ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ระเบียบ
เริ่มใช้บังคับ : 22 ก.ค. 2564

(SSB) ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือไทย (Flag State Supplementary Survey) ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. 2564

Marine Department Procedural on Flag State Supplementary Inspection for International voyage and Near Coastal voyage vessels


ระเบียบกรมเจ้าท่า

ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือไทย (Flag State Supplementary Survey)

ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง

พ.ศ. ๒๕๖๔

ตามที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) และมีพันธกรณีที่จะต้องดําเนินการให้เป็นไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ตามที่กําหนดไว้ในกฎข้อบังคับ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาและตราสาร ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี นั้น ในฐานะรัฐเจ้าของธงซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการกํากับดูแลเรือไทยให้ปลอดภัยและเป็นไปตามข้อกําหนดและมาตรฐานที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศกําหนด

เพื่อให้การดําเนินการตามภารกิจดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์ และเพื่อให้มีการตรวจสอบ กํากับการดําเนินการตรวจเรือและออกใบสําคัญรับรองของเจ้าพนักงานตรวจเรือ กรมเจ้าท่า และการดําเนินการตรวจเรือและออกใบสําคัญรับรองโดยสถาบันการตรวจเรือ และองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า (Recognized Organization : RO) ให้เป็นไป ตามมาตรฐานตามประมวลว่าด้วยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ (Code for Recognized Organizations : RO Code) และประมวลข้อบังคับว่าด้วยการอนุวัติการตราสารขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ((IMO Instruments Implementation Code : III Code) ตามข้อมติสมัชชา (Resolution A.1070 (28)) และอาศัยอํานาจตามมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๕๘ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดี กรมเจ้าท่าจึงวางระเบียบว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือไทย (Flag State Control Inspection) ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้ให้เรียกว่า “ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการตรวจควบคุมเรือไทย (Flag State Control inspection) ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง พ.ศ. ๒๕๖๔”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ บรรดาระเบียบ ประกาศ คําสั่งหรือข้อสั่งการใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้บังคับแทน

ข้อ ๔ ระเบียบนี้ใช้บังคับกับการตรวจควบคุมเรือไทย (Flay State Control Inspection) ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง

ข้อ ๕ ในระเบียบนี้

“เรือ” หมายถึง เรือไทยประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง

“การตรวจควบคุมเรือไทย” (Flag State Supplementary Surveys) หมายถึง การตรวจเรือ การตรวจสอบ และการตรวจประเมิน ทุกประเภท (survey, inspection and audit) เพิ่มเติม ที่นอกเหนือจากการตรวจเรือเพื่อออกใบสําคัญรับรองตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อกํากับดูแล (Oversight) เรือไทย เพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษามาตรฐานให้สอดคล้องกับข้อกําหนดที่มีผลบังคับใช้

“ข้อบกพร่อง” หมายถึง สภาพที่ตรวจพบว่าเรือไม่เป็นไปตามข้อกําหนดของกฎข้อบังคับ สําหรับการตรวจเรือ และข้อบังคับกรมเจ้าท่า ซึ่งออกตามกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ําไทย รวมตลอดถึงมาตรฐานที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศกําหนด

“เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย” (Flag State Control Officer: FSCO) หมายถึง “เจ้าท่า ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (Flay State Control Inspection) ประเภทเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง ตามมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๕๘ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“กักเรือ” หมายถึง การไม่อนุญาตให้ทําการเดินเรือ เมื่อตรวจพบว่าสภาพของเรือ หรือคนประจําเรือ อุปกรณ์และเครื่องใช้ประจําเรือไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับสําหรับการตรวจเรือ และข้อบังคับกรมเจ้าท่า รวมตลอดถึงข้อกําหนดของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสําคัญ

“เหตุบ่งชี้” (Clear ground) หมายถึง หลักฐานที่แสดงว่าเรือ อุปกรณ์ หรือคนประจําเรือ ไม่เป็นไปตามข้อกําหนดที่เป็นสาระสําคัญของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นการที่นายเรือหรือคนประจําเรือไม่มีทักษะหรือความคุ้นเคยกับขั้นตอนปฏิบัติที่จําเป็นในการเดินเรือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ของเรือหรือการป้องกันมลพิษ ตัวอย่างของหลักฐานที่ชัดเจนถูกรวมไว้

ข้อ 6 ให้ผู้อํานวยการสํานักมาตรฐานเรือ หรือผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค มอบหมายเจ้าพนักงานตรวจเรือ และวิศวกร ในสังกัด เพื่อปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ทําการตรวจควบคุมเรือไทย (Flay State Control Inspection) ประเภทเรือกลเดินทะเล ระหว่างประเทศและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง ตามมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๕๘ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่แก้ไข เพิ่มเติม

ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Independent Person) ที่ออกใบสําคัญรับรองใด ๆ ให้แก่เรือไทยลําที่ถูกตรวจควบคุม โดยให้เจ้าพนักงานตรวจเรือ สํานักงาน เจ้าท่าภูมิภาคสาขา ตรวจเรือที่ออกใบสําคัญรับรองโดยสํานักมาตรฐานเรือ และให้เจ้าพนักงานตรวจเรือ และวิศวกร สํานักมาตรฐานเรือ ตรวจเรือที่ออกใบสําคัญรับรองที่ออกโดยสถาบันการตรวจเรือ ซึ่งเป็น องค์กรที่ได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า

ข้อ ๗ ให้ผู้อํานวยการสํานักมาตรฐานเรือ หรือผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคกําหนดเป้า สําหรับเรือที่มีความเสี่ยงสูงให้ได้รับการตรวจเป็นลําดับต้น โดยกําหนดให้มีเกณฑ์การกําหนดเป้า (Targeting ship) ซึ่งคํานึงถึงกรณี ดังต่อไปนี้

(๑) ประเภทการใช้เรือ อายุเรือ อาทิเช่น เรือบรรทุกสินค้าเหลวในระวางที่มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป และเรือบรรทุกสินค้าที่มีอายุตั้งแต่ ๒๕ ปีขึ้นไป เป็นต้น

(๒) อัตราการถูกกักเรือโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมในเมืองท่าอื่น ในรอบ ๓๖ เดือน มากกว่า ๑ ครั้ง

(๓) อัตราการมีข้อบกพร่องโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมในเมืองท่าอื่น ในรอบ ๓๖ เดือน มากกว่า ๕ ข้อ

(๔) เรือที่ถูกรายงานว่ามีข้อบกพร่องจากเมืองท่าอื่น เจ้าหน้าที่อื่น หน่วยงานอื่น หรือเรือ ที่มีการร้องเรียนที่มีข้อมูลว่าเรือไม่ได้มาตรฐานตามที่กําหนด

(๕) เรือทีเกิดอุบัติเหตุ

(๖) ช่วงเวลาของการตรวจควบคุมเรือไทย ให้ทําการตรวจภายใน ๓ เดือน เมื่อมีการตรวจเรือ ที่ออกใบสําคัญรับรองโดยสํานักมาตรฐานเรือ และการตรวจเรือที่ออกใบสําคัญรับรองที่ออกโดยสถาบัน การตรวจเรือ ในรอบการตรวจตามปกติ

ข้อ ๘ กรณีพบเรือที่อยู่ในช่วงเวลาการตรวจในพื้นที่รับผิดชอบตามข้อ ๗ (๖) ให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค ดําเนินการการตรวจควบคุมเรือไทยไม่น้อยกว่า ๑ ลํา

กรณีไม่มีเรือที่อยู่ในช่วงเวลาการตรวจให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ดําเนินการ รายงานตามข้อ ๑๙ ต่อผู้อํานวยการสํานักมาตรฐานเรือ หรือผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค

ข้อ 9 ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ทําการตรวจควบคุมเรือตามระเบียบนี้ โดยต้องแสดงบัตรประจําตัวข้าราชการพลเรือนสามัญ กรมเจ้าท่า และเอกสารหลักฐาน เพื่อแสดง ความเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ต่อนายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องหากมีการร้องขอ สําหรับ การตรวจของเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ให้ใช้แบบบันทึกการตรวจควบคุมเรือไทย (Checklist) ตามที่ปรากฏในภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายระเบียบนี้

การตรวจควบคุมเรือไทยตามระเบียบนี้ ต้องทําการตรวจต่อหน้านายเรือหรือผู้เกี่ยวข้อง และจะต้องปฏิบัติตามระเบียบด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของเรือที่ออกภายใต้อนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๑๐ การตรวจควบคุมเรือไทยตามระเบียบนี้ กรณีเป็นเรือที่ไม่ได้เข้ามาในน่านน้ําไทย เป็นเวลาเกิน ๑๒ เดือน และเรือดังกล่าวยังคงอยู่ในน่านน้ําต่างประเทศ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) สามารถทําการตรวจแบบระยะไกล (Remote Survey) ได้ โดยการตรวจให้เป็นตามหลักเกณฑ์ ที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ก่อนออกใบสําคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตใช้เรือ (แบบตร. ๒๐-๑ ก. และแบบตร. ๒๐-๑ ข.)

ข้อ ๑๑ การตรวจควบคุมเรือไทยตามระเบียบนี้ ให้ดําเนินการตรวจ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(๑) ความถูกต้องของใบสําคัญรับรอง และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่เรือจําเป็นต้องมีไว้ประจําเรือ อุปกรณ์หรือการเตรียมการที่จําเป็นตามข้อกําหนดของกฎข้อบังคับสําหรับการตรวจเรือ และข้อบังคับ กรมเจ้าท่า รวมตลอดถึงมาตรฐานที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศกําหนด

(๒) ตรวจตัวเรือ หรือโครงสร้างตัวเรือ โครงสร้างการผนึกนําหรือการผนึกคลื่นลมของเรือ และความปลอดภัยการป้องกันมลพิษหรืออุปกรณ์การเดินเรือ

(๓) ตรวจสอบนายเรือ และคนประจําเรือเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และความคุ้นเคยกับ แผนผังของเรือ การติดตั้ง อุปกรณ์ กระบวนการในการทํางานต่าง ๆ บนเรือ

(๔) ตรวจสอบนายเรือ และคนประจําเรือทั้งหมด ว่าสามารถปฏิบัติงานบนเรือได้อย่าง สอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ฉุกเฉิน และปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยหรือ การป้องกันมลพิษ

ข้อ ๑๒ ในกรณีพบว่าเรือมีข้อบกพร่องตามข้อ ๑๑ หรือเรือไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย หรือไม่เหมาะสมสําหรับการใช้ หรือเรือมีอุปกรณ์และเครื่องใช้ประจําเรือไม่ถูกต้อง หรือไม่อยู่ในสภาพ ที่ใช้การได้ตามใบสําคัญที่ออกตามกฎข้อบังคับสําหรับการตรวจเรือ และข้อบังคับกรมเจ้าท่า ตามมาตรา ๑๖๓ และมาตรา ๑๖๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) พิจารณา ออกคําสั่งห้ามใช้ คําสั่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เรียบร้อยจนเป็นที่ปลอดภัยหรือมีสภาพ เหมาะสมสําหรับการใช้ หรือให้นายเรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด ตามแบบคําสั่ง ที่ปรากฏในภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายระเบียบนี้

ในการดาเนินการของเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไป ตามมาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๖๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ใช้แนวทางปฏิบัติในการตรวจเรือ และการกักเรือเพิ่มเติม ว่าด้วยกระบวนการ ตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า และที่แก้ไข ภาคผนวก ๒ (PROCEDURES FOR PORT STATE CONTROL, as amended, Appendix II) โดยอนุโลม

ข้อ ๑๓ กรณีตรวจพบว่าเรือมีข้อบกพร่องแต่ไม่ถึงขั้นจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของตัวเรือ สินค้า คนประจําเรือ ผู้โดยสาร หากในเมืองท่านั้นไม่มีอุปกรณ์หรืออะไหล่จะเปลี่ยนทดแทน หรือไม่มีสถานรับบริการซ่อมทําตามข้อกําหนดได้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เป็นการหน่วงเหนี่ยวเรือหรือทําให้เกิดการล่าช้าเกินสมควร ก็ให้ยอมรับการซ่อมทําหรือให้แก้ไขชั่วคราวอย่างเพียงพอเท่าที่จะทําเนินการได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางไปยังเมืองท่าต่อไป

การอนุญาตให้เรือออกจากท่าตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานที่ดําเนินการดังกล่าวแจ้งข้อเท็จจริงไปยังเจ้าพนักงานตรวจเรือหรือหน่วยงานที่ออกใบสําคัญรับรองที่เกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องตามวรรคหนึ่งให้แก่เรือล่านั้น

ข้อ ๑๔. กรณีเจ้าท่าตรวจพบว่าเรือที่ได้รับอนุญาตให้บรรทุกคนโดยสาร บรรทุกสินค้า หรือบรรทุกคนโดยสารและสินค้าลําใดอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยต่อคนโดยสาร มีสภาพไม่เหมาะสมกับการใช้งาน ให้เจ้าท่ามีอํานาจสั่งห้ามใช้เรือลํานั้นจนกว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้แก้ไขให้เรียบร้อย ตามแบบคําสั่งที่ปรากฏในภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายระเบียบนี้

กรณีพบว่าข้อบกพร่องที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม หากปล่อย ให้มีการปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งของเรือต่อไป เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) อาจสั่งให้หยุดปฏิบัติการนั้นก็ได้

ผู้ใดใช้เรือที่เจ้าท่าสั่งห้ามใช้ตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ตามมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ข้อ ๑๕ การดําเนินการออกคําสั่งทางปกครอง การพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง และการเพิกถอนคําสั่งทางปกครองที่ออกตามมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เป็นไป ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ข้อ ๑๖ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ใช้แบบบันทึกการการตรวจควบคุมเรือไทย (Checklist) ตามที่ปรากฏในภาคผนวก ๑ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ และเมื่อเสร็จสิ้นการตรวจควบคุมเรือไทยแล้ว ให้แจ้งผลการตรวจตามแบบรายงานการตรวจควบคุมเรือไทยที่ปรากฏในภาคผนวก ๒ ที่แนบท้ายระเบียบนี้ ไว้แก่นายเรือ ๑ ฉบับ

ข้อ ๑๗ กรณีมีการออกคําสั่งตามที่ปรากฏในภาคผนวก ๓ ที่แนบท้ายระเบียบนี้แล้ว แต่นายเรือหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมลงนามรับทราบ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) บันทึกในคําสั่งไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ ๑๘ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) บันทึกการห้ามใช้เรือ การกักเรือ และการเพิกถอนคําสั่งกักเรือเข้าในระบบ Single window @ Marine Department

ข้อ ๑๙ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) รายงานผลการตรวจควบคุมเรือไทย ตามลําดับ ดังต่อไปนี้

(๑) รายงานผลการตรวจเรือเบื้องต้น พร้อมด้วยรูปถ่าย หรือวิดีโอตามความเหมาะสม ต่อผู้อํานวยการสํานักมาตรฐานเรือ หรือผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ในโอกาสแรก

(๒) บันทึกการตรวจควบคุมเรือไทยในระบบฐานข้อมูลของกรมเจ้าท่า ภายใน ๓ วัน นับจากวันที่ได้ทําการตรวจควบคุมเรือไทย

(๓) กรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมเรือไทย (FSCO) ในสังกัดสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ให้รายงานตามลําดับชั้นถึงผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค และให้ผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคส่งสําเนารายงานการตรวจเรือให้สํานักมาตรฐานเรือภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่ทําการตรวจเรือ เพื่อประกอบการพิจารณาค่าเป้าหมายตัวชี้วัดและประเมินคุณภาพของกองเรือไทย

ข้อ ๒๐ ผลการตรวจควบคุมเรือไทยจะถูกนําไปใช้สําหรับการกํากับ ควบคุมดูแล ตรวจสอบ และพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจของเจ้าพนักงานตรวจเรือของสํานักมาตรฐานเรือและเจ้าหน้าที่ตรวจเรือ ขององค์กรที่ได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า

ทั้งนี้ ให้ผู้อํานวยการสํานักมาตรฐานเรือกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนสําหรับ การประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตรวจเรือและองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากกรมเจ้าท่า โดยอาศัยผลจากการตรวจเรือตามระเบียบฉบับนี้

ข้อ ๒๑ ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

วิทยา ยาม่วง

อธิบดีกรมเจ้าท่า