ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียม
การตรวจและการออกใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุก พ.ศ. ๒๕๖๕
โดยที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้ยอมรับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. ๑๙๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๘๘ (International Convention on Load Lines, 1966 as modified by the Protocol of 1988 relating thereto, as amended)ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสภาพและข้อจำกัดในการบรรทุกของเรือซึ่งเดินระหว่างประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินในทะเลอย่างสูงสุด ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุก เพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ และมาตรา ๑๖๓ (๔) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับกรมเจ้าท่าไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุก พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๓๕
ข้อ ๔ บรรดากฎข้อบังคับ ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศในส่วนที่บัญญัติไว้แล้ว ซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๕ ในข้อบังคับนี้
“อนุสัญญา” หมายถึง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. ๑๙๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๘๘ (International Convention on Load Lines, 1966 as modified by the Protocol of 1988 relating thereto, as amended)
“ความยาว” หมายถึง ความยาวร้อยละ ๙๖ ของความยาวทั้งหมดบนเส้นแนวน้ำที่ร้อยละ ๘๕ ของความลึกต่ำสุดเหนือกระดูกงูโดยวัดจากตอนบนของกระดูกงูหรือวัดจากความยาวจากหน้าของทวนหัวถึงแกนหางเสือที่เป็นเส้นแนวน้ำนั้น สุดแต่ว่าความยาวใดมากกว่า กรณีที่แนวแผ่นสะเต็มโค้งเว้าเหนือเส้นแนวน้ำที่ร้อยละ ๘๕ ของความลึกต่ำสุด ส่วนที่ใช้อ้างอิงทางหน้าแผ่นสะเต็ม ให้วัดจากแนวเส้นตั้งฉากของแนวน้ำที่ขอบหลังส่วนหน้าของแผ่นสะเต็ม (เหนือแนวน้ำนั้น) ถ้าเรือออกแบบให้กระดูกงูมีความลาดเอียงเส้นแนวน้ำที่ใช้วัดความยาวจะต้องใช้เส้นขนานกับเส้นแนวน้ำที่ออกแบบไว้
“เรือใหม่” หมายถึง เรือที่วางกระดูกงูหรืออยู่ในขั้นตอนต่อสร้างที่คล้ายคลึงกัน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นไป
“เรือที่มีอยู่เดิม” หมายถึง เรือที่มิใช่เรือใหม่
“เรือ” หมายถึง เรือที่เดินทะเลระหว่างประเทศ
“ใบสำคัญรับรอง” หมายถึง ใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุกระหว่างประเทศ ที่ออกให้แก่เรือทุกลำที่ได้รับการตรวจและทำเครื่องหมายแนวน้ำบรรทุกบนเรือตามข้อบังคับนี้แล้ว
“ใบสำคัญรับรองการยกเว้น” หมายถึง ใบสำคัญรับรองการยกเว้นแนวน้ำบรรทุกระหว่างประเทศที่ออกให้แก่เรือลำใดลำหนึ่งที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ ๙ ของข้อบังคับนี้
“องค์การ” หมายถึง องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO)
“วันครบรอบปี (Anniversary date)” หมายถึง วันและเดือนในแต่ละปีซึ่งตรงกับวันที่หมดอายุของใบสำคัญรับรอง
ข้อ ๖ ข้อบังคับนี้ใช้บังคับกับเรือ ดังต่อไปนี้
(๑) เรือใหม่ ให้ปฏิบัติตาม Annex I ภายใต้ภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
กรณีเรือที่มีอยู่เดิมที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตาม Annex I ภายใต้ภาคผนวก ๑ ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ให้เรือดังกล่าวปฏิบัติตามข้อกำหนดซึ่งมีมาตรฐานต่ำกว่า ซึ่งกำหนดให้ใช้บังคับกับเรือที่เดินทะเลระหว่างประเทศ ก่อนอนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใดต้องไม่กำหนดเพิ่มระยะกราบพ้นน้ำของเรือเหล่านี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการลดระยะกราบพ้นน้ำจากที่ได้กำหนดไว้เดิมที่อาจมีขึ้น
