ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 209/2565
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 และข้อ 17 ของกฎกระทรวงการดำเนินการสำหรับสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ พ.ศ. 2564 ประกอบกับมาตรา ๑๙๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดเกี่ยวกับการฝึกอบรม หลักสูตร การฝึกอบรม และวิธีการประเมินความรู้ความสามารถ สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเล ให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code)) ซึ่งกำหนดโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ อธิบดีกรมเจ้าท่าจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ในประกาศนี้
“บุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่ง (Shore-based personnel)” หมายถึง บุคลากรใดก็ตาม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเล
“การฝึกอบรมภาคบังคับ (Compulsory trainings)” หมายถึง การฝึกอบรมเพื่อความตระหนักรู้ทั่วไป (General awareness training) และการฝึกอบรมตามหน้าที่เฉพาะ (Function-specific training)
“การฝึกอบรมเพื่อความตระหนักรู้ทั่วไป (General awareness training)” หมายถึง การฝึกอบรมเพื่อทำความคุ้นเคยกับประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code))
“การฝึกอบรมตามหน้าที่เฉพาะ (Function-specific training)” หมายถึง การฝึกอบรมตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code)) ตามหน้าที่เฉพาะที่บุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งนั้นปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยบุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะดังกล่าวทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อยตามหัวข้อที่กำหนด
“การฝึกอบรมภาคสมัครใจ (Advisory trainings)” หมายถึง การฝึกอบรมด้านความปลอดภัย (Safety training) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมตามความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสสารในกรณีที่มีการรั่วไหลเกิดขึ้น และตามหน้าที่ที่บุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งนั้นต้องปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งที่เกี่ยวข้องแต่ละคน ควรได้รับการฝึกอบรมในด้านนั้น ๆ
“สถานที่ฝึกอบรม” หมายถึง หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน ที่จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเลตามประกาศนี้
ข้อ 3 บุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งต้องได้รับการฝึกอบรมโดยสถานที่ฝึกอบรมตามเนื้อหา ของประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code)) ที่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบ ก่อนเข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเล หากบุคลากรนั้นยังไม่ได้รับการฝึกอบรมแต่มีเหตุจำเป็นให้ต้องเข้าปฏิบัติงาน สามารถอนุญาตให้ปฏิบัติงานได้เฉพาะกรณีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของผู้ได้ผ่านการฝึกอบรมมาก่อนแล้วเท่านั้น
การฝึกอบรมต้องมีการกล่าวถึงมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ (Security training) ตามที่กำหนดในบทที่ 1.4 ของประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code)) ด้วย
ข้อ 4 ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเล และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังต่อไปนี้ ต้องใช้บุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งซึ่งผ่านการอบรมตามหลักสูตรการฝึกอบรมภาคบังคับ (Compulsory trainings) ในส่วนของหลักสูตรการฝึกอบรมตามหน้าที่เฉพาะ (Function-specific training) ที่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามที่กำหนดในภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศนี้
(๑) จำแนกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้และระบุชื่อการจัดส่งที่เหมาะสมของสิ่งของ
ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
(๒) บรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ลงบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ
(๓) เติมสารลงแท็งก์ (ไอโซแท็งก์)
(4) ติดเครื่องหมาย ฉลากหรือป้ายของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
(5) ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เข้า/ออกหน่วยขนส่งสินค้า (Cargo Transport Units: CTUs)
(6) จัดเตรียม/ออกเอกสารการขนส่งสำหรับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
(7) ส่งมอบสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้สำหรับการขนส่ง
(8) รับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เพื่อการขนส่ง
(9) จัดการหรือขนถ่ายเคลื่อนย้ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ระหว่างการขนส่ง
