ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ระเบียบ
เริ่มใช้บังคับ : 10 ส.ค. 2564

ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection) พ.ศ. 2564

Marine Department Rule on Port State Control Inspection B.E. 2564


ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection) พ.ศ. ๒๕๖๔

เพื่อให้การปฏิบัติงานการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๕๘ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ ประกอบกับ ข้อกำหนดมาตรฐานทางปฏิบัติระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศของ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ตลอดจนนโยบายการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection Policy) อธิบดีกรมเจ้าท่าจึงวางระเบียบว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection) ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้ ให้เรียกว่า “ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือในฐานะ รัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection) พ.ศ. ๒๕๖๔”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Inspection) พ.ศ. ๒๕๖๓

ข้อ ๔ บรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่งหรือข้อสั่งการใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้บังคับแทน

ข้อ ๕ ระเบียบนี้ใช้บังคับกับการตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่าเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศกำหนด

ข้อ ๖ ในระเบียบนี้

“เรือ” หมายถึง เรือเดินทะเลระหว่างประเทศที่ชักธงของรัฐอื่น

“อนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง” หมายถึง อนุสัญญาขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศและอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ดังต่อไปนี้

(๑) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for the Safety of Life at Sea (SOLAS), 1974, as amended : SOLAS 1974)

(๒) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. ๑๙๖๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Load Lines 1966, as amended : LL 1966)

(๓) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. ๑๙๗๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๘ และพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๙๗ (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, 1973, as modified by of the 1978 and 1997 Protocols as amended : MARPOL 73/78)

(๔) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามของคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๗๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers, 1978, as amended : STCW 1978)

(๕) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการวัดขนาดตันเรือ ค.ศ. ๑๙๖๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Tonnage Measurement of Ships, 1969, as amended : TONNAGE 1969)

(๖) อนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (Convention on the International Regulations for Preventing Collisions at Sea, 1972, as amended : COLREG 1972)

(๗) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายอันเกิดจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ. ๑๙๙๒ (Protocol of 1992 to amend the International Convention on Civil Liability for Oil Pollution Damage 1992 : CLC 1992)

(๘) อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. ๒๐๐๖ (Maritime Labour Convention : MLC 2006)

(๙) อนุสัญญาระหว่างประเทศอื่นใดที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีหลังจากระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

“เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่า” (Port State Control Officer : PSCO) หมายถึง “เจ้าท่า” ที่มีคุณสมบัติโดยผ่านการฝึกอบรม รวมถึงการประเมินผลซึ่งได้รับมอบอำนาจและมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าตามมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๕๘ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕

“เหตุบ่งชี้ ” (Clear ground) หมายถึง หลักฐานที่แสดงว่าเรือ อุปกรณ์ หรือคนประจำเรือ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เป็นสาระสำคัญของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นการที่นายเรือหรือคนประจำเรือไม่คุ้นเคยกับขั้นตอนปฏิบัติที่จำเป็นในการเดินเรือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของเรือหรือการป้องกันมลพิษ

“การตรวจเรือเบื้องต้น” (Initial inspection) หมายถึง การขึ้นบนเรือเพื่อตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของหนังสือรับรองที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกสารอื่น ๆ และสภาพโดยรวมของเรือ อุปกรณ์ และลูกเรือ

“การตรวจเรือโดยละเอียด” (More detailed inspections) หมายถึง การตรวจสภาพเรือที่ได้ดำเนินการขึ้นเมื่อมีเหตุบ่งชี้ (Clear ground) ว่าสภาพของเรือ อุปกรณ์ หรือคนประจำเรือไม่ตรงกับสาระสำคัญของหนังสือรับรอง

“การระงับการตรวจเรือ (Suspension of inspection)” หมายถึง การระงับการตรวจ ควบคุมเรือในเมืองท่าโดยเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่า (PSCO) เมื่อตรวจพบสถานการณ์ที่สภาพโดยรวมของเรือและอุปกรณ์ประจำเรือ รวมถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนประจำเรือ ตลอดจนสภาพการทำงานแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเรือนั้นต่ำกว่ามาตรฐานจนไม่สามารถดำเนินการตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าได้จนครบกระบวนการ

