การดำเนินการสำหรับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
พ.ศ. ๒๕๖๔
________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้
“ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศ” หมายความว่า ประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code)) ซึ่งกำหนดโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
“สิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้” หมายความว่า ชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้ เกิดอันตรายขึ้นได้ ตามประกาศที่ออกตามมาตรา ๑๘๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
“ภาชนะ” หมายความว่า ถัง ถุง กล่อง หรือสิ่งที่ใช้บรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และหมายความรวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภาชนะดังกล่าวด้วย
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า
ข้อ ๓ ภาชนะที่ใช้บรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ได้ผลิตหรือจัดทำขึ้นตามระบบคุณภาพและมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และอยู่ใน สภาพพร้อมใช้งาน
(๒) พื้นผิวด้านในภาชนะต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเมื่อสัมผัสกับสิ่งของที่บรรจุในภาชนะนั้น
(๓) ทนทานต่อแรงดันของสิ่งของที่บรรจุ และการกระทบกระแทกตามปกติในการยก การขน การเคลื่อนย้าย และการจัดเก็บในการขนส่งทางน้ำ
(๔) ภาชนะเปล่าที่ผ่านการบรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้มาแล้ว จะต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดและทำให้แห้ง หรือมีการปิดไว้อย่างมิดชิดและมั่นคงในกรณีที่อาจทำได้โดยปลอดภัย ตามสภาพของสิ่งของที่เคยบรรจุในภาชนะนั้น
ข้อ ๔. วิธีการบรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องมีวิธีการบรรจุที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับสิ่งของที่บรรจุนั้นและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) การบรรจุก๊าซอัดในภาชนะ ต้องมีการบรรจุที่เหมาะสมกับสภาพของภาชนะที่บรรจุ
(๒) การบรรจุของเหลวในภาชนะ ต้องมีส่วนพร่องไว้ให้เพียงพอสำหรับการขยายตัวของของเหลวนั้น ณ อุณหภูมิสูงสุดระหว่างการขนส่งตามเส้นทางปกติ
(๓) การใช้วัสดุซึมซับหรือวัสดุบุรองที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับหีบห่อของเหลวที่บรรจุในภาชนะที่ใช้ สำหรับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ในระหว่างการขนส่งและการจัดเก็บ ต้องมีลักษณะและคุณสมบัติ ดังนี้
(ก)สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากของเหลวนั้นให้น้อยที่สุด
(ข)ต้องจัดไว้ในลักษณะที่สามารถป้องกันการเคลื่อนไหวของภาชนะที่ใช้สำหรับบรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ โดยหุ้มรอบภาชนะดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา
(ค)มีปริมาณเพียงพอหรือมากพอที่จะซึมซับ และรองรับของเหลวได้ ในกรณีที่สิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ที่บรรจุในภาชนะนั้นเกิดเหตุรั่วไหล
ข้อ ๕ ประเภทของภาชนะ มาตรฐานของภาชนะ การจัดให้มีและการรับรองการใช้รหัสสหประชาชาติ (United Nation Mark) และข้อปฏิบัติในการบรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ ๖ ภาชนะที่ใช้บรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ต้องมีการจัดทำและ แสดงเครื่องหมายที่ระบุถึงประเภทหรือชนิดของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้นั้น โดยจะใช้และ แสดงเพียงชื่อทางการค้าอย่างเดียวไม่ได้ รวมทั้งต้องมีเครื่องหมายที่เป็นตรา ฉลาก ป้าย หรือพ่นสีลายฉลุ เพื่อบ่งบอกถึงสภาพความอันตรายของสิ่งของที่บรรจุในภาชนะนั้นไว้อย่างชัดเจนเป็นการเฉพาะ เว้นแต่กรณีที่เป็นภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีในปริมาณอันจำกัดและมีภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีเดียวกันที่จะขนส่งเป็นจำนวนมากโดยสามารถจัดเก็บและยกขึ้นเป็นหน่วยเดียวกันได้ อาจไม่ต้องจัดทำ และแสดงเครื่องหมายดังกล่าวก็ได้
