ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียม
การตรวจและการออกใบสำคัญรับรองสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง พ.ศ. ๒๕๖๕
โดยที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้กำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 (SOLAS), as amended) บทที่ VII : Carriage of dangerous goods ที่กำหนดให้ใช้ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยเรือบรรทุกสารเคมีในระวาง (International Bulk Chemical Code : IBC Code) ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวางเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาและประมวลข้อบังคับดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ และมาตรา ๑๖๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองให้กับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดากฎข้อบังคับ ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศในส่วนที่บัญญัติไว้แล้ว ซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๔ ข้อบังคับนี้ให้ใช้กับเรือ ดังต่อไปนี้
(๑) เรือบรรทุกสารเคมีที่ได้ต่อเรือตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นต้นไป
(๒) เรือบรรทุกสารเคมีทุกลำโดยไม่คำนึงถึงวันต่อเรือ ซึ่งดำเนินการซ่อมทำ เปลี่ยนแปลง ดัดแปลง และการติดตั้ง อย่างน้อยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดก่อนหน้านี้ที่บังคับใช้กับเรือนั้น หากเรือนั้นต่อก่อนวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับการต่อเรือที่ใช้กับเรือก่อนการดำเนินการซ่อมทำ เปลี่ยนแปลง ดัดแปลง หรือติดตั้งเพิ่ม อย่างไรก็ตามการซ่อมทำ การเปลี่ยนแปลง การดัดแปลง และการติดตั้งที่มีคุณลักษณะสำคัญที่เกี่ยวกับข้อบังคับนี้ จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับข้อบังคับฉบับนี้ให้มากที่สุดเท่าที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าเหมาะสมและปฏิบัติได้
(๓) เรือที่เปลี่ยนประเภทมาเป็นเรือบรรทุกสารเคมี
ข้อ ๕ ในข้อบังคับนี้
“ประมวลข้อบังคับ” หมายถึง ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยเรือบรรทุกสารเคมีในระวาง (International Bulk Chemical Code : IBC Code) รับรองโดยมติคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลที่ ๑๗๖(๗๙) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวซึ่งได้รับรองและมีผลบังคับใช้ตามบทบัญญัติของข้อ ๘ ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวกับขั้นตอนแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้บังคับกับภาคผนวกนอกเหนือจากบทที่ ๑
“ประมวลข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างและอุปกรณ์ของเรือที่บรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง” หมายถึง ประมวลข้อบังคับว่าด้วย โครงสร้างและอุปกรณ์ของเรือที่บรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง (Code for the Construction and Equipment of Ships carrying Dangerous Chemicals in Bulk : BCH CODE) ซึ่งออกภายใต้องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
“สารเคมีอันตราย” หมายถึง สารเคมีเหลวใดๆ ที่ถูกกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยคำนึงถึงเกณฑ์ความปลอดภัยของสารนั้นๆ ตามบทที่ ๑๗ ของประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยเรือบรรทุกสารเคมีในระวาง
“เรือบรรทุกสารเคมี” หมายถึง เรือทุกขนาด รวมถึงที่มีขนาดต่ำกว่า ๕๐๐ ตันกรอสที่บรรทุกสินค้าอันตรายแบบระวางบรรทุกสินค้า (Bulk Cargo) ที่ต่อขึ้น หรือถูกดัดแปลงเพื่อบรรทุกสารเคมีเหลวอันตรายในระวาง โดยมีรายชื่อปรากฏ ตามบัญชีในบทที่ ๑๗ ของประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยเรือบรรทุกสารเคมีในระวาง หรือบรรทุกของเหลว ที่มิใช่ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่เหมือนกันที่สามารถติดไฟได้ ดังนี้
(๑) ผลิตภัณฑ์อื่นที่มีอันตรายยิ่งกว่าการติดไฟอย่างมีนัยสำคัญ ที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันที่ติดไฟได้
(๒) ผลิตภัณฑ์อื่นที่มีอันตรายอย่างมีนัยสำคัญ ที่นอกเหนือไปจากการติดไฟ
“ต่อเรือ” หมายถึง การต่อเรือที่ได้วางกระดูกงูแล้ว หรืออยู่ในขั้นตอนการต่อเรือที่คล้ายคลึงกัน
“การต่อเรือที่คล้ายคลึงกัน” หมายถึง
(๑) การต่อเรือที่มีการระบุประเภทเรือตั้งแต่เริ่มต้น และ
(๒) การต่อเรือลำนั้นได้ดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย ๕๐ ตันหรือร้อยละ ๑ ของมวลประมาณของวัสดุโครงสร้างทั้งหมด แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า
ข้อ ๖ เรือบรรทุกสารเคมี จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยเรือบรรทุกสารเคมีในระวาง ตามภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