“เรือที่ต่ำกว่ามาตรฐาน” หมายถึง เรือที่มีตัวเรือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐานของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ หรือคนประจำเรือไม่สอดคล้องกับหนังสือรับรองคนประจำเรือเพื่อความปลอดภัยขั้นต่ำ (Minimum safe manning document)

“ข้อบกพร่อง” หมายถึง สภาพที่ตรวจพบว่าเรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง

“กักเรือ” หมายถึง การไม่อนุญาตให้ทำการเดินเรือออกจากเมืองท่าเมื่อตรวจพบว่าสภาพ ของเรือหรือคนประจำเรือ อุปกรณ์และเครื่องใช้ประจำเรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ โดยการออกใบแจ้งไม่อนุญาตให้เรือออกจากท่าตามแบบที่ปรากฏในภาคผนวก ๔ เพื่อให้นายเรือทำการแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องเสียก่อน

“ปล่อยเรือ” หมายถึง การถอนคำสั่งกักเรือโดยการออกใบแจ้งถอนการไม่อนุญาตให้เรือออกจากท่าตามแบบที่ปรากฏในภาคผนวก ๕ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ให้กับนายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องของเรือที่ถูกกัก

“Tokyo MOU” หมายถึง บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการควบคุมเรือในเมืองท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Memorandum of Understanding on Port State Control in the Asia-Pacific Region)

ข้อ ๗ การตรวจเรือที่ชักธงของรัฐที่เป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๘ เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความเท่าเทียมกัน กรณีเรือที่ตรวจมิได้เป็นภาคีของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าใช้วิธีปฏิบัติตามแนวทางที่ปรากฏตามภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายระเบียบนี้

ข้อ ๙ กรณีทำการตรวจเรือที่มีขนาดต่ำกว่าที่อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกำหนด ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าตรวจให้เป็นไปตามรายละเอียดของใบสำคัญรับรอง และเอกสารต่าง ๆ ของเรือที่ออกให้โดยรัฐเจ้าของธง หรือในนามของรัฐเจ้าของธงโดยตรวจเฉพาะการดำเนินการตามข้อกำหนดของใบสำคัญรับรองและเอกสารนั้น

ข้อ ๑๐ ในการตรวจเรือ เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าอาจขึ้นไปทำการตรวจได้ โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยต้องแสดงเอกสารหลักฐานหรือบัตรประจำตัวแสดงความเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าต่อนายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องหากมีการร้องขอ การตรวจเรือตามความข้างต้นต้องทำการตรวจเรือต่อหน้านายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องและจะต้องปฏิบัติตามระเบียบด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของเรือที่ออกภายใต้อนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๑๑ การตรวจเรือภายใต้ระเบียบนี้ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าตรวจเรือเดินทะเลระหว่างประเทศที่ชักธงของรัฐอื่นซึ่งเข้ามาในน่านน้ำไทย โดยให้เชื่อว่าเรือนั้นได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาซึ่งเป็นไปตามใบสำคัญรับรองที่ออกภายใต้รัฐเจ้าของธงแล้ว เว้นแต่เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าพบว่ามีเหตุบ่งชี้ ดังต่อไปนี้

(ก) พบว่าเรือไม่มีอุปกรณ์หรือการเตรียมการที่จำเป็นตามอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกำหนด

(ข) พบว่ามีพยานหลักฐานว่าใบสำคัญรับรองของเรือไม่ถูกต้อง

(ค) พบว่าเอกสารที่เกี่ยวข้องตามที่อนุสัญญากำหนดไม่อยู่บนเรืออยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ไม่มีการบำรุงรักษา หรือมีวิธีการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง

(ง) พบหลักฐานว่าตัวเรือหรือโครงสร้างเสื่อมสภาพ หรือมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง และมีความเสี่ยงต่อความสมบูรณ์ของโครงสร้างการผนึกน้ำหรือการผนึกคลื่นลมของเรือ และความปลอดภัยการป้องกันมลพิษหรืออุปกรณ์การเดินเรือ

(จ) พบว่าข้อมูลหรือหลักฐานที่แสดงว่านายเรือ หรือคนประจำเรือไม่มีทักษะหรือ ความคุ้นเคยกับสิ่งจำเป็นในวิธีการปฏิบัติงานหรือการฝึกสถานีฉุกเฉินบนเรือในส่วนที่ส่งผลต่อความปลอดภัย หรือการป้องกันมลพิษที่เกิดจากเรือ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษน้ำมัน มลพิษทางอากาศ หรือมลพิษอื่นใด หรือไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

