ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ข้อบังคับ
เริ่มใช้บังคับ : 18 ก.พ. 2566

(SSB) ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียม การตรวจและการออกใบสำคัญรับรองให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2566

Marine Department Regulation on Survey and Certification of International Safety Management Code


ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียม

การตรวจและการออกใบสำคัญรับรองให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2566

โดยที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้กำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended) บทที่ IX Management for the safe operation of ships ให้ใช้ประมวลข้อบังคับว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยระหว่างประเทศ (International Safety Management Code: ISM Code) กับบริษัทและเรือ ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาและประมวลข้อบังคับดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 163/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 และมาตรา 163 (3) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยระหว่างประเทศ”

ข้อ 2  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 บรรดากฎข้อบังคับและระเบียบในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน

ข้อ 4 ในข้อบังคับนี้

“ใบสำคัญรับรอง” หมายถึง เอกสารที่ออกให้กับบริษัทหรือเรือที่ได้ปฏิบัติตามประมวลข้อบังคับ ดังต่อไปนี้

(1) หนังสือรับรองการปฏิบัติตามฉบับชั่วคราว หรือ

(2) หนังสือรับรองการปฏิบัติตาม หรือ

(3) ใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือฉบับชั่วคราว หรือ

(4) ใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือ

“บริษัท” (Company) หมายถึง เจ้าของเรือ หรือ องค์กรหรือบุคคลอื่นใด เช่น ผู้จัดการหรือผู้เช่าเรือเปล่า (bareboat charterer) ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการปฏิบัติงานของเรือแทนเจ้าของเรือ โดยการดำเนินการดังกล่าวองค์กรหรือบุคคลอื่นใดนั้น มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ประมวลข้อบังคับได้กำหนดไว้

“อนุสัญญา” หมายถึง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 as amended)

ประมวลข้อบังคับ” หมายถึง ประมวลข้อบังคับว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยระหว่างประเทศ (International Safety Management Code: ISM Code) สำหรับการดำเนินงานอย่างปลอดภัยของเรือและการป้องกันมลพิษ ซึ่งได้ผ่านการรับรองโดยมติสมัชชาขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศที่ 741 (18) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวถูกรับรองและมีผลใช้บังคับตามบทบัญญัติของข้อ 8 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับขั้นตอนแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้บังคับกับภาคผนวกนอกเหนือจากบทที่ 1 รวมถึงที่อาจมีการแก้ไขปรับปรุงในอนาคต

“หลักฐานที่เป็นรูปธรรม” (Objective evidence) หมายถึง ข้อมูลเชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกข้อเท็จจริงเรื่องความปลอดภัย หรือแสดงถึงการมีอยู่และการนำองค์ประกอบของระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยของบริษัทหรือเรือมาปรับใช้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสังเกต การวัด หรือการทดสอบ รวมถึงวิธีการอื่นใดซึ่งสามารถตรวจสอบได้

“ข้อสังเกต” (Observation) หมายถึง บันทึกข้อเท็จจริงซึ่งตรวจพบสิ่งที่อาจไม่สอดคล้องระหว่างการตรวจประเมินระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยของบริษัทหรือเรือและสามารถพิสูจน์ได้โดยหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

ความไม่สอดคล้อง” (Non - Conformity) หมายถึง หลักฐานที่เป็นรูปธรรมซึ่งบ่งชี้ถึงการไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดเฉพาะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

“ความไม่สอดคล้องระดับรุนแรง” (Major Non - Conformity) หมายถึง หลักฐานที่เป็นรูปธรรมซึ่งบ่งชี้ถึงความไม่สอดคล้อง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของบุคคลหรือเรืออย่างร้ายแรง หรือมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในทันที รวมไปถึงการขาดการดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการตามข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยตามข้อบังคับนี้

“การตรวจสอบประจำปี” (Annual verification) หมายถึง การตรวจประเมินการปฏิบัติประจำปีของบริษัท

“การตรวจสอบช่วงกลางอายุ” (Intermediate verification) หมายถึง การตรวจประเมินช่วงกลางอายุของระบบการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือ (Safety Management System: SMS)

“สถาบันการตรวจเรือ” หมายถึง องค์กรที่ได้รับการยอมรับ (Recognized Organization) จากกรมเจ้าท่าให้ดำเนินการตรวจเรือ ตรวจรับรองวัสดุ ตรวจรับรองมาตรฐานอุปกรณ์ตรวจสถานีบริการ และตรวจบริษัทบริหาร หรือดำเนินการตรวจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization; IMO) หรือองค์กรสถาบันจัดชั้นเรือระหว่างประเทศ (International Association of Classification Societies; IACS) กำหนด รวมถึงออกใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศและพิธีสารที่เกี่ยวข้อง

“วันครบรอบปี (Anniversary date)” หมายถึง วันและเดือนของแต่ละปีซึ่งตรงกับวันที่หมดอายุของหนังสือรับรองการปฏิบัติตาม หรือใบสำคัญรับรองที่เกี่ยวข้อง

“หมายเลขประจำตัวขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศสำหรับบริษัทและเจ้าของเรือที่ขึ้นทะเบียน” (IMO Unique Company and Registered Owner Identification Number) หมายถึง หมายเลขถาวรที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศได้จัดสรรให้บริษัท เมื่อมีการออกหนังสือหรือใบสำคัญรับรองเพื่อเป็นมาตรการในการเพิ่มความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการป้องกันการฉ้อฉลทางทะเล ใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย

ข้อ 5 ข้อบังคับนี้ใช้บังคับกับเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้
(1) เรือโดยสารและเรือโดยสารความเร็วสูง

(2) เรือบรรทุกน้ำมัน เรือบรรทุกสารเคมี เรือบรรทุกแก๊ส เรือบรรทุกสินค้าเทกอง และเรือบรรทุกสินค้าความเร็วสูง ที่มีขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส ขึ้นไป

(๓) เรือบรรทุกสินค้าอย่างอื่นและแท่นขุดเจาะเคลื่อนที่นอกชายฝั่ง ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส ขึ้นไป

ข้อบังคับนี้ไม่ใช้บังคับกับเรือของรัฐบาลที่มิได้ใช้เพื่อการพาณิชย์

ข้อ 6 ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน ข้อกำหนด ตลอดจนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความปลอดภัยระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยภาคสมัครใจ หรือระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยภาคบังคับ ให้เป็นไปตามข้อบังคับและแนวทางตามที่กำหนดในประมวลข้อบังคับตามภาคผนวก 1 ท้ายข้อบังคับนี้ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ข้อ 7 ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจประเมิน สั่งการให้บริษัทแก้ไขและกำหนดวิธีการแก้ไขข้อสังเกต ความไม่สอดคล้อง หรือความไม่สอดคล้องระดับรุนแรง ให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติตามประมวลข้อบังคับในเรื่องดังต่อไปนี้

(1)   การจัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

(2)   การจัดทำคำแนะนำและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อให้มั่นใจถึงการปฏิบัติงานเพื่อให้เรือมีความปลอดภัยและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(3)   การกำหนดระดับการบังคับบัญชาและช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานบนฝั่งและในเรือ

(4)   การกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานสำหรับการรายงานอุบัติเหตุและความไม่สอดคล้อง ตามที่กำหนดในประมวลข้อบังคับนี้

(5)   การกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานสำหรับการเตรียมความพร้อมและสนองตอบต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และ

(6)   การกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานสำหรับการตรวจประเมินภายในและการทบทวนโดยฝ่ายบริหาร

ข้อ 8  กรมเจ้าท่าอาจมอบอำนาจให้สถาบันการตรวจเรือ ดำเนินการตรวจสอบบริษัทและเรือตามข้อกำหนดของระบบการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย และสามารถออกหนังสือรับรองการปฏิบัติตาม ให้กับบริษัท รวมถึงสามารถออกใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือ ให้แก่เรือที่ชักธงไทย

ให้สถาบันการตรวจเรือ จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบประจำปี และรายงานผลการตรวจสอบช่วงกลางอายุ ต่อกรมเจ้าท่าทราบทุกครั้ง

ข้อ 9 เจ้าของเรือ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ที่มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือ เพื่อตรวจสอบและออกใบสำคัญรับรอง ต้องยื่นคำร้องตามแบบ ก.5 ล่วงหน้าก่อนวันนัดหมายตรวจเรือหรือบริษัทไม่น้อยกว่า 3 วัน สำหรับการตรวจสอบภายในประเทศ และไม่น้อยกว่า 21 วัน สำหรับการตรวจสอบในต่างประเทศ เมื่อพบว่าเป็นไปตามข้อบังคับนี้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการออกใบสำคัญรับรอง ภายใน 3 วันทำการนับตั้งแต่กลับจากการตรวจสอบ

ข้อ 10 ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือออกใบสำคัญรับรอง เมื่อตรวจประเมินบริษัทหรือเรือเสร็จสิ้นตามข้อ 8 และพบว่าเรือหรือบริษัทนั้นได้ดำเนินการตามข้อบังคับนี้แล้ว ทั้งนี้ ให้ออกใบสำคัญรับรองได้แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) หนังสือรับรองการปฏิบัติตามฉบับชั่วคราว ให้เป็นไปตามแบบในภาคผนวก 2 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด โดยมีกำหนดอายุไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรอง

(2) หนังสือรับรองการปฏิบัติตาม ให้เป็นไปตามแบบในภาคผนวก 3 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด โดยมีกำหนดอายุไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรอง ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจสอบประจำปี ภายในเวลา 3 เดือน ก่อนหรือหลังวันครบรอบปี อีกทั้ง บริษัทต้องสำเนาหนังสือรับรองเก็บรักษาไว้บนเรือด้วย

(3) ใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือฉบับชั่วคราว ให้เป็นไปตามแบบในภาคผนวก 4 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด โดยมีกำหนดอายุไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกใบสำคัญรับรอง

4) ใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือ ให้เป็นไปตามแบบในภาคผนวก 5 ท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด โดยมีกำหนดอายุไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญรับรอง ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจสอบช่วงกลางอายุ ของใบสำคัญรับรองจำนวน 1 ครั้ง ในช่วงเวลาระหว่างครบรอบปีที่สองและปีที่สามของใบสำคัญรับรอง

กรณีการออกใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการความปลอดภัย ให้พิจารณาโดยมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความถูกต้องครบถ้วนของหนังสือรับรองการปฏิบัติตาม หากหนังสือรับรองการปฏิบัติตาม ได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน ใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการความปลอดภัย ดังกล่าว ก็จะถูกยกเลิกหรือเพิกถอนด้วยเช่นกัน

กรณีการออกใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการความปลอดภัย และใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการความปลอดภัยฉบับชั่วคราว ให้พิจารณาจากความถูกต้องและครบถ้วนของหนังสือรับรองการปฏิบัติตาม หรือหนังสือรับรองการปฏิบัติตามฉบับชั่วคราวด้วย

อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจพิจารณาขยายอายุใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยฉบับชั่วคราวตาม (3) ออกไปได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันหมดอายุ

กรณีใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือ ตาม (4) หมดอายุ ในขณะที่เรือนั้นไม่อยู่ในเมืองท่าที่สามารถกระทำการตรวจเรือได้ กรมเจ้าท่าอาจพิจารณาขยายอายุของใบสำคัญรับรองดังกล่าวออกไปได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับจากวันหมดอายุ โดยการสลักหลังขยายอายุใบสำคัญรับรองท้ายใบสำคัญรับรองฉบับเดิม เมื่อเรือนั้นเดินทางถึงเมืองท่าที่สามารถกระทำการตรวจเรือได้แล้ว เรือนั้นต้องได้รับการตรวจเรือโดยพลัน

กรณีการตรวจสอบเพื่อขอออกใบสำคัญรับรองใหม่ (Renewal Verification) ก่อนวันหมดอายุของหนังสือรับรองการปฏิบัติตาม ตาม (2) หรือใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการความปลอดภัยตาม (4) หากได้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนถึงวันหมดอายุ ให้ใบสำคัญรับรองฉบับใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับในทันที ทั้งนี้ โดยมีกำหนดอายุไม่เกิน 5 ปี นับแต่การตรวจสอบเพื่อขอออกใบสำคัญรับรองใหม่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ

ข้อ 11 อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจยกเลิกหรือเพิกถอนใบสำคัญรับรอง ด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

(1) กรณีไม่ได้มีการตรวจสอบประจำปีสำหรับหนังสือรับรองการปฏิบัติตามหรือหนังสือรับรองการปฏิบัติตามฉบับชั่วคราว ซึ่งตามข้อกำหนดระบุว่าการจะออกหนังสือรับรองการปฏิบัติตาม ได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบประจำปีโดยกรมเจ้าท่าหรือสถาบันการตรวจเรือ หรือตามการร้องขอของรัฐที่เป็นภาคีอนุสัญญาภายในระยะเวลาสามเดือนของวันครบรอบปี หรือเมื่อมีหลักฐานแสดงความไม่สอดคล้องระดับรุนแรง หนังสือรับรองการปฏิบัติตามดังกล่าวจะถูกยกเลิกหรือเพิกถอนโดยกรมเจ้าท่า หรือตามการร้องขอของรัฐที่เป็นภาคีอนุสัญญาซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือรับรอง

(2) กรณีที่หนังสือรับรองการปฏิบัติตามหรือหนังสือรับรองการปฏิบัติตามฉบับชั่วคราวถูกยกเลิกหรือเพิกถอน ใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือฉบับชั่วคราว  และใบสำคัญรับรองการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยของเรือ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะถูกยกเลิกหรือเพิกถอนด้วย

(3) กรณีที่สถาบันการตรวจเรือจะยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือรับรองการปฏิบัติตามหรือหนังสือรับรองการปฏิบัติตามฉบับชั่วคราว หรือใบสำคัญรับรองและใบสำคัญรับรองฉบับชั่วคราว ต้องแจ้งมายังกรมเจ้าท่าเพื่อทราบก่อนยกเลิก หรือเพิกถอนหนังสือรับรองการปฏิบัติตามหรือหนังสือรับรองการปฏิบัติตามฉบับชั่วคราว หรือใบสำคัญรับรองและใบสำคัญรับรองฉบับชั่วคราว ดังกล่าว

ข้อ 12 อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการตรวจบริษัทและเรือ เพื่อออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองให้เป็นไปตามที่ปรากฏในภาคผนวก 6 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้

ข้อ 13 ใบสำคัญรับรองที่กรมเจ้าท่าออกให้ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบสำคัญรับรองนั้น

ข้อ 14 ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้


            ประกาศ  ณ  วันที่ ........ เดือน............................พ.ศ. 2566               

 

(นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์)              

รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน                                                                                 

อธิบดีกรมเจ้าท่า