(10) เตรียมแผนการบรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้/การจัดระวาง (Stowage plans)
(11) ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขึ้น/ลง จากเรือ
(12) บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เพื่อการขนส่ง
(13)
บังคับใช้กฎหมายหรือสำรวจหรือตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ
ที่มีการบังคับใช้อยู่ หรือ
(14) กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ในลักษณะ อื่นใดตามที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
ข้อ 5 ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเล และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมตามข้อ 4 ต้องใช้บุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งซึ่งผ่านการอบรมตามหลักสูตรการฝึกอบรมภาคบังคับ (Compulsory trainings) ในส่วนของหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อความตระหนักรู้ทั่วไป (General awareness training) ด้วย ได้แก่
(๑) การอธิบายประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
(๒) ข้อกำหนดในการติดฉลาก การทำเครื่องหมาย การติดป้าย การบรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ การจัดวางบนระวางเรือ (Stowage) การจัดแยก (Segregation) และความเข้ากันได้ของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
(๓) การอธิบายถึงวัตถุประสงค์ และเนื้อหาของเอกสารกำกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ (เช่น แบบฟอร์มสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ต่อเนื่องหลายรูปแบบ และใบรับรองการบรรจุลงตู้คอนเทนเนอร์/ยานพาหนะ) และ
(๔) การอธิบายถึงเอกสารที่ให้ข้อมูลการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
(เช่น เอกสารข้อมูล
ความปลอดภัย)
ข้อ 6 กรณีมีความจำเป็น เจ้าท่าอาจแนะนำให้ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับ การขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเล ใช้บุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งซึ่งผ่านการอบรมตามหลักสูตรการฝึกอบรมภาคสมัครใจ (Advisory trainings) ในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) วิธีการและขั้นตอนในการหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การใช้อุปกรณ์เคลื่อนย้าย บรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้อง และวิธีการที่เหมาะสมในการจัดวางสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ข้อมูลการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่มีอยู่และวิธีใช้งาน
(๒) ความเป็นอันตรายของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ประเภทต่าง ๆ และวิธีป้องกันการรับสัมผัส รวมถึงการเลือกใช้ชุดและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ตามความเหมาะสม
(๓) ขั้นตอนปฏิบัติที่ต้องดำเนินการทันทีในกรณีที่มีการรั่วไหลของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้โดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงขั้นตอนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินตามหน้าที่รับผิดชอบ และขั้นตอน การป้องกันส่วนบุคคลที่จะต้องปฏิบัติตาม
ข้อ 7 การฝึกอบรม การประเมิน และการขึ้นทะเบียนผู้ผ่านการฝึกอบรมและการประเมิน ให้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำกำหนด
ข้อ 8 สถานที่ฝึกอบรมใดประสงค์จะจัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเลตามประกาศนี้ ต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อนดำเนินการฝึกอบรม และต้องยินยอมให้เจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าท่าเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการฝึกอบรม ณ สถานที่ฝึกอบรมนั้น เพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามประกาศนี้และตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code))
ให้กรมเจ้าท่าประกาศรายชื่อสถานที่ฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งในเว็บไซต์ของกรมเจ้าท่า
สถานที่ฝึกอบรมใดไม่ดำเนินการหรือไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้กรมเจ้าท่าพิจารณา ปลดรายชื่อออกจากประกาศในวรรคสอง และให้ถือว่าการฝึกอบรม การประเมิน และใบรับรองการผ่าน การฝึกอบรมและการประเมินที่ออกโดยสถานที่ฝึกอบรมนั้นไม่เป็นไปตามประกาศนี้ โดยกรมเจ้าท่าจะไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ผ่านการฝึกอบรมและการประเมินซึ่งได้ใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมและ การประเมินจากสถานที่ฝึกอบรมดังกล่าว