(ฉ) พบว่าคนประจำเรือที่ปฏิบัติหน้าที่สำคัญไม่สามารถสื่อสารกันเองหรือกับบุคคลอื่นบนเรือได้

(ช) พบว่ามีการส่งการแจ้งเตือนเหตุโดยผิดพลาด และไม่มีการดำเนินการยกเลิกตามขั้นตอนที่เหมาะสม

(ซ) ได้รับรายงานหรือการร้องเรียนอย่างเป็นทางการซึ่งมีข้อมูลว่าเรือไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

ข้อ ๑๒ การตรวจเรือให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) การตรวจเรือเบื้องต้น (Initial inspection) ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าที่ขึ้นไปบนเรือสังเกตสภาพทั่วไปของเรือและการปฏิบัติงานของคนประจำเรือ และตรวจใบรับรองสำคัญที่ออกตามอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าจะพบว่ามีเหตุบ่งชี้ตามข้อ ๑๑ ให้ทำการตรวจเรือในรายละเอียดต่อไป

(๒) การตรวจเรือโดยละเอียด (More detailed inspection) ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าดำเนินการตรวจเรือเพิ่มเติมตามแนวทางที่ปรากฏในภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายระเบียบนี้

(๓) การระงับการตรวจเรือ (Suspension of inspections) เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าตรวจพบว่าเรือนั้นต่ำกว่ามาตรฐานอย่างเห็นได้ชัดอันเป็นผลมาจากการตรวจเรือโดยละเอียด และจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ให้เจ้าหน้าที่ ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่ากักเรือและระงับการตรวจเรือเพื่อป้องกันการออกจากท่าเรือ รวมถึงเพื่อให้แน่ใจว่ามีการดำเนินการแก้ไขที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ การระงับการตรวจเรือตามความข้างต้น เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าต้องดำเนินการ ตามคู่มือการตรวจควบคุมเรือของรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Manual) ของ Tokyo MOU ในบทที่ ๓.๑ - ๔ หัวข้อที่ ๗ เรื่องแนวทางการปฏิบัติสำหรับการระงับการตรวจเรือ (Guidance for PSCOs on Suspension of Inspection)

ข้อ ๑๓ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าตรวจเรือแล้ว ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ออกเอกสารรายงานการตรวจเรือตามแบบฟอร์ม เอ ที่ปรากฏในภาคผนวก ๒ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ และ

(๒) ในกรณีพบข้อบกพร่องของเรือ ให้รายงานข้อบกพร่องที่พบจากการตรวจตามแบบฟอร์ม บี ที่ปรากฏในภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายระเบียบนี้

ข้อ ๑๔ กรณีพบข้อบกพร่องตามข้อ ๑๒ ที่เป็นเหตุให้ต้องกักเรือ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการกักเรือ (Guidelines for the Detention of Ships) ซึ่งระบุไว้ในภาคผนวก ๒ ของวิธีปฏิบัติตามแนวทางที่ปรากฏตามภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ และออกใบแจ้งไม่อนุญาตให้เรือออกจากท่าตามแบบที่ปรากฏในภาคผนวก ๔ ที่ปรากฏแนบท้ายระเบียบนี้ จำนวน ๒ ฉบับ โดยมอบให้นายเรือหรือผู้เกี่ยวข้อง ๑ ฉบับ และอีก ๑ ฉบับ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าดำเนินการให้นายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องทราบและแก้ไขเป็นหลักฐาน ประกอบการรายงานต่อไป

ข้อ ๑๕ กรณีพบว่าข้อบกพร่องตามข้อ ๑๒ เป็นข้อบกพร่องที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมหากปล่อยให้มีการปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งของเรือต่อไป เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าอาจสั่งให้หยุดปฏิบัติการนั้นก็ได้

ข้อ ๑๖ เมื่อได้รับแจ้งจากนายเรือว่าได้มีการซ่อมหรือแก้ไขข้อบกพร่องตามวรรคต้นแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าเดินทางไปตรวจสอบ เมื่อได้ตรวจแล้วพบว่าได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องโดยเป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง หรือได้มีการดำเนินการอื่นใดตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าเห็นสมควรแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าดำเนินการ ดังนี้

