มีความจำเป็นอื่นที่ต้องประกาศภาวะไม่ปกติ คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้ ศรชล. เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐเพื่อกำกับดูแล ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง จัดการ แก้ไข หรือบรรเทาปัญหาที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดก็ได้  ทั้งนี้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศภาวะไม่ปกติให้ทราบโดยทั่วไป และเมื่อภาวะไม่ปกตินั้นสิ้นสุดลง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกภาวะไม่ปกติและให้ภารกิจของ ศรชล. ในภาวะไม่ปกตินั้นสิ้นสุดลง และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

 

มาตรา ๒๘  ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๒๗ ให้ ศรชล. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ควบคุมบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐเพื่อกำกับดูแล ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง จัดการ แก้ไข หรือบรรเทาปัญหา เหตุการณ์ สาธารณภัย หรือการกระทำผิดกฎหมายที่กระทบ หรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลตามมาตรา ๒๗ วรรคสองหรือวรรคสาม  ทั้งนี้ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ ศรชล. มีอำนาจประกาศเขตการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยกำหนดพื้นที่เพื่อดำเนินการดังกล่าวกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วนได้เป็นการเฉพาะคราวและภายในช่วงเวลาที่กำหนด โดยประกาศดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ศรชล. กำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง รวมทั้งขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

(๒) ดำเนินการเพื่อให้มีการบูรณาการในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ หรือเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๒๗ ได้ทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหาร ศรชล. กำหนด

(๓) กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการหรือบูรณาการในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนเผชิญเหตุ หรือคำสั่งการของ ศรชล. ที่เกี่ยวข้อง

(๔) สั่งการและกำกับดูแลท่าเทียบเรือ กิจการท่าเรือ ที่จอดเรือ ท่ารับส่งสินค้า ท่ารับส่งคนโดยสาร ท่าเทียบเรือประมง กิจการแพปลา และพื้นที่หรือสถานที่ตามที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนด  ทั้งนี้ ในกรณีตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมสถานที่หรือกิจการดังกล่าวต้องร้องขอ

 

มาตรา ๒๙  เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลตามพระราชบัญญัตินี้หรือการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเรียกประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้และคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้

 

หมวด ๔

การปฏิบัติการและพนักงานเจ้าหน้าที่

                 

 

มาตรา ๓๐  ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๒๗ เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ายานพาหนะ หรือบุคคลในยานพาหนะนั้น ได้กระทำความผิดตามกฎหมายของประเทศไทยในเขตทางทะเลเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลใด ๆ ไม่ว่าจะมีการกระทำความผิดอื่นด้วยหรือไม่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสืบสวนและสอบสวน และในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสอบสวน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตทางทะเลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นพนักงานสอบสวน ส่วนการกำหนดพื้นที่ในการสอบสวนและการกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งให้มีอำนาจกระทำการเท่าที่จำเป็น ดังต่อไปนี้

(๑) สั่งให้ยานพาหนะหยุด และใช้มาตรการบังคับเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ยานพาหนะนั้นหยุด รวมทั้งสั่งและบังคับให้ผู้ควบคุมยานพาหนะและคนประจำยานพาหนะนำยานพาหนะไปยังที่ใดที่หนึ่ง

(๒) สั่งให้บุคคลหรือยานพาหนะซึ่งขัดขวาง กีดขวาง หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติภารกิจออกจากพื้นที่ที่กำหนด

(๓) ขึ้นไปบนยานพาหนะนั้น เพื่อตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับยานพาหนะ และเอกสารคนประจำยานพาหนะนั้น

(๔) ค้นยานพาหนะ และคนประจำยานพาหนะที่ต้องสงสัยนั้น ให้รื้อหรือขนสิ่งของในยานพาหนะใด ๆ เพื่อการค้น โดยไม่ต้องมีหมายค้น

(๕) ควบคุมผู้ต้องสงสัย ตลอดจนควบคุมยานพาหนะ และสิ่งของที่จะใช้หรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด ถ้าการตรวจค้นยานพาหนะหรือการสืบสวนมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีหรือได้มีการกระทำความผิด ห้ามมิให้ควบคุมยานพาหนะ ผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือบุคคลในยานพาหนะไว้เกินความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี

(๖) ให้พ่วงยานพาหนะ หรือให้ทำการอื่นเพื่อให้ยานพาหนะนั้นไปยังที่ซึ่งสะดวกแก่การตรวจค้น การสอบสวน หรือการดำเนินคดี

(๗) ไล่ตามยานพาหนะใด ๆ ที่กระทำหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ประเทศไทยมีเขตอำนาจ รวมทั้งไล่ตามจับกุมผู้ต้องสงสัยที่หนีขึ้นฝั่งได้ตามความจำเป็น

(๘) สอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่นำตัวผู้ต้องหามาถึงฝั่ง ณ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหามาถึงที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ทั้งนี้ เมื่อการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีที่ไม่แน่ชัดว่าควรส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพื้นที่ใด ให้ส่งไปยังพนักงานอัยการตามที่อัยการสูงสุดกำหนด