(๒) เรือใหม่และเรือที่มีอยู่เดิม ให้ปฏิบัติตาม Annex II ภายใต้ภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
ข้อ ๗ ข้อบังคับนี้ไม่ใช้บังคับกับเรือ ดังต่อไปนี้
(๑) เรือรบ
(๒) เรือใหม่ที่มีความยาวน้อยกว่า ๒๔ เมตร (๗๙ ฟุต)
(๓) เรือที่มีอยู่เดิม ที่มีขนาดต่ำกว่า ๑๕๐ ตันกรอสส์
(๔) เรือสำราญและกีฬาที่มิได้ทำการค้า
(๕) เรือประมง
ข้อ ๘ ข้อบังคับนี้ไม่ใช้บังคับกับเรือซึ่งเดินอยู่เฉพาะในเขตที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
(๑) ทะเลสาบเกรทเลคส์ในทวีปอเมริกาเหนือ และแม่น้ำเซ็นต์ลอเรนซ์ไปทางทิศตะวันออกจนถึงเส้นรัมน์ไลน์ ซึ่งลากจากแคปเดส์โรเซียถึงเวสพอยท์ เกาะแอนติคอสติ และทางทิศเหนือของเกาะแอนติคอสติ เส้นเมอริเดียนลองติจูด ๖๓° ตะวันตก
(๒) ทะเลแคสเบียน
(๓) แม่น้ำเพลท แม่น้ำปารานา และแม่น้ำอุรุกวัย ไปทางทิศตะวันออกจนถึงเส้นรัมไลน์ที่ลากระหว่างปุนตา ราซา (กาโบ ซาน อันโตนิโอ) (Punta Rasa (Cabo San Antonio)) ของประเทศอาร์เจนตินา และปุนตา เดล เอสเต (Punta del Este) ของประเทศอุรุกวัย
ข้อ ๙ ให้เรือดังต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญา
(๑) เรือที่เดินระหว่างเมืองท่าใกล้เคียงระหว่างสองประเทศหรือมากกว่านั้น ขณะที่เรือเดินอยู่ในเส้นทางดังกล่าว หากเมืองท่านั้นเห็นว่าลักษณะกำบังตามธรรมชาติหรือสภาพการเดินเรือระหว่างท่าเรือนั้น ไม่เหมาะสมที่จะนำอนุสัญญามาใช้บังคับ
(๒) เรือในลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน (ship which embodies features of a novel kind) หากพบว่าการปฏิบัติตามอนุสัญญาจะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการวิจัยและการพัฒนาเรือนั้น
เรือข้างต้นจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยที่เพียงพอสำหรับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ รวมถึงเป็นที่ยอมรับของประเทศที่เรือนั้นจะเดินทางไป
(๓) เรือซึ่งปกติไม่ได้เดินทะเลระหว่างประเทศ แต่มีเหตุจำเป็นต้องเดินทะเลระหว่างประเทศเพียงเที่ยวเดียว (Single voyage) ให้ได้รับการยกเว้นข้อกำหนดของข้อบังคับนี้ได้ หากมีมาตรการความปลอดภัยเหมาะสมและเพียงพอสำหรับการเดินเรือนั้น
ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ากำหนดหลักเกณฑ์ในการยกเว้นข้อกำหนดตาม (๑) (๒) และ (๓)
ข้อ ๑๐ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการอนุญาตและการขอยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของข้อ ๙ และดำเนินการแจ้งรายละเอียดและเหตุผลในการยกเว้นของข้อ ๙ (๑) และ (๒) ไปยังองค์การ เพื่อที่จะได้แจ้งข้อมูลนี้ไปยังรัฐภาคีอื่น
ข้อ ๑๑ เรือซึ่งไม่อยู่ในบังคับของอนุสัญญานี้เมื่อเริ่มออกเดินเรือ หากจำเป็นต้องออกนอกเส้นทางเดินเรือที่กำหนดไว้เดิม เนื่องจากอากาศแปรปรวนหรือเหตุสุดวิสัยอื่น ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับของอนุสัญญา
ในการบังคับใช้อนุสัญญานี้ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนเส้นทางหรือความล่าช้าของเรือ อันเนื่องมาจากอากาศแปรปรวนหรือเหตุสุดวิสัยอื่น
ข้อ ๑๒ อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจอนุญาตให้ใช้สิ่งใช้แทนกันได้ (Equivalents) ในการติดตั้งหรือใช้ส่วนประกอบ วัสดุ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นๆ ที่ต่างไปจากข้อกำหนดของอนุสัญญา หากปรากฏผลการทดลองหรือผลการทดสอบว่าส่วนประกอบ วัสดุ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นๆ นั้น มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับข้อกำหนดของอนุสัญญา
ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าติดต่อและรายงานผลการทดลอง หรือผลการทดสอบนั้นไปยังองค์การ เพื่อที่จะได้แจ้งข้อมูลนี้ไปยังรัฐภาคีอื่น
ข้อ ๑๓ เรือที่เข้ารับการซ่อมทำ (Repairs) ดัดแปลง (Alterations) แก้ไขในส่วนที่สำคัญ (Modifications) และติดตั้งเครื่องประกอบของเรือ อย่างน้อยที่สุดต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ใช้บังคับกับเรือก่อนที่จะซ่อมทำ ดัดแปลง แก้ไขในส่วนที่สำคัญ และติดตั้งเครื่องประกอบของเรือ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ของเรือที่มีอยู่เดิมซึ่งไม่น้อยกว่าที่ปฏิบัติอยู่เดิม
ภายใต้บังคับวรรคหนึ่ง การซ่อมทำ การดัดแปลง การแก้ไขในส่วนที่สำคัญ และการติดตั้งเครื่องประกอบที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับเรือใหม่ ตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นสมควร
ข้อ ๑๔ เรือจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาและ Annex II ภายใต้ภาคผนวก ๑ เรื่อง เขตพื้นที่และช่วงฤดูกาล (Zones Areas and Seasonal Periods) ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
หากท่าเรืออยู่บริเวณ ๒ เส้นแบ่งเขต หรือบริเวณ ๒ พื้นที่ ให้ถือว่าท่าเรือนั้นอยู่ในเขต หรือพื้นที่ที่เรือเดินทางมาหรือกำลังจะเดินทางเข้าไป แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๕ เมื่อเรืออยู่ในน้ำจืดที่มีค่าความหนาแน่นเท่ากับ ๑ ตันต่อลูกบาศก์เมตร ให้บรรทุกได้ไม่เกินเส้นแนวน้ำบรรทุกที่กำหนดไว้สำหรับน้ำจืดในใบสำคัญรับรอง ส่วนกรณีที่ค่าความหนาแน่นของน้ำมิใช่ ๑ ตันต่อลูกบาศก์เมตร ให้เผื่อไว้เป็นสัดส่วนหรือผลต่างระหว่าง ๑.๐๒๕ กับความหนาแน่นของน้ำนั้น เรือที่ออกจากท่าเรือที่อยู่ในแม่น้ำหรือน่านน้ำภายใน ให้บรรทุกได้ลึกมากกว่าหรือเท่ากับน้ำหนักของเชื้อเพลิงและวัสดุอื่นๆ ที่จำเป็นและใช้ไประหว่างการเดินทางจากจุดออกเรือจนถึงทะเล
ข้อ ๑๖ การตรวจเรือและการทำเครื่องหมายแนวน้ำบรรทุกบนเรือ เพื่อการบังคับใช้อนุสัญญานี้หรือการตรวจเพื่อการยกเว้นต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานตรวจเรือ
อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจมอบอำนาจให้สถาบันการตรวจเรือที่ได้รับการยอมรับ ทำการตรวจเรือและทำเครื่องหมายแนวน้ำบรรทุกบนเรือ เพื่อบังคับใช้อนุสัญญานี้ โดยการมอบอำนาจนั้นต้องมีการกำกับดูแลให้แน่ใจถึงความสมบูรณ์และประสิทธิภาพของการตรวจเรือและการทำเครื่องหมายแนวน้ำบรรทุกบนเรือในทุกกรณี
ข้อ ๑๗ การตรวจเรือครั้งแรก การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ และการตรวจเรือประจำปี ให้ดำเนินการ ดังนี้
(๑) เรือต้องได้รับการตรวจเรือตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑.๑) การตรวจเรือก่อนนำเรือออกใช้งานซึ่งรวมถึงการตรวจโครงสร้างของเรือและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดตามที่อนุสัญญากำหนด การตรวจเรือต้องทำให้แน่ใจได้ว่าการจัดพื้นที่ในเรือ วัสดุที่ใช้ และขนาดชิ้นส่วนโครงสร้างของเรือเป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญานี้อย่างครบถ้วน
(๑.๒) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ตามรอบเวลาที่เจ้าพนักงานตรวจเรือกำหนด แต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามข้อ ๒๖ (๒) (๕) (๖) และ (๗) ซึ่งเป็นการทำให้แน่ใจได้ว่าโครงสร้าง อุปกรณ์ การจัดพื้นที่ในเรือ วัสดุที่ใช้ และขนาดชิ้นส่วนโครงสร้างของเรือเป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาอย่างครบถ้วน
