ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
พระราชบัญญัติ
เริ่มใช้บังคับ : 21 ก.ค. 2522

พระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522

Ships Collision Prevention Act B.E.2522


พระราชบัญญัติ

ป้องกันเรือโดนกัน

พ.ศ. ๒๕๒๒

                 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒

เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภาดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๒๒”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๔๙๗

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“เรือ” หมายความรวมถึง ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดรวมทั้งยานพาหนะทางน้ำชนิดที่ไม่มีระวางขับน้ำ และเครื่องบินทะเลซึ่งใช้หรือสามารถใช้ในการขนส่งทางน้ำได้

“เครื่องบินทะเล” หมายความรวมถึง อากาศยานอื่นใดที่สร้างให้บังคับการเดินเรือบนพื้นน้ำได้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) การถือท้ายและการเดินเรือ

(๒) โคมไฟและทุ่นเครื่องหมาย

(๓) สัญญาณเสียง และสัญญาณแสง

(๔) ข้อยกเว้นในการป้องกันเรือโดนกัน

(๕) ที่ติดตั้ง และรายละเอียดทางเทคนิคของโคมไฟและทุ่นเครื่องหมาย

(๖) สัญญาณที่ต้องมีเพิ่มขึ้นสำหรับเรือประมงขณะทำการประมงใกล้กัน

(๗) รายละเอียดทางเทคนิคของเครื่องทำสัญญาณเสียง

(๘) สัญญาณอับจน

 

มาตรา ๖  กฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๕ ให้ใช้บังคับแก่เรือไทยและเรือต่างประเทศที่อยู่ในน่านน้ำไทย และเรือไทยที่อยู่ในทะเลหลวง

 

มาตรา ๗  กฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๕ ให้ถือว่าเป็นกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกันตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย

 

มาตรา ๘  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๕ เกี่ยวกับเรือดังระบุไว้ในมาตรา ๖ มีความรับผิดและต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้สำหรับเรือในกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

 

มาตรา ๙  ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๕ ใช้บังคับแก่เรือที่เดินขึ้นล่องอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ให้นำกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๑๐  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส.  โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยได้เคยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับการป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ. ๑๙๔๘ และได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๔๙๗ ขึ้นบังคับใช้เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญานั้น ต่อมาอนุสัญญาดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยอนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๒ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๐ เป็นต้นไป ในการนี้สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกันให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับใหม่ซึ่งประเทศไทยกำลังดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น