แบบหรือลักษณะของเครื่องหมาย และวิธีการแสดงเครื่องหมายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด
ข้อ ๗ การจัดเก็บและการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องจัดเก็บและ จัดแยกเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเหมาะสมตามประเภทหรือชนิดของสิ่งของนั้น โดยในการจัดเก็บสิ่งของที่อาจทําให้เกิดอันตรายขึ้นได้ซึ่งเมื่ออยู่รวมกันแล้วอาจทำให้เกิดระเบิด เพลิงไหม้ หรือเป็นอันตราย แก่เรือหรือบุคคลในเรือ ต้องมีการจำแนกประเภท และชนิดของสิ่งของดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการขนถ่ายเคลื่อนย้ายและการจัดแยกตามกลุ่มความเข้ากันได้ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ ๘ การจัดเก็บและการจัดแยกสิ่งของที่อาจทําให้เกิดอันตรายขึ้นได้ต่างประเภทหรือ ชนิดกันและไม่สามารถเข้ากันได้ หรือเมื่อจัดเก็บไว้ด้วยกันหรืออยู่ใกล้กันแล้วอาจทำให้เกิดระเบิด เพลิงไหม้ ปฏิกิริยาเคมี หรือเป็นอันตรายแก่เรือหรือบุคคลในเรือ ให้จัดเก็บและจัดแยกสิ่งของดังกล่าว ออกจากกันตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีเป็นวัตถุระเบิดซึ่งมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรง ยกเว้นเครื่องกระสุน ต้องเก็บไว้ในตลับที่ปิดไว้อย่างมั่นคงในระหว่างการขนส่ง โดยต้องจัดเก็บแยกจากชนวนจุดระเบิด
(๒) กรณีเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าในห้องหรือช่องระวางที่บรรทุกวัตถุระเบิด ต้องออกแบบและใช้งานในลักษณะที่ทำให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการเกิดเพลิงไหม้หรือระเบิด
ข้อ ๙ การขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ที่เป็นวัสดุกัมมันตรังสี ต้องปฏิบัติ ตามมาตรฐานและข้อกำหนดด้านการขนส่งสารกัมมันตรังสีของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ โดยต้องไม่จัดวางไว้สิ่งของดังกล่าวในบริเวณเดียวกันหรือปะปนกับวัตถุระเบิด ก๊าซไวไฟ ของเหลวไวไฟ ของแข็งไวไฟ วัตถุที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ได้เอง วัตถุที่ถูกน้ำแล้วให้ก๊าซไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์และออร์แกนนิคเปอร์ออกไซด์ และวัตถุกัดกร่อน รวมทั้งต้องจัดแยกจากบุคคล เครื่องอุปโภค พัสดุไปรษณีย์ และแผ่นฟิล์มถ่ายภาพด้วย
ข้อ ๑๐ การขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ที่มีไอระเหยเป็นอันตราย ต้องจัดเก็บไว้ ในที่ที่มีการระบายอากาศอย่างดีหรือบนปากระวาง
ข้อ ๑๑ ในการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องจัดให้มีคู่มือกำาหนดความปลอดภัย ในการบรรทุกสินค้า (Cargo Securing Manual) ที่เจ้าท่าให้ความเห็นชอบหรือรับรองแล้ว โดยตลอดเวลาระหว่างการขนส่งนั้นต้องทำการบรรทุก จัดเก็บในเรือ และรัดตรึงสินค้า หน่วยการขนส่งของสินค้า (Cargo Transport Unit) และตู้สินค้า (Freight Container) อย่างถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในคู่มือดังกล่าว
วิธีการจัดทำและขอความเห็นชอบหรือรับรองคู่มือกำหนดความปลอดภัยในการบรรทุกสินค้า ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อแนะนำ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
ข้อ ๑๒ ในการขนย้ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ที่อาจเกิดความร้อนในตัวเองหรือ อาจเกิดการสันดาปในตัวเอง ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ และ ในกรณีที่สิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เป็นของเหลวไวไฟหรือก๊าซไวไฟ ต้องปฏิบัติตามคําเตือนพิเศษ ในเรื่องการเกิดเพลิงไหม้หรือการเกิดระเบิด ตามมาตรฐานในประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศ
ข้อ ๑๓ การจัดให้มีเอกสารกำกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องปฏิบัติตาหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ที่ขนส่งในรูปแบบหีบห่อ หรือตู้สินค้า รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือรับรองการบรรจุหีบห่อ ให้ปฏิบัติโดยสอดคล้องตามคำแนะนำในประมวล ข้อบังคับระหว่างประเทศ และต้องแจกจ่ายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของดังกล่าวได้ทราบด้วย