(๑.๓) การตรวจเรือประจำปี ให้กระทำภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนหรือหลังวันครบรอบปีของใบสำคัญรับรอง เพี่อทำให้แน่ใจได้ว่า
(๑.๓.๑) มิได้มีการดัดแปลงตัวเรือหรือซูเปอร์สตรัคเจอร์ (Superstructure) ซึ่งอาจกระทบถึงการคำนวณเพื่อกำหนดตำแหน่งแนวน้ำบรรทุก
(๑.๓.๒) ข้อต่อ (Fitting) และเครื่องใช้ (Appliances) สำหรับการป้องกันช่องเปิดต่างๆ ราวกันตก ช่องระบายข้างเรือและช่องทางสู่ห้องลูกเรือ ได้มีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผล
(๑.๓.๓) เครื่องหมายระยะกราบพ้นน้ำถูกแสดงไว้อย่างถูกต้องและถาวร
(๑.๓.๔) มีการจัดเตรียมข้อมูลไว้ตามข้อกำหนดในข้อบังคับ ๑๐ ของ Annex I ภายใต้ภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
(๒) การตรวจเรือประจำปีตามที่อ้างถึงใน (๑) (๑.๓) ต้องสลักหลังไว้ในใบสำคัญรับรองหรือใบสำคัญรับรองการยกเว้นที่ออกให้กับเรือที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ ๙ (๒)
ข้อ ๑๘ ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อุปกรณ์ การจัดพื้นที่ในเรือ วัสดุหรือรายการขนาดของโครงสร้างที่ผ่านการตรวจแล้วก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตรวจเรือ
ข้อ ๑๙ ห้ามมิให้เรือลำใดออกทะเลเพื่อเดินเรือระหว่างประเทศภายหลังวันที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจเรือ การทำเครื่องหมายแนวน้ำบรรทุกบนเรือ และมีใบสำคัญรับรองหรือใบสำคัญรับรองการยกเว้นตามที่ข้อบังคับนี้กำหนด แล้วแต่กรณี
ข้อ ๒๐ การกำหนดแนวน้ำบรรทุกของเรือตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
เจ้าพนักงานตรวจเรืออาจกำหนดระยะกราบพ้นน้ำมากกว่าระยะกราบพ้นน้ำที่คำนวณได้ในวรรคหนึ่ง
ข้อ ๒๑ กรณีเรือไทยตามข้อบังคับนี้เกิดอุบัติเหตุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการสอบสวนอุบัติเหตุดังกล่าว โดยการสอบสวนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและป้องกันไม่ให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
ข้อ ๒๒ เจ้าของเรือ หรือตัวแทนเจ้าของเรือ ที่มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการตรวจเรือและออกใบสำคัญรับรองหรือใบสำคัญรับรองการยกเว้น ต้องยื่นคำร้องตามแบบ ก.๕ ล่วงหน้าก่อนวันนัดหมายตรวจเรือไม่น้อยกว่า ๓ วัน สำหรับการตรวจเรือภายในประเทศ และไม่น้อยกว่า ๒๑ วัน สำหรับการตรวจเรือในต่างประเทศ เมื่อพบว่าเรือได้ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือดำเนินการออกใบสำคัญรับรองหรือใบสำคัญรับรองการยกเว้นภายใน ๓ วันทำการนับตั้งแต่เจ้าพนักงานตรวจเรือแล้วเสร็จ
ข้อ ๒๓ การออกใบสำคัญรับรอง ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ให้ออกใบสำคัญรับรองแก่เรือทุกลำที่ได้รับการตรวจเรือและทำเครื่องหมายแนวน้ำบรรทุกบนเรือตามข้อบังคับนี้แล้ว
(๒) ให้ออกใบสำคัญรับรองการยกเว้นแก่เรือลำใดลำหนึ่งที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ ๙ (๒) หรือ (๓)
กรณีใบสำคัญรับรองตาม (๑) ที่ออกโดยสถาบันการตรวจเรือที่ได้รับการยอมรับ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการออกใบสำคัญดังกล่าว
ข้อ ๒๔ การออกใบสำคัญรับรองให้เรือของรัฐภาคีอื่น ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่ได้รับการร้องขอจากรัฐภาคีอื่น เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเรือได้ทำการตรวจเรือและเห็นว่าได้มีการปฏิบัติตามความในอนุสัญญาแล้ว ให้ออกใบสำคัญรับรองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นออกใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุกระหว่างประเทศ ให้แก่เรือดังกล่าวได้ตามข้อบังคับนี้
