ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ข้อบังคับ
เริ่มใช้บังคับ : 18 ก.พ. 2566

(SSB) ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียม การตรวจและการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง พ.ศ. 2566

Marine Deparment Regulation on Survey and Certification for the Carriage of Dangerous Gases in Bulk B.E. 2566


ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียม

การตรวจและการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง พ.ศ. 2566

                        โดยที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้กำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended) บทที่ VII Carriage of Dangerous Goods ให้ใช้ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อเรือและอุปกรณ์สำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง (International Code of the Construction and Equipment of Ships Carrying Liquefied Gases in Bulk: IGC Code) กับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง เพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาและประมวลข้อบังคับดังกล่าว

                  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 163/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 และมาตรา 163 (3) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง พ.ศ. 2566”

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 บรรดากฎข้อบังคับ ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน

ข้อ 4 ข้อบังคับนี้ให้ใช้กับเรือ ดังต่อไปนี้

(1) เรือบรรทุกแก๊สเหลวที่ต่อขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 เป็นต้นไป

(2) เรือบรรทุกแก๊สเหลวทุกลำ โดยไม่คำนึงถึงวันต่อเรือ ซึ่งได้ดำเนินการซ่อมทำ เปลี่ยนแปลง ดัดแปลง และติดตั้ง อย่างน้อยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดก่อนหน้านี้ที่ใช้บังคับกับเรือนั้น หากเรือนั้นต่อก่อน (1) จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับการต่อเรือที่ใช้กับเรือก่อนการดำเนินการซ่อมทำ เปลี่ยนแปลง ดัดแปลง หรือติดตั้ง อย่างไรก็ตาม การซ่อมทำ การเปลี่ยนแปลง การดัดแปลง และการติดตั้งที่มีคุณลักษณะสำคัญที่เกี่ยวกับข้อบังคับนี้ จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับข้อบังคับฉบับนี้

(3) เรือใดๆ ที่ทำการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพมาเป็นเรือบรรทุกแก๊สเหลว ให้ถือวันที่ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพนั้นเป็นวันต่อเรือและเรือดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนี้

ข้อ 5 ในข้อบังคับนี้

“ประมวลข้อบังคับ” หมายถึง ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วการต่อเรือและอุปกรณ์สำหรับเรือที่บรรทุกแก๊สเหลวในระวาง (International Code of the Construction and Equipment of Ships Carrying Liquefied Gases in Bulk: IGC Code) ที่รับรองโดยมติคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศที่ 5 (48) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวถูกรับรองและมีผลใช้บังคับตามบทบัญญัติของข้อ 8 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับขั้นตอนแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้บังคับกับภาคผนวกนอกเหนือจากบทที่ 1 รวมถึงที่อาจมีการแก้ไขปรับปรุงในอนาคต

“เรือบรรทุกแก๊สเหลว” หมายถึง เรือที่ต่อขึ้น หรือถูกดัดแปลงเพื่อใช้บรรทุกแก๊สเหลวในระวางหรือบรรทุกผลิตภัณฑ์ตามบัญชีในบทที่ 19 ของประมวลข้อบังคับตามภาคผนวก 1 แนบท้ายข้อบังคับนี้

“ต่อเรือ” หมายถึง การต่อเรือที่ได้วางกระดูกงูแล้ว หรืออยู่ในขั้นตอนการต่อเรือที่คล้ายคลึงกัน

“การต่อเรือที่คล้ายคลึงกัน” หมายถึง

(1) การต่อเรือที่มีการระบุประเภทเรือตั้งแต่เริ่มต้น และ

(2) การต่อเรือลำนั้นได้ดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย 50 ตันกรอส หรือร้อยละ 1 ของมวลประมาณของวัสดุโครงสร้างทั้งหมด แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า

ข้อ 6 เรือบรรทุกแก๊สเหลวจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับ ตามภาคผนวก 1 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนดเพื่อให้เป็นแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติม

ข้อ 7 เรือบรรทุกแก๊สเหลวจะต้องมีใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง (International Certificate of Fitness for the Carriage of Dangerous Gases in Bulk) ตามแบบที่กำหนดในภาคผนวก 2 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด

ข้อ 8 เจ้าของเรือ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ที่มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือเพื่อตรวจเรือและออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง ต้องยื่นคำร้องตามแบบ ก.5 ล่วงหน้าก่อนวันนัดหมายตรวจเรือไม่น้อยกว่า 3 วัน สำหรับการตรวจเรือภายในประเทศ และไม่น้อยกว่า 21 วัน สำหรับการตรวจเรือในต่างประเทศ เมื่อพบว่าเรือบรรทุกแก๊สเหลวเป็นไปตามข้อบังคับนี้ ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวางภายใน 3 วันทำการ นับแต่กลับจากการตรวจเรือ

ข้อ 9 อายุและการมีผลของใบสำคัญรับรอง (Duration and Validity of Certificate)

(1) ใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง ต้องออกให้เป็นระยะเวลาตามที่กรมเจ้าท่าระบุ ซึ่งต้องไม่เกิน 5 ปี

(2) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ (Renewal survey)

(2.1) นอกเหนือจากกรณีข้อ 9 (1) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ใบสำคัญรับรองใหม่ให้มีผลใช้ได้ ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือจนถึงกำหนดไม่เกิน 5 ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม

(2.2) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นหลังจากวันหมดอายุ ของใบสำคัญรับรองเดิม ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ ทั้งนี้ ใบสำคัญรับรองใหม่ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม

(2.) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมเกินกว่า 3 เดือน ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ ทั้งนี้ ใบสำคัญรับรองต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ

(3) กรณีใบสําคัญรับรองที่ออกให้มีอายุน้อยกว่า 5 ปี เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจขยายวันหมดอายุของใบสําคัญรับรองออกไปจนถึงระยะเวลาตามที่กําหนดในข้อ 9 (1) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องดําเนินการตรวจเรือตามประมวลข้อบังคับแล้ว

(4) กรณีใบสําคัญรับรองของเรือลําใดหมดอายุลง ในขณะที่เรือนั้นไม่อยู่ในท่าเรือที่สามารถทําการตรวจเรือได้ เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจขยายอายุใบสําคัญรับรองออกไปเพื่อให้เรือเดินทางไปยังท่าเรือที่สามารถรับการตรวจเรือได้ในกรณีที่มีเหตุอันควรเท่านั้น โดยให้การขยายอายุใบสําคัญรับรองข้างต้นมีระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เมื่อเรือลำดังกล่าวเดินทางถึงท่าเรือที่สามารถทําการตรวจเรือได้แล้ว ให้เข้ารับการตรวจเรือโดยพลัน และห้ามมิให้อาศัยประโยชน์จากการขยายอายุใบสําคัญรับรองนี้เดินทางออกจากเมืองท่าจนกว่าจะได้รับใบสําคัญรับรองใหม่ ทั้งนี้ ใบสําคัญรับรองใหม่ให้มีกําหนดอายุไม่เกิน 5 ปี นับจากวันหมดอายุของใบสําคัญรับรองเดิมก่อนการขยายอายุ

(5) กรณีใบสําคัญรับรองที่ออกให้แก่เรือที่เดินทางระยะสั้น ซึ่งไม่เคยได้รับการขยายอายุใบสําคัญรับรองตามข้อกําหนดข้างต้น เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจขยายอายุใบสําคัญรับรองออกไปได้ไม่เกินระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ เมื่อการตรวจเรือเพื่อออกใบสําคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้น ให้ออกใบสําคัญรับรองใหม่โดยมีกําหนดอายุไม่เกิน 5 ปี นับจากวันหมดอายุของใบสําคัญรับรองเดิม

(6) ในสถานการณ์พิเศษ (Special circumstances) ที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าไม่จําเป็นต้องออกใบสําคัญรับรองใหม่โดยใช้วันหมดอายุของใบสําคัญรับรองเดิมตามที่กําหนดไว้ในข้อ 9 (2) (2.2) ข้อ 9 (4) และข้อ 9 (5) ให้ออกใบสําคัญรับรองใหม่โดยมีกําหนดอายุไม่เกิน 5 ปี นับจากวันเสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสําคัญรับรองใหม่

(7) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นลงแต่ไม่สามารถออกใบสำคัญ รับรองใหม่ได้หรือไม่สามารถนำใบสำคัญรับรองไปไว้บนเรือได้ก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
เจ้าพนักงานตรวจเรือหรือสถาบันการตรวจเรือสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองเดิมเพื่อให้ใบสำคัญรับรองนั้นมีผลต่อไปอีกไม่เกิน 5 เดือนนับจากวันหมดอายุ

(8) การตรวจเรือประจำปีหรือการตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง ให้ดำเนินการดังนี้

(8.1) การตรวจเรือประจำปี (Annual Survey) ให้กระทำทุกปีในช่วงเวลาก่อนหน้า 3 เดือน หรือหลัง 3 เดือน ของวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรอง

(8.2) การตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางอายุของใบสำคัญรับรอง (Intermediate Survey) ให้กระทำได้ก่อนหน้า 6 เดือน หรือหลัง 6 เดือน ของวันที่ใบสำคัญรับรองครบรอบปีที่ 2 หรือปีที่ 3 ของใบสำคัญรับรอง ให้กระทำแทนที่การตรวจครั้งใดครั้งหนึ่งของการตรวจเรือประจำปีตามข้อ 8 (8.1)

(9) กรณีการตรวจเรือประจําปี การตรวจเรือช่วงกลางอายุ หรือการตรวจเรือตามรอบระยะเวลาเสร็จสิ้นก่อนช่วงเวลาที่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้ให้ดําเนินการ ดังนี้

(9.1) แก้ไขวันครบรอบปีที่แสดงไว้ในใบสําคัญรับรองที่เกี่ยวข้องด้วยการสลักหลังและลงวันที่โดยต้องไม่เกิน 3 เดือน หลังจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ

(9.2) กระทําการตรวจเรือประจําปี การตรวจเรือช่วงกลางอายุ หรือการตรวจเรือตามรอบระยะเวลาโดยใช้วันครบรอบปีที่กําหนดใหม่

(9.3) หากมีการตรวจเรือประจําปี การตรวจเรือช่วงกลางอายุ หรือการตรวจเรือตามรอบระยะเวลาอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมีระยะห่างระหว่างการตรวจเรือไม่เกินกว่าที่กําหนดในข้อบังคับนี้ ให้คงวันหมดอายุเดิมได้

(10) ให้ใบสำคัญรับรองที่ออกภายใต้ข้อบังคับนี้ สิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(10.1) ไม่ได้ทำการตรวจเรือตามช่วงเวลาที่กำหนดในข้อ 9 (8)

(10.2) เมื่อเรือมีการเปลี่ยนสัญชาติ

ข้อ 10 อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการตรวจเรือ เพื่อออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง ให้เป็นไปตามภาคผนวก 3 ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้

ข้อ 11 ใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกแก๊สเหลวในระวาง ที่กรมเจ้าท่าออกให้ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบสำคัญรับรองนั้น

ข้อ 12 ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้

 

ประกาศ  ณ  วันที่ ........ เดือน............................พ.ศ. ............

 

(นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์)              

รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน  

อธิบดีกรมเจ้าท่า