การสอบสวนหรือการสอบสวนร่วมกันตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้อำนวยการ หรือรองผู้อำนวยการ ในกรณีที่ผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้องก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการไปก่อน แต่ทั้งนี้ มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาโดยอนุโลม

ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ยานพาหนะ หรือบุคคลในยานพาหนะใดได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเขตทางทะเลภายนอกราชอาณาจักร เช่น การออกอากาศโดยส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ยานพาหนะนั้นปราศจากสัญชาติ หรือเรือที่ชักธงของรัฐสองรัฐขึ้นไปตามความสะดวก หรือเปลี่ยนธงในระหว่างการเดินเรือที่อาจถูกถือเสมือนเป็นเรือไร้สัญชาติ หรือแม้ว่าเป็นเรือที่ชักธงต่างชาติ หรือไม่ยอมแสดงธงของตนแต่เรือนั้นตามความเป็นจริงเป็นเรือไทย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ยานพาหนะหยุด หรือใช้มาตรการบังคับเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ยานพาหนะนั้นหยุดและขึ้นไปบนยานพาหนะนั้นเพื่อตรวจสอบเอกสาร รวมทั้งตรวจสอบสิ่งอื่นใดบนยานพาหนะนั้นเท่าที่จำเป็นเพื่อหาพยานหลักฐาน หากปรากฏพยานหลักฐาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้หยุดกระทำการหรือสั่งห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเป็นเรือไทย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามวรรคหนึ่ง

 

มาตรา ๓๑  เพื่อประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะให้ความเห็นชอบให้คดีใดต้องมีพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาสอบสวนร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำแนะนำและตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มการสอบสวนก็ได้  ทั้งนี้ การสอบสวนร่วมกันหรือการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหาร ศรชล. กำหนด

 

มาตรา ๓๒  ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวของ ศรชล. หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐของหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดประกอบกับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ให้เป็นไปตามแบบที่ผู้อำนวยการกำหนด

ผู้อำนวยการจะกำหนดให้ใช้เครื่องหมายแทนบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้  ทั้งนี้ การใช้หรือแสดงเครื่องหมายให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนด

 

มาตรา ๓๓  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า เรือต่างชาติได้กระทำผิดตามกฎหมายที่ประเทศไทยมีเขตอำนาจ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ให้อาณัติสัญญาณเพื่อสั่งให้หยุดในระยะทางที่เรือต่างชาติสามารถเห็นหรือได้ยินสัญญาณได้ โดยไม่จำเป็นว่าในขณะที่มีคำสั่งให้หยุด เรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งจะต้องอยู่ภายในเขตทางทะเลที่ประเทศไทยมีเขตอำนาจ หากเรือต่างชาตินั้นไม่หยุดพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิไล่ตามติดพันเรือต่างชาตินั้น เพื่อบังคับให้เรือต่างชาตินั้นหยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง และสามารถดำเนินการต่อไปนอกทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ หากการไล่ตามติดพันนั้นมิได้ขาดตอนลง แต่สิทธิการไล่ตามติดพันสิ้นสุดลงทันทีเมื่อเรือต่างชาติที่ถูกไล่ตามติดพันนั้นเข้าสู่ทะเลอาณาเขตของประเทศตนหรือประเทศอื่น

การไล่ตามติดพันในวรรคหนึ่ง อาจกระทำโดยเรือหรืออากาศยานอื่นของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการร่วมกับ ศรชล. ก็ได้

ในกรณีที่การไล่ตามติดพันกระทำโดยอากาศยาน ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยอากาศยานซึ่งออกคำสั่งให้หยุดต้องไล่ตามติดพันเรือต่างชาตินั้นอย่างจริงจังด้วยตนเองจนกระทั่งเรือหรืออากาศยานลำอื่นที่อากาศยานนั้นเรียกมาได้มาถึงเพื่อรับช่วงการไล่ตามติดพันแล้ว เว้นแต่อากาศยานนั้นจะสามารถจับกุมเรือต่างชาตินั้นด้วยตนเองได้ การไล่ตามติดพันจะกระทำมิได้ถ้าอากาศยานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะไล่ตามติดพันเพียงแต่เห็นเรือต่างชาติกระทำความผิดหรือสงสัยว่าได้กระทำความผิดแต่มิได้มีการสั่งให้หยุดและมิได้มีการไล่ตามติดพันโดยเรือหรืออากาศยานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเรือหรืออากาศยานอื่นของรัฐโดยไม่ขาดตอน

การไล่ตามติดพันตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมกับเรือต่างชาติที่กระทำความผิดตามกฎหมายไทยที่ใช้บังคับในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไหล่ทวีป หรือเขตปลอดภัยรอบสิ่งติดตั้งในไหล่ทวีป