(๒) ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าส่งสำเนาใบสำคัญรับรอง สำเนารายงานการตรวจเรือที่ใช้คำนวณระยะกราบพ้นน้ำและสำเนาการคำนวณ ไปยังรัฐภาคีอื่นที่ร้องขอมาโดยเร็วที่สุด
(๓) ใบสำคัญรับรองที่ออกให้เพื่อการนี้ ต้องมีคำแถลงว่าออกให้ตามคำร้องขอของรัฐภาคีอื่นที่เรือลำนั้นชักธงอยู่ หรือจะชักธงในเวลาต่อไป และมีผลใช้บังคับและได้รับการยอมรับเช่นเดียวกับใบสำคัญรับรองซึ่งออกให้ตามข้อ ๒๓
(๔) ห้ามมิให้ออกใบสำคัญรับรองให้กับเรือที่ชักธงของประเทศที่มิได้เป็นภาคีของอนุสัญญา
ข้อ ๒๕ แบบใบสำคัญรับรอง ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในภาคผนวก ๒ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้หรือตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
ข้อ ๒๖ อายุและการมีผลของใบสำคัญรับรอง (Duration and Validity of Certificate) ให้เป็นไปดังนี้
(๑) ใบสำคัญรับรองต้องออกให้เป็นระยะเวลาตามที่เจ้าพนักงานตรวจเรือระบุ ซึ่งต้องไม่เกิน ๕ ปี
(๒) การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ให้กำหนดอายุใบสำคัญรับรอง ดังนี้
(๒.๑) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมไม่เกิน ๓ เดือน ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่ตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นและให้กำหนดอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
(๒.๒) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นหลังจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่และให้กำหนดอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม
(๒.๓) หากการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมเกินกว่า ๓ เดือน ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่และให้กำหนดอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่
(๓) กรณีใบสำคัญรับรองที่ออกให้โดยมีอายุน้อยกว่า ๕ ปี เจ้าพนักงานตรวจเรือสามารถขยายอายุของใบสำคัญรับรองออกไปพ้นวันหมดอายุไปจนถึงช่วงอายุสูงสุดที่กำหนดใน (๑) โดยมีข้อแม้ว่าได้ทำการตรวจเรือประจำปีตามข้อกำหนดในข้อ ๑๗ สำหรับกรณีที่ออกใบสำคัญรับรองให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี โดยคำนึงถึงสภาพความปลอดภัยสำหรับการใช้เรือ
(๔) กรณีที่การตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ตามข้อ ๑๗ (๑) (๑.๒) สิ้นลงแต่ไม่สามารถออกใบสำคัญรับรองใหม่ให้กับเรือได้ก่อนวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิม เจ้าพนักงานตรวจเรือสามารถขยายอายุของใบสำคัญรับรองเดิมต่อไปได้อีกไม่เกิน ๕ เดือน โดยให้สลักหลังการขยายอายุนี้ไว้ในใบสำคัญรับรองและจะกระทำให้ได้ในเฉพาะกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อุปกรณ์การจัดวาง วัสดุหรือขนาดชิ้นส่วนโครงสร้างที่กระทบต่อระยะกราบพ้นน้ำของเรือ
(๕)
กรณีใบสำคัญรับรองของเรือลำใดหมดอายุลง
ในขณะที่เรือนั้นไม่อยู่ในเมืองท่าที่สามารถกระทำการตรวจเรือได้ เจ้าพนักงานตรวจเรือสามารถขยายอายุใบสำคัญรับรองออกไปได้แต่การขยายอายุนี้ต้องกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุญาตให้เรือเดินทางไปยังเมืองท่าที่จะทำการตรวจเรือได้
และเป็นกรณีที่ปรากฏว่าเหมาะสมและสมเหตุผลที่จะดำเนินการเช่นนั้น โดยมิให้ขยายอายุใบสำคัญรับรองเกิน
3 เดือน และเมื่อเรือนั้นเดินทางถึงเมืองท่าที่จะทำการตรวจเรือได้แล้ว ห้ามมิให้อาศัยประโยชน์จากการขยายอายุใบสำคัญรับรองนี้
ออกเดินทางจากเมืองท่านั้นโดยไม่มีใบสำคัญรับรองใหม่
เมื่อการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นแล้วให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีอายุไม่เกิน
๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมก่อนมีการขยายอายุ
(๖) กรณีใบสำคัญรับรองที่ออกให้แก่เรือที่เดินทางระยะสั้น ซึ่งไม่เคยได้รับการขยายอายุใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดข้างต้น เจ้าพนักงานตรวจเรือสามารถขยายอายุใบสำคัญรับรองออกไปได้ไม่เกิน ๑ เดือน นับจากวันหมดอายุที่ระบุในใบสำคัญรับรอง เมื่อการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมก่อนมีการขยายอายุ
(๗) ในสถานการณ์พิเศษ (Special circumstances) ที่เจ้าพนักงานตรวจเรือเห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกใบสำคัญรับรองใหม่โดยใช้วันหมดอายุของใบสำคัญรับรองเดิมตามที่กำหนดไว้ใน (๒) (๕) และ (๖) ให้ใบสำคัญรับรองใหม่มีอายุไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันเสร็จสิ้นการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่
(๘) กรณีการตรวจเรือประจำปีเสร็จสิ้นก่อนช่วงเวลาที่ระบุไว้ในข้อ ๑๗ ให้ดำเนินการดังนี้
(๘.๑) แก้ไขวันครบรอบปีที่แสดงไว้ในใบสำคัญรับรองด้วยการสลักหลังลงวันที่ซึ่งต้องไม่เกิน ๓ เดือน หลังจากวันที่เสร็จสิ้นการตรวจเรือ
(๘.๒) การตรวจเรือประจำปีในครั้งต่อๆ ไป ต้องเสร็จสิ้นภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๗ โดยใช้วันครบรอบปีที่กำหนดขึ้นใหม่
(๘.๓) หากมีการตรวจเรือประจำปีอย่างน้อย ๑ ครั้ง ที่ทำให้ช่วงห่างระหว่างการตรวจเรือไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๗ ให้สามารถคงวันหมดอายุไว้เช่นเดิมได้
(๙) ใบสำคัญรับรองให้สิ้นผลในกรณีดังต่อไปนี้
(๙.๑) มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุกับตัวเรือหรือซุปเปอร์สตรัคเจอร์ของเรือซึ่งทำให้จำเป็นต้องกำหนดระยะกราบพ้นน้ำเพิ่มขึ้น
(๙.๒) ข้อต่อและเครื่องใช้ที่กล่าวถึงในข้อ ๑๗ (๑) (๑.๓) มิได้มีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผล
(๙.๓) ไม่มีการสลักหลังใบสำคัญรับรองเพื่อแสดงว่าเรือได้ผ่านการตรวจเรือตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑๗ (๑) (๑.๓)
(๙.๔) ความแข็งแรงของโครงสร้างเรือลดลงจนถึงขนาดที่ทำให้เรือไม่ปลอดภัย
(๑๐) กรณีใบสำคัญรับรองการยกเว้น ให้ดำเนินการดังนี้
(๑๐.๑) ช่วงเวลาของใบสำคัญรับรองการยกเว้น ที่เจ้าพนักงานตรวจเรือออกให้กับเรือที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ ๙ (๒) ต้องไม่เกิน ๕ ปี โดยคำนึงถึงสภาพความปลอดภัยสำหรับการใช้เรือ ใบสำคัญรับรองดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กระบวนการออกใบสำคัญรับรองใหม่ การสลักหลัง การขยายอายุ และการยกเลิก เช่นเดียวกับข้อกำหนดสำหรับใบสำหรับรับรองตามข้อ ๒๖
(๑๐.๒) ช่วงเวลาของใบสำคัญรับรองการยกเว้น ที่ออกให้กับเรือที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ ๙ (๓) ต้องจำกัดไว้เฉพาะการเดินทางเพียงเที่ยวเดียวตามใบสำคัญรับรองการยกเว้นที่ออกไว้
(๑๑) ใบสำคัญรับรองที่ออกให้ภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้สิ้นสุดลงเมื่อเรือเปลี่ยนไปชักธงของรัฐอื่น
ข้อ ๒๗ อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการตรวจเรือเพื่อออกหรือสลักหลังใบสำคัญรับรองหรือใบสำคัญรับรองการยกเว้น ให้เป็นไปตามภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้
ข้อ ๒๘ ใบสำคัญรับรองและใบสำคัญรับรองการยกเว้นซึ่งออกให้ก่อนข้อบังคับฉบับนี้มีผลใช้บังคับและยังไม่หมดอายุ ให้สามารถใช้ได้ต่อไปจนครบอายุของใบสำคัญรับรองนั้น
ข้อ ๒๙ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕
(นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์)
รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมเจ้าท่า