ให้ถือว่าบุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งที่ผ่านการฝึกอบรม การประเมิน และได้รับใบรับรอง การผ่านการฝึกอบรมและการประเมินที่ออกโดยสถานที่ฝึกอบรมซึ่งไม่ดำเนินการหรือไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง มิได้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ตามประกาศนี้ และตามข้อ 15 ของกฎกระทรวงการดำเนินการสำหรับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ พ.ศ. 2564
ข้อ 9 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบ และขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเลของผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเลหรือของกรมเจ้าท่า เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเลต้องจัดให้มีการซักซ้อมหรือฝึกอบรมบุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่งเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรซึ่งปฏิบัติงาน มีความรู้และมีความชำนาญเพียงพอ สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และขั้นตอนปฏิบัติงานที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น
ข้อ 10 ให้ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางทะเล แสดงเอกสารที่เกี่ยวกับบุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่ง และใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมและ
การประเมินแก่เจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในทันทีเพื่อตรวจสอบตามประกาศนี้ เมื่อเจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร้องขอ
ภาคผนวก
หน้าที่และหัวข้อการฝึกอบรมเฉพาะด้านสำหรับบุคลากรที่ทำงานบนชายฝั่ง
หน้าที่
1. จำแนกประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้และระบุชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง (proper shipping name) อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- คุณสมบัติความเป็นอันตรายด้านต่าง ๆ ของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้และเกณฑ์ในการจำแนกประเภท
- ขั้นตอนการจำแนกประเภทสารผสม
- การจำแนกสารที่เกิดมลภาวะทางทะเล (Marine pollutants)
- การกำหนดหมายเลขสหประชาชาติ ชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง และกลุ่มการบรรจุ
- การใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ข้อมูลที่ต้องแสดงในเอกสารกำกับการขนส่ง
- ข้อมูลอื่น ๆ (เช่น EmS-number และ Segregation group)
2. บรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- การใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ชนิดของบรรจุภัณฑ์ (ถัง เจอรี่แคน ถุง กล่อง บรรจุภัณฑ์ไอบีซี บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ แท็งก์คอนเทนเนอร์ และภาชนะแบบเทกอง)
- การทำเครื่องหมายบนบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง (UN Marks)
- ข้อกำหนดในการบรรจุรวมกัน และการแยกห่างบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ต่างประเภทกัน (mixed packing / segregation requirements)
- ข้อกำหนดในการบรรจุตามข้อ 4.1.1 ของประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code)) (ความเข้ากันได้กับวัสดุ ระดับการบรรจุ การทดสอบความดัน และการทดสอบการอัดด้วยของเหลว ความหนาแน่น บรรจุภัณฑ์ผสม)
- การบรรจุในปริมาณที่จำกัด (Limited Quantities)
หากผู้บรรจุหีบห่อมีหน้าที่ทำเครื่องหมาย และติดฉลาก ต้องผ่าน การอบรมในหัวข้อของการทำเครื่องหมายและติดฉลากด้วย
3. เติมสารลงแท็งก์ (ไอโซแท็งก์) อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- การใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- รหัสแท็งก์สำหรับแท็งก์ที่ยกและเคลื่อนย้ายได้
- ความเข้ากันได้ของวัสดุ
- ระดับการบรรจุ
- การทำเครื่องหมายและติดป้ายที่ไอโซแท็งก์
4. ทำเครื่องหมาย ติดฉลาก หรือป้ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ชนิดของเครื่องหมายบนบรรจุภัณฑ์ (หมายเลข UN ชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง เครื่องหมายมลภาวะทางทะเล เครื่องหมายลูกศรตั้งขึ้น แบตเตอรี่ลิเธียม)
- ชนิดของฉลากและป้ายแสดงความเป็นอันตราย (ฉลากความเป็นอันตรายหลักและความเป็นอันตรายรอง)
- ข้อกำหนดในการทำเครื่องหมายและการติดฉลาก
- การบรรจุในปริมาณที่จำกัด (Limited Quantities)
5. ขนถ่ายเข้า / ออกจากหน่วยขนส่งสินค้า อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ชนิดของบรรจุภัณฑ์
- การทำเครื่องหมายและติดฉลาก
- ข้อกำหนดในการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ก่อนการบรรจุ (CSC/ACEP การตรวจสอบตู้สินค้า)
- การผูกรัดติดตรึงสินค้าให้มั่นคง
- เอกสารการขนส่ง
- การรับรองการบรรจุลงตู้สินค้า/ยานพาหนะ (container/vehicle packing certificate)
- การทำเครื่องหมายและติดป้ายที่หน่วยขนส่งสินค้า
- กระบวนการในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และการปฐมพยาบาล
6. เตรียมเอกสารกำกับการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- การใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ข้อมูลทั่วไปในเอกสารกำกับการขนส่ง
