ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
กฎกระทรวง
เริ่มใช้บังคับ : 1 ก.พ. 2561

กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. 2561

Ministerial regulations Standards for tools or equipment and safety measures for working on ships B.E. 2561


กฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. ๒๕๖๑
Ministerial regulations
Standards for tools or equipment and safety measures for working on ships B.E. 2561
(ประกาศ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 และลงในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561)

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
"ความปลอดภัยในการทำงาน" หมายความว่า การกระทำหรือสภาพการทำงานซึ่งปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ การประสบอันตราย โรค การเจ็บป่วย หรือความเดือดร้อนรำคาญเนื่องจากการทำงานหรือเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของประมวลข้อปฏิบัติเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุบนเรือในทะเลและในท่เรือ ค.ศ. ๑๙๙๖ และตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม (Code of practice entitled Accident prevention on board ship at sea and in port, 1996 as amended)
ที่ออกโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)
"การชี้บ่งอันตราย" หมายความว่า การแจกแจงอันตรายต่าง ๆ ที่มีและที่แอบแฝงอยู่ซึ่งอาจเกิดจากการทำงานบนเรือในทุกขั้นตอน
"การประเมินความเสี่ยง" หมายความว่า กระบวนการวิเคราะห์ถึงปัจจัยหรือสภาพการณ์ต่าง ๆที่เป็นสาเหตุทำให้อันตรายที่มีและที่แอบแฝงอยู่ โดยพิจารณาถึงโอกาสและความรุนแรงของเหตุการณ์เหล่านั้นซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายหรือความเสี่ยหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งอื่นใด
ข้อ ๒ เจ้าของเรือต้องกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือตามประมวลข้อบังคับการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย (International Safety Management Code) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน การบาดเจ็บ และโรคที่เกิดจากการทำงาน
ข้อ ๓ การกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ ให้เจ้าของเรือดำเนินการโดยอาศัยข้อมูลและอยู่บนพื้นฐานของเรื่อง ดังต่อไปนี้
(๑) นโยบายและแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพอนามัยบนเรือ
(๒) การขี้บ่งอันตราย การประเมินความสี่ยง และจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อจัดการความเสี่ยงที่พบจากการประเมิน
(๓) การสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไข และป้องกัน
(๔) การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ
ข้อ ๔ เจ้าของเรือต้องจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานบนเรือโดยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ดังกล่าวต้องได้รับการรับรองมาตรฐานและเหมาะสมกับประเภท ชนิด และลักษณะของการทำงานบนเรือที่คนประจำเรือได้ทำอยู่บนเรือ ทั้งนี้ โดยให้สอดคล้องและเพียงพอต่อการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือที่กำหนดไว้ตามข้อ ๓
ข้อ ๕ คนประจำเรือต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงานและปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรื่อที่เจ้าของเรือกำหนดไว้ตามกฎกระทรวงนี้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
-------------------------------
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕ ๘ บัญญัติให้เจ้าของเรือต้องจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ และกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ เพื่อให้ความคุ้มครองและดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานบนเรือแก่คนประจำเรือ ทั้งนี้ ตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงจึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้