(ก) ลงวันที่ปล่อยเรือ พร้อมสลักหลังการแก้ไขไว้ในรายงานแบบฟอร์ม เอ และ แบบฟอร์ม บี ที่ปรากฏในภาคผนวก ๒ และภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ ที่ออกให้แก่เรือนั้น

(ข) ออกใบแจ้งถอนการไม่อนุญาตให้เรือออกจากท่าตามแบบที่ปรากฏในภาคผนวก ๕ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ โดยทำเป็น ๒ ฉบับ ให้ไว้แก่นายเรือหรือผู้เกี่ยวข้อง ๑ ฉบับ และอีก ๑ ฉบับ ให้นายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องลงนามรับทราบเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและน้ามาประกอบการรายงาน ของเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่า

ข้อ ๑๗ หากนายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมลงนามรับทราบการแจ้งการกักเรือและการปล่อยเรือ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าบันทึกไว้ในใบแจ้งไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ ๑๘ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าบันทึกการกักเรือ และการปล่อยเรือในระบบ Single window @ Marine Department

ข้อ ๑๙ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่ารายงานการตรวจเรือตามระเบียบนี้ ให้ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือ หรือผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคทราบ แล้วแต่กรณี พร้อมบันทึกในระบบฐานข้อมูลของ TOKYO MOU และฐานข้อมูลของกรมเจ้าท่า ภายใน ๓ วัน นับจากวันที่ได้ทำการตรวจเรือ และให้บันทึกรายงานในโอกาสแรกในกรณีที่มีการกักเรือหรือการปล่อยเรือ กรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่าในสังกัดสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ให้รายงานตามลำดับชั้นถึงผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ส่งสำเนารายงานการตรวจเรือให้สำนักมาตรฐานเรือภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ทำการตรวจเรือ

ข้อ ๒๐ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือในเมืองท่ารายงานอธิบดีกรมเจ้าท่าทราบถึงการกักเรือ และการปล่อยเรือให้ออกจากท่า เพื่อจะได้แจ้งสถานกงสุลหรือสถานทูตของรัฐที่เรือชักธง และแจ้งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เพื่อทราบต่อไป ให้สำนักมาตรฐานเรือหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา แล้วแต่กรณี เป็นผู้จัดท้าหนังสือแจ้ง ตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๒๑ ถ้าตรวจพบว่าเรือมีข้อบกพร่องแต่ไม่ถึงขั้นจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของตัวเรือ สินค้า คนประจำเรือ ผู้โดยสาร หากในเมืองท่านั้นไม่มีอุปกรณ์หรืออะไหล่จะเปลี่ยนทดแทน หรือไม่มีสถานรับบริการซ่อมทำตามข้อกำหนดได้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เป็นการหน่วงเหนี่ยวเรือหรือท้าให้เกิดการล่าช้าเกินควร ก็ให้ยอมรับการซ่อมทำหรือให้แก้ไขชั่วคราวอย่างเพียงพอเท่าที่จะดำเนินการได้พอที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางไปยังเมืองท่าต่อไป การอนุญาตให้เรือออกจากท่าตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานที่ดำเนินการดังกล่าวแจ้งข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานของรัฐเจ้าของเมืองท่าที่เรือจะแวะต่อไป

ข้อ ๒๒ รายละเอียดและแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมในเรื่องการรายงาน ให้ปฏิบัติตามคู่มือ การตรวจควบคุมเรือของรัฐเจ้าของเมืองท่า (Port State Control Manual) ของ Tokyo MOU

ข้อ ๒๓ แนวทางปฏิบัติในการตรวจเรือและการกักเรือเพิ่มเติม ให้ปฏิบัติตามมติขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ที่ เอ ๑๑๓๘ (๓๑) ว่าด้วยกระบวนการตรวจควบคุมเรือในฐานะ รัฐเจ้าของเมืองท่า ค.ศ. ๒๐๑๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (IMO Resolution A.1138 (31) Procedures for Port State Control 2019, as amended) ตามภาคผนวก ๑ ที่แนบท้าย ระเบียบนี้

ข้อ ๒๔ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติตามข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ เพิ่มเติมได้ ข้อ ๒๕ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

วิทยา ยาม่วง

อธิบดีกรมเจ้าท่า