- ข้อมูลอื่น ๆ ในเอกสารกำกับการขนส่ง
- การรับรองการบรรจุลงตู้สินค้า/ยานพาหนะ
- เอกสารที่ให้ข้อมูลในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- การบรรจุในปริมาณที่จำกัด (Limited Quantities)
7. ส่งมอบสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เพื่อการขนส่ง อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ชนิดของบรรจุภัณฑ์
- การรับรองการบรรจุลงตู้สินค้า/ยานพาหนะ
- ข้อกำหนดในการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การบรรจุในปริมาณที่จำกัด (Limited Quantities)
- กฎหมายของเฉพาะของท่าเรือ (Port bylaws)
- กฎหมายการขนส่งในประเทศ8. รับสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เพื่อการขนส่ง อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- เอกสารกำกับการขนส่ง
- การรับรองการบรรจุลงตู้สินค้า/ยานพาหนะ
- ข้อกำหนดในการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- กฎหมายของเฉพาะของท่าเรือ (Port bylaws)
- กฎหมายการขนส่งในประเทศ
9. จัดการหรือขนถ่ายเคลื่อนย้ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เพื่อการขนส่ง อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- เอกสารกำกับการขนส่ง
- การทำเครื่องหมายและติดฉลาก
- การทำเครื่องหมายและติดป้ายที่หน่วยขนส่งสินค้า
- ข้อกำหนดในการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การบรรจุในปริมาณที่จำกัด (Limited Quantities)
- กระบวนการในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และการปฐมพยาบาล
10. เตรียมแผนการบรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ / การจัดระวาง (Stowage plans) อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- เอกสารกำกับการขนส่ง
- การรับรองการบรรจุลงตู้สินค้า/ยานพาหนะ
- ข้อกำหนดในการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การบรรจุในปริมาณที่จำกัด (Limited Quantities)
- การผูกรัดติดตรึงสินค้าให้มั่นคง
- กฎหมายของเฉพาะของท่าเรือ (Port bylaws)
11. ขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขึ้น / ลง จากเรือ อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- ข้อกำหนดในการจัดวางบนเรือ (Stowage requirements)
- ข้อกำหนดในการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การผูกรัดติดตรึงสินค้าให้มั่นคง
- กระบวนการในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และการปฐมพยาบาล
12. บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เพื่อการขนส่ง อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- ประเภทสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และการใช้ตารางบัญชีรายชื่อสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การทำเครื่องหมายและติดป้าย
- เอกสารกำกับการขนส่ง
- การรับรองการบรรจุลงตู้สินค้า/ยานพาหนะ
- ข้อกำหนดในการจัดแยกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การผูกรัดติดตรึงสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- กระบวนการในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และการปฐมพยาบาล
13. การบังคับใช้กฎหมายหรือสำรวจหรือตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่มีการบังคับใช้อยู่ อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- กฎหมายของเฉพาะของท่าเรือ (Port bylaws)
- กฎหมายการขนส่งในประเทศ
- การตรวจตราและป้องกันการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับ การสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- การดำเนินคดีผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
14. กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ในลักษณะอื่นใดตามที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนด อย่างน้อยต้องอบรมในหัวข้อเฉพาะต่อไปนี้
- เป็นไปตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าจะประกาศกำหนดเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาและกฎเกณฑ์ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
หมายเหตุ
ตารางข้างต้นนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับสถานที่ฝึกอบรมเท่านั้น
ทั้งนี้ สถานที่ฝึกอบรมต้องเสนอตารางกำหนดการฝึกอบรมพร้อมหัวข้อการฝึกอบรมและระยะเวลาการฝึกอบรมแต่ละหัวข้อ ให้กรมเจ้าท่าพิจารณา และให้ความเห็นชอบก่อนการฝึกอบรมในแต่ละหลักสูตร
หัวข้อการฝึกอบรมตามที่กำหนดในตารางของตอนย่อย 1.3.1.5 ของประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ทางน้ำระหว่างประเทศ
(International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code))
ฉบับล่าสุดที่มีผลบังคับใช้สามารถนำมาใช้แทนตารางแนบท้ายประกาศนี้ได้