ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
กฎกระทรวง
เริ่มใช้บังคับ : 1 ก.พ. 2561

กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองสุขภาพของคนประจำเรือ พ.ศ. 2561

MINISTERIAL REGULATIONS STANDARDS FOR HEALTH PROTECTION OF SEAFARERS B.E. 2561


กฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองสุขภาพของคนประจำเรือ พ.ศ. ๒๕๖๑
Ministerial regulations
Standards for health protection of seafarers B.E. 2561
(ประกาศ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 และลงในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561)

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘0 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ คนประจำเรือมีสิทธิที่จะได้พบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเจ้าของเรือต้องจัดให้คนประจำเรือที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลและดูแล หรือจำเป็นต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมกว่าที่มีอยู่บนเรือได้พบแพทย์หรือทันตแพทย์บนฝั่งเพื่อรับการตรวจรักษา ณ เมืองท่า ทันทีที่สามารถทำได้
ข้อ ๒ เจ้าของเรือต้องจัดให้มีมาตรการในเชิงป้องกันโรค การควบคุมโรค การส่งเสริมสุขภาพการรักษาพยาบาล และการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ รวมทั้งทบทวนการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานแก่คนประจำเรือ
ข้อ ๓ เจ้าของเรือต้องจัดให้มีสถานที่พยาบาลบนเรือ ตู้ยา อุปกรณ์พื้นฐานทางการแพทย์คู่มือการรักษาพยาบาล คู่มือการปฐมพยาบาลในอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอันตราย ข้อมูลจำเพาะของสินค้าอันตรายที่ขนส่งรวมถึงความเสี่ยงภัย อุปกรณ์ป้องกันและยาแก้พิษเฉพาะประเภท ประมวลข้อปฏิบัติด้านการส่งสัญญาณระหว่างประทศในหมวดว่าด้วยการรักษาพยาบาล (International Code of Signals: Chapter 3 Medical Signal Code) ไว้บนเรือสำหรับการใช้งาน
ข้อ ๔ ในกรณีที่ไม่มีแพทย์อยู่บนเรือ เจ้าของเรือต้องจัดให้มีคนประจำเรืออย่างน้อยหนึ่งคนทำหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาลและจัดการเกี่ยวกับยา ทั้งนี้ คนประจำเรือดังกล่าวต้องผ่านการฝึกอบรมด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการฝึกอบรมคนประจำเรือแล้วในกรณีที่เรือบรรทุกคนตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป และเดินทะเลระหว่างประเทศเกินกว่าสามวัน เจ้าของเรือต้องจัดให้มีแพทย์อยู่บนเรือเพื่อรับผิดชอบด้านการรักษาพยาบาล
ข้อ ๕ นายเรือต้องจัดทำรายงานทางการแพทย์ (medical report) สำหรับคนประจำเรือที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บและถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลบนฝั่งนำติดตัวไปด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ การให้การรักษาพยาบาลบนเรือและข้อมูลส่วนบุคคลของคนประจำเรือแก่แพทย์ที่จะทำการรักษา และเพื่อที่แพทย์จะบันทึกข้อวินิจฉัย ความเห็นและผลการรักษาลงในรายงานดังกล่าว และให้คนประจำเรือนำกลับมาที่เรือข้อมูลในรายงานทางการแพทย์ตามวรรคหนึ่งนายเรือต้องจัดเก็บไว้เป็นความลับ และนำมาใช้เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาพยาบาลคนประจำเรือเท่านั้น
รายงานทางการแพทย์สำหรับเรือไทย ให้เป็นไปตามแบบ คร.0๑ แนบท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๖ เจ้าของเรือต้องจัดให้มีวิทยุสื่อสารหรือการสื่อสารผ่านดาวเทียม และจัดทำรายชื่อสถานีวิทยุชายฝั่งหรือสถานีวิทยุผ่านดาวเทียมอย่างครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถรับคำแนะนำทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญผ่านทางสถานีนั้นได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากคนประจำเรือ

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
-------------------------------------
Appendix
https://drive.google.com/file/d/1JLEKnMpAFcoVCFczM5hxA_5ljo7hjY4M/view?usp=share_link
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘. วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕ ๘ บัญญัติให้มาตรฐานการคุ้มครองสุขภาพของคนประจำเรือ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการปฏิบัติตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเล ค.ศ. ๒๐๐๖ (Maritime Labour Convention 2006) จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้