ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ประกาศ
เริ่มใช้บังคับ : 26 พ.ย. 2562

ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ ๒๑๕/๒๕๖๒ เรื่อง ใบรับรองแรงงานประมง

Marine Department Notification No. 215/2562 Re: Certificate of Sea Fishery Labour


ประกาศกรมเจ้าท่า
ที่ ๒๑๕/๒๕๖๒
เรื่อง ใบรับรองแรงงานประมง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง
พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการยื่นคำขอรับใบรับรองแรงงานประมงการต่ออายุ
และการเพิกถอนใบรับรอง อธิบดีกรมเจ้าท่าจึงประกาศกำหนด เรื่อง ใบรับรองแรงงงานประมง
ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ เรือประมงที่อยู่ในทะเลเกินกว่าสามวันและมีความยาวตลอดลำยี่สิบหกจุดห้าเมตรขึ้นไป
หรือเรือที่อยู่ในทะเลเกินกว่าสามวันและเดินเรือออกไปนอกน่านน้ำไทย ต้องมีใบรับรองแรงงานประมง
เพื่อแสดงว่าผ่านการตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานตามประกาศนี้
ข้อ ๓ เจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือที่ประสงค์ขอรับใบรับรองแรงงานประมง ให้ยื่นคำร้อง
ขอใบรับรองแรงงานประมงโดยใช้แบบคำร้องตามแบบ รป. ๑ หรือแบบ รป. ๒ ที่กำหนด
ในภาคผนวก ๑ พร้อมกับยื่นแบบบันทึกการปฏิบัติด้านแรงงานประมงตามแบบ รป. ๓ ที่กำหนด
ในภาคผนวก ๒ ที่กองมาตรฐานคนประจำเรือหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา พร้อมเอกสารหลักฐาน
ของเรือลำที่ประสงค์จะขอรับใบรับรองแรงงานประมง ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีเจ้าของเรือเป็นบุคคลธรรมดา
      (ก) บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของเรือ หรือ
      (ข) หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
          ในกรณีที่เจ้าของไม่ได้เป็นผู้ดำนินการ หรือ
(๒) กรณีเจ้าของเรือเป็นนิติบุคคล
      (ก) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนาม และผู้รับมอบอำนาจ
      (ข) หนังสือรับรองนิติบุคคล
      (ค) หนังสือมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลนั้น
(๓) สำเนาใบอนุญาตใช้เรือ
ข้อ ๔ เมื่อกองมาตรฐานคนประจำเรือ หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ได้รับคำร้อง
ตามแบบ รป. ๑ หรือแบบ รป. ๒ ให้กองมาตรฐานคนประจำเรือ หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา
กำหนดวันนัดตรวจเรือให้กับเจ้าของเรือ
ข้อ ๕ การตรวจเพื่อออกใบรับรองแรงงานประมงให้ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่
เพื่อพิสูจน์และทำให้มั่นใจได้ว่ามาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพการทำงาน สวัสดิการในการทำงาน
ความปลอดภัย สุขอนามัย และความเป็นอยู่ของแรงงานประมงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรายการต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการตรวจ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ ประกอบด้วย
(๑) อายุขั้นต่ำ
(๒) ใบรับรองแพทย์
(๓) คุณสมบัติของคนประจำเรือ
(๔) ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ
(๕) การใช้หน่วยบริการคัดเลือกและบรรจุคนของเอกชนตามที่กฎหมายกำหนดหรือได้รับ ใบรับรองหรือได้รับใบอนุญาต (ถ้ามี)
(๖) ชั่วโมงการทำงานหรือการพักผ่อน
(๗) การจัดอัตรากำลังบนเรือ
(๘) ที่พักอาศัย
(๙) อาหารและการจัดหาอาหาร
(๑๐) ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย
(๑๑) การส่งตัวกลับ
(๑๒) การจ่ายค่าจ้าง
(๑๓) สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด กรณีมีเหตุจำเป็น ผู้อำนวยการกองมาตรฐานคนประจำเรือ หรือผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่า ภูมิภาคสาขา อาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นเข้าร่วมดำเนินการตรวจได้
ข้อ ๖ การออกใบรับรองแรงงานประมง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน สิบวันนับแต่วันที่เจ้าของเรือยื่นคำร้องตามแบบ รป. ๑ หรือแบบ รป. ๒ และตรวจสอบเอกสาร ครบถ้วน
ข้อ ๗ เมื่อกองมาตรฐานคนประจำเรือ หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิจารณาเห็นว่า เจ้าของเรือได้ดำเนินการตามประกาศนี้แล้ว ให้ออกใบรับรองแรงงานประมงตามแบบ รป. ๔ ที่กำหนด ในภาคผนวก ๓ ท้ายประกาศนี้ ให้แก่เจ้าของเรือและให้มีอายุไม่เกินห้าปี กรณีที่ใบรับรองแรงงานประมงได้ออกโดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ประจำสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาดังกล่าวรายงานผลการออกใบรับรองแรงงานประมงพร้อมสำเนา มายังกองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า ภายในวันที่ห้าของทุกเดือน ข้อ ๘ ใบรับรองแรงงานประมงสิ้นผล ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ครบกำหนดวันสิ้นอายุ
(๒) เรือประมงได้ถูกเปลี่ยนจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติอื่น หรือถูกถอนสัญชาติ หรือมีเหตุอื่น ทำให้เรือนั้นเสียสัญชาติไทย
(๓) มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทย
(๔) มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของโครงสร้างหรืออุปกรณ์เครื่องใช้บนเรือประมง ซึ่งส่งผลให้ไม่เป็นไปตามประกาศนี้
ข้อ ๙ เจ้าของเรืออาจยื่นคำร้องเพื่อขอต่ออายุใบรับรองแรงงานประมงต่อกองมาตรฐานคนประจำเรือ หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภายในหกเดือนก่อนครบกำหนดวันสิ้นอายุ
ข้อ ๑๐ ในการตรวจเพื่อต่ออายุใบรับรองแรงงานประมง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ทำการตรวจสอบว่าเจ้าของเรือยังคงปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้
ข้อ ๑๑ ในกรณีมีหลักฐานว่าเจ้าของเรือประมง หรือเรือประมงที่ได้ใบรับรองแรงงานประมง ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งแก่เจ้าของ เรือประมงพร้อมทั้งกำหนดเวลาให้เจ้าของเรือประมงดังกล่าวดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในสามสิบวัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้ง ข้อ ๑๒ เรือประมงที่ผ่านการตรวจรับรองการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ ต้องเก็บรักษาและ ปิดประกาศใบรับรองแรงงานประมงไว้บนเรือประมงนั้น เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้
ข้อ ๑๓ การมอบอำนาจให้สถาบันตรวจเรือตามที่กำหนดในมาตรา ๑๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับสำหรับ การตรวจเรือ (ฉบับที่ ๔๕) พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยอนุโลม
ข้อ ๑๔ ประกาศฉบับนี้ไม่ใช้บังคับกับเรือประมงที่ออกทำการประมงก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ มีผลใช้บังคับจนกว่าเรือประมงนั้นจะกลับเข้าฝั่ง ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
                                                            ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒
                                                                                          วิทยา ยาม่วง
                                                                                        อธิบดีกรมเจ้าท่า