การไล่ตามติดพันในมาตรานี้ให้หมายความรวมถึง การไล่ตามเรือต่างชาติที่ได้กระทำความผิดหรือมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเรือต่างชาตินั้นได้กระทำความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำโดยเรือเล็กลำใดลำหนึ่งของเรือต่างชาตินั้นหรือทำงานร่วมกันกับยานพาหนะอื่น และใช้เรือต่างชาตินั้นเป็นเรือแม่ซึ่งอยู่หรือเข้ามาในเขตทางทะเลที่ประเทศไทยมีเขตอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นตัวการร่วมหรือเป็นผู้สนับสนุนกระทำความผิด แม้กระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าเป็นการกระทำในราชอาณาจักร และให้รับโทษในราชอาณาจักร

 

มาตรา ๓๔  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๒๗ ถ้ามีความจำเป็นที่ ศรชล. ต้องใช้อำนาจหรือหน้าที่ตามกฎหมายใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจหรือความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐใด ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ใน ศรชล. เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น หรือมีมติให้หน่วยงานของรัฐนั้นมอบหน้าที่และอำนาจและความรับผิดชอบตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าวให้ ศรชล. ดำเนินการแทนหรือมีอำนาจดำเนินการด้วยภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด  ทั้งนี้ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการใช้อำนาจนั้นไว้ด้วย

 

มาตรา ๓๕  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๒๗ ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด

(๒) ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณเขตทางทะเลหรือทางน้ำอื่น ๆ ตลอดจนพื้นที่ทางบก อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด ในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการ

(๓) ห้ามการออกเรือหรือนำเรือเข้าจอดในที่ต่าง ๆ

(๔) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ ข้อยกเว้น เงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ด้วยก็ได้  ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าวต้องไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

 

มาตรา ๓๖  ให้ผู้อำนวยการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้อำนวยการมอบหมาย เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

มาตรา ๓๗  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เลขาธิการ ศรชล. ผอ.ศรชล.ภาค ผอ.ศรชล.จังหวัด และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๓๘  ผู้อำนวยการ รองผู้อานวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เลขาธิการ ศรชล. ผอ.ศรชล.ภาค ผอ.ศรชล.จังหวัด และพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง เนื่องจากการที่ตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๓๙  ในการใช้อำนาจของ ศรชล. ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้สุจริตให้ ศรชล. จัดให้ผู้นั้นได้รับการชดเชยค่าเสียหายตามควรแก่กรณีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๔๐  พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายในพื้นที่ที่กำหนดตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม อาจได้รับสิทธิและค่าตอบแทนพิเศษตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งผู้ใดเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ พิการหรือสูญเสียอวัยวะอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจากที่มีกฎหมายกำหนด  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๔๑  บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

การดำเนินคดีใด ๆ อันเนื่องมาจากข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม  ทั้งนี้ ในกรณีที่ศาลจะต้องพิจารณาเพื่อใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี ให้ศาลเรียกพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งออกข้อกำหนด ประกาศหรือคำสั่งหรือกระทำการนั้น มาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รายงานหรือแสดงเหตุผล เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวดังกล่าวด้วย

 

หมวด ๕

บทกำหนดโทษ

                 

 

มาตรา ๔๒  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศรชล. ตามมาตรา ๒๘ (๔) หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๒) หรือวรรคสี่ หรือต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งได้กระทำภายในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา ๔๓  ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประมงหรือสิ่งแวดล้อมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสิบล้านบาท

 

มาตรา ๔๔  ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้กระทำการดังกล่าวเป็นคนประจำเรือซึ่งมิได้เป็นเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ และศาลเห็นว่าเป็นการกระทำไปตามคำสั่งการของเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ศาลจะไม่ลงโทษหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

 

บทเฉพาะกาล

                 

 

มาตรา ๔๕  ให้บรรดาระเบียบหรือข้อบังคับในเรื่องใดที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานที่ออกโดยศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมติสภาความมั่นคงแห่งชาติครั้งที่ ๒/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือศูนย์อำนวยการชื่ออื่นที่อาจมีการจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แทนศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ยังคงมีผลใช้บังคับกับ ศรชล. ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับในเรื่องนั้นที่ออกโดยคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร ศรชล. หรือผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแทน

การดำเนินการออกระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้นายกรัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

 

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งปัญหาดังกล่าวอยู่ในเขตทางทะเลอันมีลักษณะที่หลากหลายและประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตยที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลไว้ รวมทั้งมีสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องปฏิบัติตามอีกด้วย อันทำให้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถใช้บังคับในเขตทางทะเลที่อยู่ภายนอกราชอาณาจักร หรืออาจไม่ครอบคลุมถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีอยู่อย่างมากมายในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร หรือด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยปฏิบัติงานหลักเพื่อรับผิดชอบดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีเอกภาพ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติงานในเขตทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

                     


พัชรภรณ์/ธนบดี/จัดทำ

๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒

 

นุสรา/ตรวจ

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒

 


[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๓๐ ก/หน้า ๑/๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