ข้อ ๗ เรือบรรทุกสารเคมี จะต้องมีใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง (International Certificate of Fitness for the Carriage of Dangerous Chemicals in Bulk) ตามแบบที่กำหนดในภาคผนวก ๒ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
ข้อ ๘ เจ้าของเรือ
หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ที่มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือ เพื่อตรวจเรือและออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง ต้องยื่นคำร้องตามแบบ
ก.๕
ล่วงหน้าก่อนวันนัดหมายตรวจเรือไม่น้อยกว่า ๓
วัน สำหรับการตรวจเรือภายในประเทศ และไม่น้อยกว่า ๒๑ วัน
สำหรับการตรวจเรือในต่างประเทศ
เมื่อพบว่าเรือเป็นไปตามข้อบังคับนี้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการออกใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง
ภายใน ๓ วันทำการนับตั้งแต่
กลับจากการตรวจเรือ
ข้อ ๙ อายุและการมีผลของใบสำคัญรับรอง (Duration and validity of Certificate)
(๑) ใบสำคัญรับรองสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง ต้องออกให้เป็นระยะเวลาตามที่กรมเจ้าท่าระบุซึ่งต้องไม่เกิน ๕ ปี
(๒) การตรวจครั้งแรก (Initial survey) เพื่อออกใบสำคัญรับรองครั้งแรกให้กระทำก่อนนำเรือออกใช้งาน
(๓) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ (Renewal survey)
(๓.๑) โดยไม่คำนึงถึง (๑) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นภายใน ๓ เดือนก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือจนถึงกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน ๕ ปีนับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
(๓.๒) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นหลังจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ ทั้งนี้ ใบสำคัญรับรองใหม่ต้องมีอายุไม่เกิน ๕ ปีนับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
(๓.๓) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันสิ้นอายุของใบสำคัญรับรองเดิมเกินกว่า ๓ เดือน ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ ทั้งนี้ ใบสำคัญใหม่ต้องมีอายุไม่เกิน ๕ ปีนับจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ
(๔) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นลงแต่ไม่สามารถออกใบสำคัญ รับรองใหม่ได้หรือไม่สามารถนำใบสำคัญรับรองไปไว้บนเรือได้ก่อนวันหมดอายุ บุคคลหรือสถาบันการตรวจเรือสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองเดิม เพื่อให้ใบสำคัญรับรองนั้นมีผลต่อไปอีกได้ แต่ไม่เกิน ๕ เดือนนับจากวันสิ้นอายุ
(๕) การตรวจเรือประจำปีหรือการตรวจเรือตามกำหนดที่ใบรับรองครบรอบครึ่งปี ให้ดำเนินการดังนี้
(๕.๑) การตรวจเรือประจำปี (Annual Survey) ให้กระทำทุกปีในช่วงเวลา ก่อนหน้า ๓ เดือน หรือหลัง ๓ เดือน ของวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรอง
(๕.๒) การตรวจเรือตามกำหนดช่วงกลางของใบสำคัญรับรอง (Intermediate Survey) ให้กระทำได้ก่อนหน้า ๖ เดือน หรือหลัง ๖ เดือน ของวันที่ใบรับรองครบรอบปีที่ ๒ หรือปีที่ ๓ ของใบสำคัญรับรอง ให้กระทำแทนที่การตรวจครั้งใดครั้งหนึ่งของการตรวจเรือประจำปีตามข้อ (๕.๑)
(๕.๓) วันครบรอบปีที่แสดงในใบสำคัญรับรองต้องได้รับการแก้ไขโดยการสลักหลังและลงวันที่ทำการสลักหลัง ซึ่งต้องไม่เกิน ๓ เดือนหลังจากวันที่การตรวจเรือเสร็จสิ้น
(๖) ให้ใบสำคัญรับรองที่ออกให้ภายใต้ข้อบังคับนี้ สิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(๖.๑) ไม่ได้ทำการตรวจเรือตามช่วงเวลาที่กำหนดใน (๔)
(๖.๒) เมื่อเรือมีการเปลี่ยนสัญชาติ
ข้อ ๑๐ อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการตรวจเรือ เพื่อออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง ให้เป็นไปตามภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๑
เรือบรรทุกสารเคมี ที่ได้ต่อเรือก่อนวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๙
ให้นำข้อบังคับนี้มาใช้
โดยอนุโลมเท่าที่เหมาะสมและปฏิบัติได้ แต่อย่างน้อยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างและอุปกรณ์ของเรือที่บรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง
ข้อ ๑๒ ใบสำคัญรับรองระหว่างประเทศสำหรับเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายในระวาง (International Certificate of Fitness for the Carriage of Dangerous Chemicals in Bulk) ที่เจ้าพนักงานตรวจเรือออกให้ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบสำคัญรับรองนั้น
ข้อ ๑๓ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕
(นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์)
รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมเจ้าท่า