(๒) ให้ระบุประเภทหรือชนิดสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้สำหรับการขนส่งสิ่งของนั้นโดยจะใช้และแสดงชื่อทางการค้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้
(๓) ให้ใช้เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Material Safety Data Sheet) ตามที่อธิบดี ประกาศกำหนด
(๔)กรณีการขนส่งในรูปแบบหีบห่อ เอกสารการขนส่งที่ผู้ขนส่งสิ่งของเป็นผู้จัดทำต้องมีหรือ แนบคำรับรองหรือคำสำแดงว่า สิ่งของที่ส่งนั้นได้บรรจุหีบห่อและจัดทำและแสดงเครื่องหมายอย่างถูกต้อง และอยู่ในสภาพที่เหมาะสมสาหรับการขนส่ง
(๕) ผู้ที่รับผิดชอบและดำเนินการบรรจุหีบห่อหรือบรรจุสิ่งของที่อาจทําให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องลงนามในคำรับรองการบรรจุสินค้าที่แสดงว่า สิ่งของในภาชนะนั้นถูกบรรจุและรัดตรึงอย่างถูกต้อง และสอดคล้องตามข้อกำหนดในประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คำรับรองดังกล่าวอาจรวมอยู่ ในเอกสารตาม (๔) ก็ได้
(๖) เรือที่บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องมีรายชื่อของสิ่งของที่อาจทำให้เกิด อันตรายขึ้นได้ (Proper Shipping Name) ในเอกสารสำแดงรายการสินค้า (Manifest) โดยต้องระบุ แผนการจัดเก็บสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้บนเรือ (Stowage Plan) และตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งของนั้น โดยอาจใช้แผนผังการบรรทุกสิ่งของในเรือที่ระบุขั้นและที่ตั้งของสิ่งของที่อาจทำให้เกิด อันตรายขึ้นได้ทั้งหมดบนเรือแทนแผนการจัดเก็บและตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งของดังกล่าวก็ได้
รายละเอียดและวิธีการจัดให้มีเอกสารกำกับตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศ กําหนด ทั้งนี้ การจัดให้มีเอกสารตามวรรคหนึ่งอาจกระทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ข้อ ๑๔ เรือที่บรรทุกหรือขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ต้องทอดจอด ณ ท่าเรือที่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ ลานพักสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวก ผู้ปฏิบัติงานกับเรือ และ มาตรการและแผนความปลอดภัยในการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ที่เพียงพอและ เป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ ๑๕ เรือที่บรรทุกหรือขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ต้องทอดจอด ณ ท่าเรือที่มีผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขณะขึ้นหรือลงเรือ ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวต้องมีความรู้และความสามารถเกี่ยวกับการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิด อันตรายขึ้นได้ตามวิธีการประเมินความรู้ความสามารถและหลักสูตรการฝึกอบรมตามที่อธิบดีประกาศ กำหนด
ข้อ ๑๖ ให้นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือรายงานเหตุ กรณีสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ตกหล่นหรือรั่วไหลจากเรือลงในทะเล หรือคาดว่าจะตกหล่นหรือรั่วไหลจากเรือลงในทะเล โดยไม่ชักช้าต่อเจ้าท่า ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด
กรณีมีการสละเรือ หรือไม่ได้รับรายงานจากเรือ หรือรายงานที่ได้รับจากนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ตามวรรคหนึ่งมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๑๗ ในการประกาศกำหนดรายละเอียด วิธีการ มาตรฐาน หรือแนวทางสำหรับ การปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ให้อธิบดีคำนึงถึงหลักเกณฑ์และมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่าง ประเทศและประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศ และต้องไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการโดยไม่จำเป็น ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม