ตัวบทนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแปลภาษา/การศึกษา และไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดถือบทบัญญัติต้นฉบับภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมาย ตามไฟล์ PDF ที่แนบ
DISCLAIMER: This text has been provided for translation/educational purposes and contains no legal authority. The original text in Thai language shall be accounted as formally adopted and published in attached PDF file; hence, the sole authority with legal force.
ประกาศ
เริ่มใช้บังคับ : 22 มิ.ย. 2560

ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 110/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหลักประกันในการส่งตัวกลับ

MARINE DEPARTMENT NOTIFICATION NO. 110/2560 ON CRITERIA AND METHODS AND TRAINING CONDITIONS FOR SEAFARERS


ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ ๑๑๐/๒๕๖๐
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหลักประกันในการส่งตัวกลับ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๘ กําหนดให้เจ้าของเรือต้องจัดทําหลักประกันภัยให้กับคนประจําเรือทุกคนเกี่ยวกับการส่งตัวคนประจําเรือกลับไว้ อธิบดีกรมเจ้าท่าจึงประกาศกําหนด ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ในประกาศนี้
“หลักประกัน” หมายถึง หนังสือกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัทซึ่งมีมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่มีเงื่อนไขครอบคลุมการมีสิทธิในการเดินทางกลับของคนประจําเรือ
ข้อ ๓ เจ้าของเรือต้องจัดให้มีหนังสือกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัทซึ่งมีมาตรฐานระหว่างประเทศที่มีเงื่อนไขครอบคลุมการมีสิทธิในการเดินทางกลับ โดยคนประจําเรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในสภาพการณ์ และเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในประกาศนี้
ข้อ ๔ คนประจําเรือ จะต้องได้รับสิทธิในการส่งตัวกลับในสภาพการณ์ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีข้อตกลงการจ้างงานของคนประจําเรือหมดอายุลง ในขณะที่ปฏิบัติงานในเรือซึ่งอยู่ ณ สถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ที่ทําข้อตกลงการจ้างงานของคนประจําเรือ
(๒) กรณีข้อตกลงการจ้างงานของคนประจําเรือสิ้นสุดลงโดยเจ้าของเรือ หรือโดยคนประจําเรือ ซึ่งมีเหตุผลอันสมควร เมื่อคนประจําเรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน ตามข้อตกลงการจ้างงานได้ต่อไปหรือไม่สามารถที่จะคาดหมายได้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่นั้นได้เนื่องจาก
(ก) เมื่อเกิดการเจ็บป่วย หรือได้รับบาดเจ็บ หรือตามสภาพเงื่อนไขทางการแพทย์ที่ต้องส่งตัวกลับ โดยคนประจําเรือต้องมีความพร้อมสําหรับการเดินทางแล้ว
(ข) เมื่อเกิดเหตุเรืออับปาง
(ค) เมื่อเจ้าของเรือไม่สามารถดําเนินการตามพันธกิจของกฎหมาย และตามพันธสัญญา ในฐานะนายจ้างของคนประจําเรือให้สําเร็จผลต่อไปได้ เนื่องจากอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว การนําเรือ ออกขาย การเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนเรือ หรือจากเหตุผลอื่นที่คล้ายคลึงกัน
(ง) เมื่อเรือจะมุ่งหน้าเข้าสู่เขตสงครามซึ่งคนประจําเรือไม่ยินยอมที่จะไป
(จ) เมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน หรือต้องพักการจ้างงานไว้ตามเหตุผลในเชิงอุตสาหกรรม หรือตามข้อตกลงร่วม หรือตามเหตุผลอื่นที่คล้ายคลึงกัน
ข้อ ๕ ช่วงระยะเวลาการทํางานสูงสุดในเรือที่คนประจําเรือพึงจะได้รับสิทธิในการส่งตัวกลับนั้น ต้องน้อยกว่าสิบสองเดือน
ข้อ ๖ การได้รับสิทธิในการส่งตัวกลับนั้น ต้องรวมทั้งสิทธิในการเลือกจุดหมายปลายทางของการเดินทางกลับ รูปแบบของการเดินทาง รายการค่าใช้จ่ายและการจัดการอื่น ๆ
ข้อ ๗ เจ้าของเรือต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งตัวกลับด้วย ดังต่อไปนี้ เป็นอย่างน้อย
(๑) ค่าโดยสารเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่คนประจําเรือได้เลือกไว้แล้วตามข้อตกลงการจ้างงาน
(๒) ค่าที่พักและอาหาร นับตั้งแต่คนประจําเรือออกจากเรือจนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง
(๓) เงินและเบี้ยเลี้ยง นับตั้งแต่คนประจําเรือออกจากเรือจนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง
(๔) ค่าสัมภาระส่วนตัวคนประจําเรือที่มีน้ําหนักสามสิบกิโลกรัมไปยังจุดหมายปลายทาง
(๕) ค่ารักษาพยาบาลที่จําเป็นระหว่างที่คนประจําเรือเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพเพื่อส่งตัวกลับ
ข้อ ๘ การได้รับสิทธิในการส่งตัวกลับของคนประจําเรืออาจจะหมดไป หากคนประจําเรือไม่ใช้สิทธิในการส่งตัวกลับในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อตกลงร่วม

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ศรศักดิ์ แสนสมบัติ
อธิบดีกรมเจ้าท่า